52. ขันธ์ ๕

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

การพิจารณาขันธ์ ๕ เป็นสมาธิก็ได้ เป็นสมถะก็ได้ เป็นวิปัสสนาก็ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ในนั้นหมด อริยสัจธรรมสี่ ก็ออกไปจากขันธ์ ๕ นี้

๕๒. ขันธ์ ๕
วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑

การพิจารณาขันธ์ ๕ เป็นกัมมัฏฐาน ขันธ์ ๕ คือตัวของเราได้แก่รูปกับนามขยายออกไปก็เป็นธาตุ ๔ เป็นอายตนะ ๖ เป็นอาการ ๓๒ ฯ แจกออกไปกว้างขวางแจกออกไปจากขันธ์ ๕ นี้ทั้งนั้น ขันธ์ ๕ ได้ชื่อว่าเป็นที่รวมของธรรมทั้งหลาย การพิจารณาขันธ์ ๕ จะเป็นสมาธิก็ได้ เป็นสมถะก็ได้เป็นวิปัสสนาก็ได้ ได้ทุกอย่าง ศีล สมาธิปัญญา รวมกันอยู่ในนั้นหมด ที่ท่านพิจารณาเรื่องทุกข์เป็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็ออกไปจากขันธ์ ๕ นี่ทั้งนั้น

คนเขายังพูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ได้ยินเขาร้องรํากันกลางบ้านกลางเมือง เขาพูดเป็นเล่น แต่มันเป็นของจริง เช่นเขาว่า “ทุกข์ในขันธ์ ๕ มารวมในขันธ์ ๔ ทุกข์ในโลกนี้มารวมที่ข้อย (ที่ข้า) ผู้เดียว” ทุกข์ในขันธ์๕ มารวมเป็นขันธ์ ๔ ก็คือธาตุ ๔ นั่นเอง ในโลกนี้ใครๆทั้งหมดก็มีแต่ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ทั้งนั้นแหละ ที่เกิดมาในโลกนี้มันมีทุกข์อยู่ที่ตัวแล้ว ขันธ์ ๕ นี่มารวมกันเข้าเป็นรูปกับนามแล้วก็มีแต่เสวยทุกข์อยู่ตลอดกาลเวลา ตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา เป็นภาระทุกข์ยากแก่มารดา

กระทั่งคลอดออกมาก็เป็นทุกข์ เติบโตขึ้นมาแล้วก็เป็นทุกข์โดยลําดับ จนกระทั่งแก่เฒ่าชรายิ่งทุกข์มากขึ้นไปอีก ตายแล้วก็เป็นทุกข์แก่คนอื่นอีก ภาระมากขันธ์ ๕ นี่เป็นภาระมากทีเดียว เป็นภาระแก่ตนด้วย แก่คนอื่นด้วย

คําว่า “ทุกข์” นั้นคือ มันทนอยู่ไม่ได้ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ ก็รวมมาอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ขันธ์ ๑ มันก็ออกไปจากขันธ์ ๕ นี่เอง ขันธ์ ๔ ผู้เจริญฌาน สมาธิได้เข้าถึง ฌาน รูปฌาน อรูปฌานก็รวมลงในขันธ์ ๔ คือตายไปแล้ว ไปเกิดยังเหลือแต่นามคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าขันธ์ ๔ ที่ไปเกิดในพรหมโลกเรียกว่าขันธ์ ๑ มีแต่รูปไม่มีนาม ก็แปลกเหมือนกันมีแต่รูปไม่มีนามเข้าใจว่ามีนามแต่ไม่ปรากฏ มีแต่ขันธ์เดียวเรียกว่ารูป ที่ไม่ปรากฏนามคือว่าไม่มีความรู้สึกนั่นแหละเรียกว่ามีแต่ขันธ์ ๑ ทั้งขันธ์ ๔ และขันธ์ ๑ ก็กลับมาเกิดในขันธ์ ๕ อีกเหมือนกัน มาเสวยทุกข์อีกเหมือนกัน คือมันทนอยู่ไม่ได้ มันจึงกลับมาเกิดเป็นขันธ์ ๕ การทนอยู่ไม่ได้นั่นเรียกว่า“ทุกข์” คือมันไม่อยู่จีรังถาวร

กายของเรานี้ตั้งแต่ปฏิสนธิมาแล้ว ค่อยเติบโตขึ้นเป็นลําดับก็เสวยทุกข์มาเป็นลําดับ จนคลอดออกมาก็เสวยทุกข ์ เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆก็เสวยทุกข์เรื่อยมา ถึงแม้ว่าตัวจะไม่รู้จักว่าทุกข์ มันก็ทุกข์อยู่ดีๆนั่นเอง คนเราเกิดขึ้นมาแล้วไม่พ้นจากทุกข์สักทีเดียว พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาว่าโลกอันนี้มีแต่ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้นแล้วดับไป นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรทั้งหมด จริงอย่างที่พระองค์ตรัส ทุกข์อันนี้เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ดูตัวอย่าง ทุกขเวทนาเกิดขึ้นที่ตัวของเรานี่แหละ เห็นได้ง่ายๆนั่งนานเข้าเหน็ดเหนื่อยเรียกว่าทุกข์ จึงได้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืน เป็นเดิน ยืนนานหนักเข้าก็เสวยทุกข์ในการยืน นานทนไม่ไหวก็นั่ง เสวยทุกข์ในการนั่งนานๆเข้าเลยเปลี่ยนเป็นนอน ได้นอนหลับอย่าเข้าใจว่าสุขเลย แท้ที่จริงมันทุกข์ แม้ในอิริยาบถนอนก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แม้ไม่รู้สึกตัวมันก็ทุกข์อยู่ในนั้น คือในเมื่อหลับสนิทแล้วมันยังมีอาการพลิกตัว นั่นแสดงว่าเป็นทุกข์ มันจึงแสดงอาการพลิกตัวไปมาพลิกนอนหงาย มันเมื่อยแล้วก็นอนตะแคงข้างซ้ายข้างขวาเรียกว่าทุกข์เหมือนกัน

ลองคิดดูตัวคนเรามีอะไร เกิดขึ้นมาต้องทุกข์เพราะทํามาหากิน ทุกข์เพราะทํางานการอาชีพต่างๆ ทุกข์เพราะการไม่อยู่ดีสบาย เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆปวดหัว ปวดท้องฯไม่มีสิ่งใดที่ไม่เป็นทุกข์ไม่มีสักอย่างเดียว เกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ทั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงพิจารณาทุกด้านทุกทาง ไม่มีอันไหนไม่ทุกข์ จึงตรัสว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุข ท่านว่า ความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่ง ที่เป็นความสุขอย่างยิ่งคือ มันสงบจากความยึดถือ สงบจากการไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ผมจึงพูดว่า อัน “ของว่าง” คืออันเป็นของกลาง ในสิ่งสารพัดทั้งปวงหมด เป็นกลาง ในสิ่งสารพัดทั้งปวงหมด เป็นกลางแล้วไม่ยึดของกลาง นั่นแหละเป็นความสุข สุขจากของกลางนั้น

แต่พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะขณะที่จิตเป็นกลาง ครั้นเมื่อกลับไปยึดมันก็เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน หากว่ากลับไม่ยึดอีกมันก็ไม่ทุกข์ แต่มันก็ยังมีทุกข์ในกายอยู่นั่นและ ส่วนในใจไม่เป็นทุกข์ ท่านจึงสอนถึงเรื่องปฏิบัติ เพราะมันมีสุขอยู่ทางเดียวคือ ปฏิบัติฝึกหัดไม่ยึดไม่ถือ กายมันทุกข์อยู่เป็นธรรมดา อย่างที่ได้อธิบายแล้ว แม้นอนหลับอยู่ไม่มีสติ ก็ยังเป็นทุกข์ธรรมชาติของ ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นมาต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่ทุกข์ ทุกข์อันนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป ทุกข์อันใหม่เกิดขึ้นมาอีก แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีกแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปอีกเรื่อยๆ มันคงทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ

เหตุนั้น ผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์แล้ว ไม่มีสิ่งใดนอกจากปฏิบัติทางจิตทางใจ ให้ปล่อยวางละสิ่งทั้งปวงหมด แล้วมาอยู่เป็น “กลาง” พระพุทธเจ้าทรงสอนละเอียดลออ ไม่มีใครค้นพบเห็นธรรมทั้งหลายเหล่านี้ พระองค์ทรงค้นหา ทรงพบว่า ความสุขมันก็อยู่ในทุกข์อันนั้น ถ้าไม่มีทุกข์มันก็ไม่มีสุข ของเป็นคู่กัน ทุกข์เหล่านั้นเป็นคู่แสดงของสุข มันมีสุขก็ต้องมีทุกข์ มันมีดีก็ต้องมีชั่ว มันมีหยาบก็ต้องมีละเอียดธรรมเป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ ในโลกนี้ต้องเป็นอย่างนั้น

ครั้นเมื่อเห็นสุขเห็นทุกข์อย่างนั้นแล้ว ปล่อยวางเสีย เลือกเอาเป็นกลางๆ อันนั้นมันจึงค่อยพ้นจากทุกข์ เมื่อเมื่อไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีหยาบไม่มีละเอียด ตลอดจนไม่มีสมมติบัญญัติ มันจึงพ้นจากโลกได้ “ขันธ์ ๕ ” เป็นที่รวมของธรรมทั้งหลาย

ผู้ที่จะปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์แล้ว ไม่มีสิ่งใดนอกจากปฏิบัติทางจิตทางใจ ให้ปล่อยวางละสิ่งทั้งปวงหมด แล้วมาอยู่เป็น “กลาง”

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 52. ขันธ์ ๕]