71. สติ-สมาธิ-ปัญญา ตั้งมั่น จึงเห็นของจริง

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ อย่างนี้มันแยกกันไม่ได้ ครั้นไม่มีสติก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิก็ไม่มีปัญญา

๗๑. สติ-สมาธิ-ปัญญา ตั้งมั่น จึงเห็นของจริง
วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

พวกเรานักปฏิบัติให้ตั้งสติพิจารณาให้แน่นอน สติ อันหนึ่ง สัมปชัญญะอันหนึ่ง สมาธิ อันหนึ่ง ปัญญาอันหนึ่ง ๓ อย่างนี้พิจารณาให้ดี

สติ คือความระลึกได้ ความแน่วแน่ระมัดระวัง เราจะพิจารณาอันนี้ ก็พิจารณาจดจ้องเฉพาะอันเดียว เรียกว่าสติ สัมปชัญญะ อยู่ในนั้นแล้ว มีสติสัมปชัญญะพร้อม ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่มีสัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะมันอยู่ด้วยกัน

สมาธิ คือแน่วแน่ในสิ่งเดียว อารมณ์อันเดียว เมื่อมีสมาธิ ปัญญามันก็เกิด การพิจารณานั้นเรียกว่าปัญญา สมาธิมันแน่วแน่ พิจารณาอะไรก็แน่วแน่อยู่ในสิ่งเดียวนั่นแหละปัญญา มันอันเดียวกันนั่นแหละ

สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ อย่างนี้มันแยกกันไม่ได้ ครั้นไม่มีสติก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิก็ไม่มีปัญญา มันต้องอยู่ในนั้นแหละ พิจารณาให้ถี่ถ้วน พิจารณาแน่วแน่ลงในเฉพาะสิ่งเดียวแล้ว อารมณ์อื่นไม่มาแทรกซึม มันก็เกิดปัญญาความรู้ความฉลาดขึ้นมา ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นหมู่เป็นพวกอย่างนั้น มันให้รู้ในนั้นเอง มันให้แน่วแน่ในนั้นเอง ความรู้จริงเห็นจริงอันนั้นเรียกว่าปัญญา

อย่างเช่นพิจารณาทุกขสัจจ์ คือให้เห็นทุกข์นั่น เราพิจารณาทุกข์สิ่งเดียว มันพิจารณาเห็นกองทุกข์ ครั้นเห็นทุกข์อันนั้นก็เห็นตัวสมุทัย คือพิจารณาทุกข์อันนั้นอะไรมาเกิดทุกข์ มันเกิดความรู้ ความรู้อันนั้นแหละมันเกิดสมุทัยในตัว ท่านจึงเทศนาว่า ทุกข์อันใด สมุทัยอันนั้น นิโรธอันใด มรรคอันนั้น พิจารณาทุกข์เท่านั้น สมุทัยเกิดขึ้นมาในตัว พิจารณาอารมณ์อันเดียวอย่างที่ว่า มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีปัญญา มันเกิดขึ้นมาพร้อมกัน เวลาพูดจะเป็นระยะห่างกันไว้ แต่ความจริงเวลาพิจารณา มันลงอันเดียวกัน เห็นชัดขึ้นมาในอันนั้นเลย เราไปมัวเมาแต่ปริยัติ มัวเมาแต่สมมุติ ที่ท่านเทศนาไว้ที่ท่านอธิบายไว้ สติเป็นอันหนึ่ง สัมปชัญญะเป็นอันหนึ่ง สมาธิเป็นอันหนึ่ง ปัญญาเป็นอันหนึ่ง อธิบายไว้แล้วไปหลงสมมุติบัญญัติ ความเป็นจริงมันเกิดขึ้นมาเป็นอันเดียวกัน ในขณะเดียวกันนั่นเอง อย่าไปเอาสมมุติบัญญัติอันนั้นมาพาปะปนกัน เวลาพิจารณาธรรมะ ครั้นพิจารณาลงมันชัดลงไปอย่างนั้นเลย

สติ มีแล้วรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา รู้ตัวว่าเราตั้งมั่น รู้ตัวว่าเรามีสติ รู้ตัวรอบคอบในสิ่งทั้งปวง ว่าเป็นปัญญา ว่าเป็นสมาธิ แล้วสิ่งอื่นๆมันจะมาจากไหน? อารมณ์อื่นมันจะมาจากไหน? ครั้นมีสติมีสมาธิอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งอื่นมารบกวนมันก็แน่วแน่อยู่ในอันเดียวนะซี ครั้นมันเป็นอารมณ์อันเดียวแล้ว มีสติมีสมาธิแล้ว มันแน่วแน่ลงอันเดียวเกิดปัญญา ไม่ต้องชำระกิเลส ไม่ต้องชำระอารมณ์มันไม่ต้องไปรบที่อื่นหรอก กิเลสมันรอบๆอยู่นั่นละ ไม่ต้องไปรบกวน มันอยู่ในที่เดียว ชัดเจนในที่เดียว มันแน่วแน่ในที่เดียวแล้ว นั่นล่ะเป็นสมาธิมีปัญญา

