37. อาหารมีทั้งคุณและโทษ
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๓๗. อาหารมีทั้งคุณและโทษ
วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
อาหารการกินเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งนับในจำพวกปัจจัย ๔ เป็นของสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าปัจจัยทั้งปวงหมด ถ้าไม่ได้ฉันอาหาร ไม่มีอาหารเป็นเครื่องอยู่ในท้อง เราก็ต้องตาย ไม่ว่าใครๆ ทั้งหมด สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายอยู่ด้วยอาหาร อาหารนี่แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มนุษย์ทรงตัวอยู่ได้ ให้มีชีวิตยืนนาน
แต่อาหารนั้นก็เป็นโทษสำหรับผู้ปฏิบัติ ถ้าหากว่าฉันอาหารโดยไม่พิจารณาไม่มีแยบคายอุบาย ก็เป็นเหตุให้เกิดราคะ ให้เกิดความกำหนัด ให้เกิดความฟุ้งเฟ้อเป็นเหตุให้จิตใจวุ่นวายแส่ส่ายไปในที่ต่างๆ เหตุนั้นจึงว่าฉันอาหารควรที่จะมีระวังสังวร ความระวังสังวรนี้เป็นของสำคัญมาก เราหัดระวังสังวรในอาหารแล้ว ในการที่นุ่งห่มผ้าผ่อนเครื่องนุ่งห่มก็ดี ปัจจัยชาติที่ว่ามี เสนาสนะที่อยู่อาศัย หยูกยาสำหรับแก้ไข้ต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เมื่อหัดพิจารณาอาหารให้เป็นให้ชำนิชำนาญแล้ว ของเหล่านั้นต้องเป็นไปตามกัน
อาหารเป็นของสำคัญมีอยู่ทุกวัน วันหนึ่งเราฉันมันต้องมักหลงมักลืมในรสชาติ พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า ฉันอาหารพอเป็นยาปนมัต คือว่า เป็นยาสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้อัตภาพชีวิตพอเป็นไปเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพื่อให้อ้วนดีพีราม ไม่ได้ฉันเพื่อสุขภาพอนามัยสมบูรณ์บริบูรณ์ ก่อนฉันบิณฑบาต ก็ให้พิจารณาเป็นธาตุ คือว่า สักแต่ว่า ธาตุมตฺตโก แปลว่าธาตุ นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล สุญฺโญ เป็นของว่างเปล่า
ของเหล่านี้เป็นของมีอยู่อย่างนั้น เราฉันลงไปก็เป็นธาตุแท้ๆ ฉันอาหารอะไรก็เอาเถอะ ที่มันมีอยู่ ที่เราฉันลงไปนั้น เป็นข้าว น้ำ อาหารการกินทุกสิ่งทุกประการล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยธาตุทั้งสี่ มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น มันหากเกิดขึ้นมา ปรุงขึ้นมาผสมขึ้นมา เราฉันมันก็ผสม ธาตุ อันนั้นแหละ มาปรุงแต่งธาตุนี้ให้มันทรงอยู่ได้ หมายความว่า ธาตุบำรุงธาตุ ส่วนปัจจัยธาตุทั้งสี่ ก็บำรุง ธาตุสี่อันนี้ ธาตุสี่อันนี้จึงทรงอยู่ได้ เหมือนกับเราก่ออิฐ เราเอาปูนมาโปะ เอาดินมาโปะเข้า ก็พอกปูนขึ้นมาเป็นธาตุเป็นเจดีย์อยู่ได้
แล้วความเป็นจริงนั้น ของอันนั้นมันไม่ใช่ของใครทั้งหมด ธาตุก็ไม่ใช่ของตัวของเรา สักแต่ว่าธาตุ ท่านจึงว่าอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่ว่าธาตุไม่ใช่ของมีชีวิตชีวาอะไร ธาตุ สฺสตฺโต นิชฺชีโว เป็นของไม่มีชีวิต สุญฺโญ เป็นของว่างเปล่า สูญเปล่าลองดูคนที่จะพิจารณาให้มันเป็นของว่างเปล่า สูญเปล่านั้น ไม่ใช่ของง่ายๆ เป็นของละเอียดลึกซึ้งทีเดียว ที่เราเห็นเป็นธาตุ
ครั้นเราไม่พิจารณาอย่างนั้น ก็เห็นเป็นของมีรสมีชาติ ของเอร็จอร่อย แล้วก็ติดในอาหาร พอฉันลงไปแล้วก็คิดอยากอยู่เรื่อย อาหารอะไรเป็นกิเลสเป็นของเอร็ดอร่อย ก็ติดมั่นในอาหารนั้น อยากจะฉันอาหารนั้นพอกพูนเข้ามาในใจ นี่แหละถ้าไม่พิจารณา มันเป็นเหตุอย่างนี้เลยขาดการระมัดระวังสังวร ที่จะระมัดระวังสังวรในอาหารไม่มี เห็นแก่ได้แก่กิน ท่านว่าอย่างนั้น คือว่ามันชอบอกชอบใจ เห็นอันใดก็คิดแต่อยากอันนั้นก็อยาก อันนี้ก็อยากทุกสิ่งทุกประการ กินแล้วก็ไม่อิ่มไม่พอสักที เรากินในวันนี้วันหลังยังชอบใจอีกอยากอีก ชอบใจอีกอยากอีก กินวันนี้แหละอิ่มแล้วพอแล้วปากท้องมันพอ แต่ใจมันยังอยากอยู่ นั่นแหละกิเลสมันยังมีอยู่ กิเลสตัวอยากตัวนั้นแหละมันจึงเป็นเหตุให้เราสังวรให้ระวังต่อไป
อาหารนั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงยังชีวิตให้เป็นอยู่ก็จริง แต่อาหารถ้าไม่ระวัง ถ้าไม่มีการสังวร มันก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลส เราบวชมาในพุทธศาสนา หวังว่าจะชำระกิเลส ไม่ใช่ต้องการสะสมกิเลส กิเลสมันเกิดตามหมู่นี้แหละ คอยสะสมขึ้นมาโดยลำดับ สะสมอยู่เรื่อยไปมากขึ้นไป โดยที่เราไม่คิดไม่นึกสะสม เลยเป็นอารมณ์ เลยเป็นอาลัยอาวรณ์ นิสัยอันนี้แหละติด อยากแต่กินอยากแต่รับประทาน อยากแต่ฉันอยู่เรื่อยไปฉันอันใดก็ไม่เห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นของดิบของดี เห็นเป็นของเด่นเลยเป็นของไปสะสมกิเลส
พระพุทธเจ้าทรงสอน ฉันมื้อเดียว ฉันหนเดียว ท่านทรงอธิบายถึงเรื่องการฉันเบื้องต้นให้หนึ่งในสาม หนึ่งในอะไร? หนึ่งในสามส่วน ข้าวสามส่วน อาหารส่วนหนึ่ง อันนั้นแหละเบื้องต้น สำรวมเบื้องต้น สังวรเบื้องต้น ให้อาหารส่วนหนึ่งข้าวสามส่วนนั้นแหละเป็นของพอดี อันนี้เราเอาอาหารมากกว่าข้าวด้วยซ้ำ มันเลยมากกว่า บางทีไม่ได้รับประทานข้าวซ้ำอีก มีแต่รับประทานอาหาร มันเกินพระพุทธเจ้าไป มันเกินขอบเขต ถ้าหากว่าไม่ได้สังวร ไม่คิดถึงเรื่องพวกนี้แล้ว ทำตามใจชอบ เลยเกินขอบเขตไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่พอดีพองาม ขาดการระมัดระวังสังวรในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เราบวชมาในศาสนาพระพุทธเจ้า ต้องรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ทำอะไรต้องคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นประมาณ พระองค์ทรงเป็นศาสดา จึงทรงเป็นผู้สั่งสอนพวกเราโดยตรง
ที่จริงแท้นั้น เรามาบวชในศาสนานั้น อาหารทุกสิ่งทุกประการ ผ้าผ่อน เครื่องนุ่งเครื่องห่ม เสนาสนะ เครื่องใช้ไม้สอย หยูกยาสารพัดต่างๆ เกิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยแท้ ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครมาทำบุญทำทานหรอก เราทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงค่อยมีคนเลื่อมใสศรัทธาทำบุญทำทาน แต่เราลืมตัว เราเลยลืมตัวไม่ระลึกถึงพระพุทธศาสนา ไม่ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสทับถมตัวเรามากขึ้นไปอีก ครั้นถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า มันก็ตายไปนะสิศาสนา มันเลยไม่เป็นของจริงในพระพุทธศาสนา
พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ไม่เอามาเป็นพื้นฐาน ไม่เอามาปฏิบัติ มันเลยกลายไปทุกสิ่งทุกประการ นั่นแหละปฏิบัติภาวนาจึงค่อยไม่เป็นไป ถ้าหากจะระลึกถึงพระพุทธศาสนา ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ต้องระมัดระวังสังวรตัวของตน กินก็รู้จักว่า อ้อ! อันนี้เกิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้ เพราะเป็นอย่างนี้ แล้วเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คนจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสพอใจ แล้วก็รู้จักปรับปรุง การกินประมาณเท่านี้ ฉันประมาณเท่านี้ มันพอดีไหม? ฉันมากมันเป็นอย่างไร? ฉันน้อยเป็นอย่างไรรู้ตัวเอง ฉันมากมันอึดอัดหรือ? ฉันน้อยมันอึดอัดหรือ? อะไรต่างๆ รู้จักปรับปรุงอาหารเข้ากับธาตุของตนให้พอดีพองาม ถ้าหากฉันมากมันภาวนาไม่ดี และฉันน้อยมันภาวนาดี ก็ฉันน้อยลงไป
อย่าไปคิดถึงชีวิตร่างกาย คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักฐาน เราตั้งใจปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเห็นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นของถูกต้องแล้วได้อบรมในศาสนา ชีวิตร่างกายนี้พอเป็นไปดอก ให้ปฏิบัติให้มั่น อย่าให้รุ่มรวยมากมายนัก ขอให้เป็นไปวันหนึ่งๆ ก็แล้วกัน อันนั้นแหละจึงจะถูกตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงค่อยมีคนเลื่อมใสศรัทธาทำบุญ แต่เราลืมตัว ไม่ระลึกถึงพระพุทธศาสนา ไม่ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ทับถมตัวเรามากขึ้นไปอีก
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 37. อาหารมีทั้งคุณและโทษ]