40. ขนบธรรมเนียม ระเบียบ ของพระธุดงค์

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ธุดงควัตร นั้นแปลว่า ธรรมอันเป็นเหตุให้ไปหาความสงบ ไปหาความดี ไปหาความบริสุทธิ์ จึงเรียกว่าธุดงค์

๔๐. ขนบธรรมเนียม ระเบียบ ของพระธุดงค์
วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

วันนี้ต้องพูดถึงเรื่อง ขนบธรรมเนียม ระเบียบ ไม่ใช่พูดถึงเรื่องภาวนา ขนบธรรมเนียมระเบียบของพระธุดงค์ ที่เรียกว่า ถือ ธุดงควัตร นั้นแปลว่า ธรรมอันเป็นเหตุให้ไปหาความสงบ ไปหาความดี ไปหาความบริสุทธิ์ จึงเรียกว่าธุดงค์ ทูตะแปลว่าทูต ทูตนำไปนั่นเอง

ท่านพูดไว้มีหลายข้อ มี ๑๓ ข้อ การถือธุดงค์ที่เป็นผู้ถือธุดงค์จริงๆจังๆนั้น จะต้องมีความมั่นใจว่า การรักษาธุดงค์อันนี้ จิตใจผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นไปเพื่อความหมดจดจริงๆจังๆ ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก และไม่เป็นไปเพื่อความมักใหญ่และไม่เป็นไปเพื่อความอิจฉาพยาบาทและอวดดีแก่คนอื่นๆ หากทำเพื่อคนอื่นนิยมชมชอบอย่างนั้นไม่ใช่ อันนั้นเป็นกิเลส ผู้หวังความบริสุทธิ์จริงๆ ต้องตั้งใจทำเพื่อตนจริงๆ ไม้ได้ทำเพื่อผู้อื่น นั่นเรียกว่า “ธุดงค์แท้”

การเที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตรนี้ เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนไม่ให้มักมากไม่ให้โลภ มักโลภก็ไม่ให้โลภ มักมากก็ไม่ให้มันมักมาก ที่เอาเฉพาะในบาตรเท่านั้นแหละ เราบิณฑบาตโดยลำดับได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น และไม่เสียดายถึงของภายนอกไม่ปรารถนาที่จะให้เขานิยมนับถือว่า ถือธุดงค์แล้วเขาจะนิยมนับถือ อย่างว่าถือธุดงค์ข้อ บิณฑบาตเป็นวัตรอย่างนี้ ไปสั่งให้เขาเอามาตักบาตอย่างนั้นอย่างนี้ ของตักบาตรต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนั้นไม่ใช่ธุดงค์มักน้อยเสียแล้วล่ะ อันนั้นมันมักมากอยู่

ถ้าหากเรามักน้อย เอาจริงเอาจังตามมีตามเกิด เขาจะทำก็ช่างไม่ทำก็ตามนั่นทำเฉพาะจริงๆจังๆ อันนั้นเที่ยวบิณฑบาตจริงๆ ของที่เที่ยวบิณฑบาตนั้นท่านจำกัดไว้หลายความหลายจำพวก ผู้ถือเคร่งครัดเอาจริงๆนั้นเอาในบาตรล้วนๆ ของมานอกบาตรไม่เอา และบิณฑบาตถ้าหากกลับมาแล้วไม่เอา ถ้าหากไม่ได้รับเฉพาะเที่ยวแรกก็ไม่เอาอีกนั่นแหละ นั่นเคร่งครัดจริงๆจังๆ อันนั้นเป็นความหมายท่านอธิษฐานตอนหลัง เรียกว่าบิณฑบาตเป็นวัตร หมดภาระธุระเราไม่ต้องกังวลเกี่ยวข้องใดๆไม่เอาละเอาเท่านั้นล่ะ ไม่ต้องเสียดาย ได้หรือไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียดายทั้งหมด นั้นเป็นธุดงควัตรในการบิณฑบาต

การฉันในบาตร นอกจากบาตรแล้วไม่เอาเด็ดขาด การได้มาในบาตรจะเอาอย่างเดียว ของที่เอามาให้ทีหลังไม่เอา เอาของที่มันมีเฉพาะในบาตร ได้ในบาตรเท่าใด ก็ฉันเท่านั้น ฉันในบาตร ฉันสำรวม น้อยหนึ่งก็ไม่เอา จนกระทั่งสมัยหนึ่งโต้เถียงกันว่า เช่นลูกมะตูมเป็นต้น เขาเอาลงในบาตรยังถือว่าเป็นภาชนะที่สองด้วยซ้ำเพราะเปลือกของมัน เปลือกมันหุ้มหน่วยเยื่อมะตูมอยู่ นี่แหละเรียกว่าภาชนะที่สองอันนั้นเป็นเรื่องโต้กันต่างหาก ฉันภาชนะเดียว เอาลงเฉพาะในบาตรทั้งหมด คนอื่นเอามาให้ก็ไม่เอา

ฉันในที่เดียวอีก ถ้าลุกจากที่แล้วไม่ต้องเอาไม่ต้องฉัน นั้นมันฉันในที่นั่งอันเดียวตกลงได้นั่งแล้วนอกนั้นไม่เอา ครั้นยืนยังเอาได้อยู่ ครั้นตกลงได้นั่งแล้วหมดเท่านั้นแหละ หมดภาระเพียงเท่านั้นแหละ เหตุนั้นพวกเราถ้าหากว่าการที่ญาติโยมเขามาทำบุญทำทาน อาจจะต้องลุกออกไปแจกอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ค่อยเหมาะเท่าไรหรอก นอกจากไม่เหมาะแล้วมันเกะกะ ให้คนอื่นให้ญาติโยมทำดีกว่าในขณะที่เราฉันแล้วไม่ต้องลุกไป ถ้าหากว่าเราฉันหนเดียว ฉันเสร็จแล้วนั้นไม่เอาอีกลุกออกไปแล้วก็ไม่เอาอีก นั่นฉันหนเดียว

ในตอนนี้ลำบากสักหน่อยคือว่า เวลานี้มีภาชนะหลายอย่าง แล้วก็มีถ้วยชามมีอะไรหลายอย่าง มันรุงรังไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เลยไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร ภาชนะเดียวก็ไม่ใช่ภาชนะเดียวเสียแล้ว หนเดียวก็ไม่ใช่หนเดียวเสียแล้ว มันก็เลยยุ่งกันไปหมด

โดยเฉพาะสำหรับผม มันก็ไม่ทราบว่าฉันอะไรต่ออะไรหรอก สองหนสามหนก็ไม่ทราบแล้ว แล้วก็ภาชนะเดียวหรือสองภาชนะก็ไม่ใช่ มันเลยกลายไปเสียแล้วเดี๋ยวนี้ ผมก็เลยไม่อยากพูด สำหรับผมเองเฉพาะผมเอง ขออย่าให้ถือว่าเป็นตัวอย่าง ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ อย่าถือเอาของผมเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน ถ้าหากว่าผมฉันหนเดียว ฉันในภาชนะเดียวมาเบื้องต้น ถ้าหากว่าญาติโยมเขามา เขาทำอาหารหลายเรื่องหลายอย่างมา ผมไม่ได้ฉันในบาตร ถ้าหากผมไม่ได้เอาของเขา มันก็เป็นการไม่เหมาะไม่ควรก็ถ้าหากว่าทำจริงๆ จังๆ ไม่เอาเลย มันก็หมดเรื่องไป แต่นี่ไม่ได้ทำมาแล้ว ไม่ทราบจะทำอย่างไร

