อัตตโนประวัติ 01

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
[หน้า 01 จาก 09]

ชีวประวัติโดยมาก คนอื่นเป็นผู้เขียน หรือในเมื่อเจ้าตัวไม่มี ตายแล้ว เมื่อเขียนก็มักพรรณนาความดีของผู้นั้นที่ได้ทำไว้ตามมารยาทของการเขียน ดังจะได้ฟังชีวประวัติของผู้ตายในงานฌาปนกิจศพ บางทีทั้งๆที่ผู้นั้นเราก็เคยรู้อยู่ว่าเขาทำความชั่วมาแล้ว แต่เป็นจรรยาของผู้ดีและวิธีการเขียนชีวประวัติจำต้องทำอย่างนั้น

จรรยาของคนดี ท่านแสดงไว้โดยใจความมี ๔ อย่างดังนี้

  1. ๑. ความชั่วของคนอื่นมีมาก หากมีคนมาถามก็ ไม่พูดหรือพูดน้อย
  2. ๒. ความดีของคนอื่นมีน้อย หากมีผู้มาถามก็ พูดให้มาก
  3. ๓. ความชั่วของตนมีน้อย หากมีผู้มาถามก็ พูดให้หมด
  4. ๔. ความดีของตนถึงจะมีมาก ถ้าไม่มีผู้มาถาม ก็ไม่พูด เมื่อมีผู้มาถาม ก็พูดน้อย

ข้าพเจ้าเป็นคนตรงต่อความจริง จึงไม่อยากให้ใครเขียนชีวประวัติในเมื่อตายไป เรารู้เรื่องของเราเองเขียนเองดีกว่า ตายแล้ว เขาเขียนตามชอบใจเขา เมื่อเขาเกลียดเราเขาก็จะต้องเขียนตามอารมณ์ที่เขาเกลียด บางทีเกลียดกันด้วยเหตุเล็กๆน้อยๆ เขาอาจพรรณนาความชั่วของเรายืดยาวจนเกินกว่าความจริงก็ได้ ตรงกันข้าม เมื่อเขารักและชอบใจเราแล้ว เขาก็จะเขียนยกยอชมเชยเราให้เลอเลิศจนเกินความเป็นจริงไปก็ได้

ความจริงอัตตโนประวัติทีแรก ข้าพเจ้าเขียนไว้อ่านเพื่อชมเชยชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ของตนเองเท่านั้น มิได้ตั้งใจจะพิมพ์ออกเผยแพร่เลย เพราะมีความรู้สึกละอายแก่ใจตนเองมาก อัตตโนประวัติก็คือการโฆษณาตนเองดีๆนี่แหละ ถึงมีผู้มาขอร้องให้เขียนแล้วจะลงทุนพิมพ์เอง ข้าพเจ้าก็ยังไม่ตกลงใจจะทำ เมื่อคณะญาติโยมผู้ที่ให้ความเคารพนับถือคิดจะทำบุญอายุครบ ๖ รอบของข้าพเจ้าในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๑๗ นี้ ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนชีวประวัติเพื่อพิมพ์แจกในงานนี้อีก ข้าพเจ้ามาพิจราณาดูแล้วเห็นว่า ชีวประวัติของเราถึงเราจะไม่เขียนในเวลานี้ วันหนึ่งข้างหน้าเราตายแล้ว เขาก็จะต้องเขียนอยู่ดีๆนีเอง

ฉะนั้น อัตตโนประวัติที่กำลังเขียนจวนจะเสร็จอยู่แล้วนั้น จึงได้รีบเขียนเพื่อให้เสร็จทันกับงานนี้ แล้วได้มอบให้พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ผู้เป็นประธานจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งท่านก็ได้มีจิตศรัทธาปวารณาไว้แล้ว รับจัดไปพิมพ์ตามประสงค์ ชีวประวัติของข้าพเจ้าหากจะมีการกล่าวถึงความดีอันเป็นการเข้าข้างตัว ซึ่งผิดจรรยาของผู้ดีดังกล่าวแล้วข้างต้นอยู่บ้าง ก็ขอท่านผู้อ่านได้ให้อภัยแก่ข้าพเจ้าด้วย เพราะถ้าไม่เขียนตามความเป็นจริง ก็ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาเขียนให้เป็นชีวประวัติขึ้นมา

เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง
๓๑ มีนาคม ๒๕๑๗


เดิมชื่อ เทสก์ สกุล เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ปีขาล ณ บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อ อุส่าห์ มารดาชื่อ ครั่ง อาชีพทำนา ทั้งสองเป็นกำพร้าพ่อด้วยกัน ซึ่งได้อพยพมาคนละถิ่น คือบิดาอพยพมาจากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มารดาอพยพมาจากเมืองฝาง (บัดนี้เป็นตำบล) ขึ้นอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วได้มาแต่งงานกัน ณ ที่บ้านนาสีดา ตั้งหลักฐานทำมาหากินจนกระทั่งบัดนี้ มีบุตรธิดา ร่วมกัน ๑๐ คน คือ

นายคำดี เรี่ยวแรง (ถึงแก่กรรม) นางอาน ปราบพล (ถึงแก่กรรม) ด.ช. แกน เรี่ยวแรง (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์) ด.ญ. ใคร เรี่ยวแรง (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์) นางแนน เชียงทอง (ถึงแก่กรรม) นายเปลี่ยน เรี่ยวแรง (ถึงแก่กรรม) นางนวล กล้าแข็ง (ถึงแก่กรรม) พระเกต ขันติโก (เรี่ยวแรง) (มรณภาพ) พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี) นางธูป ดีมั่น (ถึงแก่กรรม)

