ของดีมีในศาสนาพุทธ

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

คำนำ

ในหนังสือเล่มนี้ก็บอกชัดอยู่แล้วว่า ของดีมีเฉพาะในพุทธศาสนา ของดีอย่างนี้ในศาสนาอื่นไม่มีเลย ของดีในที่นี้หมายถึงสัจธรรมของจริงของแท้ มีเหตุมีผลยืนยันได้เต็มที่ มี ๔ อย่าง คือ ทุกข์ ๑, สมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ๑, นิโรธ ความดับทุกข์ ๑, มรรค หนทางให้ถึงความดับทุกข์ ๑, พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติค้นคว้าได้มาด้วยพระองค์เองโดยมิได้มีใครบอกเล่าแนะนำ และได้เฉพาะในกายและใจของพระองค์เองแท้ๆ มนุษย์ในโลกนี้เขาไม่ทำกันมาก่อนเลย แล้วทรงนำเอาความรู้นั้นมาเผยแพร่แก่มนุษย์ชาวโลกให้รู้ตามเห็นตามจนกระทั่งทุกวันนี้

ภายหลัง พระอาจารย์บางท่านบางองค์สอนไม่มีหลักธรรมอยู่ในใจ ทั้งตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติด้วย จดจำเอาตามตำรา สอนผิดๆถูกๆ หรือสอนโดยเห็นแก่อามิสสินจ้าง หรือมีกฎข้อบังคับจำเป็น คำสอนนั้นย่อมไม่ได้ประโยชน์สมบูรณ์ เพราะเป็นเหตุให้ผู้ฟังไม่เกิดศรัทธาเลื่อมใสยอมปฏิบัติตาม ถึงแม้ผู้ฟังจะมีอุปนิสัยยอมปฏิบัติเป็นไปตามนั้นแล้วก็ตาม เมื่อความขัดข้องเกิดมีขี้นมา จะถามอาจารย์ผู้สอนก็แก้ให้ไม่ได้ เพราะตนไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน อาจทำให้ลูกศิษย์เห็นผิดไปได้ บางทีทำให้จิตวิปลาสไปก็มีมากแล้ว ฉะนั้นผู้สอนจึงควรระวังสังวรหน่อย สอนพระศาสนาแทนที่จะเป็นคุณ เลยเกิดโทษขึ้นมา ก็เป็นได้

คนไทยในเมืองไทยโดยมาก เพียงแต่เอาพุทธศาสนามาถือไว้ ไม่ได้ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จึงมีแต่ชาวพุทธเป็นส่วนมาก พุทธบริษัทที่แท้มีน้อยเหลือเกิน

ถ้าอาจารย์ผู้สอนมีศรัทธาเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยที่แท้จริงแล้ว คือ เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ว่าทำดีย่อมได้รับผลของกรรมดีมีความสุขกายและใจ เชื่อว่าทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่วเป็นทุกข์กายและใจ คนเราเกิดมาย่อมมีกรรมทุกๆคนจึงได้เกิดมา ถ้าไม่มีกรรมก็ไม่ได้เกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องอาศัยกรรมนั้นแหละเป็นเครื่องอยู่ คือการทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพจะอยู่กับเขาในโลกนี้ได้อย่างไร ฉะนั้น เมื่อจำเป็นจะต้องทำกรรม จึงควรงดเว้นกรรมชั่วเสีย จงทำแต่กรรมดี กรรมชั่วจึงค่อยหมดไปด้วยการไม่กระทำอีก ผู้เชื่อกรรมเห็นชัดแจ้งอย่างนี้แล้ว ย่อมละจากบาปกรรมนั้นๆ ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีสิ่งอื่นบังคับ เจตนาที่เป็นอกุศลที่จะให้ล่วงในศีลข้อนั้นๆย่อมไม่มี ศีล ๕, ศีล ๘ ของฆราวาส และศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ สามเณร ก็จะหยั่งรากฐานลงลึกถึงซึ่งรากฐานของพระพุทธศาสนา (คือจิต) ต่างคนก็จะมีศีลเป็นอิสระ รักษาศีลด้วยศรัทธาของตนเอง พระพุทธศาสนาก็มั่นคงไปสิ้นกาลนาน

แน่นอนที่สุด ผู้กลัวบาปย่อมงดเว้นในศีลข้อนั้นๆ แล้วจะต้องพิจารณาแต่เรื่องบาปกรรม คุณและโทษของศีล จนเห็นชัดแจ้ง แล้วจิตใจจะเบิกบานแจ่มใสสะอาดอยู่เป็นนิจ นี่เรียกว่า ปัญญาเกิดจากพระรัตนตรัยและศีลเป็นมูลฐาน

การพิจารณาของการที่ไม่มีพระรัตนตรัยและไม่มีศีลในตัวของตน เห็นเป็นภัยอย่างมหันต์ แล้วก็จดจ่อตั้งมั่นอยู่ในความที่ตนมีพระรัตนตรัยและศีลนั้น ด้วยจิตที่เบิกบานอย่างยิ่ง เห็นโทษของความคิดสัญญาอารมณ์ความปรุงแต่ง ซึ่งไม่มีสาระ คิดนึกปรุงแต่งแล้วก็ดับไป นี่เรียกว่า ปัญญาเกิดจากสมาธิ

ผู้มารู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี หรือรู้จากภูมิปัญญาของผู้ที่ละกิเลสเหล่านั้นแล้วก็ดี ยังไม่สามารถจะพ้นจากทุกข์ที่แท้จริงได้ เป็นแต่ทำกิเลสให้เบาบางลงเท่านั้น แท้จริงผู้เกิดมาในโลกนี้มีอายตนะ ผัสสะแล้วจะต้องมีอารมณ์เป็นธรรมดา กิเลสทั้งหลายมีกามฉันท์เป็นต้น ก็ต้องมี ผู้ไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงของมัน เข้าไปยึดถือเอาเป็นของตนของตัวย่อมเดือดร้อนเป็นทุกข์ตลอดกาลนาน ผู้ที่ได้อบรมมาแต่ต้นคือเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม มีศีลให้มั่นคง ทำสมาธิให้แน่วแน่ มีปัญญาฉลาดในอุบายต่างๆ ทำตนให้พ้นจากอารมณ์ทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นชัดในโทษทุกข์ทั้งปวง ที่เข้าไปยึดถือเอาอารมณ์นั้นๆ ปล่อยวางทำใจให้เป็นกลาง แล้วรู้อยู่ว่าใจของเราเป็นกลาง นี้เรียกว่า วิปัสสนาเกิดจากปัญญา

ถ้าผู้สอนสอนให้คนทั้งหลายเข้าใจในพุทธศาสนาตามนัยนี้แล้ว คนไทยในเมืองไทยก็จะชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทมากขึ้น แล้วละการถือผิดเหล่านี้ คือ ถือเจ้าเข้าทรง ถือตะกรุดพิสมร ถือหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลที่เอามาแขวนไว้ที่คอพะรุงพะรังกันมากมายอย่างทุกวันนี้แน่นอน พระพุทธศาสนาก็จะเจริญ พุทธบริษัทในเมืองไทยก็จะสงบสุขยิ่งขึ้นไปกว่านี้

พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
๑๘ กันยายน ๒๕๓๑

ของดีมีในศาสนาพุทธ

“ของดีมีในศาสนาพุทธ”
ของดีอันล้ำค่า ผู้มีปัญญาจะหาได้
แต่เฉพาะในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น

คนในสมัยก่อน ท่านทำอะไรด้วยใจซาบซึ้งถึงสิ่งที่ท่านทำนั้นด้วยใจจริง ไม่เหมือนคนในสมัยหลังๆนี้ คนในสมัยหลังๆนี้ ถึงจะทำตามท่านก็จริงแล แต่ทำตามเยี่ยงประเพณี ไม่ได้ทำโดยความจริงใจ ถึงจะมีความรู้และความสามารถพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงอย่างไรๆ ก็ไม่ซาบซึ้งถึงความเป็นจริงของท่านอยู่ดี

ท่านเมื่อก่อนนั้น ท่านทำอะไรต้องทำด้วยกาย วาจา และใจ อันซาบซึ้งถึงสิ่งที่ทำนั้นด้วยใจจริงๆ ตัวอย่างเช่น คนในปัจจุบันนี้จะไหว้พระ กราบพระหรืออะไรก็แล้วแต่ ถึงจะไหว้ ๓ หน หรือกราบ ๓ หน คนโดยส่วนมากก็ไหว้ไปกราบไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีความหมายอะไร ไหว้ ๓ หน กราบ ๓ หน เพื่อประโยชน์อะไรก็ไม่รู้ เห็นหมู่เพื่อนไหว้และกราบก็ไหว้และกราบไปอย่างนั้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอีก บางทีเมินหน้าไปดูสิ่งต่างๆ แล้วปากก็ยังพูดกับเพื่อนฝูงอีกด้วย อย่างนี้จะเรียกว่าพุทธศาสนาเจริญและเข้าถึงจิตใจของชาวพุทธได้อย่างไร

พวกที่เป็นพระและเป็นครูบาอาจารย์ ขอได้มาช่วยกันทำตัวของตน ให้เป็นแบบอย่างของคนอื่น แล้วพากันมาสอนเขาเหล่านั้น ให้กราบไหว้ให้ถูกพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สักทีเถอะ พระพุทธศาสนาจะได้เข้าถึงจิตใจของคน แล้วพระพุทธศาสนาจะได้ถาวรสืบต่อไป อย่าให้คนภายนอกเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเด็กๆ หาแก่นสารไม่ได้

นอกจากนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ยังพากันหลงงมงายนับถือเครื่องรางของขลัง ตะกรุด คาถา ผ้ายันต์ ภูตผีปีศาจ เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะบันดาลให้เราได้พ้นภัยอันตราย และให้โชคลาภต่างๆนานา สิ่งเหล่านี้ ล้วนทำให้เชื่อโดยงมงายนอกพุทธศาสนา เชื่อว่าของเหล่านั้นมีจริง และเชื่อว่าของเหล่านั้นจะบันดาลให้ได้ตามปรารถนาของตน แต่คนเหล่านั้นบางพวกก็ยังเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะที่พึ่งก็มี

ได้ของสามอย่างไหว้ของอย่างเดียว

พุทธบริษัททั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนภาษาไหน เมื่อจะทำพิธีกรรมมีการไหว้พระเป็นต้น จะต้องกราบ ๓ หน แล้วจึงค่อยทำพิธีนั้นๆต่อไป การไหว้ที่เปล่งด้วยวาจาก็เช่นเดียวกัน ต้องเปล่งออกมาถึง ๓ จบก่อน จึงทำพิธีนั้นๆ ต่อไป

การกราบพระรัตนตรัย ๓ ครั้งนั้น เป็นการสมควรโดยแท้ เพราะกราบของ ๓ อย่าง เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรกก็มีการกราบ ๓ หน และกล่าวประณาม ๓ จบ หรือกี่จบก็ไม่ได้บอกไว้ชัด ความว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส” คำกล่าวประณามทั้งหมดนี้ ท่านทั้งสี่ได้กล่าวไว้ เมื่อคราวพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ คนละบท ดังนี้

  • “นโม” อสุรินทราหู เป็นผู้กล่าว
  • “ตสฺส” พระยามาราธิราช เป็นผู้กล่าว
  • “ภควโต” พระอินทร์ เป็นผู้กล่าว
  • “อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส” ท้าวมหาพรหม เป็นผู้กล่าว

เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว เป็นคำกราบนมัสการพระพุทธเจ้า แปลความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมนมัสการกราบไหว้พระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบพระองค์นั้น ” พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวแต่กราบไหว้ ๓ หน กล่าวประณาม ๓ หน ภายหลังเลยถือปฎิบัติสืบต่อกันมา

การกราบไหว้และกล่าวประณาม ถึงจะไม่เป็นของสำคัญอะไรนัก เรื่องเหล่านี้มันอยู่ที่ใจก็จริง แต่มันเป็นพืธีกรรมที่แสดงออกมาให้เห็น เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของพุทธบริษัท ขอท่านผู้รู้ทั้งหลายโปรดได้พิจารณาดูว่า เรื่องเหล่านี้ “พุทธ” เอามาจาก “พราหมณ์” หรือว่า “พราหมณ์” เอาไปจาก “พุทธ” กันแน่ แม้แต่การไหว้ภูตผีปีศาจก็ต้องไหว้ ๓ ครั้งเหมือนกัน ถ้าไม่เช่นนั้น ผีจะไม่พอใจ และไม่ประสิทธิ์ให้ตามต้องการ

ข้าพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ ชื่อว่าเกิดมาดีแล้ว คือเกิดมาแล้วได้ของดีมีประสิทธิภาพพร้อมทั้ง ๓ อย่าง คือ กาย วาจา และใจ ซึ่งสัตว์อื่นทั้ง ๒ เท้า ๔ เท้า และมากเท้าหรือไม่มีเท้าที่เกิดมาด้วยกันไม่ได้อย่างปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือได้ก็ไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ ของดีที่ว่านี้มีประสิทธิภาพสูงสามารถบันดาลทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของมองเห็นด้วยตาหรือมองไม่เห็นด้วยตาก็ตาม แม้สมบัติอันยวดยิ่งคือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ อันมนุษย์ผู้เกิดมาแล้วพึงปรารถนาทุกคน ก็ย่อมสามารถทำให้สำเร็จได้ทั้งนั้นด้วยของ ๓ อย่างนี้

เมื่อข้าพระพุทธเจ้ามีของ ๓ อย่างอันประเสริฐดังกล่าวแล้ว ขอเอามาน้อมกราบไหว้ของเลิศ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (คืออริยสัจธรรม ๔) แล้วนำมาแสดงให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ฟัง แล้วทำตาม จนรู้แจ้งเห็นจริงตามนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอกราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแต่พระองค์เดียวในโลกนี้ และขอถึงซึ่งพระองค์นั้นด้วย กาย วาจา และใจ ทั้งระลึกถึงคุณของพระธรรมอันพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว และพระอริยสงฆ์สาวกพร้อมกันในขณะเดียวกันด้วย

ที่พึงทั้งสามอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่บนโลก ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้ว แต่แก้วทั้ง ๓ ประการ ก็ยังเจิดจ้าด้วยคุณธรรมหาได้เศร้าหมองไปด้วยไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งได้ของอันหาค่ามิได้ (กาย วาจา ใจ) อันบุญกรรมนำตกแต่งมาให้แล้ว ขอน้อมนมัสการกราบไหว้ของดีเหล่านี้ (พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์) ด้วยสัจจะเคารพอย่างยิ่ง ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

พระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลก

พระรัตนตรัย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ชาวโลกได้กราบไหว้และเคารพนับถือ ซึ่งของดีเลิศที่ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วไม่เสียเปล่า ยังได้กราบไหว้บูชาของวิเศษ ๓ อย่าง (พระรัตนตรัย) อีกด้วย กล่าวคือ

พระพุทธเจ้าพระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมา ๓๐ ทัศครบบริบูรณ์แล้ว จึงมาอุบัติขึ้นในโลกนี้ในตระกูลศากยราช มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระราชบิดา พระนางสิริมหามายาเป็นพระราชมารดา เสวยรสชาติในกามสุขอยู่จนพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา โดยมีพระนางพิมพาเป็นพระชายา มีพระราหุลกุมารเป็นพยานของกามสุข ด้วยบุญบารมีที่พระองค์ทรงสร้างสมมาเป็นอเนกประการ จึงบันดาลพระทัยให้เบื่อหน่ายในกามสุข สละราชสมบัติออกทรงบรรพชา

ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอันยวดยิ่งถึง ๖ พรรษา จึงได้สำเร็จพระโพธิญาณอันประเสริฐ เป็นสัมมาสัมพุทธะในโลกแต่เพียงพระองค์เดียว ชนทั้งปวงจึงได้ขนานพระนามตามความเป็นจริง (เพราะเห็นว่าเป็นจริงอย่างนั้นแน่นอน) ตามความเห็นของตนๆว่า พระบรมครู พระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระบรมโลกนาถ พระบรมศาสดา พระชินสีห์ พระศากยมุนี พระพิชิตมาร ฯลฯ มีพระนามมากมายตามความรู้สึกของตนๆ แต่พระองค์มักใช้สรรพนามแทนพระองค์เองว่า “เราตถาคต” พระนามที่พระญาติพระวงศ์ขนานนามเลยหายไป

รัตนตรัย คือ แก้วทั้งสาม อันได้แก่ พระพุทธเจ้า ๑ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๑ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑ ทำไมจึงเรียกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งสามนี้ว่าเป็นแก้ว แก้วเป็นวัตถุธาตุดินไม่มีดีอะไร พระรัตนตรัยไม่ใช่เป็นแก้ว แต่ท่านเปรียบเอาเฉยๆ เพราะของดีๆ เกิดมีขึ้นมาในโลกเป็นของมีค่ามาก ไม่ทราบว่าจะเอาไปเปรียบเทียบกับของสิ่งใดนอกจากแก้ว เห็นว่านอกจากแก้วแล้วเป็นไม่มี จึงเปรียบคุณค่าเหมือนกับแก้ว อันที่จริงแล้วแก้วก็เป็นวัตถุธาตุดินอันหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นของใสจนมีประกายรอบข้าง มนุษย์คนเราเห็นเป็นของแปลกจึงนำเอามาเป็นเครื่องประดับร่างกาย ถ้าคนไม่นิยมนำมาประดับร่างกายแล้ว ก็ทิ้งเป็นเศษก้อนดินอยู่ดีๆ นี่เอง

ส่วนพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์นั้นดีเลิศยิ่งกว่านั้นตั้งหลายหมื่นเท่า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ มีจิต วิญญาณ พูดภาษามนุษย์ด้วยกันได้ ทรงฝึกฝนอบรมพระองค์จนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และทรงสั่งสอนให้มนุษย์ละชั่ว ทำดี มีชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งเมื่อยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อตายไปแล้วก็ไปสู่สุคติภพในเบื้องหน้า เป็นครูผู้สอนที่ยิ่งใหญ่ สอนให้ได้รับประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน

พระธรรมคำสอน ที่พระองค์ทรงนำมาสั่งสอนนั้นเล่า ก็มีคุณค่ามหาศาลเหลือที่จะคณานับ เป็นประโยชน์แก่ปวงชนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ผู้ใดได้ฟังแล้วเป็นเหตุให้เกิดปาฏิหาริย์น้อมจิตใจเข้าถึงธรรม เป็นเหตุให้มีอุตสาหะวิริยะอยากทำตามโดยมิได้มีใครบังคับ ยิ่งทำตามก็ยิ่งซาบซึ้งในรสชาติพระธรรมคำสอนของพระองค์ จนบางท่านบางคนยอมสละเกียรติยศชื่อเสียง สมบัติ ออกบวชเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ก็มีมาก ดังปรากฏอยู่ทั่วไป

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคุณอเนกอนันต์แก่ปวงชนมนุษย์ในโลก เหลือที่จะคณานับ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าท่านได้สดับตรับฟัง หรือดูตามตำราที่พระบูรพาจารย์ท่านได้จารึกไว้ แล้วประพฤติปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาโดยลำดับอันเป็นเหตุให้คำสอนของพระพุทธเจ้ามั่นคงถาวรสืบมา ถ้าหากลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าคือพระสงฆ์ไม่มีแล้ว ป่านนี้พระพุทธศาสนาคงจะสูญสิ้นไปจากโลกหมดแล้ว พระสงฆ์นับว่ามีคุณประโยชน์แก่พุทธบริษัทมาก ทั้งเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ได้ช่วยเผยแพร่พระศาสนาให้กว้างขวางไปในจตุรทิศทั้งสี่ เมื่อพระองค์ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ได้ดำรงทรงจำและปฏิบัติศาสนกิจสืบต่อกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้ามีแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวแล้ว พระศาสนาคงจะไม่กว้างขวางถึงขนาดนี้

พระรัตนตรัยเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกเป็นอเนกอนันต์ ทำให้ชาวโลกมีหูตาสว่างแจ่มใสมองเห็นสิ่งที่ดีแจ่มใสชัดเจนขึ้น สมควรที่มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องปฏิบัติตามพระรัตนตรัยอันมีคุณค่ายิ่งใหญ่ใสสว่างแจ่มจ้าหาอะไรเปรียบมิได้ในโลก

พระรัตนตรัยเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา เพราะพระองค์ได้ค้นคว้าสัจธรรรมทั้งสี่จนปรากฎขึ้นมาในพระทัยของพระองค์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเหล่านั้นแล้ว จึงได้เป็นพระอริยสงฆ์ตกลงว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดีมารู้สัจธรรมทั้งสี่จึงได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ สรํ พุทฺธาน สาสนํ” ความว่า “เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระองค์ พึงทำความเคารพพระสัทธรรม”

พระธรรมเป็นอมตะ แม้พระพุทธเจ้านิพพานไปนานแล้ว แต่พระธรรมก็ยังคงมีอยู่ ถึงพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจะสิ้นสูญไปแล้ว แต่พระธรรมก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม พระสงฆ์ยังมีอยู่แต่ปฏิบัติแหลกเหลวไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์ก็ยังเจิดจ้าใสสว่างอยู่ในโลกนี้ตามเดิม เป็นแต่ผู้นั้นปฏิบัติตนให้เศร้าหมองไปต่างหาก

แก้ว ๓ ดวง คือ พระรัตนตรัยอันเป็นของสดใสเจิดจ้าอยู่ในโลกแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเหล่าพุทธบริษัททั้งหลายเกิดมา เมื่อสุดท้ายได้ของดีเลิศ ๓ ประการคือ กาย วาจา และใจ ขอเอามาแสดงความเคารพกราบไหว้ซึ่งพระรัตนตรัยนั้นไว้เหนืออุตมางคสิโรตม์ให้ครบทั้ง ๓ ครั้งด้วยสัจจะเคารพ

การถึงพระรัตนตรัย

พระรัตนตรัยนี้ เป็นเครื่องวัดของผู้เป็นพุทธมามกะในพุทธศาสนาโดยแท้ คือ เราขอถึงพระพุทธเจ้า ๑ ขอถึงพระธรรม ๑ ขอถึงพระอริยสงฆ์ ๑ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรรม เชื่อผลของกรรม เราทำกรรมดีย่อมได้รับผลเป็นสุขตอบแทนด้วยตนเอง เราทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลเป็นทุกข์ตอบแทนด้วยตนเอง คนอื่นจะรับแทนไม่ได้ ๑ ไม่ทำบุญนอกจากพุทธศาสนา (เว้นแต่ทำเพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์) ๑ หากผู้นั้นมีศีล ๕ เป็นนิจ จักได้ชื่อว่า ผู้นั้นเป็นอริยบุคคลขั้นต้นด้วย

องค์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเครื่องวัดด้วยใจของตนเองว่า เรา “ขอถึง” หรือเรา “ถึงแล้ว”

ขอถึง กับถึงแล้ว มันผิดกัน

“ขอถึง” คือ เห็นว่าพระตรัยสรณคมน์เป็นของดี ชนส่วนมากเขาถือกัน เราก็อยากจะถือบ้างเพื่อจะได้เป็นคนดีกับเขา และก็ไปขอถึงกับเขาบ้าง แต่ไม่รู้จักว่าไตรสรณคมน์นั้นเป็นอย่างไร จะรู้บ้างก็เป็นแต่คำพูดของคนอื่น หรือตามตำราเท่านั้น ไม่ซาบซึ้งเข้าถึงจิตใจของตนจริงๆ นี่เรียกว่าขอถึง ก็ยังดีกว่าไม่ขอถึงเสียเลย เพราะผู้ขอถึง นานๆเข้า อาจเข้าถึง เพราะการศึกษาเข้าใจถ่องแท้ในพระรัตนตรัย

“ถึงแล้ว” คือ ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยเบื้องต้นด้วยการ ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น เสียก่อน เช่น ได้เห็น พระพุทธเจ้าด้วยตาของตนเอง หรือเห็นแล้วได้ฟังธรรมเทศนาของพระองค์ หรือได้ฟังธรรมเทศนาที่พระองค์ใดองค์หนึ่งท่านเทศน์ให้ฟัง หรือได้เห็นพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสขึ้นในใจ แล้วจิตใจของผู้นั้นเข้าถึง คือ เลื่อมใสศรัทธาเอาเป็นสรณะที่พึ่งจริงๆ ไม่เอาที่พึ่งอื่น เช่น ภูตผีปีศาจ ต้นไม้ ภูเขา เทวดา เป็นต้น สิ่งที่เคยเป็นที่พึ่งมาแต่ก่อนทิ้งหมด แล้วก็ไม่ได้คำนึงถึงข้อที่ท่านบัญญัติไว้ ๕ ประการ ดังอธิบายมาแล้วในข้างต้นนั้นด้วย

ข้อบัญญัติ กับการปฏิบัติ มันผิดกันตรงนี้ ผู้ปฏิบัติเป็นไปตามความเป็นจริงแล้วแต่ไม่รู้ว่ามันเป็นจริงอะไรต่ออะไร เมื่อผู้นั้นแสดงออกด้วยทาง กาย วาจา และทางใจด้วยความคิดนึก จึงปรากฏว่า อ๋อ ผู้เข้าถึงพระไตรสรณคมน์จริงเป็นอย่างนี้ๆ แล้วจึงบัญญัติข้อบังคับนั้นไว้ว่า ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยต้องกอปรด้วยธรรม ๕ ประการ

แต่ผู้ขอถึงพระรัตนตรัยด้วยข้อบัญญัติ ดังอธิบายมาแล้ว โดยมากมักขบถตนเอง จึงไปไม่กี่มากน้อยเดี๋ยวก็ทิ้งหมด เพราะไม่เห็นคุณของพระรัตนตรัย คนเราโดยมากเห็นแต่วัตถุภายนอกเป็นของสำคัญกว่า แม้แต่ชีวิตร่างกายอันนี้ก็เป็นของภายนอก ถ้าใจไม่มีแล้วสังขารร่างกายอันนี้ก็ไม่ได้เกิดมา การถึงพระไตรสรณ์คมน ์ ต้องถึงด้วยใจอันเลื่อมใสจริงๆ จึงจะถึงคุณพระรัตนตรัยอันแท้จริง

ผู้จะถึงพระไตรสรณคมน์มั่นคง ต้องเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม

ผู้จะถึงพระไตรสรณคมน์ได้มั่นคง ต้องมีปัญญาพิจารณาเห็นด้วยใจของตนจริงๆ ว่าเราทำกรรมดีต้องได้รับผลเป็นสุขตอบแทน เราทำกรรมชั่วต้องได้รับผลเป็นทุกข์ตอบแทนด้วยตนเอง คนอื่นจะมารับแทนไม่ได้ อย่างนี้แน่วแน่ในใจจริงๆ จึงจะถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิตได้ คนเราเกิดมาในโลกก็เพราะกรรม ถ้าไม่มีกรรมก็ไม่ได้มาเกิด ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า “โลก คือมนุษย์ต้องเป็นไปตามกรรม” ดังนี้

กรรม คือ การกระทำทั้งดี ทั้งชั่ว

  • กรรมดี เรียก กุศลกรรม
  • กรรมชั่ว เรียก อกุศลกรรม

คนเกิดมาในโลกนี้ มีกายวาจาและใจแล้ว ใครจะไม่ทำกรรมย่อมไม่มี ฉะนั้น คนเราทุกคนเกิดขึ้นมาในโลก ได้ชื่อว่าเกิดมาสร้างกรรม แต่ขอให้เลือกสร้างเอาแต่กรรมดี ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขกายและใจอย่างเดียว เมื่อตนเองสร้างกรรมชั่วแล้ว แต่อยากจะได้ความสุข มันจะได้มาแต่ที่ไหน

ปลูกมะนาว ออกผลมามันก็ต้องเป็นมะนาวละซี มันจะเป็นละมุดลำไยได้อย่างไร เมื่อกรรมชั่วให้ผลเป็นทุกข์ ก็บ่นว่าทำบุญไม่ช่วยตน บุญไม่มีผล ทีหน้าทีหลังไม่อยากทำละ ผู้ทำบุญไม่รู้จักบุญ ย่อมคิดอยู่อย่างนี้ บ่นอย่างนี้ เป็นธรรมดา แท้จริงบุญมิใช่วัตถุ หรือเป็นของมีตัวมีตน บุญเกิดจากจิตใจต่างหาก วัตถุทานที่เราให้นั้นมันเกิดจากน้ำใจที่มันแผ่ออกไปจากจิตใจ เพื่อให้เกิดความเกื้อกูลแก่มนุษย์และสัตว์เหล่าอื่นต่างหาก น้ำใจที่มันแผ่ออกไปนี้ไม่มีหมดสักที ยิ่งแผ่ออกไปมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นของกว้างเท่านั้น วัตถุทานที่เราให้ไปนั้นหมดเป็น เมื่อเราได้เห็นบุคคลหรือวัตถุ สถานที่ คำสอนที่มีเหตุมีผล ฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสนั้น เป็นบุญแท้

มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วจะไม่ให้มีเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เราทำกรรมดีไว้มากๆ ระลึกถึงกรรมดีนั้นอยู่เสมอๆ ถึงร่างกายอันนี้มันจะเจ็บหรือจะตายก็เป็นเรื่องของมันต่างหาก ส่วนกรรมดีคือบุญกุศลเป็นของไม่ตาย

ฉะนั้น อย่าไปโทษบุญกรรมเลย โทษตัวเราผู้เกิดมานั้นดีกว่า แล้วพึงระลึกถึงกรรมดีที่ได้กระทำไว้นั้นเป็นที่พึ่งดีกว่า

ศีล

ผู้ที่เชื่อกรรม ว่าเราทำกรรมดีย่อมได้รับผลเป็นสุขตอบแทน เราทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลเป็นทุกข์ตอบแทน อย่างชัดเจนในใจของตนแล้ว ศีล ๕ ข้อ ย่อมงดเว้นได้เด็ดขาด ไม่ลำบากเลย

ศีล ๕ ข้อที่รักษากันไม่ได้ เพราะความเห็นแก่กาย รักกาย แล้วก็เอากายใจอันนี้ไปทำความชั่วเป็นบาปกรรม ให้กายอันนี้เป็นทุกข์โทษอีก กายอันนี้เกิดมาเพราะวิบากกรรมจึงเป็นทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้น แล้วเราจะเอาวิบากกรรมอันนี้ ไปทำกรรมชั่วมาเพิ่มเข้าอีกทำไม ไม่น่าเลย

พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราระงับเวรกรรมด้วยการรักษาศีล และสอนที่กาย วาจา และใจ นี้เป็นตัวศีล เมื่อกาย วาจา และใจอันนี้ ไม่ทำบาปกรรมแล้วก็เป็นศีล เมื่อเราไม่งดเว้นจากความชั่ว ๕ อย่าง มีฆ่าสัตว์เป็นต้น ก็ไม่มีศีล บาปกรรมย่อมตามสนองได้รับโทษทุกข์ทรมานตลอดทั้งชาตินี้และชาติหน้า

พระพุทธเจ้า สอนให้รักษาง่ายที่สุด ไม่ต้องไปรักษาหนองน้ำหนองปลาที่ไหน แต่รักษาสำรวมกาย วาจา และใจของตนเอง ก็เป็นพอแล้ว สอนให้ใกล้เข้ามาที่สุดคือจิต เจตนางดเว้นจากบาปกรรมนั้นๆอันเดียว เท่านี้ก็เป็นศีลแล้ว

ศีล เป็นกำแพงป้องกันบาป

ศีล เป็นกำแพงป้องกันบาปกรรมความชั่วของพุทธบริษัทที่จะปฏิบัติพระพุทธศาสนาในขั้นต้น ผู้ถึงพระไตรสรณคมน์แล้วเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมว่า เราทำดีย่อมได้ผลดี มีความสุขกายสบายใจ เราทำชั่วย่อมได้รับผลเป็นทุกข์ทั้งกายและใจ จิตย่อมแน่วแน่อยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพื้นฐานของศีลแล้ว

จะเอาศีลอะไรมาตั้งก็มั่นคงดีมีผลงอกงามขึ้น จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ตามวิสัยของฆราวาสมาตั้งก็งอกงามไพบูลย์ดี คือ ไม่ขาดไม่วิ่นไม่บกพร่อง เป็นอุบาสกอุบาสิกาครบบริบูรณ์ สมควรเป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาโดยแท้

จะเอาศีล ๑๐ ของสามเณรมาตั้งก็เป็นของดีเลิศ เพราะเพิ่มพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาเข้าไปอีกด้วย จะเอาศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุในพุทธศาสนาไปตั้งย่อมดีเด่น เพราะจะได้ชำระกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายให้หมดไป (แต่ฆราวาสไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นของเหลือวิสัยของฆราวาส)

ศีล มีรากฐาน คือหิริโอตตัปปะ

ศีล เป็นเครื่องชำระกิเลสชนิดหนึ่งในพุทธศาสนาดังอธิบายมาแล้ว ศีล จะตั้งมั่นถาวรอยู่ตลอดชีวิตของบุคคลใดได้ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีธรรม ๒ ประการ

  • หิริ ความละอายต่อบาปกรรมนั้นๆ ๑
  • โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปกรรมนั้นๆ ๑

ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้เป็นรากฐานของศีลทุกประเภท ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ของฆราวาส หรือ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของบรรพชิต ถ้าจิตใจของผู้รักษาศีลนั้นขาดธรรม ๒ ประการนี้แล้ว เป็นอันศีลขาดรากฐานไม่มีที่ยึดมั่น เหมือนต้นไม้ขาดรากแก้วมีแต่จะล้มถ่ายเดียว

หิริ ความละอายต่อบาปกรรมที่ตนกระทำนั้นยิ่งกว่าคนที่เป็นโรคร้ายแต่งตัวเรียบร้อยเข้าไปในที่สาธารณะ ย่อมมีความละอายแก่ใจตนเสมอ คนอื่นจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม แต่ใจของตนรู้เห็นด้วยใจตนเองตลอดเวลา

โอตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปกรรมที่ตนกระทำด้วยกาย วาจา และใจ อันจะเกิดมีขึ้นแก่ตน กลัวยิ่งกว่าเห็นอสรพิษ ย่อมไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้ ความกลัวบาปที่เห็นด้วยใจ และกลัวด้วยใจนั้น ย่อมสะดุ้งหวาดเสียวอยู่เป็นนิจ เหมือนเป็นแผลที่หัวใจ ใครจะเจ็บปวดด้วยหรือไม่ก็ตาม ผู้นั้นย่อมเจ็บปวดอยู่คนเดียว ความละอายและความกลัวเหล่านี้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ละอายและกลัวบาปกรรมที่ละเมิดล่วงเกินศีลข้อนั้นๆ เมื่อมีความละอายและความกลัวบาปกรรมอยู่อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมมีสติระวังตัวอยู่ทุกเมื่อ แล้วมันจะล่วงละเมิดศีลข้อนั้นๆ ได้อย่างไร

ศีล คือเจตนางดเว้นในโทษนั้น

ศีล เป็นบันไดขั้นแรกของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ที่จะละกิเลสในใจด้วยเจตนางดเว้น ผู้ถึงพระไตรสรณคมน์ด้วยการนอบน้อมกราบไหว้ด้วยใจที่ระลึกถึงที่แท้จริง ด้วยกายที่กราบลงกับพื้น ด้วยวาจาที่เปล่งออกมา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา หรือ สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม หรือ สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ก็ดี น้อมระลึกคิดถึงด้วยใจก็ดี ทั้งเช้าและเย็นทุกวัน นั่นเป็นกิจวัตรของผู้ถือพระไตรสรณคมน์โดยแท้

มาถึงขั้นรักษาศีลนี้ จะกราบไหว้ก็ได้ หรือจะไม่กราบไหว้ได้ เพราะศีลจะมีขึ้นได้ก็เพราะเรามีเจตนางดเว้นในโทษนั้น ศีลก็จะมีขึ้นในตัวของเราเอง เมื่อศีลมีในตัวเราแล้ว ก็เป็นอันกราบไหว้พระรัตนตรัยครบทั้งสามแล้ว เพราะเราทำถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วทุกประการ

ศีล พระพุทธเจ้าชี้บอกให้เรารู้ทางที่จะทำความผิดและถูกมีอย่างนี้ๆ ถ้าเว้นจากอย่างนี้แล้วก็เป็นศีล ถ้าไม่เว้นอย่างนี้ก็ไม่เป็นศีล พูดง่ายๆ ก็คือ ให้รู้ทางบาปและบุญนั่นเอง ส่วนทางที่ไม่ใช่บาปและบุญนั้น อย่าพูดเลย ถึงพูดก็เข้าใจยาก ทางที่จะเป็นบาปทั้งหมดในโลกนี้ก็เกิดจากกาย วาจา และใจนี้ทั้งสิ้น ถ้ามีแต่กายและวาจา ๒ อย่าง ก็ไม่สามารถที่จะทำบาปกรรมได้ ถึงแม้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็บัญญัติลงที่กาย วาจา และใจนี้ทั้งนั้น ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้อเนกประการก็ล้วนแล้วแต่เทศนาออกจากกาย วาจา และใจนี้ทั้งสิ้น แต่ในที่นี้จะพูดโดยจำกัดเฉพาะที่ศีลเท่านั้น

ศีล ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นพุทธอาญาที่ภิกษุทำผิดในข้อนั้นๆ แล้วทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง จึงทรงบัญญัติสิกขาบทหนักบ้างเบาบ้างตามโทษนั้นๆ หรือจะพูดว่ากิเลสนั้นๆ ก็ถูก สามเณร ๑๐ ข้อ หรือ ๒๐ ข้อ มีปาณาติบาตเป็นต้น (ต้องการทราบรายละเอียดให้ดูได้ในสามเณรสิกขา)

พระภิกษุมี ๒๒๗ ข้อ ที่นำมาสวดทุกๆ กึ่งเดือน แต่ที่ยังเหลือนอกนั้นมีอีกมากที่ไม่ขึ้นสู่อุเทศ สิกขาบทเหล่านั้น โดยมากภิกษุไม่ได้ทำให้ล่วงเกิน แต่เป็นของควรที่พระภิกษุจะพึงกระทำ เพราะเมื่อทำลงไปแล้ว เป็นของดีมีจิตใจเบิกบาน ชาวบ้านทั้งหลายก็เกิดศรัทธา หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า กิเลสที่มันรอจะเล่นงานภิกษุอยู่ข้างหน้านั้น พระพุทธองค์ทรงกรุณาเห็นแล้วรีบบอกแก่บรรดาลูกศิษย์ของพระองค์ เรียกว่า เสขิยวัตร และอภิสมาจาร

