41. ที่สุดของพระพุทธศาสนา

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

๔๑. ที่สุดของพระพุทธศาสนา
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

ที่สุดของทานคือศรัทธา ที่สุดของศีลคือเจตนา ที่สุดของฌานคืออัปนา ที่สุดของสมาธิคืออัปนา ที่สุดของปัญญาคือพระไตรลักษณ์

จะเทศน์ให้ฟังสักหน่อยเรื่อง ที่สุดของพระพุทธศาสนา โดยส่วนมากพระทั้งหมดที่เทศนาจะเป็นนักเทศน์ก็ดี เทศน์อะไรไม่มีที่สิ้นสุด เทศน์แต่ไหนแต่ไรมา เทศน์ตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็ไม่มีที่สุดที่จบกันสักที ไม่สรุปรวมความสักที วันนี้จะสรุปรวมให้

การทําทานก็ดี หรือการรักษาศีล ทําสมาธิภาวนา หรือปัญญาก็ดี มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธศาสนาอันนี้ไม่พ้นจากโลกได้ ที่จะพ้นจากโลกได้เพราะมีที่สิ้นสุด มีหลักเกณฑ์อย่างนี้

การทําทานด้วยศรัทธา ความเชื่อมั่นเป็นที่สุด ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นแล้ว ทําบุญทําทานเท่าไรก็ทําไปเถอะ ไม่มีประโยชน์ ครั้นเชื่อมั่นความบริสุทธิ์ในใจจริง มีความเชื่อมั่นว่าผลบุญมีผลบาปมี ทําบาปได้บาปทําบุญได้บุญหมดเท่านั้น ลงอันนั้นแล้วก็ลงที่สุดอันนั้นล่ะ ค้นหาไปเถิด ค้นหาไปอย่างไรก็ตาม เรื่องให้ทาน เรื่องให้ข้าวปลาอาหาร ให้ทานเป็นของสารพัดวัตถุทั้งปวงหมด มาสรุปลงความว่า มีศรัทธาความเชื่อมั่น เป็นที่สุดของการทําทาน

ผมพิจารณาดูแล้วไม่มีอะไรหรอกนอกจากนี้แล้ว ลองดูใครจะพิจารณาอย่างไรก็พิจารณาไปเถิด เรื่องทําทานลง ศรัทธา แห่งเดียว

การรักษาศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อะไรทั้งหมด มากเหลือไปกว่านั้นอีก มีตั้งหมื่นตั้งแสนที่ท่านว่าไว้ในมหาขันธ์มากมายที่สุดเรื่องศีล รวมใจความแล้วก็รวมลงที่เจตนา ความงดเว้นแห่งเดียว พระพุทธเจ้าทรงเทศนาเหมือนกัน พระภิกษุองค์อยากสึก เพราะเหตุที่ว่า พระวินัยมากมายเหลือเกิน “บวชมาแล้ว โอ๊ย! มากมายเหลือเกิน ข้าพระองค์อยู่ไม่ได้ มากเหลือหลายพระวินัย ข้าพระองค์จะสึก” “มานี่ อย่าพึ่งสึก มานี่เสียก่อน” พระพุทธองค์ตรัสกับพระภิกษุ รูปนั้น “ครั้นถ้ามากอย่างนั้นเอาอันเดียวข้อเดียวดีกว่า อย่าไปรักษามากเลย รักษาเจตนางดเว้น นั่นละ”อย่างวิรัติ งดเว้น เวรมณี แปลว่างดเว้น

สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ข้าสมาทาน, เวรมณี งดเว้น งดเว้นฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดมิจฉาจาร, กล่าวมุสาวาท, ดื่มสุราเมรัย, บริโภคอาหารตอนเย็น, ไม่ดูฟ้อนรํา ขับร้อง ดนตรี ดีดสีตีเป่า, ไม่นั่งนอนเหนืออาสนะสูงเครื่องปูลาดฯ ทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ มันมีเจตนางดเว้น ถ้าเป็นศีลมีเจตนางดเว้นอันเดียว