เมื่ออายุได้ ๙ ขวบได้เข้าวัดไปเรียนหนังสือไทย แลหนังสือพื้นเมือง (หนังสือธรรมแลขอม) กับเพื่อนๆ พระเณรเป็นอันมาก ที่วัดบ้านนาสีดานี่เอง โดยพี่ชายคนหัวปีซึ่งยังบวชเป็นพระอยู่เป็นสอนและสอนตามแบบเรียน ประถม ก กา มูลบท บรรพกิจเราเรียนอยู่สามปีแต่ไม่เก่ง เพราะเราชอบเล่นมากกว่าเรียน

สมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลยังขยายไปไม่ทั่วถึง พี่ชายเรา คนนี้แกบวช แล้วชอบเที่ยวหาประสบการณ์ต่างๆ และจำแม่นเสียด้วย เมื่อแกไปได้หนังสือไทยมาจึงนำมาสอนพวกเรา มีพระเณรแลเด็กมาเรียนด้วยเป็นอันมาก จนบางคนมาเห็นเข้าถามว่าเป็นโรงเรียนหรือ พวกเรามิใช่เรียนแต่เฉพาะหนังสือไทยเท่านั้น สวดมนต์ หนังสือธรรมขอม พวกเราก็เรียนควบคู่กันไปด้วย เราเรียนอยู่สามปี จึงได้ออกจากวัดไปเพราะพี่ชายเราลาสิกขา เพื่อนๆ นักเรียนของเรา โดยมากก็ออกจากวัดไปด้วย เพราะไม่มีใครสอนหนังสือต่อ

ถึงแม้เราจะออกจากวัดไปแล้วก็ตาม ชีวิตของเราคลุกคลีอยู่กับพระเณรในวัดโดยส่วนมาก เนื่องจากเมื่อพี่ชายของเราสึกออกไปแล้ว พระที่เป็นสมภารอยู่ที่วัดไม่มี มีพระอาคันตุกะมาอยู่เป็นครั้งคราว เราเองต้องเป็นสื่อกลางระหว่างพระกับชาวบ้าน รับใช้เป็นประจำเช้าไปประเคนสำรับ เย็นตักน้ำกรองน้ำ เก็บดอกไม้ถวายท่านบูชาพระ พระมามากน้อย อาหารพอไม่พอ เราต้องวิ่งบอกชาวบ้าน

เราปฏิบัติอยู่อย่างนี้มาเป็นอาจิณวัตรตลอด ๖ ปี บิดามารดาของเราก็สนับสนุนเราอย่างเต็มที่ ที่เราปฏิบัติพระ ท่านยิ่งเพิ่มความรักใคร่ให้แก่เรามากขึ้น เมื่อถึงเวลาเห็นเราช้าอยู่ ท่านจะต้องเตือนเสมอ มิใช่แต่บิดามารดาของเราเท่านั้นที่เห็นเราปฏิบัติพระได้เป็นอย่างดี แม้ชาวบ้านก็ดูเหมือนรักแลเอ็นดูเราเป็นพิเศษ จะเห็นได้ใจเมื่อมีกิจอะไรเกี่ยวกับพระกับวัดแล้ว จะต้องตามเรียกหาเราเสมอ ตอนนี้เรารู้สึกสนใจเรื่องบาปบุญขึ้นมาก สงสัยแลขัดข้องอะไรมักไถ่ถามบิดาเสมอ บิดาก็มักจะสนใจเรามากขึ้น ตอนกลางคืนเวลาว่าง ท่านมักจะสอนให้รู้คติโลกคติธรรมเสมอ

เรายังจำคำสอนของท่านไม่ลืม ท่านสอนว่า เกิดเป็นลูกคนชายอย่าได้ตายร่วมเร่ว (เร่ว คือป่าช้า) หมายความว่า เกิดเป็นลูกผู้ชายต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ วิชานอกบ้านเดิมของตน ถึงแม้จะตายก็อย่าได้มาตายบ้านเกิด คติของท่านนี้ถูกใจเรานัก เพราะเรามีนิสัยชอบอย่างนั้นอยู่แล้ว เมื่อเราถามท่านว่า ผู้บวชกับผู้ไม่บวชทำบุญ ใครจะได้บุญมากกว่ากัน ท่านตอบว่า ผู้บวชทำบุญเท่านิ้วโป้มือ ได้บุญเท่าสองกำปั้น แล้วท่านกำมือชูให้ดู ผู้ไม่บวชทำบุญเท่าสองกำปั้น ได้บุญเท่าหัวโป้มือ เราได้ฟังเท่านั้นก็เต็มใจ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบคำอธิบายของท่าน เพราะนิสัยของเราชอบสมณเพศอยู่แล้ว

เรายังจำได้อยู่ เมื่อเราเข้าไปอยู่วัดใหม่ๆ ไปที่วัดแห่งหนึ่งกับพี่ชาย เห็นสามเณรรูปหนึ่ง ผู้มีมารยาทดีเข้าแล้ว มันนึกให้เลื่อมใสเจือด้วยความรักมากในสามเณรรูปนั้นเป็นพิเศษ ไม่ว่าแกจะเดินเหินไปมาทำธุรกิจใดๆ อยู่ก็ตาม สายตาของเราจะต้องจับจ้องส่ายไปตามแกทุกขณะยิ่งเพ่งก็ยิ่งน่ารักเลื่อมใสขึ้นเป็นลำดับ เวลากลับมาแล้วภาพอันนั้นก็ยังติดตาเราอยู่เลย ในใจนึกอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อไหร่หนอเราจึงจะได้บวชๆ อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา

[จบ อัตตโนประวัติ หน้า 01 จาก 09]