36. พิจารณาความตาย

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ตาก็เสื่อม หูก็เสื่อม จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เสื่อม เสื่อมไปโดยลำดับ เรี่ยวแรงแข็งขันเสื่อมหมด อันนั้นเรียกว่าตาย มันเสื่อมเรียกว่าตาย มันค่อยตายไปทีละอย่างสองอย่าง…

๓๖. พิจารณาความตาย
วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘

เราเกิดมาได้ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันเป็นก้อน เขาสมมติว่าเป็นคนแล้วก็ใช้งานได้ ก้อนอันนี้ใช้งานได้ทุกอย่างทุกประการ ใช้ได้ทั้งในน้ำ ใช้ได้ทั้งบนบก ใช้ได้ทั้งในอากาศ ใช้ได้สารพัดทุกอย่าง ทำดีก็ได้ทำชั่วก็ได้ทุกประการ เป็นของกายสิทธิ์เป็นคล้ายๆกันกับว่าเครื่องหุ่นอันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเทศนาว่า สรีรยนฺตํ คือ กาย จตุจกฺตํ มีจักร์ ๔ คือ อิริยาบถ ๔ นวทวารํ มีทวาร ๙ พระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระสงค์ทั้งปวงท่านไม่ได้เรียกว่าบุคคล ไม่ได้เรียกว่าสัตว์ว่าบุคคล เป็นสรีรยนต์อันหนึ่งเท่านั้นแหละ ท่านถามความสุขทุกข์ซึ่งกันและกัน ท่านไม่ได้บอกว่าสบายดีหรือ? ท่านบอกว่า “จักร ๔ มีทวาร ๙ ยังพออดกลั้นได้หรือ?” ท่านว่าอย่างนั้น ท่านไม่ว่าสบายดีหรือ

อดกลั้นเพราะเหตุใด? คนเรานั้นน่ะทุกคนเกิดขึ้นมาอยู่ได้ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ เป็นเครื่องอยู่ อดทน คือว่า อิริยาบถอ่อนไปส่วนใดส่วนหนึ่ง ร่างกายวิปริตไปมันก็ทรุดโทรมไปโดยลำดับ ส่วนหนึ่งทรุดโทรมแล้วก็ส่วนที่ยังเหลือก็ใช้ไปอย่างว่า หูทรุดโทรมไปคือว่าหูหนวก ยังใช้ตา จมูก ลิ้น กาย ครั้นตาทรุดโทรมไป ก็ใช้ตาอีกตาหนึ่ง ถ้าตาทั้งสองข้างทรุดโทรมไปก็ไม่มีอันใช้ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นท่านจึงบอกว่า “พออดทนอยู่รึ?” ท่านไม่ว่าสุขสบาย

ที่จริงมันไม่มีสุขสบายที่ไหนหรอก คนเราเกิดขึ้นมา อิริยาบถ ๔ แสดงถึงเรื่องความทุกข์ ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบถ ๔ การเปลี่ยนอิริยาบถแต่ละอิริยาบถนั้น มันเป็นเรื่องเปลี่ยนความทุกข์ นั่งมากมันก็เหนื่อย ก็เปลี่ยนอิริยาบถเดิน เดินมากมันก็เหนื่อยเปลี่ยนอิริยาบถนอน นอนนานแล้วก็เปลี่ยนเป็นอิริยาบถยืนนี่เป็นต้น อันการเคลื่อนไหวสารพัดทุกอย่างนั้น มันเปลี่ยนอิริยาบถแสดงถึงเรื่องความเคลื่อนไหว แสดงถึงเรื่องอาการไม่สบาย มันจึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ คนเราทนทุกข์เวทนาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

ผู้ท่านมาพิจารณาเห็นโทษทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้แล้วว่า คนเราไม่มีความสุขเลยเป็นแต่เพราะทนอดกลั้นพออยู่ เดินก็อดทนเดินไป ที่จริงนั้นไม่อยากเดินหรอกมันเหนื่อย นอนมันก็อดทนนอนไปตามเรื่อง ตลอดถึงการกินอยู่ แสดงกิริยาอาการทั้งปวงหมดมันเป็นเรื่องทุกข์ มันเป็นเรื่องเสวยทุกข์เท่านั้น หาความสุขไม่ได้

