อัตตโนประวัติ 02
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
[หน้า 02 จาก 09]
ประวัติของบิดามารดา
มาตอนนี้ เราอดที่กล่าวถึงประวัติของบิดามารดาไม่ได้ เพราะเราระลึกถึงพระคุณของท่านทั้งสองมากเป็นพิเศษ เกี่ยวกับในระยะนี้ท่านอบรมเราในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรมมาก แล้วก็ดูเหมือนท่านจะรักเรามากเป็นพิเศษอีกด้วย พร้อมกันนั้นท่านก็เคยเล่าประวัติชีวิตผจญภัยของท่านทั้งสองมาให้ฟังโดยละเอียด เราได้ฟังแล้วทำให้เศร้าใจและเกิดความสงสารท่านมาก
ดังได้กล่าวแล้วในข้างต้น บิดามารดาของเราทั้งสองเป็นชาวอพยพ และกำพร้าพ่อด้วยกันทั้งสอง โยมพ่อนั้นภูมิลำเนาเดิมอยู่บนที่สูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้พากันอพยพหนีความอดอยากแร้นแค้นลงมาสู่ที่ลุ่ม เพราะมีคนเขาไปเล่าให้ฟังว่า ทางเมืองหนองคายข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มาก ถิ่นเดิมนั้น ถึงแม้จะมีอาชีพทำนาก็ไม่พอกิน เพราะพื้นที่เป็นภูเขามาก ต้องทำไร่ตามดอยเพิ่มอีก แล้วก็ทำกันมากๆ เสียด้วย
โยมพ่อเราเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านกำพร้าพ่อ ต้องพาน้อง ๔ ชีวิตกับแม่อีกหนึ่งคนทำงานหาเลี้ยงกัน ทำไร่กว้างจนสุดลูกตา ไร่ไม่ต้องทำห้างนา รับประทานข้าวกลางแจ้ง เพราะกลัวน้องๆ กินแล้วจะขี้เกียจไม่ลงทำงาน ถึงขนาดนั้นถ้าปีไหนฟ้าแล้งฝนไม่ดี ก็ยังไม่พอรับประทานเลย บางครอบครัวอดข้าว รับประทานลูกมะก่อแทนข้าวพอประทังชีวิตไปตั้งเป็นเดือนก็มี
การอพยพลงมาครั้งนี้มีน้อง ๔ คน กับแม่อีกคน คือ นางบุญมา ๑ นายกัณหา เรี่ยวแรง ๑ นายเชียงอินทร์ เรี่ยวแรง ๑ นางแตงอ่อน ๑ นอกจากนี้ยังมีญาติๆ แลผู้สมัครใจมาด้วยกันอีกเป็นอันมาก การอพยพจะต้องผ่านภูเขาสูงๆ เช่น ภูฟ้า ภูหลวง และป่าดงทึบ มาเป็นลำดับ ผู้มีช้างมีต่างเป็นพาหนะก็ค่อยยังชั่วหน่อย ผู้ไม่มีอะไรนั้นสิใช้บ่า แรงของใครของมันเป็นพาหนะหาบหาม กว่าจะถึงบ้านนางิ้ว ก็กินเวลานานกว่าอาทิตย์ เมื่อมาถึงครั้งแรกได้มาตั้งที่พักลงที่ริมหนองปลา ที่หนองเต่าเลย แล้วภายหลังจึงได้ย้ายมาอยู่ ณ บ้านนางิ้ว จนกระทั่งบัดนี้
ฝ่ายโยมแม่ เป็นชาวพวนซึ่งทัพไทยกวาดต้อนมาจากประเทศลาวสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วได้เอาไปปล่อยทิ้งไว้เขตอุตรดิตถ์ จึงได้ตั้งรกรากลงที่เมืองฝาง (ปัจจุบันเป็นตำบล) อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มารดาของเราเคยเล่าว่า