หากเราพลั้งเผลอหลงลืมไป ที่ว่าไปฆ่าสัตว์ลักทรัพย์อะไรต่างๆไม่มีเจตนาที่จะลัก แต่เผลอไปจับเอาของเขาไป เขาถือโทษใส่โทษไว้ก่อน เขาโทษว่า เขาจะฆ่าเขาจะตีอะไรต่างๆก็ตามเรื่องของเขาเถอะ เราไม่มีเจตนาไม่เป็นอาบัติ โทษนั้นเป็นโทษของเขาโทษของบ้านของเมือง เมื่อไม่มีเจตนา ครั้นถ้าเขาพิจารณาดีๆแล้ว เขาไม่เอาโทษแต่ที่ไม่เอาโทษนั้น ถ้าหากเขาวินิจฉัยพิพากษาด้วยเหตุแสดงความก็ดีอย่างด้วยความข่มขู่ หรือด้วยคิดอิจฉาและเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ก็เป็นโทษผิดเป็นโทษให้เขาได้แต่เรามีศีลบริสุทธิ์ อย่างนี้แหละจึงว่า เจตนางดเว้น เป็นที่สุดของศีล

ส่วนสมาธิ ที่สุดของสมาธิคือ จิตเป็นเอกัคตา พิจารณาอะไรก็พิจารณาเถิด พิจารณากับคําบริกรรมอะไรก็พิจารณาไป พิจารณายุบหนอพองหนอ หรือว่าสัมมาอรหัง หรือพุทโธ อานาปานสติ ถ้าจิตไม่ถึงหนึ่งไม่เป็นที่สุดของสมาธิ จิตมีวิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา ลงเอกัคตาของเก่า ฌานทั้งแปดลงเอกัคตาของเก่า สมาธิก็ลงเอกัคตาของเก่า ท่านพูดไว้เรื่องฌาน อัปปนาฌานถึงที่สุดของฌาน สมาธิก็ถึงอัปปนาสมาธิเป็นที่สุด ทําไมจึงพูดไว้อย่างนั้นว่า อัปปนาฌาน อัปปนาสมาธิ มี ๒ อย่าง แต่ลงอัปปนาอันเดียว สมาธิก็ดี ฌานก็ดี ลงอัปปนาอันเดียว อันนั้นเป็นที่สุดของสมาธิ

แล้วคราวนี้ท่านพูดถึงเรื่อง วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา ว่าถึงเรื่องเอกัคตา วิตกวิจารณ์ ปิติสุข ลงเอกัคตาหมดทุกสิ่ง สําหรับเอกัคตาและอุเบกขา ฌาน ๔ ลงเอกัคตาอุเบกขา เอกัคตากับอุเบกขาก็คล้ายกัน ที่สุดอรูปฌาน ๔ ก็เหมือนกัน ลงเอกัคตาแหละ แต่ว่าผิดแปลกไปที่อารมณ์ของตน ที่พิจารณาไป อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญนาสัญญายตนะ อันเดียวกันนั่นแหละแต่มันผิดแผกกันเล็กน้อย

สมาธิ ท่านพูดถึงเรื่องสมาธิ มี ขนิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อันนี้ว่าถึงเรื่องแนวสมาธิ ถ้าว่าถึงเรื่องแนวฌานก็เรียก วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคตา อย่างที่พูดมาแล้ว

ถ้าว่าถึงเรื่อง การละกิเลส ก็พูดถึงเรื่อง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นแนวละกิเลสสักกายทิฏฐิ ก็คือความถือมั่น ถือตนถือตัวว่าเราว่าเขามันไม่วาง มันไม่เหมือนอุปาทานวิจิกิจฉา ก็สงสัย สงสัยในสิ่งสารพัดทั้งปวงหมดทุกสิ่งทุกอย่างสีลัพพตปรามาส ครั้นเมื่อสงสัยก็ลูบๆคลําๆอยู่นั่นแหละนี่การละด้วยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ว่าถึงเรื่องการละ ครั้นถ้าหากว่าไม่เห็นเรื่องจิตของตน แม้เข้าถึงอัปปนาแล้ว ก็ละของพวกนี้ไม่ได้ ถึงอัปปนาแรกๆก็ละไม่ได้เช่นกัน ครั้นเมื่อว่า ถึงอัปปนาเสมอๆ เห็นจิตของตนชํานิชํานาญแล้วจึงค่อยละค่อยถอนไป เห็นคราวเดียวมันละไม่ได้ ผมยังพูดเรื่อง ฌานกับสมาธิมันแปลกอย่างนี้