บรรดาสิกขาบททั้งหลาย ๒๒๗ ข้อเหล่านั้น ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้นล้วนแต่พระภิกษุผู้ไม่มี หิริ โอตตัปปะ ล่วงละเมิดทั้งนั้น พระภิกษุผู้มีหิริโอตัปปะ อยู่ในใจแล้วย่อมไม่แกล้งล่วงละเมิดได้เด็ดขาด ที่มันยุ่งๆ รกในพระพุทธศาสนามากๆนั้น เป็นเพราะภิกษุไม่มียางอายต่างหาก ผู้มีหิริโอตตัปปะอยู่ในใจแล้ว ถึงจะต้องอาบัติด้วยความเผลอเรอ หรือไม่มีสติและความไม่เข้าใจ เมื่อรู้แล้วหรือเมื่อภิกษุอื่นตักเตือนแล้ว ก็ต้องแสดงอาบัติ แล้วสำรวมระวังต่อไป อย่างนี้จึงสมกับคำว่า “ภิกษุผู้ต่อย” คือต่อยกิเลสในใจตนนั้นเอง ไม่ให้ติดแน่นอยู่กับจิตใจได้

ศีล หรือ พระวินัย พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ๒ อย่าง คือ

  • อาคาริยวินัย ๑
  • อนาคาริยวินัย ๑

อาคาริยวินัย บัญญัติไว้เพื่อฆราวาสผู้ไม่สามารถออกบวชได้ เมื่ออยู่ในเพศฆราวาสก็ควรมีศีล ๕ ศีล ๘ เป็นข้อบังคับ ทำอะไรถ้าไม่มีข้อบังคับก็ไม่มีระเบียบย่อมเป็นของไม่งาม เขาเรียกว่าคนเกเร

อนาคาริยวินัย ทรงบัญญัติไว้แก่พระภิกษุและสามเณรผู้ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ที่มีความอดทนพอที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

วินัย หรือ ศีล ทั้ง ๒ อย่างนี้ ผู้รักษาสำรวมดีแล้ว ย่อมถึงอริยภูมิทั้งสามได้เหมือนกัน เว้นเสียแต่อริยภูมิขั้นสูงสุดคืออรหัตผล ท่านแสดงไว้ผู้ถึงอรหัตผลทั้งยังเป็นฆราวาสอยู่ จะทรงเพศฆราวาสอยู่ได้เพียง ๗ วัน ถ้าไม่บวชจะต้องนิพพาน จะมีเหตุผลอย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านแสดงไว้ย่อๆ เพียงว่า เพศฆราวาสเป็นเพศต่ำ จะทรงธรรมขั้นสูงไว้ไม่ได้

ธรรมเกิดก่อนศีล

แต่ผู้จะถึงอริยภูมิต้องมีรากฐานให้มั่นคง นอกจากมีหิริโอตตัปปะแล้ว ยังต้องมีความเมตตากรุณาอยู่ในใจอีกด้วย ธรรมที่เป็นรากเหง้าของศีลทั้งปวง ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ของภิกษุเมื่อไม่มีธรรมเป็นรากเหง้าแล้ว ศีลจะตั้งมั่นไม่ได้เลย

ธรรมเปรียบเหมือนกับไม้ยืนต้น ศีลเปรียบเหมือนกิ่งก้านสาขา กิ่งก้านสาขาต้องอาศัยรากเหง้าดูดเอาอาหารรสของดินขึ้นมาหล่อเลี้ยง กิ่งก้านสาขาจึงเขียวชอุ่มอยู่ได้ฉันใด ศีลก็ฉันนั้น

ศีล ที่บุคคลรักษาดีแล้วในชาตินี้ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีธรรมประจำอยู่ในใจให้ไปเกิดต่อไปในชาติหน้า เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์จึงพึงมีแต่ความเมตตากรุณาในหมู่มนุษย์และสัตว์ด้วยกัน ไม่มีความอิจฉาริษยา พยาบาทปองร้ายบุคคลอื่นและสัตว์อื่น เห็นคนอื่นเบียดเบียนมนุษย์อื่นและสัตว์อื่น ก็กลัวและละอายต่อบาปกรรมนั้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินพระท่านแสดงธรรม หรือคนอื่นชักชวนให้งดเว้นจากบาปกรรมมารักษาศีล ก็ยินดีพอใจที่จะทำตามทันที สมกับคำว่า “บุคคลที่ได้กระทำบุญไว้แต่ปางก่อน ย่อมเป็นเหตุให้ตั้งตนไว้ชอบ” หรือ อุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่รากหยั่งลึกลงไปในดินมั่นคงดีแล้ว ย่อมดูดเอารสชาติอาหารขึ้นไปหล่อเลี้ยงกิ่งก้านให้เขียวชอุ่มอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้กิ่งก้านจะลิดรอนไปบ้างบางกิ่ง วันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องงอกขึ้นอีกตามเดิม ศีลก็เหมือนกัน ถึงจะขาดตกบกพร่องไปบ้างบางข้อ แต่ธรรม คือ เมตตา กรุณา ยังเต็มเปี่ยมอยู่ในใจของบุคคลผู้นั้น ศีลก็อาจเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

ถึงศีลจะไม่มีพื้นฐานมาแต่เดิม คือ บุญบารมีมาแต่ก่อน แต่เมื่อพยายามรักษา เพื่ออบรมนิสัยในชาตินี้และเป็นอุปนิสัยไปในชาติต่อๆไป ก็ยังดีกว่าจะไม่มีศีลเสียเลย ดีกว่าบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้บางคนร่างกายอวัยวะสมบูรณ์ทุกส่วน พร้อมทั้งสมบัติภายนอกก็สมบูรณ์บริบูรณ์ไม่มีการขาดตกบกพร่อง แต่เขานั้นประมาทเสีย ทานและศีลธรรมดังอธิบายมานี้เขาไม่สนใจ เห็นว่าความสุขในชาตินี้พอแล้ว ชาติหน้าจะมีหรือไม่ก็ช่างมัน ความเห็นของผู้มัวเมาประมาทอย่างนี้เป็นของน่าสงสารมาก กินแต่สมบัติเก่ามีแต่จะหมดไป

ผู้มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ เมตตา กรุณา หิริ และโอตตัปปะ ประจำอยู่ในใจแล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีศีลสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว เพราะธรรม ๔ ประการนั้น เป็นของเกี่ยวเนื่องกันและตลอดถึงศีลด้วย เมื่อธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ถูกลบออกจากจิตใจของผู้นั้นแล้ว กิเลสต่างๆ คือ โทษ ๕ โทษ ๘ โทษ ๑๐ โทษ ๒๒๗ ก็จะปรากฎขึ้นมาแทน เจตนาที่จะทำบาปกรรมนั้นๆ ก็แห่กันมาเป็นฝูงๆ และทำบาปกรรมได้ทุกอย่างทุกเมื่อ ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เต็มไปด้วยอธรรม คือ อกุศล

สมาธิ

สมาธิเป็นเรื่องฝึกหัดจิตใจโดยเฉพาะ แต่ก็ยังเกี่ยวข้องถึงเรื่องกายซึ่งเป็นของภายนอกอยู่ดีๆ นี่เอง เพราะกายกับใจ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอาศัยเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา สมาธิจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกหัดทั้งกายและใจนี้ ให้อยู่ในบังคับของตนให้ได้

สมาธินี้บางทีท่านเรียกว่า สมถะ คือ ความสงบ บางคนเป็นคนนิ่งๆ เฉยๆ ไม่ค่อยยุ่งกับใคร เขาก็เรียกว่า เป็นคนสมถะ แท้จริงสมาธิกับสมถะมันต่างกัน ถึงจะเป็นเรื่องฝึกจิตด้วยกัน แต่มันต่างกันด้วยวิธีฝึกหัด และวิธีรวมของจิต ฉะนั้นจึงควรแยกออกจากกันเสีย เพื่อให้มีความเข้าใจง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงขออธิบายดังต่อไปนี้ จะสมควรด้วยประการใด ขอท่านนักปฏิบัติทั้งหลายจงพิจารณาตามก็แล้วกัน

ลักษณะของฌาน

สมถะ เป็นวิธีฝีกจิตให้เข้าถึงเอกัคคตารมณ์มีอารมณ์เลิศอันเดียว ที่เรียกว่า ฌาน แปลว่า การเพ่งจะเพ่งเอารูปธรรมหรือนามธรรมเป็นอารมณ์ก็ได้ขอแต่เอานิมิตนั้นเป็นอารมณ์อย่างเดียวก็ใช้ได้ ฌานนี้มี ๘ ท่านแบ่งเป็นรูปฌาน ๔ เพ่งเอารูปเป็นอารมณ์ ๑ อรูปฌาน ๔ เพ่งเอาอรูปอารมณ์เป็น ๑

รูปฌานมี ๔

รูปฌานมี ๔ เพ่งเอารูปเป็นอารมณ์นั้น จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ขอให้เพ่งจนจิตรวมเข้าเป็นเอกัคคตารมณ์ก็ใช้ได้ การเพ่งก็ไม่ต้องพิจารณารูปนั้นให้พิสดารกว้างขวาง ว่ารูปนั้นมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะแตกดับ แล้วไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีเพ่งเอาแต่รูปนั้นเป็นอารมณ์อย่างเดียวว่า รูปๆๆๆ เป็นดินหรือน้ำหรือเป็นของว่างเปล่าๆ อย่างเดียว จนเกิดอุคคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิต ติดหูติดตา จิตจะเพ่งเอานิมิตนั้นเป็นอารมณ์

รูปฌาน ๔ เพ่งเอารูปเป็นอารมณ์ ท่านจัดไว้ดังนี้ ปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑

  • ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑
  • ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ละวิตกและวิจารเสียได้ยังคงเหลือแต่ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑
  • ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ละปีติเสียได้ คงยังมีแต่ สุข ๑ เอกัคคตา ๑
  • จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ ละสุขเสียได้ กลายเป็นอุเบกขา ๑ เอกัคคตา ๑

อารมณ์ทั้ง ๖ หรือ กิเลสทั้ง ๖ กองนี้ ทำไมท่านจึงจำกัดให้เป็นภาระธุระของรูปฌานทั้ง ๔ เป็นผู้ชำระแต่ผู้เดียว กิเลสหรืออารมณ์ของบุคคลแต่ละคน มันมีมากอเนกอนันต์ หรือจะคณานับมิใช่หรือ เรื่องเหล่านี้ถ้าอยากจะรู้ดีต้องถามนักกรรมฐานถึงจะรู้แน่ หรืออารมณ์ทั้งหกนั้นเหมาะแก่รูปฌานทั้งสี่ที่จะข่มได้ เพราะรูปฌานทั้งสี่เพ่งเอาแต่อารมณ์ของฌาน ไม่ได้พิจารณาอย่างอื่น แล้วจิตก็รวมเข้าเป็นเอกัคคตารมณ์เลย และเอกัคคตารมณ์นี้ก็เป็นที่สุดของรูปฌานทั้งสี่

อารมณ์ที่เป็นของละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านี้แล้ว รูปฌาน ๔ ไม่สามารถจะชำระได้ แม้แต่อารมณ์ทั้งหกนั้นก็ละไม่ได้เด็ดขาด เพียงแต่ข่มไว้ด้วยฌานเท่านั้น

ปฐมฌาน
ประกอบด้วยองค์ ๕ หรืออารมณ์ ๕ ก็ว่าได้ คือ

  • วิตก ท่านว่า ยกจิตขึ้นสู่พระกรรมฐาน คือ กำหนดเอาพระกรรมฐานนั่นเอง กรรมฐานในที่นี้ได้แก่ อารมณ์ภายนอก มีปฐวีกสิน เป็นต้น เพ่งเฉพาะดินอย่างเดียวไม่ต้องพิจารณาให้เป็นอย่างอื่น (มีความแตกดับเป็นต้น) ว่า ดินๆๆๆ เป็นอารมณ์ จนเกิด อุคคหนิมิตติดหูติดตา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็เห็นเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ ๑
  • วิจาร เพ่งดินว่ามีสีขาว ดำ แดง เป็นต้น จนเกิดอุคคหนิมิตเหมือนกัน ๑
  • ปีติ เมื่อเพ่งจิตอยู่แต่ในอารมณ์อันเดียวก็เห็นชัดขึ้นมาจึงเกิดปีติ ๑
  • สุข เมื่อเกิดปีติแล้วก็เกิดความสุขซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ๑
  • เอกัคคตา แล้วจิตนั้นก็รวมเป็นเอกัคคตารมณ์มีจิตเลิศอันเดียว ๑

ผู้ที่เข้าปฐมฌานนี้ มีอารมณ์คล้ายๆ กับบุคคลธรรมดา แต่จำกัดเอากิเลส ๕ กอง ไว้ให้ชำระด้วยการเพ่งฌาน ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งมีกิเลสมากมายและไม่ได้ชำระด้วยวิธีใดๆ ทั้งสิ้น

ทุติยฌาน
มีองค์ ๓ คือ ละวิตก ๑ วิจาร ๑ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ยังคงเหลือแต่ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑

ตติยฌาน
มีองค์ ๒ คือ ละปีติเสียได้ คงยังเหลือสุข ๑ เอกัคคตา ๑

จตุตถฌาน
มีองค์ ๒ คือ ละสุขเสียได้กลายเป็น อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง ๑ และเอกัคคตา๑

ฌาน แปลว่าการเพ่ง

ฌาน แปลว่าการเพ่ง เพ่ง กับ เพ่งพิจารณามันต่างกัน

เพ่งพิจารณามันเป็นเรื่องของสมาธิ

ที่อธิบายมาแล้วนั้น เป็นเรื่องของการเพ่งอย่างเดียว เพราะกล่าวถึงเรื่องฌานโดยเฉพาะ ที่ให้เพ่งเอาดินเป็นตัวอย่างนั้นเพราะเป็นของเห็นง่าย วิตกและวิจาร ก็วิตกและวิจารเอาดินนั่นแหละ ดังอธิบายมาแล้ว เมื่อวิตกและวิจารในอารมณ์อันเดียวแล้ว อารมณ์อื่นที่มีอยู่ในใจก็ระงับไป เพราะฉะนั้น อารมณ์ทั้งหกซึ่งเป็นสายของรูปฌาน จึงระงับได้ด้วยฌานทั้งสี่โดยเฉพาะ

ผู้เขียนได้เขียนหนังสือหลายเล่มโดยเข้าใจผิดคิดว่าองค์ฌานทั้งห้า มีวิตกวิจารเป็นต้น จะต้องละด้วยองค์ฌานนั้นๆ แล้วละเอกัคคตารมณ์ด้วย แล้วฌานนั้นๆ จะไปอยู่ด้วยสิ่งอันใด เมื่อเขียนออกไปแล้ว หรือพูดออกไปแล้ว ก็เหมือนกับคนรับประทานอาหารแล้วไม่ได้ดื่มน้ำและล้างมือฉะนั้น เนื่องจากเราดูตำราน้อยและความจำก็ไม่ดี จึงผิดพลาดไป ขอผู้รู้และนักปฏิบัติทั้งหลายโปรดให้อภัยด้วย ด้วยเจตนาศรัทธาอันแรงกล้าเพื่อนักปฏิบัติให้เข้าใจถึงเรื่องฌาน ถึงอย่างไรๆ ผู้เขียนไม่ใช่ฤาษีนักเข้าฌาน จะเขียนเท่าไรอธิบายอย่างไรๆ พร้อมด้วยผู้อ่านด้วยก็คงไม่เข้าใจชัดถึงแก่นแท้อยู่ดีๆ นี่เอง

อรูปฌาน ๔

อรูปฌาน ๔ เมื่อผู้เข้าถึงรูปฌานที่ ๔ มีสุขซึ่งกลายเป็นอุเบกขา และ เอกัคคตาเป็นอารมณ์อยู่นั้น เมื่ออารมณ์นั้นหนักๆ เข้า ก็กลายเป็นอากาศเวิ้งว้างไปหมดจนหาที่สุดมิได้ เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน

ผู้เพ่งเอาอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์นั้นหนักๆ เข้า ก็จะเห็นวิญญาณผู้ไปเพ่งอากาศเป็นเครื่องยึด เรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌาน

วิญญาณเป็นของไม่มีตัวตน เมื่อเพ่งวิญญาณนั้นอยู่ วิญญาณจะน้อยๆเข้า จนวิญญาณนั้นไม่ปรากฏ เมื่อวิญญาณไม่ปรากฏแต่ความรู้สึกก็ยังมีอยู่ นั่นจะเรียกวิญญาณก็ไม่ใช่ จะไม่เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ใช่ เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน

เมื่อเพ่งอากิญจัญญายตนะอยู่ จิตก็จะละเอียดเข้าละเอียดเข้าจนเพ่งไม่ถูกว่าไหนเป็นสัญญาความรู้ ไหนไม่เป็นสัญญา เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ๑ เป็นอรูปฌานที่ ๔

อรูปฌาน ๔ ท่านไม่ได้พูดถึงเอกัคคตาเป็นที่สุดของฌานนั้นๆ ถึงจะไม่ได้พูด แต่ฌานที่ ๔ ซึ่งจะก้าวขึ้นสู่อรูปฌานนั้น ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่าสุขกลายเป็นอุเบกขา และเอกกัคคตา อรูปฌานทั้ง ๔ ก็มีเอกกัคคตาอยู่ในตัวนั่นเอง

ฌานถ้าไม่มีเอกกัคคตาในฌานนั้นๆแล้ว ย่อมละอารมณ์นั้นๆ ไม่ได้ เมื่อละอารมณ์นั้นๆ ไม่ได้ ก็แปลว่า ฌานนั้นเสื่อมแล้ว ต้องตั้งต้นแต่ปฐมฌานขึ้นไปใหม่

อรูปฌานทั้ง ๔ แต่ละชั้นมีอารมณ์อันหนึ่งของฌานนั้นๆ เพียงอย่างเดียว มี อากาสานัญจายตนะ เป็นต้น ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธก็สืบเนื่องไปจากอรูปฌานที่ ๔ นี้เหมือนกัน จะพ้นจากอรูปฌาน ๔ นี้ไม่ได้ เพราะผู้เข้าฌานเป็นเรื่องของจิตดวงเดียวของคนผู้เดียวจะต้องทำจนตลอดสาย (ตั้งแต่ปฐมฌาน) คนอื่นหรือจิตดวงอื่นจะมาทำต่อไม่ได้ ไม่เหมือนกับการส่งของที่ส่งต่อๆ กันไปได้

อรูปฌานที่ ๔ เพ่งสัญญาเกือบจะไม่รู้ว่าสัญญาหรือไม่ใช่สัญญาอยู่แล้ว เมื่อเพ่งจิตก็ยิ่งละเอียดเข้าๆ แล้วจิตนั้นก็ปล่อยวาง ที่ว่าสัญญาก็ไม่ใช่ มิใช่สัญญาก็ไม่ใช่นั้นเสีย จึงดับความรู้สึกสัญญาเวทนาทั้งสิ้น ท่านเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ

สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ ผู้ฝึกหัดชำนิชำนาญในฌานทั้งแปดแล้วจึงจะเข้าได้ พระอริยเจ้านับแต่พระอนาคามีขึ้นไปจึงจะเข้าได้เหมือนกัน เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น วิตกดับก่อน แล้วลมหายใจจึงไม่มี ต่อนั้นจิตสังขารจึงดับ ก่อนที่จะเข้า ท่านได้อฐิษฐานไว้ว่าจะเข้าอยู่ ๗ วัน เมื่อครบวันที่ ๗ แล้ว จิตสังขาร คือ สัญญาเวทนาจะปรากฏขึ้นก่อน จึงมีลมหายใจต่อมาแล้ววิตกก็ปรากฏขึ้นตามโดยลำดับ

พระฤาษีหัวปลวก

ส่วนพระฤาษีผู้บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ทั่วไปนั้น ท่านฝึกหัดจนได้สำเร็จฌานโดยลำดับ แล้วก็เข้าฌานเลย แต่ไม่รู้ว่าลำดับเป็นอย่างไร เป็นแต่รู้ว่าเข้าฌานเท่านั้น เมื่อเข้าแล้วก็เพลินในฌานนั้นจนลืมวัน ลืมเดือน ลืมปี

