39. ถึง “ใจ” หรือไม่ ในวันหนึ่งๆ
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๓๙. ถึง “ใจ” หรือไม่ในวันหนึ่งๆ
วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
ในพุทธศาสนาท่านมีวันปวารณาปีหนึ่งมีหนเดียว ความเป็นจริงการปวารณานั้นในทางพุทธศาสนาท่านสอนให้ปวารณาซึ่งกันและกัน คือว่าได้ทำผิดพลาด ประมาทในพระสงฆ์ด้วยกันก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ด้วยกาย วาจา และใจ จงเมตตาเอ็นดูกันตักเตือนซึ่งกันและกันเป็นการปวารณา แทนอุโบสถสังฆกรรมเป็นการใหญ่ในการที่ปวารณาซึ่งกันและกัน การที่ฟังปาฏิโมกข์การที่ว่าสิกขาบทต่างๆ ที่ท่านสวดไปนั้น เป็นภาษาบาลีไม่รู้จักภาษีภาษาอะไร การปวารณานี้รู้สึกว่าย่อดีกว่า เป็นประโยชน์มากทีเดียว
การปวารณา ปีหนึ่งมีหนหนึ่ง แต่ว่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่นับถือพุทธศาสนาอนุโลมตามพระ ถึงวันนั้นเขาก็พร้อมเพรียงมาทำบุญสุนทานเข้าวัดเข้าวารักษาศีลอุโบสถ ฟังเทศน์ฟังธรรม ที่จริงก็เป็นเพียงแต่เรื่องของพระหรอก แต่ญาติโยมอนุโลมตาม มันก็ดีเหมือนกัน มีประเพณีหลายอย่าง วันออกพรรษา วันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เหล่านี้แหละเป็นระยะๆ ปีหนึ่งมี ๔-๕ หน
การที่พุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจพากันมาทำบุญทำทาน แล้วก็ฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นก็เป็นการดี ความเป็นจริงนั้นการที่บัญญัติไว้หลายอย่างหลายเรื่องมี วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้นไปเป็นเหตุให้เขาพิจารณาถึงเรื่องอายุของตน มันดีตรงนี้ อายุของตนนั้นมันเปลี่ยนแปลงไป ยักย้ายหมดไปทุกวันทุกวัน เข้าพรรษาถึงออกพรรษา นั่นก็เป็น ๓ เดือนแล้ว หมดอายุชีวิตของเราไป เราก็มาพิจารณาถึงเรื่องความเป็นอยู่ของเรา มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วก็ต่อนั้นไปอีกไปถึงเดือน ๓ วันมาฆบูชาก็ ๓ เดือนอีกแหละ ไปถึงเดือน ๖ ถึงวันอาสาฬหบูชา เปลี่ยนไปเปลี่ยนไปปีหนึ่งได้รู้จักว่า เราได้กำหนดพิจารณาถึงกายของตน ครบปีหนึ่ง เราได้พิจารณามรณานุสติถึง ๔-๕ ครั้ง
แล้วมาพิจารณาดูตัวของเรา มันเปลี่ยนไปอย่างไรตัวของเรา? มันแก่เฒ่าลงทุกวันหรือว่าหนุ่มลง การหนุ่มไม่มีหรอกมีแต่เปลี่ยนแปลงแก่ไปทุกวั้นทุกวัน การเปลี่ยนแปลงมันไม่ใช่แต่การเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นนะ มันเสื่อมสุขภาพไปทุกอย่าง คนหนุ่มยังไม่ทันรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของตน มีแต่เพลินสนุกสนาน แต่คนแก่มันรู้สึกตัวตลอดเวลา คนอายุ ๖๐ ไปแล้วรู้สึกตัว มันเปลี่ยนแปลงสภาพไปอย่างไร รู้สึกตัวทีเดียว เรื่องเหล่านี้แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานึกถึงความตาย กาลเวลาที่ว่าเปลี่ยนแปลงนั้นแหละ ๔-๕ หนในปีหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงทุกวันอย่างนี้ เราจะได้รีบเร่งทำคุณงามความดี
