69. จิต-ใจ-ปัญญา

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ครั้นถ้าเข้าถึง “ใจ” แล้ว ไม่คิดไม่นึก มันก็ “อยู่” แล้วเห็นอยู่รู้อยู่ว่ามัน “อยู่” แต่ว่าไม่คิดไม่นึก

๖๙. จิต-ใจ-ปัญญา
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒

ว่าถึงเรื่อง “จิต” กับ “ใจ” “จิต” คิดวุ่นวาย คิดเดือดร้อน จิตกระสับกระส่าย ไม่อยู่คงที่ นั่นเรื่อง “จิต”

“ใจ” นั้นให้เข้าใจว่า ความรู้สึกครั้งแรกที่อายตนะภายนอกและภายในกระทบกัน ความรู้สึกครั้งแรกนั้นเรียกว่า “ใจ” ไม่มีตนมีตัวอะไรเป็นแต่ความรู้สึกเฉยๆ เป็นสภาวะอันหนึ่ง เป็นความรู้ ความเห็น ความเข้าใจตามเป็นจริงอันนั้นเป็นสภาวธรรม เรียกว่า ธรรมธาตุ

“ใจ” ก็ดี “จิต” ก็ดี แท้ที่จริงมันเป็นสภาวธรรม เป็นสักแต่ว่าความรู้ความเข้าใจ ให้แยกอย่างนี้ ความรู้สึกทีแรกเมื่อเกิดการกระทบ เมื่อตากระทบกับรูป หูกระทบกับเสียง เกิดความรู้สึกขั้นทีแรกนั่นเรียกว่า”ใจ” ยังไม่ทันขยายออกไป เพียงแต่รู้สึกครั้งแรก ที่ขยายออกไปนั่นคือ ความคิดความอ่าน ความปรุงความแต่ง ปัญญาทางโลกล้วนแต่เป็น “จิต” พูดกันง่ายๆว่า “ใจ” นั้นเป็นของกลาง อยู่ตรงกลางสิ่งทั้งปวงหมด ไม่ใช่ว่าดีไม่ใช่ว่าชั่วอะไรทั้งนั้น

“จิต” นั้นคือ ผู้คิดผู้นึก ผู้ปรุงผู้แต่ง อาการของคิดของนึก ของปรุงของแต่ง เรียกว่าจิตทั้งหมด กิเลสทั้งหมดเกิดจากจิต ไม่ใช่เกิดจากใจ ปัญญาวิชาความรู้ต่างๆ เกิดจากจิต ทั้งดีทั้งชั่วทั้งหยาบละเอียด ทั้งบาปทั้งบุญเกิดจากจิต เข้าถึง “ใจ” แล้วไม่มีอะไร ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ขอให้เข้าใจกันอย่างนี้ คำว่า “จิต” ว่า “ใจ”

ครั้นถ้าเข้าถึง “ใจ” แล้ว ไม่คิดไม่นึก มันก็ “อยู่” แล้วเห็นอยู่รู้อยู่ว่ามัน “อยู่” แต่ว่าไม่คิดไม่นึก

“จิต” นั้นมัน “ไม่อยู่” มันไปร้อยแปดพันประการ รอบด้าน คิดนึกตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ไม่มีหยุดหย่อน แม้แต่นอนหลับก็ยังฝัน นั่นเรื่องของ “จิต” ไม่มีความสุข มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายตลอดเวลา ถ้าหากไม่มี “สติ” ก็คิดตลอดวัน ตลอดวันตายไม่สงบได้ ครั้นถ้ามี “สติ” ระมัดระวัง สังเกตพิจารณาว่ามันคิดอย่างไร? คิดชั่วคิดดี คิดหยาบคิดละเอียด คิดบาปคิดบุญให้รู้ตัวอยู่เสมอ รู้ว่ามันคิดอยู่เสมอ อันนั้นตามไปรู้ไปเห็น มันคิดให้ตามไปเสียก่อน ครั้นถ้าหากมันเข้ามาถึงที่แล้ว คราวนี้ตามไปเห็นไปรู้เท่า โอ! มันคิดอย่างนี้หนอ มันคิดอยากฆ่าคน มันคิดอยากตีหัวคน ตัวคิดอยากตี คิดอยากฆ่ามันอยู่ตรงนี้ ไปรู้เท่าๆกับความคิดนั่น มันก็เลยหยุด ครั้นรู้เท่าแล้วมันหยุด ถ้ารู้ตามไม่หยุด รู้เท่าแล้วมันหยุด มาเป็นใจ คราวนี้จิตมันกลับมาเป็นใจ ก็อยู่สงบสบาย

