มรรควิถี

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

คำปรารภ พิมพ์ครั้งที่ ๕

หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ เกิดขึ้นด้วยกำลังศรัทธาของคนชาติฝรั่งเผ่ายิวคนหนึ่ง ชื่อ ดร.ฟิลลิป ซึ่งเขาได้เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ คราวที่ข้าพเจ้ายังจำพรรษาอยู่ที่เกาะภูเก็ต เขาได้ไปศึกษาอบรมกรรมฐานอยู่กับข้าพเจ้าเป็นเวลาถึง ๖ เดือน รู้สึกว่าเขาได้รับความสงบเยือกเย็นเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนามาก

เมื่อเขาจะลากลับฮาวาย เขาได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนหัวข้อธรรมที่ง่ายๆและย่อๆ พอที่เขาจะนำไปปฏิบัติได้ พอเป็นคู่กันกับการปฏิบัติของเขา ข้าพเจ้าจึงได้เขียนให้เพียง ๑๐ ข้อ แล้วได้มอบให้เขาไป ภายหลังได้ทราบว่าเขาได้นำเอาหัวข้อธรรมนั้น ไปลงในหนังสือนิตยสารอะไรก็ไม่ทราบในประเทศนอก ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ แล้วคณะศิษย์ทางกรุงเทพฯ ก็ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆแจกกันดังคำปรารภพิมพ์ครั้งที่ ๑ แล้วได้มีผู้พิมพ์แจกในงานศพอีก ๒ ราย คณะศิษย์ทางนครเวียงจันทน์ประเทศลาวก็ได้จัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทานเช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าคิดว่าหนังสือเล่มเล็กนี้ยังจะทำประโยชน์ ให้แก่ท่านผู้สนใจในธรรมปฏิบัติอยู่บ้าง ทั้งเล่มก็เล็กถือง่าย อ่านจบเร็ว และไม่เปลืองหัวคิดสมองอีกด้วย

ข้าพเจ้าได้แก้ไขคำพูด สำนวน และเพิ่มเติมข้อธรรมโดยเฉพาะข้อ ๑๑ ไป คือวิธีแก้ภาพและนิมิตในภาวนา เพื่อให้หนังสือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สมกับเป็นหนังสืออบรมธรรมปฏิบัติ ให้มีทั้งแสดงคุณค่าแนวปฏิบัติและวิธีปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วเป็นไปในทางผิดแลถูก และแสดงวิธีแก้ไขในสิ่งที่ควรแก้ไขไว้ให้สมบูรณ์ด้วย

ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือเล่มเล็กๆนี้ คงจะทำประโยชน์ให้แก่ท่านผู้สนใจคุ้มค่า หากผิดพลาดคลาดเคลื่อนอรรถธรรมด้วยประการใดๆ ข้าพเจ้าขอยอมสารภาพรับผิดแต่ผู้เดียว เพราะข้าพเจ้ายังอ่อนต่อการศึกษา การปฏิบัติ การเขียน และความฉลาดในด้านต่างๆ เมื่อท่านผู้รู้ทั้งหลายได้เห็นแล้ว กรุณาโปรดช่วยแก้และแนะแนวให้ความสว่างแก่ข้าพเจ้าด้วย จะขอขอบคุณยิ่ง

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอขอบคุณบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ที่ได้พร้อมใจพากัน ให้ความช่วยเหลือ จัดพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทานครั้งนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปโดยดี ขอกุศลผลบุญทั้งหมดนี้ จงดลบันดาลให้ทุกๆคน จงประสบสรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล ในสิ่งอันพึงปรารถนา จงทุกประการ เทอญ

เทสรังสี


01

๑. คติในทางพระพุทธศาสนา ถือว่ากายกับจิตทำงานร่วมกัน แต่กายอยู่ใต้บังคับของจิต จิตเป็นผู้สั่งกายให้กระทำในกิจนั้นๆ แต่เมื่อกายชำรุด จิตก็ต้องลำบากไปด้วยกัน มิใช่อยู่ใต้บังคับระบบประสาท สมองถือเสมือนสำนักงานใหญ่ กายเริ่มแตกดับแล้วสลายแปรไปตามสภาพของธาตุนั้นๆ แต่จิตเมื่อเหตุปัจจัย (คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานและกรรม) ยังมีอยู่ ต้องไปเกิดได้ในคตินั้นๆ แล้วเสวยทุกข์สุขต่อไป

02

๒. การที่จะให้อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม (อันเป็นต้นเหตุ) ดับไป จะต้องหัดละความชั่วทางกาย วาจา เบื้องต้น ด้วยการรักษาศีลตามภูมิของตนๆ เช่น ฆราวาสต้องรักษาศีล ๕ แลอุโบสถศีลตามกาล สามเณรต้องรักษาศีล ๑๐ หรือ ๒๐ เป็นภิกษุต้องรักษาศีลพระปาฏิโมกขสังวรให้ครบทั้ง ๒๒๗ ข้อ และอาชีวปาริสุทธิศีล อินทรียสังวรศีล ปัจจัยสันนิสิตศีล ตามพุทธบัญญัติเสียก่อน ถ้ารักษาศีลยังไม่บริสุทธิ์ จิตก็ยังไม่สมควรจะได้รับการอบรม ถึงแม้จะอบรม ก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมเพราะรากฐานของจิตยังไม่มั่นคงเพียงพอ ในอันที่จะดำเนินในองค์มรรคได้ และได้ชื่อว่ายังไม่หยั่งลงสู่องค์พระรัตนตรัย พุทธมามกะที่แท้จะต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัยและศีลเป็นเบื้องต้นเสียก่อน

โอวาท ๓ (หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า) หรือมรรค ๘ ก็ต้องตั้งต้นลงที่ศีลนี้เสียก่อน ฉะนั้น ศีลจึงเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ต่อไปจึงฝึกหัดในแนวเจริญฌาน สมาธิ (ที่เรียกว่า สมถะ) เมื่อจิตตั้งมั่นชำนาญดีแล้ว จึงเจริญวิปัสสนา โดยอาศัยพระไตรลักษณญาณเป็นหลักจนให้เห็นแจ้งชัดด้วยญาณทัสนะอันบริสุทธิ์ จึงจะถึงวิมุตติหลุดพ้นจากสรรพกิเลสบาปธรรมได้