คนที่ประมาทอยู่ แม้มีการตักเตือนอยู่ปีหนึ่ง ๔-๕ หนนั้น ก็ไม่พิจารณาอะไรหรอก คนที่มีสติรู้ตัวอยู่ ย่อมคำนึงคิดถึงตัวของตน ก็ย่อมจะเร่งรีบทำคุณงามความดี แล้วคราวนี้คนที่ไม่ประมาท เลยไม่เอาเป็นปัญหา เรื่องกำหนดเวลานั้นเลยไม่เป็นปัญหาเลย มีแต่รีบเร่งทำคุณงามความดีอยู่เรื่อยไป เหมือนกับบุคคลผู้ที่ทำงานคนขยันหมั่นเพียรแล้วนั่นตั้งหน้าตั้งตาทำ ไม่คำนึงคิดถึงปีเดือนอะไรหรอก มีแต่ตั้งตาทำ ผู้ที่ขี้เกียจต่างหากผู้ที่ขี้คร้านต่างหาก อยากให้ค่ำเร็ว อยากให้หมดเดือนหมดปีง่ายๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไร ความประมาทเป็นอยู่อย่างนี้
คนที่ไม่ประมาทแล้ว ไม่คำนึงคิดถึงเลยเรื่องเหล่านี้ คิดถึงคุณงามความดีวันหนึ่ง เราทำอะไร ความดีมีอยู่ในตัวของตนเท่าไร เพิ่มขึ้นหรือทรงอยู่หรือหย่อนลงกว่าเก่าพิจารณาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป เป็นประโยชน์แก่ตน ไม่เป็นประโยชน์แก่กาลเวลาเป็นประโยชน์แกตัวโดยเฉพาะ
เหตุนั้นจึงว่าผู้ที่มีอุบายปัญญา ผู้ที่ไม่มีความประมาทแล้ว อย่าไปคิดนึกถึงเลยออกพรรษาก็ช่างเถอะ เข้าพรรษาก็ตามเถอะ ไม่เป็นปัญหา ทำคุณงานความดีอยู่เรื่อยไปตลอดเวลา วันคืนก็ไม่ต้องคำนึงถึงมัน ปีเดือนก็ไม่คำนึงถึงเลย เอาแต่คุณงามความดี นั้นเป็นผลประโยชน์ของตนถ่ายเดียว ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อันนี้แหละเรียกว่า รีบทำรีบประกอบคุณงามความดีเสีย ให้มีขึ้นในตนของตน ยังไม่พอเรายังทำคุณงามความดียังไม่พอ ยังอีกมากมายอันที่เราจะต้องทำ
พิจารณาลองดูแต่เรื่องจิตของเราเถอะ พอเรานั่งสมาธิภาวนา ไม่ทราบอะไรวุ่นวี่วุ่นวายหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ของไม่เคยคิดเคยพิจารณา ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ก็มารุมล้อม มาอยู่ในจิตนั้นหมดเลย บางคนนั่งไม่ไหวเลยรีบออกเสีย มันกิเลสมากนั่งภาวนาเลยกิเลสมาก ความเป็นจริงไม่มากหรอก ของน้อยนิดเดียว แต่เวลาเรานั่งทำความสงบเท่านั้นแหละ มันเห็นชัดขึ้นมาเลย ของเล็กๆน้อยๆ ก็ปรากฏขึ้นมา ชัดขึ้นมาเลยดูมันมาก