เรื่อง “จิต” เรื่อง “ใจ” พิจารณาให้มาก สนใจให้มาก ครั้นเมื่อเห็นใจแล้วคราวนี้ ต้องการอยากจะให้มันสงบอยู่ ก็เข้าไปหา “ใจ” เลย อาการของใจทีนี้เรา เห็นแล้วว่ามันไม่คิดไม่นึก เป็นแต่ความรู้สึกครั้งแรก เอา “สติ” เข้าไปควบคุมให้อยู่นิ่ง อยู่ได้นานๆเป็นชั่วโมง ๒ ชั่วโมงก็อยู่ได้

“จิต” นั้นมันคิดนึกปรุงแต่ง สัญญาอารมณ์ทั้งปวงหมด ตามเข้าไปให้รู้เรื่องของมันไปร้อยแปดพันประการรอบด้านรอบทิศ ก็ให้รู้เรื่องของ “จิต” ครั้นรู้เรื่องของ “จิต” แล้วมันถอน กลับเข้ามาเป็น “ใจ” อยู่ได้สบาย การหัดแบบนี้พิจารณาตั้งหลายชั่วโมง มันจึงค่อยมาเป็น “ใจ” ที่จิตมันคิดนึกไม่ใช่มันไม่มีปัญญา ปัญญามันเกิดจากนั้นแหละ ต้องการจะให้เกิดปัญญาก็เกิดจากนั้น แต่ว่าการเกิดปัญญามันต้องมี “สติ” ควบคุม จนกระทั่งรู้เท่ามันคิด ไม่ให้มันมาก ไม่ให้มันน้อยกว่า ให้รู่เท่าๆกัน มันก็หยุดเท่านั้น นั่นเราได้ ปัญญา

ปัญญา ในทางพุทธศาสนาท่านบอกว่า เมื่อคิดนึกปรุงแต่งสารพัดทุกอย่างมีความรู้รอบ เข้าใจทุกสิ่งทุกประการตามความเป็นจริงหมดแล้ว มันหยุด อันนั้นเรียกว่าปัญญา อันที่จะให้มันหยุดนั้นมีปัญญามากทีเดียว จะทางธรรมหรือทางโลกก็ตาม ที่มันนึกคิดมันปรุงแต่งไปนั้น ไปรอบคอบรอบทาง ถ้ามี “สติ” ควบคุม มี “สัมปชัญญะ” รู้ตัวอยู่ มันหยุดคิด นั่นแหละ “ปัญญาในทางพุทธศาสนา”

“ปัญญาทางโลก” นั้นก็คิดไปเถิดไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่วันเกิดจนวันตายก็ไม่สงบสักที คิดแล้วๆเล่าๆกลับไปกลับมาอยู่นั่นแหละ วนเวียนอยู่นั่น จึงเรียกว่า “วัฏฏะ”

ให้ลองคิดดูทุกๆคน พิจารณาดูว่า วันหนึ่งเรามีอะไรบ้าง? เราคิดอะไรบ้าง? รู้เรื่องความคิดของเราไหม? เปล่า ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ไม่ใช่ปัญญา ถ้าคิดนึกปรุงแต่งสารพัดทุกอย่าง ครั้นถ้ารู้ตัวไม่กี่มากน้อยหรอก มัน “รวม” ลงมาเลย นั่นแหละจึงค่อยเกิด “ปัญญา”

“ปัญญา” ชนิดนี้ไม่ต้องกว้างขวาง เป็น”ปัญญา”รู้ตัวแล้วก็แล้วกัน รู้แล้วก็หยุด ที่มันกว้างขวางหมดในโลกนี้ มันมีการหยุดเป็นธรรมดา ถ้าไม่หยุด อยู่ไม่ได้หรอก ที่ใช้รถยนต์รถไฟ เครื่องบิน เรือ เรือดำน้ำก็ตาม เขาใช้ก็ต้องมีเวลาหยุดพักผ่อน มันจึงอยู่ได้ มันจึงทนทาน ครั้นไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่ไม่ได้หรอก พังเลย

จิตใจคนเราก็เหมือนกัน ภาวนาไป ภาวนาไป ฝึกหัดปฏิบัติไป อบรมไป สังเกตพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง รู้เท่ารู้รอบรู้ทั่วแล้วหยุด นั่นแหละ “หยุด” เรื่องของใจไม่เหมือนเรื่องของรถของรา มันปรากฏอยู่ในใจของใครของมัน สงบนิ่งแน่วลงไป เรื่องการภาวนาในพุทธศาสนาต้องเป็นอย่างนั้น

ให้ลองคิดดูทุกๆคน พิจารณาดูว่า วันหนึ่งเรามีอะไรบ้าง? เราคิดอะไรบ้าง? รู้เรื่องความคิดของเราไหม?

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 69. จิต-ใจ-ปัญญา]