53. กามคุณ ๕

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

“กามคุณ ๕” เป็นเหตุให้วุ่นวาย เป็นเหตุให้ส่งส่าย เป็นเหตุให้จิตไม่สงบ ถึงจิตไม่สงบ ก็รักษาเอาไว้ให้มันสงบ

๕๓. กามคุณ ๕
วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑

ถึงวันพระวันศีล ๑๕ ค่ำ พวกเราพากันสวดปาฏิโมกข์ ฟังสิกขาบทนั้นๆได้ ทบทวนความจำสิกขาบทต่างๆ ที่เราฝึกหัดปฏิบัติอยู่ เพื่อได้พิจารณาตรวจตราตัวของตนที่จริงแล้วเราตรวจกายอยู่ทุกเมื่อ ไม่ว่าเวลาใดขณะใด ตรวจที่กายที่วาจาที่ใจของเรานี่ ไม่ต้องไปตรวจที่อื่นหรอก ไม่ต้องรอถึง ๑๕ วันจึงตรวจครั้งหนึ่งอย่างที่เราฟังปาฏิโมกข์ ของเป็นจริงแท้มันอยู่กับตัวของเรา กาย วาจา ใจ ของเรา เรารู้ตัวของเราดี

กายมันดีไหม? วาจามันดีไหม? ใจมันดีไหม? มันถูกต้องไหม? เรารู้ตัวของเราทุกเมื่อ ไม่ต้องให้คนอื่นบอก ไม่ต้องให้คนอื่นจำ เราทำอยู่ตลอดเวลาเรียกว่า มีสติควบคุมจิตของตน เรามาปฏิบัติ การปฏิบัติเราจะไปทำอะไรนอกจากอบรม กาย วาจา ใจของตน ก็ทำที่กาย วาจา ใจของตนน่ะซี ให้มันสงบเรียบร้อย อย่าให้กาย วาจา ใจ คะนองด้วยประการต่างๆ ที่มันไม่สงบก็ให้รู้เรื่อง มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบละเอียดรู้เรื่องอยู่ทุกขณะ จึงจะได้ชื่อว่าพวกปฏิบัติ กำจัดกิเลสทั้งหลายที่มันฟุ้งเฟ้อไปในที่ต่างๆ ให้มันสงบรวมอยู่ในที่นี้

กิเลส มันแทรกซึมอยู่ในตัวของเรา ไม่ว่าใครๆทั้งหมด มันให้อยู่ในตัวของเรานั่นแหละ เป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม มันให้แทรกซึมอยู่ในนั้น กิเลสของเราที่เคยสั่งสมมานานแล้วเป็นเอนกชาติ มันค่อยสะสม ค่อยออกมาปรากฏที่ตัวของตนมาบวชเป็นพระก็ไม่ใช่ จะเป็นพระทีเดียวเลยเมื่อไร มันยังเป็นฆราวาสอยู่ กิเลสทั้งหลายมันอยู่ในนั้นแหละ ไม่มีใครจะชำระให้หมดสิ้นได้ ตราบใดที่ยังปฏิบัติฝึกหัดอยู่ ถึงแม้ท่านผู้วิเศษวิโสสิ้นกิเลสแล้ว ก็ยังมีอาการที่เรียกว่ากิริยา แต่ท่านรู้เท่าของอาการกิริยา แต่เรานั้นไม่รู้เท่ายึดเอาตัวเลยจริงๆ เอาเป็นตัวการจริงๆ เหตุนั้นจึงต้องระวัง ระวังทุกขณะ ทุกเวลา เรามาบวชเป็นพระได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ปฏิบัติก็มิใช่อื่นไกลที่ไหนหรอก ปฏิบัติที่อายตนะ ๖ นี่แหละ

ตา เห็น รูป มันมีความรักใคร่ มีความยินดีพอใจอยู่ อันนั้นยังไม่เป็นพระ เป็นฆราวาสธรรมดา เป็นพระแต่ตัวส่วนใจยังเป็นฆราวาสอยู่ ถ้าหากมันมีความรักใคร่พอใจเบาบางลงไป อันนั้นค่อยยังชั่วหน่อย มันไม่มีที่อื่นหรอกมีในที่นี้แหละ ที่ตาของเราเห็นรูป รูปอะไรก็ไปดูเถิด จะเป็นเพศตรงกันข้ามก็ตาม ที่เป็นรูปภายนอกสารพัดทุกอย่าง ต้นไม้ภูเขาเลากา มันไปเห็นของภายนอก มันเกิดความยินดีพอใจ อยากได้ อยากมี อยากเป็นในรูปเหล่านั้น มันก็ออกจากกามคุณนี่ออกไปจากกามโลกนี่แหละ อันนั้นยังไม่ทันเป็นพระ ยังเป็นฆราวาสธรรมดานี่เอง เราควรที่จะรู้สึกตัว ตื่นตัว เขาเคารพนับถือพระเอาไปบูชา เราควรเป็นผู้ที่เขาบูชาแล้วหรือยัง? หรือยังทำเท่าเก่าอยู่ ควร ละลายตนเอง ควรรู้สึกตัวอยู่เสมอ

เสียง ที่เราฟังอยู่เหมือนกัน เสียงดี เสียงชั่ว เสียงหยาบละเอียด เสียงอ่อนหวาน ถ้ายังพอใจยินดี มันก็ออกไปจากกามคุณ ความรักใคร่พอใจยินดี มันออกไปจากกามคุณทั้งห้า อันนี้เป็นต้นเหตุทั้งนั้น ให้เข้าใจว่ายังไม่เป็นพระ ถ้าเราพิจารณาให้เห็นโทษของมัน ควรเบื่อหน่าย เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยังนับว่าดีกว่าฆราวาสขึ้นมาสักหน่อย อันที่เราเห็นโทษจริงๆจังๆนั้น ก็ได้ชื่อว่าดีกว่าฆราวาสธรรมดา

กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เหมือนกัน เป็นกามคุณ ๕ ทั้งนั้น เป็นเหตุให้วุ่นวาย เป็นเหตุให้ส่งส่าย เป็นเหตุให้จิตไม่สงบ ถึงแม้เราไม่สงบลงไปได้แต่ให้ระวังรักษาให้ดี ถึงจิตไม่สงบ ก็รักษาเอาไว้ให้มันสงบ นั่นค่อยยังชั่วหน่อย ดีกว่าจะปล่อยเพลินไปตามเรื่อง ไม่มีขอบเขต อันนั้นเป็นฆราวาสแท้ ความเป็นพระเลยไม่มีสักนิดเดียวอยู่ในตัว

จึงควรระวัง ควรละอายตนเอง คนอื่นเขาไม่รู้เรื่องหรอก แต่ก็ควรละอายตัวเอง เราเป็นพระเป็นนักปฏิบัติ เขาเคารพนับถือบูชาแต่จิตของเราแท้ๆมันยังเลวทรามกว่าพวกเขา ผู้ที่ปฏิบัติเขาเห็นโทษเห็นภัย เขาจึงค่อยมาปฏิบัติรักษาตัวตนให้สงบจากอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ ก็นับว่าเขาดีกว่าเรา เราเป็นพระไม่เกิดอุบายปัญญาอะไร ก็ควรจะหาความรู้ความฉลาดจากหนังสือ หนังสือก็หาไว้ให้ดูแล้ว บางองค์ขี้เกียจดูหนังสือ ไม่อยากพิจารณา ไม่เอาปัญญาจากหนังสือ สมัยนี้การศึกษาเล่าเรียนมันมาก ไม่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์เท่าไรนัก มีตำรับตำราแล้วก็พอดูได้ ถ้าจำเป็นที่ขัดข้องต้องศึกษากับครูบาอาจารย์ ก็เข้าพบเข้าหาครูบาอาจารย์ มันจึงสะสมควรที่เป็นผู้มีการศึกษาสูง

กายมันดีไหม? วาจามันดีไหม? ใจมันดีไหม? มันถูกต้องไหม? เรารู้ตัวของเราทุกเมื่อ ไม่ต้องให้คนอื่นบอก

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 53. กามคุณ ๕]