49. การปฏิบัติธรรมมีที่สิ้นสุด
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
มาปฏิบัติธรรม ให้มันเป็นธรรม ให้มันเห็นธรรม ให้มันรู้เรื่องของธรรม
๔๙. การปฏิบัติธรรมมีที่สิ้นสุด
วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑
พวกเรานักปฏิบัติ ควรปฏิบัติเข้ารูปเข้ารอย การปฏิบัติมันมีที่สิ้นสุด ปฏิบัติเลื่อนลอยไม่มีขอบเขตไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ทำไปไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเป็นเรื่องของโลก ครั้นมีที่สิ้นสุดเป็นเรื่องของธรรม
สังเกตดูที่จิตใจของเรามันเป็นธรรมหรือมันเป็นโลก จิตใจของเรามันคอยรวมเข้ามาไหม? มันแคบเข้ามาไหม? หรือมันกว้างออกไป สังเกตดูให้รู้ ให้รู้สึกตัว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องมรรคผล นิพพาน ชั้นนั้นชั้นนี้หรอก เอาแต่เฉพาะตรงนี้แหละว่า เห็นจิตของเราวันหนึ่งๆมันกว้างออกไปหรือมันแคบเข้ามา ที่กว้างออกไปนั่นมันไม่มีขอบเขตไม่มีสติ ปล่อยระเริงตามใจชอบ คิดแล้วคิดเล่าเรื่องเก่าไม่รู้แล้วสักที ลองคิดดูซิว่าตั้งแต่เราเกิดมาจนป่านนี้ แล้ววนเวียนอยู่ในเรื่องเก่า ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที
เราพิจารณาธรรมะก็พิจารณาแล้ว ในกัมมัฏฐานของเราเคยพิจารณาแล้วให้มันรวมเข้ามา ให้มันย่นเข้ามาอยู่ที่ กาย วาจา ใจ ย่นเข้ามาอีกให้มันลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ออกนอกเขตนอกแดน นั้นเรียกว่าใจมีขอบเขต จิตใจของเราถ้าอยู่ในขอบเขต พิจารณาไปพิจารณาไปมันลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่พ้นจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปไหน นั่นเรียกว่า มันรวมเข้ามา มันใกล้เข้ามา
พิจารณา อนิจจา ทุกขัง อนัตตา มันก็พิจารณา ขันธ์ อายตนะ ธาตุสี่นั่นแหละ มันไม่ไปไหน อยู่ในวงนี่ทั้งนั้น ครั้นพิจารณาเป็นธรรมะ พิจารณาไปไหนๆมันก็ลงธาตุสี่ พิจารณาไปไหนมันก็อยู่ในขันธ์ห้า เรียกว่าอยู่ในขอบเขตธรรมะแล้วนั่น อย่าปล่อยให้มันเลอะเลือน ที่มันออกไปก็คือมันออกไปในอายตนะทั้งหก ส่งไปตามตา ส่งไปตามหู ส่งไปตามไปจมูก ลิ้น กาย ใจ มันส่งออกไปแล้วไม่กลับเข้ามา ไม่ทราบว่าไปถึงไหน อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ มันต้องรวมเข้ามานี่ซี่ ถึงจะเห็นที่สิ้นสุด พุทธศาสนาสอนให้มีที่สิ้นสุด
พิจารณาอายตนะทั้งหก พิจารณาไปเถิดพิจารณาไปเท่าไรก็ได้ เห็นก็ตาเป็นผู้เห็นตั้งแต่เกิดมา ได้ยินก็หูนั่นแหละได้ยิน สูดกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะสัมผัสกายฯ อายตนะเหล่านี้ทั้งนั้น จิตออกไปจากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ออกไปจากอื่น ครั้นออกไปจากนี้แล้วรวมลงให้มันได้ รวมให้เข้ามาอยู่จุดนี้ ให้เข้ามาอยู่ในจุดนี้ อย่าให้มันออกนอกไปได้จากจุดนี้ ให้มันรวมเข้าไปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วหมดเรื่อง การปรุงการแต่งสารพัดทุกอย่างแต่งไปจากอายตนะทั้งหกนี้ทั้งนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุด
ดูซี อย่างทางโลกของเรา เรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องอะไรต่างๆทั้งหมด เขาออกไปจากนี้ทั้งนั้นแหละ ออกไปจากอายตนะทั้งหกทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่มีขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด อีกร้อยปีพันปีก็ไม่สิ้นสุด เพราะมันออกไปนอกตัว วิทยาศาสตร์ก็เรียนถึงของจริง แต่มันไม่จริงในใจ ถ้ามันจริงในใจแล้วมันไม่ไปหรอก มันลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็รวมกันหมด มันไม่ไปไหน อยู่ในนี้ทั้งนั้น เพราะมันรวมไม่ได้ มันจึงค่อยฟุ้งซ่าน จิตใจไม่อยู่ จิตใจกำเริบเฝิบฝ่าย มันออกไปจากอายตนะทั้งหกนี้
ให้เห็นที่จุดอันที่มันคิดมันนึก มันต้องมีจุดหนึ่งให้มองเข้าไปในๆนั้นอีก มันคิดมันนึกมันปรุงมันแต่งไป ให้รู้จักว่าที่มันคิดมันนึกนั้นใครเป็นคนคิดคนนึก ใครเป็นคนปรุงคนแต่ง มันมีคนหนึ่งที่มันปรุงแต่งขึ้นมานั่นน่ะจับเอาตัวนั้น ถ้าไปจับเอาแต่ความปรุงความแต่ง มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นจับเอาคนปรุงคนแต่งแล้วละก็มันวางหมดความปรุงความแต่ง ให้จับเอาตัวที่มันคิดมันปรุงมันแต่ง อย่าไปจับเอาอาการที่มันปรุงมันแต่ง มันก็อยู่เท่านั้นซิ อันนั้นแหละวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสิ้นสุด สอนตรงนั้นแหละ ครั้นจับเอาตัวปรุงตัวแต่ง มันมีที่สิ้นสุดลงไปได้ มันมีแยบคายในตัว มันมีอยู่ในนั้น รู้ตัวอยู่ในนั้น
มีกิเลสตัณหาทิฐิมานะเกิดขึ้น ปฏิบัติเอาอย่างใกล้ๆนี่ละ ให้มีขอบเขต อย่างนี้มันจึงค่อยมีที่สิ้นที่สุด ไม่อย่างนั้นละปฏิบัติร้อยปีพันปีก็ไม่มีที่สิ้นสุดสักที ปฏิบัติธรรมะเลยไม่เป็นอะไรให้ ครั้นจับที่จุดมันได้แล้ว มันพิจารณาไปไหนๆ มันก็ลงที่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นธรรมะที่สิ้นสุด
เรื่องทั้งปวงในโลกเขามีที่สิ้นสุดเหมือนกัน แต่มันไม่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติ อย่างเขาทำนาก็มีที่สุด คือว่าเขาเก็บเกี่ยวแล้ว ขึ้นยุ้งฉางแล้ว ก็ถึงที่สิ้นสุด ผักผลไม้ทำสวนทำอะไรก็ดี ผลสุดท้ายเขาเก็บเกี่ยวแล้ว ก็หมดถึงที่สุดอันนั้น แต่ผู้ทำไม่มี่ที่สิ้นสุดมันก็คิดก็ปรุงก็แต่งไปน่ะซี มันเลยไม่เป็นธรรม มันเลยเป็นโลกไป มาปฏิบัติธรรมให้มันเป็นธรรม ให้มันเห็นธรรม ให้มันรู้เรื่องของธรรม
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 49. การปฏิบัติธรรมมีที่สิ้นสุด]