55. อริยสัจ ๔

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

สัจธรรมทั้ง ๔ ไม่ได้มาจากไหน หากมีอยู่ในตัวของเราทุกๆคน ถ้าหากค้นคว้าเห็นสัจธรรมอันนี้ด้วยใจของตนเอง ก็สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน

๕๕. อริยสัจ ๔
วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑

เกิดมาทุกคนก็เป็นกัมมัฏฐานในตัวแล้ว มีกัมมัฏฐานอยู่แล้วทุกคน ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกได้แก่พิจารณา “กาย” ภายในได้แก่ “จิต” ทุกคนถ้าหากไม่มีกัมมัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะทำดิบทำดี ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้ ทุกคนมีความเสมอภาคกันทั้งหมดในกัมมัฏฐานเหล่านี้

ที่ท่านว่าศาสนาเสื่อมๆน่ะ คือคนไม่ปฏิบัติตามต่างหาก ศาสนาไม่ได้เสื่อมไปไหนอยู่คงที่ มรรค ผล นิพพาน ก็มีอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อริยสัจ ๔ ยังมีอยู่ตราบใด มรรค ผล นิพพาน ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น เป็นเพียงแต่ว่ามรรค ผล นิพพานไม่ปรากฏ ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านฉลาดเฉลียว มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สัจธรรมทั้ง ๔ ไม่ได้มาจากไหน หากมีอยู่ในตัวของเราทุกๆคน ถ้าหากค้นคว้าเห็นสัจธรรมอันนี้ด้วยใจของตนเอง ก็สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมเป็นของมีอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา ศาสนาก็มีขึ้นมา เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ยังปรากฏอริยสัจทั้ง ๔ อยู่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ก็ทรงเผยแพร่พระศาสนา ทรงชี้เข้ามาในบุคคลที่เป็นตนเป็นตัวนี้ สัจธรรมทั้ง ๔ อยู่ตรงนั้นๆ พิจารณาอย่างนั้นๆมันจึงเห็น ผู้ปฏิบัติตามย่อมเห็นแจ้งชัดขึ้นมา พระองค์ปรินิพานไปแล้ว ก็ดับไปแต่พระองค์ ศาสนายังคงที่อยู่ ศาสนาเสื่อมก็เสื่อมที่นี่ หมายถึงคนไม่ปฏิบัติต่างหาก พระพุทธเจ้ามาอุบัติอีกในโลก ก็มาปฏิบัติอันนี้ ไม่ปฏิบัติอื่นไกลหรอก พิจารณาสัจธรรม ๔ นี่แหละรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในโลกอันนี้แหละ

ทุกข์ทั้งหลายมีอยู่ทั่วไป ทุกข์มีอยู่ตลอดเวลา ทุกข์เป็นของควรกำหนด คือ ไม่ใช่ของควรละ ละไปไหนล่ะทุกข์ เอาไปทิ้งให้ใครก็ไม่ได้ เพราะมีสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกผู้ทุกคน แต่คนไม่ต้องการพิจารณาทุกข์หาแต่สุขอย่างเดียว มันก็เลยไม่เห็น ครั้นพิจารณาเรื่องทุกข์แล้ว ทุกข์มันเลยระงับไปจึงเห็นสุข ทุกข์เป็นเครื่องวัดสุข ธรรมทั้งหลายต้องมีเป็นคู่กัน ถ้าไม่มีทุกข์เป็นเครื่องวัด จะเอาสุขที่ไหนมาเป็นเครื่องวัด ไม่มีหรอกมีแต่ทุกข์อย่างเดียวก็ไม่มีสุข มีสุขอย่างเดียวมันก็ไม่มีทุกข์มันต้องเป็นเครื่องเทียบกัน มันจึงจะรู้จักว่าอะไรมากอะไรน้อย สุขมากกว่าทุกข์หรือทุกข์มากกว่าสุข

