47. การปฏิบัติต้องมีหลัก
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ไปปรุงไปแต่งแล้วมันได้อะไร? …ไปคิดไปนึกมันก็เป็นขึ้นมาอีกมีขึ้นมาอีก มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันคิดปรุงแต่งแล้วก็หายไป คิดปรุงแต่งแล้วก็หมดไป
๔๗. การปฏิบัติต้องมีหลัก
วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑
การปฏิบัติให้รู้จักหลักจับหลักให้ได้ การปฏิบัติก็มีหลัก การฟังก็ให้มีหลัก การศึกษาเล่าเรียนก็ให้มีหลัก ถ้าไม่มีหลักสิ่งเหล่านี้มันหาจับหลักไม่ได้ ไม่ทราบจะไปทำอย่างไร? ไปจับเอาปลายมันก็ไม่ถึงหลักน่ะซี เบื้องต้นควรที่จะหาหลักฐานต้องหาตัวจริงมันเสียก่อน
ตัวเดิมมันเกิดขึ้นจากไหน? คนเรามันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจาก “ใจ” ถ้า “ใจ” ไม่มีแล้วมันก็ไม่มีคน ให้คิดถึงอย่างนั้น
ธรรมทั้งหลายที่ท่านเทศนาไว้มากมาย มันก็ออกมาจากสิ่งอันหนึ่งเหมือนกันแล้วมันจึงค่อยแตกสาขาออกไป ธรรมที่ท่านเทศนาทุกสิ่งทุกประการเปรียบเสมือนกับเถาวัลย์ หรือเหมือนกับต้นฟักเขียว มันเกิดจากต้นเดียวเสียก่อน แล้วจึงค่อยแตกสาขาออกไป บ้านเรือนของเราก็ดี ถ้าจะปลูกให้มันมั่นคงถาวรต่อไป ก็ต้องลงเสาเอกเสียก่อน ให้มั่นคงแล้วจึงค่อยต่อเติมออกไป ใจของคนเรา เราต้องอาศัย “ใจ” เป็นตัวตั้งตัวตี เราฝึกหัด “ใจ” ไม่ได้ฝึกหัดอย่างอื่น
ใจมันอยู่ที่ไหน? ก่อนที่จะเห็นใจ มันต้องพิจารณามาจากผลภายนอกอย่างหนึ่ง หาผลมันได้แล้วจึงค่อยสาวหาเหตุคือตัว “ใจ” อีกอย่างหนึ่งก็หาใจเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปหา ผล มี ๒ อย่าง หาใจคือหาตัวต้นของมัน หาอะไรที่มันเป็นเหตุเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาหาผล ที่ว่ามันเกิดที่ใจอันเดียวไม่ได้เกิดที่อื่นไกล เพราะใจนั้นที่ออกไปเป็นตัวจิตที่มันวุ่นวาย อันนั้นเป็นเรื่องอาการของจิต การแสดงอาการของจิตมันแสดงตามอาการ ๖ ประการ มันต้องแตกสาขาออกไปตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันออกไปจากใจ ธรรมชาติแต่งให้ดีแล้วทุกอย่าง เป็นเรื่องของจิตที่มันใช้ทุกสิ่ง ใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน
อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ประการ มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั่นแหละมันแตกสาขายืดออกไป ธรรมชาติแต่งมาให้เราใช้ทุกอย่าง ตาใช้เห็นรูป หูใช้ฟังเสียง จมูกใช้ดมกลิ่น ลิ้นใช้รับรส กายรับสัมผัส ใจนั้นใช้ให้คิดนึก ให้ปรุงให้แต่ง ธรรมชาติใช้ให้เพียงพอหมดทุกอย่าง แล้วคราวนี้เรื่องเหล่านั้นครั้นถ้าหากว่า มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นอยู่อย่างนั้นเสียแล้ว หน้าที่มันอยู่อย่างนั้น เอาใจไว้อย่างหนึ่งต่างหาก ไม่ต้องเอาใจไปคิดเรื่องเหล่านั้น ถ้าคิดพิจารณาปรุงแต่งไปคิดว่าเป็นเรื่องของมัน มันจะมีโทษมีภัยมาจากไหน ถ้าเรารู้จักใจ อันนั้นเรียกว่า หาเหตุ หาผล หาผลที่มันเกิดขึ้น เหตุนั้นคือตัว “ใจ” นี่จึงว่าหาเหตุเสียก่อนแล้วจึงค่อยหาผล
เราละหมดทุกสิ่งทุกประการวางหมด จะให้เข้าถึงใจมันก็เห็นใจน่ะซี พอเราวางได้แล้วมันก็ไม่มีอะไร มันก็เข้าถึงตัวเดิมนั่น หาผลหาเหตุคือว่า ใจเป็นเบื้องต้น จับใจให้ได้เสียก่อนก็หมดเรื่อง สิ่งเหล่านั้นไม่ต้องไปกังวลกับมัน ครั้นใจไม่คิดไม่นึก มันก็ “อยู่” ครั้นใจไม่คิดไม่นึกแล้วทำให้ก็สบาย แต่ทีนี้สาวหาผลมันเสียก่อน ที่มันเกิดจากใจ ผลของมันคือสิ่งที่มันเกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมดทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดจากใจ มันเข้าถึงใจนั่น อันนั้นเรียกว่าสาวจากผลหาเหตุ