ดังโบราณท่านเล่าไว้ว่า พระฤาษีไปเข้าฌานอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เข้าจนลืมตัว นั่งจนกระทั่งปลวกมาทำรังหุ้มตัวมิดหมด มีควายตัวหนึ่งเอาสีข้างไปถูเรือนปลวกจึงกระเทาะออกมา จึงเห็นพระฤาษีนั่งอยู่ในที่นั้น การเพ่งเอาแต่จิตจนลืมกาย เมื่อกายปราศจากจิต กายก็นั่งตงมงอยู่เฉยๆ อย่างที่เรียกว่า พรหมลูกฟักนั้นกระมั่ง

ถ้าจะมีปัญหาถามว่า ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่มีลมหายใจเข้า-ออก ทำไมจึงไม่ตาย มีคำเฉลยว่า อัสสาสะ-ปัสสาสะเป็นลมหยาบหายใจได้แต่คนทั่วไป ส่วนลมละเอียดมีทั่วไปในร่างกายของผู้เข้านิโรธ แต่ไม่ได้ออกมาทางจมูก มันค่อยระบายออกมาทางขุมขน ร่างกายยังมีความอบอุ่นอยู่ เพราะกะบังลมยังไหวติงวูบวาบอยู่ ลมจึงยังไม่หมดไปจากร่างกายทีเดียว ร่างกายยังมีความอบอุ่นอยู่ ชีวิตจึงยังไม่ดับ

ข้อนี้จะเห็นได้ ดังสัตว์ที่เขาฆ่าและนำมาแล่เนื้อขาย เนื้อยังอบอุ่นอยู่ สวาบก็ยังไหวติงอยู่ ท่านว่าคนเราก่อนที่จะมาเกิด ธาตุ ๔ ประชุมกันเป็นน้ำมันใสๆ หยดเดียว แล้วจิตวิญญาณจึงเข้ามาปฏิสนธิ เมื่อตาย จิตวิญญาณสละร่างกายไปก่อน แต่ร่างกายยังมีไออบอุ่นอยู่ เช่นหางจิ้งจกขาดออกจากตัวแล้ว แต่ยังดิ้นกระแด่วๆอยู่

ฌาน และสมาธิ สับเปลี่ยนกันได้

ฌานทั้งแปดนี้ ถึงแม้ท่านจัดเป็นโลกิยฌานก็จริงแล แต่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านชอบเล่น โลกุตตรฌานไม่มี มีแต่โลกิยฌานเท่านั้น ท่านไม่ได้อธิบายองค์ฌานโลกุตตระไว้ต่างหาก มีแต่อธิบายองค์ฌานโลกิยะนี้ไว้ทั้งนั้น พระอริยเจ้าท่านเข้าฌานโลกิยะ ท่านไม่ได้หลงในฌานนั้นๆ ท่านแต่งฌาน ไม่ให้ฌานแต่งท่าน จึงเรียกว่า โลกุตตรฌาน สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดไม่มีฌาน ผู้นั้นไม่มีสมาธิ” ดังนี้

ฌาน กับ สมาธิ ไปด้วยกัน และสับเปลี่ยนกันได้ ขณะใดเพ่งพิจารณาอยู่ เมื่อสติอ่อนจะรวมเข้าภวังค์เป็นฌานไปเลย เมื่อเพ่งอารมณ์อันเดียวอยู่ เช่น เพ่งดิน เป็นต้น สติมันกล้าไม่ยอมเพ่งดินอย่างเดียว มันกลับไปพิจารณาดินว่า ดินมันเกิดเพราะอะไร มันเป็นอยู่เพราะอะไร มันดับลงไปเพราะอะไร ดับแล้วไปเป็นอะไร หาเหตุผลของดินจนรู้ชัดแจ้งแล้ว จึงจะหยุดนิ่งรู้อยู่เฉยๆ

พระอริยเจ้าก็เพ่งฌานเป็นเครื่องอยู่

ฌานทั้งหลายเป็นเครื่องเล่นของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น ท่านย่อมเล่นอยู่กับฌานนี้ทั้งนั้น โลกุตตรฌานไม่มี และโลกุตตรธรรมแท้ ไม่มีการเล่น มีแต่การพิจารณาเอาเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็หมดเรื่องไป เช่น พิจารณาธาตุ ขันธ์ อายตนะ อินทรีย์ เห็นเป็นธรรมดา ตามสภาพของมันแล้วก็ปล่อยวาง เมื่อรู้เหตุตามเป็นจริงของมันแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไปเล่นอะไรตรงไหน

ส่วนฌาน มีกลมายามากมาย เช่น เพ่งกายนี้ว่าเป็นดินๆๆๆ เป็นอารมณ์ จะเกิดปฏิภาคขึ้นเป็นแผ่นดินไปหมด ตั้งแต่ตัวของเรา คนอื่นและสัตว์อื่นก็เป็นดินเรียบราบไปหมด เพ่งน้ำก็เหมือนกัน จะเห็นเป็นน้ำไปทั้งหมด มองไปทางไหนก็จะมีน้ำขาวโพลนไปหมด แท้จริงแล้วตัวของเราก็ยังเป็นตัวคนเราดีๆนี่แหละ สิ่งที่ข้นแข็ง เช่น กระดูก และเนื้อ เขาสมสติว่าธาตุดิน น้ำเลือด และน้ำมูตร เขาสมมติว่าธาตุน้ำ เราก็เรียกตามเขาไป ที่จริงแล้ว ของเหล่านั้นถ้าคนเราไม่สมมติแล้ว จะเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้มัน หากเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ดับสลายไปตามสภาพของมันอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา

บางองค์ เพ่งให้ตัวของท่านเป็นพระพุทธเจ้า พระสาวก หรือพระปัญเจกพุทธะเสด็จเลื่อนลอยมาบนอากาศก็มี เพ่งบ้านเรือนและเมืองให้เป็นเมืองสวรรค์ก็มี เพ่งเอาแต่จิตนามธรรมเป็นอารมณ์ พอจิตรวมเข้าเป็นภวังค์ เกิดนิมิตปรากฏเป็น รูปเทวดา ภูตผีปีศาจ อินทร์ พรหม เสด็จมาสนทนากับพวกเหล่านั้นเพลินไปก็มี

บางที เกิดความรู้ขึ้นมาภายในใจว่า คนนั้นเคยเป็นบิดามารดา เป็นบุตรธิดา เป็นภรรยาสามีของกันมาแต่ครั้งก่อน ที่เรียกว่า อภิญญา ความรู้ภายในเป็นของพิเศษ เรื่องเหล่านี้บางทีก็จริงบ้าง บางทีก็เป็นของไม่จริงหลอกลวงให้หลงเชื่อไปตามมัน บางทีถึงกับทำให้เสียคนไปก็มี เพราะความรู้อันนั้นยังเป็นโลกีย์ รู้ไม่มีหลักเกณฑ์ เมื่อจะเกิดก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ ในขณะที่จิตของคนเรานั้นยังวุ่นวายด้วยกิเลสต่างๆอยู่ มันกลายเป็นสัญญา สังขารไปก็มี แต่คนทั้งหลายชอบนัก เรียกว่าดูภายใน

เรื่องเหล่านี้ อาจารย์ผู้อยากดังสอนกรรมฐานชอบนัก ทั้งๆที่ตนเองก็ไม่เคยเห็นไม่เคยเป็นเลย แต่สอนลูกศิษย์บางคนซึ่งเคยมีนิสัยทางด้านนี้มาแต่ก่อนแล้ว เกิดเป็นขึ้นมา เลยสนับสนุนว่าดีแล้วถูกแล้ว เป็นของอัศจรรย์ควรทำให้มากๆขึ้น เมื่อลูกศิษย์ผู้ตาฝ้าฟางอยู่แล้ว พอถูกอาจารย์หยอดยาตาบอดใส่ ก็ยิ่งบอดใหญ่เลย คราวนี้เมื่อบอดแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำให้เป็นตาบอดทั้ง ๒ คน

เรื่องเหล่านี้ผู้เขียนได้ประสบมาด้วยตนเองแล้วตั้งหลาย ๑๐ ราย อาจารย์สอนกรรมฐานทั้งหลายควรระวังหน่อย สอนกรรมฐานแทนที่จะเป็นการเผยแพร่พระพุทธศานาเลยทำให้พระพุทธศาสนาสั้นลง ผู้มีศรัทธาอยู่แล้วคิดอยากจะทำกรรมฐาน เพราะเห็นว่ากรรมฐานนี้เป็นที่ตั้งทัพเพื่อผจญต่อสู้กิเลส ของผู้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เมื่อเห็นผู้ทำมาแล้ว เป็นอย่างว่ามาแล้วนั้น เลยหมดความเพียรพยายามในการที่จะกระทำต่อไป ยิ่งผู้ไม่มีศรัทธาอยู่ก่อนแล้ว พอเห็นเช่นนั้นเข้าเลยเบือนหน้าหนีเลย

เรื่องอภิญญาของพระอริยเจ้า

เรื่องอภิญญาซึ่งเกิดมาจากฌานนี้ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ที่เชี่ยวชาญฉลาด ท่านก็เล่นเหมือนกัน แต่ท่านเล่นเป็นกาลเป็นเวลา ไม่เหมือนคนเราในสมัยนี้ คนในสมัยนี้ใครไปหาเวลาใด ก็บอกให้ได้เลยจนกระทั่งบัตรๆ เบอร์ๆ

พระอริยเจ้าท่านผู้มีนิสัยทางนี้อยู่ และเชี่ยวชาญในการเข้าฌาน เมื่อท่านต้องการอยากรู้และทำ ท่านจะต้องเข้าฌานถึงจตุตตถฌานเสียก่อน เพราะจตุตถฌานเป็นบาทของอภิญญาทั้งหลาย แล้วถอนจากจตุตถฌาน มาตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิ จึงวิตกเรื่องที่ต้องการอยากจะรู้นั้นขึ้นมา แล้ววางจิตให้เฉยอยู่ ท่านที่เชี่ยวชาญทางนี้ก็จะรู้ด้วยใจ และโต้ตอบด้วยไหวพริบอันฉลาดของท่าน บางท่านไม่เชี่ยวชาญและไม่มีนิสัยในทางนี้ ก็จะนิ่งเฉยเลยแล้วก็ทำกิจหน้าที่ของท่านไปเรื่อยๆ ท่านไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะเรื่องเหล่านี้ นั่นแลความรู้จึงจะแน่นอนสมเหตุสมผลควรเชื่อถือได้

ไม่เหมือนความรู้ในฌานของปุถุชน เมื่ออยากจะรู้อะไรขึ้นมาอยากจะเห็นอะไร พอจิตเข้าถึงภวังค์ก็เกิดขึ้นมาเลย แล้วก็ส่งจิตไปตามความรู้และความเห็นนั้น จนจับจิตของตนเองไม่อยู่ หลงเพลินไปตามอารมณ์ของฌานนั้นๆ ท่านพระอริยเจ้าท่านรู้เท่าจิต รู้เท่าอารมณ์ รู้เท่าใจ เมื่อท่านใช้ฌานใช้จิตของท่านพอแก่กาลแล้ว ท่านก็ปล่อยวางเรื่องเหล่านั้นเสีย แล้วก็วางเฉยให้อยู่เป็นกลางในสิ่งทั้งปวง และรู้เท่าว่าเราวางเฉยอยู่ ฉะนั้น ฌานของปุถุชนจึงมักจะเสื่อมในเมื่อได้กระทบอารมณ์ภายนอกอยูเสมอ ดังเราเคยได้ยินนิทานต่างๆ ที่ท่านเล่ามาเป็นอุทาหรณ์ไว้แล้ว ในที่นี้จะเล่านิทานเรื่องของผู้เสื่อมฌานมาให้ฟังสักเรื่อง

นิทานเรื่องอิสิสิงคฤาษี

มีพระฤาษีตนหนึ่ง ไปสร้างอาศรมบทอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไกลจากหมู่บ้านพอสมควร อยู่มาวันหนึ่ง มีแม่กวางสาวตัวหนึ่งเดินเที่ยวมา เห็นน้ำมูตรพระฤาษีที่ถ่ายทิ้งขังอยู่ นางกวางจึงก้มลงดื่มกิน เลยวิกฤติการณ์ตั้งท้องขึ้นมา

เมื่อท้องแก่แล้วคลอดออกมาเป็นเด็กชาย พระฤาษีเห็นเช่นนั้นก็เก็บมาเลี้ยงไว้ด้วยมูลผลาหาร เติบโตขึ้นมาก็สอนกรรมฐาน ให้เจริญฌานสมาบัติตามเยี่ยงอย่างของพระฤาษี น่าสงสารพระฤาษีหนุ่มน้อยกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ไม่ได้สังคมกับมนุษย์ เว้นแต่กับพ่อพระฤาษีเท่านั้น

วันหนึ่งพระฤาษีผู้พ่อจึงนำพระฤาษีหนุ่มไปเที่ยวในป่าใหญ่ แล้วชี้ให้ดูดอกนารีผลซึ่งมีดอกเหมือนกับสตรีห้อยระย้าเต็มไปหมดตามกิ่งก้าน เหมือนผู้หญิงห้อยโหนกิ่งไม้อยู่ฉะนั้น เมื่อกลับมาอาศรมแล้วจึงสอนว่า สัตว์ที่มีเขาอยู่ข้างหน้าลูกอย่าได้หลงตามมันนะลูกนะ

พระฤาษีผู้พ่อ บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ไม่เสื่อม อยู่ไม่นานก็ตาย แล้วไปเกิดในพรหมโลก ส่วนพระฤาษีหนุ่มน้อย ก็ตั้งใจบำเพ็ญตบะธรรมอยู่คนเดียวโดยความไม่ประมาท ด้วยอำนาจศีลอันแก่กล้าของพระฤาษีหนุ่ม จึงบันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์แข็งกระด้าง

เมื่อพระอินทร์พิจารณาด้วยทิพยญาน ก็รู้ว่าศีลของพระอิสิสีงคฤาษีหนุมน้อยนี้แก่กล้ายิ่งนัก เมื่อตายจากมนุษยโลก์แล้วจะไปเกิดในสวรรค์ จะได้เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งหมด จึงแกล้งทำเป็นไม่สบาย นอนขรึมอยู่คนเดียว เมื่อเทพยดาทั้งหลายเห็นเช่นนั้น จึงเข้าไปทูลถามว่า เทวะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหลาย พระองค์ไม่สบายหรือว่าใครทำให้พระองค์เดือดร้อนด้วยประการใดหรือ ขอพระองค์จงสั่งมา ข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้ช่วยกันบำบัดเรื่องเหล่านั้นให้หายไป พระอินทร์ก็ดุษณีภาพนิ่งเฉยไม่พูดกับใครทั้งสิ้น

มีเทพธิดาหน้าแฉล้มตนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าพิศวาสยิ่งนัก เข้าไปทูลถามว่า เทวะข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ทั้งหมด พระองค์ไม่สบายพระทัยด้วยประการใด ใครทำให้พระองค์เดือดร้อนด้วยเหตุอันใดหรือ ขอพระองค์โปรดบอกแก่ข้าพระองค์ด้วย ข้าพระองค์จะช่วยบำบัดทุกข์นั้นให้ พระอินทร์จึงขยับพระองค์เข้าไปใกล้นางเทพธิดาแล้วกล่าวว่า น้องรักผู้เจริญจงเข้ามาใกล้ๆพี่ พี่จะเล่าให้ฟัง เรื่องนี้เรารู้กัน ๒ คนเท่านั้น อย่าให้แพร่งพรายไป น้องไม่รู้หรือว่าอิสิสิงคฤาษีบำเพ็ญตบะธรรมอยู่ในมนุษย์โลกโน่นแก่กล้า ตายแล้วอาจจะได้เกิดมาบนสวรรค์เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งปวง ไปเถิดน้อง เจ้าจงไปทำลายศีลของอิสิสิงคฤาษีนั้นให้ฉิบหายเสีย นางเทพธิดาจึงกล่าวว่าขอพระองค์จงอย่าทำให้ข้าพระองค์ฉิบหายเลย พระอินทร์ก็มีบัญชาว่า ไม่ได้ น้องต้องไปทำลายมันให้ได้ แล้วนางเทพธิดานั้นก็หายไปปรากฏที่เฉพาะหน้าพระฤาษี

พออิสิสิงคฤาษีประสบภาคารมณ์ ก็ถึงกับวิสัญญีภาพ สลบลงทั้งยืน เหมือนกับสายอสนีบาตฟาดลงที่หัวใจแตกกระจายเลย หลงมัวเมาอยู่ในทิพยกามสุข ไม่ทราบว่ากี่วัน กี่เดือน พอมีสติรู้สึกตัวขึ้นมา ก็มาสลดสังเวชในใจว่า โอ้นี่หนอที่พ่อพระฤาษีเตือนว่าจงอย่าได้หลงในสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างว่านั้น

แล้วพระฤาษีจงบอกกับนางเทพธิดานั้นว่า เจ้าจงไปจากที่นี้เสีย แล้วอย่าได้กลับมาอีก นางเทพธิดาจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้มาด้วยอำนาจของตนเอง แต่พระอินทร์บัญชาให้มา เพราะตบะของท่านแก่กล้า เมื่อท่านตายแล้วสามารถไปเกิดในสวรรค์เป็นใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหมด ว่าแล้วนางก็หายลับไป พระฤาษีจึงชำระปัดกวาดหม้อน้ำ โรงบูชาไฟที่รกรุงรังด้วยเครือเขาเถาวัลย์ให้สะอาดดี แล้วจึงบำเพ็ญตบะจนได้ฌานกลับคืนมาอีก อยู่มาจนสิ้นอายุไขแล้วก็ดับขันธ์ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก

ความเห็นผิด คิดว่าถูกแล้ว

นักปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว มักหลงลืมตัวโดยเข้าใจว่านั่นถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว อดกลั้นไม่อยู่ โฆษณาอยากให้คนอื่นรู้ว่าตนเองถึงทีสุดแล้ว พูดเปรียบเปรยต่างๆนานา บางทีก็พูดออกมาตรงๆ เลยว่า “อย่าสงสัยในตัวข้าฯ เลย ข้าฯ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะต้องพูด”

น่ากลัวยิ่งนัก ผู้เป็นเช่นนั้น ใครแตะต้องไม่ได้เชียว ผู้เขียนเห็นว่า ความอยากเป็นยางเหนียว ยึดติดเกาะสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาใกล้ให้เป็นพวงไปด้วย โดยเฉพาะเอาตนเข้าไปใส่ว่า ตนเห็น ตนเป็นนั้นเป็นนี้ เป็นผู้วิเศษกว่าคนอื่น อยากให้คนอื่นเห็นว่าตนวิเศษอะไรต่างๆ อย่างนี้ตกหลุมลึกทีเดียว ปฏิบัติมาเท่าไรก็ยิ่งเลอะเท่านั้น ทำให้อนุชนรุ่นหลังๆ เสื่อมศรัทธาไปด้วย

อีกบางพวกบางเหล่า เห็นเขาปฏิบัติรู้นั้นรู้นี้ เห็นสิ่งแปลกๆ ก็อยากจะเห็นกับเขาบ้าง เมื่อปฏิบัติไปๆ เอาความอยากนำหน้าแล้ว ไม่เห็นอะไรเกิดขึ้น ก็ชักให้ท้อใจ กลับเห็นว่าพุทธศาสนาอันนี้ แม้ปฏิบัติดีแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น เลยเสื่อมจากพุทธศาสนาเสีย

