62. สติปัฏฐาน ๔
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๖๒. สติปัฏฐาน ๔
วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๑
ธรรมะคือของจริง ธรรมะคือของแท้ ทำจนเห็นเป็นของจริงของแท้ ถึงเรียกว่าปฏิบัติจนถึงธรรมะของจริงของแท้
สติปัฏฐานสี่ ที่ท่านแสดงไว้ เรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม มี ๔ อย่าง พิจารณากายระยะหนึ่ง พิจารณาเวทนาระยะหนึ่ง พิจารณาจิตระยะหนึ่ง ธรรมระยะหนึ่ง แต่ว่าท่านไม่ให้พิจารณาหมดทุกอัน ตามตำรับตำราท่านก็บอกใช้ทั้ง ๔ อย่าง แต่เมื่อปฏิบัติ พิจารณาอันใดอันหนึ่งให้มันได้เสียก่อน
เช่น พิจารณากาย ภายนอกภายใน พิจารณาภายนอกคือกายของคนอื่น ภายในคือกายของเรา ตั้งสติกำหนดพิจารณากายนี่สักแต่ว่ากาย จนกระทั่งเห็นมันเป็นของธรรมดา ธรรมชาติ พิจารณาไป พิจารณาไปมันจะค่อยรู้เรื่องหรอก ทีแรกก็อวัยวะแขน ขา มือ เท้าของเรามันเป็นชิ้นเป็นส่วน แล้วพิจารณาเข้าไปภายในจริงๆ ทีนี้ไม่ทราบว่าเรื่องกายของเราหรือของคนอื่นก็ไม่ทราบ มันเป็นเนื้อเป็นหนังหรือเป็นอะไรก็ไม่ทราบ เป็นเพียงสิ่งอันหนึ่งปรากฏขึ้น เป็นปรากฏการณ์ของในโลกมันเป็นอยู่อย่างนั้น อันนั้นจึงว่า “กาย” สักแต่ว่า “กาย” พิจารณากันไปจริงๆจังๆ ตั้งใจลงไปจริงๆจังๆ ไม่สักแต่ว่าพิจารณาแล้วก็แล้วไป ความประมาทของคนเรา พิจารณาไม่จริงไม่จัง พิจารณาเพียงแต่ลูบๆคลำๆ พิจารณาแล้วก็หายไปเฉยๆ นั่นเรียกว่า “ประมาท”
“ประมาท” นี่มันลึกซึ้งที่สุด ประมาทของผู้ทำความเพียรภาวนา ถ้าหากว่าตั้งจิตพิจารณาเฉพาะแน่วแน่ในสิ่งเดียวคือกายสิ่งเดียว จนกระทั่งเห็นอย่างอธิบายมานั่น เรียกว่าเป็น “ผู้ไม่ประมาท” ถ้าพิจารณาพลัดโผไปโน่นมานี่อยู่ มีอารมณ์อะไรมาแทรกซึมยังใช้ไม่ได้ เรียกว่า “ประมาท” เราตั้งใจแน่วแน่ในสิ่งเดียว พิจารณาในเรื่องสิ่งเดียว จนเห็น “กาย” สักแต่ว่า “กาย” สิ่งที่พิจารณา ไม่ใช่ของเราของเขา อันนั้นจึงค่อยถูก
ครั้นยังเห็นกายเป็นของเรา ถือกายว่าตนว่าตัว ว่าเรา ว่าเขา มันถือมานานแล้ว มันยากที่จะละได้ ที่จะลงเป็นหนึ่ง เป็นสภาพเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย สิ่งที่มันเป็นอยู่สักแต่ว่า ไม่ใช่คน มนุษย์คนเราก็ไม่ใช่ หรือสิ่งทั้งปวงก็ไม่ใช่ ท่านจึงว่าไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา มันเป็นอันหนึ่งของมันต่างหาก
อย่างเราเห็นเราดูของภายนอกอย่างนี้แหละ เราดูกันจริงๆจังๆอย่าไปนึกอย่างอื่น ดูสิ่งที่เราเห็นนั่นพิจารณาแน่วแน่ลงไปจริงๆจังๆ เมื่อไม่มีอารมณ์อื่นมาแทรกซึม อันที่เราพิจารณาแน่วแน่อยู่นั่น ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร จะว่าไม่มีปัญญาก็ใช่ คนที่เห็นว่าเป็นของไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลเราเขานั้นนั่นมันเป็น “ปัญญาสูง” ที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนนั่น เขาเรียกว่าปัญญาแต่ว่าปัญญาตอนนี้ใครใช้ก็ได้ทั่วไปหมด คนใช้ได้ทั่วไปหมด ปัญญาละเอียดขั้นสูงนั้นมันปลงลง จนกระทั่งว่าไม่ใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นของหายาก ปัญญานั่นคนไม่ค่อยเห็น ท่านสอนให้พิจารณาตรงนั้นเขาเรียกว่าคนโง่ มันโง่ของเราเป็นตามมนุษย์ของเรา
การเห็นสิ่งทั้งปวงหมดเป็นของไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา ของพระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกว่าโง่ แต่มนุษย์ทั้งหลายเรียกว่าโง่ เขาดูให้เป็นชิ้นเป็นอันเป็นส่วนสัด เขาใช้วิทยาศาสตร์ เอามาใช้กันในเรื่องเหล่านี้แหละ จิตจึงไม่เป็นสมาธิ มันไม่ลงอันเดียว มันก็เห็นเป็นชิ้นเป็นส่วน เห็นเป็นหลายอัน เขาจัดแจงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นสิ่งต่างๆออกไป อันนั้นแหละเรียกว่าปัญญาของเขา
ส่วนปัญญาของพระพุทธเจ้า เอาจนเห็นไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา แน่วแน่ลงไป ปัญญาของพระพุทธเจ้ากับปัญญาของชนคนเรา คนละอันคนละเรื่อง แต่จะพิจารณาถึงปัญญาของพระพุทธเจ้ายากนักยากหนา คนทั้งหลายไม่ค่อยเห็น จึงถือว่าอันนั้นเป็นของไม่ดี ถ้าเราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ดีหรือไม่ดีก็ช่างเถิด เป็นอย่างนั้นก็นับว่าถูกธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็อย่างที่ท่านเทศนา ยถา ปัจจยังฯ จีวรที่เรานุ่งห่มนี่ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวเราตัวเขา เป็นแต่สักว่าธาตุอันหนึ่ง ลงเป็นธาตุ มนุษย์ชาวโลกเห็นเป็นสีสันวรรณะ เห็นเป็นของสวยสดงดงาม เห็นเป็นของน่าชมน่าสนุกสนานอันนั้นจึงค่อยเป็นปัญญาของเขา
ส่วนปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ท่านทรงเห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ ถ้าไม่เรียกว่าธาตุก็ไม่ทราบจะเรียกอะไร สักแต่ว่าธาตุ ธาตุนั้นเป็นของเป็นจริงอยู่อย่างนั้น ธาตุคือสิ่งที่เป็นอยู่ มันเป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น เรียกว่าธาตุ พิจารณาจนถึงเห็นเป็นธาตุ มันเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า มนุษย์ชาวโลกของเรานั่น มันยากที่จะละสมมติบัญญัติได้ ละสมมติบัญญัติก็ได้ดิ้นรนมาหาสมมติบัญญัติอีก ถ้ามันละสมมติบัญญัติไปละก้อไม่เข้าใจอะไรหนอนี่? เลยงงหมด ไม่รู้เรื่องอะไรเป็นอะไรของไม่เคยเห็นเคยรู้ ก็กลับมาดิ้นรนหาสมมติบัญญัติอีก จิตมันถอนก็เลยไม่ถึงสมาธิ มันก็ไม่ถึงความแน่วแน่
