61. วิธีเทศนา

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

พระองค์ทรงเทศนาให้เลื่อมใสศรัทธาจริงๆ แล้วจึงค่อยสอนธรรมะโดยลำดับ

๖๑. วิธีเทศนา
วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑

จะเทศน์ “วิธีเทศน์” ให้โยมฟัง จะเทศให้พระฟังด้วย ญาติโยมฆราวาสที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา หรือไม่เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็แล้วแต่เถอะ โดยส่วนมากเขาเข้าใจว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่แท้ที่จริงยังไม่ถึงมากมาย เทศน์ให้เขาฟังสูงๆ เขาเข้าใจเบื้องต้นยังไม่ทันดี เบื้องต้นไม่ดี เบื้องปลายมันก็ไม่ดีเหมือนกัน เขาอยากฟังเทศน์สูงๆ แต่เบื้องต้นเขายังไม่เข้าใจ แต่ไม่อยากฟัง

ผมเคยเทศน์ที่ ที่ว่าการที่ภูเก็ต ผมเคยเทศน์ให้ฟังหนหนึ่ง เขาเลยไม่อยากฟังว่าเทศน์ของตื้นๆ เราอยากจะให้เข้าใจหลักฐานเบื้องต้นให้มั่นคงเสียก่อน แล้วจึงฟังเทศน์ต่อไป แต่เขาเข้าใจไม่เหมือนกับเรา เหตุนั้นคนถือศาสนาจึงไม่ถึงแก่นพุทธศาสนาแท้

ที่เขาพูดกันว่า “ชาวพุทธ” ก็ถูกอยู่ ชาวพุทธเหมือนกับชาวบ้านชาวเมืองนี้ถูกอยู่ เขาถือพุทธศาสนา เขาถือไปตามกัน ลูกเล็กเด็กแดงก็ถือไปตามกัน เป็นชาวพุทธแต่พุทธศาสนาแท้ไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นพุทธศาสนา แก่นแท้ของพุทธศาสนามันต้องสมัยเมื่อครั้งพุทธกาล คนเลื่อมใสศรัทธาจริงๆจังๆ จึงค่อยเข้าไปหาพุทธศาสนา พระองค์ทรงเทศนาให้เลื่อมใสศรัทธาจริงๆ แล้วจึงค่อยสอนธรรมะโดยลำดับต่อไป

คนพวกเราทุกวันนี้เขาเป็น “ชาวพุทธ” เขาถือกันโดยลำดับ ไม่ว่าพระเจ้าพระสงฆ์ถือ ไม่ถึงพุทธเหมือนกัน เราจะเห็นได้ในการกราบ ในการไหว้อย่างว่า การกราบเขาถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วไม่มี เรากล่าวอยู่เสมอ ความข้อนั้นเป็นของจริง แต่เราไม่ทำจริงอย่างนั้น ไม่เคารพนับถือจริงๆจังๆ กราบก็กราบไปอย่างนั้น เห็นพระพุทธรูปอยู่ก็กราบ บางทีกราบพระพุทธรูปก็ไม่เห็นพระพุทธรูปซ้ำอีก ไม่เป็นที่พึ่งที่ระลึกอีก เมินตาเมินหน้าไปที่อื่นโน่น ไม่ทราบว่ากราบอะไร ไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สักที กราบจนหัวเข่าด้านก็ไม่ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

มันทำเป็นเล่นๆ ไม่ทำจริงๆจังๆ กล่าวพุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ไม่ถึงพระพุทธ ไม่ระลึกถึงพระพุทธ ไม่ทราบระลึกถึงอะไร กราบเฉยๆนี่แหละ ทั้งไม่รู้เรื่องรู้ราว บางทีกราบก็พูดพึมๆพำๆอยู่ บางทีกราบก็พูดเรื่องอื่นต่อไป ไม่เข้าใจถึงพุทธศาสนาทำเพียงสักว่าทำ เหตุนั้นจะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งจริงๆอย่างไรได้ ถ้าหากถึงคราวจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยก็พึ่งไม่ได้ พึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย ระลึกถึงแต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ระลึกถึงคุณของท่าน ระลึกถึงเฉยๆว่าคอยให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาช่วย คอยให้พระมาช่วย อันนั้นแหละที่ว่าไม่ถึงนั่น

แท้ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของตน แล้วระลึกถึงพิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันจึงค่อยซาบซึ้งเข้าถึงในใจ โรคภัยทั้งหลายอาจสามารถหายไปได้ คนทั้งบ้านทั้งเมืองถือกันแต่เพียงแค่นั้นเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ช่วยเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย หรืออ้อนวอนขอให้มีโชคมีลาภก็ขอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านจะไปช่วยให้โชคให้ลาภอย่างใดได้ ครั้นเราไม่ถึงท่านแล้วมันก็ไม่เป็นประโยชน์นะซี หากเราตั้งใจระลึกถึงท่านจริงๆจังๆเหมือนกับเราระลึกถึงคนที่มีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วก็ตาม ญาติๆวงศ์ๆพี่น้องของเราเป็นพ่อแม่ เราระลึกถึงอยู่เสมอถึงอุปการะคุณของท่าน ทำให้เราได้เกิดมา ทำให้เราได้มีอาชีพ สอนให้เรามีอาชีพไปที่ไหนๆก็ระลึกถึงอยู่ตลอดเวลา ไกลแสนไกลก็ยังระลึกถึงอยู่ อันนั้นแหละจึงจะเรียกว่า “ถึงแท้”

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เหมือนกัน ที่จะให้ถึงแท้ มันต้องเป็นอย่างนั้นมี ศรัทธา ให้มันเชื่อมั่นอย่างนั้นเสียก่อน ครั้นศรัทธาเชื่อมั่นปักแน่นลงไปแล้ว มันหากเป็นไปเองหรอก ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นไปหรอก ศรัทธาไม่ดี คือเบื้องต้นไม่ดีแล้ว ตอนปลายตอนที่สุดมันก็เหลวไหลหมด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หากเราเชื่อมั่นแล้วมีหลักประกันในตัว

เชื่อมั่นที่มีหลักประกันนั้นน่ะเป็นอย่างไร? เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม เราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตนเองทำตนเองได้รับ อันนั้นแหละจึงว่าเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ไม่ใช่คนอื่นหรือสิ่งอื่นมารับแทน หรือคนอื่นให้ เรานั่นแหละเป็นคนให้เอง เป็นคนได้รับเอง เรามั่นคงในใจอย่างที่อธิบายมาเบื้องต้น เชื่อมั่นในกายในใจของเรา เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมว่าทำดี ได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ศีลเข้ามาในตัวเลย ความชั่วเป็นการผิดศีล ความดีเป็นการมีศีล นั่นแหละเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม มันเนื่องมาถึงศีล ข้อใดๆของศีลทั้งปวงหมด ไม่สามารถล่วงเกินได้เลย มันมั่นคงลงไปแล้ว จะประพฤติกาย วาจา ใจ ด้วยประการต่างๆ มันเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว ไม่สามารถจะล่วงละเมิดในศีลข้อนั้นๆได้ ศีล ๕ ศีล ๘ ไม่ต้องสมาทาน สมาทานทุกวันๆศีลก็ไม่เข้าถึงใจ ครั้นถ้าหากเข้าถึงใจแล้วไม่ต้องสมาทาน ศีลก็เข้าถึง การสมาทานนั่นเป็นการดี เป็นการพร้อมเพรียงสามัคคีกัน ถ้าหากเราไม่สมาทานเข้าหมู่เข้าพวกมันก็เก้อเขินมันไม่สมบูรณ์ แต่ว่าในใจของเราให้มันถึงด้วย อย่างที่ว่ามานี่

ศีล ๑๐ ก็เหมือนกัน สามเณรเป็นผู้สมาทาน ถ้าหากมีหิริโอตตัปปะ เป็นเครื่องสนับสนุนอยู่แล้ว นั่นละ หิริโอตตัปปะสนับสนุนศีลข้อนั้นไม่ล่วงละเมิดไปได้ ศีลของพระภิกษุไม่มีการสมาทานถ้าหากเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม มีหิริโอตตัปปะอยู่แล้ว ศีล ๒๒๗ หรือเข้าไปกว่านั้นก็ตาม มันงดเว้นได้ ศีลของพระไม่เพียงแต่ ๒๒๗ เท่านั้น มันเป็นหมื่นๆแสนๆที่ไม่ได้มีมาในปาฎิโมกข์ จะไปปฏิบัติได้อย่างไรครั้นถ้าหากไม่เข้าถึงใจไม่เข้าถึงอย่างที่ว่านี่ มีการเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมอย่างนี้แล้ว มันก็งดเว้นความชั่วต่างๆได้ พระไม่สมาทานศีล มันเกิดมาเอง พอสวดญัตติแล้วก็สมมติเป็นพระเลย แล้วก็สำเร็จ มรรค ผล นิพพานเลย