พุทธศาสนาสอนให้เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม เราทำกรรมอะไรไว้เราย่อมได้รับผลของกรรมนั้นๆ ท่านที่ปฏิบัติจนรู้เห็นนั่นนี้เชี่ยวชาญฉลาดเฉียบแหลมก็เพราะบุพกรรมที่ท่านได้สร้างไว้แต่เมื่อก่อนเป็นอเนกชาติ มาในชาตินี้ท่านจึงเป็นเช่นนั้น เราสร้างกรรมดีไว้น้อยหรืออาจไม่ได้สร้างไว้เลยแต่เมื่อก่อนมันจึงไม่เป็นอย่างท่าน ดีที่เราเกิดมาในชาตินี้เห็นท่านที่กระทำดีได้ผลดีแล้ว เราจะได้กระทำอย่างท่าน ฉะนั้นควรที่จะยินดีกับความเกิดมาเป็นมนุษย์ของตน พึงทำดีต่อไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ในอนาคต

พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าในอดีตก็เหมือนกัน บางท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต ์ แล้วเชี่ยวชาญได้จตุปฏิสัมภิทา สามารถเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทแตกฉานมาก บางท่านเมื่อได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็อยู่ด้วยวิหารธรรมของท่านเฉยๆ ไม่เห็นมีฤทธิ์มีเดชทำปาฏิหารย์อะไร เรื่องเหล่านี้เป็นเพราะบุพกรรมของแต่ละบุคคลที่เคยกระทำไว้แต่เมื่อก่อน ฉะนั้นจึงควรยินดีในกรรมที่ตนกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ดีกว่า

ฌาน ๔ หรือ ฌาน ๘ นี้เป็นโลกิยฌานล้วนๆ ดังได้อธิบายมาแล้ว การเข้าหรือออกจากองค์ฌาน ก็ล้วนแต่เป็นโลกิยะทั้งนั้น โลกุตตรฌานไม่เห็นมีในที่ต่างๆ ที่ท่านแสดงไว้ ที่ท่านแสดงไว้ ที่เรียกว่าโลกุตตรฌานนั้น เพราะท่านได้โลกุตตระแล้วจึงเข้าโลกิยฌาน แต่แท้จริงแล้ว ท่านเข้าโลกิยฌาณนั่นเอง

กับผู้เข้าโลกุตตรฌานมันมีผิดกัน ตรงที่ หลงติดในฌานนั้นๆ ก็ไม่หลงติดในฌาณนั้น เหมือนกับเด็กเล่นกีฬา ย่อมหลงมัวเมาในการเล่นนั้น แต่ผู้ใหญ่เล่นกีฬาเพื่อสุขอนามัย โลกิยฌานและโลกุตตรฌานมีผิดแปลกกัน ตรงที่ โลกิยฌานมีการเสื่อมได้ โลกุตตรฌานไม่มีการเสื่อมเลย เพราะท่านควบคุมฌานและจิต ให้อยู่ในขอบเขตของท่านได้

โทษและคุณของกามนี้มากหลาย

กามคุณ เป็นภัยอันร้ายกาจของพรหมจรรย์ยิ่งนัก มันสามารถครอบงำโลกอันนี้ให้อยู่ในกำมือของมันทั้งหมด ตัวอย่างเช่น อิสิสิงคดาบส มีตบะกล้าถึงขนาดพระอินทร์ ซึ่งคนทั้งโลกพร้อมด้วยเทวดาทั้งหลายพากันให้สมัญญาว่า “มีฤทธิ์มากเหมือนกับพระอินทร์” ก็ยังกลัวอิสิสิงคฤาษี ต้องใช้นางเทพอัปสรลงมาปราบ

มนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จะประกอบกิจการใดๆ และอาชีพใดๆ ก็ตาม ต้องมาปรารภกามคุณนี้เป็นต้นเหตุ แม้พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน ผู้จะหนีจากกามได้ ต้องมาปรารภกามนี้เป็นเหตุทั้งนั้น

ดอกไม้ คือกามคุณทั้งห้า บานสะพรั่งอยู่ในโลกเต็มไปหมด มนุษย์หญิงชายผู้เคราะห์ร้ายเกิดมาแล้ว หลงชมชอบรักใคร่เก็บมาประดับ หมู่มารเห็นแล้วหัวเราะพอใจ คิดว่าเขาเหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราแล้ว แล้วก็ขับเพลงกล่อมให้เต้นไปตามจังหวะของตน พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“การขับร้องคือการร้องไห้” (โอดครวญพิไรรำพันเศร้าโศกคิดถึงผู้ที่ตายแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่ด้วยเสียงอันละห้อยโหยหวนอย่างสุดซึ้ง ทำให้ผู้ได้ยินแล้ววาดภาพเหมือนเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา)

“การเต้นรำเป็นลักษณะของคนบ้า” คือการแสดงกิริยาของคนวิกลจริตต่างๆ เป็นต้นว่าเยื้องกรายหมุนซ้ายหมุนขวา ยักท่าวิปริตผิดมนุษย์สามัญธรรมดา แขนขาสะบัดส่ายงอหงิกแสดงเหมือนคนเป็นบ้า

“การหัวเราะเป็นอาการของเด็ก” ธรรมดาของเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสาเมื่อยังนอนอยู่ในเบาะหรือในอ้อมแขนนั้น เห็นอะไรและสิ่งใดก็มีแต่หัวเราะเป็นประมาณ

ท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านได้เห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้วท่านจึงสลดสังเวชในใจ จึงทรงตรัสว่า “การขับร้องคือการร้องไห้ การฟ้อนรำคืออาการของคนบ้า การหัวเราะเป็นอาการของเด็ก นี่เป็นวินัยของพระอรหันต์”

นับว่าเป็นโชคดีของเราทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญบุญไว้เมื่อแต่ปางก่อน ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มีกำเนิดอันบริสุทธิ์ไม่วิปริต แล้วยังได้พบพระพุทธศาสนา ที่สอนไม่ให้เราหลงใหลติดอยู่ในคุกของโลกด้วย ถ้าเราไม่ได้เกิดมาในโลก ที่ไหนเราจะรู้ของพรรค์นี้ นี่เพราะเราเกิดมาในโลกนี้แท้ๆ จึงได้รู้ว่าในโลกนี้มีอะไรอยู่บ้าง

เมื่อกล่าวถึงเรื่องฌานพอสมควรแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเรื่องสมาธิ

สมาธิ

สมาธิ แปลว่า ทำจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว สมาธิที่มีในพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้มีถึง ๔๐ อย่าง คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ และอรูปฌาน ๔

รวมเป็น ๔๐ อย่าง ล้วนแต่อยู่ในกาย และเนื่องด้วยกายนี้ทั้งนั้น

ส่วนอื่นนอกจากนี้ที่พระพุทธองค์ได้แสดงในที่ต่างๆ ให้พระสาวกฟังแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ที่ท่านไม่ได้เก็บมาบัญญัติก็มากมาย และท่านเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะไม่ได้ยินคำว่าฌาน เสียซ้ำไป เช่น สันตติอำมาตย์ เมาแปร้อยู่บนคอช้าง พระพุทธองค์ทรงมีเมตตากรุณาตรัสเทศนาว่า “ท่านจงชำระจิตของท่านในอนาคตเสีย แล้วจงอย่าคำนึงถึงจิตในอดีต แม้แต่ในท่ามกลางก็อย่าถือเอา” เท่านั้นท่านก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว จะเป็นเพราะท่านได้เคยบำเพ็ญบารมีจนชำนิชำนาญไว้แต่ปางก่อน พอได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเพียงเท่านั้น ฌานที่เคยบำเพ็ญไว้แต่ก่อนนั้นจึงเกิดขึ้น แล้วสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ฟังธรรมของพระพุทธองค์จึงได้บรรลุพระนิพพาน

สามสหายกินข้าวห่อในป่า

วิธีฝึกหัดจิตให้เข้าถึงสมาธิมีหลายอย่างต่างๆ กัน แต่เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิแล้ว มีรสชาติอย่างเดียวกัน จะมีอาการผิดแปลกบ้างก็บางท่าน ที่มีนิสัยผิดแปลกเพื่อน แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็ลงกันได้ ดังเขาเล่าไว้ว่า สามเกลอเพื่อนรัก คือ ไทย ๑ ลาว ๑ และ เขมร ๑ ๓ คนด้วยกัน คิดสนุกชวนกันไปรับประทานข้าวในป่า ว่าเพื่อนๆ วันนี้ไปรับประทานข้าวในป่าด้วยกันเถิด เมื่อจะไป จงเตรียมข้าวห่อไปคนละห่อ เอาอาหารดีๆไปด้วย ทั้ง ๓ คนเตรียมตัวไม่ทันเพราะกะทันหัน ต่างก็คิดว่าเพื่อนคงจะได้อาหารดีๆไป

ในขณะที่เดินทางไปในป่านั้น ต่างก็ถามถึงอาหารที่ห่อไปว่าใครเอาอะไรมาบ้าง ต่างคนก็บอกถึงอาหารที่ตนเอาไปนั้น เมื่อเดินทางไปถึงจุดหมายแล้ว สามเกลอก็ตีวงล้อมแล้วจึงคลี่ข้าวห่อออกดู ปรากฏว่ามีแต่ปลาร้าเหมือนกันทั้งนั้น จึงฮากันใหญ่ เพราะอะไร เพราะภาษามันไม่เหมือนกัน ไทยเรียกว่าปลาร้า ลาวเรียกว่าปลาแดก เขมรเรียกว่าปลาระห็อก สามเกลอก็ไม่ทะเลาะกันยังหัวเราะฮากันเสียอีก

พวกเราเหล่าพุทธบริษัทนี้ซี ถึงแม้จะต่างพวกต่างเหล่าต่างชาติกัน ก็นับถือพระพุทธศาสนาอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน พระองค์ทรงสอนให้สามัคคีกัน ไม่ให้คิดอิจฉาริษยาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพื่อสันติสุขของมวลชนในโลก พระองค์ไม่ได้เรียกร้องให้พวกเรามานับถือพระองค์ แต่พวกเราหากเลื่อมใสศรัทธามานับถือพระองค์ด้วยตนเอง แต่เมื่อมานับถือแล้ว เหตุใดจึงมาทะเลาะวิวาทบาดหมางแก่งแย่งแข่งดีวุ่นวาย ทำความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ไม่ละอายแก่ใจเลย ว่าพวกเราได้มานับถือพระพุทธศาสนาด้วยใจศรัทธาที่บริสุทธิ์แล้ว ทำไมไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะพระที่มีการศึกษาดี มีความรู้ในคำสอนพระพุทธศาสนาพอสมควร ก็ยังเทศนาให้ญาติโยมเขาฟังอีกด้วย ทำไมพระบางรูปจึงยังทะเลาะกันอยู่ แก่งแย่งแข่งดีซี่งกันและกันเพื่ออะไรก็ไม่ทราบ ทำตัวไม่เป็นที่น่านับถือของญาติโยมเลย

เพื่อนของผู้เขียนองค์หนึ่ง จัดงานบุญขึ้นที่วัดของเธอ ไปนิมนต์พระมาเทศน์ที่วัด ๔ ธรรมาสน์ ไปจ้างมาองค์ละ ๑๐,๐๐๐ บาท มันน่าหรือ อย่างนี้ถ้าญาติโยมเขาติดกัณฑ์เทศน์ เขาจะติดองค์ละเท่าไรก็เป็นเรื่องของเขา นี่ต่อรองกันได้องค์ละ ๑๐,๐๐๐ บาท ไปจ้างพระมาเล่นละคร พูดกันดีๆนี่เอง ควรจะเก็บค่าอาหารเช้าและเพลจากพระนั้นด้วยละดี คงจะไม่ขาดทุนกี่สตางค์ นี่จะเรียกว่าพระพุทธศาสนาเจริญแล้วหรือยัง สมัยนี้เอาพุทธศาสนาบังหน้าหากินกันแยะดังที่ได้ยินกันอยู่แล้ว

วิธีทำความสงบและสมาธิภาวนา

หัดสมาธิ และหัดทำความสงบ มีหลายวิธีหลายอย่าง ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น วิธีเหล่านี้ถึงจะมากอย่างสักเท่าไรก็แล้วแต่เถอะ ข้อใหญ่ใจความก็ต้องการทำให้จิตสงบอย่างเดียวกัน ถ้าจิตไม่สงบแล้วก็ไม่มีประโยชน์ทั้งนั้น

บางคน หาเลือกกรรมฐานที่ถูกกับจริตของตนมาภาวนา เอาบทนั้นบทนี้มาภาวนาก็แล้ว นานๆเข้า ก็เบื่อหน่ายดังอธิบายมาแล้ว เพราะไม่มีแยบคายในตัว แยบคายนี้เป็นของแปลก สอนกันไม่ได้ เกิดขึ้นด้วยตนเอง ไม่เหมือนอุบาย อุบายสอนกันได้โดยใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบเหตุผลอธิบายให้เข้าใจ อุบายนั้นแหละ เมื่อซาบซึ้งเข้าถึงจิตใจแล้ว จึงจะเกิดแยบคาย ท่านจึงแสดงไว้ว่า “โดยแยบคายอันชอบ”

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จิตจะไม่สงบเลย หรือสงบบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ก็ยังดีกว่าบุคคลที่ไม่ได้ทำเลย การกระทำนั้น เรียกว่าอบรมนิสัยของตนให้ดีขึ้นโดยลำดับ บางคนหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พอเริ่มกระทำกรรมฐานเท่านั้นแหละ อยากรู้อยากเห็น นึกคิดนั้นนี้ต่างๆ จิตใจไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิจึงจับหลักไม่ได้

มียายคนหนึ่ง อายุมากแล้ว แกพูดธรรมถูกต้องตามแนวปฏิบัติได้อย่างดี คนอื่นฟังแล้วเข้าใจได้ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลดีเยี่ยม ทั้งๆที่เขาไม่เคยได้ศึกษาในธรรมมาก่อน หมู่เพื่อนที่เคยได้ปฏิบัติมาด้วยกันก็ดีและไม่เคยปฏิบัติก็ดี เมื่อได้ฟังคารมอันแยบคายของแกแล้ว ทุกๆคนก็ลงมติว่า ยายคนนี้เป็นผู้ได้บรรลุแล้วไม่ชั้นใดก็ชั้นหนึ่งละ พอกลับไปถึงที่อยู่แล้วแกเล่นไพ่กันสนุกเลย เข้าใจว่าภาวนาจะทำเมื่อไรก็ได้ จริงอย่างเขาว่า ต่อมาแกเข้าผ่าตัดในโรงพยาบาล ออกจาโรงพยาบาลแล้ว ได้ยินเขาว่าแกทำใจได้ดีอย่างเดิม ไม่ทำใจให้เศร้าหมองเลย ยิ่งทำให้แกมีใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญซ้ำขึ้นอีก ต่อมาแกเข้าโรงพยาบาลอีก เลยถึงแก่ความตาย ก่อนจะตายแกพูดกับเพื่อนๆ ว่า “ถ้าฉันทำตามคำสอนของอาจารย์ติดต่อกันมา ป่านนี้คงจะดีกว่านี้มาก เราประมาทเสียแล้ว หมดเวลาไปเปล่าๆ”

ส่วนอีกคนหนึ่ง ฝึกหัดกรรมฐานมานานตั้งหลาย ๑๐ ปี บอกว่าภาวนาทีไรมีแต่หลับไปไม่ได้เรื่อง ทีหลังมาเพ่งพิจารณาที่ขันธ์ ๕ เห็นเป็นพระไตรลักษณ์ จิตเลยรวม ความง่วงเลยหายไปทันที เขาจับหลักอันนั้นมาพิจารณา จนกระทั่งวันเขาตาย เขาก็ยังพิจารณามั่นคงอยู่เหมือนเดิม นี่จะเรียกว่าบุญบารมีเก่าที่เขาบำเพ็ญมาแล้วแต่ก่อนก็ว่าได้ ถึงจะใช่บุญบารมีหรือไม่ก็ตามใด เมื่อประมาทแล้วย่อมทำให้บุญบารมีนั้น ลดน้อยถอยลงไป สิ่งที่จะพึ่งก็ได้เลยเสื่อมเสียกลับไป

ในที่นี้ ผู้เขียนจะนำเอากายคตาสติกรรมฐาน มาฝึกหัดเป็นตัวอย่าง พอเป็นอุทาหรณ์

เบื้องต้น ต้องตั้งสติให้แน่วแน่ว่า กายคตาสติกรรมฐานนี้เป็นของดีของประเสริฐแล้ว กรรมฐานอื่นๆ ก็ไม่ดีเท่ากรรมฐานอันนี้ เพราะพิจารณาลมหายใจเข้า-หายใจออก ก็ออกจากกายนี้ พิจารณาความตายก็ที่กายนี้ พิจารณาอสุภก็ที่กายนี้ พิจารณาธาตุ ๔ ก็พิจารณาที่กายนี้ทั้งนั้น

เมื่อตั้งใจเชื่อมั่นอย่างนี้แล้ว จงเอาจิตตั้งลงที่กายนี้ อย่าได้ส่งออกไปภายนอก ทำความรู้สึกอยู่ภายในใจตลอดเวลา ถ้ามันเผลอส่งออกไปภายนอก จงดึงเข้ามาภายใน แล้วทำความรู้สึกภายในอย่างเดิม

ถ้ามันยังส่งออกไปอยู่ ก็นึกเอาคำบริกรรมว่า “กายเภทๆๆ” แล้วพิจารณากายอันนี้เป็นของแตกดับ พิจารณาเฉพาะกายจริงๆ โดยเป็นของแตกดับจริงๆ จนเห็นด้วยภายในใจจริงๆ ว่ากายนี้แตกดับแล้ว จะเป็นดิน น้ำ ไฟ ลมตามสภาพของมัน จะเป็นอื่นไปไม่ได้ แล้วจิตจะไม่คิดไปในสิ่งอื่น จะรวมเข้าเข้ามา อยู่ในท่ามกลางในที่คิดนั้น เป็นหนึ่ง เรียกว่า หมดคิดหมดนึก แล้วรวมเข้ามาอยู่ในความเป็นหนึ่ง มีความรู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่เป็นหนึ่ง

การอยู่รวมเป็นหนึ่งด้วยวิธีนี้ จะนานเท่าไรก็ได้ ในขณะนั้นไม่ต้องใช้ปัญญาอะไรทั้งหมด เพราะเราใช้ปัญญามาแต่เบื้องต้น พิจารณากายนี้ให้เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม มาแล้ว เมื่อพิจารณามาหมดแล้วก็ต้องพักจิต จิตนี้พิจารณาอะไรทั้งหมดเตลิดเปิดเปิงไปไม่มีที่หยุด เรียกว่า จิตหลงจิตเพลินไปในกามคุณ ๕ เป็นวัฏจักร ถ้าจิตเป็นวิวัฏจักรต้องมีที่หยุด ดังอธิบายมานี้

กายนี้ เป็นบ่อเกิดของธรรมทั้งหลาย

กายนี้ จะพิจารณาให้เป็นฌานก็ได้ ให้เป็นสมาธิก็ได้ ให้เป็นวิปัสสนาก็ได้ สุดแท้แต่ผู้นั้นจะมีอุบายแยบคายเชี่ยวชาญทางไหน กายนี้ได้ชื่อว่าเป็นก้อนธรรมก้อนหนึ่ง เป็นคัมภีร์ทรวง เป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ เป็นต้นตอบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา

ถ้าไม่มีกายอันนี้เสียแล้ว พุทธศาสนาจะเกิดได้อย่างไร ศีล สมาธิ ปัญญา จะเอาไปประดิษฐานไว้ที่ไหน เมื่อมีกายอันนี้แล้ว พระพุทธศาสนาจึงได้ประดิษฐานตั้งลงที่กายนี้ ใครต่างคนก็ได้นำเอาไปปฏิบัติ ตามกำลังแก่ความต้องการของตนๆ พระพุทธศาสนาเป็นของสากล มนุษย์ชาวโลกนี้ มีใจเกิดขึ้นในที่ใดแล้ว ก็มีกิเลสหุ้มห่อในใจของมนุษย์ในที่นั้น พระพุทธเจ้าจึงอุบัติขึ้นในที่นั้น แล้วจึงได้บัญญัติพระพุทธศาสนาลงที่กาย วาจา และใจของมนุษย์เหล่านั้น

เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว แต่ธรรมคำสอนของพระองค์ที่ยังเหลืออยู่ในหัวใจของมนุษย์เหล่านั้น ผู้มีศรัทธาก็ปฏิบัติกันต่อไป ต่อเมื่อมนุษย์ในโลกนี้ทั้งหมดไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หรือใจมนุษย์ไม่มีมาเกิดในโลกนี้อีก นั่นแหละ พระพุทธศาสนาจึงจะหมดไปจากโลกนี้

พระพุทธศาสนาเป็นของสากลอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติในโลกนี้ก็ดี หรือจะไม่มาอุบัติในโลกนี้ก็ดี ธรรม คือ อกุศลและกุศล หากเป็นของมีอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไร ความนิยมสมมติว่าเป็นนั้นเป็นนี้ต่างหากมีอยู่ในโลก ผลที่สุด สังขารคือการปรุงแต่งเหล่านั้น เป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น ผู้ถือว่าเราถึงธรรมได้ ธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ผู้นั้นยังมีความอยากอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงธรรมได้อย่างไร ท่านว่าเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม

ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านย่อมคิดค้นมูลเหตุแห่งกิเลส หรืออกุศลเครื่องเศร้าหมองในใจของตน จนเห็นแจ้งประจักษ์ด้วยใจของตน แล้วหาวิธีกำจัดให้หมดสิ้นไปด้วยตนเอง ท่านไม่เพ่งโทษของคนอื่น กิเลสของคนอื่น เหมือนพวกเราเหล่าพุทธบริษัทในสมัยนี้ ท่านทำเพื่อความสงบสุขแห่งขันธโลกของท่าน เพราะกิเลสในขันธโลกของท่านอันนี้มันทำให้ท่านทนทุกข์ทรมานมานานแสนนานแล้ว ท่านเข็ดหลาบพอแล้ว

สมาธิเอาธาตุเป็นอารมณ์

การทำสมาธิ จะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ของสมาธิก็ได้ ดังอธิบายมาแล้ว ขอแต่ให้ทำใจให้แน่วแน่เป็นอันหนึ่งก็แล้วกัน เรียกว่าทำสมาธิทั้งนั้น ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอยกเอากายก้อนนี้มาเป็นอารมณ์ของการทำสมาธิ เพราะกายก้อนนี้ประกอบด้วยกรรมฐานหลายอย่าง มีจตุธาตุวัฏฐาน และ อสุภกรรมฐาน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวช เป็นเหตุให้เกิดกรรมฐานทั้งนั้น

พิจารณากายก้อนนี้ ให้เป็นก้อนดิน แทนที่จะเพ่งให้เป็นดินอย่างเดียวไม่ต้องเป็นอย่างอื่น เช่น ฌานที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ต้องพิจารณาให้เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม มีอยู่พร้อมๆกัน ว่าสิ่งทั้ง ๔ อย่างนี้ ต้องมีอยู่พร้อมกันในที่ทุกสถานทุกกาล เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งทั้งสามนั้นก็ต้องมี จะเป็นมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ก้อนหิน ภูเขา และสิ่งอื่นๆก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ ถ้าเป็นของมีวิญญาณเคลื่อนไหวได้ ก็ต้องเคลื่อนไหวกลิ้งไปตามอัตภาพของตัวเอง (คือหากิน)

ก้อนดินเหล่านี้ มีลักษณะต่างๆ กัน บางก้อนมีสีสันลักษณะขาว ดำ แดง บางก้อนก็มีรูปพรรณสวยสดงดงามน่าดูชม บางก้อนก็กระปุ่มกระป่ำขรุขระ ขาดวิ่น หักงอไม่น่าดู

ก้อนดินทั้งหลายเหล่านี้ ทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปในโลก ถ้าทำสมาธิให้จิตเป็นกลางๆแล้ว จะเห็นของเหล่านี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของมันต่างหากนอกจากตัวของเรา แล้วจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นพร้อมด้วยตัวของเราเป็นของน่าสลดสังเวช ว่าเกิดมาด้วยธาตุทั้งสี่ แล้วก็กลิ้งเกลือกไปมาอยู่ในโลกนี้ แล้วก็ดับสลายไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย เกิดขึ้นมาได้ก้อนดินอันนี้แล้ว จึงควรทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย ดีกว่าที่จะให้มันตายไปเปล่าๆ โดยมิได้ทำประโยชน์อะไรเลยไว้ในโลก

สมาธิมีอสุภเป็นอารมณ์

สมาธิเอาอสุภเป็นอารมณ์ กายก้อนนี้ทั้งก้อน เป็นอสุภของเปื่อยเน่าน่าเกลียดทั้งสิ้น แต่มิใช่น่าเกลียดอย่างฌานที่พิจารณาจนเห็นเป็นอสุภโดยส่วนเดียว จนเกิดปฏิภาคนิมิตให้เห็นเป็นอสุภเปื่อยเน่าน่าเกลียดจนสะอิดสะเอียนในใจ เกือบรับประทานอาหารไม่ได้เลย แต่ให้พิจารณาให้เป็นของปฏิกูลธรรมดาๆนี้เอง แต่มันเห็นชัดด้วยตาในว่า กายนี้ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ถ้าไม่มีหนังหุ้มอยู่แล้วก็มีเลือดไหลเอิบอาบไปหมด แมลงและมดก็จะไต่ตอมดูดกินเป็นอาหาร ซึ่งเป็นของน่าเกลียดและน่ากลัวแก่คนทั้งหลายมาก แม้แต่น้ำมูตรและน้ำลายก็เช่นกัน เมื่อบ้วนออกมาภายนอกแล้ว จะกลืนเข้าไปอีกย่อมไม่ได้ จะถูกอวัยวะร่างกายก็ต้องล้างหรือเช็ดให้สะอาด เป็นของสกปรกน่าเกลียดจริงๆ แต่เมื่อเรารับประทานอาหารหรือสิ่งต่างๆเข้าไป มันก็ต้องคลุกด้วยน้ำลายนี้เสียก่อนจึงจะกลืนเข้าไปได้ ท่านแสดงไว้ว่าเปรตบางชนิด กินน้ำมูตรน้ำลายของตนเองเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เห็นจะเป็นคนเรานี้กระมัง

สมาธิเอาความตายเป็นอารมณ์

สมาธิมีมรณะเป็นอารมณ์ มรณะคือความตายพิจารณาความตายเป็นอารมณ์แล้ว ถ้ายังไม่ลงเป็นสมาธิแล้วก็หมดกรรมฐานเท่านั้น เพราะมนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่าที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนแต่หวงแหนรักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ชีวิตเป็นที่ปรารถนาของสัตว์เหล่านั้น เมื่อพิจารณาถึงความตายว่า ชีวิตไม่มีแก่นสารเหมือนกับขอยืมเขามาใช้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องเอาไปคืนเขา (แต่ก็อย่าลืมว่า “ผู้ยืม” ยังมีอยู่ ต้องยืมของคนอื่นเขามาใช้อีกต่อไป ผู้เกิดมาแล้วต้องเป็นหนี้ของโลกอย่างนี้ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด)

ชีวิตเป็นของสาธารณะ เกิดขึ้นมาจากธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ตายแล้วก็กลับไปเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่า ไม่มีใครเอาติดตัวไปได้สักอย่างเดียว นอกจากความดีความชั่วที่ตนทำไว้ติดอยู่ที่ใจเท่านั้น ที่จะติดตามตนไปข้างหน้า ฉะนั้น คนเราเกิดมาเหมือนกับไปยืมของคนอื่นเขามาเกิด ตายแล้วก็ส่งกลับคืน มาเกิดอีกก็ยืมมาใหม่ ดังนี้อยู่ไม่จบรู้สิ้นสักที

ขออย่าลืม ผู้ไปยืมของเขามาเกิดยังมีอยู่ จึงต้องไปยืมของเขาร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อพิจารณาอย่างนี้ มันเป็นการขู่จิต จิตก็จะหดตัวลงพิจารณาตัวเอง เห็นตามนั้นแล้วรวมเป็นสมาธิ สลดสังเวชนิ่งอยู่ด้วยความสงบ จิตนิ่งเป็นเอกัคคตาอันเดียวอยู่

แต่บางคนมันตรงกันข้าม ดังผู้เขียนได้ยินมาว่า มีคนบางคน เบื้องต้นเป็นผู้มีศรัทธามีเงินมากพอสมควร มีคนรู้จักหน้าตามาก ตอนแก่พึ่งตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยคนอื่นช่วยรักษา หลงๆ ลืมๆ แต่เรื่องเงินทองไม่ยักลืม กำลูกกุญแจอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งมือที่กำลูกกุญแจนั้นเน่า ใครจะพูดว่าอย่างไร แกไม่เชื่อทั้งนั้นกลัวเงินจะหาย เท็จจริงอย่างไรขอผู้อ่านพิจารณาเอาเอง ผู้เขียนเป็นผู้อื่นนำมาเล่าสู่กันฟัง

สมถะและสมาธิ กลับกันได้

วิธีฝึกหัดสมาธิโดยยึดเอาธาตุ ๔ – อสุภ และมรณสติเป็นอารมณ์ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นต้น พอเป็นตัวอย่าง เป็นการฝึกสมาธิล้วนๆ มิได้เจือปนไปด้วยฌานเลย แต่สมถะคือฌานมันกลับกันได้กับสมาธิเหมือนกัน เหมือนฝ่ามือกับหลังมือ เพราะฝึกหัดจิตตัวเดียวกัน อุบายอย่างเดียวกัน แต่แยบคายมันต่างกัน ความมุ่งหมายก็ต่างกัน ผลที่ได้รับก็ต่างกันอยู่บ้าง

เช่น การเพ่ง จตุธาตุววัฏฐาน สมถะเพ่งเอาแต่ดินเป็นอารมณ์อย่างเดียวจนจิตสงบ ไม่ต้องหาเหตุผลสิ่งแวดล้อม แต่สมาธิต้องเพ่งพิจารณาถึงเหตุผลความเป็นมาและความเป็นไปของสิ่งนั้นๆ ในขณะที่เพ่งพิจารณาความเป็นมาและความเป็นไปอยู่นั่นแหละ สติเผลอแวบเดียว จิตรวมเข้าภวังค์เป็นฌานไป ผู้ที่มีนิสัยเคยได้อบรมมาก่อน ก็จะไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ เป็นต้นว่าไปรู้ภพรู้ชาติก่อนว่าเคยทำอะไรไว้และเป็นอะไรมาแต่ก่อน เป็นต้น แล้วจิตก็หลงเพลินไปตามความรู้อันนั้น เรียกว่า เพ่งพิจารณาสมาธิ เผลอสติเลยกลับเป็นฌานไปฉิบ

ผู้ที่มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลม มีนิสัยเคยพิจารณาของพรรค์นั้นมาแล้วแต่ก่อน ในขณะที่สติเผลอแผล็บเดียวเป็นฌานไปรู้สิ่งต่างๆ ดังอธิบายมาแล้ว กลับรู้เท่าได้ทันทีว่า อ๋อ ความรู้อันนี้มิใช่ความพ้นจากทุกข์ เป็นความรู้ให้ติดอยู่กับกองทุกข์ เป็นเครื่องส่องให้ได้ความรู้เห็นตามเป็นจริงของวัฏฏะเท่านั้น แล้วก็ไม่หลงตามมัน พิจารณาความรู้สิ่งต่างๆ เห็นเป็นวัฏสงสารน่าเบื่อหน่าย เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องเวียนว่ายวนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงควรทำตัวของเราให้หลุดพ้นเสียดีกว่า นี่เรียกว่าทำจิตที่เป็นฌานให้กลับเป็นสมาธิ

ในขณะที่เพ่งธาตุ ๔ หรือ เพ่งเอาแต่จิตอันเดียว เพื่อให้จิตรวมเข้าเป็นภวังค์อยู่นั้น จิตบางขณะจะพลิกออกไปพิจารณาพระไตรลักษณ์ จนเห็นว่าจิตนี้เป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวก็อยู่ในอำนาจของเรา เดี๋ยวก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา จิตนี้จึงเป็นของไม่ควรยึดถือ แล้วปล่อยวาง ทำจิตให้เป็นกลางๆ ไม่ยึดเอาอดีต อนาคตมาเป็นอารมณ์ วางจิตให้เป็นกลางๆ ในอารมณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีและชั่ว หยาบและละเอียด ทุกข์และสุข สรรเสริญและนินทาก็ตาม ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทำความรู้อยู่ว่าจิตมันเป็นกลางอย่างนี้ เรียกว่าเพ่งฌานจิตกลับเป็นสมาธิไป

ความรู้เกิดจากฌาน

ในขณะที่เพ่งรูปธรรมมีธาตุ ๔ เป็นต้น หรือเพ่งนามธรรมมีจิตเป็นต้น โดยมิได้พิจารณาเรื่องอื่น นอกจากจิตอย่างเดียว เมื่อจิตน้อมเข้าสู่ความสงบสุขอย่างเดียว แล้วจิตจะขาดสติวูบเข้าภวังค์ บางทีก็รู้ตัวหรือพอสะลึมสะลือๆ บางทีก็จะหายวับไปเลย ไปรู้เรื่องของมันเองอยู่ต่างหาก ถ้าผู้มีนิสัยวาสนาได้เคยทำมาแต่ก่อน อาจไปเห็นสิ่งต่างๆ เป็นต้นว่า ชาติก่อนได้เคยเป็นอะไร และได้กระทำอะไรไว้ในที่นี้หรือที่โน้น เคยได้เป็นศิษย์และอาจารย์ เคยได้เป็นบิดามารดา บุตร ธิดา เคยได้เป็นสามีภรรยาและมิตรสหายซึ่งกันและกันเป็นต้น

ฌาน เมื่อจะเกิดความรู้และเห็นจะต้องจิตเข้าถึง ภวังคจลนะ เสียก่อนจึงจะเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้างตามวิสัยของปุถุชน แล้วก็เสื่อมเร็วเพราะมีการส่งออกไป จับเอาอารมณ์ภายนอกเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้น ฌานและอภิญญาจึงเป็นของไม่ควรประมาท

บางคน ถือว่าตนเก่งแล้ว ฉิบหายไม่รู้ตัวมีมากต่อมากแล้ว ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายมักหลงในฌานเป็นส่วนใหญ่ พอจิตรวมเข้าเป็นฌานเกิดความรู้นั้นนี้ต่างๆนานา ก็เข้าใจว่าตนถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว หรือพอจิตรวมเข้านิ่งเฉยไม่มีอารมณ์อะไร เพราะไม่มีปัญญา พิจารณาไม่ได้ ก็เข้าใจว่าตนหมดกิเลสแล้ว คราวนี้ระฆังมักดังขึ้นเอง

สมาธิ เมื่อจะเกิดอภิญญา จิตของท่านจะเข้าถึงอุปจารสมาธิเสียก่อน จึงจะรู้จะเกิดขึ้น และเมื่อรู้ ก็มิได้ตื่นเต้นด้วยเหตุนั้นๆ รู้อยู่ดีๆ เหมือนรู้เห็นของภายนอกนี้เอง แล้วนำเอาความรู้ความเห็นอันนั้น มาพิจารณาถึงเหตุผลสิ่งที่ควรและไม่ควรอีกทีหนึ่งก่อน แล้วจึงปลงใจเชื่อ

ไม่เหมือนกับความรู้ในฌาน ความรู้ในฌาน เมื่อเห็นอะไรรู้อะไรแล้ว มักจะหลงเชื่อเอาทั้งหมด เหตุนั้นจึงมักพลาด ผู้ฝึกหัดสมาธิโดยมากท่านฝึกหัดสมาธิเพื่อความพ้นทุกข์ อภิญญาเป็นเพียงเครื่องประกอบเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆแล้ว ท่านไม่ใช้เลย

บางที หลงเพลินไปเห็นชั้นเทพชั้นพรหมแล้วคิดสนุกอยากขึ้นไปอยู่ชั้นพรหมโน่น เวลากลับมาอยู่ในมนุษย์มีเด็กมีสามเณรมาปฏิบัติ คิดสนุกขึ้นมาก็พิจารณาเด็กหรือสามเณรที่ปฏิบัติอยู่นั้นให้เป็นทองคำเหลืองอร่ามไปหมดเลย แล้วก็กระหยิ่มอยู่คนเดียวเมื่อเพ่งจิตเข้าสู่ภวังคจลนะแล้ว จิตนี้จะปรุงต่างๆนานา ทำให้ผู้ไม่มีสติหลงไปตามได้ง่าย ในผลที่สุดก็เสื่อมได้เพราะมันเป็นโลกิยฌาน แต่บางคนก็อยู่ได้นานๆ หรือไม่เสื่อมเลย แต่บุคคลนั้นสติไม่ดี พลั้งๆ เผลอๆ ถ้าเป็นฆราวาสทำได้ขนาดนั้น ก็นับว่าเป็นโชคของเขาแล้ว แต่ถ้าเป็นพระแล้วไม่ควรอย่างยิ่ง และจะแก้นั้น ยากนัก พวกนี้มีความเห็นดิ่งไปหน้าเดียว ถ้าแก้ไม่ถูกจุด ก็จะถือรั้นอยู่อย่างนั้นร่ำไป ถ้าผู้เคยเป็นมาด้วยกัน แก้ถูกจุดเข้า แผล็บเดียวเท่านั้น ก็จะหายทันที

ถ้าผู้มีสติ แล้วเพ่งพิจารณารูปธรรม และนามธรรมนั้น ด้วยสติรอบคอบว่า รูป-นามนี้ เป็นของมีอยู่ประจำในตัวของคนเราทุกคน เกิดมาเป็นคนแล้ว ดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องได้ครบบริบูรณ์ ไม่ต้องไปหาที่ไหนมาอีก แต่ที่มีอยู่แล้วก็มากเหลือหลาย เหลือที่จะบริหารเลี้ยงดูให้พอแก่ความต้องการของเขาแล้ว ไหนจะอาหารภายนอกมีข้าวปลาอาหารเป็นต้น วันหนึ่งๆหมดไปเท่าไร อาหารภายในจะต้องหาให้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจอีกด้วย ไม่รู้จักอิ่มจักพอเป็นสักที สิ่งเหล่านี้ก็เกิดจากรูป และนามทั้งนั้น ของทั้งสองอย่างนี้ ประสมกันแล้ว ย่อมหมุนเป็นไปตามโลก หาที่สิ้นสุดไม่ได้

ผู้มีสติปัญญา มาพิจารณาเห็นชัดแจ้งด้วยปัญญาของตนแล้ว ประมวลเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามารวมลงในจิตแห่งเดียว ว่าเกิดจากจิตอันเดียว ถ้าจิตไม่มีแล้วสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีไม่เกิด เพราะฉะนั้นพึงรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจของตน อย่าได้ส่งไปเกาะเกี่ยวในสิ่งภายนอก และนอกจากจิตของตนบางกาลบางเวลา เมื่อรักษาจิตของตนได้อย่างนี้แล้ว จิตก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ต่อนั้น ก็เห็นหน้าตาของกิเลสชัดขึ้น เมื่อมองเห็นกิเลสทุกระยะทุกเวลาอยู่อย่างนี้ จิตก็จะรวมเข้ามาเป็นใจ รู้ว่าเรานิ่งเฉยอยู่ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อาการอย่างนี้จะให้อยู่ได้นานสักเท่าใดก็ได้