ฌาน มันเข้าถึงเอกัคตารมณ์เอกัคตาจิตแล้ว ไม่มีการพิจารณาเรื่องราวต่างๆตลอดเวลา มีความยินดีความสงบสุขเป็นที่ตั้ง ไม่อยากคิดไม่อยากพิจารณา

สมาธิ มีความรู้ตัวอยู่ เข้าถึงสมาธิแล้วก็รู้ตัวอยู่ ถึงเข้าถึงอัปปนาก็ตามก็รู้ตัวอยู่นั่นแหละไม่หมด นั่นเป็นสมาธิ

สมาธิและฌานในตอนอัปปนานี้ ไม่มีการพิจารณาอะไรเลย เงียบสงบหมดทุกสิ่งทุกอย่างตอนนั้นท่านจึงว่าเป็นที่สุดของพรหม ที่สุดของพรหมโลก ไม่มีกิเลสต่างๆปรากฏในที่นั้น เป็นพรหมในที่นั้น คือว่าไม่รู้ตัว แล้วกิเลสต่างๆไม่เกิดขึ้น ไม่มีวิตกวิจารณ์ปิติสุขอะไรทั้งหมด ไม่มีส่งส่ายวุ่นวายภายนอกหมด อยู่แต่ภายในอันเดียว ตอนนั้นครั้นถ้าหากว่าผู้ได้เคยเข้าแล้ว จะรู้เรื่องพูดถึงแล้วจะรู้เรื่อง

พอเข้าไปถึงนั้นแล้ว มันมีสิ่งหนึ่งซึ่งมันวุ่นอยู่ภายใน โดยที่ไม่คิดถึงอารมณ์ภายนอก มันยุ่งอยู่ภายในของมันต่างหาก เราไม่ได้ยุ่งหรอก แต่จิตมันไปยุ่งอยู่คนเดียวของมันเห็นชัดทีเดียวนั่นว่ามันไม่หมดกิเลส เห็นตรงนั้น ครั้นเมื่อออกมาแล้วก็ยุ่งตามเดิมนั่นแหละ มันเดินภายนอกออกมาแล้ว อันนั้นมันอยู่ภายใน ออกมาแล้วก็ยุ่งของเก่า เหมือนของภายในนั่นแหละ ภายนอกกับภายในเหมือนกัน แปลกแต่ว่าภายนอกมันส่งไปยังสิ่งต่างๆ ของภายในมันไม่ส่ง อยู่เฉพาะภายในอันนั้นแหละฌาน จึงรู้ได้ดีทีเดียว ไม่หมดกิเลส

ส่วน สมาธิ เข้าไปแล้วไม่ยุ่งอย่างนั้น ไม่วุ่นอย่างนั้น มันอยู่เฉยๆรู้ตัวอยู่นอกจาก ผู้รู้ตัวแล้วมาเห็นตัวของตน มีความสงบสุข เมื่อออกมาแล้วจิตอันนั้นจะต้องควบคุมอยู่ สติควบคุมอยู่ตลอดเวลา ไม่พลั้งเผลอหลงลืมไปในที่ต่างๆ จิตเข้าสมาธิ เป็นอย่างนี้ แล้วจะต้องถอนออกจากสมาธินั่น คือมาพิจารณาภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรต่างๆ เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว มันเกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่าย จะต้องกลับเข้าไปเป็นสมาธิอีก บางทีกลับเข้าไปเป็นฌานเป็นฌานก็ไปแน่วนิ่งอยู่คนเดียว ไม่รู้ของภายนอก ไปปรุงไปแต่งอยู่คนเดียวนั่นก็เป็นฌาน สมาธิกลับเป็นฌาน

คราวนี้ ฌาน นั้นน่ะครั้นออกมาแล้วพิจารณาเห็นโทษเห็นภัยเบื่อหน่ายในสิ่งสารพัดทั้งปวงหมด เห็นโทษทุกสิ่งทุกประการ แล้วจะกลับมาเป็นสมาธิ เข้าไปเป็นสมาธินิ่งแน่วถึงอัปปนา แต่รู้ตัวอยู่ สมาธิและฌานกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ สมาธิและฌานนี้เว้นไม่ได้ต้องเป็นทุกคน ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา หัดอยู่อย่างนั้น ทําให้ได้ทั้งสองอย่าง ครั้นหัดอยู่อย่างเดียว มันเป็นฌานก็ไม่รู้ตัว เป็นสมาธิก็ไม่รู้ตัว ครั้นรู้เรื่องทั้งสองอย่างแล้ว มันเป็นอะไรก็ตามมันเถอะ แต่ให้รู้ตัวรู้เท่าอยู่ก็แล้วกัน อันนั้นแหละวิธีหัดสมาธิ

ปัญญา แล้วคราวนี้ มันที่สุดอย่างไร? พิจารณาอะไรไปทั้งหมดทั้งโลกนี่ก็ตามออกจาก อัปนาสมาธิ มาอยู่ อุปจาระสมาธิ พิจารณาเปิดเผยหมดทุกสิ่งทุกอย่างเห็นแจ้งชัดทุกสิ่งทุกประการ มันจะไปไหนล่ะก็ลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์นั่น

ลงไตรลักษณ์แล้วจะไปไหน? มันก็อยู่คงที่ มันไม่เข้าสมาธิไม่เป็นฌานก็ตาม แต่มันอยู่คงที่มันไม่ไปไม่มา ไปไหนๆมันก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งปวงหมดในโลกเป็นอย่างนั้น แล้วมันจะไปไหน? ก็หมดเท่านั้นแหละ อันนั้นแหละปัญญา ตรงนั้นที่สุดของปัญญาคือ พระไตรลักษณ์

สรุปรวมว่า ที่สุดของปัญญา คือพระไตรลักษณ์ ที่สุดของสมาธิ คืออัปปนา ที่สุดของฌาน คืออัปปนา ที่สุดของศีล คือเจตนา ที่สุดของทาน คือศรัทธา เพียงเท่านี้แหละ ในพุทธศาสนาทั้งปวงหมด หมดเท่านี้

ผมจึงมาพิจารณาซ้ําอีก จิตที่มันส่งส่ายวุ่นวายทุกสิ่งทุกประการ จะอยู่ในปัญญาก็ตาม อะไรก็ช่างเถอะมันเป็นเรื่องวุ่น ครั้นละความวุ่นนั้นเสีย ละจิตตอนนั้นเสีย วางหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะเข้าเป็นใจอยู่นิ่งเฉย รู้จักว่านิ่งเฉย

มันจะมีอะไรต่อไปนั้น? ไม่มีอะไรแล้ว หมดเท่านั้นแหละ การปฏิบัติของเรา

จึงว่าให้พิจารณาให้มันได้อยู่ตลอดเวลา ทั้งจิต ทั้งใจ พิจารณาจิตให้เข้ามาเป็นใจ วางแล้วก็เป็นใจ ออกไปเป็นจิต รวมเข้าเป็นใจ ได้อย่างนี้อยู่เสมอๆ มันจึงไม่หลง ถ้าหากว่าเป็นจิตอย่างเดียว หลงโลก ไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นหากว่าเห็นจิตแล้วพิจารณา มันรวมลงเป็นไตรลักษณ์ เข้ามาถึงใจ อันนั้นจึงมีหลัก

หลักของการพิจารณา “ให้เป็น” มีแค่นี้ จิตใจแน่วแน่ พิจารณาให้เข้าถึง ใจอยู่ตลอดเวลาส่วน “จิต” นั้นเป็นผลออกไปจาก “ใจ” พิจารณาสิ่งทั้งปวงหมดลงไตรลักษณ์ มันก็หมดเพียงแค่นั้น ครั้นถ้าไม่มีใจ ไม่เข้าถึงใจ พิจารณาเป็นไตรลักษณ์มันก็พิจารณาไม่ได้ เป็นโลกไปหมด เตลิดเปิดเปิงไปทุกอย่าง เอาละ

ถ้าหากว่าเป็นจิตอย่างเดียว หลงโลก ไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นหากว่าเห็นจิตแล้วพิจารณา มันรวมลงเป็นไตรลักษณ์ เข้ามาถึงใจ อันนั้นจึงมีหลัก

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 41. ที่สุดของพระพุทธศาสนา]