พุทธศาสนาเสื่อมได้อย่างไร
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
คำนำ
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนรู้ตัวดีว่าไม่ใช่นักประพันธ์ ความรู้และภาษาก็ยังไม่ดี เมื่อเขียนไปแล้วมาอ่านทบทวนดูแต่ละประโยค ก็รู้สึกว่า ใช้คำพูดซ้ำๆซากๆขาดๆวิ่นๆ ทั้งเนื้อเรื่องก็ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กันดีนัก แต่ที่เขียนขึ้นมาก็เพราะสมัยนี้ โลกบ้านเมืองกำลังยุ่งเหยิงสับสนอลเวง ผู้คนต่างก็ตื่นตัวต้องการสิทธิเสรีภาพ อยากจะแสดงความสามารถในวิชาความรู้ที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา เพื่อให้เป็นประโยชน์ตามที่ตนเห็นว่าจะเป็นไปได้ พร้อมๆกันนั้นต้องการเป็นคนดังอีกด้วย ชาวพุทธบริษัทที่ยังไม่เข้าใจเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามยังไม่ถึงเป้าหมาย จึงพากันเป็นห่วงวิตกกังวลว่าภัยวิบัตินั้นจะเข้ามาถึงสถาบันพระพุทธศาสนา
มีหลายคนเคยไปปรารภในเรื่องนี้กับผู้เขียน ผู้เขียนจึงคิดว่าควรจะเขียนเรื่องนี้ขึ้น (ซึ่งมีเนื้อความอยู่ในหนังสือนั้นแล้ว) เพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้าใจเนื้อแท้ของพุทธศาสนา แล้วก็พากันตื่นตัวหายกลัว ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาเสียที
หนังสือเล่มนี้ ถึงแม้ภาษาสำนวนและอะไรๆก็ตามที่ผู้เขียนเขียนไปนั้น เขียนด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เพื่อพุทธบริษัทด้วยกันที่ยังไม่เข้าใจเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาจะได้เข้าใจ ผู้ที่เข้าใจแล้วก็จะได้นำเอาไปเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของตนๆ หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดเกิน หรือบังเอิญกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติของพุทธบริษัทผู้ที่มั่นอยู่ในพุทธศาสนาแล้ว ผู้เขียนก็ขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย.
เทสรังสี
๒o ก.ย. ๑๘
ต้นตอบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
ต้นตอ บ่อเกิดพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น มิใช่อื่นไกลเลย คือที่พระทัยของพระสิทธัตถะ ซึ่งได้ฝึกฝนให้เข้าถึงความสงบเป็นหนึ่งใสสะอาดบริสุทธแล้ว เพราะคราวเมื่อสิทธัตถะประกอบความเพียรอยู่ตลอด ๖ ปี ตามวิธีการต่างๆที่ได้ศึกษามานั้น พระทัยของพระองค์ยังไม่เข้าถึงความสงบ จึงยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อพระองค์มาปรารภความเพียรให้เป็นไปทางใจ จนพระทัยของพระองค์เข้าถึงความสงบได้ในฌานที่ ๑-๒-๓-๔ โดยลำดับแล้ว จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
หลังจากนั้น พระองค์จึงได้นำเอาความรู้อันเกิดจากสัพพัญญุตญาณนั้น ออกมาเผยแพร่แก่มวลมนุษย์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น ตามฐานะชั้นภูมิ อันควรแก่บุญวาสนาบารมีที่เขาเหล่านั้นจะพึงได้รับ เพราะมวลมนุษย์เกิดมาในโลกนี้ ต่างก็ปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ไม่อยากให้มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ด้วยอำนาจกิเลสของเขาเหล่านั้นปกปิดห่อหุ้มหัวใจให้มืดมิด เขาจึงไม่สามารถมองเห็นวิธีดำรงชีพของตนให้ถูกต้อง ต่างก็พากันเข้ารกเข้าพงตะครุบตะคลานหาเลี้ยงชีพตนเหมือนกับคนตาบอดคลำหาทางฉะนั้น
เมื่อพระองค์ทรงสร้างบารมีมานับเป็นอสงไขยกัลป ก็เพื่อจะได้โปรดสัตว์ผู้หลงเหล่านั้นให้พ้นจากทุกทั้งปวง เมื่อตรัสรู้แล้ว จึงได้นำเอาความรู้อันเป็นของจริงนั้นมาเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ตามสมควรฐานะชั้นภูมิของเขา ให้เขาเหล่านั้นผู้กระทำตามได้รับประโยชน์ ตามสมควรแต่ฐานะของตนๆ เช่นที่พระองค์ทรงสอนฆราวาสผู้ไม่สามารถออกบวชได้ ดังที่มีมาในสิงคาลสูตร (คิหิปฏิบัติในนวโกวาท)
ความว่า เมื่ออยู่ในเพศฆราวาส มีครอบครัวอยู่ ก็จงดำรงชีพให้เป็นธรรม เพื่อจะนำมาซึ่งความสุขที่ตนปรารถนา คือ เมื่อสามีได้นำภรรยามาเป็นคู่ครองแล้ว จงยกย่องว่าเป็นภรรยาที่รักที่แท้จริง อย่าเหยียดหยามดูหมิ่นเขา อย่าประพฤติผิดนอกใจเขา แล้วก็มอบความเป็นสิทธิ์แก่ภรรยา ผู้หญิงย่อมชอบเครื่องแต่งตัวควรอนุโลมให้เขา ถ้าหากสามีปฏิบัติตามดังนี้แล้ว หญิงคนไหนในโลกจะไม่รักและปฏิบัติต่อสามี ก็จัดว่าเป็นหญิงกาลีในจำพวกหญิงทั้งหลายโดยแท้ ชายที่เป็นสามีของหญิงใด ที่ปฏิบัติเป็นธรรมดังกล่าวแล้ว ภรรยาก็จะต้องตอบแทนด้วยการจัดการงานอันเป็นหน้าที่ของตนดี สงเคราะห์คนที่เป็นมิตรตลอดจนญาติของสามีดี ไม่ประพฤตินอกใจสามี แม้แต่จะกระทำการอันใดลงไปก็ต้องบอกสามีก่อน รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ จะใช้จ่ายก็ให้พอสมดุล ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการงานทั้งปวง
เท่าที่ยกเอามาเป็นตัวอย่างนี้ จะพอมองเห็นแล้วว่า พระธรรมคำสอนของพระองค์มิได้สอนให้คนออกบวชกันทั้งนั้น ดังความเข้าใจของคนบางคน แต่สอนให้คนที่อยู่ในฐานะในชั้นภูมินั้นๆ ประพฤติตนให้อยู่ในธรรม มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ จึงจะนำความสุขมาให้ ด้วยข้อธรรมที่สามีภรรยาประพฤติต่อกันที่ได้ยกย่องมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้าปฏิบัติตามนั้นได้จริงแล้ว จะไม่มีใครปฏิเสธได้สักคนเดียวเลยว่า จะไม่ทำให้เกิดความสุขในครอบครัว ยิ่งเราดูข้อต่อๆไปในคิหิปฏิบัติจะเห็นว่า ล้วนแล้วแต่พระองค์ปรารถนาดีเพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ยังมีครอบครัว ให้ได้รับความสุขจากการปฏิบัตติตามคำสอนของพระองค์ทั้งนั้น
พระสัพพัญญุตาญาณของพระองค์ จึงเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์บนโลกมาก สามารถหยั่งรู้ชั้นภูมิและอาชีพ ตลอดจนถึงบุญญาบารมีของมนุษย์ได้ตลอดทั่วไป แล้วก็จัดเอาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น มาสอนแก่เขาเหล่านั้นให้พอเหมาะพอดีแก่ภาวะของเขา เพื่อพยุงฐานะชั้นภูมิความเป็นอยู่ ตลอดถึงด้านจิตใจ ความประพฤติที่ยังต่ำอยู่ก็อย่าให้ล้มเหลวลงไปกว่าเดิม หรือพอจะเจริญก้าวหน้าขึ้นไปได้ก็ให้เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ
ผู้มาปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เมื่อได้รับผลประโยชน์เห็นชัดแก่ใจของตนเองเช่นนั้นแล้ว ก็จะเกิดศรัทธากล้าหาญ เพื่อจะปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นไปแน่นอน คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เขาเชื่อและเลื่อมใส สอนให้มีจาคะบริจาคเพื่อประโยชน์ความสุขแก่คนอื่นก็ดี ซึ่งเขาจะไม่ทำตามย่อมไม่มี
เรื่องเหล่านั้น เมื่อเขาได้รับรสชาติความสุขของธรรม จากการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องแล้ว เขาจะเห็นเป็นของเล็กน้อยนิดเดียว ไม่เป็นการลำบากอะไรแก่เขาเลย
ความสุขที่พวกเราปรารถนาอยู่นั้น คือสุขกายสุขใจ แต่ความสุขทางกาย ทุกๆคนพอจะแสวงหาได้ตามอัตภาพของตน เช่น มีอาชีพเป็นหลักฐาน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์เป็นต้น แต่ก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน บางคนเรื่องเหล่านั้นมีพร้อมแล้ว แต่ใจของเขาอาจเป็นทุกข์เพราะลูก หรือผัวเมีย หรือหนี้สินการงานอื่นๆอีกก็ได้ หรืออาจรุ่มร้อนด้วยความทะเยอทะยานอยากนานาประการก็ได้ สุขกายจึงไม่แน่นอนถาวรเหมือนสุขทางใจ แต่สุขทางใจนั้น นอกจากจะแสวงหาเอาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว หาที่อื่นไม่ได้เลย
เช่น ให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ทำดีย่อมได้ดีมีความสุข เมื่อทำดีลงไปแล้ว ถึงคนอื่นจะไม่ชมและให้ผลตอบแทน แต่ตัวเองก็เห็นและชมความดีของตนมีความสุขอยู่คนเดียว ทำชั่วได้รับผลชั่วเป็นความทุกข์ เมื่อทำชั่วลงไปแล้ว ถึงคนอื่นจะไม่เห็นและลงโทษก็ตาม ตนเองย่อมรู้ความชั่วนั้น และเดือดร้อนด้วยตัวเองอยู่เสมอ
เมื่อเชื่อแน่วแน่มั่นคงอย่างนั้นแล้ว ประกอบแต่กรรมดีมีความสงบสุขแล้ว ถึงแม้อาชีพของเขาจะฝืดเคืองและสุขภาพเขาจะไม่สมบูรณ์มากก็ตาม เขาก็จะอิ่มเอิบเป็นสุขอยู่กับความดีของเขาตลอดกาล บางทีความทุกข์เหล่านั้นอาจไม่ปรากฏแก่ใจของเขาได้ หากถึงอวสานที่สุดแห่งชีวิตของเขาแล้ว เขาย่อมได้รับความสุขอันใครๆจะไม่มีโอกาสได้รู้เห็นด้วยกับเขาเลย เพราะในตัวของคนเรานี้ทั้งหมด มีใจเท่านั้นเป็นใหญ่ อวัยวะทุกชิ้นส่วน หากใจไม่สั่งการเสียแล้วจะทำอะไรได้เล่า กายก็เหมือนกันหุ่น หากใจไม่ชักหุ่น จะกระดิกและเคลื่อนไหวได้อย่างไร ความรู้สึกดีชั่ว หยาบและละเอียด โง่หรือฉลาด ต้องขึ้นอยู่กับใจทั้งนั้น สัดส่วนร่างกายมีประสาทหรือเชลล์เป็นต้น เป็นสิ่งประกอบหัวใจทั้งสิ้น ถ้าใจไม่มีเสียอย่างเดียวแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็ไร้ค่าหาประโยชน์มิได้
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรากำลังศึกษาอยู่นี้ ก็เกิดจากใจ คือพระทัยอันสงบเป็นหนึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ของพระองค์อย่างเดียว ที่เราพากันศึกษาอยู่ว่ามากมายหนักหนานั้น คืออาการของใจอันเป็นหนึ่งนั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีหนึ่งก่อนจึงจะมีสองสามต่อไป ธรรมทั้งหลายที่พระองค์ตรัสรู้นั้นก็เกิดจากพระทัยอันเป็นหนึ่งของพระองค์ก่อน ที่พระองค์รู้ว่า สิ่งนี้ดีเป็นกุศล สิ่งนี้ชั่วเป็นอกุศล และแยกออกไปมากมายนั้น ก็ต้องตั้งลงที่ใจเป็นหนึ่งไม่มีดีมีชั่วก่อน ยิ่งส่งออกไปตามอายตนะทั้ง ๖ แล้ว ยิ่งมาก จนเหลือที่จะคณานับ ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล หรืออัพยากฤต ก็แล้วล้วนออกมาจากใจของแต่ละบุคคลทั้งนั้น
พระธรรมคำสอนของพระองค์สอนแต่ใจออกมา เมื่อเห็นใจของตนแล้ว จึงจะเห็นเนื้อความในธรรมคำสอนของพระองค์ เพราะธรรมเกิดจากใจ และทุกคนผู้ที่พระองค์สอนก็ล้วนแต่มีใจด้วยกันทั้งนั้น ดังพุทธภาษิตว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจถึงก่อนสำเร็จได้ด้วยใจ” เป็นต้น ธรรมที่พระองค์สอนแล้วนั้น ผู้มีใจสดับและเข้าใจตามเนื้อความนั้นแล้ว ก็เอาไปปฏิบัติตามกำลังความสามารถของตนๆ ผลคือความสันติสุขก็จะเกิดขึ้นแก่สังคมของมนุษย์ ตลอดถึงสัตว์เหล่าอื่นทั่วหน้ากันด้วย.