แต่ก่อนพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า “เอหิ ภิกขุ” เมื่อศรัทธาเพียงพอ ท่านก็บอกเพียงว่า ท่านเข้ามาเถิดเป็นภิกขุในศาสนา ปฏิบัติตามธรรมที่เรากล่าวดีแล้ว มันเชื่อจริงๆจังๆในใจของท่าน ท่านเป็นภิกษุจนกระทั่งสำเร็จ มรรค ผล นิพพานได้ นี่ศีลมันแล่นเข้ามาเองเต็มในหัวใจของพระภิกษุนั้น ไม่บกพร่อง ศีลไม่ใช่เป็นตนเป็นตัว ความงดเว้นนั้นต่างหากตัวศีล ครั้นศีลเป็นตัวเป็นตนมันก็เต็มไปหมดทั้งในอกในทรวงน่ะซิ มันจะอยู่ไหวหรือคนเรา เป็นพระภิกษุมีศีลเต็มไปหมดทั้งตัว เพราะเหตุไม่เป็นตนเป็นตัว ศีลมันจึงค่อยเบา ผู้ใดมีบริบูรณ์สมบูรณ์แล้วเบาตนเบาตัว เบาหมดทุกอย่าง กาย วาจา ใจ

ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล แน่วแน่อยู่ในศีล พิจารณาเรื่องศีลของตนอยู่เสมอเป็นนิจ จิตใจแน่วแน่ เป็นสมาธิภาวนา เรียกว่า ศีลานุสติ มันเป็นการระลึกถึงศีลอยู่ตลอดเวลา เป็นคำบริกรรม สัญญาทั้งหลายย่อมเกิดจากการระลึก การพิจารณาอยู่นั้น พิจารณาทั้งภายนอกภายใน ทั้งที่ตนทำแล้วและที่ตนทำอยู่ พิจารณาเรื่องกรรมเรื่องผลของกรรมเริ่มจากกรรมชั่วนั้น มันเลยเป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญญาที่อื่น ปัญญา เกิดจาก สมาธิ มันเกิดจากนี่แหละ เรื่องใดๆทั้งปวงหมด เราพิจารณาค้นคว้าเห็นโทษเห็นคุณ เห็นคุณเราเกิดความปลื้มปิติ เห็นโทษเราเกิดความเสียใจ ยอมสละไปได้ มันเป็นปัญญาเกิดจากสมาธิ

ปัญญาวิปัสนามันเกิดอีกตอนหนึ่ง ปัญญาวิปัสนาเป็นอีกอย่างหนึ่งที่พิจารณาค้นคว้าเห็นเหตุเห็นผล เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นทุกสิ่งหมดมันเป็นอยู่อย่างนั้น เกิดอยู่อย่างนั้น เราไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญว่าตนว่าตัว มันจึงเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา ความไปยึดไปถือนั่นแหละมันเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา เราปล่อยสละวางลงไป มันก็อยู่ตามเดิม ไปยึดมั่นก็เท่านั้นไม่ยึดมั่นก็เท่านั้น มันจึงเกิดปัญญาวิปัสนา อันนั้นเป็นปัญญาเห็นตามสภาพตามความเป็นจริงของมัน

มันเป็นไปตลอดหมด ตั้งแต่พระไตรสรณาคมณ์ไป ตั้งแต่ศรัทธาไปตลอดถึง มรรค ผล นิพพาน ด้วยซ้ำ บางท่านบางองค์ท่านแสดงว่าผู้ใดถือยึดมั่นในพระไตรสรณาคมณ์ ให้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ไม่ทำบุญนอกพุทธศาสนา ไม่ถือผีถือสางไม่ถือตะกุดเครื่องรางของขลัง ถือพุทธศาสนาแล้วพระยังถือเครื่องรางของขลังไม่มีหรอก ไม่มีพุทธศาสนาอยู่ในตัวเลย ครั้นผู้ใดยังฝักใฝ่ในเครื่องรางของขลังอยู่ ผู้นั้นยังไม่ถึงศาสนา ท่านบอกว่าครั้น เมื่อถึงพุทธศาสนาแล้วจึงจะเป็นพระโสดาบันได้ เป็นได้จริงอย่างที่อธิบายมานี่แหละ เมื่อศีลมั่นคงแน่นอนไม่หวั่นไหวเลย ยอมสละชีวิตทุกอย่างเห็นศีลเป็นของมีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นทั้งหมด มันเป็นรัตนศรัทธา เอาละ

ถ้าหากมีหิริโอตตัปปะ เป็นเครื่องสนับสนุนอยู่แล้ว นั่นละ หิริโอตตัปปะสนับสนุนศีลข้อนั้นไม่ล่วงละเมิดไปได้

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 61. วิธีเทศนา]