38. อธิบายเรื่องวันปวารณา
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๓๘. อธิบายเรื่องวันปวารณา
วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
วันนี้เป็น วันปวารณา ตกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ วันอุโบสถ ตกวันแรม ๑ ค่ำ แท้ที่จริงท่านนับถี่ถ้วนดีแล้ว ปักขคณนาของท่านแน่นอนที่สุด ปักขคณนานี้ไม่เป็นแบบสากลโดยส่วนมากพวกจีนเขาถือกันแบบสากล เหตุนั้นวันปวารณาของจีนและของไทยมันไม่ใคร่ตรงกัน
วันปวารณาถือเป็นวัน ๑๕ ค่ำ วันอุโบสถ นั่นเป็นค่ำ ๑ ดังวันนี้แหละ เป็นต้น ถ้าหากเป็นดังนี้แล้ว ถ้าพระสงฆ์ในวันปวารณามีมากกว่าวันอุโบสถ ต้องอนุโลมตามวันที่มีพระมาก นี่วันมันแยกกันอย่างนี้
คราวนี้เกี่ยวกับ วันปวารณา พระสงฆ์มี ๔ องค์ไม่ครบวันปวารณา คือว่าการปวารณาต้องปวารณาต่อสงฆ์ โดยสงฆ์องค์หนึ่งว่า สงฺเฆปวาเรมิฯ ที่กล่าวว่า สังเฆ หมายความว่าพระองค์หนึ่งนั้นเป็นผู้ปวารณา สงฆ์นั้นมี ๔ องค์ จึงเรียกว่าสงฆ์มี ๔ คณะ ๕ ปวารณา เป็นคณะมีสงฆ์ ๕ องค์ ถ้าหากว่าสงฆ์ ๔ องค์ มันก็ไม่ครบสงฆ์ พระสงฆ์ ๕ องค์นั้นจะปวารณาในที่สงฆ์ก็ได้ จะไปปวารณาในที่อื่นก็ได ้แต่ในความเป็นจริงนั้นสงฆ์ในวัดเดียวกัน ก็ควรที่จะปวารณาในสงฆ์ คือว่ามาปวารณาต่อหน้าพระสงฆ์ จึงว่า สงฺเฆปวาเรมิฯ อย่างวันนี้แหละที่มาปวารณาต่อสงฆ์ในที่นี้
ปวารณา ก็หมายความถึงว่า ปวารณาต่อสงฆ์แทนอุโบสถ ถ้าหากว่าปวารณาครั้งหนึ่ง อุโบสถอีกครั้งหนึ่ง มันจะเป็นอุโบสถ ๒ ครั้งไป พระสงฆ์วัดเดียวกันมานั่งทำอุโบสถกับหมู่เพื่อนเสียก่อนปวารณา คือพระปวารณามานั่งทำอุโบสถกับหมู่เพื่อนปวารณาก็ครั้งหนึ่ง อุโบสถก็เป็นครั้งหนึ่ง เป็นอุโบสถ ๒ ครั้ง แต่โดยส่วนมากเขาทำกัน ก็นั่งในอุโบสถนั่นแหละ นั่งในหมู่เพื่อนนั่นแหละ แล้วจึงค่อยปวารณาทีหลังอย่างวันนี้ นั่งในหมู่เพื่อนได้ แล้วจึงค่อยปวารณาทีหลัง มันจะขัดแย้งกันสักหน่อย มันจะเป็นอุโบสถ ๒ ครั้ง เหตุนั้น เพื่อความเรียบร้อยดีจึงไม่ต้องเข้าร่วมอุโบสถ มาปวารณาเอาเลยก็ได้ ปวารณาเอาเลยทีเดียวอย่างวันนี้แหละ
มันยากที่ อุโบสถ กับ ปวารณา มันขัดแย้งกัน มีแย้งกันนิดเดียวให้เข้าใจตามเรื่องนี้แหละ ทุกๆ องค์ให้เข้าใจอย่างนี้ เข้าใจไหมที่อธิบายมานี่ ครั้นถ้าไม่เข้าใจให้ถาม วันนี้เป็นครั้งแรกในวัดนี้ ที่ ปวารณา กับ อุโบสถ ไม่ตรงกัน ตั้งแต่ตั้งวัดมาก็ครั้งนี้แหละ ฉะนั้นควรศึกษา ควรเข้าใจกันไว้จะไม่สับสนต่อไป (แล้วท่านอบรมพระต่อไป)
หมายเหตุ : วันปวารณาปีนี้ตามปฏิทินสากล ตกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ส่วนวันอุโบสถตามปฏิทินปักขคณนา ซึ่งคณะธรรมยุติใช้ตกวันแรม ๑ ค่ำ เหตุดังกล่าวนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยเป็นประจำ โดยมากจะตรงวันเดียวกัน
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 38. อธิบายเรื่องวันปวารณา]