60. เห็นกิเลสเป็นของดี

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

๖๐. เห็นของเลวเป็นของดี
วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

เพราะเหตุที่ไม่เห็นความร้อนนั่นเอง มันยังอยู่ในความร้อนทั้งนั้น เข้าใจว่าเป็นของเย็น เข้าใจกิเลสเป็นของตรงข้ามว่าเป็นของสบาย เป็นของดี “ความร้อน” ในที่นี่นั้น ร้อนด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ร้อนตั้งแต่เบื้องต้นจนอวสานที่สุด เรียกว่าความร้อน

ตาเห็นรูปสดสวยงดงาม เกิดความรักใคร่ยินดี มันร้อนอย่างไร? เกิดความรักใคร่ยินดีเกิดความพอใจ มันร้อนอย่างไร? ให้พิจารณาดูทำไมจึงว่ามันร้อน?

เพราะเหตุที่ว่าความรัก ความใคร่ ความกำหนัด ความยินดี ความพอใจ ความเพลิดเพลิน เหล่านั้นมันไม่อยู่ปกติธรรมดา จิตใจของคนเราถ้าอยู่ปกติธรรมดาแล้ว มันก็เฉยไม่มีร้อนไม่มีเย็น อันนั้นมันอยู่ปกติ อันนี้มันวุ่นวายด้วยความรักด้วยความโกรธ ด้วยความหลง ด้วยความยินดี รักใคร่อันนั้นน่ะ นั่นจึงว่าเป็นของร้อน แต่คนเราไม่เห็นความร้อนอันนั้น เห็นว่าเป็นของดีซ้ำอีก อยากจะได้รูปสวยๆ อยากได้เสียงเพราะๆ กลิ่นรสชาติดีๆชอบใจ โผฏฐัพพะสิ่งที่นิ่มนวล ธรรมารมณ์อารมณ์ที่มันเพลิดเพลิน นั่นแหละเข้าใจว่าเป็นของดี รูปสวยๆเข้าใจว่าเป็นดีเข้าใจว่าเป็นของเย็น เข้าใจว่าเป็นของชอบใจ มันชอบใจจึงว่าเป็นของเย็น

เพราะเหตุคนไม่เห็นกิเลสของตน อันว่าความยินดียินร้าย พอใจไม่พอใจนั้นเป็นตัวกิเลสทั้งหมด พระองค์จึงทรงค้นคว้าพิจารณาเห็นว่า อ้อ! อันนี้เองมันทำให้มนุษย์สัตว์โลกพากันหลงงมงายไปในที่ต่างๆ เห็นของเลวเป็นของดี เห็นกิเลสเป็นของชอบใจ มันก็ยากนักที่จะพ้นจากโลกนี้ได้ เห็นว่ามนุษย์ทั้งหลายวิ่งเลาะอยู่ในขอบเขตอันนั้นแหละ ไม่มีการไปพ้นได้ เพราะวนเวียนอยู่ไม่กล้าข้ามพ้นได้

เรื่องกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ คนเราทั้งหลายอยู่ด้วยความร้อนเหล่านี้เรียกว่านรก นรก ทำไมสัตว์นรกจึงยังอยู่ได้? มันก็อย่างนี้แหละ มันอยู่ได้เพราะเหตุมันชอบใจนั่นเอง ก็เมื่อใดมันร้อนเต็มที่แล้ว ถึงจะอยู่ไม่ได้นั่น เรียกว่าร้อนเต็มที่ เช่น การเห็นรูปอย่างนี้เป็นต้น ชอบอกชอบใจ อยู่ที่ไหนก็อยากไปได้ยินข่าวก็อยากไปชมอยากไปดู เสียงก็เหมือนกัน ได้ยินข่าวว่าเสียงเพราะอยู่ที่ไหนก็อยากฟัง อยู่ใกล้อยู่ไกลสักเท่าไรก็อุตส่าห์พยายามไป เพื่อให้จิตใจมันจมลงในนั้น ไม่ให้มันพ้นขึ้นมาจากนั้นได้นั่นแหละจึงว่า สัตว์นรกมันอยู่ได้ด้วยอาการอย่างนี้

เอาใครไปสอนสัตว์นรกมันก็ไม่รู้เรื่อง สอนว่าเป็นของร้อน มันก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าหากว่ามนุษย์ของเรา ท่านสอนว่าเป็นโทษก็ไม่รู้เรื่อง มันก็เหมือนกันกับสัตว์นรกนั่นซี สอนเท่าไรก็ไม่รู้เรื่อง สอนเท่าไรก็ไม่เข้าใจว่ามันเป็นของร้อนนะ มันเป็นของไม่ดีนะแต่ก็เข้าใจว่าเป็นของดีนะเรื่อยเข้าไป ถลำเข้าลึกเข้าไปทุกที จึงเรียกว่า มนุษย์นรก มนุษย์นี่แหละเป็นสัตว์นรก “นรก” มาจาก นะ-ระ-กะ แปลว่าคน เราเลยอ่านสะกดเป็นนรกเลย อันแท้ที่จริงคนเรานี่แหละ เราลืมเสีย

สิ่งใดๆทั้งปวงหมดพูดไม่เข้าใจ พูดไม่รู้เรื่อง สิ่งที่ผิดแสดงให้รู้จักว่าผิด เห็นว่าไม่ถูกไม่ต้องก็ไม่เข้าใจ กลับเห็นเป็นของดีของชอบ เลยกลับฟังไม่เข้าใจซ้ำอีก นั่นแหละเป็นนรกอยู่ในตัว ในตัวของเรานี่ทั้งหมดสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ อย่าพึ่งเข้าใจว่าพ้นจากนรกแล้วเลย ต่อเมื่อใดทำใจให้หลุดพ้นจากนรก ทำใจให้เป็นกลางๆอยู่เสมอ มันไม่เอียงไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา ในอดีตในอนาคต มาเป็นกลางแล้วมันจะมีอะไรที่นั่น? มันก็พ้นจากนรกได้ ถึงแม้ว่าพ้นไม่ได้นาน ชั่วครู่หนึ่งขณะหนึ่งก็ดีแล้วที่พ้นจากนรก จะได้จำอันนั้นไว้

แต่บางคนนั่นพ้นจากนรกแล้วก็ไม่รู้อีกว่าพ้นจากนรก เพราะเหตุที่ไม่เข้าใจไม่มีปัญญาฉลาด อยากจะวิ่งเข้าไปหานรกนั่นอีกจึงค่อยสบายใจ อย่างบางคนภาวนาแล้วอยู่นิ่งเฉยๆแล้วว่าตนไม่มีปัญญาโง่ ดิ้นรนกระเสือกกระสนไปหาคิดหาพูดวุ่นวายนั่นจึงสบายใจ นิสัยคนมันเป็นอย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา อันความสงบความเฉยๆเป็นกลางๆมีความรู้เท่ารู้ตัวอยู่นั่น มันไม่เคยมี ไม่เคยเป็น ไม่เคยได้ ครั้นเมื่อถึงตอนนั้นแล้วไม่ทราบจะไปไหน? ก็เลยหาเรื่องยุ่งอีก มันก็เลยไปใหญ่ไปโต

อันทางไม่เคยไป สถานที่ไม่เคยพบ คนที่ไปพบเข้าแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นแหละต้องสังเกตดูว่ามันเป็นความสุขสบายเท่าไร อันที่ไม่วุ่นวายกังวล เราฝึกหัดปฏิบัติมาในเบื้องต้นแต่ไหนแต่ไรมา ชำระสะสางมา ละชั่วทำดีมาโดยลำดับเพื่อให้เข้าถึงความเป็นกลาง เมื่อเข้าไปถึงความเป็นกลางแล้วก็เข้าใจว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของดี วิ่งไปหาอาการวุ่นวี่วุ่นวายอีก มันก็เลยไม่จบไม่สิ้นสักทีน่ะซิ

ทำทุกสิ่งทุกอย่างลองดูไม่ว่าจะภายนอกภายใน ทางธรรมก็ดีทางโลกก็ดี มันมีการหยุด มันมีที่หยุด มันมีที่จบ เขาทำสวนทำไร่ ทำมาค้าขายก็ต้องมีที่หยุด อย่างเขาทำนาก็ต้องมีการเก็บเกี่ยวแล้วก็เสร็จ ทำสวนก็มีการเก็บเกี่ยวเข้ายุ้งเข้าฉางแล้วก็เสร็จค้าขายก็เหมือนกันไปค้าขายมาหมดแล้วก็หยุดงานอันนั้นเรียกว่าพอ หยุดมันก็อยู่ ถ้าใครไม่หยุดมันก็ไม่พอสักที การเดินทางก็เหมือนกัน เราเดินไปไหนก็ดีแสนไกลอย่างไรก็ต้องมีที่หยุด ดูแต่เครื่องบินนั่นแหละไปบนอากาศโน่น มันก็ยังมีที่หยุด ครั้นไม่หยุดมันก็ไม่ถึงที่สุดสักทีน่ะซี

ธรรมะทั้งหลายก็เหมือนกัน เราพิจารณาไปทุกสิ่งทุกประการ มันหมดที่ไปแล้วมันก็ลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็หยุด มันหยุดเป็นสมาธิ หรือหยุดเป็นภวังค์ หรือหยุดเป็นฌาน หรือลงเป็นอัปปนา มันต้องหยุดมันจึงถึงที่สุด ที่สุดของสมาธิก็คือ อัปปนาสมาธิ ที่สุดของฌานก็คืออัปปนาฌาน ที่สุดของปัญญาวิปัสนาก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่มีที่ไปมันก็หมดแล้วหมดเท่านั้นแล้ว หมดที่สุดเท่านั้นแหละ ครั้นถ้ามันลงน่ะ

ที่สุดมันต้องมีทุกสิ่งทุกอย่าง ของภายนอกภายในเหมือนกัน ถ้าไม่มีที่สุดมันก็ไม่ถูกทาง สังเกตได้ว่าทางที่ถูกมันต้องมีที่หยุดมีที่สุด นิ่งอยู่เฉยๆผมจึงเคยพูดว่า อันของกลางๆนั้น มันไม่เอนเอียงไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ไม่มีเอนเอียงไปข้างซ้ายข้างขวา มันไม่ถูกกระทบอะไรทั้งหมด มันเป็นกลางๆแล้วมันก็หมดเรื่องกระทบ พอรู้เป็นกลางๆอยู่ นั่นแหละเป็นอันหมดที่สิ้นสุดของการภาวนา

เพราะเหตุคนไม่เห็นกิเลสของตน… พากันหลงงมงายไปในที่ต่างๆ เห็นของเลวเป็นของดี เห็นกิเลสเป็นของชอบใจ มันก็ยากนักที่จะพ้นจากโลกนี้ได้

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 60. เห็นกิเลสเป็นของดี]