“แม่ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่ออพยพลงมาจากเมืองเชียงขวาง ยังเป็นเด็กอยู่มากเดินไม่ไหว ผู้ใหญ่เอาท่านใส่กระบุงหาบคู่กับของ บุกป่า ข้ามห้วย หุบเขา มาเป็นลำดับ จนถึงเมืองฝาง ณ ที่นี้เอง ยายโตขึ้นแล้วได้แต่งงานจนมีลูกสองคน คือตัวท่านแลน้องชายอีกคนหนึ่ง ต่อมาพ่อก็ตายยังคงเหลือแต่สามแม่ลูก ในสมัยนั้นเกิดโจรขโมยอันธพาลเต็มบ้านเต็มเมือง เจ้าหน้าที่ก็อ่อนแอไม่สามารถจะปราบได้ สิ่งแวดล้อมมันทำให้คนดีๆ กลับเป็นคนเลวไปได้เหมือนกัน เชียงทอง ซึ่งเป็นคนพวกชาวอพยพนั้นเอง ก็เป็นนักเลงกับเขาไปด้วย จนอยู่บ้านไม่ติด ได้หนีเตลิดเปิดเปิงลงมาเที่ยวหลบภัยอยู่ทางแถวตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือนี้เอง เมื่อมาเห็นนิสัยใจคอและความสงบสุขของผู้คน พร้อมด้วยความอุดมสมบูรณ์ในอาชีพของคนถิ่นนี้แล้ว จึงได้กลับไปชักชวนเอาญาติๆ และพรรคพวกพากันอพยพลงมา”
การมาครั้งนี้โยมแม่เล่าให้ฟังว่า มาด้วยกันมาก ตั้งหลายสิบคน พากันเดินทางมาทางเพชรบูรณ์ แล้วเดินเรื่อยลงมาพักอยู่ที่วัดบ้ายห้วยพอด จังหวัดเลย ได้เกิดโรคไข้ทรพิษตายกันก็มาก ด้วยคุณงามความดีของชาวบ้านห้วยพอด ที่เอาใจใส่ช่วยเหลือยามขัดสน บางคนก็เลยตั้งหลักฐานอยู่ ณ ที่นั้นก็มี ส่วนคณะของเชียงทองได้เตลิดเลยลงมาจนถึงบ้านกลางใหญ่ โยมแม่ของเรามีสามแม่ลูก กับน้าผู้ชาย (น้องของโยมยาย) ได้อาศัยเพื่อนผู้ใหญ่เขามา คนเราคราวจะได้รับทุกข์อับจนมันหากมีอันเป็นไป เมื่อเดินทางมาด้วยกันดีๆ ไม่เคยมีปากเสียงอะไรกันเลย น้องชายโยมแม่ไปพบพ่อค้าชาวพม่าเข้า เลยติดตามเขาไปเฉยๆ จนกระทั่งบัดนี้ไม่ได้ทราบข่าวเป็นตายร้ายดีอย่างไรเลย
เมื่อมาถึงบ้านกลางแล้ว หมู่หนึ่งได้แยกย้ายลงไปอยู่บ้านนาบงภูเผด อำเภอโพนพิสัย น้าผู้ชายของโยมแม่ก็แยกตามเขาไปอีกคน คงยังเหลือแต่สองแม่ลูกกำพร้าพ่อ อยู่อาศัยเพื่อนร่วมทุกข์ผู้ใหญ่เขาต่อไป ภายหลังจึงได้มาพบเนื้อคู่โยมผู้ชาย รักและแต่งงานอยู่กินร่วมกัน ตั้งหลักฐานลง ณ ที่บ้านนาสีดา จนมีบุตรร่วมกันดังกล่าวแล้วข้างต้น
ส่วนยายก็ได้แต่งงานกับเชียงทอง ซึ่งมาด้วยกันแต่ทุ่งล่างอยู่ด้วยกันตามประสาคนแก่ แต่เคราะห์ร้ายมาถึงเข้า กิ่งไม้หักตกลงมาถูกศรีษะแตกเลยตาย เชียงทองคนนี้บาปกรรมของแกก็ไม่ดี บาปกรรมตามสนอง เมื่อยายตายแล้วแกยังได้ภรรยาคนใหม่ซึ่งเป็นคนอพยพหมู่เดียวกันนั้นเอง ต่อมาภรรยาคนใหม่นี้ก็มาผูกคอตนเองตายอีก แกจึงรู้ตัวว่าบาปกรรมแกมากจึงเข้าวัด นุ่งขาวรักษาศีล ๘ จนแก่ อายุราว ๑๐๐ ปี แต่ไม่ได้อยู่ที่วัด แกอยู่กับลูกหลานที่บ้านนั้นเอง จะไหว้พระสวดมนต์ ลูกหลานก็รำคาญหนวกหู ไหว้พระทีไรลูกก็เอ็ดเอา แก่มากแล้วไปไหนไม่ได้ กินแล้วก็บอกว่าไม่ได้กิน ลูกหลานรำคาญแช่งให้แกตายทุกวัน ส่วนแกก็แช่งลูกๆ หลานๆ ให้เป็นอย่างแกแลให้ฉิบหายด้วยประการต่างๆ นานา เป็นที่น่าทุเรศมาก คนเราทำความชั่วไว้แล้ว เมื่อตนยังไม่ตายความชั่วนั้นย่อมติดตามมาทัน เมื่ออยู่ในหมู่คนไม่ดี ไม่มีศีลธรรมด้วยแล้ว ย่อมทำคนหมู่มากพลอยเป็นบาปไปด้วย