03

๓. การฝึกหัดสมถะ (ที่เรียกว่า ฌาน สมาธิ) นี้ ความประสงค์ที่แท้จริงในทางพุทธศาสนา ก็คือ ต้องการความสงบแห่งจิต เพื่อรวบรวมกำลังใจให้มีพลังอันเข้มแข็งอยู่ในจุดเดียว (ที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์) อันเป็นมูลฐานให้เกิดความรู้ความฉลาด สามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายด้วยญาณทัสนะ และขจัดสรรพกิเลสบาปธรรมทั้งปวงให้สิ้นไป มิใช่เพียงเพื่อจะนำไปใช้ด้วยเหตุอื่นภายนอก มีการนำไปใช้ในทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ เป็นต้น แต่เป็นการชำระใจให้ผ่องใสโดยเฉพาะ มีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น แต่เมื่อฝึกหัดให้ชำนาญแล้ว จะนำไปใช้ในทางใดก็ได้ตามประสงค์ ถ้าหากการใช้นั้นไม่ทำให้เกิดโทษแก่ตนและคนอื่น

04

๔. เฉพาะการฝึกหัดจิตที่เป็นนามธรรมนี้ จะใช้วัตถุเครื่องมือมีเครื่องจำลองเป็นต้น ฝึกหัดไม่ได้ ต้องฝึกหัดด้วยการอบรม ฟังผู้ที่ชำนาญในการฝึกหัดอธิบายให้ฟัง แล้วตนเองก็ตั้งใจปฏิบัติฝึกหัดตามไปได้ ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสเป็นบุพภาคเบื้องต้นเสียก่อน

ถ้าหากใช้ความคิดค้นในเหตุผลด้วยตนเองไม่สำเร็จ โดยมากผู้ใช้ความคิดค้นในเหตุผลด้วยตนเองก่อน มักไม่ได้บรรลุตามเจตนาเพราะขาดหลักที่ถูกต้องไม่ถูกแนวทาง เอนเอียงไปเข้าข้างตัวเสียมากกว่า

ถ้าหากปลูกศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใสในบุคคลผู้ให้การอบรม แลธรรมที่อบรมนั้นก่อนแล้ว จนจิตหนักแน่นแน่วแน่ดีแล้ว จึงใช้ความคิดค้นคว้าในเหตุผลตามความเป็นจริงดังนี้ ได้ผลอย่างน่าพอใจ

เพราะการคิดค้นในเหตุผลก่อนดังกล่าวแล้ว มักเป็นเรื่องส่งออกไปตามอาการภายนอก เช่น คนนั้นเขาว่าอย่างนี้ คนนี้เขาว่าอย่างนั้นเป็นต้น แต่ถ้าคิดค้นตามเหตุผลอยู่เฉพาะภายในกายของตนนี้ว่า กายของเรานี้มีอะไรเป็นเครื่องประกอบ และเกิดขึ้นมาได้อย่างไรจึงมีเครื่องใช้ครบถ้วนบริบูรณ์ และทำกิจในหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี และกายนี้เกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันใด เป็นอยู่ได้ด้วยสิ่งใด เป็นไปเพื่อความเสื่อมความเจริญเป็นของๆ เราจริงหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น อนึ่ง ให้คิดค้นเข้าไปถึงตัวนามธรรมว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความรัก ความชัง เป็นต้น เกิดขึ้นที่กายหรือเกิดขึ้นที่จิตและมีอะไรเป็นมูลเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมื่อคิดค้นด้วยเหตุผลอยู่เฉพาะภายในดังนี้ ก็เป็นการอบรมจิตไปในตัว

แต่เมื่อความสงบของจิตยังมีกำลังไม่พอ อย่าได้คิดค้นตามหนังสือที่ได้อ่านและคำพูดของคนอื่น ถึงคิดค้นก็ไม่ได้ความจริง (คือเป็นเหตุให้เบื่อหน่ายละถอนได้) แต่ให้คิดค้นตามเหตุผลที่เกิดขึ้นจากจิตในปัจจุบันจริงๆ

05

๕. จิตที่คิดค้นด้วยเหตุผลของตนเองอยู่อย่างนั้นแล้ว จะมีอาการให้เพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะ ณ ที่แห่งเดียวในอารมณ์เดียว (ที่เรียกว่าเอกัคคตารมณ์) เป็นการรวบรวมพลังงานของจิตให้มีกำลังกล้า สามารถเพิกถอนอุปาทานความเห็นผิด แล้วชำระจิตให้สว่างผ่องใสได้ในขณะนั้น อย่างน้อยจะได้รับความสงบสุขกายสบายจิตมาก อาจเกิดความรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ในขณะนั้น และความรู้อันนั้นเป็นของแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ด้วย เพราะความรู้นี้มิใช่เกิดจากมโนภาพ แต่เป็นความรู้อันเกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งสำเร็จมาจากเหตุผลเป็นสัจธรรม อย่างไม่เคยเกิดเป็นมาแต่ก่อนเลย ถึงจะรู้แอบแฝงตามเรื่องเคยคิดเคยรู้มาแล้วแต่เดิมก็ตาม แต่ความรู้อันนั้นมิเคยเป็นปัจจัตตัง ทำให้จิตสว่างขจัดเสียซึ่งความลังเลสงสัยในอารมณ์ที่ข้องอยู่ในใจได้แล้ว จะอุทานขึ้นมาในใจพร้อมด้วยความปราโมทย์ (อย่างนี้เทียวหรือ) แต่ถ้าผู้มีปัญญาทึบแล้ว จะเกิดความกล้าหาญร่าเริงต่อเมื่อมีผู้รับรองแลเห็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามท่านแสดงไว้ในหนังสือต่างๆ เป็นพยานแห่งความรู้อันนั้น ตามวิสัยของพุทธสาวกซึ่งไม่เหมือนกัน

ความรู้ที่ว่ามานี้จะมากหรือน้อย จะกว้างขวางหรือไม่ ไม่เป็นเครื่องรบกวนประสาท แต่เป็นความสงบสุขที่แท้จริง แล้วทำให้ประสาทปลอดโปร่งดีขึ้นมาก พร้อมกันนั้นจะทำให้จิตใจและนิสัยของผู้นั้น ละเอียดสุขุมนิ่มนวลละมุนละไมน่าเลื่อมใสมาก ถึงจะพูดจะทำจะคิดอะไรๆ ก็มีสติเสมอ ไม่ค่อยเผลอ แล้วพึงให้รักษาอาการทั้งหมดดังอธิบายมาแล้วนี้ อย่าได้ประมาท นี่เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล มิใช่จะเกิดเป็นอย่างนั้นทั้งหมดทั่วไปก็หาไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อเราได้อบรมจิตดังที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ แม้จะไม่ได้รับผลเต็มที่ ก็ยังจะได้รับความสงบสุขอย่างน่าอัศจรรย์ ตามสมควรแก่การปฏิบัติของตนๆ แล้วให้รักษาจิตของตนไว้อย่าให้เกิดความละโมบทะยานอยาก หรือโทมนัสน้อยใจเสียใจ จงวางใจให้เป็นกลางๆ แล้วปฏิบัติตามแนวที่ได้อธิบายมาแล้วแต่ต้นนั้น ด้วยความเชื่อความเลื่อมใส จงใช้สติระวังสังเกตทุกๆระยะของการปฏิบัตินั้น ก็จะได้ประสบผลดังประสงค์

06

๖. หากอบรมจิตดังกล่าวมาแล้วในข้อ ๔-๕ นั้น ยังไม่ปรากฏผล พึงตั้งสติมั่นสำรวมอยู่ในนิมิตอันใดอันหนึ่ง ให้เป็นเป้าหมายของจิต เช่นเพ่งดูอาการของกายนี้ มีเพ่งดูกระดูกหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในภายในกายนี้ โดยให้เห็นเป็นของปฏิกูลเป็นต้น หรือจะเพ่งดูเฉพาะแต่จิตอย่างเดียวก็ได้ เพราะจิตนี้เป็นของไม่เห็นด้วยตา ถ้าหากไม่ไปเพ่งดูในจุดใดจุดหนึ่งแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าจิตอยู่หรือไม่อยู่ จิตนี้ลักษณะเหมือนกับลม ลมนี้ถ้าไม่สัมผัสสิ่งต่างๆ ก็จะไม่รู้ว่าลมมีหรือไม่ จิตก็เช่นเดียวกัน ผู้อบรมใหม่ถ้าไม่มีเป้าหมายของจิตก็จะจับตัวจิตแท้ไม่ได้ แต่เป้าหมายคือนิมิตนั้น ขออย่าให้เป็นของภายนอกไปจากกายนี้ จงให้เป็นเป้าหมายคือนิมิตที่มีอยู่ในกายนี้ดังกล่าวแล้ว แลเมื่อจะเพ่งจงเพ่งเอาเฉพาะอย่างเดียวที่เห็นว่าเหมาะแก่นิสัยของเรา อย่าละโมบเอาอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้าง การเพ่ง ให้พิจารณาตามแนวแห่งสติปัฏฐาน คือ แยกแยะอาการออกจนให้เห็นเป็นแต่สักว่า มิใช่เรามิใช่ตัวตนของเรา การเพ่งพิจารณาที่จะเห็นได้ดังว่ามานี้ ทำได้ ๒ อย่าง คือ

  • ก. เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะในจุดเป้าหมายนั้น อย่าไปคำนึงว่าเป้าหมายนั้นเป็นอะไรและใครเป็นผู้เพ่งดู จงให้มีแต่ผู้รู้กับการเพ่งดูเท่านั้นไม่ให้มีความสำคัญมั่นหมายในอันใดทั้งหมด แล้วจะมีแต่สิ่งอันหนึ่งซึ่งมีอาการให้รู้สึกเป็นอารมณ์ติดอยู่กับเป้าหมายเท่านั้น
  • ข. เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะในจุดเป้าหมายนั้น ขณะเดียวกันให้ทำความรู้เท่าว่านั้นเป็นเป้าหมายของจิต นั่นเป็นจิตผู้พิจารณา นั้นเป็นสติผู้ระลึกตาม นั้นเป็นปัญญาผู้รู้ตามเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ

อาการทั้งสองนี้ใช้ได้เหมือนกัน แต่ข้อ ก. เหมาะสำหรับผู้มีปัญญาทึบแลฝึกหัดขั้นแรก ส่วนข้อ ข. เหมาะสำหรับผู้มีเชาว์ดีและชำนาญแล้ว ทั้งสองนี้ ถ้าผู้มาฝึกหัดอบรมอาศัยความไม่ประมาทแล้ว ก็จะได้รับผลอย่างเดียวกัน คือ ทำให้ได้สมาธิและปัญญา

07

๗. การอบรมจิตตามที่ได้แสดงมาแล้วนั้น จะโดยวิธีใดก็ตาม ขออย่าได้ลังเลใจว่าจะได้สมาธิและปัญญาหรือไม่ และให้ถอนความอยากตามคำข่าวเขาบอกเล่ากันมาต่างๆ นานานั้นเสีย แล้วทำให้ถูกตามแนวดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๖.นั้นก็พอ ในขณะเดียวกันให้สังเกตแนวทางที่เราได้ฝึกอบรมมานั้นว่า เราได้ยกอุบายและจิตขึ้นมาพิจารณาอย่างไรประคองสติไว้อย่างไร จิตของเราจึงได้เป็นอย่างนั้น หากทำอยู่อย่างนั้นแล้วจิตของเราปลอดโปร่งดี จงทำให้ได้เสมอให้ชำนาญ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นคือ ตรงกันข้ามแล้วก็ให้ใช้ความสังเกตดังกล่าวมาแล้ว แล้วให้รีบแก้ไขใหม่เสีย การสังเกตวิธีฝึกหัดจิตดังกล่าวมานี้ บางคนอาจสังเกตได้ไปพร้อมกันกับขณะจิตที่กำลังเป็นไปอยู่ก็ได้ แต่บางคนมาสังเกตเอาได้ตอนเมื่อจิตถอนออกมาแล้วตั้งอยู่ ทั้งสองอย่างนี้ใช้ได้เหมือนกัน อาการย่อมเป็นไปตามเชาวน์ของแต่ละบุคคล แต่ถ้าไม่ใช้ความสังเกตเสียเลย การฝึกหัดจิตเป็นไปได้ยาก ถึงเป็นไปได้แล้วก็ยากที่จะรักษาให้ถาวรไว้ได้

08

๘. ขณะที่เรากำลังฝึกหัดจิตอยู่นั้น อาจมีสิ่งอันหนึ่งซึ่งเป็นของแปลกและน่าอัศจรรย์เกิดขึ้นด้วย โดยที่เรามิได้ตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นไปได้

สิ่งนั้นก็คือจิตจะถอนเสียจากอารมณ์ภายนอก แล้วมารวมเข้าเป็นก้อนอันหนึ่งอันเดียวกัน ปล่อยวางสัญญาความจำและความยึดถือในสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วในอดีตหรืออนาคต จะมีปรากฏอยู่แต่ผู้รู้ ซึ่งเป็นคู่กันกับอารมณ์อันหนึ่งอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และเป็นของที่มิใช่อยู่ภายนอกและภายใน แต่เป็นสภาพที่มีเครื่องหมายเฉพาะจิตต่างหาก คล้ายๆ กับเป็นการปฏิวัติเสียทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างนั้น คือ จิตเข้าสู่ภวังค์แล้ว ในขณะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นเรื่องของจิตโดยเฉพาะแต่ผู้เดียว ถึงแม้ชีพอันนี้จะยังเป็นไปอยู่ก็ตาม เมื่อจิตเข้าถึงชั้นนี้แล้ว จิตจะปล่อยวางความยึดถือกายนี้ทั้งหมด แล้วเข้าไปเสวยอารมณ์ของตนด้วยตนเองอยู่ต่างหาก ที่เรียกว่า ภพจิต ภพจิตนี้ยังมีขันธ์ ๕ อันละเอียดภายในครบบริบูรณ์อยู่ ฉะนั้น จิตในชั้นนี้จึงยังมีภพมีชาติทำให้ก่อเกิดต่อไปได้อีก

ลักษณะอาการอย่างที่ว่ามานี้ คล้ายคนนอนหลับฝันไป ฉะนั้น เรื่องจิตเข้าภวังค์อันเกิดจากการฝึกหัดดังกล่าวนี้ จะมีอาการต่างกันอยู่บ้าง ก็ตรงที่มีสติมากน้อยกว่ากันเท่านั้น ผู้มีสติมีเชาว์ดีเมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ ก็มีสติรู้ตัวอยู่ว่า เราเป็นอะไรเห็นอะไร ไม่ตื่นตกใจ ถ้าผู้มีสติน้อยมักหลงเชื่อง่าย จะเหมือนคนนอนหลับแล้วฝันไป เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาอาจตกใจก็ได้ หรือหลงเชื่อในนิมิตนั้นๆ แต่เมื่อฝึกหัดอบรมให้เป็นบ่อยๆ จนชำนาญแล้ว สติจะดีขึ้น อาการเหล่านั้นจะหายไป แล้วจะค่อยเกิดปัญญาพิจารณาเหตุปัจจัยในธรรมนั้นๆ ให้รู้แจ้งเห็นสภาพธรรมตามเป็นจริงอย่างไร

09

๙. ลักษณะอาการดังที่อธิบายมาแล้วในข้อ ๘ นั้น ถึงแม้จะไม่ทำให้เกิดปัญญาฉลาดคิดค้นในเหตุผลอะไรให้กว้างขวางก็ตาม แต่มันเป็นบุพภาคเบื้องต้นของการฝึกหัดอบรมจิต เป็นเครื่องระงับนิวรณ์ ๕ ได้ และให้เกิดความสงบสุขในปัจจุบันด้วย ถ้าหากการฝึกหัดอบรมนั้นได้ถูกต้องแล้วไม่เสื่อม ยังจะเป็นไปเพื่อสุคติในสัมปรายภพเบื้องหน้า โดยควรแก่ฐานะของตนๆ อีกด้วย

อนึ่ง ภาพและนิมิตต่างๆ เมื่อจะเกิดขึ้นก็มักเกิดขึ้นในระหว่างขณะจิตที่กล่าวนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อจิตเข้าถึงขั้นนั้นแล้ว จะต้องมีภาพและนิมิตเกิดขึ้นทุกครั้งหรือทุกคนไป บางคนบางครั้งก็เกิด บางคนบางครั้งก็ไม่เกิด เรื่องนี้แล้วแต่บุคคลและเหตุการณ์อีกเหมือนกัน แท้จริงภาพและนิมิตที่เกิดในภาวนานั้น ถ้าจะว่าเป็นของดีก็ดีเฉพาะผู้มีสติฉลาดในภาพนิมิต เห็นแล้วไม่หลงเข้าไปยึดเอาภาพนิมิตนั้นมาเป็นตนเป็นของๆ ตนจริงจัง เห็นภาพนิมิตเป็นแต่สักว่าภาพนิมิต พอเป็นเครื่องใช้เครื่องอยู่เท่านั้น แล้วก็ปล่อยวางเสีย ถ้าเป็นผู้ไม่ฉลาด สติไม่ค่อยดี ทั้งเป็นคนศรัทธาจริตอีกด้วยแล้ว เมื่อภาพนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีความตื่นเต้นมาก อาจหลงลืมตัวจนกลายเป็นคนวิกลจริตไปก็ได้ เพราะเข้าใจว่าภาพนิมิตนั้นเป็นของจริงของจังไป (เรื่องแก้ภาพนิมิตจะได้นำไปอธิบายในข้อ ๑๑ ข้างหน้า)

นอกจากนี้แล้ว ความเห็นของผู้ฝึกหัดจิตมาถึงขั้นนี้แล้ว มักจะมีหัวรุนแรงด้วยอำนาจพลังงานของจิต คือ เมื่อคิดอย่างไรแล้วมักจะเห็นไปหน้าเดียว ไม่ยอมเชื่อคนอื่นง่ายๆ เพราะถือว่าความเห็นของตนเหตุผลควรเชื่อได้ ทั้งๆ ที่ความเห็นอันนั้นเป็นความเห็นเข้าตัว ยังขาดเหตุผลอยู่มาก จึงมักเกิดวิปลาสเห็นผิดได้ง่าย ถึงอย่างไรภาพและนิมิตจะเกิดหรือไม่ก็ตาม นั่นมิใช่สิ่งที่ต้องการที่แท้จริงในที่นี้ เพราะภาพและนิมิตนอกจากจะเป็นอุปกิเลสเครื่องปกปิดปัญญาแล้ว ยังเป็นอุปสรรคแก่การที่จะเจริญวิปัสสนาอีกด้วย ความประสงค์ในการฝึกหัดอบรมจิตนี้ก็เพื่อละนิวรณ์ ๕ แล้วพิจารณาขันธ์ให้ชัดแจ้งเห็นตามเป็นจริงจนเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดแล้วปล่อยวางได้ ไม่เข้าไปยึดถือในขันธ์ต่อไปอีก

10

๑๐. เมื่อจิตอบรมให้ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในฌาน สมาธิ จนระงับนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว พึงเจริญวิปัสสนาต่อ

วิปัสสนานี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับขณะที่กำลังเจริญสมถะอยู่ก็ได้ คือขณะที่จิตกำลังเจริญสมถะอยู่นั้น ปัญญาอาจเกิดแสงสว่างรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาว่า สรรพสังขารทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาแล้วนี้ทั้งหมดย่อมแตกดับสลายไป ทนอยู่ไม่ได้ มิใช่เรามิใช่ตัวตนของเรา เป็นแต่สภาพธรรมอันหนึ่งของมันต่างหาก มันเกิดขึ้นมาแล้วก็แตกสลายดับไปตามสภาพของมัน เมื่อความรู้เกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว ก็จะทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสรรพสังขารทั้งปวง จะมีแต่ความสลดสังเวชในที่นั้นๆ เป็นเครื่องอยู่ ไม่ว่าจะได้เห็นได้ยินอะไรๆ ในที่ไหนๆ ก็จะมีอาการอย่างนั้นตลอดไปนี่เรียกว่า วิปัสสนาเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการเจริญสมถะ

แต่ถ้าไม่เกิดอย่างนั้น เมื่อเจริญสมถะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่ดีแล้ว พึงยกเอากายวัตถุส่วนใดส่วนหนึ่ง มีกระดูกหรือไส้ใหญ่ไส้น้อย เป็นต้น หรือจะยกเอาอารมณ์ ที่จิตกำลังคิดข้องอยู่ในขณะนั้นก็ได้ ขึ้นมาพิจารณาว่าสิ่งนั้นทั้งหมด ที่จิตเข้าไปยึดถือว่าเป็นของเที่ยงจริงจัง ยังประโยชน์ให้เกิดความสุขแก่ตนโดยแท้นั้น แต่ความจริงแล้วสรรพสังขารทั้งปวงล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสภาพของพระไตรลักษณ์ทั้งนั้นที่เราสมมุติบัญญัติว่าสิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ตามมโนภาพของตนนั้น ไม่เป็นของจริงสักอย่าง แต่สรรพสังขารทั้งปวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยของมันเอง (คืออวิชชา ตัณหา อุปาทานและกรรม) เมื่อเหตุปัจจัยของมันหมดแล้ว มันก็ดับไปตามสภาพของมันเองไม่มีใครบังคับให้มันดับ แม้อัตภาพร่างกายตัวตนของเราที่เราอาศัยอยู่นี้ก็ดี ที่เป็นอยู่ได้ก็เพราะเหตุปัจจัยมีลมและอาหาร เป็นต้น ถ้าของเหล่านี้หมดไปแล้ว ก็หาได้มีความหมายอะไรไม่

เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้อาศัยอำนาจความสงบของจิตเต็มที่แล้ว ต่อจากนั้นก็จะถึงจุดหมายปลายทางแห่งการฝึกหัดอบรมจิต คือ จะเกิดแสงสว่างแห่งปัญญาอันประกอบด้วยเหตุผล ที่จิตคิดค้นแล้วเกิดขึ้น โดยเฉพาะของตนเอง มิได้ถือเอาตามสัญญาคือความทรงจำจากบุคคลอื่น มาเป็นความรู้ของตนแต่เป็นของเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเฉพาะภายในของตนเอง แล้วจิตก็จะไม่หลงเข้าไปยึดมั่นกำหนัด ยินดียินร้ายในสรรพสังขารธรรมทั้งปวงต่อไปอีก

อนึ่ง หากจะพูดว่า ถ้าจิตไม่รู้แจ้งเห็นจริงในกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นแล้ว จิตก็ยังรวมไม่ได้จริง แต่ที่ยังไม่เรียกว่าวิปัสสนาก่อนนั้น เพราะปัญญายังอ่อนด้วยเหตุผลและขาดความรอบคอบอยู่

(สรุปความ)

สรุปความตามนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การชำระกาย วาจา ต้องใช้วิธีอบรมให้มีศีลเป็นขั้นแรก การชำระจิตให้บริสุทธิ์ต้องฝึกหัดอบรมให้ได้ ฌาน สมาธิ (สมถะ) จนจิตมีพลังกล้าแข็งระงับนิวรณ์ ๕ ได้ เมื่อจิตได้ฌาน สมาธิ ชำนาญคล่องแคล่วในการ เข้า ออก และตั้งอยู่เป็นต้น ได้ตามประสงค์แล้ว แต่นั้นปัญญาคือแสงสว่างความรู้ตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรมทั้งหลาย ก็จะเกิดขึ้นพร้อมด้วยเหตุปัจจัยแห่งความเกิดและความดับของสภาวธรรมนั้นๆ อย่างน่าอัศจรรย์

ความรู้ดังที่ว่ามานี้อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะบางกรณีและบุคคลก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้มาฝึกหัดอบรมจิตของตนเข้าถึงขั้นนี้แล้ว พึงทำความรู้เท่าว่า จิตเข้าถึงขั้นนี้แล้วสมควรจะได้อบรมให้เกิดปัญญาวิปัสสนาแล้ว แล้วพึงยกเอากายวัตถุหรืออารมณ์ของจิตที่ข้องอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมาพิจารณาโดยอาศัยพระไตรลักษณญาณเป็นหลัก ดังอธิบายมาแล้วในเบื้องต้นนั้น ก็จะได้ดวงปัญญาแสงสว่างเห็นแจ้งชัด ในสรรพสังขารธรรมทั้งปวงเช่นเดียวกัน แล้วจะถอนเสียซึ่งความยึดถือในรูปนามทั้งปวงได้

(จิต)

จิตนี้ถึงแม้จะไม่มีตัวตนและถูกต้องไม่ได้ แต่จิตก็มีอิทธิพลเหนือกายและสิ่งทั้งหลายในโลก สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ให้อยู่ใต้อิทธิพลของตนได้ แต่จิตนี้ก็มิใช่โหดร้ายสามานย์จนไม่รู้จักดีรู้จักชั่วเสียเลย เมื่อผู้มีความปรารถนาดี มาฝึกหัดอบรมจิตนี้ให้เข้าถูกทางตามคำสอนของพระพุทธเจ้าดังแสดงมาแล้ว จิตนี้ยังจะเชื่องง่าย ฉลาดเร็วมีปัญญาพาเอากายที่ประพฤติเหลวไหลอยู่แล้วให้กลับดีได้ นอกจากนี้ยังสามารถจะชำระจิตของตนให้ผ่องใสสะอาดปราศจากมลทิน รู้แจ้งเห็นจริงในอรรถธรรมอันลึกซึ้งสุขุมได้ด้วยตนเองด้วย พร้อมกันนั้นจะสามารถนำเอาโลกนี้อันอันธการปกปิดให้มืดตื้ออยู่แล้ว ให้สว่างแจ่มจ้าได้ด้วย เพราะเนื้อแท้ของจิตแล้วเป็นของสว่างแจ่มใสมาแต่เดิม แต่เพราะอาศัยอารมณ์ของจิตที่แทรกซึมเข้ามาปกปิด จึงได้ทำให้แสงสว่างของจิตนั้นมืดมิดไปชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็พลอยทำให้โลกนี้มืดมิดไปด้วย หากจิตนี้เป็นของมืดมิดมาแต่กำเนิดแล้ว คงไม่มีคนใดใครจะสามารถชำระจิตนี้ให้ใสสะอาดเกิดปัญญาแสงสว่างขึ้นมาได้

ฉะนั้น โลกนี้จะมืดหรือจะสว่าง จะได้รับความสุขหรือความทุกข์ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละบุคคล บุคคลจึงควรฝึกหัดจิตของตนๆ ให้ดีเสียก่อนแล้วจึงฝึกหัดจิตของคนอื่น โลกนี้จึงจะไม่มีความยุ่งต่อไป

11

๑๑. เรื่องภาพและนิมิตซึ่งเกิดจากการฝึกหัดอบรมของผู้ทำการภาวนานั้นเป็นของแปลกน่าพิศวงอย่างหนึ่ง อาจทำให้ผู้มีปัญญาเบาเชื่อง่ายหลงเข้าไปยึดเอาเป็นจริงเป็นจังจนลืมตัวเสียสติไปก็ได้ ฉะนั้น ผู้อบรมฝึกหัดภาวนากรรมฐานจึงควรระวังแลตรวจตรองตาม ดังข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไปนี้

นิมิตเกิดจากภาวนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ

ก. ภาพ
ข. นิมิต

ก. ภาพ ที่ปรากฏเป็นรูปขึ้นมา เช่น ผู้มาเพ่งพิจารณาร่างกายของตน ให้เห็นเป็นอสุภะอยู่ เมื่อจิตรวมเข้าเป็นภวังค์แล้ว บางครั้งอาจเห็นร่างกายที่เราเพ่งพิจารณาอยู่นั้นเป็นอสุภะเปื่อยเน่าไปทั้งหมด หรือเห็นเป็นแต่สักว่าโครงกระดูก หรือเป็นกองขี้เถ้าไปเป็นต้น จนเป็นเหตุให้เบื่อหน่ายฆ่าตัวตายเสียก็มี บางครั้งอาจเห็นเป็นภาพเทวดา อินทร์ พรหม นรก และเปรตภูติผีไปก็มี

ข. นิมิต นั้นเมื่อจิตรวมเข้าดังนั้นแล้ว อาจปรากฏมีเสียงกระซิบบอกอาจเป็นเสียงบุคคลที่เราเคารพนับถือ เตือนให้เราพิจารณาธรรมหรือให้ระวังเหตุการณ์ก็ได้ มิเช่นนั้นอาจเป็นเสียงของศัตรูผู้มุ่งร้ายซึ่งก่อนหน้าเขาจะมาทำอันตรายเราก็ได้ ซึ่งแสดงถึงกระแสของจิตอันเกี่ยวเนื่องกัน ตรงกันข้ามผู้หวังดีต่อเราก็เช่นเดียวกัน บางทีก็เป็นเสียงลอยๆ ขึ้นมาซึ่งแสดงถึงอรรถธรรมที่น่าคิดน่าพิจารณาตามสำนวนของนักภาวนาที่รู้ทั่วกันว่า ธรรมเป็นเครื่องส่อแสดงเตือนหรืออภิญญาณ

(ฌานเป็นโลกิยะ)

ภาพ-นิมิต นี้ มิใช่จะเกิดแก่นักภาวนากรรมฐานทั่วไปทั้งหมดก็หาไม่ บางคนจิตจะรวมละเอียดสักเท่าไรๆ ภาพ-นิมิตก็ไม่ปรากฏ บางคนจิตรวมวูบลงพักเดียว ภาพ-นิมิตปรากฏแยะ (ระวังอย่าแต่งให้มันแยะนัก) ทั้งนี้เป็นเพราะนิสัยบางคน ผู้มีนิสัยเชื่อง่ายไม่ค่อยนึกถึงเหตุผล ภาพ-นิมิตมักเกิดเร็วและมักขยายตัวเกินขอบเขต จนเป็นเหตุให้ลืมตัวลืมสติเสียปกติคนไปก็มี จึงเป็นของควรระวัง

ภาพ-นิมิต เป็นของจริงไหม แก้ว่าเป็นของจริงก็มี ไม่จริงก็มี เพราะภาพ-นิมิตเหล่านั้นเกิดจากฌานทั้งนั้น ฌานนั้นเป็นโลกียะจึงไม่แน่นอน คือ ผู้มาอบรมภาวนากรรมฐานเมื่อจิตรวมเข้าถึงภวังค์เป็นฌานแล้วเจ้าตัวก็ไม่รู้จิตของเราเข้าถึงอะไร ตั้งอยู่ภูมิไหนและกำหนดพิจารณา-วางอารมณ์ของตนอย่างไร ภาพ-นิมิตเกิดขึ้นเพราะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ภาพ-นิมิตนั้นยังกอปรด้วยสังขาร อุปาทานอยู่เป็นอันมาก จึงไม่แน่นอน เพราะภาพนิมิตที่เกิดในภวังค์นั้นอุปมาเหมือนคนนอนหลับหรือเคลิ้มไปแล้วก็ฝันไป ฉะนั้น โดยมากเมื่อเกิดครั้งแรกๆ มักจะเป็นจริงอยู่บ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

ฌานเป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตตระ แก้ว่าองค์ฌานมีเพียง ๑๒-๑๓ เท่านั้นและเป็นโลกิยะล้วน แต่ถ้าท่านผู้เข้าฌานเป็นพระอริยเจ้า เอาฌานนั้นเป็นเครื่องมือเป็นเครื่องอยู่ ย่อมสามารถใช้ฌานที่เป็นโลกิยะนั้นได้ตามปรารถนาและแน่นอนด้วยเหมือนคนชำนาญยิงปืนแม่น กับคนหัดยิงปืนใหม่ๆ ฉะนั้น เหมือนพระราชาทรงพระขรรค์ แต่สามัญชนถือดาบฉะนั้น

ภาพ-นิมิตเป็นของดีไหม แก้ว่าดีเฉพาะผู้ที่ใช้เป็น ใช้ให้ถูกทางตามที่เหมาะที่ควรและไม่หลงติดอยู่ในภาพ-นิมิตนั้น ไม่ดีแก่ผู้ที่ใช้ไม่เป็น ไม่ถูกจนเป็นเหตุให้หลงเข้าไปยึดเอาภาพนิมิตนั้นมาเป็นจริงเป็นจังไป เมื่ออุปาทานเข้าไปยึดแล้ว สังขารก็ย่อมขยายภาพ-นิมิตนั้นให้กว้างขวางออกไปจนทำให้ผู้ฝึกหัดภาวนากรรมฐานไม่สามารยับยั้งสติไว้ได้ ฉะนั้น จึงควรสำรวมระวังในภาพ-นิมิตดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

ภาพ-นิมิต เกิดขึ้นด้วยอำนาจของโลกิยฌาน และมีสังขารอุปาทานเป็นที่ดำเนิน ฉะนั้นภาพ-นิมิตนั้นจึงตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ คือ เป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตนของเราและของใครๆ ทั้งหมด เป็นอนัตตา เป็นสภาพของเกิดดับอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ควรพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงดังนี้ แล้วปล่อยวางเสีย อย่าหลงเข้าไปยึดถือภาพ-นิมิตอันเป็นแต่ปลายเหตุ พึงฝึกหัดต้นเหตุคือ ฌาน ให้ชำนาญเข้าให้ได้เสมอๆ ตามปรารถนาแล้วภาพ-นิมิตก็เกิดเอง อนึ่ง พึงให้เห็นโทษของภาพ-นิมิต ว่า เมื่อภาพ-นิมิตเกิดขึ้นแล้วเราจะเพลินหลงไปยึดเอาภาพ-นิมิตนั้น แล้วฌานของเราก็จะเสื่อมเสีย อุปมาเหมือนคลื่นเสียงย่อมเป็นอุปสรรคแก่ผู้ทำความสงบและคิดค้นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง มิฉะนั้นเหมือนคลื่นในน้ำใส ย่อมทำไม่ให้เรามองเห็นเงาในน้ำได้ ฉะนั้น

ภาพ-นิมิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกหัดอบรมภาวนาได้ฌานใหม่ๆ แล้วจะเป็นของแปลกและน่าอัศจรรย์มาก สังขาร-อุปาทานย่อมเข้าไปยึดอย่างเหนียวแน่น ภาพ-นิมิตนั้นจะเข้าไปประทับติดอยู่กับตา (ตาใน) กับใจตลอดเวลา หากแก้ไขละถอนโดยอุบายดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล พึงพยายามอย่าให้จิตเข้าถึงฌานได้ คือ ไม่เอาใจใส่ ไม่ให้จิตสงบ ไม่ยินดีชอบใจกับภาพ-นิมิตนั้น ให้กินอยู่หลับนอนสบายๆ ประกอบภารกิจอื่นๆ ให้มากๆ จนทำให้ร่างกายได้รับความเหน็ดเหนื่อยมากๆ คิดนึกส่งไปในอารมณ์ที่จะให้เกิดกิเลส เช่น ส่งไปในรูปที่สวยๆ เสียงที่เพราะๆ จนให้จิตเกิดความกำหนัดรักใคร่เป็นต้น เมื่อจิตเสื่อมถอนจากฌานแล้ว ภาพ-นิมิตทั้งหลายก็จะหายไปเอง เมื่อลูกศิษย์แก้ตนเองไม่ได้ดังแสดงมานี้ อาจารย์ก็ควรเข้าช่วยแก้ในทำนองเดียวกันนั้นทางที่ดีและแก้ได้ผลเร็วที่สุด อาจารย์ควรหาเรื่องยุให้ผู้ซึ่งติดในภาพ-นิมิตนั้น เสื่อมจากฌานนั้นหรือเกิดความโกรธอย่างร้ายแรง ภาพนิมิตนั้นจะหายทันที

(อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ)

ที่ตั้งอันจะให้เกิดความรู้ในอรรถธรรมคืออุปจารสมาธิ มี ๒ อย่าง

ก. ภาวนานิกทั้งหลายมาเจริญภาวนากรรมฐานบทใดบทหนึ่งอยู่ จิตจะค่อยสงบจากอารมณ์ภายนอกแล้วเข้ามารวมอยู่เฉพาะ ณ ที่จิตแห่งเดียวแต่ไม่ขาดจากอารมณ์ทั้งหมด มีความรู้สึกนึกคิดตริตรอง พยายามจะละถอนอารมณ์ที่ละเอียดๆ นั้นได้อยู่ แต่ยังละไม่ได้เด็ดขาด นี่อุปจาระก่อนถึงอัปปนา

ข. จิตละเอียดลงไปจนละถอนอารมณ์ที่พิจารณาอยู่นั้น ให้ขาดหายไปหมด แม้แต่ลมที่หายใจออก หายใจเข้าอยู่นั้นก็ไม่ปรากฏ ที่เรียกว่า อัปปนา แต่มีสติเต็มที่อยู่ด้วยความว่างเปล่า ซึ่งไม่ยึดถือเอาอารมณ์ภายนอก มาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวแต่มันเสวยอารมณ์ภายในของมันเองเฉพาะต่างหาก เมื่อจิตถอนออกจากนั้นแล้ว มาเพ่งพิจารณาอารมณ์และเหตุผลอรรถธรรมทั้งหลายอยู่ นี่อุปจาระออกจากอัปปนามาแล้ว

ทั้งสองนี้ย่อมเป็นบทฐานที่ตั้งแห่งความรู้อรรถธรรมและเหตุการณ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผิดแปลกจากความรู้อันเกิดจากภาพ-นิมิตดังกล่าวแล้วข้างต้น เพราะภาพ-นิมิตเกิดจากโลกิยฌานจึงได้ผลไม่แน่นอน ส่วนความรู้ที่กล่าวถึงอยู่นี้ ถึงแม้จะเกิดจากโลกิยสมาธิก็ได้ผลแน่นอน (นักวิทยาศาสตร์เขาใช้ภูมินี้เป็นเครื่องคิดค้น) ถ้าเป็นโลกุตตรสมาธิแล้วย่อมทำให้สิ้นอาสวะเป็นขั้นๆไป

รวมความแล้วความรู้อันเกิดจากภาพ-นิมิต กับความรู้อันเกิดจากอุปจารสมาธิย่อมผิดกันทั้งคุณค่าและพื้นฐานที่เกิดดังกล่าวแล้ว

ข้อที่ควรอธิบายเพิ่มเติมในที่นี้ ก็คือ อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิเป็นโลกุตตระ โดยมากผู้เข้าอัปปนามักกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์อยู่ เมื่อเพ่งลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์อยู่ มาเห็นความเกิดความดับหรือเห็นเฉพาะแต่ความดับอย่างเดียวแล้ว จิตนั้นจะค่อยละเอียดเข้า จนถอนวางอารมณ์ทั้งปวงโดยลำดับ แล้วรวมเข้าเป็นอัปปนาดังกล่าวแล้ว อัปปนานี้มีการระงับลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องวัด บางทีท่านเรียกว่า “อัปปนาฌาน” เพราะมาเพ่งเอาลมหายใจเป็นอารมณ์

ที่เรียกว่า “อัปปนาสมาธิ” เพราะเมื่อจิตรวมเข้าถึง ณ ที่นั้นแล้วไม่มีลมหายใจเข้าออกแต่ยังมีสติไพบูลย์อยู่เต็มที่ แล้วจะพิจารณาอะไรไม่ได้ทั้งหมด เพราะจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ต่อเมื่อจิตถอนออกมาตั้งอยู่ในอุปจาระดังกล่าวแล้วจึงพิจารณาอะไรได้ แล้วรู้แจ้งเห็นชัดในสัพพเญยยธรรมทั้งปวงตลอดถึงการอื่นๆ อีกด้วย และไม่มีภาพ-นิมิตดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น แต่เป็นความรู้ที่มีเหตุผลเป็นหลักฐาน มีอุปมาอุปไมยให้หายความสงสัยโดนสิ้นเชิง

อัปปนาฌานนี้ บางทีภาวนานิกพิจารณากรรมฐานบทอื่นๆ เป็นอารมณ์อยู่ จิตก็สามารถรวมเข้าถึงอัปปนาฌานได้เหมือนกันกับอานาปานสติ เพราะเพ่งเอาลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ แต่ยังไม่เข้าถึงอัปปนาฌาน ต่อเมื่อจิตรวมจนหมดลมหายใจเข้าออกแล้ว จึงเรียกว่า อัปปนาฌาน

นี่เป็นทรรศนะของข้าพเจ้า ภาวนานิกทั้งหลายไม่ควรถือเอาทรรศนะของข้าพเจ้าเป็นประมาณ เพราะความคิดความเห็นของคนทั้งหลายในโลกนี้ ถึงแม้จะรู้เห็นของอย่างเดียวกัน ในโอกาสที่แห่งเดียวกันก็ตาม อาจจะเข้าใจหรือสมมติเรียกชื่อของนั้นต่างกันก็ได้ อันเป็นเหตุให้เกิดความวิวาทโต้เถียงกันไม่มีที่สิ้นสุด แต่ขอให้ทุกๆ คนพากันฝึกอบรมภาวนากรรมฐานของตนๆ ให้เข้าถึงอัปปนาดังกล่าวแล้ว แล้วให้เทียบกับบัญญัติตำราที่ท่านแสดงไว้ในที่หลายแห่งด้วยจิตเป็นธรรม อย่าให้มีอคติก็จะเป็นปัจจัตตังตั้งขึ้นมาเฉพาะตนเอง นั่นแลเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าประสงค์ในที่นี้

บทส่งท้าย

โลกุตตรธรรมทั้งหลาย ย่อมตั้งอยู่บนรากฐานแห่งโลกิยธรรมทั้งปวง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งจัดเป็นโลกุตตระล้วนๆ ต้องขึ้นต้นที่รูปนาม คือ กาย อันเป็นโลกิยะนี้ก่อน ภาพ-นิมิตและความรู้ความเห็นต่างๆ อันเกิดจากฌาน ย่อมเป็นอุปสรรคแก่ผู้มีตาข้างเดียว (คือเจริญฌานอยู่) แต่เป็นเหตุให้เจริญปัญญาแก่ผู้มีตาสองข้าง (คือเจริญสมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องประกอบ)

ดาบและขวานแต่ละเล่มทั้งสันและคม เขาทำไว้ใช้งานแต่ละอย่างต่างกัน แต่บุคคลใช้งานไม่ถูกตามหน้าที่ของมัน นอกจากจะไม่สำเร็จประโยชน์แล้ว อาจเป็นอันตรายแก่งานหรือบุคคลผู้ใช้ก็ได้

วิปัสสนูและวิปัสสนา ก็เกิดจากฐานอันเดียวกันนั่นเอง เมื่อผู้ไม่มีปัญญาพิจารณาไม่ถูกก็เป็นวิปัสสนูปกิเลสไป แต่เมื่อพิจารณาถูกโดยใช้โยนิโสมนสิการ ก็กลายเป็นวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี

โลกิยะเมื่อพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นเหตุตามเป็นจริงของโลก แล้วเห็นโทษเบื่อหน่ายไม่หลงเข้าไปยึดถือติดอยู่ก็กลายเป็นธรรมไป แต่เมื่อหลงเข้าไปยึดถือติดแน่น ไม่ยอมปล่อยวางแล้ว โลกนั้นมิใช่จะเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไปก็หาไม่ พรหมโลกอาจถอยลงมาเป็นเทวโลกก็ได้ เทวโลกอาจถอยลงมาเป็นมนุษยโลกก็ได้ มนุษยโลกอาจถอยลงมาเป็นอบายโลกก็ได้

ของเหลวย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำฉันใด จิตใจของสัตว์ทั้งหลายก็ย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ (คือความชั่ว) ได้ง่ายฉันนั้น การฝึกหัดอบรมภาวนากรรมฐาน ถึงแม้จะเป็นการปฏิวัติตนเองก็ตาม แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมเสี่ยงชีวิต อย่างน้อยถ้าไม่สำเร็จต้องหวังเนรเทศตนเอง ผู้ที่มิได้ตั้งปณิธานไว้อย่างนั้นต้องมีหวังเป็นข้าทาสของเขา (คือกิเลส) ตลอดกาล

[จบ มรรควิถี: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี]