70. พ้นจากทุกข์ได้

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ ก็เพราะเห็น “จิต” กับ “ใจ” แล้วเห็น “กิเลส” จิตคือผู้คิดผู้นึก นั้นล่ะ ผู้สะสมกิเลส

๗๐. พ้นจากทุกข์ได้
วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

นักปฏิบัติ นักฝึกหัด นักอบรม ที่ว่า “นัก” คือ ถือเป็นผู้เก่งในการฝึกหัดปฏิบัติในการอบรมใจจึงค่อยเรียกว่า “นัก” การฝึกหัดอบรมจิตนั้น มันมีหลายเรื่องหลายอย่างที่เรียกว่ากัมมัฏฐาน แต่ว่าจะอบรมไปประการใดก็ตาม จะอบรมมากอบรมน้อยก็ตาม ถ้าหากไม่มีแยบคายในตัวจะอบรมสักเท่าใด ก็ไม่เป็นไปไม่สงบอยู่ดีๆนั่นแหละ การฝึกหัดให้ชำนิชำนาญมีแต่อุบาย อุบายนั้นเทศน์ให้กันฟังได้สอนกันได้ แต่แยบคายนั่นเป็นของส่วนตัว มันเป็นเองของใครของมัน ที่แยบคายเกิดขึ้นมาก็เกิดจากอุบายที่เราฟังมา แต่แยบคายมันเกิดขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ใครสอนไม่ได้ทั้งหมด มันเกิดเฉพาะตนเอง การปฏิบัติจะชำนิชำนาญ ฉลาดเฉียบแหลมประการใดก็ต้องมีแยบคายนี่ทั้งนั้น อย่างที่ทางโลกเขาเรียกว่า “เทคนิค” หรืออะไรนั่นมันให้เกิดมีขึ้นเฉพาะส่วนตัว มีแวววาวต่างกัน

เราฝึกหัดอบรมปฏิบัติ สักแต่ว่าอบรมฝึกฝน แต่ไม่มีแยบคายมันถึงนานเป็นมันยากอยู่ตรงที่ว่าไม่มีแยบคาย สอนกันก็ไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ใช้อุบายนั่นเสียก่อน ถ้าหากมันจะเป็นมันเกิดขึ้นมาเองหรอกแยบคายนั่น อย่างเราพิจารณากายคตาสติ พิจารณากายนี่แหละ นี่เป็นอุบายเบื้องต้น กายนี้หนีไม่ได้ทิ้งไม่ได้ เพราะติดตัวของเรามาตั้งแต่เกิดจนวันตาย มาถือนักถือหนากายนี้มันว่าของเรา ของกู ของกู อยู่ตลอดเวลา ถ้ายังถือว่าของกูตลอดเวลา มันก็ทิ้งของกูไม่ได้ มันก็ ไม่สงบสักที แต่เวลาแยบคายมันเกิดขึ้น มันก็ว่า “ทำไมจึงว่าของกู ?” นั่นมันแวบขึ้นมา อันนั้นเป็นเหตุให้เราพิจารณาแยบคายลึกเข้าไปอีก อุบายนั่นมันไม่เอาเสียแล้ว มันเอาแต่แยบคายที่เกิดขึ้นแต่อย่างเดียว นั่นแหละแยบคาย มันจะเกิดขึ้นมาวิธีใดก็ตาม แต่มันก็เกิดขึ้นมาเอง

ในการพิจารณาธรรมะ ทุกชิ้น ทุกส่วน ทุกอย่าง ทุกประการมันกว้างขวาง เราพิจารณาไปหมดทุกแง่ทุกมุม เราใช้จิต เราไม่ใช้ใจ ในการพิจารณาแยบคายต่างๆ พิจารณาอุบายต่างๆ เราใช้จิต ทั้งดีและชั่ว ทั้งหยาบและละเอียด อย่างที่พิจารณากายด้วยวิธีต่างๆ โดยพิจารณาเป็นอสุภะปฏิกูล พิจารณามรณสติเห็นความตาย พิจารณาลมหายใจเข้า-ออก ล้วนแต่พิจารณาเพื่อให้มันเกิดแยบคาย เพื่อให้มันเกิดรวมตัวเข้าไปนั่นเอง เพื่อให้มันรวมจิต เป็นใจเข้าไป จิตนั้นถ้าหากพิจารณาเท่าใดๆ มันก็ฟุ้งไปตลอดเวลา ถ้าไม่รวมเป็นใจเมื่อไรแล้ว ไม่สงบ ผมยังบอกว่า จิตนั้นล้วนแต่พิจารณาเรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องธรรม เป็นโลกทั้งหมดไม่มีที่สิ้นสุด พิจารณาตลอดเวลาตลอดชีวิตก็พิจารณาไปเถิด จิตมันไม่หยุดยั้ง มันฟุ้งซ่านรำคาญสารพัดทุกสิ่ง ไม่มีที่สิ้นที่สุด อันที่สุดของโลก ที่สุดของกิเลส ที่สุดของบาปธรรม ทั้งหมดนั่นมันอยู่ที่จิตรวม จิตไม่รวมสักที ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย เพราะจิตฟุ้งซ่านเพราะจิตคิดนึก เพราะจิตส่งสาย