ความทุกข์ของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด ปลดนี่แล้วไปติดโน่นอยู่อย่างนี้ร่ำไปตลอดชาติ ฉะนั้นผู้มีปัญญาท่านจึงเบื่อทุกข์ในโลกนี้ แล้วหาทางหนีจากทุกข์
เมื่อแม่ของท่านมาตายจากไป ก็พอได้อาศัยลูกๆ แลผัวเป็นที่พึ่ง การอาชีพก็พอเลี้ยงตัวคุ้ม ถึงแม้จะมีเงินเพียง ๖ บาท ติดกระเป๋า ก็ไม่เดือดร้อน เพราะสมัยนั้นข้าวปลาอาหารยังอุดมสมบูรณ์มาก เงินทองไม่จำเป็นต้องใช้ ทำแต่นาพอคุ้มกินไปเป็นปีๆ ทำมากไม่มียุ้งใส่ ถึงขนาดนั้นก็ยังมีข้าวเปลือกเหลือเป็นอันมาก
อยู่มาลูกชายที่สามมาตายลง ลูกชายคนนี้โยมพ่อรักมาก กลุ้มใจแทบจะเป็นบ้าตาย เพราะเขาเป็นคนฉลาด ช่างพูด แลพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ น่ารัก ว่านอนสอนง่าย รักพ่อแม่ เอาใจใส่ในคำสอนของพ่อแม่ ลูก ๖ คน กับเมียคนหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ ดูเหมือนไม่มีเหลืออยู่เสียเลย มองเห็นแต่ลูกคนที่ตายนั้นคนเดียว ความทุกข์กลุ้มรุมมืดมิดไปหมด
เมื่อนานวันมาฝ้าความมืดมิดแห่งความโศกค่อยสร่างลง แสงธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาจึงค่อยฉายส่องเข้าไปในหัวใจ พอให้เห็นทางบ้างพอรางๆ คิดว่าเมื่อห่างไกลจากกังวล คือ การบวช อาจระงับความโศกได้บ้าง อนึ่งเราบวชเพื่อแบ่งบุญไปสู่ลูกผู้ตาย เมื่อเขาได้รับส่วนบุญแล้วจะได้ไปเกิดในสุคติเป็นแน่แท้ โยมพ่อจึงได้ลาลูกเมียออกบวชอยู่ได้สองพรรษา การบวชในพระศาสนามิใช่จะทำให้คนผู้ได้รับความทุกข์แล้วหมดทุกข์ไปเลยทีเดียวก็หาไม่ เพราะทุกข์มันเกิดจากกิเลสภายในคนเราเกิดมาสะสมเอากิเลส อยู่ในโลกนี้จนภพชาติไม่ถ้วน ไม่ต้องไปแจงตัวกิเลสออกมานับละ แม้แต่ชั้นของกิเลสที่มันสะสมทับถมกันไว้ ก็ไม่ทราบกี่ชั้นแล้ว คนไม่มีปัญญาไม่สามารถจะขุดค้นเอากิเลสที่เนืองนองอยู่ในใจมาเผยแพร่ให้เห็นได้ จึงไม่สามารถที่จะทำลายให้หมดสิ้นได้ (แต่ก็ยังดี การได้บวชก็พอมองเห็นทางอยู่บ้าง)
เมื่อฝ้าของความโศกค่อยจางไป ความอาลัยในลูกตาดำๆ ๖ ชีวิต กับภรรยาผู้กำพร้าไร้ญาติขาดมิตรค่อยเคลื่อนเข้ามาสู่หัวใจ จึงได้ลาสิกขาออกมาครองเรือนอีก แต่ก็เป็นโชคดีของเราผู้มีอันจะต้องมาเกิดอีก เรากับน้องสาวของเราได้มาเกิดในเรือนร่างของท่านทั้งสอง ผู้ที่ท่านได้สร้างไว้ดีแล้ว (คือเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีงาม) เราเกิดมาแล้วก็ต้องภูมิใจว่า เราไม่เคยยอมแพ้ใครบางคนที่เกิดมาร่วมโลกด้วยกัน เมื่อเกิดมาแล้วก็พบแต่ศีลธรรมที่สุจริต แล้วก็ได้มาเจริญเติบโตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ในพระพุทธศาสนาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ที่เราปลาบปลื้มอย่างยิ่งก็คือ ถึงแม้เราจะไม่ได้เลี้ยงดูท่านทั้งสองเยี่ยงฆราวาสทั่วๆ ไป แต่เราก็ได้หล่อเลี้ยงน้ำใจของท่านด้วยการครองเพศพรหมจรรย์แลอบรมจิตใจท่านเป็นลำดับมาจนอวสานแห่งชีวิตของท่าน แล้วท่านทั้งสองก็ดูเหมือนจะไม่ผิดหวังในการเลี้ยงเรามา เพราะเราได้ทำหน้าที่ของอุตมบุตรอย่างเต็มที่แล้ว กล่าวคือ เราได้อบรมฝึกหัดทางด้านศีลธรรม ซึ่งท่านทั้งสองได้ปฏิบัติอยู่แล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ที่เราภูมิใจอย่างยิ่งก็คือ เราได้ให้สติและคติโยมบิดาในด้านภาวนากัมมัฏฐานจนในวันอวสานแห่งชีวิตของท่าน และตัวท่านเองก็ยินดีแลยอมรับเอาอุบายของเราไว้ปฏิบัติตาม จนเห็นผลชัดแจ้งด้วยใจของตนเอง จนท่านรับและอุทานออกมาว่าในชีวิตนี้ ๗๕ ปีมาแล้ว ไม่เคยได้รับความสงบสุขอย่างนี้เลย
ที่เราดีใจแสนจะดีใจ ก็คือเราได้อบรมโยมแม่จนตลอดกาลอวสานแห่งชีวิตของท่านเหมือนกัน แม้นาทีสุดท้ายแห่งลมปราณของท่าน เราก็ได้นั่งเฝ้าอบรมให้สติแก่ท่าน ท่านก็มีสติยอมรับเอาโอวาทของเราอย่างหน้าชื่นตาบานจนนาทีสุดท้ายแห่งลมปราณของท่านเหมือนกัน
หากเราจำพุทธพจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสโดยสรุปว่า กุลบุตรใดเกิดมาตั้งใจจะทดแทนบุญคุณของบิดามารดา แล้วนำท่านทั้งสองมาปรนปรืออย่างดียิ่งจนยากที่ใครๆ ในโลกจะกระทำได้ แม้สมบัติจักรพรรดิจะยกให้เป็นเครื่องบูชาก็ตาม ยังไม่ได้ชื่อว่าทดแทนบุญคุณแก่ท่านอย่างยิ่ง เพราะเรื่องเหล่านั้นเป็นแต่ให้ความสุขแก่ท่านในเมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายแล้วหาได้เอาติดตัวไปได้ไม่ ส่วนกุลบุตรใดอบรมบิดามารดาผู้ไม่มีศีลธรรมให้มีศีลธรรมอันดีงาม หรือเมื่อท่านมีอยู่แล้วก็อบรมส่งเสริมให้ท่านมีหรือเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป กุลบุตรนั้นได้ชื่อว่าทดแทนบุญคุณของท่านโดยแท้ เพราะอริยสมบัติเป็นของมีค่ามากแลสามารถจะติดตามตนไปได้ในที่ทุกสถาน ดังนี้ไม่ผิดแล้วไซร้ เราก็ได้ชื่อว่า เราได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วทุกประการ อนึ่งเราก็ได้ทำหน้าที่ของลูกหนี้ผู้ซึ่งไม่ได้ทำสัญญาไว้กับเจ้าหนี้ให้ถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว
[จบ อัตตโนประวัติ หน้า 02 จาก 09]