เราภาวนา อย่าไปฝึกหัดภาวนาอย่างเผินๆ อย่าทำเล่นอย่างที่ว่าตะกี้นี้แหละ ทำอะไรสักแต่ว่าทำ มันไม่ถึงธรรมะ ธรรมะคือของจริง ธรรมะคือของแท้ ทำจนเห็นเป็นของจริงของแท้ ถึงเรียกว่าปฏิบัติจนถึงธรรมะของจริงของแท้ ทำเป็นของเล่นหมดมันไม่มีประโยชน์ ศาสนาพุทธของเรามันจึงค่อยเลื่อนเลอะไปหมด ทำอะไรก็สักแต่ว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ทีแรกท่านทำดิบทำดี อย่างไหว้พระสวดมนต์อย่างนี้ ท่านตั้งใจไหว้พระ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งใจเคารพนับถือจริงๆ ฟังเทศน์ก็ตั้งใจฟังถึงข้ออรรถข้อธรรม ถึงข้อละเอียดของธรรมะจริงๆ นั่นเบื้องต้น
ครั้นต่อมาสักแต่ว่าฟัง เขาฟังก็ฟังตามเขาไปอย่างนั้นแหละ ไม่ทราบว่าฟังรู้เรื่องอะไร ครั้นสิ่งสนุกเพลิดเพลินแล้ว นั่นแหละชอบใจ อย่างเทศน์พระเวสสันดร อย่างนี้ละเทศน์สนุกสนานเฮฮา เทศน์แหล่เทศน์เล่นเสียง สนุกแล้วมันก็ชอบใจ มันไม่ถูกธรรมมันไม่ถึงธรรม เอาแต่ตื้นๆเผินๆนี่แหละ อันของละเอียดละออไม่เอา ทำอะไรอย่าไปทำเล่น เป็นของเล่นไปหมดอย่างนั้นไม่ได้
บวชพระบวชเจ้านี่ก็เหมือนกัน เขาบวชกันในศาสนาแต่ก่อนนี้ท่านทำดี๊ดี ท่านบอกว่า ข้าพเจ้าจะบวชจะบรรพชาเพื่ออิสระพ้นจากทุกข์ ขอให้ท่านจงเอาผ้าให้แก่ข้าพเจ้า เอาผ้าส่งให้ ๓ หน กลับไปกลับมาจึงให้ผ้าไปครอง ปฏิญาณตนจนถึงขนาดนั้นคนสมัยก่อนๆ แต่สมเด็จมหาสมณเจ้านั่นท่านบอกว่า เดี๋ยวนี้บวชไม่ถึงขนาดนั้นหรอก บวชไม่สำเร็จมรรค ผล นิพพานหรอก สักแต่ว่าบวช เลยเอาออกเสีย ไม่เอามาใช้ แล้วคนก็เลยไม่รู้เรื่อง ก็เลยบวชพ้นๆกันไปก็เป็นสักแต่ว่าทำเป็นประเพณี ถึงฤดูแล้วถึงฤดูหยุดเทอมก็บวชเฮฮากันหมด บวชเณรอึกทึกครึกโครม โอย! วัดไหนบวชมากก็มีชื่อเสียง บวชไปแล้วตั้งเป็นหมู่บังคับกัน องค์หนึ่งบังคับ ๔-๕ องค์ องค์หนึ่งบังคับ ๙-๑๐ องค์ บังคับเป็นหมู่เหมือนกับทหารนี่ ปานนั้นก็ยังคุมไม่อยู่
บวชสัก ๑๕ วัน ก็สึก พอสักแต่ว่าเล่นๆน่ะซี มันไม่เป็นของจริงของจัง คำว่าบวชเพื่อเอาบุญเอากุศล มันก็ไม่ได้บุญอะไร ยิ่งเป็นบาปเข้าไปอีก เอาผ้ากาสาวพัตรไปครอง ของดิบๆดีๆเอาไปหุ้มหัวตอ มันไม่ใช่ปฏิบัติดีอะไร ศีล ๕ ศีล ๘ ก็ไม่รู้จัก ซ้ำมันบวชเล่นๆ นี่แหละมันกลายเป็นของเล่นอย่างนี้มันไม่จริงไม่จัง ครั้นเรามาบวชในศาสนามาปฏิบัติอย่างนี้ นักปฏิบัติมันต้องเอากันจริงๆจังๆจึงค่อยเห็น แต่ขนาดนั้นมันก็ยังไม่ถึงของจริงซ้ำอีก เอาละ
สติปัฏฐานสี่ ที่ท่านแสดงไว้ …ตามตำรับตำราท่านก็บอกใช้ทั้ง ๔ อย่าง แต่เมื่อปฏิบัติ พิจารณาอันใดอันหนึ่งให้มันได้เสียก่อน
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 62. สติปัฏฐาน ๔]