ครั้นสาวเหตุไปหาผลนั้นคือว่า เอาง่ายๆ จับใจให้ได้แล้วก็นิ่งเฉย ไม่ต้องไปเกี่ยวเนื่องถึงเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หาเหตุก่อนผลของมัน มันก็หมดเรื่อง ที่มันมากมายหลายอย่างนั้นมันเกิดจากอายตนะทั้งหกนี่ทั้งนั้น เราไม่เกี่ยวข้องกับอายตนะทั้งหกนี่ มันก็หมดเรื่องหยุดเพียงแค่นั้น ถึงแม้มันจะคิด จะนึก จะปรุง จะแต่งอะไรทุกอย่าง มันสักแต่ว่า อันที่จะไม่ให้มันเกิดมันมีไม่ได้ ธรรมชาติมันตบแต่งมาให้อย่างนั้นแล้ว ตาเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ไม่เกิดความกำหนัดปฏิพัทธ์รักใคร่ไม่เกิดความพอใจ ยินดีหรือเสียใจ เรื่องของสภาพของมันเป็นอยู่อย่างนั้น อันเรื่องความโกรธความรัก ความชัง ความชอบ ความยินดียินร้ายต่างๆนั่นมันเกิดจากใจ จิตไปปรุงไปแต่งต่างหาก
ไปปรุงไปแต่งแล้วมันได้อะไร? มันก็แค่นั้น มันได้ที่ตัว “ใจ” นี่ต่างหาก มันไปติดไปฝังอยู่ที่ใจนั่น เมื่อมันคิดนึกขึ้นมาเมื่อไรมันก็เกิดที่ใจนั่น เหตุนั้นจึงว่าใจเป็นคนเก็บไว้ ส่วนจิตเป็นผู้คิดนึก แต่แล้วมันก็ไม่มีอะไร ปล่อยวางแล้วก็ทิ้งไป ไปคิดไปนึกมันก็เป็นขึ้นมาอีกมีขึ้นมาอีก มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันคิดปรุงแต่งแล้วก็หายไป คิดปรุงแต่งแล้วก็หมดไป
ตัวใจต่างหากเป็นผู้เอาไปฝังไว้ในใจนั่น มันไปติดแน่นในใจ เวลาจะคิดจะนึกมันเป็นเรื่องของจิต คิดเอาไปใช้หลายอย่างหลายเรื่อง ความรัก ความชอบ ความโกรธ ความเกลียด พอใจไม่พอใจ ตัวจิตเป็นคนคิดปรุงแต่งขึ้นมา ปรุงแต่งแล้วหมดเรื่องไปหายไป ของนั้นอยู่ที่ใจนั่น แล้วก็เอามาปรุงแต่งอีก ใจนั้นเป็นคนปรุงแต่ง ใจกับจิตอันเดียวกัน แต่ทำการทำหน้าที่คนละอย่าง ถ้าไม่มีใจก็ไม่มีจิต อันที่ทำหน้าที่คิดนึกปรุงแต่งเรียกว่าจิต ใจมันอยู่เฉยๆไม่มีความรู้สึกอะไรเลย เฉยๆอยู่ ของทุกสิ่งทุกอย่างปล่อยวางหมด แต่ว่า “ผู้รู้สึก” ว่าปล่อยวางมีอยู่ อันนั้นมันเป็นใจ
ถ้าไม่รู้สึกว่ามีผู้ปล่อยวาง ผู้เฉยๆนั้น อันนั้นเป็นโมหะ เป็นลักษณะของฌานต้องเพ่ง เพ่งเอาสิ่งใด เพ่งเอาอารมณ์อันใด เช่นอารมณ์จาก รูป เสียง กลิ่น รส ก็ตามเพ่งทั้งภายนอกภายใน เพ่งภายนอกก็ได้แก่ เพ่งดิน น้ำ ไฟ ลม เพ่งอันนั้นอันเดียวจิตคิดส่งส่ายไปที่อื่น นั่นแหละเป็นตัวฌานแล้ว ครั้นเพ่งดิน น้ำ ไฟ ลม ภายในนี่ก็เพ่งอยู่อย่างเดียวไม่ต้องคิดนึก อันนั้นเป็นฌานเป็นลักษณะของฌานแต่มันไม่รู้สึกว่าใครเป็นคนเพ่ง ใครเพ่งก็ไม่ทราบ
ผู้ที่รู้สึกว่า ตัวเป็นผู้รู้ ตัวเป็นผู้เฉย เป็นผู้วางเฉย ไม่เกี่ยวข้องพัวพันปล่อยวางได้ ครั้นปล่อยวางแล้ว ได้ความรู้สึกว่าสบายนั่นพอแล้ว ท่านจะว่าอย่างไรก็ช่างเถิดจะว่ามรรค ว่าผล ว่านิพพาน ว่าฌานสมาบัติก็ตาม ใครจะว่าอะไรก็ตามเถิด อันนั้นธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างนั้น เข้าหาอันนั้นได้แล้ว เรียกว่าเข้าถูกหลักแล้ว เข้าถึงใจเรียกว่าเข้าถูกหลัก
เหตุนั้นจึงว่าให้พยายามพิจารณาให้มันรู้เรื่อง เห็นเรื่องของใจแล้วก็เห็นเรื่องของจิต แยกใจกับจิตออกจากกันให้มันได้ เมื่อมันอยู่ด้วยกันก็แยกให้มันเห็นคนละสัดละส่วนกัน ใครก็อยากได้ความสุขความสบายทุกคน
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 47. การปฏิบัติต้องมีหลัก]