จิตนี้ มักส่งนอกเป็นธรรมดา ฉะนั้น การฝึกหัดสมาธิโดยใช้กายและใจเป็นอารมณ์เป็นกรรมฐาน จึงเหมาะที่สุด ที่จะให้เห็นตนและได้ละจากตนจาก อัตตานุทิฏฐิ เพราะอัตตานุทิฏฐินับว่าเป็นภัยใหญ่หลวงของผู้ฝึกหัดสมาธิ ผู้เห็นตัวตนของเราเป็นแต่ว่าธาตุ เป็นอสุภ เป็นตัวตายจึงละอัตตานุทิฏฐิได้มากทีเดียว เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้น นานๆหนักเข้า จะชัดแจ้งด้วยปัญญาในใจของตนเอง แล้วจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเอง จิตจะละถอนปล่อยวางโดยอัตโนมัติแล้วรวมเข้ามาอยู่ในใจ รู้ตัวอยู่ว่าไม่มีที่ไปอีก แล้ววางเฉยเป็นกลางในระหว่างสิ่งทั้งปวง

ตามรู้จิต ไม่อยู่ รู้เท่ารู้ทันจิต จึงอยู่

จิต ผู้คิดปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ต่างๆ เหลือที่จะคณานับ บางทีก็เป็นประโยชน์ บางทีก็ไร้ประโยชน์ ทำให้เกิดสับสนวุ่นวายไม่สบายใจของผู้คิดนึกเป็นอันมากเหมือนกัน

จิต ที่คิดนึกเอาแต่อารมณ์อันเดียวจนแน่วแน่ที่เรียกว่า สมาธิ อันนั้นย่อมเกิดปัญญาพิจารณาหาเหตุผลว่าสิ่งนี้ควรทำแลไม่ควรทำ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ต้องทำสมาธิให้หนักแน่น จับตัวผู้รู้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงจะรู้เท่าอาการของจิตที่นึกคิดไปในสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่มีขอบเขต ถ้าทำสมาธิไม่หนักแน่น จับตัวผู้รู้ไม่ได้ จิตผู้คิดนึกนั้นจะเตลิดเปิดเปิงไปไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ นั่นมิใช่ปัญญา แต่เป็นสัญญาของสามัญชนทั่วไป

จึงมีคำเรียกว่า ตามรู้จิตไม่ถึงตัวจิตสักที เหมือนกับคนตามรอยโค ต้องรู้เท่ารู้ทันตัวจิต จิตจึงจะอยู่แล้วรวมเข้ามาเป็นใจ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ ไม่มีการปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น

สมาธิเมื่อฝึกหัดถูกแล้วย่อมรวมเป็นหนึ่งได้

การฝึกหัดสมาธิ ไม่ว่าจะฝึกหัดแบบไหน วิธีอย่างไร หรือลัทธิอะไรก็ตาม ถ้าตั้งจิตให้ถูก คือ ความบริสุทธิ์ของใจแล้ว จะต้องทำใจให้เป็นกลางๆ ไม่ให้มีกิเลสอะไรเจือปนในใจก่อน เมื่อจิตเป็นกลางอยู่เฉยๆ แน่นอนที่สุด จิตของปุถุชนคนเราจะต้องแส่ส่ายหากิเลสมาประสมใจ ซึ่งใช้อายตนะทั้งหก เป็นสื่อสัมพันธ์ทั่วทั้งโลก เข้ามาประสมกับจิตของตน

ผู้ฝึกหัดจิตของตนให้เข้าถึงใจที่เป็นกลางแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่า กิเลสที่มาหุ้มห่อจิตทั้งหมดนั้น เกิดจากจิตไปแสวงหามาทั้งนั้น เกิดมาในกามภพหมกมุ่นอยู่กับกามกิเลส กิเลสเหล่านั้น ล้วนแต่มีกิเลสกามเป็นมูลฐาน เกิดมาเป็นคนต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอด จะเพื่อตนเองและคนอื่นก็ตาม ล้วนแต่มีกามเป็นพื้นฐานจึงจะทำได้

แม้จะบวชเป็นบรรพชิตก็ตาม กามย่อมติดตามอยู่เสมอ จะเห็นได้จากบางท่านบางองค์ประพฤติตนไปในทางกามกิเลส เห็นได้เลยว่า ประพฤติตนมิใช่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ หมกมุ่นอยู่แต่ในกามกิเลสตลอดเวลาที่เป็นบรรพชิต เพราะไม่ได้ฝึกหัดจิตของตนเพื่อให้พ้นจากเครื่องเศร้าหมอง จึงไม่เห็นจิตที่เป็นกลางวางเฉยได้ แบกแต่ภาระหนักอยู่ร่ำไป

นักฝึกหักจิตทำสมาธิให้แน่วแน่เป็นอารมณ์หนึ่งแล้ว จะมองเห็นกิเลสในจิตของตนเองทุกกาลทุกเวลาว่า มีกิเลสหยาบและละเอียดหนาบางขนาดไหนเกิดขึ้นที่จิต เกิดจากเหตุอะไร และจะต้องชำระด้วยวิธีอย่างไรจิตจึงจะบริสุทธิ์ผ่องใส ค้นคว้าหากิเลสของตนเองอยู่ทุกเมื่อ กิเลสก็จะหมดสิ้นไป จิตก็จะผ่องใสขึ้นตามลำดับ ผลที่สุดจิตที่วุ่นวายทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีกามกิเลสเป็นมูลฐาน กิเลสก็เกิดขึ้นที่จิต จิตนี้เป็นผู้ไปแสวงหามา เมื่อจิตหยุดแสวงหา จิตก็รวมเข้ามาเป็นใจ คือตัวกลางๆ วางเฉย และรู้ตัวว่าวางเฉย นั่นแลเป็นที่สุดของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอันนี้ สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แม่น้ำน้อยใหญ่ย่อมไหลลงสู่มหาสมุทร เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมมีรสชาติเค็มเป็นอันเดียวกัน ธรรมะของเราตถาคตก็เช่นนั้นเหมือนกัน ”

สมาธิโดยพิจารณาขันธทุกข์เป็นอารมณ์

ก้อนทุกข์อันนี้ นับแต่ประสมเป็นขันธ์ ๕ เข้าด้วยกันแล้ว มีการแสดงเรื่องทุกข์เรื่อยมาไม่มีเวลาจบสิ้นสักที ตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์เป็นน้ำมันใสๆ แปรมาเป็นเลือดและก้อนเลือด แตกมาเป็นปัญจขันธ์ ๕ แห่ง อันได้แก่ แขน ๒ ขา ๒ ศีรษะ ๑ จนคลอดออกมาเป็นมนุษย์

ทีแรกออกมา น้ำหนักไม่กี่กิโลกรัม แล้วก็แสดงความทุกข์เติบโตมาโดยลำดับ ทนสภาพอยู่ไม่ได้จึงแปรปรวนมาเป็นขั้นตอน อันแสดงถึงของไม่เที่ยงคงอยู่อย่างเดิมไม่ได้

สิ่งสารพัดในโลกนี้ ไม่มีใครบังคับให้อยู่ในอำนาจของตนได้ ย่อมเป็นไปตามธรรมดาของมัน ใครจะดีใจเสียใจ เป็นทุกข์และเป็นสุขในสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก็หาได้เอื้ออาทรกับคนเหล่านั้นไม่ ข้ามีหน้าที่เป็นไปอย่างไร ข้าก็ทำหน้าที่ของข้า คล้ายกับจะบอกให้รู้ว่า เธอหลงโง่ต่างหาก จึงมาหลงถือเอาตัวของข้าว่าเป็นตัวตน จึงต้องเป็นทุกข์ตลอดกาล สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในภารสุตตคาถา โดยเนื้อความว่า ปัญจขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์จริงๆ มิใช่ไม่จริง นับแต่ธาตุ ๔ ประชุมกันเป็นก้อนอุบัติขึ้นมาในครรภ์ของมารดาแล้ว จำเป็นจะต้องเป็นภาระของมารดาทุกๆ อย่าง เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว มารดาและพี่เลี้ยงนางนมจะประคบประหงมเลี้ยงให้เติบโตมาโดยลำดับ จนกระทั่งเติบโตพึ่งตนเองได้ วิ่งเล่นกับเพื่อนได้ ก็ยังต้องอยู่ในสายตาของมารดาตลอด เหมือนแม่วัวเลี้ยงลูกฉะนั้น

ทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นภาระจริงๆ แต่สัญชาตญาณของมนุษย์คนเราก็ยังยึดถือเอาภาระนั้นไว้เพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเลี้ยงดู เป็นต้น ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะไม่ได้มีชีวิตอยู่สร้างความดีต่อไป แท้จริงการเข้าไปยึดถือเอาของในโลกทั้งหมดมันเป็นความทุกข์ ฉะนั้น การปล่อยวางภาระเสียได้ “ด้วยแยบคายภายใน” มันเป็นความสุขอย่างยิ่ง ครั้นปล่อยวางภาระอย่างหนักอันนี้ได้แล้ว ไม่หลงไปยึดถือเอาซึ่งภาระอย่างอื่นมาไว้อีก ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้ถอนซึ่งตัณหาพร้อมทั้งมูลรากได้แล้ว และเป็นผู้หมดความกระวนกระวายหายอยาก ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ได้แล

อันทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นอาทิ เกิดมาจากขันธ์ ๕ ทั้งนั้น เมื่อมีขันธ์ ๕ แล้ว จะต้องมีทุกข์ประจำขันธ์ ๕ เช่น มีอวัยวะ เป็นต้นว่า โรคประจำแต่ละสิ่งละอย่าง มีศีรษะ มีแขน มีขา มือ เท้า ต้องมีโรคประจำในที่นั้นๆ ให้รักษา “งูไม่มีตีนมันก็ไม่ต้องรักษาตีน ปูไม่มีหัวมันก็ไม่ต้องรักษาหัว แต่คนเป็นโรคลมให้ระวัง ถ้ารับประทานปูนา มักเจ็บหัว”

ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นของมีประจำอยู่ในตัวของคนเราเป็นนิจ ต่างแต่มันจะกำเริบมากหรือน้อยเท่านั้น ถ้ามันกำริบมากก็ทุกข์มาก ถ้ามันกำเริบน้อยก็ทุกข์น้อย ทุกข์อีกอย่างหนึ่งเมื่อเกิดมาแล้ว จะต้องมีจะต้องสร้างให้เกิดให้มีขึ้น ถ้าไม่สร้างให้เกิดมีขึ้นก็อยู่ร่วมกับเขาไม่ได้ นั่นคือการแสวงหาปัจจัยชาติทั้งสี่ คือ อาหารเครื่องเลี้ยงชีวิต ๑ เครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกายกันเย็นและหนาว ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหามาไว้ในเมื่อจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่บางคนหามาเหลือใช้เก็บสะสมไว้จนไม่มีที่เก็บ ขายเอาเงินทองมาไว้ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์มากขึ้นอีกแสนทวีคูณ นี่เรียกว่า ปริเยสิกทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา

ยังมีทุกข์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่าทุกข์จรมา ได้แก่ ถูกหนามตำ ยอกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย ถูกตีต่อยจากศัตรูภายนอก โรคภัยรุมล้อม เป็นอัมพาตอัมพฤกษ์มือตายเท้าตายไปไหนไม่ได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้น

เรียกว่ากายก้อนนี้เราได้มา คือ ได้ก้อนทุกข์ มิใช่ของดีอะไรเลย การเคลื่อนไหวของกายทุกอิริยาบถ มันเคลื่อนไหวเพราะมันอยู่ไม่ได้จึงเคลื่อนไหว แต่มันเคลื่อนไหวก็มิใช่มันจะเคลื่อนไปเพราะหาความสุข แต่มันเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนความทุกข์ เปลี่ยนทุกข์จากนั่งนานเปลี่ยนไปเป็นยืน เปลี่ยนจากยืนไปเป็นนอน แม้แต่นอนหลับอยู่ก็ยังพลิกตนเองได้ ตกลงว่าเกิดมาในโลกนี้ มีแต่ทุกข์ทั้งสิ้น หาความสุขไม่มีเลย จะมีความสุขแต่เฉพาะผู้ที่หลงทุกข์เอาเป็นสุขเท่านั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “โลกอันนี้นอกจากทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอะไรทั้งสิ้น”

เพราะสมาธิเป็นหลัก ทุกข์จึงกลายเป็นทุกขสัจ

พิจารณากายอันนี้ มีอสุภเป็นต้น มีขันธ์๕ เป็นปริโยสาน ล้วนแต่รวมลงสู่ทุกข์ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาให้ชำนิชำนาญคล่องแคล่วหนักเข้าๆ จึงกลายเป็นทุกขอริยสัจ เพราะมีสมาธิเป็นหลักแน่นหนาไม่หวั่นไหว เห็นทุกข์อันนี้เป็นทุกข์จริง ใครจะว่าเป็นอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้ เป็นของจริงของแท้ไม่แปรผัน เกิดมาในโลกนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ไม่มีสุขเลย ที่ว่าสุขๆนั้น เพราะบุคคลนั้นหลงทุกข์เห็นเป็นสุขต่างหาก ดังการเปลี่ยนอิริยาบถทั้งสี่ เพราะเป็นทุกข์จึงเปลี่ยนอิริยาบถนั้นๆ เปลี่ยนเพราะทุกข์มากจึงต้องเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อให้ทุกข์มากๆ นั้นบรรเทาน้อยลง มิใช่เพื่อให้ทุกข์นั้นหายไป

การประกอบอาชีพทุกๆ ประเภทและทุกแขนงรวมลงในปัจจัย ๔ หามาก็เพื่อบรรเทาทุกข์เท่านั้น กำลังแสวงหาอยู่ก็เป็นทุกข์เพราะการแสวงหา เมื่อได้มาแล้วก็เป็นทุกข์เพราะการรักษา เพราะการปรุงแต่ง เช่น การปรุงอาหารสำหรับรับประทานเป็นต้น แต่เพราะความหิวโหยและความอยาก มันจึงบังคับให้ต้องกระทำ แล้วก็เพลินกับการกระทำนั้นๆเสียด้วย

ผลที่สุดเมื่อทำสำเร็จแล้วก็มารับประทานเพลินด้วยรสชาติอันเผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยวนั้นว่าเป็นความสุข อันที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ด้วยอาการเอามือเปิบข้าวใส่ปากเป็นต้น ล้วนแต่แสดงอาการทุกข์ทั้งนั้น ถ้าผู้มีความอิ่มทั้งทางกายและทางใจแล้ว มานั่งมองดูของผู้ที่กำลังหิวบริโภคอยู่แล้ว จะเห็นเป็นสิ่งน่าขบขันมากทีเดียว คล้ายๆกับเขาเล่นลิเกเป็นฉากๆไปเลย ทุกข์เป็นของจริงของแท้แน่นอนไม่แปรผันเป็นอย่างอื่นไปได้เลย จึงเรียกว่าเป็นสัจจะของจริงอย่างหนึ่ง

สมุทัยอันเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ ก็เป็นสัจจะของจริงของแท้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านรับรองแล้วว่าเป็นของแท้ แต่ผู้ที่ไม่รู้อาจไม่เข้าใจเพราะสมุทัยเป็นนามธรรมเห็นได้ยาก สมุทัยเกิดจากกาม คือ ความใคร่ความพอใจในสิ่งนั้นๆ เมื่อมนุษย์เกิดมาอยู่ในกามภพและกามโลก ก็ยากที่จะเห็นตัวสมุทัย เหมือนกับควันไฟปกคลุมอยู่บนศีรษะหมดเสียแล้ว ก็ยากที่จะเห็นของภายนอกได้ แต่คนที่อยู่ภายนอกจะมองเห็นควันไฟนั้นได้ชัดเจนฉันใด คนที่เกิดอยู่ในกามโลกและกามภพนี้ก็ยากที่จะพิจารณาเห็นตัวสมุทัยได้ฉะนั้น

กามตัณหา ความใคร่ความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนต้องการ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่าไร ก็ยิ่งปรารถนามากขึ้นโดยลำดับ ความทุกข์ก็ย่อมทวีคูณขึ้นเท่านั้น เหมือนเชือกผูกขาหมู ยิ่งดิ้นก็ยิ่งรัดแน่นเข้าจนหนังขาด เนื้อขาด จนถึงกระดูก ท่านเรียกว่าภวตัณหาความอยากเป็นอยากมีเกินขอบเขต เมื่อมีความทุกข์มากขึ้นก็ไม่ปรารถนาความทุกข์นั้น แล้วยิ่งเดือดร้อนกระวนกระวายเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเรียกว่าทุกข์เพราะอยากเป็นอยากมี ความอยากมีก็เป็นทุกข์ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็นก็เป็นทุกข์เช่นกัน ท่านเรียกว่าวิภวตัณหา ทุกข์ของโลกนี้ทั้งสิ้นย่อมอยู่ในแวดวงของกองกิเลสทั้งสามนี้ทั้งนั้น เรียกว่า สมุทัยสัจ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ เป็นของจริงของแท้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ทุกขสัจมีแก่คนและสัตว์ทั่วไป

นิโรธที่จะสละ ละถอนกิเลสทั้งหมดไม่ให้เหลือหรอ จำเป็นต้องอาศัยมรรคปฏิปทาเป็นแนวทางให้ จึงจะสำเร็จตามความมุ่งหมาย มรรคมีองค์ประกอบ ๘ ประการด้วยกัน คือ

สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นว่ามนุษย์เกิดมาเพราะกรรม กรรมดีกรรมชั่วมีจริง ใครทำกรรมอะไรไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ความเชื่อตรงตามเป็นจริงว่า สิ่งทั้งปวงย่อมเกิดจากเหตุจากผล ความเชื่อมั่นอันบริสุทธิ์ด้วยใจของตนเอง ไม่มีอคติทั้งสี่ มีฉันทาคติ เป็นต้น ๑

สัมมาสังกัปปะ
ดำริชอบ ประกอบด้วยเหตุผลในใจของตนเองว่า โลกสันนิวาสนี้กอปรด้วยทุกข์ อันมีกามคุณ ๕ เป็นแก่น มีความวุ่นวายเป็นเครื่องอยู่อาศัย คิดจะหนีให้พ้นจากโลกอันนี้ด้วยอุบายอันชอบ คือ ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น ๑

สัมมาวาจา
วาจาชอบ ผู้ทำสมาธิอยู่ย่อมไม่มีวจีเภท มีแต่วิตกเท่านั้น วิตกของภายในกายของตนเอง เช่น ในขันธ์ อายตนะ มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้อง แก่ เจ็บ และตายตามสภาพของมัน เป็นต้น วิตกไปในของภายนอก เช่น มนุษย์คนเราเกิดขึ้นมาแล้วต้องวุ่นวายด้วยอาชีพ แล้วก็ต้องฉิบหายตายจากโลกอันนี้เป็นต้น ๑

สัมมากัมมันตะ
อันนี้ก็เหมือนกัน ทำสมาธิอยู่ภายในใจสงบแล้วทำไมจึงต้องไปทำการงานให้วุ่นวายการงานของมรรคต้องทำด้วยใจอย่างเดียวจึงจะถูก จัดกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้เป็นหมวดเป็นกอง จัดนิวรณ์ ๕ ออกไว้เป็นกิเลส สิ่งใดควรเก็บรักษาไว้ สิ่งใดควรกำจัดสละถอนทิ้ง

สัมมาอาชีวะ
ก็เช่นกัน เราทำสมาธิอยู่จะไปเลี้ยงชีพอย่างไร ความเป็นอยู่ชอบด้วยการพิจารณาด้วยลมหายใจเข้า-ออกจนจิตรวมลงเป็นหนึ่งนั่นแหละ จึงจะเรียกว่าเลี้ยงชีวิตชอบ หรือความเป็นอยู่ชอบ ๑