ปริยัติอธิบายกว้างขวางออกไปเรื่องกิเลสทั้งหลาย มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กว้างขวางออกไป มันไม่เอาเรื่องเหมือนเราพิจารณาหรอก ครั้นลงเฉพาะปัจจุบันเฉพาะจิตอันเดียว เป็นหนึ่งลงไปแล้ว มันให้อยู่ในนั้นหมด พิจารณาเห็นอยู่ในนั้นหมด พิจารณาเท่าไรยิ่งเห็นจิตเห็นใจชัด พิจารณาอะไรก็ลึกซึ้งลงไป เห็นอยู่ตรงที่เดียว จึงว่าปัญญาเกิดจากสมาธิ มันไม่ใช่จินตมยปัญญา ความคิดความอ่านอันนั้นไม่ใช่สุตมยปัญญา ฟังตามเขาเล่ามา อาจารย์ท่านบอกเล่า มันไปโน่นออกไปนอกโน่น ครั้นมันลง ภาวนามยปัญญาแล้ว มันเห็นเกิดขึ้นมาที่นั่นเลย ไม่ต้องไปหาในที่อื่นจึงว่าจิตอันเดียวแน่วแน่ลงไปเท่านั่นแหละ ในอารมณ์อันเดียวแล้วนั่นแหละ เป็นสมาธิเป็นปัญญาไปในตัว

เรื่องทั้งปวงหมดมันเกิดจากใจ ผมเคยเล่าให้ฟังแล้ว ใจตั้งมั่นแล้ว มันเห็นใจตั้งมั่นเป็นอันหนึ่งเสียก่อน แล้วมันไม่มีอะไรหมด มันว่างหมดไม่มีอะไร มันไม่คิดไม่นึก มันก็ไม่มีอารมณ์ เลยว่าไม่มีปัญญา ไม่คิดไม่นึกก็ไม่มีปัญญา นั่นเอาไว้เสียก่อน ขอให้มันเห็น “ตัวหนึ่ง” เสียก่อน ขอให้มันเป็นกลางๆนั่นเสียก่อน จิตเป็นกลาง จิตไม่เอนเอียง ไม่มีอดีตไม่มีอนาคต นั่นแหละมันแน่นอน ธรรมะเป็นของกลาง มันกลางในสิ่งทั้งปวงหมด ไม่มีบาปไม่มีบุญ แล้วทีนี้เมื่อมันไม่มีอดีตไม่มีอนาคต ไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่มีดีไม่มีชั่ว นั่นจึงเห็นของจริง เห็นตัวบาปตัวบุญขึ้นมาละคราวนี้ ถ้าหากว่ามีกิเลส มีบุญมีบาปมีคุณมีโทษมีความดีความชั่วอยู่ มันปกปิดหมด ไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร? มันปกปิดหมด

เปรียบเหมือนกับของภายนอก น้ำที่มันใสแจ๋วอยู่ มันนิ่งมองดูแล้วเห็นเงาตัวไม่ได้แต่ง แต่มันเกิดขึ้นมาเห็นเงาอยู่ในตัว ถ้าหากมันกระเพื่อมแล้วใสเท่าไรก็ตามเถิดไม่เห็นเงาหรอก น้ำที่ใสๆนั่นกระเพื่อมอยู่ไม่เห็นเงา ครั้นว่าจิตมันแน่วเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เป็นอันเดียว เป็นกลางๆอยู่ เห็นกิเลสมันปรากฎขึ้นมาในที่นั้น เรื่องเหล่านี้ถ้าคนพิจารณาไม่เป็นสมาธิ ไม่เป็นกลางเมื่อไร ไม่เห็นหรอก พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องอะไร ต่อเมื่อจิตมันเป็นกลางวางเฉยๆลงไปแล้ว จึงค่อยเห็นว่า อ้อ! มันเป็นอย่างนี้เองหนอ

คำที่ว่า “มันเป็นอย่างนี้เองหนอ” มันเห็นชัดด้วยใจของตนเองว่ามันเป็นอย่างนี้เองจึงจะรู้ตัว คราวนี้ชอบใจแล้วการปฏิบัติธรรม ครั้นไม่ถึง “ตรงกลาง” เมื่อไรยังไม่ชอบยังไม่ยินดีพอใจ ยังมัวเมาหาโน่นหานี่อยู่ ไม่เห็นสักที หาเท่าไรยิ่งวุ่นใหญ่ยิ่งกระเพื่อมใหญ่เพราะจิตไม่ตั้งมั่นไม่เป็นกลาง ครั้นจิตเป็นกลางวางเฉยแล้ว เห็นเงามันในตัว คือปัญญาเกิดขึ้นแล้ว

อย่าไปค้นหาในที่อื่น กิเลสก็อย่าไปหาค้นในที่อื่น ค้นในตัวของเงาอันที่ปรากฏเป็นตัวกลางๆนั่นล่ะ ที่มันออกไปนั้นมันไม่ใช่กลาง ไม่ใช่ใจมันเป็นจิต มันคิดมันนึกต่างหาก ถ้าหากมันปรากฏขึ้นในความเป็นกลางๆนั่น อันนั้นแหละจึงเป็นปัญญา อันนั้นแหละจึงเรียกว่าเป็นแสงสว่างเกิดขึ้นมา คือความรู้เกิดขึ้นมา เป็นของจริง เราควรจับอันนั้นไว้เป็นที่ตั้งมั่น ในการปฏิบัติต่อไป เอาละ

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 71. สติ-สมาธิ-ปัญญา ตั้งมั่น จึงเห็นของจริง]