ทำอย่างไร พุทธศาสนา จึงจะเกิดมี ในกายในใจของตน
ดังได้อธิบายมาแล้วว่า พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นที่พระทัยของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์อบรมให้เข้าถึงความเป็นหนึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์แล้ว ตอนนี้จะอธิบายถึงเรื่องว่า ทำอย่างไร พุทธศาสนาคำสอนของพระองค์จึงจะมาปรากฏเกิดขึ้น ที่กายที่ใจของพวกเราที่เป็นพุทธบริษัท จนให้เห็นชัดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราได้เข้าใจและเกิดมีขึ้นที่ใจของตนอย่างชัดแจ้งแล้ว เราได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์แล้ว เราก็จะเดินตามรอยบาทยุคลของพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว เพราะพระธรรมเป็นนามธรรม จะแจกแบ่งปันให้เป็นหยิบเป็นกองเหมือนวัตถุสิ่งของภายนอกไม่ได้ พระองค์ทรงพระธรรมด้วยพระทัยอันใสสะอาดบริสุทธิ์ เราก็จะต้องรู้ด้วยใจอันใสสะอาดบริสุทธิ์เช่นกัน ถึงแม้จะไม่บริสุทธิ์เต็มที่และไม่ลึกซึ้งอย่างพระองค์ท่าน แต่พอรู้รสชาติและเห็นความสันติสุข พอให้เราเกิดความพอใจเลื่อมใส ก็นับว่าเป็นโชคลาภอันดีเลิศอยู่แล้ว
เบื้องต้นขออย่าได้เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราได้ศึกษามาแล้วนั้น มาถือไว้เป็นของศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารใดๆ ก่อน จงทำความพอใจและเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์ว่า พระธรรมที่พระองค์นำมาสอนพวกเรานี้ เกิดและรู้ขึ้นที่พระทัยอันใสสะอาดบริสุทธิ์ของพระองค์ ฉะนั้น ธรรมนั้นจึงเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ นำบุคคลผู้ที่ปฏิบัติตามให้ได้รับความสันติสุขที่แท้จริง แล้วให้น้อมใจลงเชื่อแน่วแน่ในคำสอนของพระองค์ที่ว่า “ทำดีได้ดี มีผลให้เกิดความสุข ทำชั่วได้ชั่ว มีผลให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน” ด้วยความสนใจและพิสูจน์โดยการทำความดีดูก่อน เป็นต้นว่า จะตั้งต้นรักษาศีลห้าแล้วไหว้พระทุกวันๆ เป็นเวลาสักเดือนหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ทีหลังมาพิสูจน์ด้วยการทำความชั่ว (หรือไม่ต้องทำก็ได้เพราะเราทำมามากแล้ว) แล้วมาเทียบผลกันดู ด้วยความรู้สึกของตนเองว่า อย่างไหนจะมีความสุขเบิกบานกว่ากัน
ทั้งๆที่ไม่มีใครจะสามารถมาล่วงรู้ความรู้สึกอันนั้นของเราเลย เมื่อเรามาทดสอบข้อเท็จจริงเห็นได้ด้วยใจของตนดังนี้แล้ว ความเชื่อมั่นและเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะทวียิ่งๆขึ้น แล้วจะเห็นชัดด้วยตัวเอง ถึงคำที่ว่า “ถือพุทธศาสนา” กับคำที่ว่า “ปฏิบัติตามพุทธศาสนา” มีลักษณะผิดแปลกกันมากแค่ไหน
“ถือ” หมายถึงรับเอาของที่ตนต้องการมาไว้ เช่น รับเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นอักษรตัวหนังสือและพระสูตรคาถาต่างๆ มาไว้เคารพบูชา ตลอดจนรูปเหรียญวัตถุที่เกี่ยวเนื่องถึงพุทธศาสนามาถือไว้บูชา เพื่อหวังว่าความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารจะอำนวยประโยชน์ให้ในสิ่งที่ตนต้องการ (มงคลตื่นข่าว) แต่ตนไม่ยอมปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน นอกจากกราบไหว้อ้อนวอนขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ เมื่อสิ่งนั้นๆ ไม่อำนวยให้เป็นไปตามความปรารถนา ก็จะคลายศรัทธาหาว่าเป็นของไม่ดีไม่ศักดิ์สิทธิ์ (ถือดีนอก) แล้วเลิกนับถือเอาดื้อๆก็มี
พุทธศาสนามิได้สอนให้ “ถือ” แต่สอนให้ “ปฏิบัติตาม” คือทำกรรมดีย่อมได้ผลดีคือความสุขด้วยการกระทำของตนเอง ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่วคือความทุกข์ด้วยการกระทำของตนเอง มิใช่คนอื่น เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม และพระเจ้าที่ไหนจะมาบรรดาลให้
คำว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ฯลฯ นั้นหมายความว่า เมื่อยังไม่ทันถึงก็ขอให้ถึง คือการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติมาแล้ว แล้วถึงซึ่งรสชาติหรือได้รับรสชาติของพระธรรมนั้น ฯลฯ นี่พูดเป็นภาษาหนังสือ แต่ตามข้อเท็จจริง แล้วพุทธศาสนาของพระองค์ มิใช่เป็นสิ่งที่ต้องขอและให้กันได้เหมือนวัตถุสิ่งของอื่น แต่เกิดความเชื่อและเลื่อมใสจากการได้ยินได้ฟังที่คนอื่นสอนที่ถูกที่ชอบแล้วยอมปฏิบัติตามจนเกิดผลประจักษ์ด้วยใจของตนเอง เหมือนแสงสว่างของตะเกียง เมื่อช่างเขาประกอบให้ถูกสัดส่วนแล้ว จุดขึ้น แสงสว่างก็เจิดจ้าขึ้นในนั้นเอง มิได้เอามาจากที่อื่นและสิ่งอื่นส่งมาให้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตเป็นแต่ผู้บอกผู้สอนเท่านั้น คำสอนที่เราบอกเราสอนแล้วนั้น เธอทั้งหลายนำไปปฏิบัติตาม ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงพ้นจากทุกข์ได้” ดังนี้
เมื่อพุทธบริษัท ได้มาพิสูจน์ข้อเท็จจริงหลักฐานเห็นชัดตามที่ได้อธิบายมานี้แล้ว เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ละกรรมชั่วทั้งกายวาจาและใจ ประกอบแต่กรรมดีหมดทุกเมื่อ เห็นกรรมชั่วที่ได้เคยกระทำมาแล้ว นั้นมีผลเป็นทุกข์เดือดร้อนแล้วเข็ดหลาบถือเป็นครู จำไม่ลืม ดังนี้ จึงได้ชื่อว่า “เป็นพุทธบริษัทที่มั่นคงในคำสอนของพระพุทธเจ้า” ฝังรากพุทธศาสนาหยั่งลึกลงไปในกายในใจของตนไว้แน่นหนาเต็มที่แล้ว มิใช่ถือและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ในเมื่อมีเหตุ เช่น เป็นทุกข์เพราะเหตุใดๆแล้วก็ตาม แล้วเข้าวัดหรือบวช เมื่อทุกข์นั้นหายไปแล้วก็สึก หรือไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ดังนักเลงสุรา งดเว้นไม่ดื่มในเวลาเข้พรรษา พอปวารณาเท่านั้นแหละเบิกย้อนหลังไปทันที บางคนเรียกดอกเบี้ยเสียอีกด้วย ดังนี้ ใช้ไม่ได้ มันเป็นการหลอกตนเอง และหลอกคนอื่นอีกด้วย
ผู้ที่ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย ที่จักได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธบริษัทที่แท้จริง ต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๕ ประการ คือ
- (๑) มีความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าว่า ท่านเองเป็นพระสยัมภูตรัสรู้เองจริง แล้วไม่ติเตียนและเหยียดหยามดูหมิ่น
- (๒) พระธรรมคำสอนของพระองค์นั้น เป็นนิยยานิกธรรมนำผู้ปฏิบัติตามให้เป็นคนดีได้ ตามฐานะชั้นภูมิ ควรแก่การปฏิบัติของตนๆ แล้วเทิดทูนเอามาปฏิบัติตามโดยไม่มีความประมาท
- (๓) พระอริยสงฆ์ผู้เชื่อฟังคำสอนของพระองค์แล้วนำเอาไปปฏิบัติตามจนได้รู้แจ้งเห็นจริงตามพระองค์มีจริง จึงได้เป็นธรรมทายาท นำเอาคำสอนของพระองค์มาสั่งสอนพวกเรา จึงเป็นบุคคลที่เราควรเทิดทูนไว้ในที่ควรสักการบูชา
- (๔) เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมว่า เราทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ด้วยตนเอง มิใช่เทวดาอินพรหมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ภายนอกจะอำนวยผลให้เรา (มงคลตื่นข่าว) ถือและปฏิบัติพระรัตนตรัยมิใช่เพื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโชคลาภ แต่ปฏิบัติตามให้เป็นคนดีจนพ้นจากทุกข์ได้ในที่สุด
- (๕) ไม่ทำบุญนอกพุทธศาสนา หากจำเป็นจะต้องทำเพื่อสังคมก็ทำเพื่อสงเคราะห์ มิใช่ทำนอกบุญญเขตในพุทธศาสนา ถ้าหากถึงขั้นพระอริยบุคคลที่เป็นฆราวาสแล้ว ต้องมีนิจศีลอีก ผู้จะเป็นพระพุทธบริษัทโดยสมบูรณ์ ต้องมีองค์คุณทั้ง ๕ ประการนี้เป็นประจำ แม้ผู้จะบรรพชาอุปสมบทเป็นสามเณรและเป็นพระภิกษุ ก็จะต้องมีองค์คุณทั้ง ๕ นี้ให้ครบเสียก่อน การบวชจึงจะสมบูรณ์
พุทธศาสนาเป็นเสรีสังคมนิยม
เมื่อพูดถึงโลกแล้ว ก็คือพูดถึงสังคมของปวงสัตว์นั่นเอง มนุษย์และสัตว์ทุกประเภทที่เกิดมาร่วมโลกนี้โดยบังเอิญ มิได้นัดหมายกันไว้ก่อนเลย ต่างก็มีสิทธิ์เสรีที่จะมาเกิดได้ตามใจชอบไม่ว่าจะมาเกิดในกำเนิดไหนก็ตาม (มันเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่ง เมื่อผลิตขึ้นมามากๆ คุณภาพก็ค่อยๆ เสื่อมไปๆ อาจจำหน่ายไม่ได้ แล้วปิดโรงงานก็ได้) เป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน แม้แต่จะมาเกิดเป็นหมูเป็นปลาเพื่อให้มนุษน์ได้ฆ่ากินเป็อาหารก็ไม่ห้าม จะมาเกิดเป็นเสือขม้ำกินสัตว์และกินคนเป็นอาหารก็ไม่มีใครจะกีดกันห้ามได้ ฉะนั้นโลกนี้จึงเป็นโลกที่เสรีเต็มที่แต่เขาเหล่านั้นต่างก็จะมีพรรคมีสังคมมีอุดมการเฉพาะหมู่ของเขาเอง หากอุดมการของเขาบังเอิญไปขัดผลประโยชน์กันเข้า ก็จะมีการทะเลาะวิวาท หรือบางทีอาจใช้กำลังโจมตีซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะมนุษย์นี้เป็นตัวร้ายกาจกว่าเพื่อน ฉะนั้น มนุษย์จึงมีความยุ่งเหยิงรบราฆ่าฟันกันอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่างเว้นแต่ละวัน ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ มิใช่แต่หมู่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แม้สัตว์อื่นก็พลอยเป็นทุกข์เดือดร้อนไปตามๆกันด้วย แต่ผู้ตายก็ตายไป ผู้ที่ยังไม่ตายก็เป็นทุกข์ทรมานต่อไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ
พระพุทธเจ้าผู้มีพระมหากรุณา ทรงพิจารณาเห็นสังคมของโลกผู้เกิดมา เพื่อแสวงหาความสุขตามอัตถาพของตนๆ แต่มาถูกสังคมที่ปราศจากศีลธรรมและระเบียบอันดีวามมาเบียดเบียน จึงกลับได้รับทุกทรมานขมขื่นจนผิดหวัง จึงได้สร้างบารมีปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้โปรดเขาเหล่านั้น เมื่อได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วจึงได้ทรงสอนสังคม โดยเฉพาะในมนุษย์ เพื่อให้มีระเบียบศีลธรรมอันดีงาม รู้จักฐานะชั้นภูมิและหน้าที่การงานอาชีพของตนๆ อย่าให้ก้าวก่ายแก่งแย่งขูดรีดกันและกัน อันเป็นเครื่องบั่นทอนผลประโยชน์รายได้ตลอดถึงทอนกำลังใจของกันและกัน
คำสอนของพระองค์ สอนให้ไม่เลือกหน้า พากันเมตตาจิตคิดว่าคนเราเกิดมาร่วมโลกด้วยกัน ก็เสมือนเป็นลูกพ่อแม่สกุลเดียวกัน จึงสามัคคีโอบอ้อมอารีให้เห็นอกเห็นใจให้อภัยแก่กันและกัน ไหนๆคนเราเกิดมาแล้วจะอยู่คนเดียวไม่ได้เด็ดขาด ต่างคนก็จะมีคุณแก่กันและกันไม่มากก็น้อย ผู้ที่ทำคุณแก่กันแล้วเห็นคุณของกัน ตอบแทนคุณกัน เท่านั้นแล สังคมจึงจะเกิดสุขขึ้นมาได้ ถ้าไม่ทำคุณแก่กัน หรือทำแล้ว แต่อีกฝ่ายไม่เห็นคุณและคิดจะสนองคุณของกันและกันแล้ว สังคมนั้นจะหาความสุขได้ยาก แล้วก็สอนกันตั้งแต่สังคมเล็กๆ ขึ้นไปจนถึงสังคมใหญ่ เช่น ในระหว่างสามีกับภรรยา บุตรกับบิดามารดา เป็นต้น จนถึงสังคมระดับชาติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของปวงชน การบริหารประเทศจะได้อยู่รอดและเจริญก้าวหน้าต่อไป เช่นพระองค์ตรัสสอนอปริหานิยธรรมแก่เจ้าลิจฉวีเป็นต้น มีข้อความว่า
- (๑) ชาววัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองนิจ
- (๒) เมื่อประชุมก็จักพร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็จักพร้อมเพรียงกันเลิก และจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ
- (๓) จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ (ที่ควรใช้ได้อยู่) จักไม่ถอนบัญญัติสิ่งที่ท่านบัญญัติไว้แล้ว (ในเมื่อยังใช้ได้ดีอยู่) ประพฤติมั่นอยู่ในธรรม (อันดีงาม) ขอวงชาววัชชีครั้งโบราณตามที่ท่านบัญญัติไว้
- (๔) รู้จักเคารพ นับถือ บูชา ท่านวัชชีผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย และจักสำคัญถ้อยคำเหล่านั้นไว้ เป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง
- (๕) จักไม่ข่มขืนบังคับปกครองหญิงในตระกูล
- (๖) ยังคงเคารพสักการะนับถือ บูชา เจดีย์สถานของชาววัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรมซึ่งให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้น
- (๗) จักถวายความอารักขา ความคุ้มครองป้องกัน โดยธรรมพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ยังไม่มาพึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข
เมื่อเรามาพิจารณาข้อเท็จจริง ในคำสอนของพระองค์ เท่าที่ได้บรรยายมาพอสมควรนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า คำสอนของพระองค์มิได้เป็นภัยแก่โลก และเป็นอุปสรรคแก่การบริหารประเทศชาติบ้านเมือง แต่อย่างไรเลย ทั้งมิได้ล้าสมัย ดังความเห็นของบุคคลบางคนแต่อย่างไร
ตรงกันข้าม คำสอนของพระองค์สอนแบบสังคมนิยมธรรมชาติโดยแท้ แต่มนุษย์ถูกปกคลุมด้วยอำนาจของกิเลส มีความปรารถนาไม่รู้จักพอ จึงไม่มองเห็นความต้องการของผู้อื่นพร้อมทั้งของตัวเองอีกด้วย ต่างก็พากันดิ้นรนเพื่อหนีจากทุกข์ เพื่อให้ได้รับความสุขตามต้องการ แต่การดิ้นรนนั้น เป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้องเลย กลับทุกข์ทวีเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าเก่า แม้แต่สุขที่ได้รับแล้วนั้น ก็ไม่เห็นเป็นสุข จึงดิ้นรนเพื่อหาสุขอันยังไม่ได้ ให้วุ่นเข้าไปอีก
ฉะนั้น พระองค์ผู้มีปัญญาญาณอันกว้างขวางฉลาดทั้งทางโลกและทางธรรม จึงได้ตรัสสอนระเบียบวิธีดำเนินชีวิตให้แก่ปวงชาวโลกโดยธรรม ตลอดถึงวิธีบริหารหมู่คณะและประเทศชาติดังได้บรรยายมาแล้วข้างต้น เมื่อหมู่มวลชนทุกชั้นทุกระดับมาปฏิบัติตามแล้ว ก็จะไม่เห็นมีข้อเสียหายและเดือดร้อนอะไรแก่สังคม มีแต่จะเพิ่มความเจริญนำมาซึ่งสันติสุขทุกประการ พุทธศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นของนำสมัยอยู่เสมอ มวลมนุษย์ชาวโลกผู้เห็นแก่ตัวมีความคิดมืดมิด แม้แต่ความสุขความต้องการของตนเองก็ไม่รู้ จึงเป็นไก่ตาบอดปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ไม่ได้ แล้วโมเมโทษคำสอนของพระองค์ว่า “ล้าสมัย”
แท้จริง คือตัวของเขานั้นเอง “ล้าสมัย” ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ไม่ได้ แล้วมาคิดตั้งสังคมนิยมแบบใหม่ โดยใช้กฏเกณฑ์บังคับอันเป็นการบีบบังคับใจและกาย ให้ยอมจำนนแก่ความคิดของตนเอง แล้วให้ปฏิบัติตามนั้น โดยไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม เชื่อเฉพาะกายกรรมของวัตถุ เมื่อกายยังไม่แตกดับ ก็ให้พยายามหาของมาใส่พอกพูนขึ้นให้เต็ม (อิ่ม) เหมือนตะกร้าเก็บขยะ เมื่อมันขาดแล้ว ก็ทิ้ง หาลูกใหม่มาใช้ต่อๆไปฉะนั้น
สังคมนิยมสมัยใหม่นิยมวัตถุโดย ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องหาเลี้ยงชีพให้พอแก่ความต้องการของตน จึงจะได้รับความสุข (เชื่อเฉพาะกายกรรม) ตายแล้วไม่เกี่ยวกัน สาบสูญไปหมด สุขกายกับสุขใจเขาเห็นเป็นอันเดียวกัน เพราะเขาไม่รู้จักใจที่แท้จริง ทั้งๆที่เขาเหล่านั้นก็พูดถึงเรื่องใจโดยเฉพาะอยู่เสมอๆว่า ชอบใจ ดีใจ เสียใจ กลุ้มใจ เศร้าใจ ใจแห้ง หัวใจเบิกบาน ชื่นใจหรือ หัวใจของพี่-น้อง พี่-น้องมีเยื่อใยอาลัยถึงอยู่เสมอ เหล่านี้ ก็ล้วนแต่พูดถึงใจ แยกออกมาจากกายแล้วทั้งนั้น แต่เมื่อตัวเองไม่รู้และเห็นตัวใจที่แท้จริงแล้ว ทั้งๆที่ตัวเองหาความสุขเพื่อใจแท้ๆ แต่กลับเข้าใจว่าหาความสุขเพื่อกายอย่างเดียว
คำสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้เชื่อผลของกรรมว่า คนเราเกิดมาต้องมีทั้งกายและใจ มีสุขมีทุกข์ร่วมกัน แต่ใจเป็นใหญ่กว่ากาย เพราะใจเป็นผู้บัญชาการทั้งหมด (เซลล์หรือประสาทก็อยู่ในจำพวกกายด้านวัตถุ) ถ้าใจไม่มีเสียอย่างเดียวแล้ว กายก็ไร้ค่า (คนตายทำอะไรไม่ได้) ฉะนั้นเมื่อคนเรายังมีชีวิตอยู่ กายกับใจจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดสนิทที่สุด
ผู้ไม่ได้อบรม ให้เป็นไปในทางธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่สามารถแยกกายกับใจออกจากกันได้ แต่ที่แสดงออกมาทางกายเรียกว่า กายกรรม แสดงออกมาทางวาจาเรียกว่า วจีกรรม ถ้าแสดงอยู่ภายในเรียกว่า มโนกรรม เมื่อกายกับใจมีส่วนประกอบกันอยู่เช่นนี้แล้ว ความสุขทางใจจะเกิดขึ้นมีขึ้นมาได้ ก็ด้วยการละลึกถึงความดีที่ได้กระทำไว้แล้ว ความดีนั้นไม่ว่าจะทำด้วยกายกับใจหรือวาจากับใจก็ตาม แม้แต่จะทำเฉพาะใจอย่างเดียว เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อระลึกถึงความดีดังว่านี้ จะเป็นเวลาล่วงเลยมานานแสนนานก็ตาม หรือยังมิได้ลงมือกระทำแต่ตั้งใจจะกระทำความดีนั้นอยู่ก็ดี แล้วให้เกิดความตื้นตันใจเกิดความปีติสุขขึ้นมา ดังนี้ เรียกว่าแสวงหาความสุขทางใจ เมื่อใจได้รับความสุขที่พอใจแล้ว ใจนั้นแลจะขยันหมั่นเพียรชักชวนดึงดูดทั้งกายและวาจาให้เข้าไปร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียงเป็นกันเอง
ฉะนั้น ใจจึงเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการที่จะชักจูงให้กายและวาจาร่วมด้วยตลอดทุกกาลทุกสมัย ความดีที่ว่านี้ ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อประโยชน์ความสุขแก่ตนและคนอื่นดังกล่าวแล้ว เมื่อพูดถึงตนและคนอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือพูดถึงสังคมนั่นเอง สังคมที่จะให้เกิดความสุขก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อมีคุณ ทำประโยชน์ให้เกิดแก่กันและกันแล้วไม่ลืมบุญคุณ สนองตอบแทนบุญคุณของกันและกัน ถ้ามิฉะนั้นแล้วสังคมของมนุษย์เราก็จะเป็นสังคมของสัตว์ดิรัจฉานไป จะหาความสุขมิได้
จึงเห็นได้ชัดแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามิได้มองแต่กายแง่เดียว แต่มองเห็นความสำคัญของกายและใจไปพร้อมๆกันในเมื่อของทั้งสองอย่างนั้นยังกระชับสัมพันธ์กันอยู่ ฉะนั้น พุทธศาสนาคำสอนของพระองค์จึงเหมาะแก่สัตว์โลกผู้ที่เกิดมาแล้วมีกายมีใจ เมื่อปรารถนาต้องการให้เกิดความสุขแก่สังคมหรือแก่ตนเองแล้ว จึงควรนำเอาคำสอนของพระองค์นำไปปฏิบัติตาม เพราะคำสอนของพระองค์ เหมาะสมแก่โลกทุกยุคทุกสมัย และแก่มนุษย์ทุกเพศทุกวัยทุกชั้นทุกภูมิอีกด้วย แต่ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงความชั่ว เพราะกรรมชั่วใครๆก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าไม่มีประโยชน์นำความสุขมาให้แก่สังคมโลกแต่ประการใดอีกด้วย
ประโยชน์ เกิดจากการปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า
พุทธศาสนา สอนให้มีการกระทำที่เข้ากับสภาพของโลกได้ เพราะพระองค์สร้างบารมีมาเพื่อประโยชน์แก่โลก มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้จะนิ่งอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องมีการกระทำไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แล้วแต่หน้าที่และกฎเกณฑ์ของเขาเหล่านั้นจะกำหนดให้เป็นไป แต่การกระทำบางอย่างของเขาไม่มีระเบียบและไม่เป็นธรรม จึงทำให้สังคมเดือดร้อนเป็นทุกข์
แท้จริง พระองค์ก็ทราบดีอยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มสร้างบารมีเพื่อเป็นพุทธเจ้าว่า โลกนี้มันเต็มไปด้วยกองทุกข์ แต่พระองค์สร้างบารมีเพื่อจะมาปลดเปลื้องกองทุกข์ของเขานั้นแหละ คือเมื่อมีทุกข์มากก็จะทำให้เขาได้ผ่อนคลายลงบ้าง ผู้มีทุกข์น้อยก็จะให้เขาได้เบาบางลงจนหมดทุกข์ลงไปเป็นที่สุด
ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นแบบสังคมนิยมฉบับดั้งเดิม และมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์อีกด้วย พุทธศาสนามิใช่เป็นของสูงสุดจนเอื้อมไม่ถึงจนคนธรรมดาจะรับเอามาปฏิบัติไม่ได้ ดังผู้ไม่เข้าใจในคำสอนของพระองค์คาดคิดไป หรือเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นของง่ายนิดเดียวจะปฏิบัติเมื่อไรก็ได้เพราะอยู่ที่ตัวของเราเอง ดังความคิดของผู้หลงติดอยู่ในกองทุกข์โดยเข้าใจว่าเรามีความสุขพอแล้ว
แท้จริง พุทธศาสนา เป็นคำสอนสังคมโลกโดยธรรมชาติ มิใช่สังคมดัดแปลง ดังยุคปัจจุบัน
คำสอนของพระองค์ สอนให้มนุษย์ตลอดจนหมู่สัตว์ทั่วไปอยู่ร่วมกันโดยสันติ มิใช่กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถึงแม้มนุษย์และสัตว์จะต่างชาติต่างภาษาและต่างประเภทมิใช่เชื้อชาติสายโลหิตอันเดียวกันก็ตาม เมื่อเกิดมาร่วมโลกด้วยกันแล้วก็ได้ชื่อว่ามาร่วมสุกร่วมดิบด้วยกันทั้งนั้น เราเกิดมาร่วมโลกด้วยความบังเอิญแล้ว จงรักใคร่ถือเป็นโชคลาภของทุกคนก็แล้วกัน
ดอกไม้หลากสี เมื่อช่างผู้ฉลาดฝีมือดีเก็บมาร้อยเข้าเป็นระเบียบแล้วย่อมงดงามฉันใด คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น คือท่านสอนให้คนทุกชั้นทุกภูมิทุกหมู่เหล่า ให้รู้จักหน้าที่การงานดำรงชีพมีระเบียบเป็นธรรมแล้ว ไม่ต้องใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงบังคับหัวใจกันให้เดือดร้อน ต่างก็มีความรู้สำนึกในหน้าที่ในการงานของตนๆ และประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจของตนๆ ผู้มีสติปัญญามีความสามารถมากก็ทำให้มาก เมื่อได้ผลมากแล้ว ก็ให้เห็นหัวอกของผู้ยังโง่เง่ามีความสามารถน้อย ช่วยเฉลี่ยแบ่งปันหรือสงเคราะห์เขาด้วยน้ำใจอันกอปรด้วยเมตตา อย่าไปเหยียดหยามดูถูกกันให้เสียน้ำใจเขา ดังแสดงไว้ในคิหิปฏิบัติที่ยกตัวอย่างมาไว้ดูข้างต้นนั้น
เมื่อทุกคน มาทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะเป็นความดีงามอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข คำสอนนี้เป็นของไม่ยาก คนทุกชั้นทุกภูมิทำได้ มิใช่พระองค์สอนเฉพาะคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกคนธรรมชาติแต่งมาให้มีสิทธิเสรีทำได้เต็มที่ด้วยกันทั้งนั้น พุทธศาสนาจึงเรียกได้ว่าเป็นแบบฉบับของสังคมเก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งไม่มีใครบัญญัติไว้ก่อน แต่หากธรรมชาติความต้องการของมนุษย์โลกที่เกิดมาแล้วต้องการอย่างนั้น พระองค์จึงสอนมนุษย์ผู้ไม่รู้ความต้องการของตนด้วยความมืดบอด ให้ปฏิบัติถูกต้องตามความจริงเสีย
คนเราในสมัยนี้ ถึงแม้จะรู้จักความต้องการของตนตามเป็นจริงแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถจะสอนให้คนอื่นรู้จักหน้าที่การงานและอาชีพของตนๆตามที่ถูกที่ควรได้ ฉะนั้น จึงมีมนุษย์สมองใสบางคนมีเจตนาดีเพื่อหวังความรุ่งโรจน์ของสังคมของโลกเหมือนกัน เมื่อไม่เห็นมีหนทางใดแล้วที่จะสอนให้สังคมของโลกมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ในอันที่จะประกอบกิจการอาชีพในหน้าที่ของตนด้วยความสมัครใจมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเพื่อจะนำมาซึ่งความสันติสุขได้ จึงได้คิดตั้งลัทธิและระเบียบโดยใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับสังคมหมู่เล็กๆ จนกระทั่งสังคมใหญ่ตลอดจนถึงประเทศชาติให้กระทำตาม
แต่การกระทำนั้น ถึงแม้จะได้ประโยชน์อยู่บ้าง แทนที่จะเป็นประโยชน์ให้เกิดความสุข มันกลับทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ การใช้อาญาบังคับมิใช่ทำด้วยความสมัครใจแล้ว ไม่ว่าเรื่องใดๆ ณ ที่ไหนๆ มันต้องเดือดร้อนด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งใครๆย่อมทราบดี แต่บางกรณีก็จำเป็นต้องกระทำ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้รู้ด้วยใจว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วด้วยตนของตนเอง ไม่มีใครคนอื่นและสิ่งศักดิ์อื่นใดจะมาบันดาลให้ได้ แล้วร่วมกันประกอบแต่กรรมดีด้วยความสุจริตใจ อันจะนำมาซึ่งความสุขพร้อมด้วยความพอใจ
ผลงาน ที่ประกอบขึ้นด้วยความสุจริตและเต็มใจทำนี้ บางทีถึงสุขภาพพลานามัยจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่เมื่อกายกับใจพร้อมกันประกอบกรรมดีไม่มีโทษเข้าแล้ว ใจมาระลึกถึงผลงานที่สำเร็จมาด้วยความบริสุทธิ์แล้ว มันทำให้ใจเต็มตื้นและเบิกบานสามารถทำให้กายที่ทุพพลภาพอยู่นั้นกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงขึ้นหรืออาจหายได้ก็มี ความสุขที่จะบรรดาลให้เกิดขึ้นแก่ใจนั้น นอกจากการระลึกถึงกรรมดีของตนที่ได้กระทำไว้แล้วย่อมไม่มี
อนึ่ง กรรมที่ว่านี้จะต้องมีลักษณะดังนี้คือ กรรมอันใดเมื่อกระทำลงไปแล้ว จะด้วยกายวาจาหรือใจก็ตาม จะต้องไม่เป็นไปด้วยความเดือดร้อนเป็นทุกข์แก่ทั้งตนและคนอื่นอีกด้วย จึงจะเรียกว่ากรรมดี ตรงกันข้าม กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะด้วยกายวาจาหรือใจก็ตาม หากเป็นไปด้วยความเดือดร้อนเป็นทุกข์แก่ทั้งตนและคนอื่นแล้ว กรรมนั้นเรียกว่ากรรมไม่ดี