สำหรับผมที่ฉันอย่างนั้น เป็นความคิดของผมเองต่างหาก โดยเฉพาะการฉันอาหารแล้ว ผมละเบื่อที่สุด ไม่อยากไปยุ่งเลย อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากฉันเลยแต่ว่าทีนี้เห็นหมู่เพื่อนมีมาก จึงค่อยลงไปฉันกับหมู่เพื่อน เพื่อให้หมู่เพื่อนได้อุ่นอกอุ่นใจ เพื่อให้ญาติโยมได้อุ่นอกอุ่นใจ อันที่ผมไปนั่นน่ะ สำหรับในใจของผมจริงๆจังแล้ว ไม่อยากฉันเลย เดี๋ยวนี้แก่มามันไม่เหมือนคนหนุ่ม แต่คนหนุ่มนั้นไม่ทราบคิดอย่างไร? ไม่ทราบคิดอย่างผมหรือไม่ ก็ไม่ทราบหรอก อันนี้การฉันในบาตรฉันหนเดียว ฉันภาชนะเดียว

แต่ภาชนะเดียวหนเดียวนี้มันยากสำหรับผู้ไม่เคย อันผู้ที่ไม่เคยนั่นของในบาตรเลยไม่อยากฉัน เห็นว่าของนอกบาตรเล็กๆน้อยๆ อะไรต่างๆหลายเรื่องหลายอย่างกระจุ๋งกระจิ๋งน่ะ เห็นว่าเป็นการดี ฉันในบาตรก็เลยฉันไม่ลง ต้องดื่มน้ำจึงค่อยลง นั่นแหละมันลำบากอยู่ตอนนั้นแหละ แต่ผมได้ทำมาแล้วเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นผมได้ทำมาแต่เบื้องต้น ฉันในบาตรนั่น ฉันจริงๆจังๆ ฉันอาสนะเดียวจริงๆจังๆ ฉันหนเดียวจริงๆจังๆ มัธยัสถ์หมด ไม่อาลัยอาวรณ์เรื่องอื่น หมดภาระธุระ แต่สำหรับวัดเรามันไม่ได้ มันหลายพรรคหลายพวก หลายหมู่หลายคณะ

แต่หากจะฝึกหัดลองดูก็ได้ ใครๆต้องการจะฝึกหัด ก็ลองดู มันเป็นไปเพื่อความมักน้อยไหม? มันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ไหม? จิตใจของเราผ่องใส สะอาดหรือมันยังคิดเสียดายอาลัยอาวรณ์ หรือมันยังเกลียดอาหารที่ผสมกัน หรือฉันไม่ได้กลืนไม่ลง มันยังมีอยู่ไหม? ลองดู มันจะเป็นอย่างไรตอนนั้น นี่เรื่องการขบการฉัน

ทีนี้ การนุ่งการห่ม ถือผ้า ๓ ผืน ถือจริงๆจังๆ ผู้ถือเคร่ง ผ้าอาบน้ำก็ไม่ต้องมี มีผ้า ๓ ผืนจริงๆ ผ้านอกนั้นไม่เอาหมด อันนั้นมันอาจจะเคร่งเกินไปก็ได้ คือว่าเรามีบาตรมีอะไรจะต้องล้าง ล้างบาตรก็ต้องมีผ้าต้องเช็ด อันนี้หากว่าถือผ้า ๓ ผืน จริงๆจังๆ เวลาสรงน้ำสรงท่า ไม่มีผ้าผ่อนก็ลำบากอยู่ หากว่าเราไปในที่แจ้ง ในที่สาธารณะ เช่นที่ท่าน้ำ จะไปอาบน้ำอย่างไรพระไม่นุ่งผ้า มันอาจจะเคร่งเกินไป อย่างนี้มันอาจจะเป็น อัตตกิลมถานุโยค ก็ได้ ถ้าหากถือเอาผ้าพอประมาณสมควร ผ้า ๓ ผืนแล้วผ้าอาบน้ำก็ให้มี ก็เพียงนุ่งห่มพอปกปิดร่างกาย ไม่ปฏิบัติเพื่อความมักมากลืมตัวหรือเพื่อโอ้อวด ประเทืองกายอะไรนี่ เข้าใจอย่างนั้นละก็อาจจะดีกว่า

แล้วอยู่เสนาสนะป่า อันนี้ยังพอได้พวกเราอยู่ป่ากันมาแล้วก็พอได้ ที่อยู่ป่าก็เพื่อไม่ให้คลุกคลีตีโมงกัน ไม่ให้วุ่นวายซึ่งกันและกัน ไม่อึกทึก ไม่ให้คุยกัน ถ้าหากคุยเรื่องธัมมะธัมโมก็ค่อยยังชั่วหน่อย อันนี้อยู่องค์เดียวในเสนาสนะป่าก็จริงพอกลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี หัวจุ้มกันคุยกันถึงเรื่องอะไรๆ มันไม่ใช่เรื่องความมักน้อยไม่ใช่เรื่องขัดเกลากิเลส มันเป็นเรื่องการสะสมกิเลสเข้าไปอีกอันนั้น ควรที่จะระวังการทำอะไรลงไปน่ะ รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราทำอะไร ทำเพื่อประโยชน์อะไรในเวลานี้ ให้คิดได้เสมอๆอย่างนี้ ก็จะเป็นการดี

หยูกยาเภสัชต่างๆ ที่เราฉัน เราฉันเพื่อระงับโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างเราฉันน้ำร้อนตามธรรมดา ในเวลาบ่ายที่หอฉัน อันนี้ไม่ใช่ฉันระงับโรคภัยไข้เจ็บอะไร ฉันเพื่อระงับบรรเทาความหิวโหย หรือกำจัดความหิวโหย ฉันน้ำร้อนธรรมดา น้ำชาธรรมดา ไม่ใช่ฉันระงับโรคภัย ครั้นถ้าหากว่าฉันเพื่อความมักมาก ความมักใหญ่ใฝ่สูงหรือเพื่อความอิ่ม เพื่อความสำราญใจ อันนั้นน่ะเป็นไปเพื่อกิเลส อย่างเราฉันเสมออย่างนี้น่ะ ว่าฉันได้ก็เลยฉันหมด ตั้งเป็นถ้วยเป็นชามโน่น ฉันผักส้มลมหรือใบไม้อะไรต่างๆ เห็นว่าอนุญาตให้ฉันได้ก็ฉันจนอิ่ม นั่นมันเกินควรเกินประมาณ หากว่าเป็นหวัดเป็นไอ หรือฉันเพื่อระงับเล็กๆน้อยๆ อันนั้นค่อยยังชั่วหน่อย

เรื่อง ธุดงควัตร ในปัจจัยชาติทั้ง ๔ ควรมีสติควบคุมจิตใจของตนไว้ อย่าให้เพลิดเพลินและลุ่มหลงเกินไป มันจะกลายเป็นกองกิเลส มันจะกลายเป็นเรื่องว่าเมื่อถึงเวลาเข้าก็คิดถึงเรื่องอย่างนั้น คิดอยากฉันอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา หรืออกจากวัดจากวาไปแล้วไปสู่ที่อื่น ไปอยู่ในที่ใดๆก็ดี ออกจากหมู่เพื่อนไปแล้ว ก็ไปหาพวกอื่นไปหาคณะอื่น เลยเอาตามชอบใจหมดวันหมดคืนตลอดเวลา อันนั้นมันเกินไปมันไม่ใช่มักน้อย อันนั้นมันมักโลภ มันมากเกินไปเสียแล้ว

เหตุนั้นแหละ การกระทำอะไรทั้งหมด ขอให้มีสติระวังสังวรอยู่ตรงนั้นแหละ จะเป็นการดีมากที่สุด

ควรที่จะระวังการทำอะไรลงไปน่ะ รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราทำอะไร ทำเพื่อประโยชน์อะไรในเวลานี้ ให้คิดได้เสมอๆอย่างนี้ ก็จะเป็นการดี

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 40. ขนบธรรมเนียมระเบียบของพระธุดงค์]