64. โลกธรรม ๘

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ธรรมะเป็นของละ ของทิ้ง ของเสื่อมหมด ไม่ยึดถือไว้ในตัวของเรา

๖๔. โลกธรรม ๘
วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑

โลกธรรมทั้ง ๘ เป็นของมีอยู่ประจำโลก โลกคู่ไปกับธรรม ท่านสอนไม่ให้ถือโลกธรรม ให้ปฏิบัติโลกธรรม ให้ละโลกธรรม ไม่ได้สอนให้เอา มีลาภ เสื่อมลาภ ท่านสอนว่ามีลาภนั่นเป็นโลก เสื่อมลาภนั่นเป็นธรรม มันแยกกันเป็น ๒ อย่าง ทางโลก ทางธรรม

คราวนี้ถ้าหากว่าทางโลกเกิดขึ้น ก็เอาธรรมมาแยกระงับคือเสื่อมลาภ ธรรมะเป็นของละ ของทิ้ง ของเสื่อมหมด ไม่ยึดถือไว้ในตัวของเรา เราปฏิบัติเข้ามาในตัวของเราชัดเจนในตัวของเรา เราละได้ นั่นได้ชื่อว่าเราปฏิบัติโลกธรรมถูก ถ้าเรียนแล้วจดจำไปปฏิบัติ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในตัวเอง อย่างที่ว่านี้ก็เป็นอันว่าถูก โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ ปฏิบัติข้อนี้เท่านั้นแหละ ครั้นได้แล้วมันได้หมดเลยทั้ง ๘ ข้อ เป็นอันว่าเราปฏิบัติถูก มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญแล้วก็นินทา มีสุขก็มีทุกข์ เป็นคู่ๆกันไป แต่ละคู่ๆนี้ปฏิบัติเข้าถึงใจ ให้มันเห็นชัดเจนด้วยตนเอง ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติได้ปฏิบัติถูก ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ลองดูพวกเราที่มาอยู่นี่ทุกๆคนนั้น เอาธรรมะทั้ง ๘ ข้อนี้ไปปฏิบัติทุกคน ให้มันชัดเจนแจ่มแจ้งภายใน เห็นชัดด้วยตนเองมันจะได้ความสุขแก่ตนเองและคนอื่นสักเท่าไร เรียนไปมากๆแล้วไม่เอาไปปฏิบัติน่ะซี มันจะเหลวไหล เลอะเทอะ พุทธศาสนาจึงไม่เจริญงอกงาม

ท่านสอนให้รู้จักแยกแยะ ที่จริงโลกกับธรรมมันอยู่อันเดียวกัน โลกมันเป็นเครื่องวัดของธรรม ถ้าไม่มีโลกแล้วจะเอาอะไรเป็นเครื่องวัด มีลาภเกิดขึ้นนั่นแหละเป็นโลกเป็นเครื่องวัด มีลาภเสื่อมลาภ เสื่อมน่ะมันเสื่อมไปด้วยอาการอย่างไร? มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาวะเหล่านี้ เกิด-ดับ เกิด-ดับ มันเป็นอยู่อย่างนี้ นั่นแหละเป็นธรรมเครื่องวัด ความจริงนั้นโลกก็ดีธรรมก็ดี หากเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่เสื่อมไม่คลายไปไหน แต่ไหนแต่ไรมาเป็นของมีอยู่ ลาภก็มีอยู่อย่างนั้น เสื่อมลาภก็มีอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้ามาเกิดขึ้นก็ดีไม่ได้เอามาด้วย พระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานก็ไม่ได้เอาไปด้วย แต่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วมาเห็น มารู้มาเข้าใจของทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อพระองค์ปรินิพพานก็ไม่ได้ทรงเอาไปด้วย ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ

ตั้งสองพันกว่าปีแล้ว พวกเราทั้งหลายเกิดมาทีหลัง มาปฏิบัติให้เห็นจริงเห็นแจ้งในธรรมที่ว่า มีลาภเกิดขึ้นแล้ว ลาภเสื่อมสูญไป ให้รู้จักรู้แจ้งให้เห็นของจริงเมื่อเราเห็นแล้วธรรมก็ไม่ได้สิ้นสูญไปไหน หากมีอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา แต่ว่าเราเห็นแล้วชัดเจนด้วยใจของเรา ถึงแม้มาปฏิบัติทีหลัง พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วหลายพันปีก็ช่าง หลายหมื่นปีก็ตาม มันหากมีอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมากี่ร้อยกี่พันองค์ก็ไม่ได้เอามาด้วย แต่พระองค์มาพิจารณาเห็นอันนี้

จึงว่า ธรรมะเป็นของกว้างขวาง หาที่สุดไม่ได้ เป็นของลึกซึ้งสุขุม เห็นได้ด้วยใจของตนเอง คนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เราปฏิบัติก็เห็นได้ด้วยตัวของตนในตัวของตนนี่แหละ อย่างความโลภ มันไม่ได้เป็นตนเป็นตัวอะไร ความอยากได้มันคิดนึกปรุงแต่ง พยายามอยากให้ได้สมมาตรปรารถนาของตน ไม่มีใครเห็น มันเห็นด้วยตัวตนเอง ครั้นเราละวางได้ก็เหมือนกัน เราไม่ได้บอกใครให้ทราบ ถึงบอกก็ไม่รู้ด้วย อันความอยากนั้นมันเป็นเครื่องข้องอยู่ในใจ เป็นเครื่องปกปิดไม่ให้นึกคิดรู้สึกสิ่งอื่นได้ มีแต่ความมุ่งมาดปรารถนาอันเดียว ใจจดจ่ออยู่เฉพาะสิ่งนั้น มืดมิดตันอยู่แค่นั้น

ครั้นหากว่าละความโลภแล้วจึงว่าเป็นธรรม แล้วย่อมเห็นความที่ตนโลภ เห็นชัดว่าเป็นเครื่องปกปิด เมื่อละแล้ว เห็นจิตใจใสสะอาดปราศจากความมัวหมอง เห็นชัดด้วยตนเอง อันนั้นจึงว่าเป็นธรรม อันนั้นก็ไม่ได้แฟบลงไปไม่ได้ฟูขึ้น เราเห็นแล้วก็อยู่อย่างนั้น แต่เราเป็นคนเห็นแล้วก็พอ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ แต่ไหนแต่ไรมาเป็นอมตะ ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ตาย ไม่เกิด ไม่ดับ ที่ว่าธรรมะเกิดเพราะพระองค์ไปรู้เห็นธรรมะไม่ได้เกิด มันหากให้มีอยู่ในที่นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนต้นไม้ ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนภูเขาเลากา แต่ว่าพระองค์รู้ก็เรียกว่าเกิด ครั้นพระองค์ดับไปไม่มีใครรู้ธรรมะนั้น ก็เรียกว่าดับ แต่ที่จริงพระองค์ดับต่างหาก ใครเกิดขึ้นมารู้ก็รู้เฉพาะคนนั้น ถ้าคนนั้นดับไปก็คนนั้นดับต่างหาก ธรรมะไม่ได้ดับ

ธรรมะเป็นของกว้างขวาง หาที่สุดไม่ได้ เป็นของลึกซึ้งสุขุม …เราปฏิบัติก็เห็นได้ด้วยตัวของตน ในตัวของตนนี่แหละ

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 64. โลกธรรม ๘]