สัมมาวายามะ
ความเพียรชอบ คือเพียรในสถานที่ทั้งสี่นี้ คือ เพียรละบาป แล้วก็เพียรบำเพ็ญบุญ เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้วก็เพียรรักษาบุญนั้นไว้ไม่ให้เสื่อมเสียไป และเพียรระวังรักษาบาปไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ๑

สัมมาสติ
รักษาสติชอบ คือให้รักษาสติให้อยู่ในสติปัฏฐานภาวนาอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องมีสติให้อยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ คือ ให้อยู่ในกาย ให้อยู่ในเวทนา ให้อยู่ในจิต ให้อยู่ในธรรม ๑

สัมมาสมาธิ
ทำสัมมาสมาธิให้แน่วแน่ในอารมณ์ของกรรมฐาน จนถึงฌาน สมาธิได้เสมอ จะเข้าออกเวลาใดก็ได้เป็นนิจ ๑

ต้องอาศัยมรรคปฏิปทาทั้งแปดนี้ชี้ทางบอกให้จึงจะดับทุกข์สนิทสิ้นเชิงได้

นิโรธ ความดับทุกข์ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ทั้งสองอย่างนี้ถ้าจะให้สมดุลกัน คือ สมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ นิโรธความดับทุกข์ก็ต้องเป็น ๓ เหมือนกัน คือ มรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องแบ่งออกเป็น ๓ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นกองแห่งปัญญา ๑ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็นกองแห่งศีล ๑ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็นกองแห่งสมาธิ ๑ ความเกิดและความดับแห่งทุกข์มี ๓ เท่ากัน พอดีเลย นี้เรียกว่าทุกขสัจเป็นของจริงของคนและสัตว์ทั่วไป

สัจธรรมทั้งสี่ยังมีอยู่ มรรค ผล นิพพาน ย่อมไม่เสื่อมสิ้นไปจากโลก

อริยสัจ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระองค์ทรงแสดงความรู้ความเห็นแก่พระอริยเจ้าที่ฟังอยู่ในขณะนั้น ฟังแล้วเกิดความรู้ขึ้นในเวลานั้น ท่านจึงเรียกว่า ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นของจริงของแท้ของพระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น

แท้จริงแล้ว ของจริงของแท้ทั้งสี่อย่างนี้ เป็นของที่มีอยู่แล้วประจำในโลกแต่ไหนแต่ไรมา ถึงท่านเหล่านั้นจะรู้จะเห็นหรือไม่ก็ตาม ของทั้ง ๔ อย่างนี้ย่อมเป็นอมตะอยู่นั่นเอง ถ้าจะเรียกอีกนัยหนึ่งเพื่อให้เข้าใจง่ายแก่สามัญชนทั่วไปว่า ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ก็ได้ สมกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า “พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลกนี้ก็ตาม ไม่มาตรัสรู้ก็ตาม ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม หากมีอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา” ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้วก็ตามพระพุทธองค์ก็ไม่ได้เอาธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไปด้วย เป็นธรรมนั้นไม่ปรากฏเท่านั้น

ทุกข์เป็นของดี ชาวโลกทั้งหลายไม่ชอบทุกข์ จึงไม่เห็นธรรม พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านยกเอาทุกข์มาเป็นอารมณ์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ทุกข์เป็นของควรกำหนด” มิใช่ของควรทิ้ง ถึงจะทิ้งก็จะเอาไปทิ้งให้ใคร เพราะทุกคนก็มีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์อยู่ในขันธ์ ๕ นี้แล้ว สมุทัยเป็นนามธรรมจึงควรคิดค้นให้เห็นตัวของมัน แล้วมันจะละทุกข์เองดอก เพราะความรู้แจ้งชัดนั้น เกิดจากจิตเป็นกลางวางเฉยไม่เข้าข้างโน้นข้างนี้แล้วจึงตัดสิน นั้นเป็นธรรมแท้ จึงได้สมัญญาว่า “ธรรมศาสตร์ของโลก”

ทุกข์เป็นของเทียบกับสุข ถ้าไม่มีทุกข์เทียบแล้ว จะรู้ว่าเป็นสุขได้อย่างไร เหมือนของขาวกับของดำเป็นเครื่องเทียบเคียงกันฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ธมฺมกาโน ภวํ โหติ” ผู้ใคร่พอใจในธรรมเป็นผู้เจริญ “ธมฺมเทสฺสี ปราภโว” ผู้ชังธรรมผู้เกลียดธรรมเป็นผู้ฉิบหาย

วิปัสสนา

วิปัสสนา คือการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในสิ่งสารพัดทั้งปวงในรูปกายของเรานี้ เช่น เห็นกายของเรานี้เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ให้เห็นเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม จริงๆ ไม่ใช่เห็นเป็นดินไปหมดทั้งตัวแต่เพียงอย่างเดียว หรือเห็นเป็นไฟลุกโพลงไปทั่วร่างกายเป็นต้น การเห็นแบบนั้นเรียกว่าเห็นด้วยองค์ฌาน มีปฏิภาคนิมิตเป็นรากฐาน การเห็นด้วยปัญญาวิปัสสนามันต้องมีสมาธิเป็นรากฐาน หากขาดสมาธิหรือสมาธิอ่อนแล้วและไม่เกิดวิปัสสนาเด็ดขาด สมาธิต้องแน่วแน่แล้วพิจารณาวิปัสสนาจึงจะแจ้งชัดโดยซาบซึ้งเข้าถึงจิตถึงใจโดยไม่มีกังขาในสิ่งนั้นๆ

การเห็นด้วยปัญญาวิปัสสนา เช่น เห็นว่าร่างกายของคนเรานี้เป็นแต่ธาตุ ๔ เห็นสิ่งที่ข้นแข็งในร่างกายนี้ทั้งหมดเป็นธาตุดิน เห็นกระดูกและของแข็งก็เป็นกระดูกอยู่ดีๆ นี้เอง แต่มันเป็นธาตุดิน เห็นน้ำเลือดเป็นเลือดอยู่ดีๆ นี่เอง แต่มันเป็นธาตุน้ำซึมซาบอยู่ทั่วสรรพางค์กาย ธาตุไฟคือความอบอุ่นซึ่งมีอยู่ในธาตุดินและธาตุน้ำทั่วไป เมื่อธาตุทั้งสองนั้นสลายไป ธาตุไฟก็สลายไปด้วย ธาตุลมก็เช่นเดียวกัน เมื่อคนเรายังมีชีวิตอยู่ก็มีลมหายใจเข้า-ออกระบายซาบซ่านไปทั่วทั้งร่างกายจึงอยู่ได้ ถ้าหมดลมหายใจเข้า-ออกแล้วก็ต้องตาย

แม้แต่สิ่งภายนอก เป็นต้นว่าสัตว์สาราสิ่ง หรือ ต้นไม้ ภูเขา จอมปลวก ก็เช่นกัน ต่างแต่บางพวกมีจิตใจมีความรู้สึกเคลื่อนไหวได้ บางพวกอยู่คงที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ล้วนแต่มีธาตุ ๔ ทั้งนั้น เกิดขึ้นจากธาตุทั้งสี่ในเบื้องต้น ย่อมแปรปรวนในท่ามกลาง มีความดับสลายไปในที่สุด แล้วก็เกิดขึ้นอีก แปรปรวนในท่ามกลาง ดับลงเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่อย่างนี้ไม่รู้จักจบเสียที

จิตวิญญาณอันนี้เข้ามาครองในร่าง จึงมาถือเอาว่าเป็นตัวของกู ร่างกายของกู จนเป็นเหตุให้เกิดกิเลสนานัปการ จนทะเลาะวิวาทประหัตประหารฆ่ากันตายในที่สุด เห็นได้ชัดแก่คนภายนอกว่าธาตุ ๔ ทำลายกันเอง ใจผู้เกลียดโกรธไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นเป็นอนัตตา เกิดมาแล้วก็ต้องตายเป็นที่สุด

การเห็นชัดเห็นจริงของวิปัสสนา เมื่อเห็นแล้ววางเฉยลงได้ทำใจให้เป็นกลางๆ ไม่เหมือนตามตำรา ตามสัญญาที่จดจำมา การเห็นเพราะการคิดนึกส่งส่ายตามอาการแล้วก็มักจะลืมง่าย ต้องใช้การท่องบ่นจดจำจึงจะจำได้

การเห็นด้วยฌานมีการเพ่งอารมณ์โดยเฉพาะ มักเกิดปฏิภาคนิมิตเกินความเป็นจริง เช่น เห็นกายของคนที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอสุภเปื่อยเน่าเฟะไปเลย แล้วก็หลงว่าเป็นจริงเป็นจังเสียดายถึงกับร้องไห้ก็มี เห็นด้วยสัญญาวิปลาสก็เหมือนกัน

ปัญญาวิปัสสนานี้ จะเห็นด้วยการพิจารณาถึงเหตุถึงผลแล้ว ไม่หลงเชื่อไปหน้าเดียว เชื่อด้วยทัศนะภายนอก คือ ตาก็เห็นจริงตามความเป็นจริง เชื่อด้วยฌาน คือ ใจก็รู้เห็นตามความเป็นจริงของมัน จึงสิ้นสงสัยในสิ่งเหล่านั้น

วิปัสสนาต้องมีสมาธิเป็นรากฐาน

วิปัสสนา ต้องมีสมาธิเป็นหลักจึงจะเกิดวิปัสสนาได้ ถ้าหากไม่แล้ว ปัญญาวิปัสสนาจะไม่เกิดขึ้นเลยเด็ดขาด สมาธิตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว ปัญญาวิปัสสนาพิจารณาในธรรมนั้นๆ หรือเหตุการณ์นั้นๆ จึงจะชัดและเห็นตามเป็นจริง ถ้าไม่มีสมาธิเป็นหลักเขาเรียกว่า “วิปัสสนึก” คือ นึกตรึกตรองไปตามอารมณ์ของตน จนหาขอบเขตไม่ได้ เมื่อนึกไปจนหมดกำลังแล้วก็ไม่เกิดสลดสังเวชอะไร หรือได้อะไรเป็นสาระ ไม่สมกับคำว่าเจริญวิปัสสนาเพื่อความแก้ทุกข์ เสียเวลานั่งพิจารณาเปล่าๆ

ความจริงแล้วปัญญาวิปัสสนานั้นเราได้อบรมมาแต่เบื้องต้นโน่น ตั้งแต่บริกรรมภาวนาแต่ตอนนั้นปัญญายังอ่อน อบรมเพื่อจิตรวมเป็นสมาธิ ท่านจึงไม่เรียกว่าปัญญาวิปัสสนา แท้จริงก็ปัญญาวิปัสสนานั้นเอง ถ้าไม่ใช่ปัญญาวิปัสสนาแล้วจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิได้อย่างไร เช่น บริกรรมมรณสติว่ามรณังๆๆ พิจารณาเอาความตายเป็นอารมณ์ ว่าเราต้องตายแน่แท้ จนเห็นชัดด้วยใจด้วยปัญญา นั่นแล ปัญญาวิปัสสนา แล้วจิตจึงค่อยรวมลงได้

ถ้าพิจารณากรรมฐานอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน หรือพิจารณากายอันนี้ให้เห็นเป็นทุกขัง อนิจจัง และอนัตตา เป็นทุกข์ เป็นของมิใช่ตัวตนของเรา ห้ามไม่ได้บอกไม่ฟัง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัญญาวิปัสสนาทังสิ้น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นของเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน

เปรียบเหมือนคนแก่ ก็เอาเด็กนั่นแหละมาแก่ มิใช่เอาคนแก่มาแก่ หรือมะม่วงสุกนั้น ก็เอามาจากผลมะม่วงลูกเล็กๆ ซึ่งขมและฝาดอยู่ตอนนั้น แล้วจึงแก่มาเป็นมะม่วงสุกจึงหวาน วิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกันย่อมเกิดจากการบริกรรมภาวนา และพิจารณาจนเป็นขณิกสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิ แล้วจึงเข้าถึงปัญญาวิปัสสนา มิใช่ว่าจะตัดทอนเอาสมาธิไว้ตอนหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นวิปัสสนึกไปดังอธิบายมาแล้ว

มรรคสมังคี

มรรคสมังคี หรือ เอกาภิสมัย เนื่องจากการบำเพ็ญสมาธิและเจริญวิปัสสนาจนชำนิชำนาญเชี่ยวชาญดีแล้วนั่นเอง จึงเกิดเป็นมรรคสมังคีขึ้น ผู้ที่เพ่งฌานจนชำนิชำนาญและพิจารณาสมาธิจนแคล่วคล่องจะเข้าจะออกเมื่อใดก็ได้ตามประสงค์แล้ว หรือพิจารณาปัญญาวิปัสสนาจนทะลุปรุโปร่งแล้วก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อมันจะเกิด มันจะมารวมตัวเข้าเป็นมรรคสมังคีเองโดยที่ไม่มีไครจะแต่งให้เป็นไปได้ แม้แต่พระพุทธองค์เองจะแต่งให้ก็ไม่ได้ แต่เป็นไปด้วยอำนาจของผู้นั้นเอง ที่บำเพ็ญธรรมทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ท่านได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว หากเกิดบันดาลให้เป็นไปเอง เหมือนกับมะม่วงสุกฉะนั้น เว้นเสียแต่ท่านที่เป็น ขิปปาภิญญา ตรัสรู้เร็วเท่านั้น

อริยมรรคทั้งแปด มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิจนจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว มิได้ขยับเขยื้อนหวั่นไหวด้วยประการทั้งปวงหมด

สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบคือค้นคว้ามาตั้งแต่คำบริกรรมภาวนาตลอดจนถึงวิปัสสนา ดังอธิบายมาแล้วนั้น มีทั้งผิดและถูกหลายรอบหลายตลบ จนแน่แก่ใจว่าความเห็นอันนี้ละจะเป็นไปเพื่อความดับกิเลสดับทุกข์ทั้งปวง แล้วก็ตั้งมั่นดำเนินตามความเห็นนั้น เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปปะ
ความดำริอื่นมีความใคร่ในกามเป็นต้นมิให้มี จะมีแต่ความดำริเพื่อพ้นจากทุกข์เพียงอย่างเดียว

สัมมาวาจา
ปิดปากเงียบสนิท ถึงความวิตกอันเป็นเหตุให้เกิดวาจาก็มิได้มี มีแต่ความมุ่งมั่นเพื่อความพ้นจากทุกข์เพียงอย่างเดียว

สัมมากัมมันตะ
การทำสมาธิก็เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง มิได้ทำเพื่อสะสมกิเลสบาปทั้งปวง

สัมมาอาชีวะ
ความเป็นอยู่ไปวันหนึ่งๆ ก็เพื่อความพ้นจากทุกข์อย่างเดียว

สัมมาวายามะ
เพียรพยายามทุกอิริยาบถก็เพื่อความพ้นจากทุกข์โดยแท้

สัมมาสติ
ตั้งสติชอบประกอบด้วยกาย วาจา และใจ มีสติไม่ให้เผอเรอไปในอกุศลต่างๆ

สัมมาสมาธิ
ตั้งใจให้แน่วแน่สู่อารมณ์อันเดียวคือองค์ทั้งเจ็ด ดังอธิบายมาแล้วนั้น มรรคทั้งแปดเมื่อรวมเข้าเป็นหนึ่ง คือสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียว มรรคที่เหลืออีกทั้งเจ็ดก็ชอบด้วยกันทั้งหมด

มรรคสมังคีนี้ เมื่อธรรมทั้งหลาย มีบริกรรมภาวนากรรมฐานเป็นต้น ดังอธิบายมาแล้วพร้อมบริบูรณ์ มี ศีล สมาธิ และปัญญาสม่ำเสมอกัน ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากันแล้วจึงเกิด เมื่อเกิดก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิด แต่พร้อมด้วยธรรมทั้งหลายแล้วจึงเกิดเอง และเกิดในมรรคนั้นๆ ทั้ง ๘ มรรคในขณะจิตเดียวเท่านั้น ขณะที่เกิด จิตใจจะปลอดโปร่งสว่างไสวยิ่งนัก ปรากฏว่าธรรมทั้งหลาย และโลกทั้งหมด จะมาปรากฏในที่เดียว ความรู้ยิ่งหาประมาณมิได้ แต่ใจก็มิได้ส่งออกไปตามความรู้อันนั้น ยิ่งตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความรู้อันนั้นซึ่งใครๆ จะอธิบายให้คนอื่นฟัง หรือคนอื่นจะอธิบายให้เราฟังก็ไม่ถูก เพราะความรู้อันนั้นเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนเองเท่านั้น และความรู้ชนิดนี้จะเกิดมีขึ้นเฉพาะชั้นภูมิของแต่ละท่านเท่านั้น ซ้ำสองหาได้มีทั่วไปแก่บุคคลเหล่าอื่นไม่ ความรู้อันนั้นเกิดในขณะจิตเดียวแล้วก็จะหายไปแล้วจะไม่เกิดอีกในมรรคนั้นๆ ทุกๆมรรค ทุกๆภูมิของพระอริยเจ้า จะเป็นอย่างนี้เสมอเสมือนกันทั้งหมด ท่านเรียกจิตขณะนั้นว่า มรรคสมังคี มรรครวมเป็นองค์เดียวกัน หรือ เอกาภิสมัยก็แปลว่าอันเดียวกัน ความรู้อันนั้นเป็นของอัศจรรย์ยิ่งนัก ถึงกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า “น่าอัศจรรย์หนอ ธรรมอันนี้ไม่เคยเกิดมีขึ้นแก่เรา ได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้”

จิตออกจากมรรคสมังคีแล้วไปไหน

เมื่อจิตรวมเข้าเป็นมรรคสมังคีในขณะจิตเดียวแล้ว จิตนั้นจะถอนออกมาแล้ววิ่งไปตามกระแสของวัฏฏะมีกามเป็นต้น ซึ่งเป็นวิบากของเขา แต่จิตผู้ท่านเป็นพระอริยเจ้ามิได้หลงใหลไปตาม ท่านมีสติตั้งมั่นพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงทุกประการ อธิบายว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายทุกๆชั้นทุกๆภูมิ ก่อนที่ท่านจะถึงมรรคสมังคี ท่านได้พิจารณารู้รอบหมดแล้วซึ่งคุณและโทษของวัฏฏะ มีกามคุณ กามกิเลส และสิ่งที่เป็นอุปการะของมัน ฉะนั้น เมื่อจิตท่านถอนออกจากมรรคสมังคีแล้ว ถึงแม้จิตมันจะวิ่งไปตามวิสัยของมัน ก็มิได้ทำให้จิตใจของท่านหลงใหลไปตามมัน ยิ่งทำให้จิตของท่านตั้งมั่นยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะท่านได้เห็นโทษของมันมาก่อนแล้ว

นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามธรรมินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของมรรคปฏิบัติ ตามที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้แล้ว ดังอธิบายมานี้ทุกๆท่าน เว้นเสียแต่ท่านที่เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้เร็ว แต่ถึงขนาดนั้น หลังจากท่านถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้วก็ยังลำดับได้ถูกต้องดีไม่ผิดพลาด

นักปฎิบัติทั้งหลายที่ปฏิบัติในพระศาสนานี้ จะปฏิบัติด้วยอาการอย่างไรๆ ก็ตามเถิด เมื่อปฏิบัติในทางที่ถูกต้องแล้ว จะรวมลงถึงมรรคสมังคีเป็นที่สุด การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ เรียกว่าสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

[จบ ของดีมีในศาสนาพุทธ: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี]