สามทัพธรรม
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
คำปรารภ
มนุษยชาติทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ซึ่งมีขันธ์ ๕ เป็นเครื่องอยู่อาศัย จะเว้นเสียซึ่งภัยธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ไม่ได้เลยเด็ดขาด คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลาย พระองค์เป็นวิสุทธิขันธ์ ละบาป ละบุญแล้วก็ตาม ก็ยังถึงซึ่งปรินิพพานธาตุเป็นไปตามสังขารธรรม
เช่นพวกเราท่านทั้งหลาย ตัวของข้าพเจ้าเองก็มีสภาพเป็นไปเช่นนั้นเหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อต้นพรรษานี้ พ.ศ.๒๕๑๔ ข้าพเจ้าได้ล้มป่วยลง ด้วยโรคน้ำท่วมปอด (ตามแพทย์ตรวจ) แทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่ด้วยความเอื้อเฟื้อของญาติโยมและแพทย์ทั้งหลายจึงรอดชีวิตมาได้ แต่จนบัดนี้ (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕) อาการก็ยังไม่เป็นปกติเลย
แท้จริงการเจ็บป่วยนับว่าเป็นอันตรายแก่ชีวิต อันใครๆไม่พึงปรารถนาก็ตาม แต่มันก็เป็นพยาธิธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมและมุ่งในธรรมเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลาย จะเว้นธรรม ๔ ประการนี้เสียมิได้เลย คือ ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม หากไม่มีธรรม ๔ ประการนี้เป็นเครื่องดำเนินเสียแล้ว คนเราก็จะพากันประมาทเสียโดยมาก
อนึ่ง เป็นที่น่าเสียดายที่นักปฏิบัติธรรมบางท่าน เมื่อธรรมเหล่านั้นมาปรากฏให้รู้ให้เห็นแล้ว แทนที่จะพอใจยอมหยิบยกเอาธรรมเหล่านั้นขึ้นมาพิจารณาอ่านพระคัมภีร์ทรวงที่ตนปรารถนามานานแล้ว แต่กลับแสดงความรังเกียจไม่พอใจปล่อยพระธรรมอันจะนำสุขมาให้ ให้ผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดาย แล้วยังคงเหลือแต่กากที่เป็นอกุศลธรรม นำทุกข์ตรอมใจมาให้ถ่ายเดียว และบางท่านได้อุบายความรู้ความฉลาดอันเกิดจากการปรารภอาพาธนั้นด้วยความไม่ประมาทแล้วก็ตาม หลังจากหายอาพาธนั้นแล้ว เกิดความประมาทเสีย ด้วยคิดว่าเราได้รู้เห็นธรรมและเอาชนะกับเวทนาอย่างกล้ามาแล้ว แล้วก็ไม่ยักจะยกเอาเรื่องนั้นขึ้นมาปรารภอีก หรือจะยกขึ้นมาปรารภอีกก็ด้วยความประมาท ถือว่าตนเคยรู้เคยกำหนดพิจารณาได้ความชัดมาแล้ว
ดังนั้น ความประมาทอันนี้แหละ ทำให้นักปฎิบัติธรรมกรรมฐานเสื่อมจากข้อวัตรปฏิบัติและศีลธรรมไปทีละน้อยๆ จนในที่สุดไม่มีอะไรเหลือไว้ในใจของตนเลย จะมีอยู่บ้างก็แต่ฟองน้ำลายในปากที่เล่าความฝันต่างๆ ในที่นั้นๆ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายยากนักที่จะก้าวขึ้นมาถึงขั้นนี้ได้ เมื่อก้าวขึ้นมาได้แล้วเกิดความประมาทเสีย จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้า ผู้ได้เคยประสบเหตุการณ์ และเหตุแห่งความประมาทของผู้ปฎิบัติ ทำให้เสื่อมเสียจากธรรมมามากแล้ว จึงใคร่เขียนหนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสตินักปฏิบัติด้วยกัน ด้วยเจตนาอันหวังดีของข้าพเจ้าจริงๆ หากในหนังสือเล่มนี้จะมีการบกพร่อง หรือ เป็นการกระทบกระเทือนน้ำใจของท่านผู้อ่านทั้งหลายอยู่บ้าง ข้าพเจ้าขออภัยด้วย ขอได้โปรดเลือกรับประทานแต่เนื้อแท้หวานฉ่ำหอมมันของทุเรียนเถิด เปลือกของมันได้กรุณาทิ้งมาให้ข้าพเจ้าคนเดียวก็แล้วกัน
เทสรังสี
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๕
ปัญญาเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป
ปัญญาเป็นของประเสริฐดีเลิศ ทุกคนไม่เลือกหน้า ขี้ข้า ผู้ดี ไพร่ ตลอดถึงเศรษฐี พระราชา พระมหากษัตริย์ ล้วนแล้วแต่ปรารถนาปัญญาด้วยกันทั้งนั้น หากจะมีใครสักคนมาชมว่าเจ้าคนนี้มีปัญญาฉลาดช่างพูดคมคายนัก ผู้ถูกชมแม้แต่จะเป็นเด็กๆ ก็จะมีความชื่นใจขึ้นมาทันที ทั้งๆที่บางคนอาจจะไม่รู้คุณค่าลักษณะของปัญญาว่าเป็นเช่นไร แล้วจะเอาไปใช้ในทางไหน ปัญญานั้นมีอยู่ในตนหรือเปล่า ตรงกันข้ามหากเขาติว่าเจ้าคนนี้โง่ไม่มีปัญญา หรือหากเขาจะพูดเปรียบเปรยในทำนองที่ว่าตนเป็นคนโง่ ผู้ถูกเขาตินั้นอย่างน้อยก็จะแสดงกิริยาไม่พอใจขึ้นมาทันที ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป
ปัญญาถึงแม้จะเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไปก็จริง แต่บางคนก็ยังไม่แสวงหาปัญญานั้น หรือแสวงหาแต่ไม่ถูกทางก็ยังมีอยู่มิใช่น้อยเหมือนกัน ปัญญาเป็นชื่อของความรู้ ความฉลาดชนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นของกลางๆ มิใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ใครจะถือกรรมสิทธิ์ผูกขาดไม่ได้ ผู้ใดจะสร้างปัญญาให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว จะต้องยึดหลัก ๔ ประการเหล่านี้เป็นเครื่องดำเนิน คือ
- ๑. ต้องหมั่นฟัง (ฟังคำสอนที่ดีจากผู้มีความรู้ที่ดี มิฉะนั้นแล้วจะได้ ทุวิชา ทุปัญญา อันจะนำความฉิบหายมาให้แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย)
- ๒. คิดตรองตามความรู้ที่ได้ฟังมา และอื่นๆ อีก อันจะเป็นประโยชน์ปราศจากโทษ
- ๓. หากตริตรองตามแล้วไม่เข้าใจ สงสัย อย่าเอาไปอมไว้ รีบเข้าไปไต่ถามท่านผู้รู้ผู้ฉลาด ให้สิ้นสงสัยทันที
- ๔. เมื่อเข้าใจเนื้อความถ่องแท้แล้ว จงจดจำนำเอาไปปฏิบัติตาม
เมื่อผู้ใดสร้างปัญญาให้เกิดมีขึ้นในตน แล้วปฏิบัติได้ตามความรู้ความเข้าใจตามความสามารถของตนๆ จึงจะเรียกว่านักปราชญ์โดยแท้จริง บัณฑิตก็ดี เป็นสามัญชื่อของผู้มีความรู้ความฉลาด สามารถประพฤติตนเป็นคนดีเด่น เป็นผู้นำอันบุคคลอื่นทำได้ยาก ชื่อทั้งสองนี้มักใช้เป็นโวหารสำนวนในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาโดยมากมานานแล้ว และใช้เฉพาะบุคคลผู้ประพฤติตนดังกล่าวแล้ว ไม่มีการสอบให้คะแนนกัน
สมัยนี้มีผู้นำเอาคำทั้งสองมาใช้ลงในประกาศนียบัตรของผู้สำเร็จการศึกษาในวิชาแขนงต่างๆ ในสถาบันนั้นๆ เช่น เนติบัณฑิต เกษตรศาสตรบัณฑิต เป็นต้น แต่ผลได้นั้นมันผิดกัน สมัยนี้ได้สำเร็จเพราะการศึกษาตามหลักสูตรในแขนงวิชานั้นๆ
สมัยโน้นได้เป็นนักปราชญ์บัณฑิตเพราะการปรับตนให้เป็นคนดีกว่าเดิม บางท่านอาจไม่มีการศึกษาตามหลักสูตรอะไรเลย แต่ปรับตนให้เป็นคนดีขึ้นมาจนคนภายนอกหรือผู้รู้ทั้งหลายเห็นเป็นคนดีพร้อมแล้ว จึงให้สมัญญาอย่างนั้น คนเหล่านี้มีอยู่ ณ สถานที่ใด ชุมนุมชนใด ย่อมทำให้สถานที่และชุมชนนั้นๆ เยือกเย็นเจริญสุข
ซึ่งผิดกับบัณฑิตในกระดาษ บางคนอาจยังไม่คิดจะปรับปรุงตัวของตัว ให้เข้ากับบัณฑิตกระดาษเลยก็ได้ เพราะความหลงเห่อในบัณฑิตกระดาษของตน ฉ้อราษฎร์บังหลวง กินดิน กินหิน กินทราย กินเหล็ก กินปูน กินป่านับร้อยๆ พันๆ ไร่ โดยมากมักเป็นบัณฑิตในกระดาษทั้งนั้น
นักเลงอันธพาลลักเล็กขโมยน้อย ตีชิงวิ่งราว จับเรียกค่าไถ่ เหล่านี้ถึงแม้เขาจะทำความเดือดร้อนก็ทำกับเฉพาะบุคคลส่วนน้อย ไม่เหมือนบัณฑิตในกระดาษ ซึ่งทำความเดือดร้อนไม่เลือกหน้า นับแต่ขี้ข้าผู้ดีมีจนเดือดร้อนทั่วกันไปหมด กีดกันความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ บ้านเมือง ก็เป็นพวกเหล่านี้เสียโดยมาก
ท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ท่านเกิดมาในโลกนี้และเป็นอยู่ในขณะนี้นั้นเพื่อประโยชน์อันใด และประโยชน์นั้นท่านได้ทำให้แก่สังคมและตัวของท่านเองแล้วหรือเปล่า หากท่านยังไม่เคยคิด ก็ขอให้รีบคิดและรีบทำเสีย อย่าได้ปล่อยเวลาให้หมดสิ้นไปโดยหาประโยชน์มิได้เลย เพราะเวลาเป็นของมีค่า หมดไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้อีก อย่าอยู่โดยไม่คิดอะไรเสียเลย เหมือนไม้ตายยืนต้นไม่มีแก่นฉะนั้น
ไม้ตายยืนต้นไม่มีแก่นยังจะดีกว่าบุคคลผู้เกิดมาแล้วไม่รู้จักนึกคิดและทำประโยชน์อะไรให้แก่ตนและบุคคลอื่นเสียอีก เพราะไม้ตายยืนต้น อย่างน้อยคนและนกก็ยังพอจะได้อาศัยบ้าง ไม่เหมือนกับบุคคลจำพวกที่กล่าวแล้ว นกจะเกาะก็ไม่ได้ คนจะใช้ก็ไม่ดี หรือหากจะคิดในสิ่งไร้สาระ เหมือนไส้เดือนเกิดอยู่ในดินนอนกินดินอยู่ข้างใต้ ขึ้นมาถ่ายมูลไว้ข้างบน เพราะกลัวดินจะหมด (ตามเรื่องเล่ามา)
ความเกิดมาของมนุษย์
ความจริงอย่างหนึ่งในความจริงหลายอย่างมีอยู่ว่า ความเกิดมาของมนุษย์เราในโลกนี้ ที่แท้แล้วก็เกิดมาเพื่อการต่อสู้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ตั้งใจต่อสู้ แต่มันก็ได้ต่อสู้แล้วตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ของมารดา เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องต่อสู้กันไปเรื่อยๆ เมื่อใครต่อสู้ไม่ไหวก็ลาโลกนี้ไป ไว้ต่อสู้กันเมื่อเกิดมาใหม่
การต่อสู้ในโลกนี้มีความประสงค์หลายอย่าง จะต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเพื่อความอยู่รอดแห่งชีวิต หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการและปรารถนาก็ตาม เมื่อสรุปแล้วก็เพราะความไม่อิ่มไม่พอของจิตนั่นเอง จึงดิ้นรนเป็นทุกข์ ผู้ที่ท่านอิ่มพอ หมดอยาก ไม่มีปรารถนาแล้ว ไม่ต้องต่อสู้อยู่เป็นสุข
เด็กยังอยู่ในครรภ์ไม่น่าจะมีการต่อสู้อะไรเลยเพราะไม่มีศัตรูเวรภัยอะไร แต่ความจริงแล้ว อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ๔ อย่างนี้คือศัตรูของสัตว์ผู้ยังมีความเกิด ท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ ผู้ใดมีธรรม ๔ อย่างนี้เกาะเกี่ยวอยู่ ได้ชื่อว่ามีศัตรูเวรภัย จำเป็นต้องต่อสู้ แพ้หรือชนะก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล เด็กที่เกิดอยู่ในครรภ์ มันก็ต่อสู้กับสเปอร์มาโตซัวจำนวนนับเป็นหมื่นๆ ชนะมาแล้วจึงตั้งรกรากจับเป็นก้อนเป็นตัวขึ้นมา
อนึ่ง เด็กที่เกิดอยู่ในครรภ์ของมารดานั้นจำต้องพึ่งพาคนอื่น (คือ มารดา) ทุกๆ วิถีทาง ถึงแม้ตอนแรกๆ เด็กจะไม่ต้องหายใจ แต่มันก็ต้องอาศัยรับแก๊สออกซิเจนและอาหารที่ย่อยสำเร็จแล้วผ่านเข้ามาทางรก ขับถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์และปฏิกูลบางอย่างกลับออกไปทางนี้ เมื่อเด็กโตขึ้นมาจนปรากฏมีลมหายใจแล้ว จำต้องพึ่งพาอาศัยมารดามากขึ้นเป็นเงาตามตัว ลมหายใจ ชีวิตเลือดเนื้อ ต้องแบ่งปันออกไปจากมารดาทั้งนั้น ชีวิตฝากไว้กับบุคคลอื่นมันแสนจะลำเค็ญ ความเป็นความตาย แล้วแต่เขาจะชี้ชะตากรรมให้
ความเป็นอยู่ของเด็กที่อยู่ในครรภ์ของมารดา ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนนานาประการ เด็กบางคนสู้ไม่ไหวจึงตกไปในระหว่างที่ยังไม่คลอด (แท้งลูก) ก็มี ผู้ที่คลอดออกมาได้อวัยวะครบครันจึงนับว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ขั้นหนึ่งแล้ว
หากท่านตั้งสติหลับตานึกคิดไปถึงสภาพเดิมเมื่อท่านกำลังต่อสู้อยู่กับศัตรู ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดานั้นโดยปราศจากอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็เอาชนะจนคลอดออกมาได้ น่าจะภูมิใจในความชนะของท่านมิใช่น้อยเลย การได้ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะอย่างมหึมา ยิ่งกว่าการชนะสงครามโลกอันประกอบด้วยแสนยานุภาพเหลือที่จะคณานับ นั่นเป็นการต่อสู้โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะต่อสู้และเป็นปฏิปักษ์กับใครๆ เลย แต่เราก็ได้ต่อสู้และได้ชัยชนะเพื่อได้มาซึ่งอิสระแก่ตัวเองกับไพรีผู้เป็นข้าศึกแก่จิตใจของเรา (คือ กิเลส กรรม วิบาก) นี่เราได้ชัยชนะกองทัพแรกผ่านพ้นมาแล้วกองทัพหนึ่ง
การมีคู่
ทัพต่อไป ถ้าท่านมิใช่เลือดนักรบที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็ยากที่จะเอาชนะมันได้เหมือนกัน เพราะเราต่อสู้กับทัพ ๑ แล้วมันจะกลายเป็น ๒ เป็น ๓ เป็นเรื่อยจนไม่มีที่สิ้นสุด การแพ้และชนะตามคติของโลกเขา มีกรรมการตัดสิ้นชี้ขาด เมื่อกรรมการตัดสินชี้ขาดอย่างไรแล้ว ผู้แพ้และชนะก็ยอมตามคำชี้ขาดนั้น
แต่การต่อสู้ภายในตัวของเราเองดังแสดงมาแล้วนั้น หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เราเป็นผู้เห็นภัยในศัตรูคือ กิเลส กรรม วิบาก อันมีอยู่แล้วในตัวของเรา จึงคิดปฏิวัติมิให้จิตหลงใหลเข้าไปยึดเอา กิเลส กรรม วิบาก ซึ่งสมมติว่าเป็นข้าศึกแล้วต่อสู้ด้วยอาวุธ (คือ ปัญญา) จนให้กิเลส กรรม วิบาก เหล่านั้นเป็นธรรมแล้วไม่ต้องตั้งกรรมการตัดสินชี้ขาด แต่ชี้ขาดด้วยความสามารถแห่งปัญญาญาณของตนแต่ผู้เดียว ชนะอย่างนี้สบาย ไม่มีเรื่องยุ่ง ชนะแล้วก็แล้วไป
แต่การชนะทัพ ๑ แล้วกลายเป็น ๒ เป็น ๓ เป็น ๔ ดังจักแสดงต่อไปนี้ คือ เป็นการชนะด้วยตัณหา ความดิ้นรน ทะเยอทะยานอยากเป็นทุน จึงชนะแล้วแพ้ไม่มีที่สิ้นสุด เด็กที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้ว ก็นับว่าได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวงทัพหนึ่ง แต่จะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มันต้องการอีก ดูซิ มันดิ้นรนกำมือกำไม้ร้องไห้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มันต้องการปรารถนามิใช่หรือ เด็กที่มันซุกซนมากยิ่งแสดงออกซึ่งการต่อสู้ของมันมากขึ้น ชายหนุ่มหญิงสาวที่กำลังมัวเมาอยู่กับความรัก ความใคร่ ต่อสู้กับสิ่งที่ตนต้องการ เมื่อมันผิดหวังจนเสียผู้เสียคน เน่าทั้งเป็น หรือยอมตายดิบๆ ก็เพราะยอมแพ้มันมิใช่หรือ
เอาละ สมมติว่าท่านเลือกคู่รักได้ตามชอบใจอย่างสุดซึ้งจนไม่มีที่ติ ซึ่งท่านหมายปองมานานแล้ว เวลานี้ท่านได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของท่านแล้วโดยสิ้นเชิง ท่านคงจะดีใจว่าได้ชัยชนะแล้วมิใช่หรือ แต่ทางสัจธรรมมันตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าถือว่านั่นเป็นการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข แพ้ตรงไหน ท่านเคยคิดหรือเปล่า ข้าพเจ้าคิดว่าหากใครคิดได้เช่นนั้นแล้วคงจะไม่มีใครคิดจะแต่งงานเป็นแน่ เมื่อพูดมาถึงตอนนี้แล้วคงจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่า ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ เมื่อไม่มีการสืบพันธุ์แล้ว โลกก็จะพลันฉิบหายทีเดียว เมื่อมีผู้คิดอย่างนี้ขึ้นมา ก็เกิดเป็นปัญหาโลกแตก ปัญหานี้เกิดขึ้นมา ณ ที่ใด กลุ่มชุมชนใด ตรงนั้นแหละแตกก่อนเพื่อน เมื่อไม่คิดว่าโลก ก็เป็นโลก ธรรมก็เป็นธรรมอยู่มาได้จนป่านนี้
คราวนี้ว่าถึงการแพ้ต่อไป แพ้ตรงที่ท่านยอมแพ้ความรัก ความใคร่ ความชอบใจ ถ้าจะพูดให้ตรงๆ แล้ว ก็คือท่านยอมแพ้ใจของท่านเองอันยังเต็มไปด้วยกิเลสอยู่ เมื่อท่านยอมแพ้ของเหล่านี้แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะต้องยอมแพ้ไปทั้งหมด คือ ยอมตามใจ ยอมให้เอกสิทธิ์บางอย่างหรือทั้งหมด ยอมเสียอิสระรับใช้เป็นทาส ยอมให้โอกาสในความผิดบางกรณี หรือทั่วๆ ไปแก่คู่รักของท่าน ซึ่งผิดจากคราวเมื่อท่านยังไม่มีคู่รัก เป็นอิสระแก่ตัวเองอยู่เป็นไหนๆ คู่รักบางคู่เห็นอีกฝ่ายยอมแพ้เลยได้ใจใหญ่ ฉวยโอกาสถือกรรมสิทธิ์ยึดอิสระเอามาเป็นของตัวทั้งหมด แอนตี้เอาจนเงยหัวไม่ขึ้นเลยก็มี คู่ครองคู่นั้นจะหาความสุขไม่ได้เลยตลอดชาติ ถึงจะนอนบนกองเงินกองทองมรดกของบรรพบุรุษ เงินทองนั้นก็พลันฉิบหาย หาใหม่ก็จะฝืดเคืองแสนยาก เพราะสิริที่เป็นเครื่องดึงดูดของโภคทรัพย์ไม่มี
หากคู่ครองใดมีศีลธรรมตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต คิดถึงอกเขาอกเรา เคารพในสิทธิของกันและกัน ให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน ไม่ถือรั้นเอาแต่ใจของตนข้างเดียว และรับภาระประกอบกิจในหน้าที่ของตนๆ เป็นต้น คู่ครองคู่นั้นแม้เขาจะเป็นคนถือกระเบื้องขอทาน เขาก็จะมีความสุขมหาศาลยิ่งกว่ามหาเศรษฐี เพราะมีสิริอยู่ในตัวดังกล่าวแล้ว
พระพุทธเจ้าผู้ทรงรอบรู้ในเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้แล้วจึงทรงพระมหากรุณาตรัสสอนฆราวาสธรรมไว้ให้ผู้ที่ยังจมอยู่ในกามคุณ ๕ นำไปปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์ นำความสุขมาให้ควรแก่วิสัย โดยใจความว่า ไหนๆ เมื่อบุรุษยอมรับรักสตรีที่ตนชอบใจเอามาไว้ในคุ้มครองของตนแล้ว พึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างนี้
- ๑. พึงยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา อย่าได้ถือเสมือนข้าทาสหรือเมียเช่า
- ๒. อย่าดูหมิ่นเขาเหมือนคนที่มาอาศัยเราอยู่
- ๓. อย่าประพฤติล่วงละเมิด เที่ยวเตร่อย่างคนไม่มีภรรยา
- ๔. มอบกรรมสิทธิ์ให้เขาเป็นใหญ่ในบ้านหรือทรัพย์สมบัติทั้งปวง
- ๕. ให้เครื่องแต่งตัวตามที่เขาต้องการ
เมื่อภรรยาได้รับบำรุงอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นที่พอใจ แต่กุลสตรีบางคนผู้ไร้ศีลธรรมขาดความรู้สึกสำนึกในตัว อาจเข้าใจผิดไปว่าสามีหลงใหลในตัวเลยได้ใจใหญ่ นึกอยากจะว่าสามีอย่างไรก็ว่าเอาๆ โดยมิได้คิดถึงสิ่งที่พอดีพองาม บางทีก็รุกรานไปจนถึงคนที่สามีเคารพนับถือ หรือต่อหน้าสาธารณชนก็มี ผู้ชายโดยมากมักเป็นผู้อดทน และรักษามารยาทเพื่อศักดิ์ของลูกผู้ชาย ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนผู้ชายเป็นส่วนมากให้เห็นโทษในกุลสตรี ดังจะเห็นได้ในพระสูตรต่างๆ ที่พระองค์ทรงตรัสสอนแก่ภิกษุ เมื่อสามีไม่โต้ตอบก็เลยฉวยโอกาสยึดอำนาจปฏิวัติเอาเลย ชายใดได้ภรรยาดังกล่าวมานี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับเอางูเห่ามานอนร่วมเตียง แต่หญิงที่มีคุณธรรมประจำตัวอยู่ ย่อมตรงกันข้าม เมื่อสามีทำดีต่อตนแล้ว ย่อมเกิดความละอายแก่ใจแล้วก็ใคร่จะทำความดีสนองบุญคุณของสามี คือ
- ๑. ด้วยจัดงานในบ้านและหน้าที่ของตนดี
- ๒. สงเคราะห์ญาติมิตรคนข้างเคียงของสามีด้วยน้ำใจอันดี
- ๓. ไม่ทำตนเป็นคนเจ้าชู้และนอกใจสามี
- ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
- ๕. มีความขยันในกิจหน้าที่ของตน มีการงานในบ้าน
เป็นต้น
ชายใดได้ภรรยาดังกล่าวมานี้ ก็เหมือนกับได้นางแก้วมาเป็นภรรยา ได้มาแล้วไม่รู้จักเบื่อหน่ายคลายความรัก ไม่มีความเดือดร้อนเป็นทุกข์ มีแต่จะนำความสุขอันโลกนี้พึงปรารถนามาให้
การยอมแพ้ต่อไปก็คือ เมื่อท่านได้สมาชิกเพิ่มขึ้นมา เมื่อเพิ่มขึ้นมา ๑ คน ท่านก็จะแบ่งเอาความรักซึ่งมีอยู่ในใจของท่านหรือคู่รักของท่านอีกด้วย ไปมอบแก่สมาชิกตาดำๆ ของท่านอีกส่วนหนึ่ง หรือเกือบหมดก็ได้ หากสมาชิกของท่านเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ท่านก็จะแบ่งเอาความรักและความอารักขา ความสงเคราะห์อะไรต่ออะไรเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ความรักความใคร่อันมีอยู่ในใจของท่านนั้น ซึ่งท่านยอมสละออกไปให้แก่คนอื่นนั้น หากมันเป็นวัตถุสิ่งของแล้วเกือบจะไม่มีเหลือติดตัวเลยก็ว่าได้
เครื่องผูก ๓ อย่าง
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เมื่อพูดมาถึงตอนนี้แล้ว พอจะรู้ตัวและยอมรับได้แล้วหรือยังว่า ผู้ที่ถือตนว่าเป็นผู้ชนะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น แท้จริงคือเป็นผู้แพ้แล้วโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อแพ้แล้วยังผูกมัดตัวเองด้วยข้อผูกมัดอีก ๓ ประการ ตามพระพุทธบรรหารว่า
…ปุตฺตคีเว ภริยา หตฺเถ ธนปาเท…
เครื่องผูก ๓ อย่าง คือ ภรรยา บุตร ทรัพย์ เป็นเครื่องผูกอย่างหลวมๆ แต่เหนียวแน่น ยิ่งดิ้นเท่าไรก็ยิ่งรัดเข้าเหมือนเชือกผูกขาหมู ยิ่งดิ้นเชือกก็จะเชือดเอาหนังและเนื้อจนเข้าถึงกระดูก (สมตามคำข่าชาวเขา บุตรเขาเรียกว่ากวนใจ สามีเขาเรียกว่า กวน… กวน หมายถึงความเป็นใหญ่ ภาคอีสานตลอดประเทศลาวตอนหลังๆ จากนี้ไป ไม่นานนักผู้ใหญ่บ้านเขาเรียกว่า กวนบ้าน สำนวนเขาว่า “บ้านเมืองร้อน กวนเมืองชิงไพร่…” ลูกๆ ที่เขาเรียกว่ากวนใจ เพราะ เป็นใหญ่ในหัวใจ สามีเขาเรียกว่ากวน… เหมือนกัน)
เมื่อมารู้ตัวว่าเป็นผู้แพ้แล้ว แลพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะกลับคืนมา นับว่าเป็นการดีอยู่ แต่ผู้ที่แพ้แล้ว แลเข้าใจว่าตนได้ชัยชนะนี่ซิ… มันลำบากหน่อย คิดไปอีกอย่างก็ดีเหมือนกัน การต่อสู้เป็นทุกข์ ยอมแพ้เสียแล้ว ไม่ต้องทำ แลปรารภอะไรให้เปลืองสมอง สบายดี
วีรชนทั้งหลายถือว่า ตายในสมรภูมิ มีเกียรติกว่าจะยอมแพ้แล้วตายโดยไม่มีการต่อสู้อะไรเลย
โลกมีแต่ทุกข์ที่เกิดดับ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “…โลกนี้มีแต่ทุกข์ นอกจากทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีอะไรเลย ” อธิบายว่า ทุกข์เพราะการอยากได้แล้วแสวงหา เมื่อได้มาแล้วทุกข์นั้นหมดไป แล้วทุกข์เพราะการอารักขา การใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่บ้านเรือน เป็นต้น เมื่อทุกข์นั้นหมดไป ก็ทุกข์เพราะปรุงแต่งอาหารรับประทาน ผ้าก็ต้องซักฟอกทำความสะอาด โดยเฉพาะอาหารมันจะเข้ามานอนอยู่ในท้องเราสักพักหนึ่ง แล้วมันจะต้องบังคับให้เราไปส่งมันเสียด้วย หากมันบังคับให้เดินหรือวิ่ง เช้าสายค่ำคืนดึกดื่นก็ต้องตามใจมันทุกอย่างจะรีรออยู่ไม่ได้เด็ดขาด จะสกปรกหรือเหม็นแสนเหม็น มันบังคับให้เรานั่งเฝ้าอยู่เป็นคู่มัน จนกว่ามันจะเสร็จภารกิจของมัน
ท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่า รสอร่อยเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วใครเป็นผู้รับสุขรับทุกข์กันแน่ สุขเพราะลิ้นรับรสอร่อย แล้วสุขนั้นหายไป ทุกข์เพราะนำทุกข์ไปถ่าย เมื่อนำทุกข์ไปถ่ายแล้วจะมีทุกข์อื่นเข้ามาแทนอีก ก็ทุกข์เพราะความอยาก ความหิว-หา-รักษา-ใช้สอย-รับประทาน-ถ่ายทุกข์ วนเวียนโคจรอยู่อย่างนั้นตลอดชาติ คนเรามีไถ้ ๒ ปากอยู่คนละไถ้เก็บอะไรใส่ไม่รู้จักเต็มสักที พอใกล้จะเต็มก็ไหลออก ผู้ไม่พิจารณาให้เห็นตามจริงแล้วก็หลงเพลินอยู่กับทุกข์เหล่านั้น ถือเอาความทุกข์เหล่านั้นมาเป็นความสุข แล้วก็เพลินเมาอยู่กับทุกข์เหล่านั้น
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอให้อดใจติดตามการต่อสู้ของมนุษย์คนเราทั้งหลายดังข้าพเจ้าจะแสดงต่อไปนี้สักนิด ท่านผู้ที่มีแฟนและมีสมาชิกในครอบครัวพอสมควรดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ความรักใคร่ชอบใจหรือหวงแหนในแฟนของท่านจะซาบซึ้งลึกตื้นหนาบางขนาดไหน ผู้มีแล้ววัดทราบด้วยใจของตนเอง คนอื่นบอกไม่ถูกทั้งนั้น สมบัตินอกจากนี้ไม่ต้องพูดถึง พูดแต่เฉพาะแม่บทไว้ก่อนว่า เรื่องพรรค์นั้นท่านเคยคิดล่วงหน้าไว้บ้างหรือเปล่าว่า วันหนึ่งข้างหน้ามันจะคงทนอยู่ได้หรือไม่
กฎธรรมดามีอยู่ว่า หนุ่มแล้วจะต้องแก่ รักแล้วจะต้องชัง ใคร่แล้วจะต้องเบื่อหน่าย เกิดแล้วจะต้องแก่-เจ็บ-ตาย มีแล้วจะต้องจน คนเราโดยมากชอบแต่บทต้นคือ รัก เป็นต้นเพราะมันสนุก แต่บทปลายคือชังเป็นต้นไม่ชอบ เพราะมันเป็นทุกข์ แต่ของอย่างนี้น้ำหนักเท่ากัน เมื่อพูดถึงราคาแล้วบทปลายคือชังแลทุกข์มีค่าสูงกว่า
เมื่อท่านตรองให้ดีจนเห็นบทปลายเป็นของมีค่าดังกล่าวแล้ว ท่านก็จะได้เตรียมของไว้แลกเปลี่ยนเอาของมีค่า (คือ อุบายปัญญา) ซึ่งเขาจะเอามาจำหน่ายให้แก่ท่านวันหนึ่งข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือความเจ็บและความตายของคู่ชีวิตของท่าน เมื่อท่านเห็นเข้าแล้วจะไม่มีการต่อหรือถามถึงราคาว่าเท่านั้นเท่านี้ จะปรี่เข้าสวมกอด แต่มิได้สวมกอดด้วยความรักใคร่เสน่หาเหมือนเมื่อยังดีๆ อยู่เลย แต่จะเอาความรักและความกลุ้มใจ เจือด้วยความโศกาอาดูรแสนสาหัสเข้ามาแทน นี่แลที่ข้าพเจ้าว่าทุกข์มีราคาสูงกว่าสุข
และในกรณีเดียวกันนี้ ถ้าผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นค่าของบทปลายเป็นของมีค่าสูงกว่าบทต้น ดังข้าพเจ้าแสดงมาแล้วนั้น เป็นผู้ไม่ประมาทเตรียมของไว้แลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ด้วยการพิจารณาเรื่องเหล่านั้น ให้ลงเห็นเป็นพระไตรลักษณญาณและจะต้องพลัดพรากจากกันไปตามวิบากของขันธ์ แล้วแสวงหาสิ่งป้องกัน มีการบำเพ็ญความดีงามตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นพื้นฐาน แล้วยกทัพขับเคี่ยวกับศัตรู (คือ ทุกข์และความตาย) เพื่อให้พ่ายแพ้ ตามกระแสพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “…ทุกข์เป็นของไม่ควรละแต่เป็นของควรต่อสู้…” (คือ เอามาพิจารณา)
ความทะยานอยากได้สุขหรือไม่อยากให้มีทุกข์ต่างหากเป็นของควรละ ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น ทำนา ทำสวน ค้าขาย รับราชการ เป็นตำรวจ ทหาร รับจ้างรบทัพจับศึก ฯลฯ เหล่านี้เพราะเห็นทุกข์ไม่มีเงินใช้ทั้งนั้น หนุ่มสาวบางคนทำบุญตักบาตรเพราะปรารถนาแฟนที่ตนต้องการมานานแล้ว ได้คู่รักมาแล้ว บางคนทำบุญเพื่อให้ได้ลูกชายคนหัวปี หรือไม่ให้สามีมีแฟนใหม่ก็มี
บางคนเมื่ออยู่ในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนปรารถนาว่าได้สิ่งนั้นมาแล้วจะได้ความสุข เมื่อได้มาแล้วกลับตรงกันข้าม จึงเป็นเหตุให้เบื่อหน่ายทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ จึงได้พยายามทำคุณงามความดี ทำทานรักษาศีล เป็นต้น เพื่อผลอันเลิศในสุคติเบื้องหน้า ถ้าผู้มีปัญญามามองเห็นโทษของทุกข์ในความปรารถนานานาประการ ว่ามันเป็นต้นเหตุของกองทุกข์ทั้งปวงแล้ว มาพยายามระงับความอยากด้วยการอบรมสมถะและวิปัสสนา รู้แจ้งแทงตลอดในสัพพเญยยธรรมทั้งปวง พ้นจากบ่วงของมาร ถึงซึ่งพระปรินิพพานเป็นที่สุดเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น
แต่ถ้าผู้ไม่มีปัญญา เห็นทุกข์เป็นของไม่มีค่า ทั้งไม่เป็นที่ปรารถนาแล้ว จะเป็นผู้ประมาท ไม่สามารถหาของไว้แลกเปลี่ยนเอา แล้วจะเสียใจนอนระทมทุกข์อยู่แต่ผู้เดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความโศกเกิดจากความรัก ความกลัว ก็เกิดจากความรัก ถ้าความรักไม่มีเสียแล้ว ความโศกและความกลัวจะมีมาแต่ที่ไหน”
ฟังนิทานเพื่อเบาสมองสักหน่อย กิระดังได้สดับมา ยังมีบุรุษสมองใสคนหนึ่ง ได้ทัศนาการเห็นพระราชาเสด็จพยุหยาตราด้วยพลนิกรเป็นอันมาก เขามาจินตนาการในใจของเขาแต่ผู้เดียวว่า เออ…แท้จริงพระราชานี้มีอำนาจวาสนามาก จะเสด็จไป ณ สถานที่ใดมีพลนิกร ห้อมล้อมเป็นบริวารถึงขนาดนี้แล้ว พระองค์ยังจะทรงเกรงกลัวต่ออริราชศัตรูอยู่หรือ
เมื่อเธอได้โอกาสจึงเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบบังคมทูลตามความจินตนาการของตนว่า เทวะ ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ประกอบด้วยพลพยุหเสนามากมายถึงขนาดนี้แล้ว พระองค์ยังจะทรงกลัวต่ออริราชศัตรูอะไรอยู่อีกหรือพะย่ะค่ะ พระราชาทรงตอบว่า ยังมีอยู่เธอ นั่นคือนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพราะเขามีกำลังทหารมากกว่าเรา เมื่อบุรุษนั้นได้ฟังแล้วก็ยิ่งมีความสงสัยเป็นกำลัง เขาจึงเข้าไปหานายทหารผู้ใหญ่แล้วถามว่าท่านนายพล ท่านเป็นผู้มีพวกพลลูกน้องล้วนแล้วแต่ทหารหาญอันมีสรรพอาวุธครบมูลบริบูรณ์ ใครๆ ก็เกรงขามท่าน แม้กระทั่งพระราชา แล้วตัวท่านเองเล่า ยังเกรงขามใครอีก นายพลตอบว่า เรายังเกรงนายโจรเพราะนายโจรนั้นเราไม่ทราบตำแหน่งแหล่งที่อยู่ของมัน มันอาจจะมาหลอกโจมตีเราเมื่อใดก็ได้ บุรุษนั้นเมื่อได้ฟังคำของนายพลเช่นนั้นแล้วก็ยิ่งทำให้เขาเกิดความสงสัยเป็นทวีคูณ เขาจึงได้เสาะแสวงหาที่อยู่ของนายโจรจนพบ แล้วเข้าไปถามนายโจรว่านาย นายพลทหารท่านมีลูกน้องมากถึงเพียงนั้นแล้ว ยังกลัวนายอยู่ ส่วนนายละยังกลัวใครอีกหรือ นายโจรเขาตอบว่า เรายังกลัวแต่เมียของเราคนเดียวเท่านั้น
นิทานเรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรข้าพเจ้าไม่รับรอง ที่รับรองก็โดยพุทธพจน์ที่ว่า ความกลัวเกิดจากความรัก ดังที่ยกขึ้นมาอ้างข้างบนนี้แล้ว ก็จะเข้ากันได้กับคำที่ข้าพเจ้าแสดงมาแล้วข้างต้นนั้นว่า เป็นผู้ยอมแพ้ใจของตนเองด้วยความรัก กลัวหรือยอมแพ้ก็คงจะได้ความอย่างเดียวกัน
การต่อสู้ทั้งหมดดังที่แสดงมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นการต่อสู้เพื่อประโยชน์ความสุขของผู้ที่ยังมีการเกิดอยู่ในโลกนี้ เมื่อเกิดมาแล้วจำเป็นจะต้องมีการต่อสู้อย่างนั้นอยู่ตลอดกาล ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อมาพิจารณาเห็นคุณและโทษในโลกนี้ตามที่เป็นจริงแล้ว จึงไม่ยอมลดละ พยายามต่อสู้กับศัตรูภายในอันเป็นตัวการใหญ่ประจำชีวิตสมกับพุทธภาษิตที่ว่า “…ผู้จะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร…” ความเพียรเป็นยาขนานวิเศษของผู้มีปัญญา แต่ตรงกันข้าม ความเพียรเป็นยาพิษอย่างร้ายแรง แสลงโรคขี้เกียจของคนโง่ ผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของความเพียรแล้ว อาจคิดว่าความขยันหมั่นเพียรในภารกิจต่างๆ มันเป็นทุกข์ลำบากเหนื่อยยากมิใช่หรือ จริงดังนั้น คนตกน้ำไม่ยอมว่ายมีหวังตายโดยถ่ายเดียว จะรอดมาได้แต่เฉพาะคนที่ว่ายน้ำได้หมายพึ่งตนเองเท่านั้น
ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว ใครๆ ในโลกนี้จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพานได้เลย
ในปฐมเทศนา พระองค์ทรงยกทุกข์ขึ้นแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก มิได้ทรงสอนให้ละ แต่ทรงสอนให้ยกไว้เป็นตัวประธาน(คือ ให้เอามาเป็นอารมณ์) ตลอดพระธรรมเทศนาในกัณฑ์เดียวกันนี้ไม่ปรากฏ ณ ที่ใดเลยว่าพระพุทธองค์สอนให้เอาสุขมาเป็นอารมณ์ จึงโดยอนุมานว่าทุกข์เป็นของมีค่ามาก พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านจะบรรลุธรรมอันสูงสุดหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ความเพียรเพ่งพิจารณาด้วยปัญญาอันชอบในทุกข์นี้ทั้งนั้น
แม่ทัพของกิเลสทั้งปวง
เอาละ ข้าพเจ้าได้แสดงการต่อสู้ในชีวิตของคนเราในโลกนี้มาพอควร ซึ่งทุกคนพอจะใช้ปัญญาของตนๆ พิจารณาตามได้ไม่ยากนัก ต่อไปนี้จะได้แสดงถึงการต่อสู้ในทางพระพุทธศาสนา เพื่อบรรลุตามเป้าหมายของตน
พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงสอนการต่อสู้กับศัตรู คือกิเลสอันมีภายในใจของตน แก่เหล่าพระสาวกของพระองค์เหมือนกัน กิเลสทั้งหลายมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ซึ่งมีประจำอยู่ในใจของแต่ละบุคคล ชื่อว่าเป็นศัตรูตัวสำคัญของการที่จะบำเพ็ญความดีให้ลุล่วงไปได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาจึงสอนให้คนผู้มีตาดีใช้กลวิธีต่อสู้เพื่อเอาชนะกับราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสแต่ละตัวทั้ง ๓ นี้ ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพของกิเลสทั้งปวง ซึ่งมันสะสมพลนิกรของมันอยู่ภายในใจของพวกเราทั้งหลายมาเป็นเวลาช้านานมาแล้ว มันทำความสนิทชิดชมแทรกซึมจนคนเราเห็นเป็นไม่ใช่ศัตรูไปเสียเลย สมัยใดมันจะใช้อำนาจ มันก็จะยั่วยุปลอบใจให้เห็นโทษเป็นคุณ ให้เห็นความสุขมีประมาณเล็กน้อย ว่าเป็นความสุขอันมหาศาล เห็นโทษเหลือประมาณว่าเป็นของนิดเดียว ดังเช่น
แม่ทัพ ราคะ
๑. ราคะ มันเข้ามาย้อมใจที่ใสอยู่แล้วให้ขุ่นมัว เห็นรูปที่ชั่วช้าสกปรกด้วยอสุภนานาประการตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่กลับเห็นเป็นสิ่งที่สวยงามสะอาด น่ารักน่าใคร่ น่าชม นี่ก็เพราะใจเป็นของเศร้าหมอง ขุ่นมัวด้วยราคะกิเลสเข้ามาย้อม ย่อมให้เห็นเป็นไป ตามอำนาจของมัน
สมัยใด ถ้าราคะกิเลสไม่เข้าไปย้อมใจให้เศร้าหมองขุ่นมัวแล้ว ถึงรูปเก่านั่นแหละที่ว่าสวยสะอาดน่ารักน่าใคร่ เห็นเข้าแล้วจะเป็นรูปธรรมดาๆ นี่เอง เพราะเราไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของราคะ ถึงแม้จะเห็นรูปนั้น เป็นของสวยสะอาดตามธรรมชาติ ของวิบากตกแต่งมาก็ตาม แต่ก็ไม่ถึงจะให้เข้าไปยึดเอาว่าเป็นของน่ารัก น่าใคร่ อันเป็นไฟสุมหัวใจให้เร่าร้อน ด้วยความอยากได้มาเป็นของตัว นี่ว่าถึงโทษของราคะที่เกิดจากทางรูปอย่างเดียวพอเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ส่วนที่เกิดทางเสียง กลิ่น รส สัมผัส ขอให้ผู้มีปัญญาพิจารณาโดยนัยเดียวกันนี้
ราคะ ท่านอุปมาเหมือนกระแสน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำที่เลวทรามตลอดกาล ไม่มีเวลาหยุดอยู่คงที่ฉะนั้น
แม่ทัพ โทสะ
๒. โทสะ ก็เช่นเดียวกัน เบื้องต้นมันเอาความไม่พอใจเข้ามาหุ้มห่อหัวใจที่ผ่องใสอยู่แล้วให้ถือผิดปิดแสงสว่างของปัญญา แล้วก็รุมล้อมเข้ามาด้วยความประทุษร้าย หมายจะล้างผลาญบุคคลอื่นอย่างเดียว ไม่เลือกหน้า ไม่ว่าขี้ข้า ไพร่ ผู้ดี มีจน แม้แต่ผู้มีพระคุณหรือผู้ไม่เกี่ยวอะไรเลยก็ไม่เลือก
โทสะ เปลี่ยนสีขาวให้เป็นสีดำได้ในพริบตาเดียว ลูกรักคู่ชีวิต เมื่อยามปกติ อาจจะแหวกหัวอกให้เข้าไปนั่งอยู่บนหัวใจ ก็ยังไม่สมสาหาว่ายังอยู่ห่างไกล คราวเมื่อความโกรธมาครอบงำเข้า จะเห็นลูกรักคู่ชีวิตคนเก่านั้นแหละ กลายเป็นผักปลา อาจฆ่าแหวะเอาโลหิตในทรวงมาสังเวยความโกรธในขณะบัดเดียวนั้นก็ได้
โทสะ เมื่อเข้าไปแทรกซึมอยู่ในหัวใจของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำการเปลี่ยนแปลงหัวใจของบุคคลนั้นให้เป็นไปตามอำนาจของตนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เสียงหวานกลับเป็นเสียงเปรี้ยว กลิ่นหอมกลับเป็นกลิ่นเหม็น รสหวานกลายเป็นรสขมขื่น สัมผัสที่นุ่มนวลกลายเป็นสัมผัสที่แข็งกระด้างหยาบ
โทสะ ท่านเปรียบเหมือนไฟป่าไหม้ไม่เลือก ไหม้ที่เกิด (คือใจของมัน) แล้วจึงไหม้รอบๆ ตัวจนเกลี้ยง
แม่ทัพ โมหะ
๓. โมหะ ความไม่ยอมตรึกตรองตามเหตุผลให้รู้ ให้เข้าใจตามเป็นจริง เข้าสิงหัวใจที่ผ่องใสอยู่แล้วให้มึนเมาซึมเซ่อ ไม่อยากคิดค้นตรึกตรองหาเหตุผลอันใด ความหลงลืมไม่ได้จัดเป็นโมหะในที่นี้
โมหะ รู้อยู่ ไม่ใช่ไม่มีความรู้อะไรเสียเลย แต่รู้ไม่ตรงตามความเป็นจริงหรือรู้ไม่ตลอดจนถอนรากแห่งความหลงเสียได้ หลงรักรูปเพราะไม่รู้ว่ารูปนั้นเป็นอสุภของน่าเกลียด รูปเป็นของแปรสภาพอยู่เสมอไม่คงที่ รูปนี้เป็นที่รองรับแห่งทุกข์ทั้งหลาย รูปเป็นของสูญจากแก่นสาร โมหะมีความไม่ยอมตรึกตรองให้เห็นโทษ แล้วจึงหลงเข้าไปในข่ายของรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ว่าเป็นของดีมีสาระ เข้าไปยึดเอามาเป็นตนเป็นตัว มาเป็นของตัว
เมื่อของเหล่านั้นมีอยู่ ก็ติดคิดวกเวียนไปมาในของเหล่านั้น เมื่อของเหล่านั้นเสื่อมสูญไป ก็อาลัยอาวรณ์ กินไม่ได้นอนไม่หลับเศร้าโศกเสียใจ
ท่านอุปมาโมหะ เหมือนข่ายคลุมไว้ ความคิดความเห็นของผู้มีโมหะเป็นเครื่องคลุม ก็เหมือนคนผู้อยู่ในข่ายฉะนั้น คิดนึกตรึกตรองอันใดก็วนเวียนอยู่ในความมัวเมา ลุ่มหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่านั้น ไม่มีทางจะให้เห็นโทษ เบื่อหน่าย แล้วพยายามที่จะเอาตนรอดจากอารมณ์ทั้งห้านั้นเลย โมหะ หลงเข้าไปยึดเอากามคุณ ๕ มีรูปเป็นต้น เข้ามาเป็นตนเป็นตัวมาเป็นของตัว โดยมีความซึมเซ่อ ไม่ยอมตรึกตรองให้รู้แจ้งเห็นจริงตามเหตุผลมูลฐาน หากใช้ปัญญาดำเนินตามพระไตรลักษณญาณ จนเห็นประจักษ์แจ้งด้วยญาณทัสสนะวิธีในกามคุณทั้งห้านั้น โมหะเลยกลับกลายมาเป็นปัญญาตามทางแห่งพระอริยมรรค
ส่วนอวิชชา ปิดบังปัญญาลึกซึ้งละเอียดลงไปกว่านั้นอีก ไม่ใช่ไม่รู้แต่กามคุณทั้งห้าตามเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ต้นเหตุให้เกิด … ความตั้งอยู่ … พร้อมทั้งคุณและโทษ และวิธีที่จะทำให้กามคุณ ๕ นั้นดับไป ถ้าปัญญาอันกลับมาจากโมหะเป็นผู้เบิกช่องทางให้สว่างมองเห็นต้นทางอย่างนั้นแล้ว อวิชชาความไม่รู้แจ้งเห็นชัดตามเป็นจริงในสิ่งที่ไม่รู้ดังกล่าวมาแล้วนั้น ก็จะค่อยหายจางไป วิชชาก็จะอุทัยไขแสง สว่างแจ้งขับไล่ความมืดให้หมดสิ้นไปในที่สุด
สรุปแล้ว โมหะ หลงไม่เข้าใจตามความเป็นจริงในกามคุณทั้งห้า แก้ไขด้วยปัญญา เดินตามพระไตรลักษณญาณ แต่อวิชชาไม่รู้ลึกซึ้งลงไปกว่าโมหะ เพราะคนหนึ่งหลง(คือ เข้าใจผิด) คนหนึ่งไม่รู้ คือ ไม่รู้ตัวกามคุณ ๕ พร้อมทั้งที่เกิดที่ดับ คุณและโทษ ความตั้งอยู่ และเหตุที่จะทำให้กามคุณ ๕ นั้นดับไป แต่เมื่อจะแก้ไขก็ต้องอาศัยปัญญา อันแปรสภาพมาจากโมหะนั้น เป็นผู้เบิกช่องทางให้ก่อน แล้ววิชชาจึงจะได้โอกาสดำเนินตามความสามารถของตนเอง จนอวิชชาดับไป ยังเหลือแต่วิชชาอย่างเดียว
โมหะ กับอวิชชา มีลักษณะผิดแผกกันดังแสดงมานี้ แต่ในที่ทั่วไปมักแสดงเป็นคู่กัน เช่น โมหะ อวิชชา ปิดหุ้มห่อปัญญาไว้ ไม่ให้เห็นสัจจะของจริงดังนี้ เป็นต้น
อิทธิพลของ ราคะ โทสะ โมหะ
แม่ทัพของกิเลสสามคนนี้ (คือ ราคะ โทสะ โมหะ) เขามีอิทธิพลเหนือโลกทั้งสาม ได้แก่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก แล้วเขาก็สามัคคีผนึกกำลังกันเข้าเป็นอันเดียวอย่างเหนียวแน่น สัตว์ที่เกิดมาอยู่ใน ๓ โลกนี้ ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของเขาทั้งหมด
วีรบุรุษผู้กล้าหาญได้ชื่อว่าเป็นศัตรูของเขาทั้งนั้น จะโจมตีเขาด้านไหน ทุกๆ แม่ทัพจะต้องรู้เห็นเป็นใจด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็จะโหมกำลังของตนๆ เข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหมือนกับทัพเดียวกันฉะนั้น เช่น วีรบุรุษจะปราบทัพ คือ ราคะ ว่าเป็นของไม่ดีมีโทษถ่ายเดียว โทสะ โกรธเคืองไม่พอใจใช้เล่ห์เหลี่ยมปลอบใจข้าศึกให้เห็นคุณมากกว่าโทษ โมหะ เข้าสนับสนุนให้ไว้โอกาสหลังจึงค่อยโจมตี วีรบุรุษผู้ใจกล้าเลยชะล่านอนใจ เข้าถึงความประมาทตามเดิม ดังนี้เป็นต้น
ราคะ โทษหนัก แต่บุคคลเห็นเป็นของเบา ค่อยเกิดช้าๆ แต่แก้ยาก โทสะ โทษหนักเผ็ดร้อน เกิดง่าย หายเร็ว โมหะ โทษเบาเกิดช้า แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีแก้แลแก้ไม่ถูกทาง ไม่มีวันจะหายเลย
อาวุธ และยุทธวิธี
ข้าพเจ้าได้แสดงข้าศึกของใจอันเป็นศัตรูภายในและสมรภูมิที่ต่อสู้มาพอควรแล้ว ต่อไปนี้จะได้แสดงถึงอาวุธและยุทธวิธีต่อไป
ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ห้ามพระสงฆ์ใช้อาวุธอันคมแข็งและเป็นพิษภัยแก่ตนและคนอื่น แต่สอนให้ใช้ปัญญาอันเฉียบแหลมลึกซึ้ง ผจญภัยคือกิเลสภายในของตนเอง มีราคะเป็นต้นด้วยพลนิกร ๓ กองทัพ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แถมยังมีกองเสบียง คือ ทาน พ่วงท้ายอีกด้วย ๒ ทัพ คือ ศีลและสมาธิ ถ้าขาดปัญญาทัพที่ ๓ สนับสนุนเสียแล้วก็ไม่มีกำลัง ปัญญาจึงจัดเป็นทัพหลังหรือทัพหลวงได้
ถ้าขาดทานซึ่งจัดว่าเป็นกองเสบียงและศรัทธาเสียแล้ว ๓ กองทัพก็ไปไม่รอด ศรัทธาความเชื่อมั่นในการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กลัวเกรงงดเว้นจากการกระทำความชั่ว กลัวบาปกรรมอันจะตามมาให้ผล แล้วตั้งตนอยู่ในความสุจริต คิดเห็นชอบกอปรด้วยปัญญาเป็นรากฐานแล้ว ศีลจึงจะตั้งมั่นอยู่ได้ เปรียบเหมือนชาวไร่ทำสวน ต้องตัดต้นไม้เผาหญ้าป่ารกทึบให้เตียนเรียบร้อย จึงจะปลูกพืชผลขึ้นเป็นต้นลำงอกงามให้ได้รับผลตามปรารถนา ปัญญามิใช่จะสนับสนุนให้กำลังแก่ศรัทธา กล้าหาญเท่านั้นก็หาไม่ ยังให้กำลังแก่ศีลทั่วๆ ไปอีกด้วยไม่ว่าศีล ๕-๘-๑๐–๒๒๗ ถ้าขาดปัญญาอย่างเดียวเสียแล้วผู้รักษาจะทำให้ศีลบริบูรณ์ไม่ได้ เจตนางดเว้นจะเป็นสมาทานวิรัติ หรือสมุจเฉทก็แล้วแต่ปัญญาจะสั่งการ สมาธิจะแน่วแน่เป็นเอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ได้ ก็เพราะปัญญาเห็นชัดแจ้งในอารมณ์ของกรรมฐานนั้นๆ แล้วปล่อยอารมณ์อื่นๆ เสีย ยังเหลือเอกัคคตารมณ์อันเดียว
จาคะ ปัญญาเห็นการสละว่าเป็นของกว้างขวางและเยือกเย็น เป็นความสุขแห่งใจ ปราบกิเลสเห็นแก่ได้ส่วนตัวถ่ายเดียวให้หมดไป หรือให้อ่อนกำลังลงโดยลำดับ ทำให้เห็นอกเขาอกเราในบรรดาสัตว์ที่เกิดมาร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน มีจิตเมตตาอารี ยอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อคนอื่น มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน ต้องการคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงโดยไม่เลือกหน้า ทานจึงจัดได้ชื่อว่าเป็นการสังคมชั้นเยี่ยม
ศีล เป็นกฎของสมาคมชั้นสูงชนิดหนึ่ง ของสมาชิกผู้ดีมีจิตสูงส่ง ทุกๆ คนที่เข้าร่วมสมาคมนี้ ด้วยจิตยินดีปรีดาหามีใครบังคับและกะเกณฑ์ไม่ และมีจุดประสงค์อันเดียวกันนั่นคือ ต้องการจะเข้ามาฝึกฝนอบรม กาย วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง กฎนั้นแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นหยาบเป็นของฆราวาส ได้แก่ศีล ๕-๘ ผู้ครองสมณเพศแบ่งเป็น ๒ ได้แก่ศีล ๑๐ เป็นของสามเณร ศีล ๒๒๗ ได้แก่ของพระภิกษุถึงจะแบ่งไว้เป็น ๒ หรือ ๓ ชั้นก็ตาม ตามพุทธประสงค์แล้วก็เพื่อไว้เป็นเครื่องมือสำหรับปราบกิเลสศัตรู ซึ่งมีอยู่ในใจของแต่ละบุคคล เพื่อให้ลดเบาบางลงหรือหมดสิ้นไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ให้สมาชิกของสมาคมนี้ดำเนินไปสู่ความบริสุทธิ์ จุดหมายคือศีลวิสุทธิ์ เป็นต้น
ศีล เป็นเครื่องมือไว้สำหรับปราบกิเลสขั้นหยาบ อันเกิดขึ้นทางกาย วาจา ซึ่งสามัญชนทั้งหลายพอจะเห็นได้ง่ายและปราบได้ไม่ยากนัก กิเลสความชั่วมันเกิดมีอยู่ภายในกาย วาจา ของสามัญชนคนเราอยู่แล้ว พระพุทธองค์จึงทรงสอนผู้ที่เห็นโทษให้ปราบด้วยการรักษาศีล ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้กิเลสเหล่านี้เบาบางหมดสิ้นไป อนึ่ง ขอแนะนำไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยว่า ถ้าเห็นว่าการรักษาศีลเป็นของยากแล้ว ขออย่าได้ถือว่าการทำเช่นนั้นเป็นการรักษาศีลเลย ขอให้ถือว่าเป็นการปราบกิเลสความชั่วที่ใครๆ ไม่พึงปรารถนาให้พ้นจาก กาย วาจา ของเราต่างหาก แล้วความที่ว่ารักษาศีลเป็นของยากก็จะหมดสิ้นไป
สมาธิ เป็นกรรมวิธีทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นของเฉพาะส่วนตัว คนอื่นจะมาเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ เว้นไว้แต่จะแนะกรรมวิธี ซึ่งเรียกว่าให้อุบายกันเท่านั้น กรรมวิธีของจิตที่เดินทางผิดมีมากอย่าง จึงไม่สามารถรวมให้เข้าสู่ที่เดิมได้ (คือภวังค์) หรือกำจัดอารมณ์ของจิตที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่มากๆ ให้ออกไปจากจิตได้ สมาธิเป็นการต่อสู้กับมาร ๕ โดยตรง
มาร ๕ คือ ขันธมาร ได้แก่ ขันธ์ทั้งห้า ที่ว่ามารเพราะขันธ์ ๕ มันก่อกวนความสงบสุขของจิต มีแต่จะทำลายความปกติของจิตอยู่เสมอตลอดกาล กิเลสมาร ก็เช่นเดียวกันมีแต่จะก่อกวนทำจิตที่ผ่องใสให้เดือดร้อนเศร้าหมอง ด้วยของดีบ้างของไม่ดีบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง เป็นต้น ตามเยี่ยงอย่างของมัน อภิสังขารมาร เป็นเรื่องของใจโดยเฉพาะ คือ ใจมักใหญ่ใฝ่สูงในสิ่งที่ตนยังไม่ได้ไม่ถึง จะดึงเอามาให้เป็นของตนถ่ายเดียว อันเป็นเหตุให้ใจเดือดร้อนเป็นทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าได้ในสิ่งนั้นมาตามปรารถนาก็ยังไม่อิ่มไม่พออีก อยากได้ใหม่ยิ่งๆ ขึ้นไป เทวปุตตมาร ท่านกล่าวว่าได้แก่ เทวบุตรผู้ใจเป็นอธรรม คอยแต่จะรังแกผู้อื่น ถ้าจะพูดเทวปุตตมารในตัวของแต่ละบุคคล ก็ได้แก่ คนผู้ใจเป็นยักษ์ ปากเป็นธรรม หรือใจก็เป็นธรรม ปากก็เป็นธรรม แต่บางกรณีเมื่อประสบกับสิ่งที่ยั่วยุให้เกิดกิเลส ทนอยู่ในธรรมไม่ได้ จึงต้องลุอำนาจแก่กิเลส อันเป็นเหตุให้ยอมสละธรรมที่ดีงามแลกเอาอธรรมเสีย มัจจุมาร ได้แก่ความตาย ผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ตนประสงค์ มารคือความตายมาผจญผลาญชีพก่อน จึงเรียกว่า มาร
สมาธิภาวนา เป็นการเผชิญหน้ากับมาร ๕ โดยตรง ถ้าสมาธิกล้า มาร ๕ ต้องปราชัย สมาธิไม่มีกำลัง มาร ๕ ก็กระหน่ำให้ย่ำแย่ไปเลย ฉะนั้น นักภาวนากรรมฐานผู้กล้าหาญที่ถูกทางมัคควิถีที่ดีแล้ว จะต้องปักหลักต่อสู้กับมาร ๕ ลงที่สมรภูมิอันเลิศ (คือ ที่กายอันนี้) อย่างไม่มีวันถอยหลังจนกว่าจะถึงหลักชัยตามเป้าหมาย กายได้ชื่อว่าเป็นที่ชุมพลของมาร ๕ ดังกล่าวแล้ว
ปัญญา หมายถึง ความฉลาดเฉียบแหลมของจิต คิดนึกตรึกตรองในสิ่งใดมันมีไหวพริบว่องไว แก้ไขในเหตุที่ขัดข้องได้โดยทะลุปรุโปร่ง แต่ปัญญาที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ หมายถึงเอาปัญญาฉลาดสามารถแก้ไขความชั่วเห็นผิดที่เกิดขึ้นแล้วในตัว แลที่ยังไม่ทันเกิดขึ้นในตัวของตนเอง หรือแม้ที่เกิดแก่ผู้อื่นด้วย ถ้าจะพูดโดยเฉพาะแล้ว เรียกว่า ปัญญาสัมมาทิฎฐิในองค์อริยมรรคนั่นเอง
ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามเหล่านี้ต่างอาศัยเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จะเว้นเสียอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอยู่โดดเดี่ยวดำเนินไปตามลำพังย่อมไปไม่รอด ดังกองทัพทั้งสามทัพต้องอาศัยซึ่งกันและกันดังกล่าวแล้ว แม้แต่ทานก็ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาเป็นผู้อุดหนุน เว้นเสียแต่ว่าจะใช้มากหรือน้อยตามความจำเป็นในหน้าที่นั้นๆ เช่น ศีล ใช้ปัญญาพิจารณาเห็นโทษของความไม่มีศีล แล้วจึงจะสามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ เมื่อมาระลึกถึงความบริสุทธิ์ กาย วาจา ของตนจนเห็นชัดแจ้งแล้ว ใจจะผ่องใสบริสุทธิ์หยุดนิ่งอยู่ในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น จนเป็นเอกัคคตาสมาธิ สมาธิหากศีลไม่บริสุทธิ์ความวิปฏิสารเดือดร้อนยังมีอยู่แล้ว จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่ได้ นั่นคือปัญญายังไม่เกิด ไม่สามารถจะชำระรากฐาน(คือ ศีล) ให้สะอาดได้ เมื่อจิตยังไม่ตั่งมั่น หวั่นไหวไปในอารมณ์อยู่ ไฉนปัญญาจักรู้เห็นธรรมที่เป็นของจริงของตรงได้ เหมือนกับตราชูลูกตุ้มคันชั่งไม่นิ่งเป็นปกติเสียแล้ว จะหวังได้ความยุติธรรมมาจากไหน ศีล สมาธิ ปัญญาต่างก็เป็นปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นมรรคอันเอกอุกฤษฏ์ เดินทางนี้ตรงไปสู่ความดับทุกข์ได้แน่ อันพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ได้ดำเนินมาสำเร็จตามปรารถนามาแล้วทุกๆ พระองค์ มรรค ๘ เป็นทางดำเนินด้วยใจ ถึงแม้จะแสดงออกมาให้เป็นศีล ก็แสดงศีลในองค์มรรคนั่นเอง มรรคแท้มีอันเดียว คือ สัมมาทิฏฐิ อีก ๗ ข้อเบื้องปลายเป็นบริวารบริขารของสัมมาทิฏฐิทั้งนั้น หากขาดสัมมาทิฏฐิตัวเดียวเสียแล้ว สัมมาสังกัปปะเป็นต้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
เช่น ปัญญาพิจารณาเห็นความทุกข์ตามเป็นจริงว่า มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมถูกทุกข์คุกคามอยู่ตลอดเวลา โลกนี้จึงเป็นที่น่าเบื่อหน่ายเห็นเป็นภัย แล้วก็ดำริตริตรองหาช่องทางที่จะหนีให้พ้นจากกองทุกข์ในโลกนี้ การดำริเช่นนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัมมาทิฏฐิปัญญาอันเห็นชอบนั่นเอง การดำริที่ชอบที่ถูกนั้นก็เป็นสัมมาวาจาอยู่แล้ว เพราะวาจาจะพูดออกมาก็ต้องมีการตริตรองก่อน การตริตรองเป็นศีลของอริยมรรค การพูดออกมาด้วยวาจาชอบเป็นศีลทั่วไป การงานของใจ คือ ดำริชอบ วาจาชอบ อยู่ภายในใจ เป็นการงานของอริยมรรคผู้ไม่ประมาท ดำเนินชีวิตเป็นไปในอริยมรรคดังกล่าวมาแล้วนั้น ได้ชื่อว่าความเป็นอยู่ชอบของผู้นั้น
ผู้พยายามดำเนินตามอริยมรรคดังกล่าวมาแล้ว โดยติดต่อกันตามลำดับไม่ขาดสาย ได้ชื่อว่ามีความเพียรชอบในมรรคทั้งแปด ๖ ข้อเบื้องต้นมีความเห็นชอบเป็นต้น มีความพยายามชอบเป็นที่สุด หากขาดสัมมาสติ ตั้งสติชอบเสียแล้ว จะเดินไปให้ถึงสัมมาสมาธิไม่ได้เลย เหมือนทางที่ไม่ติดต่อเชื่อมกัน จะนำยานพาหนะไปตลอดทางได้อย่างไร องค์สุดท้ายคือสัมมาสมาธิ ยิ่งเป็นกำลังใหญ่สนับสนุนให้องค์มรรคนั้นๆ มีกำลังกล้าหาญที่จะไม่ท้อถอยในหน้าที่ของตนๆ พึงสังเกตดูเถิดว่า นักปฏิบัติโดยมาก หากสมาธิไม่มั่นคงแล้วมักไปไม่รอด ปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นผู้ส่องทางให้เห็นทางเดินก็จริง แต่เมื่อสติกับสมาธิอ่อนกำลังลงแล้ว ปัญญาอาจกลายเป็นสัญญาเป็นสังขารไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้
มรรค ๘
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คำว่า มรรค ๘ เป็นทางเอกอาจนำผู้ดำเนินตามให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์แห่งใจได้โดยส่วนเดียวก็ดี มรรค ๘ ทำกิจปหานกิเลสในขณะเดียว ณ ที่เดียว (คือ ที่จิต) ในภูมินั้นๆ ก็ดี เท่าที่ข้าพเจ้าแสดงมาแล้ว หวังว่าพอจะเข้าใจได้บ้าง หรือจะสรุปอีกทีว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านดำเนินมรรควิถีโดยทางจิต ถึงแม้จะแสดงมรรคออกมาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าด้วย กาย วาจา ใจ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นอริยมรรคแล้ว ต้องเดินด้วยมรรคจิตทั้งนั้น นอกนั้นเป็นมรรคทั่วไป แลมรรคนี้มิใช่วิสัยของคนโง่หรือผู้แก่การศึกษา หรือใครๆ ก็ตามจะแต่งได้เอาตามชอบใจของตน แต่เมื่อผู้มีปัญญาศรัทธาเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือกรรมฐานที่อาจารย์สอนให้โดยปราศจากมานะและความลังเลใดๆ ทั้งสิ้นแล้ว ยอมปฏิบัติธรรมอันมีมรรค ๘ เป็นเครื่องดำเนินโดยความเคารพจริงๆ แล้ว มรรค ๘ จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นชัดด้วยใจ ด้วยปัญญาอันชอบของตนเอง
มรรค ๘ ซึ่งเห็นว่าเป็นของยากและเป็นของมากก็ดี เมื่ออาศัยความไม่ประมาท เพียรพยายามดำเนินต่อไปไม่ให้ขาดไม่ให้วิ่น มรรคทั้งแปด จะเป็นของน้อยลงๆ แล้วจะยังเหลือแต่ผู้รู้ผู้พิจารณากับอารมณ์ที่พิจารณาอยู่นั้น มรรค ๘ จะหายสูญไป (คือ ลบสัญญา อุปาทาน) แล้วจะเกิดความสว่างขึ้นมาในใจว่า อ๋อ…ทางที่ถูกที่แท้ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินมาแล้วเป็นอย่างนี้หรือ ผู้มีความเห็นชัดด้วยใจ ด้วยปัญญาอันชอบของตนเองอย่างนี้แล้ว จะไม่ยอมแสวงหาครูอาจารย์อื่นอีกแล้ว
ท่านผู้หวังเดินมรรคตามรอยพระบาทยุคลของพระพุทธองค์แล้ว ขอได้วางความจดจำและกังวลในความรู้ใดๆ ที่ได้มาจากปริยัติก่อน แล้วพึงน้อมใจเชื่อในกรรมฐานที่ตนจะปฏิบัตินี้ให้แน่วแน่ลงไปว่า นี่แหละทางตรง ทางให้ถึงความดับทุกข์แท้จริง แล้วพึงเจริญกรรมฐานตามปรารถนาของตนจนชำนาญเถิด เมื่อปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นประธาน อันมีสัมมาสมาธิเป็นรากฐานเครื่องสนับสนุนเกิดขึ้นแล้ว จึงจะรู้ชัดด้วยตนเองว่า ความรู้อันเกิดจากปริยัติกับเกิดจากปัญญาสัมมาทิฏฐิมีรสชาติผิดแผกแตกกันอย่างนี้
อนึ่ง มรรคคือปัญญาสัมมาทิฏฐิ เมื่อเกิดขึ้นอาจมีลักษณะอาการแตกต่างกันอยู่บ้าง ขอท่านนักปฏิบัติทั้งหลายอย่าได้ลังเลใจ ขอให้สังเกตดูรสชาติของมันว่า รสชาติมันจะต้องเป็นอย่างเดียวกันนั้น คือความรู้เกิดจากความสงบอยู่ภายใน รู้แล้วหายสงสัยในอุบายและกรรมฐานนั้นๆ ความปลื้มปีติอิ่มของใจจะติดพ่วงท้ายมา ทั้งนี้เนื่องจากอุบายที่ยกขึ้นมาพิจารณาหรือจิตกล้าหาญไม่เหมือนกัน ตลอดถึงมรรคจิตที่ปหานกิเลสแต่ละภูมิก็เช่นกัน อนึ่ง มรรคปหานของแต่ละภูมิจะเกิดขึ้นได้ก็ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่เกิดอีกซ้ำสอง ไม่เหมือนฌานซึ่งทำให้ชำนาญแล้วเข้าได้ทุกเมื่อ
ผู้ทำความสงบจิตเข้าถึงสมาธิยังไม่ได้ มักเห็นไปว่าสมาธิเป็นเรื่องที่ทำให้จิตโง่ซึมเซอะ การที่จิตคิดค้นแส่สายตามอุบายที่ตนมีอยู่นั่นแลคือปัญญา จริงอยู่ในโพชฌงค์ ท่านแสดงเครื่องตรัสรู้ ก็ยกธัมมวิจยะ คือคิดค้นในธรรมเป็นองค์อันหนึ่งในโพชฌงค์เหมือนกัน แต่คิดค้นโดยอยู่ในขอบเขตของสติจนธรรมนั้นซาบซึ้งเข้าถึงจิต อันเป็นเหตุให้พากเพียรพิจารณาไม่ท้อถอย แล้วมีผลตามมา คือ ความอิ่มใจ ความสงบสุข ใจตั้งมั่น แล้วปล่อยวางในเรื่องนั้นๆ เป็นเครื่องตัดสิน นั่นแลจึงจะถูกทาง เป็นเครื่องตรัสรู้ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถ้าผิดแผกแตกต่างแลไม่มีเครื่องวัดดังกล่าวมาแล้วมิใช่ปัญญาเครื่องตรัสรู้ทั้งหมด
ความจริงจิตที่เป็นสมาธิมิได้ทำให้เกิดโง่ซึมเซ่อแต่ประการใด นอกจากผู้ที่ยังทำสมาธิไม่ได้จะคาดคะเนเอาเท่านั่น ผู้จะได้สมาธิต้องเป็นผู้มีจิตกล้าหาญผจญกับอารมณ์ของจิตมาแล้วอย่างโชกโชน จนเรียกตนเองว่าเราชนะแล้ว จึงจะถึงสมาธิได้ เมื่ออยู่ในสมาธินั้นเล่า ก็มิใช่ว่าจิตจะโง่เง่าซึมเซอะ แต่มันมีความผ่องใสพิจารณาธรรมอันใดก็ปรุโปร่งเบิกบาน ฌานต่างหากที่ทำให้จิตสงบแล้วซึมอยู่กับความสุขเอกัคคตาของฌาน ขออย่าได้เข้าใจไปว่าฌานกับสมาธิเป็นอันเดียวกัน ลากับม้าเป็นสัตว์ประเภทเดียวกันแต่ตระกูลต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้งห้า ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปจมอยู่ในกามทั้งหลายเป็นไหนๆ
ผู้จะทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา ขอได้เก็บปัญญาที่เกิดจากการศึกษาแม้แต่การที่ได้ยินได้ฟังมานั้นเข้าตู้ไว้ก่อน จงใช้สมองอันตรึกตรองที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำสมาธินั้น เพ่งพิจารณากรรมฐานที่ตนยกขึ้นมาภาวนานั้น โดยเฉพาะอุบายที่จะทำให้เกิดสมาธิ จึงจะเกิดสมาธิขึ้นมาได้ ปัญญานอกนี้จะเอามาใช้เพื่อทำสมาธิไม่ได้เอาไว้ใช้เพื่ออย่างอื่น หรือ เทียบกับวิปัสสนานั้นควรทุกอย่าง อนึ่ง ปัญญาที่เกิดจากการศึกษานั้น หากจะนำมาใช้ในการหัดภาวนาสมาธิ เมื่อจะเข้าถึงสมาธิจริงๆ ก็จะต้องปล่อยวางปัญญานั้นเสียก่อน แล้วจึงจะเข้าถึงสมาธิได้ หรือถ้าปล่อยวางไม่หมดสิ้น สมาธิก็จะเป็นเพียงอุปจาระเฉียดๆ แล้วถอนออกมา ธรรมแท้เป็นปัจจัตตัง ความรู้ของวิญญูชนก็เป็นปัจจัตตัง จึงจะเป็นของอัศจรรย์ ความฉลาดถ้าเกิดก่อนความโง่แล้วจะปกปิดความโง่ไว้ จะไม่มีเวลาแลเห็นความโง่เลย
เรื่องเช่นนี้ข้าพเจ้าถูกพระเถระรูปหนึ่งถามแนวปฏิปทาว่าท่านดำเนินไปในแนวไหน ข้าพเจ้าก็เรียนท่านตามแนวที่ได้ดำเนินมา ตั้งแต่ต้นพิจารณากายคตาสติ จนจิตรวมเข้าถึงสมาธิ ตอนว่าถึงสมาธิยังไม่ได้อธิบายท่านก็ค้านขึ้นมาว่ามันก็โง่เท่านั้นซิ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าจะตอบแทนท่านอย่างไรอีก เมื่อพูดกันถึงเรื่องภาวนาก็ต้องตอบท่านในทางภาวนาว่า โง่ผมก็ต้องยอม เพราะผมค้นหาความโง่ของตนอยู่นานแล้ว ท่านหันไปถามพระเถระอีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านก็เคยเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้ามาแล้ว ท่านก็ตอบในแนวเดียวกับข้าพเจ้าตอบ ท่านคงคิดในใจว่า เออ..พวกนี้เขาปฏิบัติกันอย่างไรนะ
ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องฌาน สมาธิ และมรรคกันมาถึงขั้นนี้แล้ว ขอท่านผู้อ่านได้อดใจฟังอุทาหรณ์ในทำนองเดียวกันนี้เพื่อเป็นการศึกษาต่อไป ข้าพเจ้าได้ศึกษาแลอบรมแล้วได้ประสบการณ์ในด้านภาวนากรรมฐานมาบ้าง ถึงจะไม่ชำนาญ ก็พอจะนำเอามาเล่าสู่ท่านผู้อ่านฟังเพื่อเป็นการศึกษาได้บ้าง เรื่องทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้แสดงมาแล้วก็ดี หรือที่กำลังแสดงอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี ทั้งที่จะได้แสดงต่อไปข้างหน้าก็ดี อาจไม่เป็นที่สบอารมณ์หรือมติของบางท่านก็ได้ ถึงอย่างไรก็ขอได้กรุณาให้อภัยแก่ข้าพเจ้าผู้มีเจตนาหวังดีในเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน แล้วขอให้ถือว่านั่นเป็นเพียงมติของบุคคลคนหนึ่งเท่านั้น แล้วก็ดีเสียด้วย เพื่อจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วก็หายความข้องใจของผู้อ่านได้ แล้วโปรดฟังอุทาหรณ์สัก ๒-๓ เรื่องต่อไป
อุทาหรณ์ ปฏิบัติ ปฎิเวธ ปริยัติ
พระเถระรูปหนึ่งท่านเป็นพหูสูตและเป็นนักปฏิบัติพร้อมเสร็จ ชอบพอกับข้าพเจ้ามาก ท่านขอให้ข้าพเจ้าอธิบายแนวปฏิบัติที่ข้าพเจ้าปฏิบัติอยู่ให้ท่านฟัง ข้าพเจ้าก็ได้อธิบายให้ท่านฟังตามลำดับ ดังอธิบายให้ท่านรูปก่อนฟังดังกล่าวแล้ว เจ้ากรรม พออธิบายมาถึงตอนจิตรวมเป็นสมาธิ ท่านก็ค้านขึ้นทันทีเช่นรูปก่อน แต่มันเป็นเวลาประชุมหลังจากไหว้พระแล้ว ข้าพเจ้าจึงอดเอาไว้ พอเลิกจากนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ตามท่านไปกุฏิแล้วเรียนถามท่านว่า ที่ท่านว่าการทำจิตให้รวมเป็นสมาธิ มันเป็นความโง่นั้น โง่แบบนี้ท่านทำได้แล้วหรือเปล่า ท่านตอบว่าเปล่า ข้าพเจ้าตอบท่านว่า เมื่อท่านทำให้โง่แบบนี้ยังไม่ได้ ไฉนท่านจึงบอกว่ามันเป็นความโง่ ท่านพูดไม่สมเหตุสมผล ผมเชื่อไม่ได้ ผู้จะรู้จักความโง่ ตนเองต้องเคยโง่มาก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นจึงมีเหตุผลให้คนอื่นเขาเชื่อได้
ข้าพเจ้าเลยแสดงเป็นเชิงสอนท่านไปในตัว (เพราะ สนิทกันมาก) ว่า ความรู้อันเกิดจากปริยัติ จะมากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม หากไม่รู้จักปล่อยวางแล้ว จะเป็นอุปสรรคแก่การภาวนากรรมฐานอย่างยิ่ง จิตที่จะเข้าถึงภาวนากรรมฐานที่เรียกว่า ฌานก็ดี สมาธิก็ดี ต้องทิ้งสัญญาความจดจำอะไรต่างๆ แม้แต่ปริยัติที่ได้ศึกษากันมามากๆ ก็จะไม่มีในฌานสมาธินั้นเลย คำบริกรรม เช่น พุทโธๆๆ ก็จะหายไป พร้อมกันกับขณะที่จิตเป็นฌานสมาธินั้น จะปรากฏแต่อารมณ์ของจิตอันหนึ่ง คือเอกัคคตา ที่สงบอยู่กับความสุขของจิต อันไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใดๆ ภายนอก สรุปแล้วจิตจะกลับจากสภาพที่เป็นอยู่ปกติ แล้วเข้าไปมีสภาพอันหนึ่งของมันต่างหากอยู่ภายในใจ
นี่แหละที่นักศึกษาทั้งหลายโดยมากเข้าใจว่าจิตตอนนี้เป็นจิตโง่ จิตที่ฉลาดคือจิตที่คิดค้นในปริยัติอรรถธรรมนั้นๆ ให้แตกฉานฉลาดเฉียบแหลมในธรรมนั้นๆ โดยมากมักพิจารณาตามตัวหนังสือ เมื่อหมดความฉลาดความสามารถของตนแล้วจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาในตนเลย กิเลสทั้งหลายซึ่งเดิมมีอยู่เช่นไร หลังจากหมดความฉลาดอันนั้นแล้ว มันก็จะมีอยู่เท่าเดิม ถ้าหากว่ามีใครมาขัดคอเข้า กิเลสอาจฟุ้งยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้ ข้อสุดท้ายจะไม่หมดความสงสัยในธรรมนั้นๆ แต่ถ้านำมาใช้ให้ถูกทางโดยอุบายอันชอบเทียบเคียงกับความรู้ต่างๆ ซึ่งเกิดจากการภาวนาแล้ว เลือกเฟ้นเอาแต่สิ่งที่ควร จะเป็นคุณมาก
หากนักปริยัติทำความรู้ว่า ความรู้ที่ศึกษามาเป็นแต่เพียงแผนที่ แต่เรายังไม่ทันสำรวจตามแผนที่ แผนที่ที่จะเขียนออกมาได้เขาต้องไปสำรวจรู้เห็นความจริงมาด้วยตนเองเสียก่อน เขาจึงจะเขียนแผนที่ได้ อนึ่ง นักภาวนาที่ท่านคิดค้นด้วยตนเอง หรือตามอุบายของครูอาจารย์ที่ท่านให้ จนเห็นกิเลสทั้งหลาย มีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต แล้วสละละได้ จนใจรวมเข้าเป็นฌานสมาธิได้ดังนี้แล้ว หากเป็นนักภาวนาด้วยกันยังเห็นจิตตอนนี้ว่าเป็นจิตโง่อยู่แล้ว ก็จะเป็นที่น่าหัวเราะเยาะเย้ยของหมู่เพื่อนทั้งหลายอย่างน่าอับอาย หากเป็นความเห็นของนักศึกษาแล้ว ก็จะเป็นที่น่าเสียดายความรู้ที่ได้ศึกษามาเป็นอย่างยิ่ง
ในตอนท้ายข้าพเจ้าได้บอกท่านรูปนั้นตรงๆ ว่า หากท่านจะเอาความรู้ที่ศึกษามาไปภาวนากรรมฐานแล้ว ท่านทำไปจนถึงวันตายก็จะไม่เป็นภาวนาเลย วันหลังมาข้าพเจ้าได้ไปสนทนากับท่านอีก ท่านบอกว่าเวลาผมภาวนาจริงๆ ผมทิ้งปริยัติหมด หลังจากนั้นมานานปีแล้วยังไม่เคยสนทนากันเลยในเรื่องนี้ ท่านรูปนี้น่าชมเป็นพหูสูต แล้วก็สนใจในด้านปฏิบัติ แต่น่าเสียดาย ที่ท่านปล่อยวางปริยัติไม่ได้ในเวลาที่ท่านภาวนากรรมฐาน คือ ต้องการอยากให้ภาวนาเป็นไปตามความรู้ที่ได้ศึกษามา เมื่อจิตไม่ปล่อยวางสัญญา จิตก็เข้าถึงภาวนาไม่ได้
แท้จริงปริยัติต้องเกิดจากปฏิเวธ ปฏิเวธก็ต้องปฏิบัติเสียก่อนจึงเข้าถึงปฏิเวธได้ ผู้ที่เขียนแผนที่ทีแรก เขาต้องไปสำรวจพื้นที่ (คือ ปฏิบัติ) จนเข้าใจแน่ชัด แล้วมาย่อสัดส่วนเนื้อที่นั้นๆ ให้พอดีกับความต้องการของเขา (คือ ปฏิเวธ) แล้วจึงลงมือเขียนแผนที่ (คือ ปริยัติ)
อีกเรื่องหนึ่ง เขาบวชเมื่อแก่ เป็นข้าราชการ ป่านนี้พรรษาคงจะร่วม ๓๐ ปีแล้ว เธอพูดในทำนองเดียวกันกับพระเถระ ๒ รูปข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ตามประสาคนที่ไม่มีภาวนาว่า การทำจิตให้นิ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีปัญญา การคิดโน่นคิดนี่ทำให้ได้ปัญญาดี จริงอย่างเธอว่า ปัญญาย่อมเกิดจากการศึกษา การคิดค้น การไต่ถาม การจดจำ บ่อเกิดของปัญญาทั้งสี่นี้ สามัญชนทั่วไปนำมาใช้เป็นอาจิณ แต่มิใช่ปัญญาในอริยมรรค ปัญญาในอริยมรรคแท้จะต้องเกิดจากภาวนา ปัญญาสมาธิจึงจะปหานกิเลสได้ ปัญญาที่ว่าเบื้องต้นนั้นดีอยู่หรอก ถ้าเป็นสามัญชนธรรมดาสอนกัน นี่เธอเป็นพระอาจารย์บวชมาร่วม ๓๐ พรรษาแล้ว แล้วเป็นอาจารย์สอนมรรคภาวนา มาสอนแบบนี้จึงไม่ชอบ อย่างน้อยก็ขอให้ถือตามพุทธพจน์ที่ว่า ผู้เจริญศีลดีแล้วย่อมมีสมาธิเป็นผล เป็นอานิสงส์ใหญ่ ผู้เจริญสมาธิดีแล้ว ย่อมมีปัญญาเป็นผล เป็นอานิสงส์ใหญ่ ผู้เจริญปัญญาดีแล้ว ย่อมทำจิตให้สงบพ้นจากอาสวะทั้งสามดังนี้ ก็ยังดี อย่าไปถือเอาตามมติของตนเอง ตนผิดแล้วสอนให้คนอื่นผิดไปอีกด้วย บาปกรรมแท้ๆ
อุทาหรณ์ข้อสุดท้าย ตาแก่คนหนึ่งมาอบรมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าเพื่อรอการบวช เมื่อแกมาภาวนาเข้า อารมณ์เก่าๆ ของแกฟุ้งขึ้นมา แกก็สำคัญว่าเป็นปัญญาเกิดจากภาวนาเห็นเพื่อนๆ ที่ภาวนามีความสงบ แกก็สำคัญว่าสู้ตนไม่ได้ จนดูถูกเพื่อนๆ ที่ทำความเพียรด้วยกันว่าเป็นคนโง่ซึมเซ่อ มาค่ำวันหนึ่ง ข้าพเจ้าเทศนาอบรมหมู่คณะอยู่ ต่างคนก็ทำความสงบ กำหนดจิตของตนๆ ฟังเทศนาอยู่ตามเคย พอเทศน์จบแล้ว มีพระรูปหนึ่งเกิดความสงสัยในความรู้ที่เกิดจากขณะจิตที่สงบอยู่นั้นว่านั่นมันเป็นอะไร ในขณะที่พระรูปนั้นถามปัญหาอยู่ ตาแก่คนที่ว่านี้แกก็ฟังพระรูปนั้นถามด้วยความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อจบการถามปัญหาของพระรูปนั้นลง แกได้เกิดความสงสัยถามปัญหาแทรกขึ้นมาว่า เอ … ความรู้ที่ว่านั้นมันรู้อย่างไรกัน ข้าพเจ้าจึงย้อนถามแกว่า ที่แกว่าเมื่อภาวนาเข้าเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแกรู้อย่างไร แกตอบว่าเรื่องเก่าๆ ไม่ว่าการงานหรือความคิด แม้แต่สถานที่ซึ่งเคยได้ไปมาทำมาค้าขายหาอยู่หากินเมื่อก่อนๆ นานมาแล้ว จนลืมไปหมด เมื่อภาวนาเข้าจิตจะไปมองเห็นทะลุปรุโปร่งหมด หมู่เพื่อนพากันมองตากันแล้วก็ต่างยิ้มๆ แล้วไม่มีใครว่าอะไร ข้าพเจ้าจึงแสดงให้แกฟังว่านั่นเป็นอดีตสัญญา หาใช่ปัญญาเกิดจากภาวนาสมาธิไม่ ถ้าต้องการปัญญาชนิดนั้นแล้ว ไม่ต้องภาวนากันให้ยากหรอก ไปนั่งนิ่งๆ อยู่คนเดียว เดี๋ยวก็จะโผล่ขึ้นมาเอง
นี่แน่ะ นักปฏิบัติทั้งหลาย อย่าถือสัญญาแลสังขารอันเป็นอดีต อนาคต แลปัจจุบันมาเป็นตัวปัญญา เดี๋ยวจะย่ำแย่อย่างตาแก่คนนั้น ปัญญาอย่างที่ว่ามานี้ ผู้ภาวนาทั้งหลายคงเจอด้วยตนเองมาแล้วนับไม่ถ้วน บางคนเจอะเรื่องนี้เข้าจังๆ หงายหลังไปเลยก็มี คนเรานี้มันชอบกล เกิดมาชอบแส่หาแต่เรื่องยุ่งๆ อยู่เย็นๆ เงียบๆ ไม่ชอบ ชอบเกาหิดเปื่อย หิดตอ เกาโน่นเกานี่ หยิกโน่นหยิกนี่ ถือว่าเป็นความสนุก ดูซิ เกิดมาแรกๆ ไม่ค่อยจะมีเรื่องราวอะไรมากนัก พอเติบโตขึ้นมา หาเอาภาระโน่นนี่มาใส่บ่าแบกหามจนจะไปไหนมาไหนไม่รอดอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการสักที ยิ่งมีการศึกษาเปิดหูเปิดตากว้างขวางเท่าไร หากขาดการยับยั้งชั่งใจเสียแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่ บางคนถึงกับเสียผู้เสียคนไปก็มาก
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้อบรมสติฝึกหัดสมาธิ เพื่อเป็นเครื่องควบคู่กันกับภารกิจที่ยิ่งยุ่งยากและความรู้อันจะเดินออกนอกขอบเขต อันเป็นเหตุจะนำความเสื่อมเสียจนเป็นนิสัยเสียมาให้ จึงไม่มีโอกาสจะได้อบรมสติของตน บางคนก็ถือเสียว่า สติก็อยู่ในใจของเรานี้เอง จะอบรมเมื่อไรก็ได้ แต่เมื่อจะอบรมเอากันจริงๆ ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต แม้แต่ผู้ซึ่งถือตนว่าไม่มีภารกิจอะไรที่จะต้องอบรมสติ ทำสมาธิเมื่อไรก็ได้ แต่เมื่อมาทำกันจริงๆ จะอบรมใจให้มีสติตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ จนเป็นเอกัคคตารมณ์อย่างเดียวแล้ว มันมิใช่เป็นของทำได้ง่ายๆ ของผู้ไม่มีอุบายอันแยบคาย ภารกิจทั้งหลายที่เราถือว่าเราสละแล้วนั้น เวลาเรามาทำภาวนา มันกลับมาเป็นอารมณ์ของใจ มากกว่าเวลาที่เรากำลังยุ่งด้วยงานอยู่นั้นเสียอีก เพราะพลังของจิตก็คล้ายๆ กับพลังของกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าเมื่อติดหลอดไฟมากดวงแสงสว่างก็หรี่ลง ถ้าเราเปิดแต่น้อยดวงแสงสว่างก็แจ่มจ้าขึ้น จิตใจของคนเราเมื่อกำลังคลุกคลีอยู่กับภารกิจต่างๆ ถึงแม้จะเป็นของมากก็ดูเหมือนไม่มีอะไรเท่าใดนัก เพราะพลังของจิตมันอ่อน ด้วยภารกิจมันปกปิดทับถมไว้ แต่เมื่อเราสละภารกิจนั้นๆ แล้วมาทำภาวนา พลังของจิตมีกำลังกล้าฉายแสงส่องมองเห็นของเล็กน้อยที่มีอยู่ในจิต ให้ปรากฏเป็นของใหญ่โตและมากเป็นทวีคูณ
ตอนนี้หากผู้มีศรัทธาไม่พอ และไม่เคยทำกรรมฐานมาก่อน ทั้งกำลังใจก็อ่อน อาจเกิดความท้อถอยทิ้งกรรมฐานเสียก็ได้เพราะเห็นเป็นของยาก โทษไปว่าบุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย ทำไปก็ไม่สำเร็จไรประโยชน์ สร้างบารมีใหม่ให้พอเสียก่อนจึงทำทีหลัง แต่ก็ยังดีกว่าความเห็นของบางคนที่ว่า การอบรมภาวนากรรมฐานเป็นการทรมานจิตใจ เป็นทุกข์ สู้ปล่อยวางตามอารมณ์มันไม่ได้ สบายดี และบางคนยังเห็นไปว่าไม่ต้องควบคุมจิต เป็นแต่เราตามรู้ตามเห็นมันก็พอแล้ว
รู้เท่าทันที่จิตรู้
ขอแทรกเนื้อความตอนนี้อีกนิด เพื่อให้ความกระจ่างหากไม่พูดไว้ ณ ที่นี้ ไปพูดไว้ที่อื่น ข้อความก็จะห่างไกลกันไป ผู้อ่านจะจับเอาเนื้อความยาก คำว่า “…ตั้งสติตามรู้ตามเห็น…” กับคำว่า “…รู้เท่ารู้ทัน…” และคำว่า “…รู้แจ้งแทงตลอด…” มันมีลักษณะและความหมายผิดกัน นี่พูดถึงเรื่องของจิต จิตเป็นสภาวธรรม ไม่มีตัวตน แต่แสดงออกมาเป็นอาการ ให้ผู้มีปัญญาญาณรู้ได้ว่า นี่จิต นี่อาการของจิต สติเป็นอาการของจิตที่ตามรู้ตามเห็น คือ ตามรู้ตามเห็นอาการกิริยาของจิต แต่มิใช่เห็นตัวจิต จิตแท้คือผู้รู้ ผู้ตามรู้ตามเห็นอาการของจิตไม่มีวันจะทันจิตได้เลย เหมือนบุคคลผู้ตามรอยโคที่หายไป ไม่เห็นตัวมันจึงตามรอยของมันไป แต่โคเป็นวัตถุ ไม่เหมือนจิตซึ่งเป็นนามธรรม เอาจิตไปตามอาการของจิตมันก็ผิดวิสัย เมื่อไรจะเห็นตัวจิตสักที
คำว่า “รู้เท่าทัน” ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า ผู้รู้คือจิต รู้เท่าก็คือรู้เท่าที่จิตรู้นั้น ไม่เหลือไม่เกิน เมื่อรู้เท่าอย่างนี้แล้วอาการของจิตไม่มี เมื่ออาการของจิตไม่มี รอยของจิตก็ไม่มีแล้วใครจะเป็นผู้ไปตามรอยของจิตอีกเล่า รวมความแล้วสติระลึกอยู่ตรงไหน ใจผู้รู้ก็อยู่ตรงนั้น สติกับผู้รู้เท่ากันอยู่ ณ ที่เดียวกัน ทำงานร่วมกันขณะเดียวกัน
คำว่า “รู้แจ้งแทงตลอด” ก็หมายเอาความรู้ที่รู้ชัดรู้แจ้งของผู้รู้ ที่รู้ไม่เหลือไม่เกิน แทงตลอดคือตลอดเบื้องต้นตั้งแต่เริ่มคิดเริ่มรู้จนตรวจตรอง รู้ชัดถ่องแท้ลงเป็นสภาวธรรม จิตไม่ส่งส่ายแส่หาอะไรอีกต่อไป เพราะความแจ้งแทงตลอดในเหตุผลนั้นๆ หมดสิ้นแล้ว
ถ้านักปฏิบัติเข้าใจตามข้อความที่แสดงมานี้แล้ว หวังว่าคงไม่หลงเอาผู้รู้ (คือจิต) ไปตามรอยของจิต เมื่อเราทำจิตคือ ผู้รู้ให้นิ่งแนวอยู่กับสติแล้ว รอย (คืออาการของจิต) ก็ไม่มีเมื่อจิตผู้รู้กับสติผู้ระลึกได้เข้ามาทำงานรวมอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกันแล้ว การไปการมา การหลงแส่ส่ายแสวงหา ก็จะหมดสิ้นไป จะพบของจริงที่จิตสงบนิ่งอยู่ ณ ที่แห่งเดียว เหมือนกับชาวนาผู้หาผ้าโพกศีรษะบนหัวของตนเอง เที่ยววนเวียนหารอบป่ารอบทุ่งจนเหน็ดเหนื่อยกลับมาบ้านนั่งพักผ่อนเพื่อเอาแรงยกมือขึ้นตบศีรษะ ผ้าโพกตกลงมาทันที เขาเลยหมดกังวลในการหาต่อไป
จิตตอนนี้มักทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อบรมภาวนากรรมฐานขั้นแรกๆ มิใช่น้อย บางคนจนล้มเลิกในการทำความเพียรเสียก็มีเพราะเห็นเป็นของยากสุดวิสัยที่จะทำได้ ถ้าผู้ที่เคยได้รับความสงบอันเกิดจากสมาธิแล้ว จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตเป็นภัยเป็นข้าศึกแก่ความสงบของจิต แล้วจะทำการต่อสู้ด้วยความเพียรอันกล้าหาญ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรสุขอันแท้จริง ความเพียรอันกล้าหาญนั้นเลยกลายเป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของผู้เห็นภัยในความไม่สงบ
เทียบเคียง ขอบเขต ธรรมวินัย
คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่กินความกว้างขวางมาก และเป็นคำสอนที่เป็นอมตะ แต่มีขอบเขตอยู่ในหลัก ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นักศึกษาก็ดี นักภาวนากรรมฐานก็ดี หากมิได้ใช้สติปัญญาอันรอบคอบถี่ถ้วนสมควรแก่ภูมิธรรมนั้นๆ เสียก่อน หรือสอบกับท่านผู้รู้ผู้ฉลาดแล้ว ไม่ควรจะตัดสินโดยอัตโนมัติ เพราะอาจผิดจากความหมายในอรรถธรรมนั้นๆ ก็ได้
โฆษกคนเดียวเท่านั้นเห็นผิดเข้าใจผิดแล้ว อาจทำให้คนหมู่มากพลอยตกนรกไปตามๆ กันก็ได้
เมื่อนักศึกษาหรือนักปฏิบัติทำไปด้วยความมุ่งมั่นเกินไป คือด่วนอยากได้ให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วเกินควร ไม่คำนึงถึงการกระทำของตนว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง โดยปราศจากสติความรอบคอบรอบรู้ในเหตุผลนั้นๆ อาจเป็นอุปสรรคแก่การดำเนินมรรคของนักปฏิบัติก็ได้
คำสอนของพระพุทธเจ้าถึงแม้จะเป็นคำสอนที่ชี้บอกทางที่ตรงๆ แต่มันไม่ตรงกับความประสงค์กิเลสของผู้ฟัง เขาก็ไม่สามารถจะเอาไปปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์แก่ตนได้ จะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือของใครก็ตาม หากไปตรงตามกิเลสของเขาแล้ว สิ่งนั้นแลเขาจะรับไว้เป็นมรดกของเขาต่อไป
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นเหตุการณ์ไกล จึงได้ตรัสลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการไว้ให้พระอุบาลีฟัง เพื่อเหล่าพุทธสาวกจะได้นำเอาไปปฏิบัติตาม ท่านผู้ต้องการทราบรายละเอียดพึงเปิดดูในนวโกวาท หมวด ๘ หน้า ๕๖ ซึ่งเป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี
ต่อไปนี้จะยกเอาข้อเทียบเคียงธรรมวินัย ๔ ข้อ ที่พระพุทธองค์ตรัสในท่ามกลางสังฆสันนิบาต ณ กรุงกุสินารา เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุ โดยเนื้อความย่อๆ ว่า
- ถ้ามีภิกษุบางรูปมากล่าวว่า เราได้สดับมาต่อพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อันนี้เป็นธรรมวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา ดังนี้ภิกษุไม่ควรยินดีและไม่ควรคัดค้านซึ่งถ้อยคำของภิกษุนั้น ให้จำบทและพยัญชนะเหล่านั้นไว้ให้ดี แล้วไปตรวจดูในพระสูตรเทียบเคียงในพระธรรมวินัย ถ้าไม่ลงกันแล้วให้ทิ้งเสีย ด้วยแน่ใจว่าคำนี้มิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแท้ คำนี้ภิกษุนี้จำมาไม่ดีแน่ ถ้าทั้งพระสูตรและพระวินัยลงกันได้แล้ว จึงให้ตกลงใจว่าคำนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแท้ ภิกษุนี้จำมาดีแล้ว นี่เป็นข้ออ้างข้อใหญ่ที่ ๑
- ถ้ามีภิกษุกล่าวว่า คำนี้เราได้สดับมาเฉพาะหน้าแห่งพระสงฆ์ พร้อมทั้งพระเถระ ผู้เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ในอาวาสโน้น ว่าอันนี้เป็นธรรมวินัยดังนี้ ให้เทียบเคียงเหมือนข้อต้น นี่เป็นข้ออ้างข้อใหญ่ที่ ๒
- ถ้ามีภิกษุมากล่าวว่า คำนี้เราได้สดับมาเฉพาะหน้าแห่งพระเถระเป็นอันมาก ในโอกาสนั้น ซึ่งเป็นพระเถระที่ได้สดับมามาก มีความรู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยมาติกา ดังนี้ ให้เทียบเคียงเหมือนข้อต้น นี่เป็นข้ออ้างใหญ่ที่ ๓
- ถ้ามีภิกษุมากล่าวว่า คำนี้เราได้สดับมาเฉพาะหน้าแห่งพระเถระเป็นอันมาก ล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมนับถือของประชาชนเป็นอันมาก อยู่ในอาวาสโน้น ว่าอันนี้เป็นธรรมเป็นวินัย คำสอนขอพระพุทธเจ้า ดังนี้ ให้เทียบเคียงเหมือนข้อต้น
ข้อเทียบเคียงพระธรรมวินัยทั้ง ๔ ข้อ ที่นำมาเสนอท่านผู้อ่านทั้งหลายนี้ พอสรุปได้แล้วว่า ธรรมก็ดี วินัยก็ดี โดยเนื้อแท้แล้วเป็นอันเดียวกัน ที่ต่างกันโดยอาการเท่านั้นเหมือนโคแดงกับโคด่าง ฉะนั้น นักธรรมกถึกทั้งหลาย เมื่อแสดงถึงสุจริตธรรมและทุจริตธรรม ก็ยกเอาศีล ๕ มาแสดง เมื่อพูดถึงธรรมชั้นสูง คือ มรรค ๘ ก็หมายเอา ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคปหาน มรรคสมังคี ก็หมายเอา ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเข้ากันเป็นอันหนึ่งอันเดียว
พระพุทธองค์ตรัสว่า เจตนาความงดเว้นเป็นศีล เจตนานับว่าเป็นธรรมโดยแท้ เมื่อเจตนา คือ ธรรม งดเว้นซึ่งโทษนั้นๆ แล้วกลายมาเป็นศีล ศีลและธรรมจะแยกออกจากกันไม่ได้ ผู้ชอบธรรม คือ สมถะและวิปัสสนา เห็นว่าเป็นทางตรงต่อมรรคผลนิพพาน ศีลยังเป็นอาการภายนอก แล้วสรรเอาแต่เฉพาะธรรมมาปฏิบัติ เลยลืมนึกถึงการปฏิบัตินั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว หรือผู้ชอบศีลเห็นว่าธรรมเป็นของปฏิบัติยาก แล้วตั้งใจรักษาเอาแต่ศีลอย่างเดียว เลยลืมคิดว่า การมีเจตนางดเว้นจากโทษนั้นๆ ก็คือธรรมนั่นเอง จิตที่แน่วแน่อยู่ในศีลนั้นเป็นสมาธิมิใช่หรือ
พระพุทธเจ้าทรงวางธรรมเป็นอมตะไว้เป็นอย่างดีเลิศ ธรรมนั้นๆ อันใครๆ ผู้ไม่หยั่งถึงธรรมของพระพุทธองค์ ไม่ควรจะไปบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้ถูกต้องตามกิเลสของตนเลย มันจะเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว
ตำรามาก อาจารย์มาก
ผู้ศึกษาค้นคว้าตำรามากๆ นอกจากจะไม่ยอมลงมือปฏิบัติตามความรู้ที่ตนได้ศึกษามาแล้ว ในสมัยหนึ่งถือกันว่าการเรียนรู้แตกฉานในพระคัมภีร์นั้นๆ จัดว่าเป็นผู้ได้ถึงปฏิสัมภิทาญาณแล้ว เมื่อจะสรุปความเห็นของนักศึกษาโดยมากที่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามา มี ๔ ข้อ คือ
- ๑. เห็นว่าต้องศึกษาให้มากๆ แล้วจึงค่อยลงมือปฏิบัติทีหลัง เพราะไม่รู้เสียก่อนจะปฏิบัติไม่ได้
- ๒. การปฏิบัติภาวนากรรมฐานเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง ต้องประกอบด้วยอาจารย์ สถานที่ และธรรมที่เหมาะสมกับจริตนิสัย
- ๓. ต้องเป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีการเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด
- ๔. และการภาวนากรรมฐานทำจิตให้สงบ เป็นการทำใจให้โง่ไม่มีความคิด ดังกล่าวแล้ว จะต้องใช้สมองคิดค้นในเหตุผลนั้นๆ และในธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดปัญญา แล้วไม่ยอมปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามา แต่ยอมปฏิบัติตามมติของกิเลส ซึ่งเป็นนายเหนือหัวใจ
ฉะนั้น สมัยนี้อาจารย์ก็มาก ตำราก็มาก แต่หาผู้ที่จะยอมสละมานะและทิฐิถือรั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ยาก หากจะมีอยู่บ้าง โดยมากมักปฏิบัติตามคำบัญชาของนายเหนือหัวใจที่เขามุ่งไว้ล่วงหน้าก่อนว่า เมื่อหัดภาวนากรรมฐาน จะต้องใช้บริกรรมและธรรมบทนั้นๆ จึงจะถูกต้องตามจริตและนิสัยของตน เมื่อภาวนาไปจะได้ถึงชั้นภูมินั้น และรู้เห็นอย่างนั้นๆ จะนำเอาไปใช้ทางนั้นๆ ดังนี้เป็นต้น และในที่สุดก็จะคอยรับเอาแต่ผล ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า “…วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาตีติ…” พรหมจรรย์เราได้อยู่จบ กิจอื่นที่จะต้องทำอีกไม่มีแล้ว เรารู้ทั่วแล้ว การเกิดอีกของเราไม่มี ดังนี้
ข้าพเจ้าขอย้ำว่า ความเห็นของนักศึกษาโดยมากที่เห็นดังนั้นเป็นแต่จะไม่จริง ผู้ที่ศึกษามากหรือน้อยก็ตาม หากมีศรัทธาความเชื่อมั่นในแนวทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว ยอมสละมานะและทิฐิความถือรั้นสำคัญว่าตนเก่งพอแล้ว แล้วลงมือกระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะมีท่านผู้รู้ผู้ฉลาดแนะแนวทางให้ด้วยความเชื่อมั่นว่าธรรมนี้เป็นของดีของจริง แต่ตัวของเรายังไม่ทำจริงแล้ว ก็จะได้เห็นของจริงของแท้ขึ้นมาในตนของตน โดยไม่หลงงมงายเชื่อตามคำของคนอื่นบอกเล่า ธรรมของจริงของแท้ที่ทำให้บุคคลเป็นพระอริยะได้ มิใช่เพียงแต่ศึกษาตามตำราและนึกคิดคาดคะเนเอาเท่านั้น แต่จะต้องปฏิบัติเป็นไปตามนั้นจริงๆ ของจริงจึงจะเป็นจริงขึ้นมาได้
ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจำพุทธประวัติได้ ในตอนสิทธัตถราชกุมารผู้เลอเลิศด้วยการศึกษาคนหนึ่งในสมัยนั้น และแน่พระทัยที่สุดว่า “เมื่อเราออกบวชแล้วจะสามารถใช้หลักวิชาทั้งหมดที่เราได้ศึกษามา พร้อมด้วยความเพียรที่มีอยู่ กระทำให้สำเร็จพระโพธิญาณได้โดยไม่ยากนัก” เมื่อทรงผนวชแล้ว พระองค์มิได้ประมาท ทรงกระทำความเพียรทุกรกิริยาตามตำราที่ได้ทรงศึกษามาทุกๆ ประการ
๖ ปีล่วงไปก็ไม่เห็นผลอะไรขึ้นมา จนประชาชนส่วนมากเข้าใจว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ไปเสียแล้ว พระองค์จึงได้ทรงย้อนหวนระลึกถึงอานาปานสติกรรมฐาน ซึ่งไม่มีใครสอนพระองค์เลย เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ ตั้งใจกำหนดพิจารณาอยู่แต่ผู้เดียวใต้โคนต้นหว้าอันชาวพนักงานและพระประยูรญาติทอดทิ้งไปทรงกระทำแรกนาขวัญ ครั้งนั้นจิตของพระองค์สงบ จนเกิดปาฏิหาริย์เงาต้นหว้าไม่ชายไปตามตะวัน บรรดาพระญาติทั้งหลายทรงเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ต่างก็พากันถวายความเคารพเป็นการใหญ่ พระองค์ทรงเห็นว่า ทางนั้นจะเป็นทางตรัสรู้ได้กระมัง เมื่อพระองค์แน่พระทัยดังนั้น จึงทรงเลิกทำทุกรกิริยา มาทรงบำเพ็ญทางใจจนได้สำเร็จซึ่งพระโพธิญาณ
หลังจากปรินิพพานของพระบรมศาสดาแล้ว ๓ เดือน พระอานนท์ซึ่งพระสาวกทั้งหลายทุกๆ รูปให้ความยกย่องว่าเป็นคลังพระสัทธรรม ถึงแม้พระพุทธองค์จะปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ยังอยู่ ก็เหมือนพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ เพราะพระอานนท์เป็นผู้ทรงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ครบถ้วนทุกประการ
พระสงฆ์ ๔๙๙ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน จะทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า ในการนี้จะต้องคัดเลือกเอาพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ แต่พระอานนท์ยังเป็นเสขบุคคลอยู่ แล้วจะเว้นพระอานนท์ก็ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูตอย่างยอดเยี่ยม บรรดาพระเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะเป็นต้น จึงได้เตือนพระอานนท์ว่า อานนท์ พรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้พากันทำสังคายนา การครั้งนี้หากขาดท่านรูปเดียวเสียแล้ว การทำสังคายนาก็จะไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น ขอท่านอย่าได้ประมาท จงรีบเร่งทำความเพียรให้เต็มที่เถิด
ท่านพระอานนท์ผู้ไม่ประมาทแล้ว ทำความเพียรเกือบตลอดราตรี ธรรมทั้งหลายที่ได้สดับศึกษามาจากสำนักของพระพุทธองค์เป็นเวลานานร่วม ๔๐ ปี นำมาใช้คิดค้นพิจารณาเพื่อให้สำเร็จพระอรหันต์ เปล่าทั้งสิ้น ท่านมาอนุสรณ์ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า อานนท์ เธอจะได้สำเร็จพระอรหันต์หลังจากตถาคตปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๓ เดือน พระพุทธพจน์ไม่เคยตรัสเป็นคำสอง ไฉนหนอ … เราจึงไม่ได้ตรัสรู้ วันพรุ่งนี้ก็ครบ ๓ เดือนแล้ว ตั้งแต่พระพุทธองค์ปรินิพพานมา ท่านอ่อนเพลียละเหี่ยใจ ตั้งใจว่าจะพักผ่อนนอนเอาแรงสักนิด แล้วจึงจะทำความเพียรใหม่ ขณะที่ท่านทอดธุระเอนกายลงเพื่อจะพักผ่อน ศีรษะยังไม่ถึงหมอนเลย ท่านก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ในขณะนั้น รุ่งเช้าท่านได้เข้าร่วมสังคายนากับพระสงฆ์อรหันตขีณาสพ ๕๐๐ พอดี โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย อุทาหรณ์ทั้งสองเรื่องที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้ พอจะทราบได้ชัดแล้วว่า การเป็นพหูสูตและนักคิดค้นอย่างเดียวไม่สามารถจะดำเนินอริยมรรคให้เข้าถึงอริยสัจธรรมของจริงได้ แต่ท่านใช้ความนิ่งทิ้งความอาลัย ไม่มีอดีต อนาคต แม้แต่ปัจจุบันก็ไม่มีในที่นั้น ส่วนความรู้อันเกิดจากการศึกษาและค้นคิดก็ดี เกิดจากการภาวนาและวิปัสสนาก็ดี เป็นแต่สักว่าเป็นเครื่องมือไว้ใช้ในกิจธุระเท่านั้น เมื่อเสร็จธุระแล้ว เครื่องมือก็ต้องเก็บไว้ที่เดิม
เมื่อพูดถึงตัวอย่างที่มีการศึกษาค้นคว้ามามากพอควรแล้ว ต่อแต่นี้ไปจะพูดถึงผู้ที่ไร้การศึกษา แต่มีทุนคือศรัทธามาก และดำเนินถูกต้องตามอริยมรรค ก็ถึงสารธรรมได้เหมือนกัน พระราธะเมื่อท่านยังอยู่ในฆราวาส เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร ไม่ต้องพูดถึงการศึกษาละ แม้แต่ผ้าจะห่อหุ้มร่างกายอันแสนสกปรก ก็ขาดกะรุ่งกะริ่ง ชักหน้าไม่ถึงหลัง อาหารก็อาศัยข้าวเศษบาตรของพระในอาวาสนั้น พอเยียวยาลำไส้ไปมื้อหนึ่งๆ ไม่ต้องพูดถึงการศึกษาละ จะเป็นเพราะท่านขัดสน หรือเกิดศรัทธาขึ้นมาเองก็ยากที่จะเดาถูก แต่ท่านอยากบวชมากจนซูบผอม แต่ไม่มีพระภิกษุรูปใดจะสงเคราะห์ให้ท่านได้บวช
พอความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสถามในท่ามกลางสังฆสันนิบาตว่า ราธพราหมณ์นี้เคยให้อุปการะแก่ภิกษุรูปใดบ้าง ท่านพระสารีบุตรรับสนองพระองค์ว่า ราธพราหมณ์คนนี้เคยตักบาตรให้ข้าพระองค์ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า ดีละ …สารีบุตรเป็นผู้รู้จักบุญคุณของผู้อื่นที่ทำแล้ว ให้สารีบุตรนำเอาราธพราหมณ์ไปสงเคราะห์เถิด ท่านพระสารีบุตรนำราธะไปสงเคราะห์ให้บวชและเป็นอุปัชฌายะเอง ราธะบวชแล้วเป็นคนอ่อนโยนสอนง่ายยอมปฏิบัติตามโอวาทของพระอุปัชฌาย์ ไม่นานก็ได้ บรรลุพระอรหันต์ อันเป็นผลยอดเยี่ยมของผู้ออกบวชทั้งหลาย
… นี่แน่ะ … ท่านทั้งหลาย เมื่อตนมีการศึกษาน้อย ก็อย่าได้เสียใจว่าเรามีการศึกษาน้อยไม่ทันเพื่อน หากมีการศึกษามาก ก็อย่าผยองพองตัวว่าเรามีการศึกษามาก มีความรู้กว้างขวางแตกฉานเลอเลิศกว่าคนอื่น ทางโลกถึงจะมีความรู้มากหากขาดความประพฤติที่ดีงามแล้ว ก็ยากที่จะนำความสุขความเจริญมาให้แก่ตนแลส่วนรวมได้ ส่วนในทางธรรมโดยเฉพาะผู้จะทำกรรมฐานภาวนาเพื่อให้พ้นทุกข์แล้ว ตอนจิตเป็นฌานก็ดี ตอนเป็นอัปปนาสมาธิก็ดี ตอนมรรคสมังคีจิตเข้าสู่วิถีอริยภูมิก็ดี ความรู้ทั้งหลายแหล่ ทั้งที่ได้ศึกษาคิดค้นมาและเบ็ดเสร็จนอกจากนี้ก็ดี ดูเหมือนจะไม่มีความหมายในที่นั้น แต่พ้นจากนั้นแล้วนำมาใช้ประโยชน์อย่างมหันต์หรือก่อนจะเข้าถึงตอนนั้น ถ้านำมาใช้เป็น ก็จะเป็นประโยชน์อนันตังเหมือนกัน
ข้าพเจ้าได้พาท่านเที่ยวชมทางเอกอันยอดเยี่ยมของพระอริยเจ้า พร้อมด้วยทิวทัศน์ และตรอกซอยอันสลับซับซ้อนเสียยืดยาว จนทำให้ท่านเสียเวลาทำการต่อสู้กับศัตรู ป่านนี้กองทัพทั้งสามของศัตรูคงจะเตรียมและสะสมรี้พล พร้อมด้วยเสบียงอาหารไว้เป็นอันมากแล้วกระมัง ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายจงออกต่อสู้กับศัตรูได้แล้ว
ทาน คือกองเสบียง
ทานเป็นเครื่องเลี้ยงพวกไพร่พล ศีลเป็นมนต์ สมาธิเป็นวิชา ปัญญาเป็นอาวุธ
ทาน ถึงแม้ว่าจะจัดเป็นกองเสบียงก็ตาม แต่มันก็จะต้องทำการต่อสู้กับข้าศึกที่จะมาตัดการลำเลียงมิใช่ย่อยเหมือนกัน ฉะนั้น การสร้างความดีในทางพุทธศาสนาไม่ว่าจะโดยวิธีใดๆ ก็ตาม ที่แท้แล้วก็คือเป็นการต่อสู้กับศัตรู (คือกิเลสของตนทั้งนั้นนั่นเอง) จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ปัญญา (คืออาวุธ) ถ้าปัญญาคือทัพหลังไม่เป็นกำลังเข้าช่วยแล้วก็จะหมดท่า… การทำทานจาคะบริจาควัตถุสิ่งของใดๆ ก็ตาม มันเป็นการยากยิ่งของผู้ไม่มีปัญญา ร้ายกว่าเข้าสู้สงคราม การต่อสู้ใดๆ ทั้งหมดก็ต้องอาศัยอาวุธ ถ้าหาไม่แล้วจะเอาชัยชนะมาแต่ไหน
ทานก็เป็นการต่อสู้ชนิดหนึ่ง ความตระหนี่เป็นข้าศึกตัวร้ายกาจของการทำทาน เพราะเห็นไปว่าวัตถุสิ่งของเงินทองที่หามากว่าจะได้มิใช่ของง่าย ได้มาแล้วก็เพื่อความมั่งมูลสมบูรณ์ให้มีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง ได้มาแล้วประโยชน์อะไรจะยกไปให้ทานเฉยๆ โดยหาผลประโยชน์อะไรมิได้ อย่างดีให้ทานไปแล้วก็จะมีแต่ให้พร ยถา-สัพพี ให้ไปเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นดิบเห็นดีมั่งมีเจริญขึ้นกว่าเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างกว่าจะได้มาเราหาแทบตาย ผู้มีน้อยให้ทานไปแล้วก็กลัวจะอดตาย ผู้มีมากก็กลัวจะขาดบาทขาดเบี้ย บางทีมีผู้มาขอ เสียไม่ได้ก็ให้นิดๆ หน่อยๆ พอแก้รำคาญ ให้เล็กๆ น้อยๆ เหมือนยกเงินยกทองให้เป็นถุงๆ
ความตระหนี่เสียดายกลายเป็นข้าศึกของหัวใจต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ให้น้อยก็เสียดาย ให้มากก็กลัวจะหมด ไม่ให้เสียเลยก็เกรงใจกลัวจะขาดญาติขาดมิตร คิดไปๆ ก็มีแต่กลุ้มใจ เป็นภัยแก่ตัวทุกๆ ด้าน ทานจึงเป็นข้าศึกแก่ผู้ที่มีความตระหนี่ กว่าจะให้ทานได้แต่ละครั้งเหมือนไปสงครามให้ได้ชัยชนะมาแล้วก็ว่าได้
ทานํ สคฺคโสปนํ ทานเป็นบันไดนำไปสู่สวรรค์ ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องนำหน้า พิจารณาเห็นความทุกข์ในโลกนี้ว่า ไม่ว่าคนมีคนจนหากยังมีความอยากอยู่แล้ว ได้ชื่อว่ายังเป็นผู้ตกในความทุกข์และความเป็นคนจนด้วยกันทั้งนั้น พร้อมกันนี้ ชีวิตอันหรูหราหรือฝืดเคืองก็ตาม ทุกๆ ชีวิตจะต้องถูกความชราคร่ำคร่าฉุดไปอย่างไม่มีวันหยุดยั้งเลย เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแห่งมัจจุราชแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติจะมีล้นเหลือก็ไม่มีความหมายแก่ชีวิตของเราเลย หากเราหามาได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เราควรแจกจ่ายทำทาน อันเป็นการเฉลี่ยความสุขให้แก่ชีวิตของผู้อื่น และทั้งเป็นการสมานมิตรผูกสัมพันธไมตรีอันดีงามแก่ชุมชนทุกหมู่เหล่าไม่เลือกหน้า จิตใจของเราก็จะได้กล้าหาญเบิกบานในสังคมนั้นๆ และเป็นการหากำไรให้แก่ชีวิตของเราไปวันหนึ่งๆ อีกด้วย การทำทานของเราถึงแม้จะมีประมาณเล็กน้อย แต่ความอิ่มและความเต็มใจของผู้ทำทานมีประมาณเท่าภูเขา การทำทานของผู้มีปัญญาจะมากหรือน้อยย่อมมีความอิ่มพอดีกับศรัทธาของตน ซึ่งตรงกันข้ามกับการได้ทรัพย์ของผู้ไม่มีปัญญาใจตระหนี่ ได้มากน้อยเท่าไร ไม่มีวันพอวันอิ่ม จนอยู่ตลอดกาล
ทานถึงแม้จะไม่เป็นการชนะอย่างเด็ดขาด ยังมีภพมีชาติอยู่ก็ตาม แต่เป็นการยอมแพ้อย่างมีเสรีบ้างบางอย่าง อย่างน้อยก็เป็นประเทศราชหรือหัวเมืองขึ้นเขาก็ยังดี ยังดีกว่ายอมแพ้เป็นขี้ข้าเขา ไม่มีสิทธิเสรีอะไรเสียเลย เวลานี้ท่านตรวจดูตัวเองแล้วหรือยังว่า ท่านยอมแพ้แก่ข้าศึกคือความตระหนี่ในหัวใจของท่านชนิดไหน ถ้ายังไม่ได้ตรวจ ขอได้โปรดตรวจดูเสียแต่บัดนี้ … อย่าได้นอนเป็นทาสระทมทุกข์แก่ข้าศึกในหัวใจของท่านต่อไปเลย ศึกภายในรบยากแต่ชนะแล้วไม่กลับแพ้ และไม่มีเวรมีภัยต่อใครๆ ทั้งหมด ผู้แพ้ก็ไม่มีทุกข์ ผู้ชนะก็ไม่มีเวรมีภัย เพราะชนะหัวใจของตนเองคนเดียว
ทัพที่ ๑ คือศีล
ทัพหน้าคือ ศีล โดยเนื้อแท้แล้ว การรักษาศีล ไม่ว่า ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ หรือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ก็ตาม คือ ได้แก่ตั้งข้อกฎกติกาไว้เพื่อทำการต่อสู้กับกิเลสให้มีขอบเขตแนวรบ (คือ เขตรับผิดชอบนั่นเอง) ถ้าหาไม่แล้ว ไม่ทราบว่าจะไปต่อสู้กันตรงไหน ณ ที่ใด ผู้ที่รักษาศีลตามเพื่อนหรือตามประเพณี ไม่ชื่อว่ารักษาศีลเพื่อต่อสู้ ผู้อุดมสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง แล้วไม่ได้ทำความผิดล่วงเกินในศีลบางข้อหรือทั้งหมด ไม่ชื่อว่าผู้มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น และ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาทแล้วเหมือนกัน บุคคลผู้ประมาทย่อมทำชีวิตอันมีค่าของตนให้สิ้นหมดไปอย่างน่าสงสาร เป็นที่น่าเสียดายมาก เข้าหลักนางวิสาขาอุบาสิกาว่าให้พ่อผัวผู้นั่งเฝ้าสมบัติไม่ทำความดีต่อว่า “…กินของเก่า…”
ศีลก็ต้องอาศัยปัญญาคือทัพหลังเข้าสนับสนุนจึงจะมีกำลังกล้าหาญเข้มแข็งพอ ผู้ไม่มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษในโลกว่าเป็นที่ตั้งกองทุกข์ทั้งหลาย แล้วก็จะนิ่งนอนใจไม่พยายามที่จะตั้งกองทัพเพื่อต่อสู้กับศัตรูเลย (ผู้ฉลาดเท่านั้น เมื่อตนหมดอิสระแล้วจึงจะคิดหาหนทางแก้ไขให้ได้ซึ่งอิสระของตนคืนมา) โลกที่เป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดี หรือในอดีต อนาคตก็เหมือนกัน หากขาดมนต์ (คือศีล) อย่างเดียวแล้วจะหาความสุขไม่ได้เลย ศีลมีในบุคคลใด หมู่ใด คณะใด ความสุขย่อมจะเกิดมีในที่นั้นๆ ตามกำลังของศีลมากหรือน้อย
ตัวอย่างเช่น บุคคลในหมู่นั้นๆ ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์สักคนหนึ่ง คนผู้นั้นก็จะนำความสุขมาให้ ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่หมู่คณะ ถ้าหากในหมู่นั้นมีศีลเพิ่มขึ้นอีกคนหรือ ๒ คน หรือ ทั้งหมดในหมู่นั้น ลองคิดดูว่าจะมีความสุขไหม ? ศีลจึงเป็นมนต์สำหรับปัดเป่าความทุกข์เดือดร้อนให้แก่โลกเป็นอย่างดี ศีล ๕ ก็มีคุณประโยชน์แก่โลกถึงขนาดนี้แล้ว ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะให้คุณประโยชน์แก่โลกสักเพียงไร
ศีล คือ ข้อกติกาที่ตั้งไว้เพื่อต่อสู้กับกิเลส อันเป็นข้าศึกภายในตัวของแต่ละบุคคลดังกล่าวแล้ว ผู้รุกรบดำเนินตามข้อกฎกติกานั้นๆ จนได้ชัยชนะแล้ว จะอยู่เป็นสุขทั้งตนเองและแก่บุคคลอื่น ทัพนี้เป็นทัพหน้า เมื่อประจัญข้าศึกเป็นครั้งแรกอาจมีความไหวหวั่นอยู่บ้าง เพราะคนเราชอบทำชั่วเป็นนิสัย ถือเป็นมิตรกับความชั่วนั้นมานานแล้ว หรือจะพูดให้สั้นๆ ก็เรียกว่า ถือเอาความประมาทในอกุศลทั้งปวงว่าเป็นความสุข คราวนี้เมื่อมามองเห็นความชั่วในความประมาทนั้นๆ ก็เท่ากับตั้งใจจะหักหลังมิตร ลองคิดดู ผู้ที่จะตั้งใจจะหักหลังมิตรนั้นจะมีความทุกข์สักเท่าไร กลัวจะขาดมิตร เสียใจอาลัยจะไม่มีมิตรอื่นดีกว่า ที่สุดกลัวจะไปไม่รอด เวลากลับมาหามิตรอีกกลัวจะขายขี้หน้า ผู้จะรักษาศีลงดเว้นจากความชั่วก็เช่นเดียวกัน ผู้ไม่มีปัญญาสนับสนุนให้ใจกล้าหาญแล้ว จะรักษาศีลไม่ได้เลยเด็ดขาด
มนุษย์ผู้ใจเลวทราม ฆ่าสัตว์ แม้แต่สัตว์ตัวที่มีคุณก็ไม่เว้น เห็นเป็นกีฬาอันน่าสนุก เอาความทุกข์ถึงกับชีวิตของคนอื่นมาเป็นความสนุกของตัวเอง ได้ชื่อว่าใจเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์ที่วิ่งอยู่ในป่าหาการศึกษาไม่ได้ ผู้เช่นนั้นควรเรียกว่า “ยักษ์ใหญ่ที่แฝงมาในร่างมนุษย์…” ผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวงโกงกินหิน กินทราย กินเหล็ก กินป่า อันเป็นสมบัติของส่วนรวมก็ดี ผู้ลักเล็กขโมยน้อยไม่ถึงกับทำความฉิบหายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาลก็ตาม แต่ทำความเดือดร้อนไม่สงบสุขทุกระแหงหน คนเหล่านี้เป็นผีตายอดตายอยากแฝงมาเกิดในร่างมนุษย์ ทำความจลาจลวุ่นวายในสังคมทั่วๆ ไป
ผู้ประพฤติผิดในกามตามวิสัยของใจชั่วไม่กลัวบาป หน้าด้านเกเรกับเพศตรงข้าม ไม่รู้จักห้ามใจของตนเองเยี่ยงมนุษย์ธรรมดาสามัญชนทั่วๆ ไป มองเห็นเพศตรงกันข้ามเหมือนเป็นผักเป็นปลา เหมือนเสือมองเห็นวัวควายหรือสัตว์เป็นๆ ทั้งหมดที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเป็นอาหารที่น่าอร่อยไปทั้งหมด จิตมนุษย์ชนิดนี้จะอัปรีย์ขนาดไหน จะว่ามนุษย์ก็ไม่ใช่ จะว่าสัตว์ก็ไม่เชิง
ขอให้ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาดูเถิดว่า มันจะเลวร้ายขนาดไหน โทษในการไม่รักษาศีลจึงเป็นภัยอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ตนคนเดียวตลอดถึงสังคมไม่มีขอบเขตกติกา คือ ข้องดเว้นของศีลแต่ละข้อ จึงนับว่าเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมมนุษย์แลสัตว์ทั่วไปอย่างมหาศาล
ฉะนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงพระเมตตาแก่บรรดาสัตว์ไม่เลือกหน้า ทรงพระกรุณาสอนให้รู้จักโทษของการไม่มีศีล แล้วทรงแสดงคุณของศีลว่า ศีลเป็นคุณค้ำจุนโลกไว้มิให้ก้าวเข้าไปสู่ความหายนะ ศีลเป็นของเย็นดับยุคเข็ญของโลกได้โดยเด็ดขาด ศีลยังสามารถอุปถัมภ์ค้ำชูโลกไว้มิให้หวั่นไหวเอนไปตามความชั่วทุจริต ศีลเป็นของประเสริฐสูงสุดในมนุษยโลกแลเทวโลก ศีลเท่านั้นเป็นเครื่องตัดสินว่าใครเป็นคนดีคนเลว
แต่มันแปลกประหลาดมาก ถึงแม้ว่าศีลจะเป็นของดีเลิศและเป็นเครื่องวัดความดีของคนก็ตาม แต่บุคคลผู้อยากดีก็ยังไม่อยากเอาศีลมาวัดความดีของตนอยู่ก็แยะ ยิ่งร้ายกว่านั้น บางคนยังเอาความชั่วชั้นเลวมาวัดว่าเป็นความดีเด่นกว่าคนอื่นก็มี หรือจะเอาศีลมาวัดความดีของตนจนเป็นที่ภูมิใจแล้วก็ตาม มาตอนหลังๆ ศีลซึ่งเป็นเครื่องวัดความดีนั้นกลับตรงกันข้าม คือเห็นว่าศีลไม่ดีไปเสีย หรือเห็นว่าเป็นของดีอยู่บ้าง แต่ความดีนั้นมากไปก็มี
เช่น ผู้ที่มีศีล ๕ มองเห็นคุณค่าของศีลว่าเป็นของดีมีคุณค่าเลิศ ก็พยายามที่จะเพิ่มศีล คือความดีของตนให้มากขึ้นเป็นลำดับ มี ๕ แล้วอยากให้มี ๘ มี ๘ แล้วอยากให้มี ๑๐ มี ๒๒๗ เป็นลำดับไป แต่บางทีผู้มี ๒๒๗ แล้วก็ลดลงมาให้ยังเหลือ ๑๐ เหลือ ๘ เหลือ ๕ หรือไม่ให้มีเหลือเลย ดังนี้ก็มี เราจะเห็นได้ในวงกาสาวพักตร์ ผู้บวชอยู่นานๆ เบื้องต้นก็ดูเหมือนจะอิ่มอยู่กับศีลของตน แต่ที่ไหนได้ มาตอนหลังๆ ไม่มีใครจะนึกฝันเลยว่าท่านจะเบื่อหน่ายในคุณค่าของศีลในตัวของท่านเอง ยอมสละศีล ๒๒๗ ซึ่งท่านชนะแล้วคุ้มครองมานานปีอย่างน่าใจหายใจคว่ำ
บางคนหลังจากพ้นเขตวัดไปแล้ว แม้ศีลตัวเดียวก็ไม่เอาติดตัวไปบ้านเลยก็มี ผู้เช่นนั้นดูเหมือนว่าเกลียดชังศีลมานานแล้วก็ได้ หากจะมีบางคนเอาติดตัวไปบ้างสัก ๕ ตัว ๘ ตัว แต่มันก็กระไรอยู่ เอาของมีราคามากมาแลกเอาของมีราคาน้อย บางคนยังกระหยิ่มในใจว่า “…พิมเสนไม่เห็นมีรสชาติอะไร สู้เกลือไม่ได้…” ก็มี ผู้เช่นนั้นตามมติของข้าพเจ้าพอจะสรุปได้ว่า ตั้งทัพหน้าคือศีลรบรุกกิเลสของตน มิใช่เพื่อผลคือความเป็นอิสระ แต่เพื่อความสามารถของตนให้ตาโลกเขาเห็นว่าเรามีความสามารถก็ได้ หรือรุกรบเพื่อกู้อิสระจริงๆ แต่เมื่อได้ชัยชนะแล้วไม่มีความสามารถที่จะบริหารให้อาณาประชาราษฎร์ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข จึงเกิดปฏิวัติขึ้นก็ได้ พูดย่อๆ ว่ามีความสามารถแต่ด้านการทหาร ไม่สามารถในด้านการเมือง
บางคนเห็นเขารักษาศีล ก็ทำตามเขาไปไม่รู้คุณและโทษของศีลเอาเสียเลยก็แยะ คนทำความดีแล้วอยากละความดีมาทำความชั่ว คือบวชแล้วอยากสึกมาเป็นฆราวาส ผู้กำลังบำเพ็ญความดีอยู่แล้วอยากจะทำความดีนั้นๆ เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป คือ อยากรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ จนได้บวชพระเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานมันก็แปลกเหมือนกัน บางคนวาดมโนภาพไว้ว่า เราบวชแล้วจะศึกษาปฏิบัติให้เคร่งครัดในพระธรรมกรรมฐานอย่างนั้น หาวิเวกอย่างนั้น ละนิวรณ์และปลิโพธอย่างนั้น จะให้ได้ฌานสมาบัติมรรคผลอย่างนั้น แล้วสอนคนอื่นอย่างนั้น ข้าพเจ้าขอเตือนว่า “…อย่าๆๆ เดี๋ยวเดือดร้อนภายหลัง”
ผู้ที่จะสึกจากพระก็ทำนองเดียวกันนี้ คิดว่าลาสิกขาไปแล้วจะมีอิสระทุกอย่าง เราจะเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวง แม้จะมีครอบครัวแล้วก็เข้าใจว่าตนมีอิสระเหนือเขา หาเงินก็คล่อง เข้าที่ไหนติดต่อกับใครก็สะดวก หน้าที่การงานก็จะมีแต่ผู้สนับสนุน ฉันข้าวสุกปากหม้อความคิดปัญญาดีจริงๆ แต่อย่าลืมว่า คนเขาพูดกับพระ เขาต้องใช้คำพูดและสำนวนโวหารอย่างหนึ่ง แต่เขาพูดกับฆราวาสด้วยกัน เขาจะต้องใช้คำพูดและสำนวนโวหารไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่เชื่อ หลังจากลาสิกขาเพศแล้ว ๓ วันล่วงไป ขอให้ไปสมาคมกับคนที่เขาเคยเคารพนับถือเราเมื่อยังทรงเพศเป็นสงฆ์อยู่ดูเถิดจะรู้ดี แต่เมื่อผู้หวังดีพูดคำนี้แก่ผู้ต้องการอยากจะสึกแล้วแสลงหูเขานัก ถ้าเขาไม่ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว เขาจะไม่ยอมเชื่ออย่างแน่นอน
กองสอดแนม คือสติ
ศีล ถึงแม้ว่าเป็นกองทัพหน้าเพื่อประจัญต่อสู้กับข้าศึกของผู้เห็นโทษในโลกแล้วก็ตาม หากดำเนินผิดแผนยุทธศาสตร์ (คือมรรค ๘) ที่พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว จะเอาชัยชนะแก่ข้าศึกไม่ได้เลยเด็ดขาด แผนของพระพุทธองค์ที่วางไว้เรียกว่า “…ปาริสุทธิศีล ๔ …” เมื่อแย่งชิงชัยชนะขั้นศีลตามข้อกฎกติกานั้นๆ มาได้แล้ว พระองค์ไม่ให้นิ่งนอนใจ มันอาจมีผู้ก่อกวนความไม่สงบภายในขึ้นก็ได้ พวกนั้นหากมันส่งจารบุรุษมาแทรกซึมไว้ทุกหนแห่ง มีกำลังเพียงพอแล้ว กองทัพคือศีลอาจไม่มีความหมาย ฉะนั้น พระองค์จึงทรงสอนให้ตั้งกองสอดแนม คือ ตัวสติ ไว้รักษาทวารทั้งหก เรียกว่า “…อินทรียสังวร…”
อินทรีย์ ๖ มีตาเป็นต้น ย่อมมีประโยชน์ทำให้เกิดความรู้ความฉลาดได้ต่างๆ นานา ถ้าหากใครขาด คือ ไม่สมบูรณ์ทั้งหกแล้ว คนคนนั้นเขาเรียกว่าคนไม่สมบูรณ์
อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ หมายความว่า แต่ละอินทรีย์ เช่น จักขุนทรีย์ ตา เป็นใหญ่เป็นเจ้าพนักงานรับทำการเพื่อดูเฉพาะแต่รูปอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับเรื่องเสียงและกลิ่น เป็นต้น จึงได้นามว่าอินทรีย์
อีกนัยหนึ่งเรียกว่า อายตนะ คือบ่อเกิดของอารมณ์ อายตนะแต่ละอายตนะ ย่อมรับอารมณ์เฉพาะของตนๆ จะก้าวก่ายกันไม่ได้ เช่น จักขุอายตนะ อายตนะคือตา จะรับได้แต่เฉพาะให้เห็นรูปเท่านั้น จะรับฟังเสียงและสูดกลิ่นไม่ได้ และยังสมมติให้เป็นธาตุและอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ อายตนะนี้ถ้าขาดกองสอดแนมคือสติแล้ว นั่นแลจะเป็นช่องทางให้จารบุรุษเล็ดลอดเข้าไปในทวารนั้นๆ แล้วเข้าไปแทรกกิจการภายในบั่นทอนกองทัพ อาจยังผลให้ได้รับความปราชัยย่อยยับในวันหนึ่งข้างหน้า เพราะอายตนะแต่ละอายตนะติดต่ออารมณ์ไม่เลือก อารมณ์ดีก็ทำให้เกิดความสุขหลงระเริงลืมตัว ถ้าชั่วก็ทำให้เกิดโทมนัสขัดแค้นขุ่นมัว ความสุขและความทุกข์ ดีและชั่ว ที่เกิดจากอายตนะทั้งหกนี้ มันเป็นจารบุรุษตัวร้ายกาจของข้าศึก
กองบัญชาการ คือจิต
พระพุทธองค์จึงทรงสอนยุทธวิธี ผู้ที่ได้ชัยชนะแล้วให้ตั้งกองสอดแนมไว้ทุกๆ ทวาร แล้วให้ประมวลข่าวรายงานมายังกองบัญชาการ (คือจิต) ว่าอายตนะทั้งหลายล้วนแต่เป็นของเก่าอารมณ์เก่าเดินอยู่ในสายเก่า คือ ชอบใจก็มีความสุข พอใจ โสมนัสยินดีเพลิดเพลินมัวเมาประมาทลืมตัว ไม่ชอบใจ ก็เกิดความทุกข์โทมนัสเดือดร้อนเศร้าโศกเสียใจ กลุ้มอกกลุ้มใจ
ความเป็นมาของอารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งหก ย่อมเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกาล ไม่ว่าในอดีตและปัจจุบันหรือในอนาคตต่อไป หากอายตนะทั้งหลายยังมีในที่นั้นๆ แล้ว ก็จะได้ประสบเช่นเดียวกันนี้ทั้งนั้น
ฉะนั้น ขอผู้บัญชาการ (คือจิต) จงเบาใจเสียเถิดว่าข้าศึกทั้งหลายมิใช่ของใหม่ ทั้งยุทธวิธีก็ของเก่า เรารู้เท่าเล่ห์กลมารยาของข้าศึกหมดแล้ว เมื่อผู้บัญชาการฟังรายงานของกองสอดแนมแล้วก็สบายใจสงบ พวกนักรบต่างคนก็พากันรักษาหน้าที่ของตนๆ โดยความเรียบร้อย ไม้ก้าวก่ายหน้าที่ของตนๆ ตามีหน้าที่ดูรูปก็ดูไปหูมีหน้าที่ฟังเสียงก็ฟังไป… วิญญาณมีหน้าที่รู้สัมผัสก็รู้ไป เวทนา-สัญญา-สังขาร มีหน้าที่อย่างไร ก็ทำไปตามหน้าที่ของตนๆ กองสอดแนม(คือสติ) ตามรู้ตามรายงานกองบัญชาการ (คือจิต) แห่งเดียวแล้วก็เป็น “…อินทรียสังวร…”
ยุทธวิธีที่ ๑
อินทรียสังวรมิใช่ตามไปรักษาในอินทรีย์หรืออายตนะนั้นๆ เหมือนบุรุษเลี้ยงวัว ขอให้ท่านคิดซิว่า วัว ๖ ตัว ต่างตัวมันก็มีจิตมีใจคิดที่จะออกไปหากินในที่ต่างๆ กัน บุรุษผู้เลี้ยงวัวก็จะตี ต้อนตัวโน้นบ้างตัวนี้บ้างเพื่อมิให้มันหนีไปไกล บุรุษผู้เลี้ยงวัวจะเป็นทุกข์และกลุ้มใจสักเท่าไร
หากบุรุษผู้นั้นฉลาด ปล่อยฝูงวัวให้เข้าสู่สนามหญ้าและตัวเขาเองนั่งอยู่ในที่สูง มองดูว่าในสนามหญ้านั้นเห็นทั่วไปว่าตัวไหนมันอยู่อย่างไร ไปอย่างไร แล้วก็ไปไล่ตีต้อนเอาแต่เฉพาะตัวที่เห็นว่ามันจะหนีจากฝูงไปให้เข้ามาอยู่กับฝูง เขาก็จะได้รับความสุข
ฉันใด ผู้ที่สำรวมอินทรีย์หรืออายตนะ หากเข้าใจว่า อินทรีย์หรืออายตนะเป็นอันหนึ่งต่างหากนอกจากจิตแล้ว จะไปตามรักษาอินทรีย์หรืออายตนะให้อยู่ เห็นจะไม่มีวันอยู่ได้แน่ เพราะอินทรีย์หรืออายตนะคืออะไร เกิด ณ ที่ไหน มันทำงานอย่างไร ก็ไม่รู้เสียแล้ว จะไปสำรวมรักษาได้อย่างไร ดีไม่ดีไปต้อนเอาวัวเขามาเป็นของตนอาจให้โทษซ้ำไปก็ได้
(อนึ่ง ใจของตนเองทั้งที่มันเป็นนายใช้เรามาแต่วันเกิด แต่เราก็ไม่รู้จักตัวนายของเราเองเลยสักที ว่านายแท้ของเรามันเป็นอย่างไร นายใช้ให้ทำดีทำชั่วทำบาปทำบุญทั้งที่เป็นคุณเป็นโทษก็ไม่รู้ แล้วเราจะมีอิสระอะไรในตัวของเราทั้งหมดนี้)
ยุทธวิธีที่ ๒
ความจริง อินทรีย์หรืออายตนะ เป็นชื่อสมมติหน้าที่การงานของจิต เหมือนหน้าต่างประตู เป็นที่ส่องมองดูสิ่งนั้นๆ ของเจ้าของบ้านคนเดียวเท่านั้น แลเจ้าของบ้านเมื่อจะทำงานในทวารนั้นๆ ก็มิได้ทำพร้อมๆกันไปทั้ง หกทวาร ทำแต่เฉพาะทวารใดทวารหนึ่งเท่านั้น เพราะเจ้าของบ้าน (คือจิต) มีคนเดียว
เมื่อผู้มาเข้าใจอย่างนี้แล้ว การสำรวมอินทรีย์หรืออายตนะ ๖ ก็จะสะดวกขึ้น คำว่า สำรวม หมายความว่าของมันรวมกันอยู่แล้ว แต่เราไปทำให้มันกระจัดกระจายออกต่างหาก ถ้าของไม่เคยรวมกันอยู่แล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่าของมันรวมกันนั้นคืออะไร
ในอินทรียสังวร ศีลที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้สำรวมนั้น ก็หมายความว่าทรงสอนวิธีให้สำรวมจิตให้เข้าที่เดิม คืออินทรีย์และอายตนะรวมกันก่อนแล้วนั่นเอง เมื่อสรุปแล้ว ศีลถึงจะมีข้อกฎมากมายสักเท่าไรก็ตาม นั่นว่าตามวิถีจิตที่มันวิ่งออกจากฐานเดิมไปทำผิดกฎนั้นๆ ที่ท่านวางมาตรการไว้ จึงกลายเป็นของมากไป ตัวศีลที่แท้จริงแล้วตัวเดียว คือ เจตนางดเว้น ไม่ทำความผิดจากกฎนั้นๆ การสำรวมอินทรีย์หรืออายตนะก็เช่นเดียวกัน มิใช่จะไปตามปิดทวารทั้ง ๖ เหมือนคนไม่อยากดูอะไร แล้วปิดประตูหน้าต่างทั้งหมดฉะนั้น แต่ท่านสอนให้สำรวมจิตแห่งเดียวเมื่อสำรวมจิตอันเดียวได้แล้ว ทวารทั้ง ๖ จะทำอะไรให้แก่จิตได้อีกเล่า
นี่เป็นยุทธวิธีที่ ๒ ที่จะช่วยป้องกันศีลให้เหนียวแน่นมั่นคงต่อไป
ยุทธวิธีที่ ๓
ยุทธวิธีที่ ๓ คือ อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร ถ้าขาดอาหารเสียอย่างเดียวแล้ว ถึงแม้สิ่งอื่นจะมีมากล้นเหลือหลายสักเท่าไร ก็หามีความหมายในชีวิตไม่ “ชิคจฺฉา ปรมาโรคา ความหิวไม่ว่าจะหิวทางร่างกายหรือจิตใจ จัดเป็นโรคอย่างหนึ่ง…” นก ปลา ตายเพราะหิวเหยื่อ มนุษย์ชาวโลกตายเพราะหลงเชื่อความหิว ความอยากของตน
พระพุทธองค์ทรงทราบดีแล้วว่า สามัญชนคนทั่วไปจมอยู่ในปลัก คือ ความอยาก พุทธบุตรทั้งหลายยอมสละเพราะเห็นโทษแล้วซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จึงได้หนีจากป่ารกชัฏแห่งความมัวเมาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จึงทรงพร่ำสอนเรื่องวิสุทธิศีล ๔ โดยเฉพาะเรื่องอาชีพซึ่งเป็นของจำเป็นแก่ชีวิตดังกล่าวแล้ว ความหิวทำให้หน้ามืด ถือรั้นปิดกั้นความดีงาม ยอมทำตามอำนาจของความหิวได้ทุกๆ วิถีทาง พระพุทธองค์จึงได้วางมาตรการไว้ว่า การเลี้ยงชีพในทางที่ชอบเป็นระบอบอันดีงามได้ชื่อว่าเดินตามอริยมรรค เป็นเครื่องสนับสนุนศีลวิสุทธิให้แน่นหนามั่นคง หากใครไม่เดินให้ตรงตามนี้แล้ว เป็นอันว่าคลาดแคล้วจากทางมรรคผลนิพพาน
ความหิวเป็นโรคเรื้อรังรักษายากไม่รู้จักหายนานตายมีแต่จะก่อกวนทำความรำคาญให้แก่ตนและคนอื่น (คือกิเลส) แล้วก็สิ้นเปลืองทุนทรัพย์มาก (คือ ความดีหมดไปๆ แถมความชั่วเหลวไหลยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอีก) พระพุทธองค์จึงสอนให้ระวังสังวรเลี้ยงชีพแต่ในทางที่สุจริตคิดถึงชีวิตของบรรพชิต เนื่องด้วยบุคคลอื่น เราจึงควรทำตัวของเราให้เขาเลี้ยงง่าย หรือชีวิตร่างกายที่มีส่วนประกอบยังเหลืออยู่นี้เป็นของชาวบ้านผู้มีศรัทธาทั้งหมดก็ว่าได้ ไฉนเราผู้เป็นหนี้บุญคุณของชาวบ้านจะทำตนให้บริสุทธิ์สมกับเจตนาอันดีงามของเขาไม่ได้ คนเราหากคิดถึงบุญคุณของผู้มีคุณแก่ตนแล้วจะไม่ยอมทำความชั่วแม้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะตั้งหน้าทำแต่ความดีงามเพื่อทดแทนบุญคุณของคนอื่นถ่ายเดียว พร้อมกันนั้นก็เป็นอันว่าเราสร้างความดีให้ตัวเองไปในตัวด้วย มนุษย์เช่นนี้มีน้อยหาได้ยากในโลก เป็นบรรพชิตในพระศาสนา หากหาน้ำใจในร่มผ้ากาสาวพัสตร์เช่นนี้ไม่มีเสียแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องประกันความดีในเพศอันนี้
ยุทธวิธีที่ ๔
ยุทธวิธีที่ ๔ ปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ข้อ ๓ อาชีพหมายเอาการแสวงหาอาหารในทางบริสุทธิ์อย่างเดียว แต่ข้อที่ ๔ นี้พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ รวมถึงอาหารด้วย
ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พิจารณาเสียก่อนบริโภค ปัจจัย ๔ ก็ทำนองเดียวกันกับอินทรียสังวร เพราะอินทรีย์ก็ดี ปัจจัย ๔ ก็ดี เป็นของจำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน คือ ต้องใช้ ต้องบริโภคอยู่ตลอด ๒๔ ชั่งโมง ของใช้มากถึงแม้จะเป็นของดีแน่นหนาแข็งแรงสักเท่าไรก็ตาม ย่อมจะมีการสึกหรอและเสียหายมาก (คือสติอ่อน) เป็นธรรมดา พระองค์สอนให้แสวงหาอาชีพโดยทางบริสุทธิ์ ได้มาแล้วยังสอนให้พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภค
บางคนเห็นไปว่าเมื่อได้มาโดยทางบริสุทธิ์แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาอีก เช่น ได้อาหารมาโดยทางบริสุทธิ์แล้ว ก็หมายความว่าปราศจากโทษทั้งปวงแล้ว ทั้งของก็บริสุทธิ์ ทั้งศรัทธาผู้ให้ก็บริสุทธิ์ มันจะมีโทษเป็นหนี้เป็นสิน ตายไปเกิดเป็นวัวเป็นควายลากคราดลากไถใช้หนี้เขาอยู่ทำไมอีก ธรรมดาของดีไม่ปลอม บริสุทธิ์แท้ราคาก็ต้องสูง พระภิกษุผู้โลกเขาให้สมญา ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์สมบูรณ์แล้วทุกประการ ศรัทธาชาวบ้านเขาจึงถวายบูชาด้วยใจบริสุทธิ์และวัตถุอันบริสุทธิ์ หากภิกษุปฏิคาหกผู้รับ(ซื้อ) เอาธนบัตรปลอมไปซื้อของนั้นมา ถึงเจ้าของผู้ทายกเขาจะไม่ทราบ แต่พระภิกษุย่อมทราบได้ด้วยตนเอง ถึงจะไม่เอาโทษอาญาบ้านเมือง แต่พระภิกษุรูปนั้นก็มีโทษอยู่ดีๆ นั่นเอง ทายกเขาถวายทานแล้วก็แล้วไป เขาไม่มาตามทวงเอาหนี้เอาสินอะไรหรอก เว้นเสียแต่บางกรณีผู้หวังเลขท้าย เมื่อพระบอกให้ซื้อไม่ถูกจะต้องมาต่อว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่เอาปิ่นโตมาส่งอีก แต่นั่นเขาไม่ได้หวังเอาบุญกุศลอะไร เขาหวังแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่กรณีที่ว่านี้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มาทวงเอาหนี้สินกับพระ ถ้าพระทำตัวเป็นธนบัตรปลอมแล้ว จะเป็นหนี้สิน (คือความเดือดร้อน) อยู่ในตัวเองตลอดกาล คำว่าพระภิกษุบริโภคปัจจัยของชาวบ้านโดยมิได้พิจารณาเสียก่อน เป็นหนี้เขา เป็นหนี้ตอนนี้
พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย พระองค์ไม่ตรัสว่าเป็นหนี้ แต่ตรัสว่าเป็นโทษอย่างมหันต์ ดังตรัสว่า “…ภิกษุผู้บริโภคปัจจัยสี่ของชาวบ้านโดยไม่ได้พิจารณาเสียก่อนจะประเสริฐอะไร บริโภคก้อนเหล็กแดงดีกว่า…” ก้อนเหล็กแดงใครๆ ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า นอกจากจะไม่มีรสชาติอะไรแล้ว ยังเป็นอันตรายไหม้ลำไส้แก่ผู้ที่กินอีกด้วย พระพุทธองค์ไม่ตรัสว่า พระภิกษุตายไปตกนรกเพราะกินก้อนเหล็กแดง แต่ตรัสว่าไปตกนรกเพราะเป็นผู้ทุศีล กินของชาวบ้านโดยไม่ได้พิจารณาเสียก่อน
ปัจจัย ๔ มิใช่เป็นของจำเป็นประจำวันแก่ชีวิตอย่างเดียวดังกล่าวแล้ว แต่ยังเป็นเครื่องยั่วยวนก่อกวนให้เกิดกิเลส มีการชอบใจติดใจอยากได้ ได้มาแล้วเกิดความหวงแหนเป็นต้น ในปัจจัย ๔ อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสทำความชั่วต่อๆ ไป อันนี้เป็นวิสัยของสามัญชนทั่วไป ผู้เห็นโทษในเรื่องนั้นแล้วจึงได้หนีออกมาบวช แต่ปัจจัย ๔ ก็ยังละไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องอาศัยของวิบาก ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ออกด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา ไม่ให้หลงติดชอบใจมัวเมาอยู่กับความสัมผัสของปัจจัย ๔ พึงเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัยเท่านั้น
เช่น เห็นว่ากายนี้เป็นเครื่องอาศัยของจิต เมื่อกายยังเป็นอยู่ไม่ตาย กายก็ต้องอาศัยปัจจัย ๔ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ผ้าจะเป็นของดีมีค่าราคาแพงสีสดใสเป็นที่ชอบใจสักปานใดก็ตาม เราเอามานุ่งห่มก็เพียงเพื่อประโยชน์ปกปิดหุ้มห่อร่างกายอันเป็นของสกปรก หรือป้องกันอันตรายต่างๆ มีเย็น ร้อน ริ้น เหลือบ ยุง เป็นต้น อันจะมาขบกัดเท่านั้น กายเป็นของเน่าเอาอะไรมาห่อหุ้ม ไม่ว่าจะเป็นของดีไม่ดีก็มีสภาพเป็นของเน่าไปตามๆ กัน เมื่อพิจารณาได้อย่างนี้ ความหลงรักหลงชอบใจในผ้าที่ใช้นุ่งห่มก็จะหมดไป แล้วจะให้เกิดสลดสังเวชในตัวของตนเองว่า แต่ก่อนแต่ไรมาเราเข้าใจว่าตัวเรานี้ดีวิเศษสวยงาม พอหุ้มห่อด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณที่สวยงาม ปรากฏว่าใครๆ ก็จับจ้องมองตามมาดูแต่เราคนเดียว แต่ความจริงแล้วผ้าห่ออสุภแท้ๆ
อนึ่ง ตัวของเรานี้ก็เป็นสักแต่ว่าก้อนธาตุ ๔ ประชุมกันขึ้นมาต่างหาก หาใช่บุคคลตัวตนเราเขาไม่ ผ้าที่เราห่อหุ้มร่างกายนี้ก็ผลิตขึ้นมาจากธาตุ ๔ ตกลงว่าธาตุ ๔ อาศัยธาตุ ๔ อยู่ไปชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น หาใช่สัตว์ตัวตนบุคคลเราเขาไม่ เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว จิตก็จะขาดจากกามารมณ์ คือ ความรักใคร่หลงใหลในปัจจัย ๔ เข้าถึงองค์พระ ได้นามว่าสมณะหรือพระภิกษุอย่างแท้จริง
ส่วนปัจจัย ๔ ที่เหลืออีกสาม คือ อาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคต่างๆ พระพุทธองค์ก็ทรงสอนโดยให้พิจารณาในทำนองเดียวกันนั้น ผู้เห็นโทษในปัจจัย ๔ ว่า เป็นที่แทรกซึมของข้าศึก (คือกิเลส) แล้วอาศัยความไม่ประมาทพิจารณาโดยแยบคายดังอธิบายมาแล้วนั้น จิตก็ไม่หวั่นในเมื่อบริโภคปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ นี้ไม่ใช่แต่บรรพชิตเท่านั้น แม้ฆราวาสจะนำไปใช้ก็ได้ผลเท่ากัน
การหนีจากกองทุกข์ของพระพุทธเจ้า พระองค์มิได้สอนให้หนีด้วยการไม่เหลียวแลทุกข์ หนีด้วยการเกลียดชังหรือไปด้วยยานพาหนะต่างๆ แต่พระองค์สอนให้เพ่งดูทุกข์ซึ่งเป็นของมีอยู่ จนรู้จักต่อต้านเหตุที่ให้เกิดทุกข์ เช่น เห็นว่าความเกิดเป็นต้นตอของทุกข์ทั้งหลาย ความเข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นๆ มาเป็นของตัว เพราะความไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงจึงเป็นผู้ได้เสวยทุกข์ตลอดกาล ผู้มารู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาอันชอบแล้ว ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้วจะมีทุกข์มาจากไหน
การหนีจากโลก
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอเชิญฟังอุทาหรณ์ ผู้เห็นทุกข์ในโลกนี้แล้วพยายามที่จะหนีจากโลก วิธีอื่นที่คนทั้งหลายพากันหนีจากทุกข์ในโลกดังที่มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันก็ดี หรือวิธีอื่นๆ นอกจากนั้นก็ดี ซึ่งไม่มีใครรับรอง จะไม่ขอนำมากล่าว จะนำมากล่าวพอเป็นอุทาหรณ์แต่เฉพาะเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองเท่านั้น มีเรื่องเล่าว่า
โลหิตัสสะเทวบุตร ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงที่สุดของโลกอันไม่มีความ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แลการเคลื่อน จะไปถึงที่นั่นได้ด้วยการไปปกติได้หรือไม่ (เข้าใจว่าเทวบุตรองค์นี้คงเบื่อทุกข์ในกามภพนี้เหลือเกินแล้ว จึงทูลอย่างนั้น) พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “…คมเนน น ปตฺตพฺโพ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว บุคคลไม่อาจไปถึงที่สุดของโลกด้วยการไปปกติได้…”
เทวบุตรรับรองว่าจริงดังพระองค์ตรัสทุกประการ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นฤๅษีมีฤทธิ์มาก เท้าข้างหนึ่งเหยียบขอบมหาสมุทรฝั่งนี้ อีกเท้าเหยียบขอบมหาสมุทรฝั่งโน้น เที่ยวหาที่สุดของโลกอยู่เป็นเวลานานร้อยปีโดยไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอนเลย เว้นแต่หยุดถ่าย ก็มิได้พบปะที่สุดของโลกเลยตายเปล่า
พระองค์ตรัสต่อไปว่า ความพ้นจากทุกข์เพราะไปไม่ถึงที่สุดของโลก (ไม่ได้) ย่อมไม่มี ฉะนั้น ผู้รู้แจ้งโลก ผู้มีความคิดดี ผู้ถึงที่สุดของโลก ผู้สำเร็จพรหมจรรย์ ผู้สงบระงับ ผู้รู้ที่สุดโลก จึงไม่ต้องการโลกนี้ แลโลกอื่นดังนี้
เท่าที่บรรยายมา ท่านผู้อ่านทั้งหลายก็พอจะทราบได้บ้างแล้วว่าศีลเป็นกองทัพหน้า มีความสำคัญอย่างไร ในการต่อสู้กับปัจจามิตรข้าศึกภายในของเรา เมื่อได้ชัยชนะแล้วจะต้องจัดการบริหารปกครองให้ประชาชนราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองจะได้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาถาวร ปราศจากบ่อนก่อกวนทำลาย หรือจะพูดกันง่ายๆ แล้ว อินทรีย์หรืออายตนะที่เราใช้มันอยู่ทุกวันนี้ มิใช่ว่ามันจะเป็นเครื่องมือรับใช้และนำความผาสุกมาให้แก่เราถ่ายเดียวก็หาไม่ หากเราขาดสติการคุ้มครองระวัง ปัญญาความรู้เท่ารู้รอบในการที่ใช้มัน หรือรับเอาความสุขจากมันแล้ว บางทีมันอาจใช้เราและมอบความทุกข์ให้เราเป็นผู้แบกแต่ผู้เดียวก็ได้
ปัจจัย ๔ ก็เช่นเดียวกัน สิ่งใดๆ ก็ตาม หากเรายังอาศัยเขาอยู่แล้วไม่แน่นอนนัก เมื่อเขาให้เราอาศัยอยู่ ถึงแม้เราจะได้รับความสุข ก็เรียกว่าสุขเพราะคนอื่น มันจะแน่นอนอะไร หากเขาไม่ให้เราอาศัยแล้วจะว่าอะไรเขาได้ ปัจจัย ๔ ก็ฉันนั้น เหมือนผู้ไม่มีปัญญาหลงเมา เข้าใจเอาว่าปัจจัย ๔ เป็นของของตนจริงจัง เข้าไปหลงยึดเอาสัมผัสของปัจจัยนั้นๆ มาเป็นของตัวของตน จนเกิดความรักใคร่ชอบใจเพลิดเพลินยินดีติดต่ออยู่กับสัมผัสของปัจจัยนั้นๆ จนเป็นเหตุให้ทำความชั่ว ก่อกิเลสให้เป็นปลักโคลนฝังตัวเองจนถอนไม่ขึ้น
สรุปแล้วทั้งอินทรีย์หรืออายตนะก็ดี ทั้งปัจจัย ๔ ก็ดี มันเป็นบ่อเกิดของโคลน (คือกิเลส) น้ำแห้ง โคลนไม่มี ก็ปลูกบัวไม่ขึ้น บัวเกิดจากขี้โคลน แต่ดอกบัวมีกลิ่นหอมไม่แปดเปื้อนกับโคลน ผู้มีปัญญาพิจารณาโดยรอบคอบแล้วใช้อายตนะและอินทรีย์บริโภคปัจจัย ๔ ไม่มีโทษฉะนั้นแล
ข้าพเจ้าบรรยายทัพหน้า (คือศีล) มาพอสมควรแล้วต่อจากนี้จะได้บรรยายยุทธวิธีของทัพที่ ๒ ต่อไป
ทัพที่ ๒ คือ สมาธิ
ทัพที่ ๒ คือ สมาธิ ให้กำลังอุดหนุนทัพหน้าเป็นอย่างดี ในเมื่อทัพหน้ามีกำลังเพียงพอแล้ว ก็เคลื่อนทัพออกรบได้ หากทัพหน้ากำลังไม่พอ ก็ต้องมาขอกำลังจากทัพที่ ๒ นี้ ฉะนั้นทัพที่ ๒ จึงต้องมีสมรรถภาพเข้มแข็งเหนือกว่าทัพหน้าเป็นธรรมดา แต่ทัพนี้ก็ต้องมีทัพหลัง (คือปัญญา) อุดหนุนอยู่ดีนั่นเอง
สมาธิคือจิตที่แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว จะโดยการหัดทำสมาธิ เช่น ยกพุทโธๆๆ ขึ้นมาบริกรรมให้จิตรวมนิ่งแน่วอยู่ในพุทโธ ในคุณพระพุทธเจ้านั้นก็ตาม หรือเมื่อได้ประสบการณ์บางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกระเทือนใจ เช่น ไปเห็นคนตายอย่างน่าทุเรศอนาถใจ หรือคนได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอันไม่มีใครจะช่วยได้แล้ว เกิดความเอ็นดูสงสารจนเกิดใจอ่อนระทวยสลดสังเวช อันเป็นเหตุให้จิตรวมลงไปแน่วแน่อยู่กับอารมณ์นั้นๆ ก็ตาม หรือเมื่อระลึกถึงคุณงามความดีของตนหรือคนอื่นที่ได้กระทำแล้ว หรือเห็นพระปฏิมากรรูปของพระพุทธเจ้า เห็นพระภิกษุสามเณรผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยสัมมาจารวัตรแล้วจิตใจจดจ่ออิ่มเอิบอยู่ในความดีนั้นๆ ก็ตาม หรือมิฉะนั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเป็นอุบายให้ข้ามพ้นทุกข์ หรือได้อ่านธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจซาบซึ้งถึงแก่นสารของธรรมนั้นๆ แล้ว จิตรวมเข้าไปนิ่งแน่วอยู่ในอารมณ์เดียวจนเป็นเอกัคคตา ถือเอาอารมณ์นั้นเป็นของดีของเลิศ ของประเสริฐ ยิ่งกว่าอารมณ์อื่นๆ จนทำใจให้แช่มชื่นเบิกบานหรรษาอยู่กับอารมณ์ตลอดกาล เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ
เมื่อจิตตกเข้าถึงขั้นนี้แล้ว ขอท่านผู้อ่านจงคิดดูเถิดว่า ความยุ่งเหยิงทั้งหลายอันมีอยู่ในโลก นับตั้งแต่รอบๆ ตัวของท่านเองตลอดขอบเขตจักรวาลอันหาประมาณมิได้ จะคงยังมีเหลืออยู่ ณ ที่นั้นไหม ความทุกข์หรืออารมณ์ที่เป็นของหนักๆ ที่มันเคยท่วมทับหัวใจของท่านมาแต่เมื่อก่อน ไม่ทราบว่ามันหลุดลอยหายจากหัวใจของท่านไปแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ จะปรากฏแต่ความสงบสุขเยือกเย็นปราโมทย์ร่าเริงอยู่กับเอกัคคตารมณ์นั้น สมกับคำว่า “…สุโข วิเวโก…”
อันนี้เป็นจิตที่เป็นสมาธิภาวนา เข้าตามตำราพระอริยมรรค ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านได้ดำเนินมาแล้ว จนถึงจุดประสงค์ทั้งนั้น
สมาธิพาวน 3 อย่าง
สมาธิภาวนานอกนี้มีมาก หากจะสมมติเรียกให้พอรู้ภาษาหรือเข้าตามตำราสมัยใหม่แล้ว เรียกว่า “…สมาธิพาวนของคนสามัญธรรมดา…” มีมาก แต่พอจะสรุปได้มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
สมาธิพาวน (1)
ผู้รักใคร่ชอบใจในกามคุณ ๕ มีรูปเป็นต้น แล้วนึกน้อมนำเอารูปอันตนรักใคร่ชอบใจนั่นแหละมาไว้เป็นของๆ ตนโดยรูปนั้นมิได้รู้เรื่องรู้ราว และเยื่อใยอาลัยอะไรเลย หากจะพูดตามภาษาพระวินัยของพระแล้วเรียกว่า “ขโมยเอารูปของเขามาโดยเขามิได้ยินยอม…” หากเป็นสมณะก็เรียกว่า “…สมณะทุศีล…” หากเป็นฆราวาสก็เรียกว่า “…คนขี้ขโมย…”
เมื่อได้มาแล้วก็จะต้องปรุงแต่งให้เป็นภาพนานาชนิด ตลอดถึงประดิษฐ์ท่าทีกิริยารูปนั้นให้สมกับความรักความใคร่อันมีอยู่ภายในใจของตนทุกประการ จนรูปนั้นเกิดอุคคหนิมิตเป็นเงาติดอยู่กับจิตทุกลมหายใจเข้าออก บางทีเผลอหลับไป รูปที่รักที่ชอบนั้นอาจแสดงปฏิภาคนิมิตเข้ามานอนหรือนั่งใกล้ชิดแสดงความสนิทเป็นกันเอง ถึงกับเผลอตัวเข้าใจว่าเป็นจริงหลงสวมสอดแขนเข้าหมายอุ้มกอดชม พอรู้สึกขึ้นมาเห็นว่าผิดหวัง จิตคลั่งแทบเป็นลมตาย ความทุกข์ทับถมระทมใจแทบจะเป็นบ้า แบบนี้ก็เรียกว่าภาวนาสมาธิเหมือนกัน แต่เป็นภาวนาของผู้มีความรักความใคร่ ความขวนขวายอยากได้จนใจเป็นสมาธิ จิตแนบแน่นเป็นสมาธิอยู่กับอารมณ์นั้น อันเป็นผลให้เดือดร้อนเป็นทุกข์เพิ่มทวีคูณ
หากท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ยกรูปขึ้นมาบริกรรมเป็นอารมณ์ชำนาญจนเกิดอุคคหะ-ปฏิภาคนิมิต ดังได้บรรยายมานี้แล้ว ส่วนเสียง – กลิ่น – รส และสัมผัส ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ทุกคนก็คงจะคล่องอยู่แล้ว ส่วนผลของการทำสมาธิพาวน ทุกคนพอจะทราบดีแก่ใจอยู่แล้วว่านี่เป็นสมาธิที่คนทั่วไปชอบนัก ข้อที่ ๑
สมาธิพาวน (2)
ข้อที่ ๒ รูปเป็นอาหารของตา เสียงเป็นอาหารของหู กลิ่นเป็นอาหารของจมูก สัมผัสเป็นอาหารของกาย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเสมอเหมือนพรสวรรค์ เสกสรรค์ให้มนุษย์ชาวโลกผู้ยังหลงเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ได้ชื่นชมอย่างถึงอกถึงใจจนไม่อยากพรากจากไปจากเสียอารมณ์นั้นๆ แต่มันพ้นวิสัยของธรรม คือ ธรรมดามันเป็นไปไม่ได้ คือ มีได้แล้วก็มีเสีย มีดีแล้วก็มีชั่ว มีสุขแล้วก็มีทุกข์
อารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็เช่นเดียวกัน เมื่ออารมณ์ทั้ง ๕ นั้นเสื่อมไป เบื้องต้นก็คือ ความไม่พอใจ แล้วก็คิดจะดึงเอาสิ่งนั้นๆ มาให้เป็นของๆ ตัวจนได้ เมื่อไม่ได้หรือมีสิ่งอะไรมาขัดขวางจะต้องประทุษร้ายในสิ่งนั้นๆ ให้แตกกระจายไป
ตัวอย่างมีถมไป เช่น หนุ่มหลงรักในรูปแฟนของเขาสักคนหนึ่ง จนเอารูปนั้นมาเป็นบริกรรม นึกคิดอยู่เฉพาะจิตของเขาแต่อย่างเดียว จนเป็นสมาธิพาวน แล้วเกิดอุคคหะ – ปฏิภาคขึ้นเฉพาะในจิตของเขา เขาเห็นรูปสวย เห็นกิริยาที่น่ารักน่าชมยิ่งขึ้นกว่าปกติ จะเห็นคุณงามความดีของรูปนั้นเป็นของดีเลิศยิ่งกว่าใครๆ ทั้งหมด ในขณะนั้น หากจะมีใครสักคนหนึ่งจะมีความหวังดีต่อเขาหรือไม่ก็ตามมาขัดขวางว่า แน่ะ… เธอควรจะคิดจะตรึกอย่างนั้นอย่างนี้ให้ดีเสียก่อน มันพลาดแล้วจะแก้ไขยาก ดังนี้
คำๆ นั้นจะเป็นเสมือนหอกเสียบหัวใจเขาไว้ แล้วเขาจะพยายามกำจัดคำๆ นั้น หรือบุคคลนั้นให้พ้นจากทางเดินของเขา หากเขาทำเช่นนั้นไม่สำเร็จ จะต้องหาอุบายทำร้ายตัวเขาเอง หรือมิฉะนั้นก็บุคคลผู้ที่เขาปรารถนา หรือวัตถุที่เขาต้องการให้วอดวายไปในที่สุด
ในขณะที่เขากำลังดำเนินการ ตั้งต้นแต่ที่เขาเห็นรูปแฟนของเขา จนกระทั่งหาอุบายทำลายตนและบุคคลอื่นเป็นที่สุดนี้ จิตเขาจะแน่วแน่เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ในความรักและความประทุษร้ายเป็นอย่างดี บางทีอาจถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยก็ได้ นี่เรียกว่าสมาธิพาวน เพราะเอาความโกรธมาเป็นอารมณ์ ทุกๆ คนไม่ชอบเพราะทำให้กลุ้มใจเดือดร้อนมาก แต่ทุกๆ คนก็ไม่ค่อยยอมละมันง่ายๆ
สมาธิพาวน (3)
ข้อที่ ๓ ความโง่เขลา มัวเมา หลง เซอะซึมมึนทื่อ มันเป็นวิสัยของสามัญชนโดยมาก บางคนยังเห็นลักษณะเช่นนั้นเป็นของโก้ไปเลยก็มี ลักษณะเช่นนั้นเมื่อไม่มีในตน ก็ต้องหาสุรามาย้อมเอาจนให้เกิดขึ้นจนได้ นี่เป็นต้นตอบ่อเกิดแห่งความหลงชนิดหนึ่งในหลายชนิดด้วยกัน
เมื่อความหลงผิดคิดผิดเกิดขึ้นแล้ว การพูดการทำก็ผิดตามๆ กันไปหมด การกระทำ การพูด การคิดนึก อันปราศจากความรู้สึกผิดชอบ ดีชั่ว ไม่มีสติควบคุมจิต มันเป็นความผิดอย่างมหันต์ ตัวอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ก็มีอยู่มิใช่น้อย ดังจะชี้ให้เห็นกันง่ายๆ
ดังบุคคลที่หลงมัวเมาในการพนัน จิตมุ่งมั่นหวังแต่จะเอารวยถ่ายเดียวเพราะใจตนชอบมาก หาได้คิดนึกถึงความล่มจมฉิบหายของบุคคลทั่วไปโดยส่วนมากไม่ ว่าเขาฉิบหายเพราะการพนันนับไม่ถ้วนมาแล้ว เช่นเดียวกับเรานี้ ต่อมาเมื่อสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว จะมีแต่บริกรรมว่า “ … แย่ๆๆ … ” จิตจะรวมเข้าไปสู่จุดเดียว คือความมืดตื้อ คิดจะออกด้วยการลงทุนค้าขาย ทุนก็ไม่มี คิดจะออกด้วยการออกกำลัง กำลังก็ไม่พอ ได้น้อยไม่ คุ้มค่าใช้จ่าย เราเคยได้มากๆ ก็ยังไม่พอใช้ คิดจะกู้หนี้ยืมสินคนทั้งแผ่นดิน เขาก็ไม่เชื่อเครดิตเราอยู่แล้ว จะเอาของมีค่าในบ้านไปการันตีของเหล่านั้นก็ไม่มี เราขายไปเล่นการพนันหมดมานานแล้ว ตกลงจะนั่งไหนก็โงกเหงาจุกเจ่ากลุ้มใจอยู่แต่ผู้เดียว นี่เรียกว่าสมาธิพาวนอยู่ภายใน กลุ้มใจอยู่แต่ผู้เดียว คนอื่นไม่มีใครสามารถรู้ได้ด้วย
สมาธิดังได้บรรยายมานี้ นักศึกษาสมาธิบางท่านเห็นว่า อันนี้ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน สำหรับผู้ที่ทำสมาธิตามแบบอริยสมาธิไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าสมาธิเหมือนกัน และผู้ฝึกหัดตามแบบอริยมรรคแล้วก็ว่าเป็นสมาธิเช่นเดียวกัน แต่มีชื่อว่ามิจฉาสมาธิ เมื่อมิจฉาสมาธิตั้งรากฐานมั่นคงลงในจิตใจของผู้ใดแล้ว ผลจะต้องงอกออกมาให้ปรากฏเป็นมิจฉาสมาธิ (รู้ผิด) มิจฉาวิมุตติ (พ้นผิด)
สมาธิ ตามแนวอริยมรรค
สมาธิทัพที่ ๒ นี้ ถ้าเป็นการต่อสู้ในแนวอริยมรรคแล้ว การต่อสู้นั้นก็จะเป็นผลให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด การต่อสู้ตามแนวอริยะเป็นไฉน ขอเฉลยว่า สมาธิอันใดที่ยกเอาอุบายของสัมมาทิฏฐิขึ้นมาพิจารณา จนจิตเลื่อมใสเชื่อมั่นแน่วแน่ในอุบายนั้น แล้วเกิด ขณิกะ-อุปจาระ-อัปปนาสมาธิ ก็ตามแล้วจะมีความรู้ที่เกิดจากสมาธินั้น ชัดแจ้งตามภูมิของตนๆ ในหลัก ๓ ประการที่เรียกว่า “ ไตรลักษณ์ ” คือเห็นว่าสารพัดทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเกิดมีขึ้นอยู่ในโลกนี้ พร้อมทั้งตนตัวและจิตของเรา มีสภาพยักย้ายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทุกขณะจนทนเป็นเอกภาพอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ การทนอยู่คงที่ไม่ได้ก็แสดงถึงอาการทุกข์ของสิ่งนั้นๆ แล้วก็แสดงว่าสิ่งนั้นๆ ไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาของใครๆ ทั้งนั้น จึงเป็นอนัตตาไปพร้อมๆ กัน
การต่อสู้มีกฎและหลักอย่างนี้ จึงจะเข้าแนวอริยมรรค แล้วให้เกิดผลคือความสุขสงบของจิต ความรู้อันใดที่เกิดขึ้นในสมาธินั้นจะปราศจากสังขารใดๆ ทั้งหมด ความรู้ชัดเจนอันปรากฏเกิดขึ้นที่จิตในขณะที่เกิดสมาธินั้น ถึงแม้จะเกิดในขณะจิตเดียวก็ตาม แต่ปราศจากวิจิกิจฉาความลังเลใดๆ ทั้งหมด พร้อมกันนั้น กิเลสอันเราเคยกลัวและเคยต่อสู้กับมันมาเป็นเวลาช้านาน หลายทัพหลายกระบวนก็จะปราชัยพ่ายแพ้ไปโดยมิได้ตั้งใจเลย
อนึ่ง ขอท่านผู้อ่านโปรดได้ทราบคำนี้ไว้ด้วยว่า ทัพสมาธินี้เป็นทัพใต้ดิน มิใช่จะต่อสู้แต่กับอารมณ์ซึ่งเกิดจากอายตนะภายในเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับข้าศึกใต้ดินอีกด้วย เช่น พวกฤๅษีโยคี และนักปฏิบัติบางคน ได้ปักหลักต่อสู้กับข้าศึกภายในของตนมาแล้วก็มากต่อมาก แม้ท่านผู้นั้นจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็ตาม จะไม่มีการโงกง่วงมึนเมา จิตใจจะปลอดโปร่งผ่องใสในยุทธวิธีของตนโดยเฉพาะ หากจะมีใครตะโกนเรียกหรือส่งเสียงอะไรก็ตาม ไม่สามารถจะสอดส่องเข้าไปให้ประสาทของท่านรู้สึกได้ ฉะนั้น ทัพนี้จึงเรียกว่าทัพสมาธิใต้ดิน
แล้วขอได้โปรดสังเกตอีกว่า ทัพใหญ่ (คือความรู้กว้างขวางและความเชื่อ) และเจริญด้วยสรรพาวุธหรือเสบียงทั้งปวงก็ตาม หากไปตั้งในสมรภูมิอันไม่เป็นชัยภูมิ (คือนอกออกไปจากตัวของเราแล้ว) ก็ยากที่จะเอาชัยชนะกับข้าศึกได้ เพราะข้าศึกอยู่ภายใน นอนเนื่องอยู่กับใจของเรามาเป็นเวลานานแสนนานจนเป็นนิสัย ไม่ทราบว่าอะไรเป็นข้าศึกอะไรเป็นมิตรของใจ จนกว่าเราจะรู้สึกตัวว่าเรานี้ได้ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของกิเลส แล้วคิดจะปฏิวัติ จึงเป็นของยากหากไปโทษสิ่งอื่นคนอื่นนอกจากกายใจของตนว่าเป็นข้าศึกแล้วหาวิธีกำจัดสิ่งอื่นคนอื่น ก็ไม่มีวันที่จะเอาชนะกับกิเลสของตนได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “…อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย ชนะตนนั่นแหละเป็นดี…”
กายนี้เป็นที่ประชุมของธาตุ-อายตนะ อันเป็นบ่อให้เกิดสรรพกิเลสทั้งปวงอันผู้เห็นโทษในโลกนี้จะพึงชำระให้หมดสิ้นไป กายนี้เป็นที่รวมของขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งของอุปทาน หากไม่น้อมจิตเข้าไปเพ่งพิจารณาขันธ์ ๕ ให้เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบแล้ว ก็จะไม่มีวันละอุปาทานอันเป็นบ่อเกิดของภพชาติได้ กายจึงเป็นชัยภูมิที่ดีทีสุดสำหรับผู้ที่จะต่อสู้กับกิเลสข้าศึกภายใน เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระแก่ตนเอง
อนึ่ง การสู้รบกับข้าศึกภายในนี้มิได้สู้รบด้วยการดิ้นรนหรือส่งสายด้วยการลาดตระเวนสอดแนมเพื่อหาข่าวดังกองทัพโลกเขาทำกันอยู่แล้วนั้น แต่ทำด้วยความสงบนิ่งแน่ว เพ่งดูเฉพาะจิตของตนคนเดียวในอารมณ์อันเดียว แล้วจะพบข้าศึก คือ จิตผู้น้อมหรือเคลื่อนหรือเอนเอียงออกไปจากอารมณ์อันหนึ่ง ซึ่งมันจะริเริ่มออกไปก่อกวนทำจารกรรมหรือตั้งเป็นกอง-กรม-ทัพ ต่อไป
ท่านทั้งหลายคงจะเคยนับสตางค์แล้ว สตางค์ ร้อย-พัน-หมื่น มาจากหนึ่งมิใช่หรือ หากท่านไม่นับให้มัน ร้อย-พัน-หมื่น นับแต่หนึ่งอย่างเดียว ก็คงไม่มีเรื่องยุ่ง หรือหนึ่งก็อย่าได้นับเสียเลยก็ยิ่งจะสบายมาก บางคนอาจสงสัยว่า “เอ๊ะ…ตานี่ทำไมสอนกรรมฐานทำให้คนเป็นใบ้ไปเล่า” มิได้หมายความเช่นนั้น คนเราเกิดมาตั้งหน้าตั้งตาสะสมอารมณ์หมักหมมไว้ในใจมากมาย จนไม่รู้ว่าจะละลายออกไปทิ้งอย่างไร การหัดสมาธิภาวนาก็คือ หัดละอารมณ์เก่าๆ เน่าๆ เสียๆ ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป แล้วก็กั้นอารมณ์ที่ไม่ดีที่ยังไม่เข้ามา ไม่ให้เข้ามาหมักหมมอยู่ในใจอีก พร้อมกันนั้นก็สร้างอารมณ์ที่ผ่องใสสะอาดไว้กับใจ จนใจเห็นว่าเป็นของดีของผ่องใสสะอาด สามารถนำเอาความสงบสุขมาให้แก่ตนได้อย่างแท้จริง
การที่จะทำอย่างนั้นได้ต้องอาศัยทำใจให้สงบอยู่กับอารมณ์เดียว (ที่เรียกว่าสมาธิ) เสียก่อน เพราะเมื่อใจคลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์มากๆ ยากที่จะคัดเลือกเอาจิตแท้ออกจากอารมณ์ได้ เปรียบเหมือนแร่ปนอยู่กับทราย ฉะนั้น ผู้ที่จะคัดเลือกเอาจิตแท้ออกจากอารมณ์ทั้งหลาย มิใช่เป็นคนโง่เง่าใบ้บอดอะไร แต่เป็นผู้ฉลาดเห็นโทษที่ใจฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในความคิด ความเห็นและความรู้ของตน อันไม่มีขอบเขต ไม่เป็นไปเพื่อให้สิ้นสงสัย เป็นภัยและอุปสรรคแก่สมาธิอย่างยิ่ง จึงยอมสละและปล่อยภาระอารมณ์ของเก่าๆ เน่าๆ ดังกล่าวมาแล้ว ให้จิตมาจดจ่ออยู่ในเอกัคคตารมณ์
เมื่อจิตถึงซึ่งเอกัคคตารมณ์ผ่องใสสะอาดเต็มที่ดีแล้ว ข้าศึก (คือกิเลส) ของใจอันใด ซึ่งเรียกกันว่าอารมณ์ จะเกิดมันก็เกิด ณ ที่นั้น เมื่อผู้เห็นโทษแล้วจะละก็ละ ณ ที่นั้น เมื่อละแล้วจงระวังอย่าให้กิเลสเก่าหรือกิเลสใหม่เกิดขึ้นอีก ก็ระวังตรงที่จิตสงบนั้น จิตจะโอนเอนหรือน้อมแลบออกไปจาก ๑ ให้เป็น ๙–๑๐–๑๐๐-๑,๐๐๐ ก็ออกไปจาก ๑ แลเห็นชัดเจนกันตรงที่จิตเป็นหนึ่งนั้น น้ำใสสะอาดลึกตั้ง ๕ วา ๑๐ วา ปลาตัวเล็กๆ ทรายเม็ดละเอียดที่มีอยู่ใต้น้ำ ย่อมไม่รอดสายตาของคนผู้ตาดีไปได้ ฉะนั้น แล้วจะว่าสอนให้คนทำภาวนาสมาธิเป็นใบ้ได้อย่างไร คนสำรวมจิตทำสมาธิไม่ได้ต่างหาก พระพุทธเจ้าว่าเป็น “…คนบ้าน้ำลาย…” มิใช่คนใบ้บอด
การสู้รบกับข้าศึกภายในแบบนี้ เป็นแบบที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายได้กระทำเป็นผลสำเร็จมาแล้วเป็นอย่างดี หากท่านผู้ใดเห็นอารมณ์ภายนอกอันเกิดจาก ตา-หู-จมูก เป็นต้น ว่าเป็นภัยแก่ตน เป็นอุปสรรคแก่ภาวนาสมาธิ แล้วจะยกทัพออกไปตั้ง ณ ที่ทวารนั้นๆ เพื่อต่อสู้กับข้าศึกแล้ว พึงยกทัพกลับพระนครนอนสบายเสียดีกว่า จะได้ไม่เหน็ดเหนื่อยและเสียทรัพย์เสียเวลา ยอมเป็นผู้แพ้แล้วจะไม่มีกังวลในการที่จะคิดต่อสู้ต่อไป
ขอย้ำอีกว่า สมาธิที่เป็นไปตามแบบอย่างของอริยมรรคแล้ว มิใช่จะแต่งเอาได้ตามชอบใจ เหมือนต้นข้าวในนา มันมีเหตุผลพอดีกับกาละเทศะของมันเอง มันจึงจะถอดรวงและแก่มาให้คนเราได้รับประทานเป็นอาหารเลี้ยงชีพได้ สมาธิตามแบบอริยมรรคก็เช่นนั้นเหมือนกัน
ถ้าหากผู้ใดทำสมาธิตั้งจุดหมายไว้ว่าองค์ฌานเป็นอย่างนั้น มีเท่านั้น จะต้องยกอารมณ์ขึ้นสู่จิตหรือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อย่างนั้นๆ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วจะเกิดมีอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น มีจิตเท่านั้นเท่านี้ดวง หรือได้ยินเขาว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ได้รู้ได้เห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างนั้นๆ แล้วก็อยากให้ได้ให้เห็นอย่างนั้นกับเขาบ้าง อย่างนี้เรียกว่า ตั้งจุดหมายเอาสัญญาอนาคตมาเป็นอารมณ์ หรือน้อมจิตเอาสัญญาอดีตเรื่องของคนอื่นมาเป็นอารมณ์ เอาความอยากมาเป็นเครื่องกีดกั้นสมาธิ ถึงสมาธิจะเกิดก็เกิดตามสัญญา สังขาร ซึ่งจิตยึดไว้อยู่ในใจมาก่อนแล้ว สมาธิแบบนี้ไม่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลส จะมีแต่การสะสมพอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้นเท่านั้น
ถ้าเป็นสมาธิที่ถูกตามแบบอริยมรรคแน่แล้ว จะต้องมีศรัทธาความเชื่อมั่นในอุบายหรือกรรมฐานที่ตนยกขึ้นมาพิจารณานั้นๆ จนแน่วแน่ แล้วมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเกิดขึ้นมาในตัวเองโดยปราศจากการปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น อธิบายว่า สัมมาทิฏฐิในอริยมรรคนั้นจะต้องมีความเห็นเป็นอิสระ ถึงแม้จะมีการศึกษาและฟังมาจากคนอื่นก็ตาม นั่นเป็นแต่แนวทางให้เข้าถึงสัมมาทิฏฐิเท่านั้น เวลาสัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้น ความรู้อันเกิดจากการศึกษาก็ดี เกิดจากการอ่านตำราและฟังมาจากคนอื่นก็ดี แม้ความคิดที่เรากำลังคิดค้นในเรื่องนั้นๆ อยู่ก็ดี จะต้องหายวับไปจากขณะจิตนั้นขณะหนึ่งก่อน แล้วจึงจะเกิดสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นตามเป็นจริงอย่างเราไม่เคยเห็นชัดมาก่อนเลย ความลังเลสงสัยใดๆ ในเรื่องที่เราเคยสงสัยมาแล้วแต่ก่อนแต่ไร จะขาดสูญไปในขณะนั้นหมดสิ้น แล้วจะมีความผ่องใสเบิกบานกล้าหาญ เชื่อมั่นในความรู้ความเห็นของจริงเข้ามาเป็นอิสระแทน
สมาธินอกนี้ มิใช่สมาธิตามแนวของอริยมรรคที่ปราศจากข้าศึกคือกิเลส เป็นโลกิยสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ มีความน้อมเอนเอียงไปในทางความทะยานอยากเป็นรากฐาน ถึงสมาธินั้นจะได้สำเร็จเป็นผลก็เป็นไปเพื่อการสะสม มิใช่เป็นไปเพื่อการละ สัมมาสมาธิเป็นอัจฉริยะอัพพภูตธรรม เมื่อผู้มีศรัทธาพร้อมด้วยสติ และสมาธิ-ปัญญา ขั้นปรารภเบื้องต้นมีกำลังเสมอภาคกันแล้ว เจริญอยู่ไม่ท้อถอยเมื่อถึงโอกาส “…สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นมาเองอย่างน่าอัศจรรย์…” นี่ว่าถึงสัมมาสมาธิของผู้เดินตามแบบอริยะ เดินเข้าเดินออกได้บ่อยเท่าไรยิ่งเป็นการดี ที่เรียกว่าให้เป็น… วสี คือ ให้ชำนาญ …สัมมาสมาธินั้นจึงจะไม่เสื่อม
มรรคสมังคี
เมื่ออธิบายถึงลักษณะและที่ตั้งที่เกิดของสัมมาสมาธิแล้ว ก็ขอแวะอธิบายถึง “…มรรคสมังคี…” สักนิด ถึงจะเป็นผลของปัญญาซึ่งควรจะกล่าวถึงในกองทัพที่ ๓ ก็จริง แต่มันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน จึงขอนำมาอธิบายไว้ ณ ที่นี่เพื่อเทียบเคียงกันกับสัมมาสมาธิ พอเป็นเครื่องสังเกตสักเล็กน้อย “…มรรคสมังคี…” ก็คือ “…มรรค ๘ …” มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น หรือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวในที่เดียวกันคือ …จิต…นั่นเอง ส่วนสัมมาสมาธิก็คือ จิตรวบรวมเอาความคิดความนึกอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่มีความข้องกังวลอยู่ในที่นั้น ยกขึ้นมาวินิจฉัยเพ่งพิจารณาด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิดังกล่าวแล้ว จัดได้ชื่อว่าเป็นวิธีเดินมรรคให้เข้าถึง …มรรคสมังคี…
ส่วนมรรคสมังคี เป็นการประชุมมรรคแต่ละมรรค เมื่อเดินมรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก่อนจะถึงผลใดผลหนึ่ง มีโสดาปัตติผล เป็นต้น มรรคทั้ง ๘ นั้นจะต้องประชุมกันเป็นหนึ่งที่เรียกว่า …มรรคสมังคี… ขณะหนึ่ง แล้วต่อจากขณะจิตนั้นจึงจะเป็นผลของมรรคนั้นๆ พูดกันง่ายๆ เรียกว่า จิตรวมขณะใหญ่…
มรรคาแปลว่า ทางเดิน เหมือนทางจังหวัด ทางอำเภอ ทางหมู่บ้าน ย่อมตรงไปรวมยังทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงแผ่นดินก็มีจุดหมายปลายทางไปรวมที่พระนครเมืองหลวงแห่งเดียว การรวมของสัมมาสมาธิเหมือนกับทางจังหวัด ทางอำเภอ ทางหมู่บ้าน ไปรวมตรงที่ทางหลวงแผ่นดิน มรรคสมังคีเหมือนกับทางหลวงแผ่นดิน รวบรวมเอาปลายทางของพวกทางหลวงแผ่นดิน ของผู้จะเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงอันเป็นจุดหมายแต่ทางเหล่านั้นเป็นของภายนอก ต้องออกกำลังเดินด้วยเท้าหรือยานพาหนะ
แต่ทางอริยมรรคเป็นทางเดินด้วยวิถีจิต ไม่ติดพันเกี่ยวข้องกับใครๆ ทั้งหมด ปล่อยปลดภาระใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเดินโดดเดี่ยวด้วยความรู้ ความเห็นชอบ อันมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาสังกัปปะแสดงลักษณะเป็นเครื่องประกอบ แล้วก็ไม่ได้เดินก้าวไปหน้าถอยหลัง ณ ที่ไหน ปัญญาสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นมา ณ ที่ใด ธรรมอันใด อารมณ์อันใด ปัญญาสัมมาทิฏฐิอันนั้นก็จะทำหน้าที่รู้ชอบเห็นจริงในสิ่งนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ อยู่ ณ ที่นั้นๆ
เมื่อจะพูดให้ชัดลงอีกที “…มรรคสมังคี…” เป็นที่รวมของอริยมรรคทั้ง ๘ อันมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น หรือสรรพวิชาปัญญาความรู้ใดๆ ก็ตามที่ได้คิดติดตามมาจนรู้ชัดเจนในเหตุผลนั้นๆ ทั้งที่ดีและที่ไม่ดี จนปล่อยวางลงไปได้เป็นตอนๆ เป็นพักๆ แล้วนั้น มรรคสมังคีจะต้องประมวลรวบรวมลงมาไว้ ณ ที่เดียว แล้วตัดสินชี้ขาดว่า อันนี้เป็นหนทาง และมิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ อันนี้ควรกระทำ และไม่ควรกระทำเป็นต้น จนความมั่นในความรู้ชัดเจนในใจของตนแล้ว เกิดความกล้าหาญไม่ยอมเชื่อต่อใครๆ ทั้งสิ้น และในขณะนั้นจิตใจก็จะเกิดความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างเต็มที่ เปรียบเมือนผู้พิพากษาได้สืบสวนมูลคดีทั้งโจทก์และจำเลยจนได้หลักฐานมั่นคงเป็นที่พอใจแล้ว ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ประกาศตัดสินโทษโดยความเป็นธรรมในคดีนั้นๆ
อนึ่ง มรรคสมังคีนี้แต่ละมรรคจะเกิดได้ครั้งเดียวไม่ได้กลับมาเป็นเช่นนั้นอีกถึง ๒ – ๓ ครั้ง เหมือนคำพิพากษาของศาล หากจะพิพากษาใหม่ก็ต้องสืบคดีใหม่ ไม่เหมือนกับสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นเครื่องดำเนินของมรรคอันจะดำเนินเข้าไปถึงมรรคสมังคี อันเป็นภูมิของพระอริยเจ้าแต่ละชั้นๆ คือ มรรค ๘ นี้เป็นเครื่องดำเนินให้ถึงอริยภูมิของพระอริยเจ้าทุกๆ ภูมิ จะเว้นเสียมิได้ ถึงแม้ท่านถึงอรหัตตผลแล้ว เมื่อวิบากคือชีวิตของท่านยังท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ ท่านก็ยังดำเนินอยู่นั่นเอง แต่มิใช่ท่านดำเนินเพื่อการละหรือกลัวจะหลงทาง ท่านดำเนินตามความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามขันธวิบากของท่าน มิใช่เป็นไปอย่างความเข้าใจของคนบางคนว่า พระอรหันต์เป็นคนด้านไม่รู้จักสุก ดิบ รส กลิ่น อะไรเลย ความยินดียินร้ายอะไรๆ ก็ละหมด มันจะมีรสอะไร
ข้าพเจ้า ได้อธิบายความแตกต่างกัน ของสัมมาสมาธิกับมรรคสมังคี มาพอสมควรแล้ว หวังว่าท่านนักปฏิบัติที่เข้าถึงขั้นนั้นแล้ว พอจะซาบซึ้งถึงข้อความนั้นได้เป็นอย่างดี หากท่านยังเข้าไม่ถึงขั้นนั้น แต่เมื่อท่านสนใจตั้งใจคิดค้นตามนัยที่ข้าพเจ้าอธิบายมา ก็พอจะเป็นแนวทางให้ได้ความเข้าใจตามนัยนั้นบ้าง
ทัพที่ ๓ คือปัญญา
กองทัพสุดท้ายคือ ปัญญา ทัพนี้เป็นทัพใหญ่ นอกจากจะสมบูรณ์ด้วยกำลังพลแล้ว ยังจะต้องสมบูรณ์ด้วยสรรพสรรพาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อีกด้วย ผู้บัญชาการกองทัพอยู่ ณ ที่นี้ แพ้ชนะเป็นตายอยู่ตรงนี้เหมือนกัน ปัญญาเป็นผู้รับรู้และให้การสนับสนุนเกื้อกูลทั่วไปแก่ทัพนั้นๆ มีการทำทาน รักษาศีล และทำสมาธิเป็นที่สุด ดังกล่าวแล้ว
ปัญญา ในที่นี้ แปลว่า รู้ทั่ว รู้ดี รู้ชอบ ถ้าหมายความเฉพาะในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงรู้จักพระไตรลักษณ์เพื่อความพ้นทุกข์ คำคล้ายๆ กันนี้ยังมีอีกหลายคำ เช่น สัญญา-วิญญาณ-อภิญญา เป็นต้น แต่มีความผิดแผกไปจากปัญญา
วิญญาณอันเกิดจากสัมผัสของอายตนะทั้งสอง มีตาเห็นรูปแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นครั้งแรกๆ ก่อนอะไรทั้งหมดเรียกว่า “…วิญญาณเกิดจากสัมผัส…” วิญญาณดั้งเดิมซึ่งหมายเอาปฏิสนธิวิญญาณ เกิดตั้งแต่อายตนะผัสสะยังไม่ทันมีเรียกว่า “…ปฏิสนธิวิญญาณ…” วิญญาณอันเกิดจากสัมผัสของอายตยะ มีตาเห็นรูปแล้วเกิดความรู้สึกขึ้น หลังจากนั้นสัญญาเป็นผู้รับไปจดจำหมายรู้ ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น อันนี้เป็นนี้เป็นต้น เรียกว่าสัญญา อภิญญาเป็นความรู้วิเศษ อันเกิดจากผู้ฝึกหัดฌาน-สมาธิดีแล้ว โดยมิได้ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน-สมาธิต่างหาก
จะอย่างไรก็ตาม ปัญญานี้ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทุกเพศทุกวัยทุกขั้น และจำเป็นต้องใช้เป็นประจำวันตั้งแต่เกิดจนวันตาย การจะใช้มากหรือน้อย สุดแล้วแต่ความจำเป็นและเหตุการณ์นั้นๆ จะบังคับให้ใช้ ปัญญาเป็นยอดหัวยาของยาทั้งหลาย จะแทรกเข้ายาขนานใดย่อมทำให้ยาขนานนั้นๆ มีคุณภาพสูงขึ้น ยิ่งยาขนานเดิมเป็นของมีคุณภาพดีอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มคุณภาพขึ้นเป็นพิเศษ ปัญญาเกิดได้ ๔ ทาง คือ เกิดจากการฟังการศึกษา ๑ จากการคิดที่ได้ศึกษาแล้วและได้ประสบการณ์เฉพาะหน้า ๑ จากการสอบถามข้อความที่สงสัยไม่แน่ใจ ๑ แล้วประมวลจำความรู้นั้นๆ ไว้มิให้เลือนลืม ๑ หลัก ๔ ประการนี้เป็นหลักสากลให้เกิดปัญญา ส่วนหลักอื่นๆ นอกนี้จะมีมากสักเท่าไรก็อนุโลมตามหลัก ๔ นี้
ยังมีหลักพิเศษอีกหลักหนึ่ง ซึ่งในวงนักปฏิบัติกรรมฐานมักกล่าวขวัญและรู้กันอยู่โดยมากว่า “…ปัญญาเกิดจากสมาธิ…” ตามนัยพุทธพจน์ปรากฏว่า “ผู้เจริญสมาธิถูกต้องบริบูรณ์ดีแล้ว ย่อมมีปัญญาเป็นผลเป็นอานิสงส์ใหญ่” ดังนี้ เมื่อพูดถึงปัญญาแล้ว นักปฏิบัติภาวนากรรมฐานทั้งหลาย ย่อมเพ่งเล็งไปหาวิปัสสนาญาณ ๙ กันโดยมาก ฉะนั้น จะได้ยกเอาวิปัสสนาญาณ ๙ มาตั้งไว้ เพื่อผู้สนใจจะได้ท่องบ่นจดจำและนำมาเทียบกับปัญญาญาณหมวดอื่นๆ ที่กล่าวถึงปัญญา
วิปัสสนาญาณ ๙
วิปัสสนาญาณ ๙
- ๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดความดับ
- ๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ
- ๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
- ๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ
- ๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงด้วยความเบื่อหน่ายขึ้น
- ๖. มุจจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไป
- ๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหนทาง
- ๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย
- ๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่การกำหนดอริยสัจ
อธิบาย วิปัสสนาญาณ ๙
อธิบาย
- ญาณที่ ๑. คำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับแห่งสังขาร
- ญาณที่ ๒. ปล่อยความเกิดเสีย คำนึงเอาอารมณ์เฉพาะความดับแห่งสังขารนั้น
- ญาณที่ ๓. คำนึงเห็นสังขารนั้น อันปรากฏด้วยอำนาจแห่งความดับ โดยอาการเป็นของน่ากลัว ดุจสัตว์ร้าย มีสิงห์ เป็นต้น
- ญาณที่ ๔. คำนึงเห็นโทษแห่งสังขารนั้น อันปรากฏด้วยประการนั้น ว่าเป็นดุจเรือนอันไฟไหม้แล้ว
- ญาณที่ ๕. คำนึงถึงสังขารนั้น อันมีโทษได้เห็นแล้วด้วยความเบื่อหน่าย
- ญาณที่ ๖. คำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสียจากสังขารนั้นที่เบื่อหน่ายแล้ว ดุจสัตว์อันติดข่ายใคร่จะพ้นไปจากข่าย
- ญาณที่ ๗. คำนึงด้วยพิจารณาเฟ้นสังขารนั้น เพื่อหาทางเป็นเครื่องพ้นไปเสีย ดุจนางนกที่ชื่อว่า สมุทรสกุณี อันลงเล่นในทะเล
- ญาณที่ ๘. คำนึงด้วยความวางเฉยเสียในสังขารนั้น ดุจบุรุษผู้วางเฉยในภรรยาอันหย่าร้างกันแล้ว
- ญาณที่ ๙. เป็นไปในขณะแห่งจิตอันได้ชื่อว่า อนุโลม เกิดขึ้นในลำดับแห่งมโนทวาราวัชชนะอันตัดภวังค์ เกิดขึ้นในขณะที่อริยมรรคจะเกิดในที่สุดแห่งสังขารุเปกขาญาณ
เมื่อพิจารณาตามนัยที่แสดงมานี้แล้ว จะเห็นได้ว่าวิปัสสนาญาณ ๙ เจ็ดข้อเบื้องต้นเป็นผลเกิดเนื่องมาจากฌาน อธิบายว่า ผู้เจริญฌานเต็มที่แล้วเกิดวิปัสสนาญาณทั้งเจ็ดนั้น มิได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๗ ดังท่านเรียงลำดับกันไว้แล้วนั้น อาจเกิดข้อ ๒-๓ หรือ ข้อ ๖-๕-๔ อะไรขึ้นแล้วจึงเกิดข้ออื่นๆ ก็ได้ และวิปัสสนาญาณทั้งเจ็ดนี้ เป็นปัญญาเกิดจากฌานเพราะขาดพระไตรลักษณ์ เห็นเป็นไปข้างน้อมเกินควร บางทีจนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น เช่น เห็นสังขารเป็นของน่ากลัว เห็นเป็นโทษน่าเบื่อหน่าย จนมองดูสิ่งอื่นคนอื่นเป็นของน่ากลัว แลเห็นเป็นโทษแก่ตัว หรือเบื่อหน่ายในตัวและคนอื่นจนฆ่าตัวตาย ดังเคยมีเรื่องเล่าไว้ครั้งพุทธกาลก็มี นี่เป็นวิปัสสนาญาณอันเกิดจากฌาน ไม่เข้าถึงองค์พระไตรลักษณญาณจนครบถ้วน
ฉะนั้นวิปัสสนาญาณ ถ้ายังไม่ถึงสังขารุเปกขาญาณและสัจจานุโลมิกญาณจึงเกิดวิปลาส และจัดเป็นอุปกิเลส เครื่องกีดกั้น มรรค ผล นิพพาน ได้ด้วย และท่านก็ไม่ได้จัดเข้ามาในสัมมาทิฏฐิครบถ้วนในองค์มรรค ๘ ให้ครบถ้วนอีกด้วย เมื่อไม่เป็นสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค ๘ แล้ว วิปัสสนาญาณทั้งเจ็ดเบื้องต้นก็จะเดินเข้าถึงมรรค ๘ ไม่ได้ ถ้าไม่เกิดวิปัสสนูปกิเลส ก็จะเป็นแค่วิปัสสนาญาณอยู่นั่นเอง
หากผู้เจริญวิปัสสนาญาณทั้ง ๗ ดังกล่าวไม่หลงว่าเป็นของดีของวิเศษ ไม่เข้าไปติดจนเป็นอุปกิเลสสำคัญตนเข้าไปหมกมุ่นอยู่ในนั้นแล้ว มาทำความรู้เท่าเข้าใจตามสภาพความเป็นจริง ว่านั่นเป็นธรรม นั่นเป็นอนัตตา นั่นเป็นอาการของผู้พิจารณา นั่นเป็นผู้รู้ผู้พิจารณา เห็นชัดแจ้งแล้ว ปล่อยวางลงเป็นสังขารุเปกขาญาณ แล้วจิตจะน้อมเข้ามาหาสัจจานุโลมิกญาณ เพ่งพิจารณาในอริยสัจ ๔ ไปๆ มาๆ จนเป็นวสี ๕ แล้วจะถึงมรรคผลในภูมินั้นๆ ของตน ผู้เจริญฌาณให้เกิดวิปัสสนาญาณและไม่มีอาการผิดแผกแยกออกไปเป็นอุปกิเลส เป็นเหตุให้เข้าถึงมรรคถึงผล ดังแสดงมาโดยย่อนี้
ส่วนผู้ที่เจริญสมาธิ ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิและทิฏฐิวิสุทธินั้น เป็นวิธีดำเนินเข้าถึงมรรคโดยตรง สัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบ เช่น เห็นว่า ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นทุกข์จริง สภาพทั้ง ๔ อย่างนี้ มีอยู่ ณ ที่ใด ทุกข์ย่อมมีอยู่ ณ ที่นั้น ถึงแม้เขาผู้นั้นจะไม่เห็นทุกข์เพราะความเมาความเพลิดเพลินของเขาก็ตาม แต่ทุกข์ก็ยังเป็นทุกข์อยู่เช่นเคย ย่อมตามทนทุกข์ทรมานกายใจของเขาอยู่ตลอดกาล ความเห็นเช่นนั้นชัดแก่ใจของตนยิ่งกว่าใครจะมาบอกเล่า แล้วก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ถึงเขาผู้นั้นจะได้รับความสุขจากสิ่งภายนอกอย่างไรๆ ก็ตาม แต่ความจริงภายในใจของเขา จะไม่ทำให้เขาเห็นวิปริตจากความจริงเลย ความเห็นอันนั้นเลยกลายเป็น …ทิฏฐิวิสุทธิ… ไป
ผู้เจริญสมาธิดำเนินมรรคไปเลย จนสัมมาทิฏฐิกลายเป็นทิฏฐิวิสุทธิ หรือทิฏฐิวิสุทธิกลายเป็นสัมมาทิฏฐิไปแล้ว วิปัสสนาญาณ ๙ เลยกลายเป็นของเล็กน้อยไป เพราะเป็นแต่เพียงเอกเทศบางส่วนของทิฏฐิวิสุทธิเท่านั้น เพราะไม่ประกอบด้วยพระไตรลักษณญาณโดยสมบูรณ์ในวิปัสสนาญาณนั้นๆ ส่วนทิฏฐิวิสุทธิหรือสัมมาทิฏฐินี้ครอบเอาซึ่งวิปัสสนาญาณ ๙ มาไว้ในอำนาจของตนโดยสิ้นเชิง เพราะวิปัสสนาญาณ ๙ ถ้าดำเนินไปจนถึงสัจจานุโลมิกญาณ ไม่มีการหลงแวะเวียนไปเป็นอุปกิเลสแล้ว ก็จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นทางปฏิบัติ (ที่ตนปฏิบัติว่าถูกต้องแล้ว) ญาณอันเกิดจากมรรคนั้นๆ คือความรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ จัดเป็นทัสสนวิสุทธิ (คือตัวสัมมาทิฏฐินั่นเอง)
เหตุที่บรรลุธรรม
ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงเคยได้ทราบเรื่องของพระสาวกบางรูปมาแล้วว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลในขณะที่ท่านนั่งฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์นั่นเอง แล้วท่านเคยคิดบ้างไหมว่าทำไมท่านจึงสำเร็จง่ายดายนัก ท่านไม่ได้เจริญ ฌาน-สมาธิ-วิปัสสนา และมรรค ๘ บ้างหรือ
หากท่านตั้งใจคิดและพิจารณาด้วยใจอันเป็นธรรมแล้ว คงจะเห็นชัดด้วยใจของตนเองว่า ท่านเหล่านั้นในขณะนั้นท่านไม่ได้เจริญฌาน หรือหากบางท่านจะเคยได้เจริญฌานมาก่อนแล้วก็ตาม แต่ในขณะที่ท่านนั่งฟังพระธรรมเทศนาอยู่นั้น ท่านไม่ได้เจริญฌาน ท่านเจริญสัมมาทิฏฐิ อันมีสัมมาสมาธิเป็นรากฐาน คือดำเนินตามองค์มรรค ๘ ทีเดียว มีวิปัสสนาคือ พระไตรลักษณญาณเป็นผู้อุดหนุน
หากจะมีความสงสัยว่าสมาธิในขณะนั้นจะมีได้อย่างไร ขอเฉลยไว้ ณ โอกาสนี้เลยว่า สมาธิ ไม่ต้องดับรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส เหมือนฌาน แต่สมาธิจะยึดเอาอารมณ์ทั้ง ๖ นั่นแหละมาเป็นเครื่องพิจารณาจนเห็นอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นชัดตามเป็นจริงว่า อายตนะ ๖ มีตาเป็นต้น เป็นบ่อเกิดของอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น กิเลสจะเกิดขึ้นที่อายตนะ ๖ นี้เพราะความไม่รู้ตามเป็นจริง แล้วเข้าไปยึดอารมณ์ ๖ นั้นมาไว้เป็นของตัวจึงเดือดร้อนเป็นทุกข์
ความจริงแล้ว อายตนะ ๖ ก็มีไว้สำหรับรับรู้ทำหน้าที่ของตนๆเป็นธรรมดาอยู่แล้ว อายตนะมิได้มาไหว้วอนหรือร้องขอให้ใครๆ มาหลงรักหลงชอบหรือเกลียดชังอะไร แต่ใจของเราต่างหาก แส่ไปยึดไปถือเอาอารมณ์นั้นมาเป็นตน เป็นของตน ทั้งๆที่อารมณ์เหล่านั้นก็หาได้เป็นไปตามปรารถนาไม่ มันเกิดขึ้น ณ ที่ใด มันก็ดับลง ณ ที่นั้น มันเกิดๆ ดับๆ อยู่อย่างนี้ตลอดกาล
ผู้มาพิจารณาเห็นชัดแจ้งอย่างนี้ด้วยใจด้วยปัญญาอันชอบแล้ว จิตจะไม่แส่ส่ายลังเลไปในอารมณ์นั้นๆ แล้วจะตั้งมั่นแน่แน่วอยู่ในความจริงใจว่า อายตนะทั้ง ๖ จะเป็นกิเลส และเป็นภัยก็แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจตามเป็นจริง แล้วเข้าไปยึดถือ เอามาเป็นตนเป็นของตนเท่านั้น ผู้ที่รู้เห็นตามเป็นจริงแล้วอายตนะทั้งหลายก็จะเป็นอายตนะอยู่ตามเดิม และทำหน้าที่อยู่ตามเคย ใจก็จะไม่หลงเข้าไปยึดเอามาเป็นตนของตนเลย ที่เรียกว่าสมาธิเกิดขึ้นเพราะเอาความเห็นอันเป็นจริงในสัจจธรรมมาเป็นอารมณ์ ต่อนั้นไป หากมีผู้มาแสดงสัจจธรรมอันเนื่องมาจากอายตนะ-ขันธ์ เป็นต้น อันมีมูลฐานอันเดียวกัน ท่านผู้นั้นก็จะส่องแสงปัญญาตามรู้ตามเห็นไปตามทุกแง่ทุกมุมจนสิ้นสงสัยในธรรมนั้นๆ ที่เรียกว่าได้บรรลุธรรม
สมมติว่า หากท่านผู้อ่านสนใจในธรรมอยู่ ได้ไปเฝ้าฟังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาฉลาดเฉียบแหลมลึกล้ำ สรรเอาแต่ถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมนำมาซึ่งประโยชน์ เสียงก็ไพเราะเพราะพริ้ง ตรัสคำใดออกมาก็เป็นที่น่าจับใจ พระรูปพระโฉมผิวก็ผุดผ่อง นิ่มนวลชวนให้เกิดความเลื่อมใส จรณธรรมทั้งหลายของพระองค์ไม่มีบกพร่อง ทั้งด้านน้ำพระทัยของพระองค์เล่าก็เปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารทั้งสี่เช่นนี้แล้ว ท่านจะทำอย่างไร หากท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าดังนั้นเข้าแล้วท่านจะนั่งภาวนากรรมฐาน เจริญฌานกสิณ ดับอารมณ์ภายนอก มีรูปเป็นต้น เสวยความสุขยึดเอาเอกัคคตารมณ์ชมไม่รู้อิ่มไม่รู้เบื่อ จนเกิดวิปัสสนาญาณ ๙ แล้วจึงจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานอย่างนั้นหรือ หากท่านมัวทำเช่นนั้นอยู่ เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าคงจะต้องเสด็จหนีก่อนเป็นแน่
แต่ถ้าท่านไม่ดับอารมณ์เหล่านั้น แต่มายึดเอาอารมณ์เหล่านั้นขึ้นมาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงดังแสดงมาแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีจิตใจอันบริสุทธิ์ กลั่นกรองเอาธรรมที่เป็นของบริสุทธิ์มาแสดงให้ท่านผู้มีความเห็นอันบริสุทธิ์ คือสัมมาทิฏฐิและมีสัมมาสมาธิ เป็นผู้อุดหนุนนั่งฟังธรรมอยู่นั้น เมื่อถึงพร้อมเช่นนั้น ขอให้ท่านพิจารณาดูว่าจะมีอะไรเกิดตามมา เท่าที่แสดงมานี้ เข้าใจว่าท่านผู้อ่านทั้งหลาย พอจะเข้าใจเนื้อความที่ว่า ผู้นั่งฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะนั้นจะมี ฌาน-สมาธิ หรือไม่
ขอเฉลยว่า ฌานเป็นของเล็กน้อย ฌานเป็นเครื่องอยู่เครื่องเล่นของท่านผู้ที่ได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดแล้ว ท่านจะเจริญให้เกิดให้มีขึ้นเมื่อไรก็ได้ไม่เป็นของยาก เหมือนคนผู้มีความฉลาดเฉียบแหลมสมบูรณ์แล้ว จะทำตนเป็นคนโง่ย่อมง่ายดาย แต่ถ้าคนโง่นี่ซิ จะทำตนให้เป็นคนฉลาดเปรื่องปราดมันยากนัก ถึงจะทำได้ก็ไม่เหมือน ขอย้ำอีกว่า ถ้าหากท่านยังเห็นว่า ฌาน สมาธิเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ข้อความที่แสดงมาข้างต้นนั้นก็จะไม่สามารถซึมซาบเข้าไปถึงใจของท่านได้เลย
อนึ่ง มติของบางท่านยึดเอาตัวหนังสือเป็นหลักว่าพระอรหันต์สุขวิปัสสกไม่มีสมถะ เจริญวิปัสสนาล้วนๆ คำว่า สมถะใครๆ ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ได้แก่ฌานหรือสมาธิ ถ้าพระสุขวิปัสสกไม่มีสมถะ มันจะไม่ขัดกันกับพระพุทธพจน์ที่ว่า ผู้เจริญสมาธิดีแล้วย่อมมีปัญญาเป็นผลเป็นอานิสงส์ใหญ่หรือ ที่ว่าผู้ที่จะถึงมรรคผลนิพพานต้องดำเนินอัฏฐังคิกมรรค มรรค ๘ ก็มีสมาธิอยู่ด้วย มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น เป็นทางเอกอันจะนำสัตว์ให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้
ท่านผู้รู้ทั้งหลายทำไมไม่หยิบยกเอาคำเหล่านั้นขึ้นมาพิจารณาดูบ้าง หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงมือปฏิบัติจนให้จิตเป็นสมถะ วางความยึดมั่นถือมั่นตัวหนังสือแล้วเกิดความรู้จากสมถะนั้น ภายหลังจึงเอาความรู้ทั้งสองอย่างนั้นมาเทียบเคียงกัน ท่านก็จะหายความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ น้ำใสแสนใสถ้าไม่นิ่งจะเห็นตัวปลาและเม็ดทรายอยู่ใต้น้ำได้อย่างไร ใจไม่สงบจะเห็นกิเลสและอารมณ์ภายในของตนได้อย่างไร
การบริหารรักษากองทัพ
ทัพปัญญา นี้เป็นทัพใหญ่ดังกล่าวแล้ว จะต้องรับภาระเป็นพิเศษ นอกจากจะต่อสู้ด้วยกำลังพลและกำลังอาวุธแล้ว ยังจะต้องต่อสู้ด้วยจิตวิทยาและตรรกวิทยา โดยให้กำลังใจอันเป็นมิตรที่ดีกับประชาชนหัวเมืองที่รบ ได้ให้การบำบัดทุกข์บำรุงสุข และให้การศึกษา การอยู่ดีกินดีมีพลานามัยสมบูรณ์เป็นที่พอใจ เป็นต้น จนเขาเห็นว่า การบริหารนั้นดีกว่าเดิม จึงจะไม่มีเวรภัยมีการปฏิวัติขึ้นในภายหลัง ปัญญาสามารถสอดส่องมองไปเห็นทุกแง่ทุกมุมของกิจการทั้งปวง ทั้งที่ได้กระทำมาแล้ว และที่ยังไม่ได้กระทำ หรือที่กำลังกระทำอยู่ว่าสิ่งนี้ควรแก้ไข สิ่งนี้ควรบำรุงรักษา และสิ่งนี้ควรทำให้เจริญก้าวหน้า เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ต่อสู้กับข้าศึก คือ กิเลสภายในใจของตนก็เช่นนี้เหมือนกันผู้ที่ชนะความตระหนี่ด้วยการทำทานแล้ว ก็อย่าพึงดีใจว่าเราชนะมันแล้วเพราะความตระหนี่มันเกิดขึ้นที่ใจ ความตระหนี่มันอาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ ในเมื่อเราเผลอสติว่า จาคะ การทำทาน เราเคยทำแล้วและทำบ่อย จะทำเมื่อไรก็ได้ เมื่อเราคิดอย่างนี้ก็เป็นอันว่าเราปล่อยให้โอกาสความตระหนี่ (คือข้าศึก) เข้ามาแทรกซึมในใจของเราแล้วในเมื่อโอกาสมี แต่เราประมาทเสีย ความตระหนี่หวงแหนจะเข้ามาแทนใจที่กว้างขวางและเบิกบาน ฉะนั้น จึงควรทำความหรรษาและเบิกบานในการจาคะบริจาคไม่ว่ามากหรือน้อย เพื่อให้เป็นพลังใจในการที่จะเชิดชูจาคะบริจาคให้ทวียิ่งๆ ขึ้น แล้วถอนความเห็นแก่ตัวให้หมดไป หรือลดน้อยลงไปเป็นลำดับ
ส่วนผู้ที่ทำฌาน-สมาธิได้แล้ว ก็อย่าเข้าใจว่านั่นเป็นของตัวแล้วเดี๋ยวจะเดือดร้อนในภายหลัง ผู้ที่มีความคิดเช่นนั้น ได้ชื่อว่าทำลายปราสาทของตนเอง แล้วลงมาอยู่กระต๊อบเสียก็นับไม่ถ้วน เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้แล้วว่า “…สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา…” ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่ของใคร
ฌาน ต่อสู้กับอารมณ์ทั้งหกอันเกิดจากอายตนะภายในภายนอกกระทบกันดังกล่าวแล้ว ฌานกล้าหาญต่อสู้กับอารมณ์ แต่ที่จะหลบหลีกปลีกตัวเอาตัวรอด ไม่กล้าจะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันร้ายแรง เพราะความกลัว หวั่นวิตก หรือไม่เชื่อความสามารถของตัวเอง เช่นนักปฏิบัติผู้ผจญภัยร้าย มีการต่อสู้กับความกลัวเสือ เป็นต้น สมัยนั้นเมื่อจิตยังตั้งไม่อยู่จะต้องฟุ้งอย่างเต็มที่ เปรียบเหมือนกับสัตว์ป่าที่ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกอย่างมั่นคง เมื่อดิ้นหมดฤทธิ์แล้ว จะกลายเป็นเชื่องไป ฉันใด เมื่อใจหาที่พึ่งไม่ได้แล้วจะต้องยอมสละ ไม่อาลัยตายอยากในชีวิตขณะนั้น จิตอาจหลบเข้าไปสงบนิ่งหรือนิ่งอย่างแรงกล้าจนไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ แต่ขาดปัญญาที่จะพิจารณาถึงเหตุผลของความกลัว และสิ่งที่กลัว ตลอดถึงผู้กลัว จนเห็นชัดแล้วปล่อยวางลง จนให้เห็นเป็นสภาพธรรมได้
ฌาน ชอบหลบหลีกหาความสงบสุข ไม่กล้าต่อสู้กับอารมณ์อันร้ายแรง เมื่อผจญกับอารมณ์อันใดอันหนึ่งเข้า จิตมักจะหลบเข้าไปรวมอยู่เป็นฌาน เพ่งเอาความสุขเอกัคคตารมณ์เป็นเครื่องอยู่เสีย แล้วก็เข้าใจเอาว่าเราชนะอารมณ์นั้นๆ แล้ว แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากนั้น อารมณ์มันมีอยู่แต่เดิมเช่นไร มันก็มีอยู่เท่าเดิมเช่นนั้น และนักภาวนากรรมฐานทั้งหลาย มิใช่ว่าจะทำจิตของตนให้รวมเป็นเอกัคคตาอยู่ได้ตลอดเวลา ถึงได้ก็เถอะ หากไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผลของความกลัวดังกล่าวมาแล้ว หากอารมณ์อย่างหนักมากระทบเข้าจังๆ เช่น ความโกรธอย่างแรงๆ เป็นต้น เอกัคคตาสุขที่ยึดมั่นอยู่นั้นจะสูญหายไปแวบเดียวอย่างไม่ทันรู้ตัวเลย
ฌาน ใครๆ ก็ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ทำให้นิวรณ์ ๕ มีกามฉันท์เป็นต้น สงบอยู่เท่านั้น หาได้ทำให้ขาดสูญสิ้นไปจนหมดเชื้อไม่ แลผู้ที่ได้ฌานแล้วโดยมากก็เข้าใจว่าตนได้สำเร็จธรรมขั้นสูงแล้ว ความเข้าใจนั้นจึงตกเป็นความประมาทของผู้นั้นไปโดยไม่รู้ตัว ฌานของนักภาวนากรรมฐานจึงมักเสื่อมเสมอ เป็นที่น่าเสียดาย อุตส่าห์ลงทุนต่อสู้กับกิเลสภายในมาจนสุดกำลัง พอมาถึงตอนได้ฌาน หลงกลลวงของข้าศึกถูกเขาล้อมเอา เลยไม่มีประตูสู้ แล้วจะทนเป็นทาสของข้าศึกต่อไปไม่ทราบว่าสักกี่ภพกี่ชาติ
ฌาน เป็นที่รักใคร่ชอบใจทำให้ผู้ยังไม่เคยได้หรือปัญญาเยาว์ ได้แล้วหลงติดโดยมาก ข้าศึกศัตรูตัวสำคัญของฌานก็คือนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เมื่อจะสงเคราะห์เข้ากันกับข้าศึกสามเหล่าแล้ว กามฉันท์ สงเคราะห์เข้าในราคะกิเลส พยาบาท สงเคราะห์เข้าในโทสะกิเลส ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา สงเคราะห์เข้าในโมหะกิเลส
ส่วนสมาธิ ก็กล้าหาญเป็นนักต่อสู้เหมือนกัน แต่ต่อสู้อย่างเลือดเย็น จะแพ้หรือชนะต้องขึ้นอยู่ที่เหตุผล เอาเหตุผลเป็นเครื่องตัดสิน ไม่ยอมหลบหน้าหนีเหตุผล เมื่อยึดเอาเหตุผลเป็นหลักแล้ว การแพ้และชนะของการต่อสู้จะกลายเป็นธรรมไป
อายตนะ เป็นบ่อเกิดของกิเลสมีราคะเป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว เมื่อผู้มาพิจารณาเห็นโทษของกิเลสเหล่านั้นเพราะการไม่สำรวมในอายตนะทั้งหลายแล้ว ตั้งใจสำรวมอารมณ์ในอายตนะทั้งหลาย มีตาเห็นรูปเป็นต้น มิให้ใจหลงรักใคร่ชอบใจในรูปที่เห็นนั้น โดยพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นของไม่เที่ยงเป็นก้อนทุกข์ทั้งหมด หรือจะเห็นเป็นของสูญเปล่า ใช่ตัวตนเราเขาอะไรไม่ เป็นแต่สภาพธรรมก้อนหนึ่ง เกิดขึ้นมาแล้วก็แตกสลายดับไป หรือหยั่งซึ้งลงไป จนเห็นเหตุอันให้รูปเกิดขึ้น รูปตั้งอยู่ และรูปนั้นดับสลายไปเพราะอะไร
ผู้มาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว รูปก็จะไม่มาตำตาให้หลงเขวไปว่ารูปสวยไม่สวย เป็นต้น จะเห็นเป็นแต่สักว่าสภาพธรรมอันหนึ่ง ซึ่งมันแสดงปฏิกิริยาของมันอยู่เช่นนั้นต่างหาก กิเลสเกิดขึ้นเพราะไม่สำรวมจิต คิดหลงไปตามอารมณ์ ไม่ได้พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง จิตจึงเข้าไปยึดถือแล้วปรุงแต่งว่ารูปสวย ไม่สวย น่ารักใคร่ชอบใจ หรือน่าเกลียดน่าชัง เกิดโสมนัส โทมนัสไปตามอำนาจของกิเลสแล้วแต่มันจะแต่ง
สมาธิต่อสู้ด้วยการรอบรู้ชั่งหาเหตุผลเข้ามาตัดจนสิ้นกังขา การต่อสู้ชนิดนี้เป็นธรรมนำสันติสุขมาสู่ตนไม่มีวันเสื่อม การต่อสู้แบบนี้เรียกว่าต่อสู้แบบอริยมรรค ชนะแบบอริยมรรค จะชนะมากหรือน้อย เด็ดขาด หรือยังมีเหลืออยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับมรรคปหานของชั้นภูมินั้นๆ ฌานและสมาธิเป็นยุทธวิธีสำหรับต่อสู้กับกิเลสภายในของตนๆ ของแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่มีกลวิธีอุบายผิดกันเล็กน้อยดังแสดงมาแล้ว
สมาธิ สติ ปัญญา
อนึ่ง ผู้ต่อสู้ตามอริยมรรคนี้ ถ้าเดินถูกต้องตามอริยมรรค จริงๆ แล้ว แล้ว คำว่า “…เราแพ้ เราชนะ หรือเราต่อสู้กับกิเลส…” จะไม่มีเลยในใจของท่านผู้เจริญมรรคอยู่ สติ ระวังตรงที่จิต แม้กิเลสหรืออารมณ์จะมีประมาณเล็กน้อย ปัญญาจะตามสอดส่องเห็นอยู่ทุกขณะ พร้อมกันนั้นการละกิเลสก็ละพร้อมๆ กันไปในตัว แล้วก็ไม่ได้นึกคิดว่าเวลานี้ เราเจริญฌานสมาธิและวิปัสสนา หรือเดินอยู่ในอริยมรรคขั้นนั้นขั้นนี้ หรือถึงขั้นนั้นขั้นนี้ จะไม่มีในที่นั้นเลย
ธรรมเหล่านี้ คือ สมาธิ ความที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว ๑ สติ ความระวังจิตไม่ให้คิดแส่ออกไปจากอารมณ์อันหนึ่งของสมาธิ ๑ ปัญญา ความรู้รอบเห็นเหตุการณ์ของจิตอยู่ทุกขณะ ๑ ธรรมทั้งสามนี้จะสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ในใจของท่านทุกขณะ พูดสั้นๆ ว่า ผู้ดำเนินตามมรรคปหานที่แท้ คำว่าเราว่าเขา ในที่นั้นจะไม่มีเลย จะมีแต่ธรรม ๓ ประการ ดังกล่าวแล้วเป็นเครื่องดำเนินเท่านั้น
บางท่านอาจสงสัยว่า ถ้าหากไม่ทราบการกระทำของตนว่า เราทำไปได้ขั้นไหน ถึงภูมิไหน เป็นต้น แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า กิเลสที่เราละแล้วเท่าไร ที่ยังเหลืออยู่อีกมากน้อยสักเท่าไร ขอเฉลยว่า ผู้ที่ยังติดตำราที่ได้ศึกษามาต้องมีความเห็นเช่นนั้นจริง ความคิดเห็นเช่นนั้นยังมิใช่สัมมาทิฏฐิในองค์อริยมรรค เป็นแต่ความอนุมานตามทิฏฐิของตนเอง อันมีความไม่แน่ใจเป็นมูลฐานเท่านั้น ซึ่งสัมมาทิฏฐิที่แท้จริงในอริยมรรค ตนเองก็ยังไม่เคยได้รับรสชาติเลยว่าเป็นอย่างไร ผู้ที่ยังมีความหิวกระหาย ไม่ว่าจะหิวกระหายทางกายหรือทางใจก็ตาม เห็นอะไร รู้อะไร ดูเหมือนจะมีรสชาติเอร็ดอร่อยไปเสียหมดเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ไม่ถึงกับเห็นด้วยตา เพียงแต่นึกคิดไปถึงสิ่งที่ตนยังหิวอยู่เท่านั้น น้ำลายก็พรั่งพรูออกมาเต็มปากแล้ว
ขอท่านผู้อ่านได้ตรึกตรองดูว่า ท่านผู้มีธรรม ๓ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มีประจำอยู่สมบูรณ์อยู่ในใจของท่านแล้ว ท่านยังจะเอาจิตไปวัดไปเทียบชั้นภูมิอะไรอีกหรือ ผู้เดินทางไกลที่ยังไม่เคยเดิน เมื่อเหนื่อยเข้าก็มีแต่ปลอบใจตนเองว่า เห็นจะใกล้แล้ว จวนจะถึงแล้ว อะไรทำนองนี้ เพื่อให้มีมานะแก่ใจเท่านั้น แต่ความจริงหาได้เป็นดังคาดหมายไว้ไม่
ผู้ยังมีความอยากความอาลัยอยู่ จะเดินสัมมาทิฏฐิเข้าถึงอริยมรรคไม่ได้เลยเด็ดขาด กิเลสเป็นของภายใน มีอยู่เฉพาะในใจของใครของมัน ใครมีมากมีน้อย ละได้มากได้น้อย ด้วยอุบายธรรมอันใด ไม่มีใครตัดสินให้กันได้ เรื่องนี้เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะพยากรณ์ได้ ใครจะตัดสินซึ่งกันและกันด้วยอนุมานไม่ได้ หรือตำราเป็นของเหลวไหลทั้งนั้น ดีไม่ดีผู้ถูกพยากรณ์เมื่อไม่ตรงตามเป็นจริง เขาหัวเราะเยาะเข้าให้เสียอีก ของพรรค์นี้เป็นธรรมที่เป็นปัจจัตตัง เกิดมีขึ้นเฉพาะผู้ดำเนินทางถูกตามอริยมรรคเท่านั้น ผู้เดินทางเดียวกันย่อมรู้เรื่องของกันและกัน คนนอกนี้หาได้รู้ด้วยไม่ ธรรมแท้ที่เป็นปัจจัตตัง ใครจะตัดสินว่าอย่างไรหรือไม่ มันก็เป็นสภาพเช่นนั้นอยู่ตามเดิม
ผู้ที่ยังมีความหิวอยู่ และต้องการอยากดังเท่านั้น ซึ่งธรรมแท้ของจริงไม่มีในตน จึงจะเอาธรรมปลอมๆ มาโฆษณาหากิน “ของดีมีค่าแต่หาตัวตนไม่ได้ หากมีผู้นำเอาไปโฆษณาขายในท้องตลาดว่า คุณจงมาซื้อของดีมีค่าของข้า” ท่านจงคิดดูเถิดว่า คนทั้งเมืองเขาจะมองผู้นั้นไปในแง่ไหน
บทผนวก
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ มีการทำทาน รักษาศีล เจริญฌาน-สมาธิ-วิปัสสนา ล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธ์แต่ละอย่างสำหรับต่อสู้กับกิเลสภายในของแต่ละบุคคล เว้นเสียแต่ว่าบุคคลผู้นั้นเขานำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้หรือไม่เท่านั้นเอง หากผู้เห็นโทษของกิเลสแล้ว แต่นำมาใช้ไม่ถูกทางก็ไร้ผล
กิเลสเป็นของยากที่ผู้เกิดมาจมอยู่ในกองกิเลสจะเห็นโทษของมันได้ง่ายๆ เหมือนหนอนเกิดในของโสโครก ยากที่จะเบื่อหน่ายเหม็นกลิ่นของโสโครกได้ คนเราเกิดในกองกิเลส บางครั้งถึงแม้จะเห็นโทษของกิเลสนั้นแล้วก็ตาม โดยมากมักปกปิดโทษของกิเลสนั้นไว้มิให้โผล่ออกมาภายนอก หากจะมีใครกล้าเปิดเผยโทษของกิเลสนั้นออกสู่วงสังคมแล้ว คนส่วนมากมักจะมองไปในแง่ไม่ดี
ฉะนั้น กิเลส ๓ กองอันเป็นมูลฐานของกิเลสทั้งปวง คนส่วนมากจึงมักปกปิดไว้ ไม่มีโอกาสจะเอาออกมาตีแผ่โทษของมันให้เห็นตามเป็นจริง พระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นบุคคลแรกที่เปิดเผยโทษของมันให้เห็นตามเป็นจริง ให้โลกทั้งหลายได้ทราบได้รู้ แล้วก็สอนวิธีต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้นด้วยกลยุทธ์ต่างๆ นานาดังแสดงมาแล้วข้างต้น
ผู้มีปัญญาได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เห็นตามแล้วปฏิบัติตามกลยุทธ์ของพระองค์ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้นระหว่างกิเลสภายใน กับความดิ้นรนของใจ แต่กิเลสเป็นของเกิดดับพร้อมอยู่กับจิต มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นสมรภูมิ มีอายตนะ ๖ เป็นสื่อสาร ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธคือปัญญา ตามแบบยุทธวิธีของอริยมรรค เมื่อชนะแก่ข้าศึกแล้ว ให้ดำเนินงานบริหารด้วยสันติวิธี สังวรธรรม ๔ (คือปาริสุทธิศีล ๔) เนื่องจากกิเลสเกิดดับพร้อมอยู่ที่จิตดังกล่าวแล้ว ผู้มีปัญญาใช้กลยุทธ์ต่อสู้กับกิเลสจนปราชัยพ่ายแพ้ หากิเลสเศร้าหมองในใจไม่ได้ เมื่อใจผ่องใสบริสุทธิ์หมดจดดีแล้ว ความปรารถนาของท่านจะไม่มี มีแต่ธรรม คือ สติ สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องดำเนินเป็นไปอยู่จนกว่าขันธวิบากของท่านจะแตกดับ
ท่านจึงอุปมาเปรียบไว้เหมือนตะเกียง เมื่อน้ำมันยังมีอยู่พร้อมทั้งไส้ เอาไฟไปจุดก็ติดได้ น้ำมันหมดไส้ยังอยู่หาน้ำมันมาใส่ใหม่ก็จุดติด ไส้หมดน้ำมันยังอยู่หาไส้มาใส่ใหม่ก็จุดได้ ธาตุ ขันธ์ เป็นตัวตะเกียง อายตนะเป็นไส้สำหรับดูดน้ำมันคือ วิญญาณ เป็นสื่อสำหรับจุดไฟให้สว่างให้ดับ สติตามระวังปัญญารู้แจ้งตามเห็นโทษและคุณ หรือสิ่งที่ควรและไม่ควร ธาตุแตก ขันธ์ดับ อายตนะสลายไป วิญญาณไม่สิ้นไปเพราะปัญญาไม่กล้า จึงไม่สามารถที่จะดับเหตุแห่งวิญญาณได้ วิญญาณยังแสวงหาภพชาติเกิดได้อีก วิญญาณดับไปเพราะอำนาจของฌานสมาบัติ แต่วิบากยังเหลืออยู่ เมื่อจิตถอนออกจากสมาบัตินั้นแล้ว วิญญาณก็จะกลับมาทำหน้าที่อยู่ตามเดิม
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ถึงแม้ท่านจะทราบดีอยู่แล้วว่าธรรมเหล่านี้ คือ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ จิตหรือวิญญาณเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขาก็ตาม เมื่อวิบากของเหล่านั้นยังมีเหลือทำหน้าที่ของมันอยู่จนกว่าจะถึงที่สุดอวสาน ปัญญาความรู้รอบในเหตุผลของท่านก็ยังทำหน้าที่อยู่เช่นเคย (คำว่าปัญญาญาณในที่นี้ หมายความว่า ทำความรู้รอบในเหตุผลที่เกิดขึ้นในธรรม คือ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ตลอดถึงละถอนอารมณ์และกิเลสต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ไม่เข้าไปยึดคำว่า เราถอน เราสละ เราละแล้ว หรือกำลังละอยู่ หรือจะละถอนต่อไป เมื่อธรรมเหล่านี้ยังมีอยู่ตราบใด ปัญญาญาณ จึงจำต้องใช้อยู่ตราบนั้น ที่นี้ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ มิใช่วิบาก แต่เป็นขันธปัญจกะ ไม่ได้เรียกว่าปัญญาญาณ แต่เรียกว่าปัญญากำลังใช้ในขันธปัญจกะ)
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอท่านได้ตัดสินเอาเองว่า เมื่อธรรมเหล่านี้ คือ วิบาก ได้แก่ ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ กับสติตามระวังวิญญาณผู้แส่ส่ายไปตามวิบาก ปัญญาญาณตามรอบรู้ แต่สติกับวิญญาณผู้แส่ส่ายไปตามวิบากทำหน้าที่ครบบริบูรณ์อยู่อย่างนี้ไปพร้อมๆกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นมาอีก เมื่อธรรมเหล่านั้น คือ วิบาก ธาตุ-ขันธ์ เหมือนกับตะเกียง อายตนะเหมือนกับไส้ตะเกียง วิญญาณเหมือนกับน้ำมันที่เข้าไปซึมซาบอยู่กับไส้ตะเกียง สติตามสอดส่อง ปัญญาญาณตามรอบรู้ในอารมณ์ที่เกิดแล้วและกำลังเกิดอยู่ ก็จะสว่างจ้าอยู่ตลอดเวลา หาอะไรมาปกปิดมิได้ เหมือนไฟตะเกียงที่สว่างอยู่อย่างนั้น หากน้ำมันหมด ไส้ตะเกียงไม่มีน้ำมันหล่อเลี้ยง ไฟก็จุดไม่ติด ๓ อย่างนี้จึงหมดหน้าที่พร้อมๆ กัน วิบาก วิญญาณ ปัญญา จะปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร และจะเอาไปใช้กับอันใดอีกเล่า
[จบ สามทัพธรรม: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี]
(หัวเรื่องตัวเล็ก เส้นคั่น ย่อหน้า จัดพิเศษเพื่อให้สัปปายะกับการอ่าน)