ถึงโลก ถึงธรรม

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

คำนำ

คนในสมัยนี้พากันสนใจในธรรมปฏิบัติกันมาก ไม่ว่าเด็ก คนหนุ่ม คนแก่ ไปที่ไหนก็พูดถึงเรื่องภาวนากันเป็นส่วนมาก จะเป็นเพราะมีพระคณาจารย์มาก และกอปรที่โลกเจริญมากแต่ค้นหาแก่นธรรมไม่ได้ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายมาก ส่วนพระภิกษุแลสามเณรซึ่งบวชในพระพุทธศาสนาแท้ๆ กลับสนใจกันน้อยไป

ถึงอย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติตามครูอาจารย์ แลปฏิบัติตามแบบตำราก็ดี เท่าที่ได้สังเกตดูหลายด้านหลายทางแล้ว มักยึดเอาหลักปฏิบัติยังไม่ได้ ปฏิบัติไปตามศรัทธาอย่างนั้นแหละ น่าชมมากที่มีศรัทธาเป็นหลัก ผู้เขียนขอแนะนำหลักปฏิบัติ เพื่อยึดเอาไว้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

พระพุทธศาสนาสอนให้ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ผู้ใดทำกรรมดีย่อมได้รับผลของกรรมดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่ว คนอื่นจะรับแทนไม่ได้ ๑

สอนให้ ทำทาน การสละสิ่งของของตนให้แก่สัตว์ อื่นแลบุคคลอื่น ด้วยจิตเมตตาปรารถนาความสุขแก่บุคคลอื่น ถึงวัตถุที่ให้นั้นจะเป็นของน้อยนิดเดียวก็ดี หากมากด้วยจิตเมตตาของก็จะเป็นของมากเอง ๑

สอนให้ รักษาศีล ด้วยจิตวิรัติเจตนางดเว้นตัวเดียว โดยมีหิริ-โอตตัปปะเป็นมูลฐาน จะเป็นศีล ๕-๘-๑๐-๒๒๗ ก็ตาม ถ้ามีจิตวิรัติเจตนางดเว้นตัวเดียว โดยมีหิริ-โอตตัปปะเป็นมูลฐานแล้ว เป็นอันถึงที่สุดของการรักษาศีลได้ทั้งนั้น ๑

สมาธิ สอนให้เห็นโทษของอารมณ์ที่เกิดมาอายตนะ ๖ ซึ่งมันแส่ส่ายไปยังโลกธรรมทั้งแปด เป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วย่อมสละปล่อยวาง แล้วย้อนเข้ามาอยู่ที่จิตแห่งเดียว ๑

ปัญญา สอนให้ค้นคว้าสิ่งทั้งหมดที่มาปรากฏอยู่ที่จิต ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีให้เห็นเป็นแต่เกิดจากปัจจัย เมื่อปัจจัยในสิ่งนั้นๆ ดับไปแล้ว สิ่งเหล่านั้นๆ ก็ดับไปหมด จะเหลืออยู่แต่ธรรมสิ่งเดียว ๑

ผู้มาพิจารณาเห็นชัดแจ้งด้วยใจของตนเองอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอันนี้ไม่มีการเสื่อม และไม่หลงงมงายในสิ่งที่ไร้สาระ เข้าถึงธรรมอันแท้จริง จะเรียกผู้นั้นว่าอริยบุคคลหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะปฏิบัติธรรมเข้าถึงที่สุด คือ ใจ แล้วสิ้นสงสัยในธรรมทั้งปวง

ผู้เขียนหวังว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักปฏิบัติไม่มากก็น้อย เมื่อปฏิบัติตามดังได้อธิบายมาแล้ว

วัดหินหมากเป้ง
๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๙


ถึงโลก ถึงธรรม

พระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นมาในโลก เป็นศาสดาเอกด้วยการตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีครูอาจารย์สอน แล้วก็ทรงนำเอาธรรมที่พระองค์ทรงได้ตรัสรู้นั้นมาสอนแก่มวลมนุษย์ทั้งปวง ด้วยธรรมที่สอนนั้น สอนมีเหตุมีผลไม่ใช่ไม่มีเหตุมีผล เป็นของอัศจรรย์สมควรที่ผู้รู้ทั้งหลายจะเข้าใจได้ แลไม่ได้บังคับให้ผู้ใดมานับถือ แต่เมื่อผู้ฟังทั้งหลายได้มาฟัง ตรึกตรองตามเหตุผลแล้วเห็นดีเห็นชอบ มีเหตุมีผล แล้วเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้ามานับถือด้วยตนเอง ผิดจากศาสนาอื่นแลลัทธิอื่น บางศาสนาบางลัทธิซึ่งเขาห้ามมิให้วิจารณ์ศาสนาของเขา ส่วนพระพุทธศาสนาท้าให้วิจารณ์ได้เต็มที่เลย พิจารณาเห็นเหตุเห็นผลแน่ชัดด้วยตนเองแล้ว จึงนับถือด้วยความเป็นอิสระและเมื่อย่อมรับนับถือแล้ว ความคิด ความเห็น และการปฏิบัติก็จะเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งหมด โดยที่มิได้บังคับ หรือนัดแนะกันไว้ก่อนเลย หากแต่เป็นไปด้วยเหตุ ด้วยผลดังนี้ คือ

๑. เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม

๑.เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม

กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพันธู กมฺมปฏิสรณา ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ

ทั้ง ๖ อย่างนี้เชื่อมั่นแน่วแน่นอยู่ในจิตใจของตนทุกๆคนตลอดชีวิต กมฺมสฺสกา คนเราเกิดมา เมื่อรู้ภาวะเดียงสาแล้ว จะมีการกระทำด้วยกาย วาจา แลใจ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การกระทำนั้นเรียกว่า กรรม เพราะทั้งสามอย่างนี้ กรรมเป็นผู้ตกแต่งให้เกิดมากระทำ เมื่อกระทำก็ต้องเป็นกรรม กรรมมีทั้งดีแลไม่ดี เมื่อบุคคลใดทำลงไปแล้ว ผลของกรรมนั้นย่อมสะท้อนมาถึงตัวเอง จึงเรียกว่า กมฺมทายาทา จะให้คนอื่นรับแทนไม่ได้ เหมือนกับอาหารที่บุคคลรับประทานลงไป ย่อมรู้รสอร่อยแลไม่แลอร่อยด้วยลิ้นตนเอง คนอื่นจะมารู้ให้ไม่ได้ เมื่อรู้ด้วยชิวหาประสาทของตน กรรมอันนั้นจึงนำตนให้ไปเกิดในกำเนิดต่างๆ แลในที่ต่างๆ เช่น ไปเกิด เป็นมนุษย์ แลสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็นต้น เป็น เทพบุตร เทวดา อินทร์ พรหม เป็นที่สุด ที่มีกำเนิดแล้ว กรรมย่อมนำไปเกิดได้ทั้งนั้น โดยที่เราไม่ตั้งจะไปเกิด แต่กรรมชักนำให้ไปเกิดเอง จึงเรียกว่า กมฺมโยนี

มนุษย์คนเราเกิดมาเพราะกรรมยังไม่สิ้นไป กรรมเก่าที่นำให้มาเกิดนั้นแหละ พาให้ทำกรรมใหม่อีก กรรมใหม่นั้นแหละเป็นเหตุให้นำไปเกิดชาติหน้า เป็นกรรมอีก อธิบาย ว่ากรรมใหม่ในชาตินี้เป็นเหตุให้ เกิดเป็นกรรมเก่าในชาติหน้าต่อไป อนึ่งกรรม ทั้งหมดเกิดจาก กาย วาจา แลใจ สายเดียวกันทั้งนั้น จึงได้ชื่อว่า กรรมเป็นเผ่าพันธ์ของกรรมด้วยกันแลกัน จึงเรียกว่า กมฺมพันธู

เกิดมาแล้วต้องประกอบอาชีพ เป็นต้นว่า ทำงานกสิกรรม พาณิชยการ ค้าขาย แลรับข้าราชการ เป็นต้น จึงเป็นอยู่กับเขาได้ การกระทำทั้งหมดนั้นเรียกว่ากรรม เราเกิดมาต้องพึ่งกรรม ไม่กรรมอันใดก็ต้องกรรมอันหนึ่ง หรือหลายๆกรรมด้วยกันจึงจะอยู่ได้ เรียกว่า กมฺมปฏิสรณา

เราเกิดมาอยู่ในโลกนี้ ต้องมีกรรมทั้งสองอย่าง คือ กรรมดีแลกรรมชั่ว กรรมดีย่อมเป็นผลให้เราเกิดความสุขกาย สบายจิต กรรมชั่วย่อมมีผลให้เรามีทุกข์กาย ทุกข์ใจ เหตุนั้น แล้วแต่เราจะตัดใจของตัวเองว่า เราจะทำกรรมดี หรือ ทำกรรมชั่ว ความเห็นของบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนามีประจำใจอย่างนี้ทุกๆคน ต่างแต่ว่าจะมีมากแลน้อยต่างกันเท่านั้น ผู้พิจารณาถึงกรรมแล้วทราบซึ้งเข้าถึงจิตใจแน่วแน่เต็มที่ ไม่ถอยหลังแล้ว ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา

๒. ศีล

๒. ศีล ผู้เข้าถึงพระพุทธศาสนาแน่วแน่เต็มที่อย่างนี้แล้ว ศีล ๕ ข้อเป็นของรักษาง่ายนิดเดียว เพราะศีล ๕ ข้อ เป็นเปลือกของกรรม แลเป็นอาการของกรรมนี้ทั้งนั้น

ศีล ๕ ข้อรวมลงใน

  • กายกรรม ๓
    คือ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑
  • วจีกรรม ๔
    คือ พูดเท็จ ๑ พูดคำไม่จริง ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑
  • มโนกรรม ๓
    คือ โลภ อยากได้ของคนอื่น ๑ ปองร้ายคนอื่น ๑ เห็นผิดในทำนองคลองธรรม ๑

ผู้พิจารณาเห็นธรรม ว่าเกิดจากใจเป็นตัวเหตุ ใจเป็นผู้บัญชาการสั่งให้ กาย วาจา แลใจ เป็นผู้กระทำความชั่ว เมื่อใจรู้ตัวอย่างนี้แล้ว ใจไม่สั่งให้กาย วาจา แลใจ ทำที่มันจะทำได้อย่างไร

ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แลมีศีล ๕ เป็นเครื่องรักษากาย วาจา แลใจ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาขั้นต้น แล้วจึงชำระจิตของตนด้วยการทำสมาธิต่อไป ถ้าไม่เข้าถึงหลักพระพุทธศาสนาแล้ว จะทำชำระจิตสมาธิของตนได้อย่างไร แม้แต่ความเห็นของตนก็ไม่ตรงต่อคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น เห็นว่ากรรมที่ตนทำแล้ว สามารถเอาไปถ่ายทอดให้คนอื่น หรือกรรมที่ตนทำแล้ว ให้คนอื่นเอาไปใช้ให้หมดสิ้นไปได้อย่างนี้เป็นต้น

ศีล ก็รักษาที่กาย ที่วาจา ไม่ต้องรักษาที่ใจ ใจ เป็นเรื่องของสมาธิ กาย วาจา มันจะเป็นอย่างไร มันจะทำอะไร มันก็ไม่กระเทือนถึงสมาธิ ตกลงว่า กาย กับ ใจ แยกกันเป็นคนละอันกัน ผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆ เรื่องเหล่านี้พิจารณาเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจจริงๆ ขอแสดงความโง่ออกมาให้เห็นสักนิดเถอะ

ผู้เขียน เมื่อยังเป็นเด็กอยู่คิดจะฆ่าสัตว์ ต้องพยายามดักแร้ว ดักบ่วง ดักปลาด้วยเบ็ด อยู่ตั้งหลายเวลา ในระหว่างที่ยังไม่เห็นปลาติดเบ็ดนั้น จิตของผู้เขียนต้องไปจ้องอยู่กับเบ็ดนั้นว่า เมื่อไหร่ปลาจะมาติดเบ็ด เมื่อปลามาติดเบ็ด ก็ดีใจ ก็ไม่เห็นว่ามีเวลาไหนที่จิตจะไม่พยายามจะฆ่าปลา มีเจตนาอยู่ตลอดเวลานับแต่เอาเบ็ดหย่อนลงไปในน้ำ และปลามาติดเบ็ด จนกระทั่งได้ปลามาทำอาหาร

คนที่เขาจะฆ่าก็คงเช่นเดียวกันนี่กระมัง จิตคนผู้ที่จะฆ่าเขาต้องโกรธจัดที่เดียว ถ้าไม่โกรธจัดคงฆ่าเขาไม่ลง เมื่อโกรธจัดก็คิดจะฆ่าเขา คว้าปืนได้ก็ต้องด้อมๆ มองๆ เมื่อได้โอกาสก็ซัดเปรี้ยงเลย แล้วก็วิ่งหนีเอาตัวรอด เมื่อเจ้าหน้าที่เขาจับได้ เขาก็นำมาสืบสวนว่า แกฆ่าเขาจริงไหม มีเจตนามุ่งร้ายเขาอย่างไร เพราะเรื่องอะไร เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องสอบสวนถึงเจตนาอีกนั้นแหละ ถ้าเจตนามุ่งร้ายต่อเขาจริงๆ ก็คาดโทษหนัก แต่ถ้าเจตนาไม่มุ่งร้าย เป็นเหตุอย่างอื่นให้ชวนฆ่า ก็ได้รับโทษเบาลง อย่างนี้เป็นต้น

ในทางธรรม พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสอนไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ” จะพูด จะคุย ก็เกิดจากใจทั้งนั้น ที่จะไม่พูดถึงเรื่องใจ ไม่มี คำว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน นั้นชัดเลยทีเดียวที่ว่า ธรรมทั้งหลาย นั้นหมายถึงการกระทำทุกๆอย่าง ทำดีเรียกว่า กุศลธรรม ทำชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม ทำไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่า อพยากฤตธรรม เรียกย่อๆ ว่า ทำบุญแลบาป หรือทำสิ่งไม่เป็นบุญ แลไม่เป็นบาป

เมื่อผู้เขียนพิจารณาถึงเรื่องเหตุผล แลในธรรมทั้งหลายแล้ว ที่ว่า ให้รักษาด้วย กาย วาจา สมาธิ ให้รักษาที่ใจ ไม่ปรากฏเห็นมี ณ ที่ใด หากผู้เขียนดูตำราที่ท่านเขียนไว้ไม่เข้าใจ หรือตีความหมายของท่านไม่ถูก เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญาของตนเอง ก็สุดวิสัย ดูพุทธวัจนะที่ไหนก็เจอแต่ ศีล ต้องรักษาที่กาย วาจา แลใจ ศีลจะเกิดขึ้นมาได้ต้องพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ

พระพุทธองค์ยังเทศนาให้ผู้กระสันอยากสึกว่า พระวินัยในพระพุทธศาสนามีมากมายเหลือเกิน ข้าพระองค์ไม่สามารถรักษาพระวินัยได้ ข้าพระองค์จะลาพระพุทธองค์สึกละ พระพุทธองค์ตรัสแก่เธอว่า ถ้าพระวินัยมันมากนัก เธอคงรักษาเอาแต่ ใจ อย่างเดียวนี้แหละ พระพุทธองค์ ทรงสอนเอาแต่ ใจ อย่างเดียว ซ้ำเป็นทีไร นี้เราทิ้ง ใจ เสียแล้ว จะสอนให้รักษาเอาแต่กาย วาจา แล้วจะได้อย่างไร ผู้เขียนมืดแปดด้านเลยจริงๆ ถ้าผู้เขียนมีความเห็นถูกอยู่บ้างแล้ว จงรักษาศีล ด้วยกาย วาจา แลใจ ตามที่ผู้เขียนได้อธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น ลองดู

ฆราวาส ต้องสมาทานศีล ๕ แล ศีล ๘ ถึง ศีล ๑๐ แลศีล ๒๒๗ ฆราวาสก็รักษาได้เป็นข้อๆ แต่อย่าไปสมาทานก็แล้วกัน เพราะศีลไม่มีข้อจำกัดว่าฆราวาสไม่ให้ทำบาปกรรมเท่านั้นข้อ เท่านี้ข้อ พระภิกษุ สามเณร ห้ามไม่ให้ทำบาปกรรมเท่านั้นข้อ ให้ถือว่าศีล เป็นแต่ข้อห้าม ไม่ให้กระทำบาปกรรม เท่านั้นก็พอแล้ว ใครจะพอใจเว้นไม่ทำบาปมากเท่าใดก็ได้ พระพุทธเจ้าห้ามแต่ผู้กระทำบาปเท่านั้น การทำบุญไม่ห้าม เพราะบุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข บาปเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ฆราวาสผู้มีศรัทธาจะเว้นจากบาปกรรมที่ตนเห็นว่าไม่ดี ไม่งาม เว้นเสียซึ่งบาปกรรมนั้นๆ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำดีแล้ว ถ้าจะนับเข้าศีล ข้อไหน ก็ลองตรวจดูว่าเราเว้นจากความชั่ว ด้วยกาย วาจา แลใจ มันตรงกับข้อไหน ก็นับเข้าศีลข้อนั้น

ที่พระพุทธเจ้าพระองค์บัญญัติว่า ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ให้ฆราวาส แลภิกษุ สามเณรรักษาเท่านั้นเท่านี้นั้น ก็เพื่อว่ากุลบุตรกุลธิดาผู้มีศรัทธาสามารถจะรักษาตามกำลังของตนๆ จึงมาขอสมาทาน เมื่อมาสมาทานแล้วจะรักษามากกว่านั้นก็ได้ แต่ให้เป็นส่วนอดิเรก จะล่วงละเมิดบ้างก็ไม่เป็นที่ครหาของคนอื่น เป็นแต่เราขาดความตั้งใจ แลสังวรเท่านั้น ถ้าเป็นพระภิกษุ สามเณร ซึ่งเราสละเพศของฆราวาสออกมาบวชแล้ว ถ้าล่วงละเมิดศีลข้อนั้นๆ ของตนเป็นผิดศีลโดยแท้ เพราะพระยอมสละเพศฆราวาส ผิดแปลกจากฆราวาสแล้ว อาการกิริยาใดๆ ต้องให้อยู่ในขอบเขตของพระ

พระเป็นที่เคารพนับถือของฆราวาส ทำตัวลดลงมาอย่างฆราวาสไม่ได้ พระบางรูปพูดว่า ศีลของพระ มี ๒๒๗ ตัว จะขาดบ้าง ๙ ตัว ๑๐ ตัว ก็ไม่เห็นเป็นไร ฆราวาสนั้นซีมีน้อยตัว ขาดตัวหนึ่งแล้วยังเหลือ ๔ ขาด ๒ ยังเหลือ ๓ ขาด ๓ ตัว ยังเหลือ ๒ ขาด ๔ ตัว ยังเหลือ ๑ ขาด ๕ ตัวหมดเลย จึงควรระวังให้มากๆ อย่างนี้เป็นการอวดความชั่วของกันและกัน พระเราจึงไม่ควรอวด พระเราบวชมาในพระพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาคุณงามความดีให้มากที่สุดที่จะมากได้ ควรละอายความชั่ว ความชั่วมีน้อยนิดเดียวก็ควรเปิดเผย ไม่ควรปิดบังไว้

ความจริงพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินั้น ทรงบัญญัติเข้าถึงกาย วาจา จิต ที่แสดงออกมาทางกาย วาจานั้นส่อถึงจิต ผู้คิดนึกปรุงแต่ง แล้วจึงบังคับให้กายวาจากระทำตวามต่างหาก ดังที่ได้อธิบายแล้วแต่เบื้องต้น

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรผู้ไม่รู้ปฏิบัติตามนั้น นับว่าเป็นบุญอักโขของพวกเราแล้ว ประพฤติสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปพระองค์ทรงห้ามไว้ไม่ให้ทำ เพื่อความดีของตนเอง มิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แลมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ เราหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงชี้บอกทางให้ นับว่าเป็นบุญอักโข

ผู้รักษาศีลไม่เข้าถึงจิตใจแล้ว รักษาศีลยาก หรือรักษาศีลเป็น โคบาลกะ ว่าเมื่อไหร่หนอจะได้เวลามืดค่ำจะไล่โคเข้าคอก แล้วเราจะได้พักผ่อนหลับนอนสบาย ไม่เข้าใจว่ารักษาศีลเพื่อความสะอาดของกาย วาจา แลใจ รักษานานเท่าไร มากเท่าไร ยิ่งสะอาดมากเท่านั้น รักษาจนตลอดชีวิตได้ เราจะได้ละความชั่วได้ในชาตินี้ไปเสียที คนเราไม่รู้จัก ศีล (คือตัวของเรา) และไม่เข้าใจถึงศีล (คือข้องดเว้น) ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่ว จึงโทษพระพุทธเจ้าว่าบัญญัติศีลไว้มากมาย สมาทานไม่ไหว

มีคนบางคนพูดว่า บวชนานเท่าไรดูพระวินัยมาก ๆ มีแต่ข้อห้าม นั่นก็เป็นอาบัติ นี่ก็เป็นอาบัติ ยิ่งบาปมาก สู้บวช ๗-๑๕ วันไม่ได้ ไม่ได้เป็นอาบัติดี คำพูดของผู้เห็นเช่นนั้นน่าสลดสังเวชมาก พุทธศาสนาตกมาเผยแพร่เมืองเราสองพันกว่าปีแล้ว แสงธรรมยังส่องเข้าไปไม่ถึงจิตใจของเขาเหล่านั้นเลยน่าสงสารจริง เหมือนเต่านอนเฝ้าบัวไม่รู้กลิ่นดอกบัวเลย

เมื่อศีลเข้าถึงจิตเข้าถึงใจแล้ว เราไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวเราเอง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบทใดๆ ศีลต้องระวังสังวรอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ให้ละเมิดทำความชั่ว แม้แต่จิตคิดวิตกว่าทำความชั่วก็รู้ตัวแล้ว และละอายความวิตกชั่วนั้น ทั้งๆที่คนทั้งหลายยังไม่ทันรู้ความวิตกนั้นเลย ความขึ้งเคียด เกลียด โกรธ พยาบาท มันจะมีมาจากไหน เพราะหัวใจมันมีแต่เมตตา กรุณา เข้ามาอยู่เต็มหมดแล้ว

ศีล คือ ความปกติ ของ กาย วาจา แลใจ ถ้าใจไม่ปกติเสียแล้ว กาย วาจา มันจะไปปกติไม่ได้ กาย วาจา มันอยู่ใต้บังคับของจิต ดังอธิบายมาแต่เบื้องต้น เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการให้ถึงศาสนาอย่างจริงจัง จึงต้องฝึกหัดจิตของตนให้เป็นสมาธิต่อไป

๓. การฝึกหัดสมาธิ

๓. การฝึกหัดสมาธิ ก็ไม่พ้นจากการฝึกกาย วาจา แลใจ อีกนั้นแหละ ใครจะฝึกหัดโดยวิธีใดๆ ก็แล้วแต่เถอะ ถ้าฝึกหัดในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จำเป็นจะต้องฝึกหัดที่กาย วาจา แลใจ นี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะพระพุทธศาสนา สอนกาย วาจา แลใจนี้อย่างเดียว ไม่ได้สอนสิ่งอื่นนอกจากสามอย่างนี้ สามอย่างนี้เป็นหลัก จะสอนศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่พ้นจากหลักทั้งสามอย่างนี้

ถ้ายังพูดถึงพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด พูดถึงการปฏิบัติอยู่ตราบใด พูดถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่ตราบใดย่อมไม่พ้นจากกาย วาจา แลใจ สามอย่างนี้ ตราบใด ถ้ายังมีสมมุติบัญญัติต้องพูดถึงกาย วาจา แลใจ นี้ทั้งนั้น ถ้ายังไม่ดับขันธ์เป็นอนุปาทิเสสนิพพานเมื่อใด จะต้องใช้อยู่ตราบนั้น

(พุทโธ)
ฝึกหัดสมาธิ ภาวนาพุทโธๆๆ เอาพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ จะต้องระลึกถึงพระคุณของพระองค์ตามความเป็นจริงว่า พระองค์ทรงรู้อย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น แล้วจึงสอนสัตว์อย่างนั้น ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย อย่างนั้น เมื่อพิจารณาอย่างนี้ จิตจะศรัทธาแก่กล้าขึ้นโดยลำดับ มีขณะหนึ่งจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ โดยมิได้ตั้งใจจะให้รวม แต่จะรวมเข้าเป็นสมาธิ ลืมอดีต อนาคต ลงเป็นปัจจุบัน จิตใสแจ๋วอยู่คนเดียว ไม่เกี่ยวข้องสิ่งทั้งหมด มีความสุขอย่างบอกไม่ถูกไม่เหมือนกับความสุขที่เราได้ประสบมาแล้วในอดีต อิ่มกาย อิ่มใจ สดชื่น เบิกบานอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ไม่รับประทานตั้ง ๑๕ วันก็ไม่รู้สึกหิวโหย ถึงมาภาวนาพุทโธๆๆ นั่งอยู่ ณ ที่เดียว ไม่ต้องไปวิ่งว่อนเอาอารมณ์อันใด แต่ใจมันวิ่งว่อนไปหาอารมณ์เองดอก พิจารณาชำระสะสางด้วยปัญญาของมันเอง จนไม่มีทางออก จนมุมแล้วรวมลง ดังอธิบายมาแล้ว

(กายคตาสติ)
บางท่านฝึกหัดภาวนาสมาธิ กายคตาสติ กำหนดเอาที่กายนี้เป็นอารมณ์อาการ ๓๒ มีผม เป็นต้น เช่น พิจารณาเอาผมเป็นอารมณ์ หรือจะเอาอะไรก็ได้ขอแต่ให้อยู่ในกายนี้ก็แล้วกัน จะพิจารณาโดยอสุภ เห็นเป็นของเปื่อยเน่าปฏิกูลไปหมดทั้งตัว หรือเป็นบางส่วน หรือพิจารณาตัวของเรานี้ แต่มันไปปรากฏตัวของคนอื่นนู้นเป็นอสุภก็มี เมื่อปรากฏแล้วจิตก็ไปจดจ้องอยู่ที่อสุภนั้น จิตก็อยู่ได้นาน ถ้าจิตไม่ไปจดจ้องอยู่ในอสุภจิตก็อยู่ไม่ได้นาน อสุภบางทีก็เป็นของพิสดาร เช่น กายนี้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ มีหนอนไชกินเต็มไปหมด พอมองเห็นเท่านั้นแหละ อาเจียนออกหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว ความชัดในใจมันรู้สึกถึงขนาดนี้

(อานาปานสติ)
บางท่านฝึกหัดภาวนาสมาธิใช้ อานาปานสติ เป็นอารมณ์ พิจารณาลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ตาย หายใจออกก็ตาย ความตายของคนเรามีอยู่นิดเดียว มีเพียงลมหายใจเข้าหายใจออกเท่านี้ แล้วก็เอาลมไปตั้งไว้ที่ปลายจมูก แล้วกำหนดลมอยู่ที่ปลายจมูกเท่านั้น ไม่เพ่งไปที่อื่นลมนั้นจะค่อยหมดไปๆ จนลมนั้นจะไม่ปรากฏเลย จะยังเหลืออยู่แต่ความรู้อย่างเดียว ถ้าผู้มีสติแก่กล้า ความรู้สึกนั้นจะตั้งอยู่นานๆ ถ้าผู้มีสติน้อยหน่อย ลมนั้นจะหายวับเข้าไปแล้วเงียบสนิทไม่รู้สึกอะไรเลย ตั้งนานแสนนาน พอรู้สึกตัวขึ้นมาเหมือนกับคนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมา บางทีเหมือนกับฝันไปทำนั้นทำนี้แปลกๆ หลายอย่าง พอรู้สึกขึ้นมาจำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่หลับ จิตเข้าสู่ภวังค์ ต่างหาก ก็ดีเหมือนกันดีกว่าจิตฟุ้งไม่รู้จักหาขอบเขตไม่ได้ มันนิ่งพอได้กำลังที่หลังก็ตั้งต้นทำใหม่ หมั่นทำบ่อยๆ เป็นบ่อยๆ ชำนิชำนาญเข้า มันหากจะแก้ตัวมันเอง ไม่เป็นก็ไม่รู้เรื่องของมัน มันเกิดเป็นหลายเรื่อง หลายอย่างนั้นแหละดี ขอแต่มันเป็นแล้วให้ตามรู้ก็แล้วกัน อย่าไปหลงเชื่อว่าของพรรคนั้นเป็นจริงเป็นจังก็แล้วกัน

(มรณานุสติ)
บางท่านฝึกหัดภาวนาสมาธิ กำหนดเอา ความตาย (มรณานุสติ)เป็นอารมณ์ กำหนดเอาทุกชิ้นทุกส่วนในกายของเรานี้ ล้วนแต่เป็นของตายทั้งสิ้น เราอยู่ทุกวันนี้นั่งเฝ้านอนเฝ้าความตายอยู่แท้ๆ จนน้อมเชื่อมั่นว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ จะปรากฏกายนี้นอนตายอยู่เฉพาะหน้า บางทีมีแมลงวันไต่ตอมเต็มไปหมด มีกลิ่นเหม็นฟุ้งตลบไปหมด แล้วตัวเราเองก็เชื่อมั่นว่าเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ จนกระทั่งอยู่ในหมู่ไม่ได้ กลัวหมู่เพื่อนจะรังเกียจ ต้องเที่ยวระหกระเหินอยู่แต่คนเดียว

การบริกรรมทำสมาธิมีอยู่หลายอย่าง แล้วก็เกิดนิมิตมีต่างๆกัน แล้วแต่อุปนิสัยของบุคคลนั้นๆ จะเอาคำบริกรรมอะไรก็ได้ ในพระกรรมฐานท่านแสดงไว้ มีถึง ๔๐ อย่าง คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ หรืออะไรนอกจาก ๔๐ นี้ก็ได้ เมื่อภาวนาขอให้จิตจดจ้องเฉพาะอารมณ์อันเดียว อย่าให้จิตโยกคลอนไปตามอารมณ์ต่างๆ ก็แล้วกัน เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่ตนพิจารณาอยู่นั้นแล้ว บางคนจะเกิดนิมิตต่างๆ ขึ้นมาในที่นั้น เป็นต้นว่า มีแสงสว่างเหมือนแสงพระอาทิตย์ แสงพระจันทร์หรือแสงดาวระยิบระยับไปหมด แต่อย่าเข้าใจว่ามันเป็นจริง เป็นนิมิตต่างหาก ถ้าไปหลงว่าเป็นจริง เพลินดูมัน มันจะเกิดเป็นอย่างมากขึ้น ไม่มีที่สิ้นสุด ให้เข้าใจว่าเป็นแต่สักว่านิมิต มันเกิดจากสมาธิต่างหาก แล้วรวมเข้าหาจิตผู้ไปเห็น ให้เห็นสิ่งที่จิตไปเห็นเป็นของนอกจากจิต จิตผู้ไปเห็นนั้นเป็นอีกอันหนึ่ง แล้วจับเอาจิตผู้ไปเห็นนั้น นิมิตก็หายหมด บางทีเกิดเป็นรูปพระพุทธรูป รูปพระอรหันต์ รูปพระอินทร์ รูปพระพรหม และรูปภูตผี เปรต อสุรกาย เป็นต้น บางทีหอมกลิ่นธูปตลบอบอวลไปหมด บางทีเหม็นเหมือนกับอะไรตายก็มี สุดแท้แต่มันจะเกิด ถึงอย่างไรขอให้จับเอาจิตผู้ส่งไปรับเอานิมิต มาไว้ให้ได้ก็แล้วกัน อย่าให้จิตส่งไปตามนิมิตเป็นอันขาด เดี๋ยวหลงเพลินไปตามนิมิต เกิดวิปลาสแก้ยาก

นิมิต

อาจารย์บางคนสอนให้ถือนิมิตเป็นอารมณ์ เมื่อนิมิตไม่เกิด หรือจับเอานิมิตไม่ได้ ถือว่ากิเลสหนา บุญบารมีไม่มี ผู้ฝึกหัดตามเลยท้อแท้ เลิกทำกรรมฐานไปก็มี ผู้ไม่เกิดทำเท่าไรๆ ก็ไม่เกิดนิมิต บางคนทำประเดี๋ยวเดียวก็เกิดนิมิตขึ้นมาแล้ว นั่นเป็นเพราะบุญวาสนาของเขาเคยทำมาแต่ก่อน แลใจเขาน้อมลงแน่วแน่เต็มที่

นิมิต ถึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง ก็จริงแล แต่มันเป็นเครื่องเล่นของพระอริยเจ้า ท่านพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านรู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงของมัน เอาเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของท่านเหมือนกับพวกเราที่เป็นคนธรรมดาๆ นี้แหละ ต้องมีการงานเป็นเครื่องอยู่บางองค์ เช่น พระสุกขวิปัสสก ท่านไม่มีนิมิต ท่านก็พิจารณาธรรมของท่านเป็นเครื่องอยู่ เช่น พิจารณารูปกายของท่านให้เห็นความเกิดดับหรืออสุภตามเป็นจริง ซึ่งใครๆ จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่างกายอันนี้เป็นอสุภ มีของโสโครกไหลออกมาอยู่ทั่วสรีระร่างกาย มีเหงื่อไคล เป็นต้น ย่อมซึมซาบอยู่ทั่วไปในร่างกายอันนี้ เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย น่าสลดสังเวชยิ่งนัก เกิดมาเป็นคนได้ของไม่ดีไม่งามมากอดไว้ ผู้ไม่ได้พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ก็เข้าใจว่าของดี หลงเพลินกับของเน่าของปฏิกูล

คำบริกรรม

คำบริกรรมที่ผู้เขียนนำมาเป็นตัวอย่างเพียง ๓-๔ อย่างเท่านั้น นอกเหนือกว่านี้ยังมีมากมาย แล้วแต่ใครจะสมมุติบัญญัติเอา อะไรก็ได้ แต่อย่าเอาหลายอย่าง ให้เอาอันเดียว จะเอา มรณานุสติ ก็เอาแต่ มรณานุสติ อย่างเดียว ถ้าเอาหลายอย่างเดี๋ยวเกิดลังเลไม่แน่ใจ สมาธิจะไม่เกิด ขอให้เข้าใจไว้ว่า คำบริกรรมเป็นแต่เครื่องล่อให้จิตเข้ามารวมเท่านั้น ถ้าจิตรวมแล้วคำบริกรรมนั้นต้องปล่อยเสีย เหมือนกับเขาเอาเหยื่อล่อปลาให้กินเบ็ด เมื่อปลามาติดเบ็ดแล้วเหยื่อเขาก็ไม่เกี่ยวข้อง เขาเอาปลาอย่างเดียว ถ้าไปยึดเอาแต่คำบริกรรมอยู่ จิตจะถอนไม่ละเอียดลงไปได้ ถึงนิมิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อรวมเป็นสมาธิแล้ว เกิดนิมิตแล้ว ไม่ปล่อยวางนิมิตนั้น ติดอยู่กับนิมิตนั้น จิตจะไม่ก้าวหน้าหรืออาจถอนจากสมาธิก็ได้

เป็นธรรมดาของผู้ภาวนาจำเป็นจะต้องใช้คำบริกรรมแลจะต้องเกิดนิมิตสำหรับผู้จะต้องเกิด ใครจะผ่านพ้นนี้ไปไม่ได้ จะพิจารณาเอาแต่จิต ไม่บริกรรมก่อนไม่ได้ พิจารณาเอาแต่จิตอย่างเดียวก็ได้ แต่เวลาจิตเสื่อมแล้วจะคว้าเอาจิตไม่ติด แต่ที่แน่ที่สุดคือพิจารณากายตนเอง ถ้าไม่ทั้งหมด ก็เอาส่วนใด ส่วนหนึ่ง เป็นแต่สักพิจารณาให้เห็นว่าเป็นแต่ธาตุ ไม่ใช่ตัวตน จนเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้น แล้วปล่อยวางทิ้งเสีย ยังเหลือแต่จิตอันเดียว เพราะกายอันนี้ทุกคนต้องมีอุปาทานยึดมั่น ถือมั่นมาแต่กำเนิดเกิดมา จนกระทั่งทำสมาธิ จิตรวมเข้าไปไม่มีกายแล้ว เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมายังเข้าไปยึดถือกายอยู่

ดังยายแก่คนหนึ่ง แกก็บอกว่าแกภาวนาดี คนอื่นเขาก็บอกว่าแกภาวนาดี ขนาดรับประทานอาหารอยู่ ภาวนาไป รับประทานไป จิตแกรวมจนลืมรับประทานอาหารไป ต้มน้ำร้อนอยู่ น้ำร้อนเดือดจนแห้งหมด ยังเหลือแต่หม้อ วันหนึ่งภาวนาไป ปรากฏว่าตัวแกนอนขวางรถยนต์อยู่ รถวิ่งมาแกก็ยอมตาย บอกว่า ตายเป็นตาย จะนอนอยู่นี่ละ พอรถวิ่งมาใกล้จวนถึงจริงๆ แกก็ลุกขึ้นไปไม่รู้ตัวเลยนี่แหละ การถือตัวมักลึกซึ้งถึงเพียงนี้

จิต วาจา กาย

ตราบใด คนเรา ถ้ายังอยู่ในโลกนี้ ถึงแม้ร่างกายจะแตกจะดับไปแล้วก็ตาม จิตมันถือมั่นในร่างกายอันนี้อยู่ เมื่อจะแสดงร่างกายนี้ให้มนุษย์คนเราผู้มีร่างกายเป็นมนุษย์อยู่ ก็ต้องแสดงเป็นร่างกายออกมาให้เห็นเป็นเพศต่างๆ เช่น ภูต ผี ปีศาจ เทวดา อินทร์ พรหม พวกเหล่านี้ล้วนแต่ยังถือมั่นร่างกายนี้อยู่ทั้งนั้น เมื่อจะแสดงร่างกายของตนออกมาให้เห็นก็จะแสดงกายออกมาเป็นเพศและลักษณะต่างๆ ถึงแม้จะเสวยกรรมนั้นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีแต่จิตจะแสดงไม่ได้เด็ดขาด เพราะกายเป็นสนามเวทีของกรรมทั้งปวง

สมาธิ เป็นเรื่องของจิต แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องของจิต วาจา แลกายด้วย เพราะถ้าไม่มีจิตแล้ว วาจา แลกายจะมีได้อย่างไร เมื่อจิตมีแล้วความวิตกเป็นวาจาจะต้องเกิดขึ้น ความวิตกมีแล้วก็จะต้องวิ่งแส่ส่ายไปในรูปธรรม ที่เป็นของคนแลสัตว์ทั้งหลาย หรือสิ่งสารพัดวัตถุสิ่งของทั้งปวง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตจะหาที่เกาะเกี่ยวไม่ได้ จิตก็จะไม่มี จิตของคนเราไม่หยาบแลละเอียด นับแต่กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิ แลอรูปพจรภูมิ ต้องมีรูปธรรมเป็นเครื่องด้วยกันทั้งนั้น มีอายตนะภายในแลภายนอกสัมผัสกันอยู่ มีผู้รู้อยู่เสมอ แม้ อรูปาพจรจิต ก็ต้องมี อรูปจิต นั้นแหละเป็นเครื่องอยู่ อรูปจิตนี้ ผู้ได้อรูปฌานแล้วจะเห็น รูปจิต ด้วยอายตนะภายในของใจของตนเองอย่างชัดทีเดียว

อายตนะภายใน ในที่นี้มิได้หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างท่านหมายเอาอายตนะหก ภายในนั้น แต่หมายเอาอายตนะภายใน ในเข้าไปอีก คือ หมายเอา ผู้ละอายตนะภายใน มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้หมดแล้ว แต่ตา หู จมูก ลิ้น กายของจิตยังมีอยู่ เช่น ที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กายทิพย์ เมื่อตาเห็น ไม่ได้เอาตาธรรมดานี้ไปเห็น แต่เอาตาของใจไปเห็น รูปที่ตาของใจเห็นนั้นก็ไม่ใช่รูปที่ตาธรรมดาของเราท่านเห็นอยู่นี้ แต่รูปที่ตาใจเห็น ตาธรรมดาจะเห็นด้วยไม่ได้ เสียงที่หูใจได้ยินก็เหมือนกัน เป็นเสียงที่เพราะยิ่งกว่าหูธรรมดาได้ยินนี้อีก และได้ยินเฉพาะตนคนเดียว กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่อายตนะภายในของใจได้สัมผัสนั้นก็เหมือนกัน เป็นของซาบซึ้ง เข้าถึงใจ เฉพาะตนคนเดียว คนอื่นจะรู้ด้วยไม่ได้

มติโวหารของตน

อายตนะภายในของใจนี้พูดยาก ผู้ไม่ได้ภาวนาจนเห็นจิตใจของตนเสียก่อน จะพูดเท่าใดๆ ก็ไม่เข้าใจ จะใช้ภาษคำพูดของคนธรรมดาเป็นสื่อสารนี้ยาก จะเข้าใจไม่ได้ ต้องใช้อุปมาอุปมัยเปรียบเทียบจึงเข้าใจได้ เหตุนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายจึงไม่ค่อยจะลงรอยกัน ยิ่งเป็นพระคณาจารย์ใหญ่ๆ แล้วยิ่งไปกันใหญ่ สอนลูกศิษย์ลูกหาไปตามมติโวหารของตน ไม่ยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

อายตะภายในของใจที่ว่ามานี้ เป็นของหลอกหลวงเป็นเหมือนกัน จะเชื่อเป็นจริงจังทั้งหมดก็ไม่ได้ ของทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ จะต้องมีของจริงของปลอมด้วยกันทั้งนั้น สรรพสังขารทั้งหลายที่เป็น ที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด ไม่ว่าสิ่งสารพัดวัตถุ สัตว์ มนุษย์ ทั้งปวง ล้วนแล้วเป็นของปลอมหลอกหลวงกันทั้งนั้น โลก คือ จิตของคนเรา มาหลอกหลวงจิต ให้หลงในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น เกิดมาแล้วก็สลายดับตามสภาพของมัน เช่น มนุษย์ เกิดมาจากธาตุ ๔ ประชุมกันเข้า แล้วก็เป็นก้อนอันหนึ่งเรียกว่าก้อนธาตุ จิตมนุษย์จึงเข้าไปสมมุติให้เป็นมนุษย์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นสาว แต่งงานกัน มีลูกมีเต้า หลงรัก หลงใคร่ หลงชอบพอกัน แล้วก็โกรธกัน เบียดเบียนกัน กิจการงานทั้งปวงแลอาชีพทั้งปวงก็เหมือนกัน ทำยังไม่ทันเสร็จ แล้วก็แตกตายไป คนอื่นเกิดมาทำต่ออีก อยู่อย่างนี้ตลอดกาล

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ตั้งแต่เกิดจนตายไป ไม่มีอะไรเหลือหลอ แล้วอะไรมันเป็นของจริง นอกจากของเหล่านั้นมันเป็นสภาพอันหนึ่งของมันต่างหาก เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปก็เท่านั้น จิตยังอยู่ตราบใด มนุษย์โลกก็ยังอยู่ตราบนั้น แล้วก็โลกอันนี้ ก็ยังหลอกหลวงจิตให้ลุ่มหลงอยู่เรื่อยไป

โลกที่หาวิญญาณไม่ได้ ยังมาหลอกหลวงโลกจิต ผู้มีวิญญาณให้หลง เป็นต้นว่า ต้นไม้ ภูเขา แผ่นดิน เกิดมามีลักษณะต่างๆ กัน เกิดเป็นพุ่มพวง เขียวชอุ่ม สวยระย้า ให้คนชมว่าสวยงามดี เกิดเป็นภูผา เป็นถ้ำ ชะง้ำชะง่อนหินเป็นดิน เป็นบ่อ เป็นหลุม เป็นสระ มีน้ำมีปลาว่ายวนเป็นหมู่ๆ คนได้ชมแล้วก็เพลินตาม เหมือนของเหล่านั้นจะเป็นจริงเป็นจัง เดี๋ยวๆ ของเหล่านั้นก็อันตรธานหายไปจากความทรงจำของคนเรา หรือมิฉะนั้น คนเราก็พลัดพรากจากของเหล่านั้นไป ไม่มีอะไรเหลือหลออยู่ในโลกนี้สักอัน ล้วนแต่อนิจจังด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อของในโลกเป็นของหลอกหลวงได้ ธรรม ที่เป็นของ โลกีย์ ก็หลอกหลวงได้เหมือนกัน เราจะเห็นได้จากการนั่งสมาธิ ภาวนา เมื่อจิตจวนจะรวมเข้าเป็นสมาธิ ตกใจผวาเหมือนกับมีคนมาผลักก็มี บางทีเห็นกายของเรานี้แตกออกเป็นสองซีก ผวาตกใจ เข้าใจว่าเป็นของจริงก็มี บางคนนั่งภาวนา พอจิตรวมแล้วเห็นแสงสว่างจ้าขึ้น เข้าใจว่ามีแสงจริงๆ ลืมตาขึ้นมา ไม่มีอะไรเลย บางคนพอจิตรวมเข้าไป มีเสียงเหมือนกับฟ้าผ่าลงมา ตกใจผวาสะดุ้งเฮือก แล้วไม่มีอะไร บางที่เข้าใจว่าเป็นจริงๆ เลยเกิดเป็นบ้าไปก็มี ธรรมที่เป็นโลกิยะอยู่จำเป็นที่จะต้องหลอกหลวงอย่างนี้แหละ พิจารณาธรรม เช่น กายนี้ให้เห็นเป็นอสุภ แล้วมันก็เกิดเป็นอสุภขึ้นมาหลอกหลวงเราจริงๆ ให้สะดุ้งกลัวไปต่างๆนานา แล้วแต่มันจะเกิด

จิตหลอกจิต

จิตเราฝึกหัดให้เข้าถึงธรรมแล้ว แต่ธรรมยังเป็นโลกิยะอยู่ มันหลอกได้เหมือนกันพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จิตหลอกจิต เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า จิตหลอกจิต เรื่องเหล่านี้ยากเหมือนกันถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของ จิต เรื่องของ ใจ

จิต กับ ใจ มันคนละอันกัน ดังภาษาตลาดเขาเรียกกันว่า ใจๆ นั้นแหละใจ เขาหมายถึงของที่เป็นกลางๆ อะไรทั้งหมดถ้าเป็นของที่เป็นกลางแล้ว เขาเรียกว่า ใจ ทั้งนั้น เช่น ใจมือ ก็หมายเอากลางมือ ใจนิ้วมือ ก็หมายเอากลางนิ้วมือ แม้ใจคนก็หมายเอากลางหน้าอก แท้ที่จริงแล้ว ใจไม่ได้อยู่ท่ามกลางหน้าอก ใจคนอยู่ทั่วไปในสถานที่ต่างๆ ถ้าเอาความรู้สึกไปไว้ที่นั้นๆ ถ้าเอาความรู้สึกไปไว้ที่ต้นเสา หรือกำแพง ฝาผนัง ใจก็จะไปอยู่ที่ต้นเสา หรือกำแพง ฝาผนัง ใจ เป็นของไม่มีตัวตน เราเอาความรู้สึกไปไว้ในที่ใด ใจ ก็จะอยู่ในที่นั้น นี่พูดถึงเรื่องของ ใจ ก่อนตามประสาของคนเรารู้ทั่วไป

คราวนี้เมื่อมาพูดถึงเรื่อง จิต กับ ใจ ตามภาษาของคนเราก็มักพูดเป็นคู่กันไป เช่น พูดว่าจิตใจไม่สบาย ฝึกหัดสมาธิให้สบายจิตใจหน่อย หรือ คนนั้นจิตใจมันวุ่นวายนัก จงทำจิตใจให้สงบหน่อยซิ ดังนี้เป็นต้น ในทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน เช่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “จิตฺตํทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่รักษาดีแล้ว นำความสุขมาให้ “มโน ปพฺพํคมา ธมฺมา มโนเสฐฐา มโนมยา” ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐ สำเร็จแล้วด้วยใจ เป็นต้น ฉะนั้น จิต กับ ใจ คงมิใช่อันเดียวกัน แต่เป็นไวพจน์ของกันและกัน

จิต

จิต ถ้าเราจะมาพิจารณาตามสามัญสำนึกแล้ว มันให้นึก ให้คิด ให้ปรุงแต่งไปต่างๆ นานาสารพัดร้อยแปดพันเก้า ยากที่จะห้ามให้มันอยู่ได้ แม้ที่สุดนอนหลับแล้วยังคิดนึกไปในที่ต่างๆ และกระทำกิจธุระเป็นกอบเป็นกำ ที่เรียกว่า ฝัน นี้คือจิตปรุงแต่งไปตามอารมณ์ เรื่องเหล่านี้ผู้นอนแล้วฝันจะเห็นชัดด้วยตนเองทีเดียว ในขณะที่เรามีสติอยู่นี้แหละห้ามยังไม่ฟังเลย ในเมื่อจิตเราโกรธคนอื่น ไม่ถูกใจเรา โกรธถึงขนาดหนักจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เราจะห้ามจิตของเราว่านั่นของไม่ดี ทำให้เราเป็นทุกข์เดือดร้อนเปล่าๆ จิตมันก็ไม่ยอมสละ ทั้งๆ ที่จิตหนึ่งมันก็เห็นโทษอยู่แล้ว จิตนี้ห้ามได้ยากจริงๆ ทำให้ตัวของเราตกนรกทั้งเป็นได้เหมือนกัน

ถ้าหากเราฝึกหัดจิตของตน จนเห็นจิตของตนอย่างแน่วแน่ว่า จิตเป็นคนหนึ่ง กิเลสมีโทสะเป็นต้น เป็นอีกคนหนึ่งแล้ว เราอย่าไปเอากิเลสนั้นเข้ามาไว้ในจิตของตน จิตนั้นก็จะพ้นจากกิเลสเข้ามาควบคุม แล้วจิตนั้นก็เป็นอิสระในตัว มองเห็นโทสะนั้นชัดเจนเลยว่า จิตมีกิเลส คือโทสะ โทสะมิใช่จิต แต่หากเราไปเอามาไว้ที่จิต เมื่อเห็นชัดดังนี้แล้วจะยิ้มได้เลย เรื่องความปรุง ความแต่งแลสัญญาต่างๆก็เหมือนกัน มันเกิดจากจิตไปยึดเอามาทั้งนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ให้แยกจิตออกจากกิเลส มีโทสะ เป็นต้น แล้วรักษาเอาแต่จิตอันเดียว เราก็จะอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ

ใจ

คราวนี้เรามาพูดถึงใจ ใจๆ นั้นก็เหมือนสามัญสำนึกที่คนทั่วไปที่พูดนั่นแหละ หมายเอาของที่เป็นกลางๆ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นกลางแล้วเขาเรียกว่า ใจ ทั้งนั้น เช่น ใจมือ ก็เป็นจุดกลางมือ กลางหัวแม่มือ ก็เรียกว่า ใจหัวแม่มือ หรือของที่กลมๆ วัดจากริมสุดสี่ด้าน มาตกจุดกลาง ณ ที่ใด ก็เรียกจุดนั้นว่า ใจกลาง เรียกว่า ทั้งใจ ทั้งกลางเสียอีกด้วย แม้แต่ใจคน เมื่อพูดถึงหัวใจแล้ว จะต้องชี้เข้าที่ท่ามกลางอกทีเดียว ความจริงที่นั้นไม่ใช่ใจแท้ เป็นแต่ “หทัยวัตถุ” เครื่องสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงสรรพางค์กายเท่านั้น ใจแท้ไม่มีตัวตน อยู่ทั่วไปในสรรพางค์กาย เราจะเอาใจไปไว้ที่ไหนก็ได้ จะเอาใจไปไว้ที่ปลายเท้าก็จะปรากฏความรู้สึกที่ปลายเท้า จะเอาใจไปไว้ที่ปลายนิ้ว ที่บนศีรษะ หรือในที่ไหนๆ ก็จะมีความรู้สึกในที่นั้นๆ แม้จะส่งใจไปไว้นอกจากร่างกาย เช่น กำแพงวัด หรือที่อุโบสถ ที่ศาลา เป็นต้น จะมีความรู้สึกอยู่ที่นั้นๆ นี้เป็นความรู้สึกของคนเราทั่วไป แต่ใจของผู้ปฏิบัติที่เข้าถึง ใจ แล้ว หาได้เป็นเช่นนั้นไม่เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ใจ ของนักปฏิบัติที่เข้าถึง ใจ แล้ว หมายเอา ผู้รู้ นิ่งเฉยๆ แต่รู้ว่าตนนิ่งเฉย เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าดีแลชั่ว หยาบและละเอียด บุญและบาป อดีตและอนาคต ปัจจุบันก็ไม่ว่า นิ่งเฉยทั้งนั้น เรียกว่า ใจ ธรรมชาติของ ใจแท้ ไม่มีอะไรทั้งหมด มีแต่ ผู้รู้ อย่างเดียว เรียกว่า ธาตุรู้ ก็ว่า ความนิ่งเฉย เป็นอาการของใจ ผู้รู้ เป็นตัวใจแท้

สรรพกิเลสทั้งปวง ล้วนแล้วแต่เกิดจากจิต จิตเป็นผู้แส่ส่ายหามาให้ แล้วก็จิตผู้นั้นเป็นผู้ยึดเอาไว้ แล้วก็ปรุงแต่งให้เป็นนั้นเป็นนี้ สารพัดทุกอย่าง ยึดถือเอาตนเอาตัว เป็นเขาเป็นเรา จนกระทั่งของภายนอกตัวของมันก็เอามาเป็นตัวตน เช่น วัตถุ สิ่งของ มีถ้วยชามเป็นต้น เมื่อพลัดจากมือตกแตก ยังอุทานว่า อุ๊ยตาย กูตาย ดังนี้เป็นต้น สรรพกิเลส ทั้งหลาย จิตนี้มันหามาไว้ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ หามาตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีสละสักที ผู้เกิดมาแล้วพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้รู้จักสละกิเลส บาปธรรมทั้งปวง นับว่าเป็นผู้โชคดี

ต่อจากนี้ไป เมื่อรู้จักจิต รู้จักใจแล้ว เมื่อจะพูดถึงเรื่อง สมาธิ – ภาวนา ก็จะพูด จิต กับ ใจ เท่านั้น เรื่องอื่นจะไม่พูดถึงเลย เพราะการฝึกหัดสมาธิ ภาวนา เป็นเรื่องของ จิต กับ ใจ เท่านั้น แล้วก็พูดเป็นคำสั้นๆได้ความง่ายอีกด้วย จิต เป็นของที่จะต้องฝึกหัดโดยแท้ เพราะกิเลสมันเกิดจากจิตทั้งนั้น ดังได้อธิบายมาแล้ว ผู้ต้องการจะชำระกิเลสของตน จะต้องชำระที่จิตของตน ใจไม่ต้องชำระก็ได้ เมื่อชำระที่จิตแล้ว ใจ ก็จะเห็นสะอาดขึ้นมาทันที เพราะ จิตกับใจก็อันเดียวกัน จะต่างกันแต่อาการเท่านั้น จิตเป็นผู้มีอาการต่างๆ หลายอย่าง เมื่อ จิต หยุดแล้วไม่มีอาการ ก็จะเป็น ใจขึ้นมา ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า “จิตอันใด ใจก็อันนั้น” ดังนั้น เราผู้ต้องการจะละกิเลส จึงต้องชำระที่ จิต ชำระที่อื่น คนอื่น ไม่ถูกต้องตามพุทธวจนะ คำสอนของพระองค์

จิต เป็นของไม่มีตัวตน ถ้าไม่มีหลักให้จิตยึด ก็จะจับจิตได้ยาก ฉะนั้น จงยึดเอาคำบริกรรม มรณานุสติ หรือ อานาปานุสติ เป็นหลัก แล้วภาวนาเอาอารมณ์ว่า มรณังๆๆ หรือ อานาปานุสติเป็นอารมณ์ แล้วให้พิจารณาถึงความตายของตนเอง หรือพิจารณาลมก็เช่นเดียวกัน หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย ความตายของคนมีแค่ลมหายใจเข้า หายใจออกก็ตายเท่านี้ ในขณะพิจารณาอยู่นั้นให้ใจเชื่อจริงๆว่า มันต้องตายแน่แท้ ถ้าจิตไม่น้อมเชื่อจริงๆแล้ว สักแต่ว่าพิจารณา มันยากที่จะเป็นสมาธิ ภาวนา ความที่จิตน้อมลงเชื่อในภาวนาของตนเป็นของสำคัญ คนภาวนาเป็นช้า เป็นเร็ว อยู่ที่ความเชื่อของตนเอง เมื่อจิตน้อมลงเชื่ออย่างเต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าสู่ภวังค์ เป็น ฌาน ไม่ใช่ สมาธิ

ฌาน สมาธิ

ฌาน ฌาณนี้เมื่อฝึกหัดจิตไปๆ จิตจะน้อมเข้าสู่ความสงบอย่างเดียว แล้วเกิดภวังค์ เหมือนคนนอนหลับ หรือเหมือนคนเคลิ้มไป แล้วไปเกิดความรู้สึกอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต) หรือตื่นผวา ตกใจ เป็นหลายเรื่อง หลายอย่าง สุดแต่มันจะเกิดขึ้น สรุปว่า จิตที่น้อมไปสู่ความสงบแล้วเกิดภวังค์นั้น คือจิตที่เป็นฌาน เมื่อเป็นฌานแล้วจะมีความสุขยิ่งนัก ขยันหมั่นเพียร ทำความเพียรไม่ขี้เกียจ อยากทำเสมอตลอดกลางวันและกลางคืน ถึงแม้มีกิจการงานทำก็ไม่รู้สึกเหนื่อย การงานไม่เสีย ดียิ่งกว่าเมื่อฌาณยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป

สมาธิ นั้นก็ภาวนาเหมือนกัน คำบริกรรมก็เหมือนกัน แต่พิจารณาต่างกัน คือพิจารณาให้เห็นชัดในอารมณ์อันเดียว ไม่พิจารณาไปหลายอย่าง จนกระจ่างแจ้งชัดด้วยอุบาย ปัญญาของตนเอง แล้วจิตรวมอยู่ในที่เดียว ปล่อยเรื่องที่ตนพิจารณาอยู่ทั้งหมด

คล้ายกับนักวิทยาศาสตร์ แต่นักวิทยาศาสตร์พิจารณาในสิ่งนั้นๆ เห็นแจ้งชัดจนไม่มีข้อสงสัย ด้วยการเทียบเคียงเหตุผล และตำรับตำราต่างๆแล้วมาเก็บไว้ นำมาใช้ต่อไป จึงสมกับว่านักวิทยาศาสตร์สร้างโลก สร้างไปเถิด สร้างไม่เสร็จสักที สร้างจนหมดชีวิตก็สร้างไม่เสร็จ คนอื่นเกิดมาสร้างต่อ หรือมาสร้างของเก่า คือ มาสร้าง ดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่านี้แหละไม่หมดสักที

ส่วนสมาธิ ภาวนาพิจารณาสิ่งใดๆ แล้ว เมื่อเห็นชัดเห็นจริงด้วยใจของตนแล้ว เบื่อหน่ายคลายจากความยึดมั่นในสิ่งนั้นแล้วจิตรวมมาเป็นสมาธิ ตั้งอยู่ในเอกัคคตารมณ์ ละวางในสิ่งที่ตนพิจารณาเห็นนั้น จึงสมกับว่า ผู้ละวาง ผู้รู้แล้วละโลกทั้งหมด ผู้สะสมเป็นทุกข์ในโลก ผู้สละปล่อยวางเป็นสุขทุกเมื่อ

นักกัมมัฏฐานทั้งหลายมักจะเข้าใจเรื่อง ฌาน กับ สมาธิ ว่าเป็นอันเดียวกัน อธิบายเรื่องฌานเลยเป็นสมาธิไป เมื่ออธิบายเรื่องสมาธิเลยเป็นฌาณไปฉิบ ผู้ทำภาวนา แต่ไม่รู้จักปริยัติ เลยอธิบายควบกันไป ผู้รู้จักปริยัติแล้วมาพิจารณาในองค์ฌานนั้นๆ หรือเอาสมาธินั้นๆ มาปรุงแต่งใส่ตัวของตนว่าองค์ฌานที่เท่านั้นเท่านี้ สมาธิต้องอย่างนั้นอย่างนี้ จิตเลยไม่เข้าถึงฌาน–สมาธิ อันแท้จริง

ฌานก็ดี สมาธิก็ดี ผู้กระทำกัมมัฏฐาน มิใช่ของกระทำได้ง่าย ต้องอาศัย ศรัทธา ความเชื่อมั่นในใจของตนเองให้เพียงพอ แล้วก็มี ความเพียร เต็มที่ ไม่ถอยหลัง ตั้งปณิธานไว้แน่วแน่ ว่าชีวิต เลือดเนื้อของเรานี้ จะมอบถวายบูชาความดีในสมาธิ –ภาวนาทั้งสิ้น ถ้าเราทำสมาธิ ภาวนาไม่เกิดในที่นี้แล้ว จงทิ้งความปรารถนานั้นเสีย วางใจให้เป็นกลาง แล้วจงทำความเพียรภาวนาเรื่อยไปมันจะเกิดอะไรขึ้นมาหรือไม่เกิด ก็สุดแล้วแต่ ถ้าตั้งใจให้มากเกินไป และยึดมั่นในภาวนาเกินไป และยึดมั่นในภาวนาเกินไป ภาวนาจะไม่เกิด ฌานและสมาธิเป็นของอ่อนละเอียด เราต้องทำกายแลใจให้เป็นของเบาแลเป็นของกลางๆ ในอารมณ์ทั้งหมด จิต ก็จะรวมมาเป็น ใจ ในที่สุด

ปัญญาที่เป็นโลกีย์

นักภาวนาทั้งหลาย จิต ยังไม่สงบ และ ฌาน ก็ยังไม่ถึง อยากจะให้ปัญญามันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถึงเกิดขึ้นก็เรียกว่า ปัญญาโลกีย์ ความอยากให้ปัญญาเกิดมันก็เป็นโลกิยะอยู่แล้ว ปัญญาที่เป็นโลกีย์ เกิดจากการตรึก การตรอง การดูตำรา จากการสนทนากันก็ตื่นเต้นแล้วก็เข้าใจว่าอันนั้นวิเศษพอแล้ว พอหันมาดูตัวของตนเองมีแต่กิเลสหุ้มห่อทั้งตัว

เรามาภาวนาต้องการละกิเลสในใจของตัวเอง พอภาวนาเข้าๆ เลยเป็นการสะสมกิเลสไปในตัว การอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นนั้น อยากเป็นนี้ ล้วนแต่เป็นกิเลสทั้งหมด พระพุทธเจ้าให้สละสิ่งทั้งหมด แล้วทำใจให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แล้วพิจารณาให้รู้เท่า เข้าใจ ตามความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ ตัวอย่าง เช่น พระอานนท์ พระอนุชาของพระพุทธเจ้าที่เป็นพหูสูตรเรียนรู้รอบในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนจบสิ้น ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวง จะให้ถึงซึ่งความเป็นกลาง เมื่อวันที่จะทำปฐมสังคายนา ท่านพิจารณาธรรมทั้งหลายจนอ่อนเพลียแล้วเอนพระเศียรลงจะบรรทม พระเศียรยังไม่ทันถึงพระเขนย ในขณะนั้น จิตของท่านพระอานนท์ทอดธุระหมด ไม่มีอะไรเหลือหลอ จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์

จิต เมื่อฝึกฝนอบรมเต็มที่แล้วย่อมได้รับความสงบ ท่านเรียกว่า สมถะ หรือจะเรียกว่า ฌาน หรือ สมาธิ ก็แล้วแต่ ผู้ภาวนาตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว ไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ดอก มีแต่ก้มหน้าปฏิบัติให้เป็นไปตามสมถะแล้วก็พอ ถึงนักปริยัติ เมื่อเข้ามาปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ส่วนปริยัติต้องเก็บเข้าตู้ไว้ก่อน ปฏิบัติเป็นไปแล้ว ปริยัติจึงค่อยเอาออกมาเทียบเคียงกับการปฏิบัติ ตรงกันเป้งทุกข้อ ทุกความ ทุกบททุกบาทไม่มีผิด

ความต่างของ ฌาน กับ สมาธิ

ในที่นี้ผู้เขียนอยากจะแสดง ฌาน กับ สมาธิ ให้เห็นความแตกต่างกัน พอเป็นนิทัศน์สักเล็กน้อย ฌานแลสมาธิ มิใช่อย่างเดียวกัน ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็แสดงว่า ฌาน แล สมาธิ อยู่แล้ว ถึงฌาน แลสมาธิจะใช้อารมณ์อันเดียวกัน แต่การพิจารณามันต่างกัน เมื่อเกิดความรู้มันก็ต่างกัน แต่มันเป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์เหมือนกัน ไม่เหมือนนักปฏิบัติบางคน เมื่อพูดถึงฌานแล้วเกลียดกลัวนักกลัวหนา กลัวว่าจะหลงไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก ทั้งที่ตนเองก็ยังไม่เคยเป็น แลยังไม่เคยเห็นเลยว่า พรหมลูกฟักนั้นมีหน้าตาเป็นไฉน ชั้นภูมิของมันเป็นอย่างไร

ฌานนั้นเมื่อกำหนดพิจารณากายคตาสติ หรือมรณานุสติ หรืออานาปานุสติเป็นคำบริกรรม อันใดอันหนึ่งแล้วจิตน้อมสู่คำบริกรรมนั้น ไม่ต้องพิจารณาแยกแยะคำบริกรรมนั้นให้เห็นว่า กายนี้เป็นธาตุอย่างนั้นๆ จะต้องแตกตายเปื่อยเน่าอย่างนั้นๆ เพ่งพิจารณาแต่เฉพาะคำบริกรรมอย่างเดียว จนจิตเชื่อมั่นไม่เห็นสิ่งอื่น เห็นแต่คำบริกรรมอย่างเดียว แล้วจิตจะน้อมเข้าสู่ความสุขสงบ เกิดภวังค์ขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะเข้าภวังค์ละ แต่ด้วยความเชื่อมั่นแน่วแน่ และความเพียรแก่กล้าไม่ถอยหลังแล้ว มันหากเกิดของมันเอง เป็นเอง

ผู้ฝึกหัดใหม่ๆ ถึงรู้ตัวอยู่ เวลาจะเข้าภวังค์ก็หายเงียบเข้าภวังค์เลย ถ้าผู้ฝึกหัดนานๆ และชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้ว ทั้งที่รู้ตัวอยู่นั้นแหละ ก็เข้าภวังค์ได้ บางทีจิตเข้าภวังค์หายเงียบไปเลยก็มี บางทีจิตเข้าภวังค์แล้วไปรู้ไปเห็นอะไรหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน เมื่อจิตออกจากภวังค์แล้วลืมหมด ภวังค์นี้เกิดเป็นหลายอย่างต่างๆ กัน ภวังค์ มันเป็นภพของจิตผู้ทำความเพียรภาวนา เมื่อชำระจิตออกจากอารมณ์ของโลกนี้ ด้วยการชำระอายตนะทั้ง ๑๒ ทั้งภายในและภายนอก ให้หมดสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่จิตของเดิม มันจะเข้าถึงภพของมัน

ภวังค์

ภวังค์ ท่านบัญญัติไว้สามอย่าง ตามขั้นตอนของผู้ละอารมณ์ในอายตนะทั้ง ๑๒ เมื่ออายตนะภายในกับภายนอกกระทบกัน เกิดอารมณ์ขึ้นมา ผู้ทำภาวนาทำความเพียรเห็นโทษ แล้วละได้มากน้อยตามนิสัยวาสนา บารมีของตน ถ้าละได้มาก ก็เข้าภวังค์ได้มาก ถ้าละได้ปานกลาง ก็เข้าได้ขนาดกลาง ถ้าละได้น้อย ก็เข้าได้ขนาดน้อย

ภวังค์นั้นท่าน บัญญัติไว้ดังนี้

(๑) ภวังคุบาท
ผู้ภาวนาเห็นโทษของอายตนะภายนอกและอายตนะภายในมันกระทบกัน แล้วทำให้เกิดอารมณ์คือ ความรัก ความชัง ความยินดี และยินร้าย ทำให้ใจหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้น ไม่รู้จักจบจักสิ้นหรืออารมณ์นอกจากนี้ก็ดี แล้วเบื่อหน่าย เห็นความสงบจากอารมณ์นั้นๆเป็นความสุข แล้วรวมเข้าเป็นภวังค์ ถ้าเป็นภวังคุบาท ก็จะรวมเข้านิดๆหน่อยๆแล้วถอนออกมา แล้วผู้ภาวนาก็จะปรารภทำความเพียรต่อไปอีก

(๒) ภวังคจรณะ
ถ้าเป็นภวังคจรณะ ก็จะรวมเข้านานหน่อย เมื่อเข้าจะมีลักษณะฟุ้งซ่านอยู่ในอารมณ์ของฌานนั้นเอง จะไม่ส่งออกมาภายนอก

(๓) ภวังคุปัจเฉทะ
เมื่อจิตรวมเข้าแล้วจะตัดอารมณ์ภายนอกทั้งหมด จะยังคงเหลือแต่จิตอันบริสุทธิ์อย่างเดียว

ส่วนธรรมเครื่องประกอบที่จะทำให้เกิดเป็นภวังค์นั้น ท่านบัญญัติไว้ว่ามี ๕ ประการ หรือเรียกว่า องค์ฌาน ก็เรียก ได้แก่ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา

  • ผู้เข้าปฐมฌาน จะต้องมี องค์ ๕ คือ
    วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ผู้เข้าทุติยฌาน จะต้องมี องค์ ๓ คือ
    ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ผู้เข้าตติยฌาน จะต้องมี องค์ ๒ คือ
    สุข เอกัคคตา
  • ผู้เข้าจตุตถฌาน จะต้องมี องค์ ๒ คือ
    อุเบกขา เอกัคคตา
ระหว่างปฏิบัติ ไม่คำนึงถึงบัญญัติ

นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อเข้ามาปฏิบัติกรรมฐานทั้งหลาย จะไม่คำนึงถึงเรื่องบัญญัติเหล่านี้เลย จะก้มหน้าก้มตาเอาแต่จิตอย่างเดียว ว่าทำอย่างไรหนอ จิตจึงจะเข้าถึงฌาน สงบจากนิวรณ์ ๕ อันเป็นเหตุให้รุ่มร้อนอยู่ในใจของตนอย่างเดียว เมื่อจิตเป็นฌานแล้วนั่นแหละ หากผู้เคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง จึงจะพิจารณาถึงเรื่องของตนว่า เราปฏิบัติมันตรงกับธรรมข้อนั้นๆ ที่ท่านว่าไว้อย่างนั้นๆ เช่น ท่านพูดถึงเรื่องฌานปฐมฌานมีองค์ ๕ วิตก จิตที่ไปยึดอารมณ์กรรมฐานนั้นๆ เราก็ได้ยึดเอาแล้ว วิจารณ์ จิตที่พิจารณากรรมฐานนั้นๆ จนเห็นชัดแจ้ง ทำให้เกิดปีติ เราก็ได้พิจารณาแล้ว จนเกิดความสุข และเอกัคคตา เป็นที่สุด ดังนี้เป็นต้น และบางท่านก็ไม่ได้พิจารณาเลยว่า อะไรเป็นฌาน อะไรเป็นภวังค์ เป็นแต่ปฏิบัติไปๆ ได้ความสุขสงบดี ไม่มีกิเลส เครื่องเดือดร้อนใจ กิเลสมี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เมื่อก่อนมันทำให้กระสับกระส่าย เดือดร้อนใจ เมื่อทำกรรมฐานแล้วมันรู้เท่าเข้าใจ เห็นตัวมันเกิดจากสิ่งเหล่านี้ๆแล้วมันก็ดับไป เราอยู่ด้วยความเป็นอย่างนี้ กิเลสมันไม่มารรบกวน ด้วยอาการอย่างนี้ๆ

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใหม่ๆ ประกาศพระศาสนาก็คงจะเป็นแบบนี้กระมัง เพราะผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เหล่านั้น ตามประวัติ ก็ดูไม่มีการเล่าเรียนธรรมมาแต่ก่อน พอมาฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเข้า ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย คงรู้แต่ว่ากิเลสของตนแต่ก่อนมันทำพิษร้ายให้แก่ตนเอง มาเวลานี้ มันระงับ ไม่มีแล้ว ตรงกันข้ามบางท่านเคยได้สะสมบุญบารมีมาแต่ก่อน เช่น พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา เป็นต้น ฟังเทศน์ของพระอัสสชิโดยย่อเพียงนิดเดียว ก็ได้สำเร็จพระอริยภูมิขั้นต้นแล้ว

สรุป ฌาน สมาธิ

ฌาน สรุปความได้ดังนี้ เบื้องต้น มีคำบริกรรมแล้วเพ่งพิจารณาคำบริกรรมเป็นอารมณ์ ท่ามกลางน้อมจิตนั้นให้เข้าสู่ความสงบ แล้วเกิดภวังค์ขึ้น ที่สุดจิตเข้าภวังค์เป็นเอกัคคตาจิต มีอารมณ์อันเดียวแล้วจะอยู่ในอารมณ์นั้น

สมาธิ เบื้องต้นก็ใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกับฌานเหมือนกัน แต่การกำหนดพิจารณาต่างกัน คือ สมาธิเพ่งพิจารณาเอาแต่อารมณ์อันเดียว ความสงบมันจะเกิดหรือไม่เกิดไม่ต้องคำนึงถึง พิจารณาแต่อารมณ์นั้นอย่างเดียว เช่น พิจารณาความตาย จะใช้คำบริกรรมหรือไม่ก็ตามใจ ว่าเราต้องตายแน่ๆไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตายแล้วก็ขึ้นอืด แล้วก็ต้องเปื่อยเน่าสลายไปเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามสภาพเดิม ของมัน จนเห็นชัดแจ้งแน่วแน่แก่ใจของตนเอง คนในโลกนี้ทั้งหมดแลสิ่งสารพัดทั้งปวงก็เช่นเดียวกัน ไม่มีเหลือหลอแล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้ามาเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่ในความสลดสังเวชนั้นอย่างเดียว ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม ความสังเวชนั้นจะมีอยู่ประจำอย่างนี้ ตราบใดถ้าจิตยังเป็นสมาธิอยู่ บางทีตั้งเป็นวันๆก็มี เมื่อจิตเสื่อมจากสมาธิแล้ว ก็จะเป็นปกติตามเดิม แต่เมื่อจับเอาอารมณ์นั้นมาพิจารณาอีก ก็จะเกิดความสลดลังเวชเหมือนเดิม แต่ไม่ได้อย่างเดิม เหมือนกับผู้นอนฝันไป ตื่นขึ้นมาเล่าความฝันนั้นได้ชัดเลย แต่ไม่ตื่นเต้นเหมือนนอนฝันอยู่

สมาธิ ก็มีสามเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงของมัน ไม่ได้เพื่อให้เกิดความสงบอย่างเดียวเหมือนฌาน (ดังได้อธิบายมาแล้ว) คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑

ขณิกสมาธิ จะพิจารณาคำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว เช่น พิจารณาความตาย ให้เอาแต่ความตาย พิจารณาว่าเราต้องตายแน่ เราตายอยู่ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้า หายใจออก ตายโดยเสื่อมจากเด็ก มาเป็นหนุ่ม มาเป็นแก่ มาเป็นเฒ่าชรา แต่ผู้ไม่พิจารณาไม่เห็น ตายชนิดนี้เรียกว่า ตายปกปิด บังไว้ไม่ให้คนเห็น ต่อเมื่อขาดลมหายใจแล้ว จึงจะเห็นว่าตายจริง เมื่อพิจารณาไปๆ จะเห็นว่าสิ่งสารพัดทั้งหมดในโลกนี้ ล้วนแต่ของตายทั้งสิ้น หาสิ่งใดที่จะเป็นแก่นสารมิได้ แล้วจิตจะสลดสังเวช รวมเข้าเป็นสมาธิ ถ้าจิตที่พิจารณาอยู่นั้นเห็นเล็กๆน้อยๆเป็นครู่ เป็นคราว แล้วรวมเข้านิดๆหน่อยๆ จะเป็น ขณิกสมาธิ แล้วก็ถอนออกมาส่งส่ายไปตามเดิม

อุปจารสมาธิ ถ้าพิจารณาอารมณ์เห็นแจ้งชัดเข้าไปกว่านั้นอีก จนจิตจับเอาอารมณ์นั้นไว้นาน แล้วจิตจะรวมเข้าไปจับเอาอารมณ์ไว้ได้นานๆ เป็น อุปจารสมาธิ

อัปปนาสมาธิ ถ้าพิจารณาอารมณ์นั้นเห็นแจ้งชัด เชื่อมั่นในใจด้วยตนเองจนตัดอารมณ์ภายนอกทั้งหมด เข้าถึง อัปปนาสมาธิ

สมาธิ ท่านไม่ได้จัดองค์ไว้เหมือนกับฌาน จะพิจารณากรรมฐานอันใดก็ได้ แต่ให้พิจารณาเอาอันเดียว จนจิตรวมลงเป็นหนึ่งเข้าถึงสมาธิเป็นลำดับ ดังได้อธิบายมาแล้ว แลท่านจัดสมาธินี้เป็น โลกุตระ ด้วย ผู้ได้สมาธิแล้วไม่มีเสื่อมคือหมายความว่า ไม่เสื่อมจากความเชื่อมั่นในความรู้ ความเห็นที่ตนเห็นชัดแจ้งแล้วนั้น ผู้ถึงโลกุตระขั้นต้น คือ พระโสดาบันแล้ว จะต้องละกิเลสได้สามอย่างคือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑

  • สักกายทิฏฐิ ความถืออหังการ มมังการ ว่าตัวตนเป็นของมีจริง
  • วิจิกิฉา ลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
  • สีลัพพตปรามาต ลูบคลำ ไม่แน่วแน่ในศีล ว่าจะเป็นข้อธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือไม่ แลไม่เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ทำอะไรลงไปด้วยตนเองแล้ว จะให้ผลจริงหรือไม่
สมาธิ กับ โลกุตตรธรรม

ผู้ได้สมาธิทั้งสาม อันใดอันหนึ่งแล้ว จะไม่มีการเสื่อมจากโลกุตตรธรรมนั้นเป็นอันขาด

คำว่า ไม่เสื่อมจากโลกุตตรกรรม นั้น มิได้หมายความว่าจิตของท่านนั้นเป็นสมาธิอยู่เสมอ สมาธิ เป็นวิธีฝึกหัดจิตของนักปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพื่อให้จิตมีพลังกล้าหาญ ชำระกิเลส นิวรณ์ธรรม ให้สิ้นสูญไปในขณะทำสมาธิ แล้วจิตนั้นก็จะถอนออกมาอยู่ปกติธรรมดา แต่มันไปเพิ่มตัวปัญญาให้เห็นชัดว่า กายนี้เป็นทุกข์ ชัดแจ้งด้วยตนเองจริงๆ เกิดเป็นรูปร่างกายแล้ว สิ่งใดทั้งหมดในโลกล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ออกจากสมาธิแล้ว จะยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ก็ตาม ความเห็นอันนั้นจะต้องเห็นชัดอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่มีเสื่อมเลย เมื่อไม่มีการเสื่อมก็เป็นเหตุให้เจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ทำสมาธิคราวหลังได้เร็วขึ้น ท่านจึงว่าโลกกุตตรธรรมของท่านนั้น ไม่มีเสื่อม

ดังมีปัญหาว่า พระอริยบุคคลเบื้องต้น ละสังโยชน์สามเบื้องต้นได้แล้ว ทำไมจึงแต่งงานอยู่ เช่น นางวิสาขาเป็นต้น คำว่าละสักกายทิฏฐิได้แล้วนั้น มิได้หมายความว่าละจนสิ้นเชิงจนถึงรากมูลของสักกายทิฏฐิ เป็นแต่เห็นว่ามันของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นของไม่ใช่ตัวตนเท่านั้น ไม่ได้เห็นจนถึงรากมูลฐานที่เกิดขึ้น ที่ดับของมัน ตามฐานะของท่าน ดีแล้วที่ท่านเห็นเช่นนั้น ไม่ได้เห็นไปหน้าเดียวอย่างฌาณ แบ่งรับแบ่งสู้ เราอยู่ในโลก ยังละโลกไม่ได้ต้องสู้ไป แต่มีปัญญาเห็นชัดตามเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น มีเกิดก็ต้องมีดับ มีดีก็ต้องมีชั่ว เราเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เท่านั้นเป็นพอ ผู้เห็นตามสภาพของมันตามความจริง ย่อมอยู่สบาย อย่าลืมว่าพระอริยะสามเบื้องต้น เป็นเสขะบุคคล จะต้องมีการละอีกร่ำไป สิ่งที่เห็นแล้ว ละแล้วก็ต้องละอีก ตามชั้นตามภูมิของท่าน พระโสดาบันบุคคลแปลว่าผู้ตกถึงทางกระแสพระนิพพาน มิใช่ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว ตกถึงหนทางพระนิพพาน คือ ยึดเอาหนทางว่าทางนี้ละที่จะไปถึงพระนิพพานได้แน่แท้ เพียงเท่านี้ก็พอจะเข้าใจได้กระมัง

ส่วน ฌาน ๔ เมื่อผู้เข้าถึงแล้ว ท่านว่าข่มนิวรณ์ ๕ อันเป็นธรรมเบื้องต้นของสรรพสัตว์ทั้งปวงได้อีกด้วย

นิวรณ์ ๕ คือ

  • กามฉันทะ
    ความพอใจยินดี เพลินเพลิดในกามารมณ์ มีรูปเป็นต้น ๑
  • พยาบาท
    คิดปองร้ายในบุคคล หรือสิ่งที่มากีดขวางความต้องการของตน ๑
  • ถีนมิทธะ
    เมื่อเกิดกิเลสสองตัวนั้นมารุมล้อมแล้ว ถีนมิทธะ ความซึมเซ่อ ง่วงเหงาหาวนอน ก็เข้ามาครอบงำ ๑
  • อุทธัจจกุกกุจจะ
    ความฟุ้งซ่าน รำคาญก็เกิดขึ้น ๑
  • วิจิกิจฉา
    ความสงสัยในสิ่งต่างๆก็เกิดขึ้น ๑

นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้จะต้องถูกข่มให้อยู่ด้วยองค์ฌานทั้ง ๔ ดังกล่าวแล้ว แต่มิใช่มันจะดับไปหมดเลย ถ้าองค์ฌานเสื่อมหายไปเมื่อไร จะเกิดขึ้นมาอีก เหมือนกับเราเอาโฟมกดลงไปในน้ำ เมื่อกดลงไปมันก็จม แต่เมื่อเราปล่อยวางมือมันก็จะฟูขึ้นมาอีก นิวรณ์ ๕ ก็เช่นเดียวกัน

ฌานนี้ถึงแม้จิตจะละเอียดเข้าสู่ภวังค์ปัจเฉทะ ตัดขาดอารมณ์ภายนอกได้สิ้นเชิงแล้วก็ตาม ท่านก็ยังเรียกว่า โลกียฌาน อยู่นั้นเอง เพราะฌานเป็นเครื่องอยู่ เครื่องเล่นของโลกียภูมิ ส่วนโลกุตตระไม่มีการเล่น จะมีแต่การพิจารณาธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างเดียว พระอรหันต์ขีณาสพเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อท่านจะพิจารณาธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่าน ต้องพิจารณาองค์ฌานนี้แหละเป็นเครื่องอยู่ เมื่อพิจารณาพอแก่กาลแล้วท่านก็ปัดเสีย อย่างนี้แหละเป็นเครื่องอยู่ เพราะฌานโลกุตตระไม่มี มีแต่ฌานโลกียะ ท่านผู้เป็นโลกุตตระต่างหากจึงเรียกตามผู้เข้า เป็นโลกุตตระฌาน

แท้ที่จริง องค์ฌานนั้นเป็นโลกียะอยู่ตามเดิม เปรียบเหมือนเด็กกับผู้ใหญ่เล่นกีฬา เด็กเล่นเพื่อความสนุก แต่ผู้ใหญ่เล่นเพื่อสุขภาพอนามัยของร่างกาย อย่างพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกบางองค์ที่ท่านได้สร้างบารมีมาทางอภินิหารโดยเฉพาะ เช่น พระโมคคัลลานะ เป็นต้น เมื่อท่านจะแสดงอภินิหาร ท่านจะต้องเข้าจุตตถฌาน เมื่อออกจากจุตตถฌานมาอยู่ในภวังคจรณะ แล้ววิตกถึงเรื่องที่ท่านจะทำนั้นนิดเดียว แต่ไม่ถึงทำให้เกิดสัญญาสังขาร แล้วถอนจิตให้มาอยู่ในอารมณ์เฉย อะไรมันจะเกิดก็เกิดขึ้นในขณะนั้น มันไม่เกิดก็แล้วไปท่านเข้าฌานได้ชำนิชำนาญ แลรวดเร็วมาก ขนาดยืน เดินอยู่ก็ทำได้ ท่านจึงสามารถรู้เหตุการณ์ได้ทันท่วงที ไม่เหมือนนักปฏิบัติทุกวันนี้ เมื่อภาวนาไปๆ เมื่อมันเกิดความรู้ความเห็นอะไร ปุบปับมันเกิดขึ้น ไม่ทราบว่าเป็นอยู่ขั้นตอนไหน แลเป็นอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นก็ตื่นเต้นมาก อยากให้มันเกิดอีก เมื่อมันไม่เกิดก็เสียใจ อย่างนี้เป็นต้น

อุปนิสัย

ฌาน กับ สมาธิ หากอุปนิสัยมี หากจะเกิดความรู้อะไรต่างๆขึ้นมา ก็จะเกิดต่างกัน หรืออุปนิสัยไม่มี ไม่เกิดความรู้อะไร ก็จะอยู่อย่างสบายๆดังที่ได้อธิบายมาแล้วแต่หลัง

ฌาน เมื่อ เกิดความรู้ ย่อมเกิดในขณะที่จิตรวมเข้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ- แล้วถอนออกมาในขณะที่เป็นภวังคจรณะ แต่ยังไม่ทันไปรับเอาอารมณ์ภายนอกเข้ามา แล้วรู้นั้น รู้นี้ อะไรต่างๆเป็นต้นว่า เห็นคนจะตาย หรือเห็นคนจะมาหา หรือรู้เห็นเหตุการณ์อันจะมีมาข้างหน้า หรือรู้เหตุการณ์อันล่วงไปแล้ว ในขณะจิตเดียวเท่านั้น หรือมีเสียงกระซิบออกมาบอก หรือพูดคุยซักถาม โต้ตอบกันได้ แล้วจิตจะถอนออกมาปกติตามเดิม แต่ขณะที่รู้นั้น ดูเหมือนเป็นเวลายึดยาว เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับเล่านิทาน สนุกสนานกันมาก

คนที่ไม่มีอุปนิสัยเช่นนั้นได้ยินคนเขาเหล่าก็อยากจะเป็นอย่างเขาบ้าง เมื่อตนไม่เป็นอย่างที่เขาเล่าก็ชักให้น้อยใจ หาว่าเราภาวนาไม่เป็นบ้าง หาว่าบุญบารมีของตนไม่มีบ้าง อะไรต่างๆนานาไปสารพัด อย่าภาวนาเอารางวัลเลย เราภาวนาเพื่อความพ้นทุกข์ เรื่องที่ว่านั้นมันจะเกิดจะเป็นหรือไม่ก็ตาม นั่นมิใช่เป็นเหตุให้เราพ้นจากทุกข์ แต่เป็นเครื่องเล่นของพระโยคาพจรเจ้าต่างหาก ปุถุชนอย่างพวกเราทั้งหลายไปเล่นเข้าอาจเป็นบ้าตายก็ได้ หน้าที่ของนักปฏิบัติควรพิจารณาแต่จิตของตน ว่าจิตของเราปฏิบัติเพื่อละความอยาก หรือสะสมความอยาก ความอยากเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งแก่การปฏิบัติกรรมฐาน ถ้ามีอยู่ความอยากอยู่ตราบใด ไม่สิ้นความอยาก ภาวนาจะไม่เกิดเลยอยู่ตราบนั้น

ส่วนสมาธินั้น เบื้องต้นอย่างที่ได้อธิบายมาแล้วแต่ต้น เมื่อจิตรวมเข้าเป็นอุปจารสมาธิแล้ว ผู้มีอุปนิสัยจะเกิดความรู้ความเห็นอะไรต่างๆนานา ย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างเกิดในภวังคจารณะเช่นเดียวกัน แต่เกิดมีลักษณะต่างๆกัน ต่างจากฌานคือ จะเกิดจากอุปจารสมาธิ จิตไม่รวมเต็มที่ รู้ตัวอยู่ว่าเราพิจารณาอะไรเวลานั้น ในขณะเดียวกันก็จะเกิดความรู้ความเห็น เป็นรูปก็ดี เป็นเสียงก็ดี เผลอแลลืมสติ จิตจะหยุดพักพิจารณาขณะหนึ่งก่อน แล้วสิ่งต่างๆจึงจะเกิดขึ้นมา จิตนี้เป็นเร็วมาก จิตหยุดนิ่ง จิตรู้ ในขณะจิตเดียวเท่านั้น เป็นเรื่องเป็นราวไปยืดยาว

สมาธิก็เกิดความรู้ความเห็นได้เหมือนฌานเหมือนกัน แต่สมาธิเกิดอยู่กับที่ แลจิตก็ไม่ส่งออกไปนอก อยู่คงที่ เช่นท่านมีสติอยู่ทุกอิริยาบถ พิจารณาธรรมอยู่ในที่นั้นๆเมื่อเห็นสิ่งต่างๆ หรือรู้สิ่งต่างๆจะมาปรากฏอยู่ ณ ที่จิตนั่นเอง เห็นชัดเห็นแจ้งเหมือนเรานั่งดูกันอยู่ดีๆ นี่เอง หรือเห็นคนจะตายมานอนอยู่เฉพาะในที่ จิต นั้น หรือมีเสียงเกิดขึ้นว่า คนชื่อนั้นชื่อนี้จะตาย เหตุการณ์ทั้งอดีต แลปัจจุบันก็ดี ซึ่งมันเกิดย่อมมาปรากฏเฉพาะจิต จิตก็มองเห็นอยู่เหมือนกับเราเอาแก้วใสๆ ครอบสิ่งต่างๆไว้แล้วมองเห็นอย่างนั้นแหละ ความเห็นแลเหตุการณ์ที่เกิดจากฌานแลสมาธิ ย่อมมีอาการต่างๆกัน ความเห็นแลความรู้อันเกิดจากฌานนั้นเห็นภายนอก ส่วนความเห็นแลความรู้อันเกิดจากสมาธินั้นเกิดขึ้นภายในใจ

กิจในพระพุทธศาสนานี้ พระองค์ตรัสว่ามีสองอย่าง คือ สมถะ แล วิปัสสนา สมถะแบ่งเป็นสองอย่างคือ ฌานแลสมาธิ ดังได้อธิบายมาแล้ว คราวนี้จะอธิบายถึงเรื่องวิปัสสนาต่อไป

วิปัสสนา

วิปัสสนา แปลว่า เห็นชัด เห็นแจ้ง เห็นจริง ด้วยใจของตนเอง มิใช่เห็นตามได้ยิน ได้ฟังมาจากสิ่งอื่นแลบุคคลอื่น หรือจากตำรับตำรา เป็นต้น ซึ่งมีสมาธิเป็นสมุฏฐาน วิปัสสนาก็คล้ายๆ สมาธินั้นเอง ผู้ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะเห็นเป็นอันเดียวกันเลย สมาธิพิจารณาคำบริกรรมอันใดอันหนึ่งเป็นเบื้องต้น เมื่อพิจารณาคำบริกรรมนั้นๆ แยกแยะให้เห็นตามเป็นจริง จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิทั้งสาม อันใดอันหนึ่ง (ดังอธิบายมาแล้ว) แล้วมีสติพิจารณาอารมณ์ อยู่แต่อารมณ์นั้นเฉพาะ นี้เรื่องของสมาธิ

เรื่องของวิปัสสนานั้น เมื่อพิจารณาคำบริกรรมนั้นจนชำนิชำนาญแล้ว จึงพิจารณาธรรม อันเป็นไปเพื่อความละความถอนจากอุปทานแลกิเลสทั้งหลาย เป็นต้นว่า พิจารณาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ซึ่งจิตไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน หรือถือว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น นั้นเรียกว่าวิปัสสนา

ส่วนปัญญาวิปัสสนายังเห็นแจ้ง เห็นชัดเข้าไปกว่านั้นอีก เช่น พิจารณาเห็น ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้นนั้นเป็นการเห็นของวิปัสสนา ผู้รู้ว่าผู้พิจารณาวิปัสสนานั้นเป็นปัญญาวิปัสสนา จิตจะไปตั้งอยู่เป็นเอกเทศส่วนหนึ่งของตนเองต่างหาก มีสติรอบรู้สิ่งสารพัดทั้งปวงที่มันผ่านเข้าทางจิต รู้ชัดแจ้งในเหตุปัจจัยนั้นๆ เหมือนกับเรามองสิ่งต่างๆในแก้วที่เราเอาครอบไว้ แต่จิตนั้นจะไม่รับเอาอารมณ์ อารมณ์นั้นๆ เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของมันแล้วก็ดับไปๆ

ผู้พิจารณาปัญญาวิปัสสนานั้น จะต้องพิจารณาลงสู่พระไตรลักษณ์เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ แลรู้เห็นสิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม แลนามธรรม ผู้เจริญปัญญาวิปัสสนาแล้ว จะต้องพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยอำนาจที่พิจารณาไตรลักษณ์นี้ จิตเห็นชัดเห็นแจ้งขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งจิตเข้ามาตั้งอยู่ในที่เดียว ธรรมทั้งหลายที่พิจารณามาทั้งหมด เมื่อถึงปัญญาวิปัสสนาแล้วจะเข้ามารวมรู้เห็นอยู่ในที่เดียว แล้วก็พิจารณาธรรมอันนั้นจนเห็นชัด เห็นแจ้งในที่นั้นทั้งหมด จิตจะเบิกบานยิ่งกว่ากาลใดๆทั้งหมด เหมือนกับบุคคลเอาห่อเครื่องประดับอันใหญ่มาเทลงเฉพาะหน้า มองเห็นเครื่องประดับนั้นๆ เห็นกระจ่างแจ้งชัดทุกประการ ในขณะจิตเดียว แล้วจิตนั้นก็จะถอนออกอยู่ตามปกติ แต่เมื่อจะพิจารณาไปทางด้านไหน ไม่ว่าจะพิจารณาตนเอง แลผู้อื่นแลสิ่งอื่น ทั้งภายนอกแลภายใน ล้วนแล้วแต่เป็นไตรลักษณ์ด้วยกันไปทั้งหมด มีแต่ความสลดสังเวชแทบจะพูดกับคนไม่เป็นเสียเลย แต่พูดกับนักปฏิบัติด้วยกันได้อย่างสบาย

ไม่เหมือนคนสมัยปรมาณูเดี๋ยวนี้ ทำกรรมฐานกำหนด ๕ นาที ๑๐ นาที ยังไม่ทันเกิดสมาธิเลย อยากรู้อยากอะไรต่ออะไรหลายอย่าง หรืออยากให้เกิดวิปัสสนาแล้ว ความอยากยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้น แล้วก็แส่ส่ายหาความรู้ที่ตนรู้ตามตำรับตำรามาพิจารณา แล้วก็เข้าใจเอาว่านี้แหละคือวิปัสสนา จำเอาไปเล่าให้อาจารย์ตัดสินให้ เมื่ออาจารย์ยอให้ก็ดีใจ อาจารย์ไม่ยอวิปัสสนาเลยหายเงียบ

ปัญญาวิปัสสนาของแท้ของจริง มันเกิดด้วยสมาธิภาวนาจนชำนิชำนาญแล้วจึงค่อยเกิด มิใช่ของแต่งได้ง่ายๆ ถ้ามิเช่นนั้นแล้วคนจะเป็นพระอรหันต์กันเต็มบ้านเต็มเมือง ตัวอย่างเช่นพระอานนท์เถระเจ้า ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น

มัคคสมังคี

ผู้เจริญปัญญาวิปัสสนา จิตต้องน้อมลงสู่พระไตรลักษณ์อยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะได้รู้จะได้เห็น จะได้ยิน หรือได้ฟังอะไรทั้งหมด เห็นโลกนี้เป็นแต่เครื่องอยู่อาศัยชั่วคราวในเมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นตัวตนทั้งสิ้น ล้วนเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงมั่นถาวรสักอย่างเดียว ทนทุกข์ทรมาน เสวยของไม่เที่ยงทั้งนั้น เมื่อจิตมันเห็นอยู่อย่างนั้นแล้วแน่นอน จิตก็จะน้อมไปเพื่อความพ้นจากทุกข์ ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น ทำไปเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเท่านั้น ผู้เห็นเช่นนี้อยู่เป็นนิจ จิตแก่กล้าเข้าแล้ว จะรวมเข้าเป็น มัคคสมังคี

มัคคสมังคีนั้น ผู้ทำภาวนาได้ฌาน ได้สมาธิมาโดยลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงเจริญวิปัสสนาแก่กล้าเต็มที่แล้ว เข้าถึงมัคคสมังคี จิตจะรวมเข้ามาอยู่ในที่เดียว ธรรมทั้งหลายที่พิจารณาทั้งหมด ก็จะชัดอยู่ในที่เดียว หายความลังเลสงสัยในธรรม ตามภูมิ ตามขั้นของท่าน ความชัดเจนแจ่มแจ้งของท่านที่ว่านี้ มิใช่เห็นด้วยฌานนั้นๆ ซึ่งเป็นภาพนิมิต มิใช่เห็นด้วยโอภาส แสงสว่างต่างๆ อันเป็นวิสัยของฌาน แลมิใช่เห็นด้วยสมาธิ ซึ่งเป็นความรู้ความเห็นอันเป็นเอกเทศส่วนหนึ่งของปัญญาวิปัสสนา แต่มัคคสมังคีนี้ เห็นเหตุทั้งผล ทั้งดีแลชั่วของกองกิเลสนั้นๆ มิใช่แต่ชั่วของกิเลสเห็นดีของมันด้วย แต่เห็นด้วยฌานทัศนะ ทั้งรู้ ทั้งเห็นตามธรรมชาติ ธรรมดาของเป็นจริงของมัน จึงวางตัวให้เป็นกลางได้ แลเมื่อเห็นก็มีความบันเทิงร่าเริงอย่างเต็มที่ และเกิดความรู้ความ เห็นในขณะจิตอันเดียวเท่านั้น แล้วก็ถอนออกมาจะมีความปราโมทย์อยู่อย่างเดียว ต่อจากนั้นก็ จะพิจารณาแต่ธรรมที่ตนได้รู้ได้เห็นนั้นอยู่เป็นนิจ ความรู้ความเห็นที่พิจารณานั้น มิใช่เป็นมัคคสมังคี เป็นอนุโลมตามมัคคสมังคี มังคคสมังคีแท้เกิดในขณะจิตเดียวเท่านั้น

จิตที่เป็นมัคคสังคีนี้จะเกิดแก่พระอริยบุคคลทั้งสี่แต่ละมัคค์ และจะเกิดหนเดียวเท่านั้นจะไม่เกิดซ้ำสอง เมื่อออกจากนั้นแล้ว ถึงจะพิจารณาพระไตรลักษณ์จะเห็นชัดเห็นแจ้งสักเท่าไรๆ ก็เรียกว่าอนุโลม คือเห็นตามของเก่า เห็นตามวิปัสสนานั่นแหละ แต่ไม่เหมือนของเก่า จึงไม่ได้เรียกว่ามัคคสมังคี เว้นเสียแต่จะขึ้นขั้นสูงๆต่อไปก็เห็นแจ้งชัดด้วยตัวเองอย่างนั้นเหมือนกัน แต่แจ้งสว่างชัดเจนและละกิเลสนั้นๆ ได้เป็นชั้นๆ ไปตามขั้นตอนของมัคค์นั้นๆเป็นความรู้ อันเกิดจากปัญญาวิปัสสนาของตนเอง ใครจะมารู้ด้วยไม่ได้ เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น

ปัญญาวิปัสสนานี้ท่านพูดว่าจะเกิดกับพระอริยะเจ้า แต่ละภูมิจะไม่เกิดซ้ำสอง เมื่อถอนออกมาแล้วจะจับอารมณ์นั้นมาพิจารณาอีก อยู่อย่างนั้นต่อไป อย่างที่อธิบามาแล้ว ถึงจะพิจารณาเรื่องอื่นๆ ก็จะมารวมลงพระไตรลักษณ์ เรื่องจะสิ้นสุด เหมือนกับคดีศาลโลก เมื่อเกิดคดีขึ้น จะต้องตามสืบสวนทั้งโจทย์และจำเลย ให้ได้สักขีพยานทั้งสองฝ่ายเสียก่อน แล้วจึงจะขึ้นนั่งบัลลังก์วินิจฉัยเด็ดขาดลงไปว่า ใครถูก ใครผิด ถ้าอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจในคำวินิจฉัยนั้น ก็ต้องขออุทธรณ์ใหม่ ตามสืบสวนสอบสวนอีก แล้วจึงขึ้นนั่งบัลลังก์วินิจฉัยคดีนั้นลงไปตามความเห็นของศาลอุทธรณ์ เมื่ออีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจในคำวินิจฉัยนั้น ก็ต้องขอถวายฎีกาอีก คราวนี้หมดแค่ศาลฎีกาเท่านั้นแหละ ใครถูก ใครผิด เมื่อศาลฎีกาตัดสินแทน ก็เป็นอันสิ้นสุด

มัคคสมังคีนี้ เป็นวิธีปฏิบัติสูงสุดยอดในการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ใครจะปฏิบัติอย่างไรแลวิธีไหนก็ตาม ถ้าปฏิบัติถูกทางในพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องเข้ามาเป็นมัคคสมังคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจงได้ มัคคสมังคีท่านจัดไว้เป็น ๔ ขั้น ตามขั้นของอริยมรรคนั้นๆ เหมือนกัน คือ

  • โสดาปัตติมรรค ๑
  • สกทาคามิมรรค ๑
  • อนาคามิมรรค ๑
  • อรหัตตมรรค ๑

นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ตามประวัติว่าได้สำเร็จโสดาบันตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ แต่ยังแต่งงานกับลูกชายมิคารเศรษฐี มีคนสงสัยกันมากว่าจะไม่ขัดกับหลักที่ว่า ผู้ที่ได้พระโสดาบันแล้วจะต้องละสังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลพพตปรามาส ๑ หรือ อย่าได้ถือสาเลยเด็กหญิงอายุ ๗ ขวบ เมื่อฟังธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง จนกระทั่งจิตรวมเป็นมัคคสมังคีได้ สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ ต่อแต่นั้น ก็ได้ไปฟังเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งเป็นคราว ตามวิสัยของลูกมหาเศรษฐี เพื่อบำรุงศรัทธา จนอายุได้ ๑๖ ปี มาแต่งงานกับลูกชายมิคารเศรษฐี ก่อนจะแต่งงานบิดาหาช่างมาทำเครื่องประดับมีชื่อเรียกว่า มหาลดาปสาธน์ให้นับราคาเป็นหลายสิบล้าน แต่งงานแล้วมีลูกตั้ง ๒๐ คน คลอดออกมาเป็นคู่ๆ เลย นับว่าเป็นคนมีลูกมากเป็นประวัติการณ์ ในระหว่างนั้นคงไม่มีเวลาทำความเพียร นอกจากจะพิจารณาอนุโลมตามมัคคสมังคี ดังอธิบายแล้ว

คำว่าสักกายทิฎฐิ ท่านก็คงจะพิจารณาเห็นชัดแจ้งตามความเป็นจริง ตามสภาพของมันแล้ว แต่เรื่องแต่งงานก็ดี เรื่องใส่เครื่องแต่งตัวก็ดี ท่านทำตามประเพณีนิยมของโลก อย่างคนแก่จะไปไหนที่ก็ต้องผัดแป้งแต่งตัว โดยคิดว่ามิใช่เพื่อความสวยสดงดงามอะไร แต่มันทำตามความเคยชินเท่านั้น

ส่วนวิจิกิจฉา แลสีลัพพตปรามาสนั้น ไม่มีปัญหา ดังจะเห็นได้ เมื่อท่านไปฟังคำเทศนาของพระพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวัน ท่านเปลื้องเครื่องประดับแขวนไว้กับกิ่ง แล้วจึงเข้าไปฟังเทศน์ เวลาฟังเทศน์จบแล้วลืมใส่เครื่องประดับ มาถึงที่ปราสาทจึงนึกได้ว่าลืมเครื่องประดับอยู่ที่วัด จึงบอกคนใช้ไปตาม แล้วก็กำชับว่า ถ้าพระท่านจับต้องแล้วก็อย่าเอามาเลย พอดีคนใช้ไปถามได้ความว่า พระอานนท์ท่านเอาไปเก็บไว้แล้ว (ธรรมเนียมของพระ ถ้าเห็นของฆราวาสตกอยู่ในวัดต้องเก็บไว้ เพื่อเจ้าของเขาจะกลับมาเอาไป) อุ๊ยเครื่องประดับราคานับเป็นสิบๆ ล้าน เห็นเป็นของจิ๊บจ๊อย ลืมได้ไม่มีใครดอกจะลืมได้คนในโลกนี้ ก็พอจะแสดงให้เห็นได้แล้ว นางวิสาขาท่านไม่อินังพังทังกับของเหล่านี้ ทำไป ใส่ไปก็สักแต่ว่าเท่านั้น แต่ความเป็นจริงพวกเราไม่รู้เรื่องความคิดความเห็นภายในใจของท่าน ท่านอาจคิดเห็นแลรู้ซึ้งกว่าพวกเราเสียอีก ที่นำเรื่องนี้มาพูดเป็นวินิจฉัยของเราต่างหาก

ผู้เจริญสมถะ จะเป็นฌานหรือสมาธิ ดังอธิบายมาแล้ว ในเบื้องต้นจะติดอยู่ในฌาน หรือสมาธิ ก็แล้วแต่เถิดล้วนแล้วแต่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมัคคสมังคี ด้วยกันทั้งนั้นเว้นแต่จะเข้าถึงช้าและเร็วเท่านั้น ผู้เข้าไปติดอยู่นานยินดีและเพลินอยู่นาน จนกว่าจะรู้ตัวและแก้ไขได้ ก็กินเวลานานหน่อย ผู้มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลม ไม่ยอมเข้าไปติดและเกี่ยวข้อง เห็นว่าเป็นของไม่ดี ของไม่จริง เห็นเป็นเครื่องหลอกเท่านั้น ก็เข้าถึงมัคคสมังคีได้เร็วขึ้น

ผู้เจริญฌานแลสมาธิทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เจริญฌานเพื่อเข้าถึงซึ่งมัคคสมังคีด้วยกันทั้งนั้น เจริญไปๆ ค่อยแก้กล้าไปๆ แต่ไม่ใช่นับเป็นวัน ต้องนับเป็นภพ เป็นชาติ มีชาติหนึ่งต้องได้ถึงมัคคสมังคีเป็นแน่ ดังพระสาวกของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้สำเร็จมาแล้ว ท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ได้บำเพ็ญมาแล้ว อย่างน้อยต้องนับเป็นอสงไขยทั้งนั้น ท่านมีความเพียรมาก ไม่เหมือนพวกเราทุกวันนี้ พอทำไปนิดหน่อยเมื่อไม่เห็นผลก็เลิกทำแล้ว ไม่ทำละนอนดีกว่า

ธรรมมีปริยายมาก

ความรู้ในพระพุทธศาสนานี้ ถ้าจะพูดว่ากว้างก็กว้าง ถ้าจะพูดว่าแคบก็แคบ ผู้คิดว่าเราจะเรียนพระปริยัติธรรมให้รู้ ให้เข้าใจหรือให้จบเสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติเอาจึงง่ายอย่างนี้ ผู้นั้นห่างจากธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านัก เพราะธรรมมีปริยายมากมายยิ่งนัก ผู้ตั้งใจจะเรียนให้จบแล้วจึงปฏิบัตินั้น ดีอยู่หรอก แต่ชีวิตของเราไปไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็จะต้องตาย อายุ ๑๐๐ ปี ก็ยังเรียนไม่จบในคำสอนของพระพุทธเจ้า ตายแล้วก็ต้องมาเรียนตั้งต้นใหม่อีก บางทีเกิดมาไม่มีครูอาจารย์สอน ชีวิตในชาตินั้นก็หมดเสียเปล่า จึงเรียกว่าห่างไกลจากคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งนัก

ผู้เรียนมากๆ ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ผู้มีคัมภีร์เปล่า ผู้ได้ฟังแล้วเกิดศรัทธาตั้งใจปฏิบัติตาม แล้วรู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมนั้นๆ เรียกว่า วิปจิตัญญู ผู้รู้เห็นธรรมได้เร็ว

ถ้าจะพูดว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์สั่งสอนนั้นเป็นของแคบก็แคบนิดเดียว คือ สอนให้รวมลงที่ใจแห่งเดียว มิใช่รวมลงที่จิต จิตเป็นผู้ส่งส่ายปรุงแต่ง จิตจะมารวมไม่ได้ เมื่อรวมลงที่ใจแล้วจะไม่มีอาการส่งส่าย นิ่งเฉยอยู่เฉพาะตนเอง มีแต่ ผู้รู้ นิ่งเฉยเท่านั้น เรื่องต่างๆ เป็นอันว่าหมดสิ้นกันที

ที่สุด

พระพุทธศาสนาสอนมีที่สิ้นสุด คือสอนในสิ่งใดไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม สอนให้จบลงได้ สอนไปๆ ไม่หนีจากหลักความเป็นจริง ต้องลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น ไม่เหมือนกับศาสตร์ทั้งหลายในโลกนี้ ซึ่งเขาเรียนไม่มีที่จบที่สิ้น ยิ่งเรียนก็ยิ่งบานปลายหาที่ลงไม่ได้ เรียนแล้วก็เอามาหอบไว้ที่อกหนักอึ้ง เรียนไปเถิด คนนี้เรียนไปยังไม่จบตายเสียก่อน คนอื่นเกิดมาเรียนต่อก็ไม่จบ

ความจริงแล้วบรรดาศาสตร์ทั้งหลายที่เรียนกันแพร่หลายอยู่ในโลกทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นของที่มีอยู่ก่อนแล้วในโลกนี้ทั้งนั้น ของไม่มีจะเอามาแต่ไหน เว้นแต่คนไม่คิดเอามาใช้เท่านั้น คนสมัยก่อนหากินไม่ลำบาก คิดค้นวิทยาศาสตร์ตื้นๆ เอามาใช้ก็พออยู่ได้ คนสมัยนี้มากขึ้นหากินลำบาก วัตถุดิบก็หมดไปๆ จึงคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ให้ลึกละเอียดเข้าไปให้ได้ของเหล่านั้นมาใช้มาบริโภค ถ้าไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ เมื่อคิดได้แล้วก็เพลินตามวิทยาศาสตร์นั้นๆ หาได้รู้ตัวไม่ว่า วิทยาศาสตร์เหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกาย ไม่ให้เป็นทุกข์ แลแตกดับเท่านั้น เมื่อแตกดับไปแล้วจะทอดทิ้งทั้งหมด ตนหาที่พึ่งไม่ได้ จะต้องมาเกิดอีก มนุษย์ทั้งหลายมันจึงต้องยุ่งกันอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้มีปัญญาวาสนาบารมีแก่กล้า ได้สร้างสมอบรมมามากแล้ว เมื่อเกิดมาเห็นโลกอันนี้รุ่มร้อนด้วยการแย่งชิง ฆ่า ฟัน ลัก ฉ้อโกง ขโมยกัน ด้วยประการต่างๆ ดังนั้น ก็เกิดความสลดสังเวช ไม่อยากอยู่กับเขาเหล่านั้น จึงคิดเปลื้องตัวออกจากโลก ด้วยกุศโลบายต่างๆ จนกระทั่งรักษา ศีล ภาวนา ทำสมถะ ฌาน สมาธิ แลเจริญปัญญาวิปัสสนากระทั่งทำมัคคสมังคีให้เกิดขึ้นดังได้อธิบายมาแล้วแต่ต้น

พระพุทธศาสนานี้ท่านสอนว่าไม่ให้หนีจาก กาย วาจา ใจ เพราะ กาย วาจา แลใจ เป็นที่รวมของสิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะสรรพกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายที่เราต้องการจะชำระนั้น อยู่ที่กายนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะพลิกหน้าไหนมาดู ล้วนแล้วแต่ตัวกิเลสทั้งนั้น สำหรับผู้ที่ดูเห็นเป็นกิเลส เช่นหน้าของคนเราก่อให้เกิดกิเลสมีเยอะ ตา เห็นรูป ไม่เกิดความรักก็ความชัง ไม่เกิดยินดีก็เกิดยินร้าย อันจะเกิดความวางเฉยไม่มี หู ได้ฟังเสียงย่อมเกิดความไพเราะเสนาะโสต เพลิดเพลินยินดีแลยินร้ายอันจะวางเฉยไม่มีเหมือนกัน จมูก ถูก กลิ่น ลิ้น ถูกรสสัมผัส กาย ถูก สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจ ถูกอารมณ์เข้ามาสัมผัสย่อมเกิดความยินดียินร้าย ตกลงว่าหน้าของคนเราเป็นที่รุมล้อมของกิเลสมากกว่าเพื่อน บรรดากิเลสที่เกิดในร่างกายของคนเรา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ล้วนแล้วแต่อยู่ด้วยกิเลสทั้งหมด ผู้เห็นโทษเบื่อหน่ายในกิเลสเหล่านี้ แล้วปล่อยวาง สละกิเลสทั้งหมด แล้ววางตัวอยู่เป็นกลางๆ กิเลสเหล่านั้นก็จะไม่รุมล้อมได้

กิเลสที่เกิดจาก อดีต อนาคต ถ้าวางตัวให้เป็นกลางได้แล้วกิเลสก็จะไม่มี บุญ บาป ดีชั่ว เกิดจากอดีต อนาคตทั้งนั้น สังขาร สัญญา อุปาทาน แลสรรพกิเลสทั้งปวงล้วนแล้วแต่เกิดจากอดีต อนาคตทั้งสิ้น ถ้าจิตเป็นกลางแล้วเรียกว่า ใจ จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่นั้น จิต กับ ใจ เป็นไวพจน์ ของกันแลกัน ในธรรมของพระพุทธองค์ย่อมใช้แทนกันได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า จิตอันใด ใจก็อันนั้น ที่ผู้เขียนเขียนว่า จิต กับ ใจ เป็นคนละอันกันนั้น เพื่อให้เข้าใจตามภาษาของชาวบ้านชัดเข้าไปอีก แลเพื่อฟังง่ายขึ้น จิต เป็นผู้คิด ผู้ปรุง ผู้แต่งสารพัดทั้งปวง อยู่นิ่งไม่ได้ ที่จะให้เกิดสติปัญญารอบรู้สิ่งต่างๆนั้น ย่อมเกิดจากจิตนี้ทั้งนั้น

ความจริงเมื่อเราทำใจให้เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวงแล้ว จะไม่มีอะไรทั้งหมด จะมีแต่ความรู้สึกว่าเฉยๆ ถ้าผู้ใคร่จะทดสอบว่าใจแท้เป็นอย่างไร ให้กลั้นลมหายใจดูสักพักหนึ่ง ในขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลย จะมีแต่ความวางเฉยนั่นแหละคือตัว ใจ ใจ คือ ผู้รู้ หรือ ธาตุรู้ ก็ว่า ธาตุรู้จะไม่มีกิเลส หรืออารมณ์อะไรทั้งหมด ที่มีกิเลส หรือ อารมณ์ สัญญา สังขาร อุปาทานทั้งหมดเกิดจากจิต จิตไปแส่ส่ายหามาต่างหาก เพราะธาตุ ขันธ์ อายตนะ เหล่านี้มีอยู่ จึงต้องมีผัสสะ วิญญาณจึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ดับไปแล้ว ใจ ตัวเป็นกลางก็หมดเรื่อง ไม่มีอะไรที่จะมากระทบอีก

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า วิญญาณดับ จิตจึงดับ เมื่อจิตคิดนึก ส่งส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย แลเกลียดกลัวยิ่งนัก เพราะวิญญาณเป็นตัวเหตุ อายตนะเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว วิญญาณจะดับหรือไม่ จิตก็ไม่ได้ถือเอามาเป็นอารมณ์ จิตก็อยู่พอจิต จิตก็วางเฉย รวมเข้ามาเป็นใจ

[จบ ถึงโลก ถึงธรรม: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี]