เวปธรรมะ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

อาการ

คำว่า “…ตั้งสติตามรู้ตามเห็น…” กับคำว่า “…รู้เท่ารู้ทัน…” และคำว่า “…รู้แจ้งแทงตลอด…” มันมีลักษณะและความหมายผิดกัน นี่พูดถึงเรื่องของจิต. จิตเป็นสภาวธรรม ไม่มีตัวตน แต่แสดงออกมาเป็นอาการ ให้ผู้มีปัญญาญาณรู้ได้ว่า นี่จิต นี่อาการของจิต.

ตามรู้

สติเป็นอาการของจิตที่ตามรู้ตามเห็น คือ ตามรู้ตามเห็นอาการกิริยาของจิต แต่มิใช่เห็นตัวจิต. จิตแท้คือผู้รู้. ผู้ตามรู้ตามเห็นอาการของจิต ไม่มีวันจะทันจิตได้เลย เหมือนบุคคลผู้ตามรอยโคที่หายไป ไม่เห็นตัวมันจึงตามรอยของมันไป. แต่โคเป็นวัตถุ ไม่เหมือนจิต ซึ่งเป็นนามธรรม เอาจิตไปตามอาการของจิต มันก็ผิดวิสัย เมื่อไรจะเห็นตัวจิตสักที.

เท่าทัน

คำว่า “รู้เท่าทัน” ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า ผู้รู้คือจิต. รู้เท่าก็คือรู้เท่าที่จิตรู้นั้น ไม่เหลือไม่เกิน. เมื่อรู้เท่าอย่างนี้แล้ว อาการของจิตไม่มี. เมื่ออาการของจิตไม่มี รอยของจิตก็ไม่มี แล้วใครจะเป็นผู้ไปตามรอยของจิตอีกเล่า. รวมความแล้ว สติระลึกอยู่ตรงไหน ใจผู้รู้ก็อยู่ตรงนั้น สติกับผู้รู้เท่ากันอยู่ ณ ที่เดียวกัน ทำงานร่วมกันขณะเดียวกัน.

แทงตลอด

คำว่า “รู้แจ้งแทงตลอด” ก็หมายเอาความรู้ที่รู้ชัดรู้แจ้งของผู้รู้ ที่รู้ไม่เหลือไม่เกิน. แทงตลอดคือตลอดเบื้องต้นตั้งแต่เริ่มคิดเริ่มรู้ จนตรวจตรอง รู้ชัดถ่องแท้ลงเป็นสภาวธรรม จิตไม่ส่งส่ายแส่หาอะไรอีกต่อไป เพราะความแจ้งแทงตลอดในเหตุผลนั้นๆ หมดสิ้นแล้ว.

พบของจริง

ถ้านักปฏิบัติเข้าใจตามข้อความที่แสดงมานี้แล้ว หวังว่าคงไม่หลงเอาผู้รู้ (คือจิต) ไปตามรอยของจิต. เมื่อเราทำจิตคือผู้รู้ ให้นิ่งแนวอยู่กับสติแล้ว รอย (คืออาการของจิต) ก็ไม่มี. เมื่อจิตผู้รู้กับสติผู้ระลึกได้เข้ามาทำงานรวมอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกันแล้ว การไปการมา การหลงแส่ส่ายแสวงหา ก็จะหมดสิ้นไป จะพบของจริงที่จิตสงบนิ่งอยู่ ณ ที่แห่งเดียว. เหมือนกับชาวนาผู้หาผ้าโพกศีรษะบนหัวของตนเอง เที่ยววนเวียนหารอบป่ารอบทุ่งจนเหน็ดเหนื่อยกลับมาบ้านนั่งพักผ่อนเพื่อเอาแรง ยกมือขึ้นตบศีรษะ ผ้าโพกตกลงมาทันที เขาเลยหมดกังวลในการหาต่อไป.

—สามทัพธรรม: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์)

สามทัพธรรม