ทำกรรมใด อย่าให้เข้าข้างตัว เมื่อตนมีผลประโยชน์จากกรรมนั้นๆแล้ว ถือว่าทำกรรมดี แต่คนอื่นนั่นซิมันแย่ ผู้สร้างกรรมดีตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเขาไม่ทำอย่างนั้น
แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ก็ให้เห็นว่า เขาเหล่านั้นเป็นพี่น้องญาติมิตรของเราทั้งหมด เขาได้รับทุกข์ก็เหมือนเราได้รับทุกข์ เขามีความสุขก็เหมือนกับเรามีความสุขด้วย ความปรารถนาในเรื่องนี้ใครเล่าจะปฏิเสธว่าไม่ต้องการ คนทุกยุคทุกสมัยและทุกชั้นทุกหมู่เหล่าตลอดถึงสัตว์ทุกจำพวก เมื่อต่างก็พากันต้องการและปรารถนาเช่นนั้นแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าจะไปล้าสมัยในตอนไหน คนผู้ไม่เข้าใจและไม่ยอมปฏิบัติตามนั้นต่างหากที่ล้าสมัย เดินตามคำสอนของพระองค์ไม่ทัน
เมื่อพูดถึงด้านอาชีพและการงานเล่า ถึงแม้พระองค์จะสอนให้เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมแล้วก็ตาม แต่มิได้สอนให้นอนคอยรับเอาแต่ความสุขความทุกข์จากผลของกรรมอันจะมาประสิทธิ์ประสาทให้ ดังความเข้าใจของบุคคลบางคนเท่านั้น แต่พระองค์ทรงสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ชมเชยความเพียร ติเตียนความขี้เกียจ เพียรในทางที่ชอบ ประกอบอยู่ในสุจริตธรรม ไม่ทำความเดือดร้อนมาให้แก่ตนเองและผู้อื่นอีกด้วย
หากถือว่าทำมาหากินได้มีลาภร่ำรวยด้วยบุญกุศลที่ตนเคยกระทำไว้แล้วไซร้ ก็อย่าได้ประมาท จงทำใจให้เกิดความพอใจในกุศลผลบุญของตน แล้วเพิ่มผลผลิตคือสละจาคะกำไรที่ได้ทำแล้วนั้นให้เป็นทุนอีกต่อไปอีก “ผู้ที่ร่ำรวยเพราะกุศลดลบันดาลให้แต่ไม่ทำบุญต่อไปอีก ท่านว่ากินของเก่า ทุนเดิมมีแต่จะสิ้นหมดไป กำไรก็ไม่มี”
ส่วนผู้ทุกข์จนจะขวนขวายแสวงหาในทางใดๆก็มีแต่ล่มจมขาดทุนป่นปี้ ท่านก็สอนมิให้ท้อถอย จงขยันหมั่นเพียร ความเพียรเท่านั้นที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ ถึงจะไม่รวยอย่างคนอื่นที่เขาเป็นผู้มีบุญวาสนาหาได้คล่องไม่ว่าทางไหนไหลมาเทมาทั้งนั้นก็ตาม แต่ยังพอประทังยังชีวิตให้เป็นสุขไปได้วันหนึ่งๆแล้ว จงให้เห็นโทษทุกข์ของบาปกรรมของตนที่ได้กระทำไว้ และอย่าได้กระทำกรรมอันลามกเพิ่มพูนขึ้นมาอีก “กรรมชั่ว เราไม่ทำ ระวังสังวรอยู่ตลอดเวลา ย่อมมีเวลาหมดสิ้นไปได้ เหมือนเราไขก๊อกน้ำในถัง เมื่อปิดฝาไว้แล้วไขให้มันไหลออก น้ำเก่าย่อมแห้งหมดไปได้ น้ำเก่าหมดไปแล้วปิดก๊อก เปิดฝาถังรองรับเอาน้ำฝนไว้ (คือสร้างกรรมดี) ที่จะตกมาใหม่ น้ำย่อมมีเวลาเต็มได้ฉะนั้น”
เมื่อคำสอนของพระองค์ สอนให้มีเมตตาโอบอ้อมอารีแก่กันและกัน มีจิตใจเจริญก้าวหน้าสูงกว่าระดับของจิตสัตว์ดิรัจฉานที่ไม่รู้จักบุญคุณของกันและกันมีแต่จะกดขี่ข่มเหงกัน แล้วก็สอนให้มีอาชีพการงานเป็นระเบียบ รักษาสิทธิเสรีหน้าที่ของตนให้อยู่ขอบเขตอันดีงาม ถึงจะไม่ร่ำรวยก็เรียกว่าการนั้นเจริญ ทำให้เกิดความสุขได้ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นอีกด้วย หากสังคมของมนุษย์พากันปฏิบัติตามโอวาทคำสอนของพระองค์ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว สังคมนั้นก็เรียกว่าเจริญก้าวหน้าพร้อมทั้งด้านกายและจิตใจ สังคมนั้นจึงจะเรียกว่า”สังคมของมนุษย์ที่เจริญแล้ว” หากมนุษย์เราจะพากันบำรุงพอกพูนแต่กายให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีพลานามัยดี แล้วก็เพลิดเพลินยินดีพอใจอยู่แต่ความสุขนั้น ลืมบำรุงความสุขทางด้านจิตใจไปพร้อมกันแล้ว สังคมของมนุษย์เราจะผิดแปลกอะไรไปจากสังคมของสัตว์ทั่วๆไปเล่า
คำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงสอนให้เห็นความสำคัญของใจเป็นใหญ่กว่าสิ่งอื่นทั้งหมดในร่างกายของคนเรา เพราะถ้าใจไม่มีเสียอย่างเดียวแล้ว อวัยวะทุกชิ้นส่วนในร่างกายของคนเราจะมีประโยชน์อันใด (ดูคนตายก็แล้วกัน) คนมีใจรักและเมตตาสงสารเอ็นดูคนอื่น ย่อมเป็นผู้ยอมเสียสละแม้แต่กำลังกายตลอดชีวิตของตนก็ยอมเสียสละได้ การงานและอาชีพความสุจริตใดๆก็ตาม เมื่อใจได้เห็นดีเห็นชอบก็พอใจแล้ว ร่างกายอันนี้ใจสามารถบัญชาการให้ทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของหยาบของละเอียดดีชั่วอย่างไร แม้แต่บอกให้ไปฆ่าบิดามารดา ผู้ซึ่งมีพระคุณบังเกิดเกล้า ก็สามารถทำได้ลงคอ ใจบัญชาการให้ทำ เราไม่เรียกว่า อาญาสิทธิ์ แต่เรียกว่า สิทธิเสรี แต่ถ้าคนอื่นบัญชาการให้ทำ เราเรียกว่า อาญาสิทธิ์
ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “เป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของคนอื่น” ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าหากจะเรียกว่า ศาสนาสากลก็ คงจะไม่ผิด เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนแบบฉบับสมบูรณ์ คือสอนคนไม่เลือกชั้นวรรณะเพศวัยและอาชีพตลอดตั้งแต่คนต่ำสุดถึงสูงสุด (เทวดาอินทร์พรหม) ให้ดำรงอยู่ในหน้าที่ขอบเขตการงานและอาชีพของตนๆ มิให้ก้าวก่ายกดขี่ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้ถือเสมือนพี่น้องสกุลเดียวกัน ถึงแม้อาชีพและการงานตลอดถึงลัทธิและความประพฤติของสังคมนั้นๆจะผิดแผกแปลกต่างหยาบละเอียดไม่เหมือนกันโดยอุดมการของตนๆก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงสอนมิให้เป็นปรปักษ์และเหยียดหยามหรือริดรอนเสรีภาพของกันและกัน
พระองค์ได้ทรงทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว เมื่อพระองค์ยังทรงประกาศพระศาสนาอยู่ เช่น เมื่อนางมาคัณฑิยาด่าพระองค์ด้วยตนเองแล้วยังไม่หนำ ไปเที่ยวจ้างชาวโกสัมพีช่วยด่าอีกทั้งเมืองด้วย จนพระอานนท์รำคาญ เชิญให้พระองค์เสด็จหนีไปอยู่ ณ เมืองอื่น พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า เขามีสิทธิที่จะด่าก็ให้เขาด่าไป จะหนีไปไหน หากไปอยู่ในเมืองนั้นเขาด่าเข้าอีกเล่า เราก็หนีเขาร่ำไปแล้วเราก็จะไม่มีที่อยู่ พระองค์ตรัสว่าไฟเกิดขึ้น ณ ที่ใดมันก็จะต้องดับลง ณ ที่นั้น เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่เกิน ๗ วันก็จะสงบไปเอง เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ตรัสไว้จริงทุกประการ พระองค์ตรัสว่า “ธรรมแล ย่อมชนะอธรรม” เรื่องนี้เป็นความจริงไม่ว่ากาลใดสมัยใดก็ตาม อธรรมย่อมดำรงอยู่ได้ไม่นาน มีอันจะต้องเป็นไปไม่ช้าก็เร็วเป็นธรรมดา แต่พระองค์ทรงสอนให้นิ่ง อดทน มิให้ใช้เวรแก้เวร ผู้กระทำได้ดังนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำตามคำสอนของพระองค์
คำสอนของพระองค์ สอนให้พิจารณาเหตุผล เมื่อเห็นเหตุแห่งความชั่วนั้นๆแล้ว จงละเหตุนั้นด้วยตนเสีย เมื่อคนอื่นเขายังไม่ละเพราะเหตุเขาไม่รู้หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม นั่นก็เรื่องของเขา เมื่อเราช่วยเขาไม่ได้แล้วก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา เราจึงไม่ควรให้เป็นไปอย่างเขา ถ้าเรายอมให้เป็นไปอย่างเขาแล้ว ได้ชื่อว่าเราเป็นคนเลวกว่าเขา (แย่งความเลวกันจนไม่มีใครดีได้) เราอดได้ คนอื่นเขาจะหาว่าเราเลว เราก็ไม่เห็นจะเลวตรงไหน คนที่เชื่อมั่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วต้องเชื่อตนเองอย่างนี้
ความคิดความเห็น ของใครก็ตาม หรือลัทธิการเมืองใดๆก็ช่าง ที่เห็นว่าพุทธศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของล้าสมัย ไม่สามารถจะนำผู้ปฏิบัติตามให้เจริญก้าวหน้าได้ในยุคนี้นั้น เป็นความคิดความเห็นที่ยังไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง อาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ถ่องแท้เสียก่อน หรือมิฉะนั้นก็เห็นแต่บางคนที่เห็นว่าตนคือพระพุทธบริษัท แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง แล้วจะเหมาเอาว่า พุทธศาสนาเป็นของล้าสมัยนั้น มันไม่เป็นธรรมเสียเลย
และที่ว่า พุทธศาสนาเป็นยาเสพติดนั้น ผู้เขียนขอยอมรับความจริงไม่ปฏิเสธ เป็นยาเสพติดประเภทที่อำนวยแก่คุณประโยชน์แก่ผู้เสพ ปราศจากส่วนที่เป็นโทษโดยสิ้นเชิง เพราะพุทธศาสนาเป็นคู่กันกับชีวิตของคนเราผู้เกิดมามีกายมีใจอันสมบูรณ์แล้ว พุทธศาสนาก็สอนให้บำรุงสุขภาพร่างกายด้วยความขยันหมั่นเพียรเพื่ออาชีพให้สมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็สอนมิให้ใช้อาญากดขี่ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงถือว่ามนุษย์ตลอดถึงสัตว์ทั่วไปที่เกิดมาร่วมโลกด้วยกันแล้วนั้น เหมือนพี่น้องร่วมสกุลเดียวกัน แล้วก็สอนสุขภาพทางใจให้ระลึกถึงคุณงามความดีที่ตนได้กระทำไว้แล้ว และผู้อื่นกระทำให้แก่ตัวเองอีกด้วย แล้วหาวิธีสนองตอบแทนบุญคุณของท่าน
คนเราถ้าพากันประกอบแต่กรรมทั้งเพื่อตนและคนอื่นด้วย แล้วรู้จักบุญคุณของคนอื่น สนองตอบแทนบุญคุณของกันและกันอยู่เช่นนี้ มนุษย์ก็จะเป็นสังคมที่มีความสุข ดีกว่าสังคมของสัตว์เหล่าอื่นได้อย่างแน่นอน เมื่อผู้มาปฏิบัติตามพุทธศาสนาได้รับความสุขเห็นคุณค่าประโยชน์ดังนี้แล้ว ผู้นั้นจะติดพุทธศาสนายิ่งไปกว่ายาเสพติดเสียอีก เพราะสุขภาพพลานามัยของเขาดีพร้อมทั้งกายและใจ ผู้เขียนจึงอยากจะขอเชิญชวนท่านที่ยังไม่เคยติด จงมาเสพยาขนานนี้ ลองดูให้รู้รสด้วยตัวเองบ้าง
ผู้ที่เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ทำดีได้ดีมีผลให้เกิดความสุข ไม่ว่าจะทำกรรมอันใดมีแต่จะสำเร็จผลทั้งนั้น หาเงินทองไม่น่าจะได้ ก็ได้ ทำให้ร่ำรวยตั้งตัวตั้งตนได้ จนมีชื่อเสียงเกียรติยศเลื่องลือ ทำราชการเป็นตำรวจทหารพลเรือน ก็มีแต่เจ้านายผู้ใหญ่รักและไว้วางใจให้ยศมอบตำแหน่งหน้าที่สูงๆให้ เพราะกรรมในอดีตที่ตนทำไว้ดี ในปัจจุบันก็รีบๆทำดีให้ยิ่งๆขึ้นไป ไม่ใช้ความรวยและตำแหน่งหน้าที่กดขี่ข่มเหงและเบียดเบียดเบียนคนอื่นให้เขาได้รับความเดือดร้อน ไม่นิ่งนอนใจรอให้กรรมเก่าอำนวยผลแต่อย่างเดียว แล้วนำเอาผลผลิตกรรมเก่าที่ตนได้รับแล้วนั้นมาหว่านลงด้วยการสงเคราะห์คนจน อุดหนุนคนที่กำลังจะก้าวหน้า หรือช่วยเหลือคนที่กำลังจะก้าวหน้าอยู่นั้นให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป จะด้วยทุนทรัพย์หรือด้วยความคิดอุบายใดๆก็ตาม ดังนี้จึงจะถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
บางคนคิดว่าสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นเขาทำไม เขาได้ดิบได้ดีแล้วมันเนรคุณ คิดเช่นนั้นยังไม่เชื่อว่าเชื่อกรรมเชื่อผลกรรมที่แท้จริง เพราะความดีที่เราทำเป็นของดีอยู่แล้ว เราทำดีเราเป็นธรรมถูกต้องตามคำสอนของพระองค์แล้ว เราชื่นใจเป็นสุข อย่าไปถือความไม่ดีของคนอื่น ทั้งที่เราได้ช่วยเหลือและไม่ได้ช่วยเหลือมาเป็นเหตุเป็นเครื่องทวงบุญคุณ ขอให้ถือเสียว่าเขานั้นได้ทำกรรมดีในอดีตน้อย หรือไม่เคยได้ทำไว้เลยก็ได้ จึงเป็นเหตุมิให้เขาเห็นบุญคุณของคนอื่นที่ทำให้แก่เขา
ในระหว่างคนสองคน คนหนึ่งมีธรรม อีกคนหนึ่งไม่มีธรรมก็ดีโขแล้ว ดีกว่าไม่มีธรรมเสียสักคนเลย คนทำกรรมดีย่อมมีพร้อมทั้งทรัพย์สินยศศักดิ์บริวารและสติปัญญาศีลธรรม มีใจโอบอ้อมอารีเผื่อแผ่แก่คนทั้งผู้มีบุญคุณแก่ตนและไม่มีคุณแก่ตน ก็ทำได้โดยมิได้หวังผลตอบแทน สมกับกรรมดีสร้างคนให้เป็นคนดีทั้งในอดีตและในปัจจุบัน กรรมดี จึงมีคุณค่าทั้งแก่บุคคลและแก่โลกอีกด้วย
ทำชั่วได้ชั่วมีผลให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าจะทำกรรมธุรกิจการงานใดๆก็ตาม มีแต่จะเป็นไปเพื่อหายนะทั้งนั้น ประกอบธุรกิจค้าขายลงทุนมากควรจะกำไรได้มากกลับได้น้อย นานเข้าทุนที่ลงไปนั้นก็พลอยสูญไปอีกด้วย จะประกอบเกษตรกรรม พานิชยกรรมใดๆ ก็มีอันให้เป็นไปแต่ในทางหายนะทั้งนั้น เป็นข้าราชการทหารตำรวจและพลเรือน จะทำดีแสนดีเท่าที่ตนจะทำได้ แต่ผู้ใหญ่เจ้านายไม่เห็นความดีของเราเลย ทำให้ชีวิตในอนาคตมืดมิดไปหมด เพื่อนสนิทมิตรที่คุ้นเคยมาแต่เก่าก่อนก็ถอนตัวตีออกห่าง จะมองหน้าใครก็ไม่ทั่ว แม้แต่ลูกเมียในครอบครัวก็ห่างออกไปทุกที
แต่ผู้ที่ได้เคยกระทำกรรมชั่วไว้มักจะกระทำกรรมชั่วเพิ่มขึ้น ในเมื่อกรรมชั่วนั้นตามสนองให้ผล ดังเราจะเห็นได้ บางคนกลุ้มใจมาดื่มสุราให้มึนเมา เพื่อมิให้มีสติ ลืมความกลุ้มเสียใจ หรือมิฉะนั้น คิดจะแก้แค้นตอบแทนผลกรรมตามสนอง ด้วยคิดจองล้างจองผลาญเอากับผู้ที่ทำให้เราผิดหวัง หรือด้วยการดักปล้นสะดมชิงทรัพย์เพื่อให้เขาเสียหายเดือดร้อนเช่นอย่างเรานั่น มิใช่ทางที่ถูกที่ดีที่จะให้พ้นจากกรรมชั่วเลย มีแต่จะเพิ่มทวีกรรมชั่วเข้าทุกที ผู้ที่เชื่อตามคำสอนของพุทธเจ้าแล้วย่อมไม่ทำตามเช่นนั้น จะยอมรับทุกข์อันเป็นผลของกรรมชั่วเพราะเข็ดหลาบแล้ว จะประกอบแต่กรรมดี ยอมสละมานะทิฏฐิ อันเป็นตัวการให้ทำชั่วแล้วอุตส่าห์สร้างชีวิตอันเป็นวิบากของกรรมชั่วนี้ให้เป็นไปตามวิถีทางธรรม อดทนต่อคำเหยียดหยามดูถูกของผู้อื่น จะไม่ยอมให้ผลของกรรมชั่วเข้ามาทับหัวใจ ด้วยอดทนและระลึกถึงกรรมชั่วที่ตนได้กระทำไว้แล้วอยู่เสมอ
มนุษย์สัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ได้สร้างทั้งกรรมดีและกรรมชั่วมาด้วยกันทั้งนั้น จะต่างก็มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กิเลสของตนๆจะบัญชาการ ฉะนั้นบางคนจึงมีความสุขมาก มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมลึกซึ้ง บางคนก็มีปานกลาง บางคนก็เลวไม่เสมอกัน ทั้งนี้ก็เพราะตัวการคือกิเลสของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน ทั้งในอดีตปัจจุบันและในอนาคตก็จะเช่นนี้เหมือนกัน คนอื่นนอกจากกรรมของแต่ละบุคคลที่ได้สร้างไว้แล้ว จะมาบันดาลให้เป็นไปตามอำนาจของตนไม่ได้ ฉะนั้นคำสอนของพระองค์จึงสอนให้ผู้มีกรรมและกำลังเสวยผลของกรรมอยู่นั้น ใช้ผลของกรรมให้เป็นไปในทางที่ดี เมื่อกรรมดีมากเข้า กรรมชั่วไม่กระทำอีก ก็จะหมดฤทธิ์ไปเอง
ผู้ทำกรรมดีคิดเห็นว่าเป็นความสุข ควรสอนพวกที่ยังทำกรรมชั่วอยู่ให้ได้ทำตามบ้าง หากเขายังไม่สามารถทำตามได้ เพราะกรรมชั่วของเขายังหนาแน่น เราก็อย่าไป เป็นเดือดเป็นแค้นและเกลียดโกรธ แบ่งเอากรรมชั่วของเขามาทับถมกรรมดีของเราให้หนาขึ้น คนสัตว์เกิดมาสร้างกรรมย่อมไม่เสมอกันดังกล่าวแล้ว ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกันไปหมดเสียแล้ว โลกอันนี้ก็จะไม่เรียกว่าโลกดังทุกวันนี้ ของไม่เสมอกันนี้แล มันทำให้โลกมนุษย์อยู่เป็นสุขแก้กลุ้มไปได้วันหนึ่งๆ ถ้าเห็นของที่ไม่เสมอกันเป็นเครื่องกีดขวางซึ่งกันและกันแล้ว โลกอันนี้ก็จะกลายเป็นโลกร้อนหาความสุขมิได้
มือคนเรา ๑๐ นิ้ว เกิดมา ณ ที่เดียวกันก็ไม่เสมอกัน ยาวบ้างสั้นบาง แต่ทุกนิ้วต่างก็ทำหน้าที่ของตนๆ โดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดเอาเปรียบกันแม้แต่น้อย นิ้วกลางนิ้วนาง ถึงจะมีผู้ให้ความชอบเปล่าๆ สวมแหวนเพชรให้หรูทุกๆ วันก็ไม่เคยเห็นนิ้วไหนจะคิดอิจฉาน้อยเนื้อต่ำใจ ถึงกับสไตร๊ค์หยุดงานเหมือนกรรมกรและข้าราชการในเมืองไทยของเราเลย ดูแต่นิ้วโป้งซี ทำงานหนักกว่าเพื่อน ส่วนนิ้วกลางนิ้วนางเขาสวมแหวนเพชรให้หรู ตัวเองแม้จะสวมลองกับเขาบ้างก็ไม่เคยได้ลองเสียที แต่กระนั้นก็ยิ้มย่องเป็นผู้ใหญ่ให้เขา เหมือนบิดามารดาของตนประดับตัวหรูหราฉะนั้น
พระพุทธเจ้าทรงสร้างบารมีมานับเป็นอสงขัยกัป ก็เฉพาะเจาะจงเพื่อจะมาตรัสรู้ในโลกที่ไม่สม่ำเสมอ ขรุขระกำลังแสดงละครอยู่ นี้เอง เมื่อพระองค์ทรงมาทอดพระเนตรละครโลกจนพอแก่พระทัย (ตรัสรู้) จึงทรงคุณนามว่า โลกวิทู “เธอทั้งหลายจงมาดูโลกนั้น ซึ่งอันธการอยู่ ฯลฯ” แท้จริง ธรรมก็คือโลกนั่นเอง ถ้าไม่มีโลกแล้ว จะเอาธรรมมาจากที่ไหน
โลกนี้จะอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข ก็เพราะอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม แล้วไม่ปล่อยให้กรรมนั้นๆใช้อำนาจบีบบังคับเอาตามชอบใจ พยายามแก้ไขกรรมชั่วให้ดีขึ้น มีความรูสึกละอายต่อกรรมชั่วอยู่เสมอว่า เวลานี้เรากำลังเสวยผลของกรรมนั้นๆอยู่ แล้วให้รู้จักประมาณประกอบตนให้เข้ากับเหตุการนั้นๆ แล้วบำเพ็ญแต่กรรมดีอยู่เสมอ จึงจะอยู่ร่วมกันในโลกนี้ได้ด้วยความสันติสุข.
พุทธศาสนาเสื่อมสูญได้อย่าไร
เมื่อเรามาถึงต้นตอบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา และการเผยแพร่คำสอนนั้นแก่ปวงชน ตลอดถึงความเชื่อมั่นของผู้ที่ได้รับการอบรมแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้พุทธศาสนาของพระองค์สูญสิ้นไปได้ ไม่ว่าศาสนาและลัทธิใดๆก็ตาม ย่อมสอนให้คนเข้าใจและนำไปปฏิบัติตาม ก็เรียกว่าบริษัทของลัทธิและศาสนานั้นๆ ภายหลัง หากผู้นั้น มาพิจารณาถึงคำสอนของศาสนาและลัทธินั้นๆแล้ว เห็นว่าเป็นของไม่มีสาระควรจะถือหรือเลื่อมใสเอาไปปฏิบัติตามได้ แล้วเขาไม่ยอมรับเอาไปปฏิบัติตาม ก็เรียกว่าเขาผู้นั้นเสื่อมเสียจากศาสนาและลัทธินั้นๆ
พุทธศาสนา สอนหลักข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง ซึ่งมีในคำสอนของพระองค์ที่ว่าให้เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมบุคคลผู้ทำกรรมดีไม่ว่าจะเป็นทางกายทางวาจาและทางใจก็ตาม ย่อมได้รับผลดีมีความสุขด้วยกรรมนั้น ตรงกันข้าม บุคคลผู้ทำกรรมชั่วไม่ว่าทางกายทางวาจาและทางใจก็ตาม ย่อมได้รับผลชั่วมีความทุกข์ด้วยกรรมนั้น หาได้มีบุคคลอื่นมาประสิทธิ์ประสาทให้ไม่ ผู้ที่เชื่อในใจของตนด้วยการปฏิบัติจนเห็นผลด้วยตนเองแล้ว ได้ชื่อว่าพระพุทธศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าหยั่งลึกลงไปในน้ำใจของผู้นั้นแล้ว ผู้นั้นได้เป็นพุทธศาสนิกชนโดยแท้จริง ความเชื่อ (คือน้ำใจ) ของบุคคลนั้นไม่ต้องพูดถึงจะไปกระชากเอาออกมา แม้แต่จะมองของกันก็ไม่สามารถเห็นได้ แล้วใครเล่าจะมาลบล้างความเชื่อของเขาให้สูญสิ้นไปจากใจได้เล่า
บางที คำสอนและระเบียบแนวปฏิบัติของศาสนาและลัทธิอันไร้สาระ และตรงกันข้ามกับความเชื่อมั่นของเขาที่เขาเชื่ออยู่แล้วนั้น เมื่อเขาได้ยิน ได้เห็นเข้าแล้ว เขาอาจทำความมั่นในความเชื่อของเขาให้ทวีขึ้นอีกเสียซ้ำไป “ของไม่ดี ไม่มีสาระ ย่อมเป็นเครื่องสนับสนุนผู้ที่เจอของดีมีสาระแล้ว ให้มั่นใจในความดีของเขายิ่งขึ้นไปอีก”
ฉะนั้น ผู้ที่เชื่อมั่นใจในพุทธศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าจนถึงข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่มีความหวั่นเกรงว่าใครและลัทธิอะไรก็ตาม จะมาทำลายพระพุทธศาสนาของตนให้เสื่อมสูญลงไปได้
ที่พากันกลัวว่า ลัทธิการเมืองบางลัทธิไม่ให้มีศาสนานั้น เพราะเขาผู้นั้นไม่เข้าใจหลักของพระพุทธศาสนา แล้วปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ยังเข้าไม่ถึง เห็นพระพุทธศาสนาเพียงตื้นๆ เผินๆ ยึดเอาวัดเอาโบสถ์เอาวิหาร แม้แต่พระภิกษุสามเณรที่ประพฤติตนเลวๆ ว่าเป็นศาสนา เมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมสลาย หรือบุคคลเหล่านั้นทำตนเป็นคนเลวๆ ก็หาว่าศาสนาเสื่อมสูญเสียแล้ว
แท้จริง สิ่งเหล่านั้นมิใช่ศาสนา เป็นแต่สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาเท่านั้น พุทธศาสนาก็แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าบ่งชัดอยู่แล้ว พุทธบริษัทหรือพุทธสาวกก็แปลว่าผู้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าใจแล้วและเสื่อมใสแล้วยอมปฏิบัติตาม พระสมณโคดมก็เป็นผู้ตรัสรู้สัจธรรมของจริง แล้วนำเอาธรรมของจริงนั้นมาบอกสอนคนอื่น คำสอนของพระองค์นั้นต่างหากคือพระพุทธศาสนา
ถ้าหาก สิ่งเหล่านั้นหรือท่านเหล่านั้นเป็นศาสนาแล้ว วัดและสิ่งเหล่านั้นตลอดถึงท่านเหล่านั้นนิพพานหรือตายไปแล้ว ศาสนาก็มิเสื่อมสูญไปหมดหรือ แต่นี่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ วัดเชตวันที่พระองค์ประทับตรัสเทศนาก็ดี พระพุทธองค์ก็ดี พระอสีติมหาสาวกก็ดี อนาถบิณฑิกมหาอุบาสกก็ดี นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นสลายไปแล้ว แม้พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมครู พร้อมทั้งพระสาวกและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายดังกล่าว แล้วนิพพานและถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วก็ตาม แต่พุทธศาสนาคำสอนของพระองค์ก็ตั้งมั่นอยู่ในใจของพุทธบริษัทจนตราบเท่าทุกวันนี้ หาได้เสื่อมสูญสิ้นไปแต่อย่างไรไม่
พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตเป็นแต่ผู้บอกผู้สอนเท่านั้น ท่านทั้งหลายฟังแล้วปฏิบัติตามคำสอนของเราก็จักพ้นทุกข์ได้ด้วยตนเอง” ดังนี้ ก็แสดงว่าพุทธศาสนาคือคำสอนของพระองค์นั้นต่างหาก มิใช่ตัวของพระองค์เป็นศาสนา พระพุทธองค์เป็นแต่ผู้นำเอาความรู้ที่ได้ทรงรู้เองและเห็นในสัจธรรมนั้นออกมาสอนแก่ผู้อื่น เรียกว่า “พระบรมครู”
คำว่า “เสื่อม” กับคำว่า “สูญ” มีลักษณะต่างกัน
เสื่อม มีลักษณะแปรจากสภาพของเดิมให้เลวลงกว่าเก่า เช่น รถเครื่องเคยเดินคล่องใช้ไปนานเข้ามักติดขัด เรือนอยู่นานไปหลังคารั่วพื้นผุ คนอายุมากเข้าอ่อนกำลังเรี่ยวแรงลง เป็นต้น
สูญ หมายถึงของมีอยู่แล้วสูญหายไปไม่ปรากฏ เช่น นาฬิกาหาย สตางค์หาย โคกระบือหาย เขาไปขายให้เป็นกรรมสิทธ์ของคนอื่น แม้คนที่เป็นไข้ฉีดยาแล้วไข้หายไปก็เรียกว่า หาย – สูญ
ความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ถ้าจะพูดถึงความเสื่อมก็เสื่อมมาพร้อมกับความเจริญนั่นเอง ไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกนี้ เมื่อมีเจริญแล้วก็ต้องมีเสื่อมติดตามมาด้วย ที่เราพูดว่าความเจริญๆ นั้น เราพูดแต่เฉพาะในปัจจุบันและมองดูข้างเดียว เช่น บ้านเมืองเจริญหรูหราไปด้วยการก่อสร้าง ตึกรามบ้านช่องถนนหนทางตรอกซอยต่างๆ ดูที่ไหนก็สะอาดงามตาหรูหราใหม่ๆ แปลกๆ ทั้งนั้น
แต่แล้ว เราลืมมองดูป่าดงพงพี ตัดเอาไม้มาก่อสร้าง ภูเขาหินทรายและเหล็กที่ไปขุดเอามาประกอบกันขึ้นบ้านเป็นตึกสิบชั้นยี่สิบชั้นก็ดี มันเตียนโล่งราบเป็นหน้ากลองไปเราไม่มองดูและไม่พูดถึง แม้บ้านเรือนเป็นต้น ไม้ที่เราปลูกสร้างขึ้นมานั้น ยังไม่ทันเสร็จเลย ล่วงเวลาวันสองวันไปก็เรียกว่าเก่าแล้ว (คือเสื่อม)
พระองค์ประกาศศาสนาครั้งแรก มีผู้ได้รับฟังการอบรมแล้วได้สำเร็จมักผลเป็นอันมาก พระวินัยสิขาบทก็ไม่ได้บัญญัติ เพราะต่างก็พากันระวังสังวรอยู่ในสมณสารูปเรียบร้อยดีอยู่แล้ว เมื่อกาลนานมา มีผู้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนามากขึ้น ที่เป็นพระอรหันต์ และพระอนาคามี พระสกิทาคา พระโสดา ตลอดถึงปุถุชนเป็นที่สุด ท่านเหล่านั้นย่อมกิเลสและวินัยไม่เหมือนกัน จึงได้ประพฤติไปต่างๆนานา จนเลยขอบเขตของสมณสารูป พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติระเบียบพระวินัยเพื่อเป็นเครื่องบริหารหมู่คณะเป็นลำดับมา
ถ้าจะพูดถึงเรื่องความเสื่อม คือพระสงฆ์สาวกของพระองค์ประพฤตินอกรีตนอกรอยอันไม่เหมาะสมแก่สมณศากยบุตร จึงเรียกว่า เสื่อม มาตอนหลัง ถึงพระเทวทัตซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์แท้ๆ คิดจะปฏิวัติพระองค์เอาดื้อๆ หลังจากพระองค์นิพพานไปแล้วก็มีการทำสังคายนากันหลายครั้ง อันหมายถึงการแก้ไขความเสื่อมในพระธรรมวินัยนั่นเอง
แล้วในปัจจุบันนี้เล่า เมื่อเรามาหวนระลึกถึงเหตุความเสื่อมของพุทธศาสนาที่ท่านยกมาเป็นเครื่องอ้าง ในสมัยที่ทำสังคายนาทุกๆครั้งแล้ว เราจะเห็นได้ว่าบางเรื่องบางกรณีที่พุทธบริษัทแท้ของพวกเราทำลงไปขณะนี้นั้น มันรุนแรงและร้ายแรงไปกว่าเหตุที่ท่านยกขึ้นมาเป็นเครื่องอ้างในการทำสังคายนาครั้งกระโน้นเป็นไหนๆ แล้วพวกเรากลัวกันนักหนาว่า ลัทธิหรือการเมืองนั้นๆ จะมาลบล้างพระพุทธศาสนาให้ไปจากแผ่นดินไทย แต่พุทธบริษัทเองกลับทำให้ศาสนาเสื่อมเสียก่อนที่ลัทธิและการเมืองที่เรากลัวอยู่นั้นยังไม่ทันจะเข้ามาถึงเลย
เมื่อจะพูดถึงด้านความเจริญ ก็คือคำสอนของพระองค์ได้เผยแพร่ไปทั่วสารทิศโดยรวดเร็ว มีผู้เลื่อมใสแล้วยอมตนเข้ามารับเอาไปปฏิบัติตาม จนเป็นปึกแผ่นแน่นหนาสามารถลบล้างลัทธิและความเห็นที่ผิดๆของเดิมได้ ฉะนั้น ความเสื่อมของผู้มีกิเลสอยู่ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตรงกับเป้าหมาย จึงมีมาพร้อมๆกัน กับความเจริญของพระพุทธศาสนา แต่เนื้อแท้คำสอนของพระองค์เป็นสัจธรรมยังมีประสิทธิภาพคงที่ตามเดิมอยู่ คือ พระองค์สอนว่า ทำดีย่อมได้ดีมีความสุข ถึงแม้คนอื่นเขาจะไม่เห็นแต่ตนเองย่อมเห็นและรู้ได้ด้วยตนเอง ทำชั่วย่อมได้รับความชั่วมีผลเป็นทุกข์ คนอื่นใครจะเห็นด้วยแต่ตนเองย่อมเห็นและเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยตนเอง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ย่อมเป็นทุกข์แก่ผู้ยังมีอุปาทานอยู่ ผู้ไม่มีอุปาทานแล้วหาได้เป็นทุกข์ไม่ ดังนี้เป็นต้น
ธรรมของจริงนี้ ใครจะรู้และไม่รู้ก็ตาม ใครปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามก็ช่าง ของจริงเหล่านั้นย่อมเป็นจริงอยู่ตามเดิม คำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมสอนของจริงตามความเป็นจริง ฉะนั้น คำสอนของพระองค์จึงยังคงมีเป็นสัจธรรมปกติอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน เป็นแต่พุทธบริษัทที่ไม่เข้าใจและปฏิบัติผิดจากหลักพุทธศาสนา ปฏิบัติตามอำนาจกิเลสของตน แหวกแนวไม่ถูกทางไม่ถูกเป้าหมายของพระพุทธศาสนา เรียกว่านำเอาคำสอนของพระองค์มาทำลายให้เข้ากิเลสของตน จนคนอื่นเขามองเห็นว่านำเอาศาสนามาทำลาย คือเสื่อม
บทส่งท้าย
ลัทธิใดก็ตาม ศาสนาหรือการเมืองใดๆก็ช่าง ที่เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นปรปักษ์แก่เขา หรือเห็นว่าเป็นของล้าสมัย ไม่สามารถจะนำผู้นับถือและปฏิบัติตามให้ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญได้ เป็นดังยาเสพติดที่มีแต่ทำให้เกิดโทษแก่ผู้เสพเท่านั้น แล้วคิดจะลบล้างทำลายเสีย ความคิดเห็นเช่นนั้น นับว่าผิดพลาดจากข้อเท็จจริงมาก ไม่เข้าใจหลักอันแท้จริงของพุทธศาสนา
แท้จริง พุทธศาสนามิได้เป็นปรปักษ์แก่ลัทธิและศาสนาตลอดถึงการบ้านการเมืองใดๆในโลกทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรบารมีมาเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วจะได้สงเคราะห์มนุษย์มวลชนผู้เกิดมาในโลกนี้ที่ไม่รู้จักทางในการดำรงชีวิตให้อยู่เป็นสุขร่วมกันได้ ให้เขาเหล่านั้นได้รู้ได้เห็นทางต่อไป เช่นพระองค์ทรงสอนคนทุกชั้นทุกหมู่เหล่าโดยมิได้ถือเขาถือเรา แต่ตั้งใจสอนด้วยน้ำพระทัยอันบริสุทธิ์ รักและเอ็นดูเขาเหล่านั้นเสมอเหมือนญาติมิตรของพระองค์ทุกๆคน สมควรที่จะให้เขาตั้งอยู่ในระเบียบแบบแผนอันดีงามตามอัตภาพของเขาอย่างไร และเขาพอจะนำเอาระเบียบนั้นๆ ไปใช้ได้แค่ไหน พระองค์ก็สอนให้พอดีพอเหมาะแก่ฐานะนั้นๆ ของเรา แต่มิได้ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงให้เขาจำใจต้องทำตาม
พระองค์สอนให้เข้าใจและรู้จักความหมาย จนเป็นที่พอใจแล้วยอมรับเอาไปทำตามด้วยความสมัครใจ อันเป็นสิทธิเสรีของทุกๆคนที่จะพึงกระทำได้ แล้วก็เพื่อประโยชน์สุขของเขาเหล่านั้นโดยเฉพาะอีกด้วย ตัวอย่างดังพระองค์สอนระเบียบของฆราวาสผู้ครองเรือน (คิหิปฏิบัติ) ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วในเบื้องต้น เมื่อเรามาพิจารณาดูตามระเบียบข้อปฏิบัตินั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าในระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกันนั้น ตั้งแต่สามีภรรยาตลอดถึงคนใช้กับนาย ไม่มีข้อไหนเลยที่จะเอารัดเอาเปรียบเหยียดหยามดูถูกกันและกัน ต่างก็เคารพในสิทธิของกันและกัน สงเคราะห์เห็นใจตอบสนองบุญคุณของกันและกัน ด้วยน้ำใสใจจริงอันบริสุทธิ์โดยแท้
ชั้นหัวหน้าบริหารประเทศชาติบ้านเมือง พระองค์ก็ทรงสอนเพื่อให้เขาพากันบริหารให้เป็นปึกแผ่น เช่นทรงเสนอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่กษัตริย์ลิจฉวีเป็นต้น แล้วอะไรเล่าที่เป็นปรปักษ์แก่สังคมของโลก พระองค์มีแต่จะสอนสังคมที่เสื่อมอยู่แล้ว และกำลังจะเสื่อมทรามลงไป ให้ดีขึ้น โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดเลยทั้งสิ้นแม้แต่คำชมเชย
แล้วยังมิหนำ เมื่อพระองค์ทรงสอนเขาเหล่านั้นอยู่ เขาเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสและพอใจเข้ามายอมรับปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เป็นจำนวนมาก บางกลุ่มบางลัทธิยังเกิดความริษยาในพระองค์ เพราะกลุ่มและลัทธิของตนไม่สามารถจะดึงเอาจิตใจของปวงชนให้เข้ามาเลื่อมใสและยอมรับเอาไปปฏิบัติตามลัทธิอันไร้ค่านั้นได้ ถึงกับหาช่องทางที่จะประทุษรายพระองค์หรือพระสงฆ์สาวกของพระองค์อีกก็มี
แต่กระนั้น พระองค์ก็มิได้หาวิธีใดๆหรือสอนให้ใครๆโต้ตอบคืน พระองค์เป็นผู้นิ่งและสอนให้นิ่ง ในที่สุดศัตรูย่อมปราชัยไปเอง ” ในโลกนี้เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวรไนการไหนๆเลย เวรระงับด้วยการไม่จองเวรต่างหาก ธรรมข้อนี้เป็นของเก่า ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ ละความชนะความแพ้เสียได้ย่อมสงบระงับอยู่เป็นสุข ”
อนึ่ง ที่เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นของล้าสมัย ไม่สามารถจะนำผู้ปฏิบัติตามให้เจริญก้าวหน้าได้นั้น ก็ไม่จริง พุทธศาสนาสอนแบบเสรีนิยมดังกล่าวแล้ว คือสอนให้รู้จักเมตตาปราณีโอบโอ้มอารีในหมู่มนุษย์ที่เกิดมาร่วมโลกด้วยกันตลอดจนถึงสัตว์เดรัจฉานอีกด้วย โดยไม่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว แล้วจะเรียกว่าล้าสมัยได้อย่างไร
ในโลกนี้ ทุกยุคทุกสมัยก็ต้องการเท่านี้มิใช่เหรอ ยุคใดสมัยใดก็ตามที เราเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ ไม่เคยได้ยินเลยว่าโลกนี้ต้องการศัตรูเข่นฆ่าเป็นปรปักษ์และเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงซึ่กันและกัน
ผู้ที่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของล้าสมัยนั้น แท้ที่จริงตัวเขาเองยังมีอาวุธอยู่ในมือแล้วก็ใช้อำนาจอาญาสิทธิ์อยู่ แต่ปากพูดปาวๆ ว่าพุทธศาสนาเป็นของล้าสมัย
ผู้ที่พูดว่าพุทธศาสนาเป็นยาเสพติดก็เหมือนกัน ตัวผู้พูดก็ยังติดลัทธิและการเมืองที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเฮโรอีนเสียอีก เพราะเฮโรอีนถึงแม้จะมีผู้มามอมเมาให้ติดอย่างมาก ในแต่ละประเทศคงไม่เกินครึ่งเปอร์เซนต์ของคนในประเทศนั้น แต่คนที่ถูกมอมเมาให้ติดในลัทธิและการเมืองนี่สิมันร้ายกาจมาก หมดคนเป็นซีกๆโลกไปเลย
คนผู้ที่ติดพุทธศาสนาเพราะเขาเห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นยาแก้โลกภายใน (คือความทุกข์ใจ) ให้หายได้เด็ดขาด ซึ่งหมอใดๆในโลกไม่อาจรักษาให้หายได้ บางทีโลกภายในหายแล้วโรคภายนอกที่เกิดจากร่างกายอาจหายไปด้วยก็มี สมัยใดยุคใดก็ตาม ถ้าขาดยาเสพติดขนานนี้ (คำสอนที่เป็นสัจธรรม) แล้ว โลกนี้จะหาความสงบสุขมิได้เลย
ถ้าสมัยใดยุคใด โลกนี้ติดยาเสพติดขนานนี้มาก ยุคนั้นสมัยนั้นโลกก็จะมีความสงบสุขมาก ถ้าสมัยใดยุดใดติดน้อย สมัยนั้นยุคนั้นโลกก็จะมีความสุขน้อย ถ้าไม่ติดเสียเลย โลกนี้ก็จะเป็นยุคมิคสัญญีอาจถึงกับฉิบหายไปเลยก็ได้
ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นยาเสพติดคู่กับชีวิตของผู้รู้ทั้งหลาย แล้วก็ติดยิ่งกว่าอาหารซึ่งมนุษย์โลกติดอยู่ประจำวันโดยไม่รู้ตัว เพราะผู้ที่ได้รับรสคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วให้เกิดปีติเต็มตื้นขึ้นมาภายในใจของตน ถึงแม้อาหารในท้องจะไม่มีเลยก็อาจอยู่ได้เป็นวันๆ พระพุทธเจ้าชมอาหารทางใจว่าให้คุณมากกว่าและมีรสดีกว่า รับได้หลายทางกว่าอาหารทางกาย
อาหาร ๔
- (๑) กวฬิงการาหาร
อาหารที่มนุษย์คนเราบริโภคเป็นคำๆ เข้าไปทางมุขทวาร - (๒) ผัสสาหาร
อาหารที่มีความทราบซึ้งในเมื่อกายได้รับสัมผัสกับวัตถุภายนอกที่ให้เกิดความพอใจ - (๓) มโนสัญเจตนาหาร
ใจคิดนึกปรุงแต่งในอารมณ์ที่ตนชอบใจ - (๔) วิญญาณาหาร
ความรู้สึกชอบใจในเมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกสัมผัสกันเข้า
เมื่อพิจารณาตามนี้แล้วจะเห็นได้ว่า อาหารทางกายมีความสำคัญน้อยกว่าอาหารทางใจ คนเราร่างกายปกติ สุขภาพสมบูรณ์ดีอยู่ อาหารก็อย่างดี แต่เมื่อจิตใจไม่ชอบและรังเกียจเสียแล้ว จะมีประโยชน์อันใดเล่าแก่เขา ตรงกันข้าม เมื่อชอบใจแล้วถึงแม้อาหารนั้นจะเลวแสนเลว คนเราก็ยอมรับประทานได้ด้วยความชื่นใจ
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เคยได้อ่านหรือไม่ว่า กฎหมายที่มนุษย์ชาวโลกเราพากันนำมาใช้บริหารประเทศอยู่ทุกวันนี้ พระเจ้าสามนตราชผู้ตั้งอยู่ในธรรมเป็นผู้ริเริ่มตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารประชาชนตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ จนกระทั่งประเทศและโลกนี้ก่อนใครๆทั้งหมด กฎหมายที่เราพากันเรียนทั่วทั้งโลกทุกวันนี้ก็เอาออกมาจากคัมภีร์ธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วให้ประกาศนียบัติ ก็เรียกได้ว่าสำเร็จเป็นธรรมศาตร์บัณฑิต แล้วอะไรเล่านอกจากธรรม ใครได้ความทุกข์ความเดือดร้อนก็ร้องขอความเป็นธรรมๆ แต่ตัวเขาผู้นั้นประพฤติตนเป็นธรรมแล้วหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
พระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมจริงของแท้ ไม่แปรผันกับใครๆทั้งนั้น พระองค์จึงทรงสอนให้มนุษย์ในโลกนี้ ประพฤติตนให้ตรงตามความเป็นจริง
ระเบียบข้อกติกาและกฎหมายใดๆก็ตาม ที่ปวงมนุษย์คนเรานำมาใช้อยู่ในโลกนี้
- ถ้าหากระเบียบข้อกติกาและกฎหมายนั้นๆเป็นธรรม ก็ทรงตัวอยู่และใช้ได้นาน
- ถ้าหากไม่เป็นธรรมแล้ว ก็อาจเสื่อมและลบล้างได้เร็ว
บรรดาศาสนาต่างๆ เว้นศาสนาพราหมณ์แล้ว เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิก เป็นต้น พุทธศาสนามีอายุยืนกว่าเขาทั้งหมด แล้วก็ศาสนาเดียวเท่านี้ที่สอนให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงพระนิพพานได้ในปัจจุบัน ที่มีคนนับถือน้อยเพราะพุทธศาสนาไม่ได้มีอาญาและเหยื่อล่อ ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติตามจึงต้องใช้ปัญญาตรึกตรองให้เห็นข้อเท็จจริงถ่องแท้ แล้วจึงยอมรับเอาไปปฏิบัติ เป็นธรรมดาอยู่เอง ผู้มีปัญญาจะลงเชื่อในสิ่งใด เมื่อไม่แน่ใจและเห็นชัดด้วยปัญญาของตนแล้ว ก็ยากที่จะยอมรับเอาสิ่งนั้นมารับและนับถือได้.
[จบ พุทธศาสนาเสื่อมได้อย่างไร: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี]