50. อายตนะทั้ง ๖
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
โลกทั้งหลายกว้างขวางก็เพราะ “อายตนะทั้ง ๖” ครั้นย่อเข้ามาก็อยู่ใน “ธาตุ ๖” แล้วผลที่สุดรวมลงมา อยู่ที่ “รู้” อันเดียว
๕๐. อายตนะทั้ง ๖
วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
วันนี้จะเทศน์เรื่อง “อายตนะ” อายตนะก็เป็นของเก่าเหมือนกัน มี ๖ อย่าง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์มีมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดก็มีอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็มีอยู่อย่างนั้น พระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว จนทุกวันนี้พวกเราก็ต้องทำอยู่อย่างนั้น ต้องมีรูป มีนาม มีอายตนะทั้ง ๖ จึงว่าเป็นของเก่าทำไม่รู้จักจบจักสิ้น คือ พิจารณาของเก่าอันนี้ ครั้นถ้าหากว่า รู้เท่ารู้เรื่องของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว มีการจบสิ้นเป็น
มีคนกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า โลกอันนี้เป็นของกว้างขวาง หาที่สุดไม่ได้ไม่มี? พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ที่สุดมีคือ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อันนี้ที่สุดอยู่ตรงนี้พระองค์รู้เท่ารู้เรื่องแล้วจึงมีที่สุด ที่พระองค์ตรัสว่าที่สุดนั้นคือ สุดของความคิดความนึก สุดของการที่ตามไป โลกทั้งหลายกว้างขวางก็เพราะ “อายตนะทั้ง ๖” ครั้นย่อเข้ามาก็อยู่ใน “ธาตุทั้ง ๖” แล้วผลที่สุดรวมลงมาอยู่ที่ “รู้” อันเดียว
ตา ก็ดูไปเถิด ดูเท่าไรก็ดูไปเถิด ไม่มีจบไม่มีสิ้น มีความยินดีพอใจกับความไม่ยินดีไม่พอใจ เป็นอยู่ทั้ง ๒ อย่างนั้นแหละ ไม่หนีจากทั้ง ๒ อย่างนั้น ที่ว่าไม่มีที่จบสิ้นคือ มันส่งไปตามรูป มันส่งออกไปข้างนอก ส่งไปเท่าไรมันก็ไม่มีที่สิ้นสุด จิตมันส่งไปตามอาการอายตนะภายนอก มันจึงหาที่จบสิ้นไม่ได้ จึงว่าโลกกว้าง เสียงก็เหมือนกันไม่มีตนไม่มีตัว ฟังเท่าไรก็ไม่จบไม่สิ้น เสียงไม่มีที่เก็บด้วย ฟังแล้วก็หายไป ไม่ทราบเอาไปเก็บไว้ที่ไหน อันนี้ก็ไม่มีจบสิ้นสักที
ครั้นมารู้เรื่องของเหล่านั้นว่า อ้อ! เสียงนี้ไม่มีที่จบที่สิ้นอย่างนี้ คราวนี้ผู้ใดเป็นคนฟัง เมื่อรู้จักผู้ฟังแล้ว ก็กำหนดรู้เท่ารู้เรื่องว่า ผู้ฟังนั้นเป็นคนส่งออกไปตามอายตนะ ผู้ฟังนั้นก็มีแต่ใจตัวเดียวเท่านั้น มันไปยึดสมมุติบัญญัติว่า เสียงเพราะ เสียงดี เสียงพอใจไม่พอใจ เกิดไปจากใจตัวเดียว ครั้นรู้แล้วมันก็รวมลง รู้จักจบรู้จักสิ้นเป็น กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็เหมือนกัน มันส่งไปตามสิ่งเหล่านี้ ความคิดความนึกทั้งหลายนั้นเรียกว่าอารมณ์ของใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สรุปความลงแล้ว รวมลงมาเป็น อารมณ์ของใจ เกิดจากใจ ถ้ารู้เรื่องของมันแล้วจับตัวผู้ออกไปคือใจ ที่ส่งไปตามอายตนะผัสสะต่างๆ มันก็หมดเรื่อง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่สุดของโลก คือที่ตัวใจอย่างเดียว เมื่อส่งไปตามอายตนะไม่มีที่สิ้นสุดทั้งนั้น ถ้ารวมเข้ามาจับตัวใจได้แล้ว มันมีที่สิ้นสุดนั้น
ที่พระองค์ตรัสว่า ที่สุดคือ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อันนี้ พระองค์ทรงหมายเอาตัวกาย คือมันอยู่ในกายนี้ ที่จริงนั้นคือที่ใจนั่นเอง กว้างขวางออกไปเพราะจิต รวมลงมาเพราะใจ ที่สุดก็คือใจ ที่ไม่สุดนั่นคือจิต เคยอธิบายให้ฟังแล้วว่าปฏิบัติอะไรก็ปฏิบัติเพื่อให้รวม ถ้ารวมเข้ามาแล้วเป็นอันว่าถูกตามพุทธศาสนา ถ้ากว้างออกไปแล้วไม่ถูก คนเราเกิดมาพบอายตนะทั้งหลายเหล่านี้ ส่งส่ายไปตามอายตนะทั้งหลาย กว้างขวางหาที่สุดไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงค้นคว้าหาที่สุด ทรงพบว่าสิ้นสุดลงที่ใจตัวเดียว
ท่านจึงว่า ธรรมะเป็นของมีที่สุด โลกอันนี้ไม่มีที่สุด พุทธศาสนาสอนให้ถึงที่สุด สอนลงที่ใจแห่งเดียว เราปฏิบัติก็เพื่อให้เห็นใจ อะไรทั้งหมดเกิดที่ใจทั้งนั้น นิมิตภาพต่างๆ รูป เสียง กลิ่น รูป โผฏฐัพพะ ทั้งหมดมันอยู่ที่ใจ ใจคือความเป็นกลาง เป็นกลางในสิ่งทั้งปวงหมด บุญไม่มีบาปไม่มี ดี-ชั่วไม่มี อดีตอนาคตไม่มี ลงปัจจุบันเรียกว่าใจ สิ่งเป็นกลาง ทำให้เป็นกลางๆได้อยู่เสมอๆ ศาสนาจะเจริญได้เพราะเข้าถึงความเป็นกลางนั่นเอง
จับตัวกลางให้ได้ ให้มันรู้เรื่องของตัวกลาง ถ้าหากมันเกิดโกรธเกลียดขึ้นมาหรือมีความรักความชังเกิดขึ้นในบุคคลใด ให้เอาความรักไว้อย่างหนึ่ง ความชังไว้อย่างหนึ่งเอาความโกรธเกลียดไว้อย่างหนึ่ง ความไม่โกรธไม่เกลียดไว้อย่างหนึ่งให้เห็นตัวกลางวางไว้กลางๆนั่นแล้วหมดเรื่อง ทดลองดูก็ได้ ความเจ็บป่วย ความอยู่ไม่สบายก็ดี ความอยู่สบายก็ดี เอาทั้งสองอย่างมาตั้งไว้ แล้วทำจิตให้มันอยู่ตรงกลางลองดู สงบลงไปได้เลย แต่ว่ามันสงบไม่ได้เรียบร้อย สงบไม่ได้ทนทาน เพราะว่าเราไม่ได้ค้นคว้าหาเหตุผลจริงๆ ถ้าค้นคว้าหาเหตุ-ผล หาอดีต-อนาคตเสียก่อน มันเข้าใจความเป็นจริงแล้ว อันนั้นแหละมันถึงจะอยู่เป็นกลางได้ มันอาจจะอยู่ได้นาน เอาละ
ธรรมะเป็นของมีที่สุด โลกอันนี้ไม่มีที่สุด พุทธศาสนาสอนให้ถึงที่สุด สอนลงที่ “ใจ” แห่งเดียว “ใจ” คือความเป็นกลางในสิ่งทั้งปวงหมด
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 50. อายตนะทั้ง ๖]