สัจธรรมทั้ง ๔ มีอยู่ มนุษย์ชาวโลกมาพิจารณาว่ามันเป็นอย่างนั้น เกิดมาก็ทุกข์ทั้งนั้น ขันธทุกข์ มีอยู่ในตัวของเราทั้งหมด เกิดขึ้นมาก็มีแล้วไม่มีใครเอามาให้ไม่มีใครเอาไปทิ้งได้ ทุกวันนี้มีอยู่ประจำตัว คนผจญทุกข์จึงจะเห็นทุกข์ คนไม่พิจารณามันก็เพลินหลงมัวเมาไป เอาทุกข์มาเป็นสุขเสีย มันก็แล้วไปเท่านั้น มันไม่เห็นตันตอ ไม่เห็นบ่อเกิดของทุกข์ ทุกข์มีอยู่ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ ที่ไหนๆก็มีอยู่หมด ทุกคนทุกแห่งทุกหน เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในโลกอันนี้ ไม่มีหรอกในโลกอื่น เย็นก็ดี ร้อนก็ดี อ่อนแข็งต่างๆมีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น มันกระทบคนเราอยู่อย่างนั้น พอมันมากระทบเข้าแล้วก็เห็นเป็นทุกข์

คนไม่พิจารณาทุกข์ อยากหนีจากทุกข์ ไม่มีการต่อสู้ก็เลยไม่เข้าใจทุกข์สักที พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านพิจารณาทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุของทุกข์คือตัณหา ๓ คือ ความทะเยอทะยาน ดิ้นรนกระเสือกกระสน อยากได้อยากดี อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ภายในก็มีตัณหาเกิดขึ้นมาในใจ มีแต่ความทะเยอทะยานดิ้นรน กระเสือกกระสนรักใคร่พอใจ อันความรักใคร่พอใจความเอมอิ่มนั้นมันเป็นตัวทุกข์

นั่นเรียกว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือตัณหาความทะเยอทะยาน ได้สิ่งใดมาไม่พออยากได้มากๆขึ้นไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นได้มากแล้วมันต้องสะสม ของมากๆมันต้องเก็บมันต้องรักษา ก็ลองดูคนที่มีของมากๆ อะไรก็มีหมดอะไรก็มีหมด มันต้องเต็มบ้านเต็มเมืองหาที่เก็บไม่ได้ มันจึงเกิดความเดือดร้อน ที่นี้เลยไม่อยากมีไม่อยากเก็บ ไม่ต้องอื่นไกลล่ะ คนที่มีลูกหลายๆคน คนที่มีเมียมากๆต้องการจะใช้ลูก ครั้นมีมาแล้วมันเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่อยากมีแล้วคราวนี้ แต่มันจำเป็น ครั้นไม่อยากมีจะเอาไปทิ้งที่ไหน มันก็เดือดร้อนน่ะซี เราไม่อยากมี ไม่อยากเป็น อันของที่ได้มามากๆน่ะมันเหลือแหล่มันเหลือเฟือ เกินต้องการแล้ว มันจึงเป็นทุกข์ มันจึงไม่อยากมี

ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากตัณหา ๓ ด้วยกันทั้งนั้น ตัณหา ๓ ไม่มีที่โลกอื่น มีที่ กามโลก นี่เท่านั้นแหละ คนเกิดมาจะไม่มีไปได้ อันนี้จึงเรียกว่าทุกข์ ทุกข์ เป็นของมีอยู่ สมุทัยก็เป็นของมีอยู่ นิโรธ ความดับทุกข์ เมื่อมีทุกข์แล้วก็ต้องมีความดับทุกข์ ธรรมเป็นคู่กันอย่างที่ว่ามานั่นแหละ ที่จะดับทุกข์ได้ก็ต้องมีมรรคปฏิปทามีความเห็นชอบ เป็นต้น ครั้นมีความเห็นชอบแล้วมันชอบทั้งหมดทุกมรรคนั่นแหละ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มันเห็นอะไรความเห็นชอบ บอกก็ไม่เข้าใจ มันต้องรู้ด้วยตนเองว่า อย่างไรมันเห็นถูกเห็นชอบ ปฏิบัติฝึกหัดมาเบื้องต้นตั้งแต่บริกรรมทำกัมมัฏฐาน มันมีทั้งผิดทั้งถูก มันมีทั้งดีทั้งชั่ว กว่าที่จะลงตัวได้ โอโอ้! มากมายเหลือเกิน ปฏิบัติมามากมาย

มรรค ท่านจึงบอกว่า มีในขณะเดียวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มัคคสมังคี นอกจากนั้นเป็นอันอนุโลมทั้งหมด ปฏิบัติลวงๆไม่ใช่ของจริง คำว่า “เห็นชอบ” ต้องเห็นด้วยตนเอง ความ “ดำริชอบ” ก็เหมือนกัน ดำริอะไรดำริชอบ? มันต้องเห็นด้วยตนเอง วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ มันชอบทั้งหมด มันต้องเห็นด้วยตนเองทั้งนั้น คนอื่นพูดไม่ถูก พูดอะไรก็เพียงแต่ว่าอนุโลมเข้ามา ครั้นเห็นชอบแล้วจึงค่อยเป็นสัมมาทิฏฐิจึงค่อยลงเป็น อริยมรรค เป็นเครื่องสนับสนุนให้ถึงนิโรธ ความดับทุกข์

ทำอย่างไรจึงจะเป็นมรรคปฏิปทา? การปฏิบัติมันมีถูกมีผิด ผู้ปฏิบัติผิดก็ปฏิบัติถึงฌานสมาธิได้เหมือนกัน พวกนี้ผิดเสียก่อน เช่น โกรธบ้านโกรธเมืองขึ้นมาก็เพ่งกสิณจนไฟไหม้หมดทั้งบ้านทั้งเมือง โกรธคู่ปรปักษ์กันก็สาปแช่งซึ่งกันและกัน ฤาษีสาปแช่งขึ้นมาหัวแตกเป็น ๗ เสี่ยง ก็เป็นจริงๆ ฤาษีก็มีสาปแช่งเหมือนกัน เพราะมีการปฏิบัติผิด ไม่ถูกสัมมาทิฏฐิ

จึงว่า ทุกข์ก็เป็นของมีอยู่ สมุทัยก็เป็นของมีอยู่ นิโรธก็เป็นของมีอยู่ มรรคก็เป็นของมีอยู่ มีแต่ไหนแต่ไรมา ใครจะปฏิบัติถูกทางก็ตาม ปฏิบัติไม่ถูกทางก็ตาม มันก็มีอยู่อย่างนั้น ธรรมเป็นของเกิดมีอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงรู้ขึ้นมาว่า โอ อย่างนี้หรอกมันจึงค่อยถูก อย่างนี้หรอกมันจึงค่อยเรียกว่ามรรค คือมัคคสมังคี ก็เป็น ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ มรรคสัจจ์

พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ท่านทรงพิจารณาและพิจารณาเห็นชัดเห็นจริงแล้ว พระองค์ทรงละ ทรงทิ้ง ท่านเห็นจริงแล้ว ท่านถอนสละทิ้งได้นั่นเรียกว่า ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะท่านรู้ท่านเห็นตามเป็นจริง สละทิ้งได้ ท่านไม่ยึดไม่ถือ ขณะที่ท่านพิจารณาเห็นนั่นท่านทิ้งถอนเลย แต่เมื่อไม่พิจารณามันกลับมาอีก แต่คราวนี้ท่านไม่เป็นทุกข์ ทั้งที่ทุกข์ก็มีอยู่

พระพุทธเจ้าและพระอริยะสาวกทั้งหลาย ขณะที่ท่านพิจารณาเห็นนั่นท่านทิ้งถอนเลย แต่เมื่อไม่พิจารณามันกลับมาอีก แต่คราวนี้ท่านไม่เป็นทุกข์ ทั้งที่ทุกข์ก็มีอยู่

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 55. อริยสัจ ๔]