ครั้นจิตรวมลงแล้วมันเป็นหนึ่งลงไป มันสงบลงไป นั่นแหละที่สุดของโลก ที่สุดของวัฏฏสงสาร รวมลงมาเป็นหนึ่ง เป็นกลาง รวมลงเป็นกลางๆแล้วเป็นที่สุด ธรรมะจึงว่ามีที่สุด เป็นเรื่องโลกไม่มีที่สุด พิจารณาไปเถิดพิจารณาเท่าใดก็พิจารณาไป หาที่สุดไม่ได้ พอมันรวมลงมาเป็นหนึ่ง มันรวมลงมาถึงความสงบก็หมดเรื่องไม่มีที่ไป นั่นจึงเรียกว่าที่สุดของโลก

อะไรเป็นเครื่องตัดสิน? อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไตรลักษณ์ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นเครื่องวัด ถ้าลงไตรลักษณ์แล้วไม่มีที่ไป แต่ก่อนเก่านั้นพระพุทธเจ้าก็ดี สาวกของพระพุทธเจ้าก็ดี ท่านพิจารณาเดินตามแบบนี้แนวนี้ทั้งนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ท่านถึงที่สุดแล้ว เวลาสงบอยู่ตามธรรมดา มันก็ต้องไปตามเรื่องอีก มันไปตามโลก ตามวัฏฏสงสาร จิตมันเคยชินมานมนานตั้งแต่หลายภพหลายชาติ มันติดมานานนักหนา มันจึงค่อยไปตามเรื่องของมัน แต่คราวนี้จิตของท่านไป ท่านไม่ได้ผลเรอ จิตมีสติระมัดระวัง ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ พิจารณาเห็นโทษทุกข์ของมัน แล้วจิตมันก็รวมเข้ามาอีก รวมเข้ามาได้พักหนึ่งแล้วมันก็ออกไปอีก ก็พิจารณาตามเรื่องของเก่านั่นแหละ มันก็ไปตามของเก่านั่นแหละ ครั้นไปๆมาๆหมดเรื่อง มันก็ลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามาเป็นใจก็หมดเท่านี้

การที่จิตเข้าๆออกๆ พิจารณาแล้วรวมเข้ามา เป็นเหตุให้เกิด “ปัญญา” มีสติรู้เรื่องรู้ราวของพวกนี้อยู่ตลอดเวลา นั่นแหละเรียกว่า ประมวลเรื่องโลกทั้งหมดเข้ามาเป็นอันเดียว ธรรมะที่ พระพุทธเจ้าทรงสอนมีที่สิ้นสุดอย่างนี้ ทางโลกไม่มีใครสอนได้สิ้นสุด ไปดูเถิดตำราแบบอย่างที่ไหนก็ไปดู ไม่มีที่สิ้นสุดเรื่องโลก วิทยาศาสตร์สารพัดทุกอย่าง เกิดใหม่ๆขึ้นมาเรื่อย มันก็ของเก่านั่นแหละ แต่เกิดใหม่เป็นความรู้ขึ้นมาปลีกย่อยออกไปสารพัดสาขา หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าสาขาเดียวเท่านั้นที่มีที่สิ้นสุด

สมถะ คือ ความสงบเข้าถึงสมาธิ เข้าถึง “ใจ” เมื่อเข้าถึง “ใจ” แล้วก็สงบเยือกเย็น ไม่มีเครื่องเดือดร้อน แต่ว่า “ปัญญา วิปัสสนา” ที่มันจะเกิดนั้น มันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก มากมายเหมือนกัน แต่มันไม่พ้นจากไตรลักษณ์ ต้องเข้ามารวมเป็นหนึ่งเสียก่อน

“จิต” กับ “ใจ” มันอันเดียวกันนั่นแหละ วิญญาณก็เรียก จิตก็เรียก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สารพัดทุกอย่างก็เรียกไป ล้วนแล้วแต่ออกจากใจ

“ใจ” คือ ผู้นิ่งผู้สงบ ไม่คิดไม่นึก แต่รู้สึกตนอยู่ นั่นแหละเรียกว่าใจ

ผู้คิดผู้นึก ผู้รู้สึกอารมณ์ต่างๆทั้งดีและชั่ว อันนั้นเรียกว่า “จิต”

ผู้ปฏิบัติฝึกหัดถ้าไม่เห็นจิตเห็นใจเสียแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นสมาธิภาวนาได้ พ้นจากทุกข์ไม่ได้ ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ ก็เพราะเห็น “จิต” กับ “ใจ” แล้วเห็น “กิเลส” จิตคือผู้คิดผู้นึก นั้นล่ะ ผู้สะสมกิเลส ถ้าว่าเข้ามารวมเป็นใจแล้ว ละกิเลสพ้นจากกิเลสแล้ว มาเป็นใจ

จิต ใจ กิเลส ทั้ง ๓ อย่างนี้ถ้าเห็นอยู่ตลอดเวลาแล้ว นั่นแหละจะพ้นทุกข์ได้ การปฏิบัติศาสนาสิ้นสุดลงแค่นี้ ไม่ต้องมากมาย เอาละ

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 70. พ้นจากทุกข์ได้]