แท้ที่จริงมันมากกว่านั้นอีกของเรา ที่เราไม่เห็นนั้นมันมากกว่านั้นอีก พอนั่งแล้วเห็นมันปรากฏรุมล้อมเข้ามา ดูเหมือนกับว่ามาก นั่นแหละมันใกล้แล้วนั่น มันใกล้จะเห็นของจริงแล้ว มันมีเท่าไรมันก็ปรากฏขึ้นมา เรารู้ชัดเห็นจริงว่ากิเลสมันมีเท่านี้มันไม่มากเท่าไรหรอกมันมีเท่านี้แหละ ว่าอย่างนั้น ปรากฏกิเลสขึ้นมาในตัวของตนให้มันเห็นชัดขึ้นมา เราจะได้ชำระสะสาง
ครั้นเราตั้งจิตคิดพิจารณาเฉพาะเรื่องนั้นจริงๆ ไม่ต้องส่งออกไปภายนอก เราจะเห็นชัดขึ้นมาเลย ชนะกันทันที จะว่า มีเท่านี้หรือ? ขอให้มาอีก ขอให้เกิดอีกเถอะมีเท่าไรขอให้เกิดอีก เลยหยุดเลย กิเลสไม่เกิดอีก นี่มันมากอย่างนี้แหละกิเลสมันมาก คนที่ไม่คิด คนที่ประมาทเรียกว่ามันมาก คนไม่ประมาทแล้วมันน้อยลงไป
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ภาวนา มีการละกิเลสด้วยภาวนาอย่างเดียว การทำบุญทำทานนั้นเป็นส่วนนอก ภายนอกอีกส่วนหนึ่ง ที่ว่ามัจฉริยะ ความตระหนี่เหนียวแน่นอยู่ในจิตใจของตน มันจะได้ปรากฏขึ้นมาให้สละถอนลงไป เพราะความตระหนี่เหนียวแน่นทำใจให้เศร้าหมอง การสละทำบุญทำทานจิตใจผ่องใส นั่นหมดกิเลสตรงนั้นแหละ มันไม่ใช่อื่นไกลหรอก มันหมดกิเลสตรงที่ว่า จิตใจผ่องใสเบิกบานนั่นแหละ
อย่างการรักษาศีลก็เหมือนกัน เราไม่ได้รักษาศีล มีแต่การมัวเมาทำมาหากิน มัวเมาคลุกคลีด้วยสิ่งทั้งปวง จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส เลยไม่รู้จักว่าใจของเราอยู่ตรงไหน ครั้นหากว่าเรารักษาศีลเข้าไป จิตใจเบิกบานผ่องใสขึ้นมา ไม่ใช่ผ่องใสแต่จิต กายก็ผ่องใสออกมาเสียด้วย คนที่รักษาศีลมีใจผ่องใส ผ่องใสหมดทั้งกายและใจ เห็นชัดในใจ คนไหนถ้ารักษาศีลแล้ว ยิ้มแย้มแจ่มใส ผ่องใสหมดทั้งกายและใจ มันเห็นชัดขึ้นมา กิเลสเหล่านั้นมันหายไป
คราวนี้มาทำ ภาวนา อย่างที่อธิบายมาแล้ว ถ้าหากว่า ภาวนา แล้วสิ่งต่างๆ มันรุมล้อมมา เราเห็นชัดเลยอันนั้น อ๋อ! อันนี้กิเลส มันมีแค่นี้หรือ ขอให้เกิดขึ้นมาอีกเถอะ มันมีอยู่เท่าไรขอให้มันเกิดขึ้นมาอีกเถอะ มันเลยหยุดเสีย มันเลยหยุดเพียงแค่นั้น กิเลสไม่เกิดอีก
ความกล้าหาญ อาจหาญ ตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจพิจารณา ตั้งใจอบรมจิตของตน ย่อมเป็นผลประโยชน์ให้จิตใจผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์โดยลำดับ เพราะฉะนั้น การภาวนาเป็นการดีที่สุด ที่จะละกิเลสได้อยู่ที่ใจแห่งเดียว
อธิบายถึง “ใจ” จะอธิบายให้ฟังอีกทีหนึ่ง “จิต” มันเป็นเครื่องเศร้าหมองไม่ผ่องใส “ใจ” เป็นเครื่องผ่องใส ท่านบอกว่าจิตเป็นของผ่องใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา จิตฺตํ ปภสฺสรํ จิตเป็นของผ่องใสทุกเมื่อ อาคนฺตุเกหิ กิเลเสหิ กิเลสเป็นของจรมาท่านว่าอย่างนั้น
คราวนี้พูดถึงเรื่องจิตเรื่องใจ “จิต” เป็นของสะสมกิเลส วุ่นวี่วุ่นวายหมดคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุงผู้แต่ง สาระพัดทุกอย่าง อันนั้นเรียกว่า “จิต” ถ้าหากว่าเพิกถอนอันนั้นออกเสีย เอาละไม่คิดละคราวนี้ไม่คิดไม่ส่งส่ายไม่ปรุงไม่แต่งละ มันก็ยังเหลือแต่ “ใจ” “ใจ” มันก็ผ่องใสสะอาด เราต้องการหัดตรงนั้น “ใจ” เป็นของเฉยๆ วางเป็นของกลางๆ อยู่ในท่ามกลางสิ่งทั้งปวงหมด นั่นแหละตัว “ใจ”
สิ่งที่เป็นของกลางๆ นั้นเขาเรียกใจ ใจคนที่ชี้เข้ามาที่ท่ามกลางหน้าอกนี่แหละ ใจมือก็ตรงกลางใจมือ นั่นแหละเรียกว่าใจ ใจเท้า ใจอะไรต่างๆ ใจไม้ใจไร่ อะไรตรงกลางเรียกว่า “ใจ” ทั้งนั้น ไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่มีส่งนอกส่งใน ไม่รู้สึกว่าอะไรเลย แต่ว่ารู้สึกตัวมันเอง แต่ไม่นึกไม่คิด ตัวผู้นั้นเรียกว่าตัว “ใจ” ถ้าเข้าถึงตัว “ใจ” แล้ว ให้เข้าถึงบ่อยๆ มันจึงจะรู้ “ใจ” ครั้นถ้าหากไม่เข้าถึง “ใจ” แล้ว มีแต่ “จิต” คิดวุ่นวายเพียงแต่จิตนั้นไม่มีความสงบไม่เป็นสมาธิสักที ให้เข้าถึง “ใจ” บ่อย มันจึงจะเป็นสมาธิ
เหมือนกันกับน้ำที่มีสีต่างๆ ขึ้น ที่เขาเอาสีผสม เอาสีแดงผสมมันก็เป็นสีแดงไปเขาเรียกว่าน้ำแดง สีดำเขาเรียกว่าน้ำดำ สีเขียวสีอะไรๆเขาก็เรียกตามนั้น เรียกตามสีนั้นแหละ เขาเรียกน้ำแดง น้ำดำ บางคนไม่เรียกน้ำซ้ำ เรียกสีแดง สีดำไปตามเรื่องแต่ความเป็นจริงแล้ว น้ำนั้นอยู่คงที่ หากว่าคนไปกลั่นกรองเอาน้ำนั้นออกมาจากสีแล้วจะใสตามเดิม สีเป็นอย่างหนึ่ง น้ำเป็นอีกอย่างหนึ่ง
จิตใจของเราก็เหมือนกัน ที่กิเลสมันสะสมนั้นตัว “จิต” ทั้งนั้น
มันสะสม เรียกว่า อาคันตุกะกิเลสมันเกิดขึ้น มันมาสะสม “ใจ” เรา
เลยไม่รู้จัก “ใจ” คราวนี้รู้จักแต่สีเท่านั้น รู้จักแต่ “จิต” เท่านั้น
ครั้นหากว่ากลั่นกรองออกไปแล้ว จะใสสะอาดอยู่ตามเดิม ธรรมชาติของน้ำแท้ต้องเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของจิตใจก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การทำภาวนาจึงมีทางเดียวเท่านั้น ที่ทำใจให้ผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์แต่ว่าครั้นผ่องใสบริสุทธิ์แล้วคราวนี้ ต้องให้รู้จักรักษาอีก ถ้าไม่ทำบ่อยๆ รักษาไม่ได้ไม่ชำนิชำนาญเดี๋ยวก็เสื่อมหมด เสื่อมแล้วก็คว้าหาไม่เห็นอะไร ตัว “ใจแท้” เลยหลงลืมไปหมด เลยได้แต่ “จิต” เหตุนั้นเลยจึงค่อยทำบ่อยๆ
วันหนึ่งๆเราต้องทำให้มันรู้จักว่า มันหมดไปเท่าไรแล้ว มันสงบสักเท่าไรแล้ว มันถึง “ใจ” หรือไม่วันหนึ่งๆ ให้พิจารณาตนเองอย่างนี้ตลอดเวลา อันนั้นแหละจึงค่อยเป็นคนดีขึ้นมาได้ เอาละเท่านั้นละ
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 39. ถึง “ใจ” หรือไม่วันหนึ่งๆ]