51. ของอัศจรรย์
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๕๑. ของอัศจรรย์
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑
การพิจารณากัมมัฏฐานให้มีที่ตั้ง คำว่า “กรรม” คือการกระทำ คำว่า “ฐานะ” คือเป็นที่ตั้ง กระทำให้เป็นที่ตั้ง เรียกว่ากัมมัฏฐาน ที่ตั้งกัมมัฏฐานมีที่ไหน? ก็ไม่ใช่อื่นไกลนอกจากกายอันนี้ ทำให้เป็นหลักเป็นฐาน ทำให้เป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดประโยชน์ เราเป็นกัมมัฏฐานไม่หาหลักฐานเป็นที่ตั้ง จึงวุ่นวายว่อนอยู่ ไม่เป็นประโยชน์ ทำไปกี่ปีๆก็อยู่อย่างนั้น ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย
กาย เป็นที่ตั้งของกัมมัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสิ่งทั้งปวงหมด เป็นที่ตั้งของทรากอสุภเป็นที่ตั้งของป่าช้าผีดิบ เป็นที่ตั้งของอสุภะปฏิกูล เป็นที่ตั้งของกัมมัฏฐานทั้งปวง มันออกไปจากกายนี้ทั้งนั้น ที่ว่าเป็นที่ตั้งของทรากอสุภได้แก่ บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย มีเป็ด ไก่ กุ้ง หอย เป็นต้น มารวมอยู่ในที่นี้ มาฝังอยู่ในที่นี้เรียกว่าป่าช้าผีดิบก็ได้ วันหนึ่งๆเราฝังลงไปมากมายหลายตัวที่เดียว เราจึงควรที่จะพิจารณาเห็นโทษ ว่ากายอันนี้เป็นที่ประชุมของทรากอสุภของสัตว์ทั้งปวง เราไปกลัวแต่ของภายนอก ไปกลัวแต่ผีภายนอก ผีในภายในไม่กลัว เรานอนกอดทรากอสุภอยู่ทุกวัน เราเกิดมาเป็นป่าช้าผีดิบ มาพิจารณาเห็นอย่างนั้น มันน่าจะสลดสังเวชในใจครั้นถ้าเห็นชัดเจนลงไปแล้ว เกิดความสลดสังเวชจิตรวมลงไปได้ ครั้นเห็นสักแต่ว่าเห็น มันก็ไม่รวมเหมือนกัน เราพิจารณาเรื่อยๆไป จิตก็ไม่สลดสังเวชมันก็ไม่รวม
กัมมัฏฐาน มีมากมายหลายอย่างที่ท่านแสดงไว้ เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ราคะจิต โทสะจิต โมหะจิต พุทธจริตฯ อะไรต่างๆไปหลายเรื่อง เราพิจารณาอันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี อันนั้นก็ไม่ถูกนิสัยของเรา อันนี้ก็ไม่ถูก ก็เลยเลอะเทอะไปหมด ที่จริงมันถูกทุกอย่าง อย่างว่ากายของเราเป็นที่ประชุมของทรากอสุภทั้งปวงหมดรวมมาที่นี่ ถ้าพิจารณารวมลงไปได้จริงๆจังๆ มันก็เห็นทรากอสุภในกายของเราแล้วมันจะยึดถืออะไร? มันมีแต่ของน่าสลดสังเวชทั้งนั้น
เราจะพิจารณาธรรมอะไรนอกจากกายนี้ไม่มีหรอก คิดดูซิ พิจารณาอสุภก็พิจารณากายนี้ พิจารณามรณสติก็พิจารณาอันนี้ เห็นชัดลงไปในกายนี้ พิจารณาสติปัฏฐานสี่ ขันธ์ห้า อายตนะ ๖ อานาปานสติฯ มันลงมาที่กายนี้ทั้งหมด แล้วเราจะไปหาที่ไหนอีกนอกจากกายนี้ ไม่มีหรอก มัวแต่ไปหาข้างนอก มันก็ไม่เห็นสักที่น่ะซีครั้นพิจารณาอันเดียวจริงๆจังๆ มันก็รวมลงหมดเลย ธรรมทั้งหลายมารวมอยู่ในที่นี้ทั้งหมด ที่ท่านเทศนากว้างขวางพิสดารออกไป เช่นขันธ์มี ๕ อย่าง แต่รวมความแล้วก็มี ๒ คือ รูปกับนาม ที่เราเรียกว่า ขันธ์ห้า ที่เราแยกกระจายออกไปก็คืออายตนะ ๖ อายตนะ ๑๒ สัมผัสกันเข้าก็เป็นผัสสะ เป็นผัสสะ ๖ มีเวทนาต่อไปเรื่อยๆไป กว้างขวางออกไป มันเลยลืมหลักเก่าเสีย ลืมหลักที่ว่ามันออกจากกาย
พิจารณาอะไรก็ให้มันอยู่ในหลักคือ กายกับใจ ไม่ออกไปจากนั้น พิจารณาที่ไหนก็พิจารณาไป แต่อย่าลืมหลักคือ กายกับใจ ให้มันอยู่กับหลัก อย่าลืมหลักอันนั้นก็แล้วกัน ครั้นลืมหลักอันนั้นแล้ว พิจารณาไปพิจารณาไปก็เตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยไม่ที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รวมไม่ได้สอนให้กระจาย พิจารณาไปมากมายหลากหลายแล้วก็รวมลงมาที่กายกับใจ กิเลสทั้งปวงเกิดจากกายกับใจถ้ามีแต่กายมันก็ไม่มีกิเลส ถ้ามีแต่ใจมันก็ไม่ปรากฏว่าจะทำกิเลสอย่างไร? ต้องมีกายกับใจประกอบกัน จึงทำให้กิเลสปรากฏ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ปรากฏขึ้น ราคะ โทสะ โมหะ ก็ปรากฏขึ้น ท่านจึงว่ามันไม่หนีจากกายและใจ
ใจเป็นอย่างไร? กายเป็นอย่างไร? ให้รู้เรื่องทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เราต้องการหาในกายในใจ หาที่สุดที่หยุดที่ยั้งของพุทธศาสนา จึงว่าศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีที่สุด จึงสำเร็จมรรคผลนิพพานได้ ศาสนาอื่นหรือวิทยาศาสตร์อย่างอื่นสอนไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีที่หยุดยั้ง มันจึงไม่สำเร็จมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเทศนากว้างขวางแต่ไม่ให้ลืมหลัก ให้รวมลงที่กายกับใจธรรมะจะเกิดก็เกิดขึ้นในที่นี้ ที่กว้างขวางออกไปมากมายเป็นเรื่องตามสายกิเลส ไม่มีสิ้นสุด จึงให้รวมมาที่กายกับใจ กายกับใจก็รวมมาที่ใจแห่งเดียว ใจเป็นหนึ่ง ใจเป็นของกลาง กลางในสิ่งทั้งปวงหมด กิเลสก็ไม่มี อันไม่ใช่กิเลสก็ไม่มี บุญบาปก็ไม่มี วิบากก็ไม่มี ดีและชั่วละทิ้งหมด มันอยู่ตรงกลางนั่น อันนั้นพูดไม่ถูก ของมีอยู่แต่มันพูดไม่ถูก ให้เห็นตรงนั้นแหละ ไม่ทราบว่ามันเป็นอะไร ใครๆก็พูดไม่ถูก แต่มันเป็นของมีอยู่ เห็นได้อยู่ด้วยใจของตนเอง
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย สาวกทั้งปวงหมดท่านพิจารณาเห็นชัดตรงนั้น พระพุทธเจ้าทรงเชื่อมั่นในพระทัยของพระองค์ พระสาวกทั้งหลายเชื่อมั่นในธรรมของพระองค์ว่าอันนี้เป็นของอัศจรรย์ เป็นอัจฉริยะพุทธรรม ธรรมไม่เคยเกิดมี ก็เกิดมีมาในโลก เกิดขึ้นมาในพระองค์ เกิดขึ้นมาในตัวของพระสาวก ตัวท่านผู้ที่เป็นท่านก็รู้สิ่งอัศจรรย์ในใจของท่าน จึงยืนยันได้ว่า เราเป็นผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานแล้ว ถ้าไม่เกิดอัศจรรย์อย่างนั้นแล้ว มันจะมีอะไรในโลกอันนี้ เหมือนๆกันกับความรู้ที่เขาวิจัยมันเกิดความรู้มันจึงเกิดเป็นของอัศจรรย์ เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า แน่แล้วอย่างนี้ถูกต้องแล้ว ซึ่งไม่เคยมีใครในโลกจะสั่งสอน ไม่มีใครจะรู้อย่างนี้ จึงว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า ขึ้นมาในโลก
พวกเรามัวแต่ไปมัวเมาในเรื่องอื่น เลยมัวหมดไม่เห็นของจริง ให้หาตัวจริงคือใจ นั่นแหละ หาตัวเป็นกลาง กลางในสิ่งทั้งปวงหมด ผู้ปฏิบัติต้องเป็นไปตามนิสัยของบุคคล รู้นั่นรู้นี่หลายเรื่องหลายอย่างแปลกๆ ก็ล้วนแล้วแต่ใจเป็นคนแต่ง อันนั้นไม่ใช่ของจริง ของจริงแท้มันอยู่คงที่ มันไม่ไปรู้อย่างอื่น รู้อยู่คงที่ ชัดเจนแจ่มแจ้ง อัศจรรย์ขึ้นในใจ อันนั้นจึงเรียกว่าของจริง แต่ใครๆก็พูดไม่ถูก เอาละ
พวกเรามัวแต่ไปมัวเมาในเรื่องอื่น เลยมัวหมดไม่เห็นของจริง ให้หาตัวจริงคือใจ นั่นแหละ หาตัวเป็นกลาง กลางในสิ่งทั้งปวงหมด
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 51. ของอัศจรรย์]