คราวนี้มันเสื่อมไปโดยลำดับ อย่างว่าเรี่ยวแรงแข็งขันทุกสิ่งทุกประการเดินเหิรปึงปังแข็งขัน อันนั้นน่ะกำลังแข็งแรง แต่แท้ที่จริงมันก็มีอยู่นั่นแหละ ทำไปมากๆ มันก็เหนื่อย แต่ท่าทางแข็งแรงนั้นกำลังมันพอสู้ได้ ก็ทำไปตามเรื่อง มันพอสู้ ถ้าหากว่ามันอ่อนเพลียลงไป มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน อันนั้นเรียกว่า ความเสื่อม มันเกิดขึ้นมา ตาก็เสื่อม หูก็เสื่อม จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เสื่อม เสื่อมไปโดยลำดับ เรี่ยวแรงแข็งขันเสื่อมหมด อันนั้นเรียกว่าตาย มันเสื่อมเรียกว่าตาย มันค่อยตายไปทีละอย่างสองอย่าง ในผลที่สุดนอนอยู่ มันก็เสื่อมคือ มันค่อยตายไป ในผลที่สุดก็ตายจริงๆจังๆ ไม่มีลมหายใจเข้า-ออก แท้ที่จริงคนเราอยู่ได้ด้วยลมหายใจ

สิ่งทั้งปวงหมดสังเกตดูเถอะ หมดธุระลงไปหมดทุกสิ่งทุกประการ ค่อยเสื่อมไปๆ ยังเหลือแต่ลมหายใจระรวยอยู่ มันก็เสื่อมไปเหมือนกัน อีกหน่อยลมหายใจนั่นก็หมดไปอีก อันนั้นละหมดเรื่อง อะไรล่ะคราวนี้ ตาย

ครั้นพูดกันจริงๆจังๆแล้ว ไม่ใช่ตัวกายนี้แตกดับ มันเป็นสภาพของมันต่างหาก มันเกิดขึ้นมาเรียกธาตุ ๔ ดังอธิบายมาแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ธาตุ ๔ มันเป็นรูปอะไรก็ไม่ทราบเกิดขึ้นมาเป็นคน เราเรียกสมมติว่าเป็น “คน” อันแท้ที่จริงนั้นไม่ใช่คนมันเป็น “สภาพ” เกิดขึ้นมาเหมือนกันกับหุ่น เขาปั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

หุ่นนั้นก็เสื่อมไป เสื่อมไปแล้วก็สลายไป เป็นของตามเป็นจริงของมัน คือธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟของมัน ก็หมดเรื่องไม่ใช่ใครตาย ถือว่ากูตายมึงตายอะไรกันก็ไม่ทราบ ร่างกายตายก็ไม่ใช่ แต่มันให้เกิด-ดับ เกิด-ดับกันอยู่อย่างนั้น มันเกิด-ดับไปแล้ว มันก็ไปตามเรื่องตามราวของมัน

ส่วนจิตเป็นผู้ที่ไปครอง เหมือนกันกับว่าหอยเสฉวน มันไปเข้าเปลือกของเขาน่ะมันเข้าไปแล้วก็ไปถือเอาเปลือกของเขานั่นไป มันก็ไปตามเรื่องตามราวของมันเป็นตนเป็นตัวไป ถ้ามันเบื่อหน่ายออกไปจากตัวนี้ มันก็เป็นตัวของเปล่าๆ มันออกจากเปลือกของเขาแล้ว มันก็อยู่ของมันต่างหาก อันร่างกายนี้ก็เหมือนกัน จิตใจของเราเข้าไปครองอันนั้นแหละ แต่ครองแล้วก็เบื่อหน่าย แล้วก็หมดไป คือว่ามันหมดเสื่อมสิ้นไปนั่นเอง แล้วก็ไปอีก จากไปอีก จากภพนี้แล้วก็ไปอีก ไปภพอื่นต่อไป

เหตุนั้น คนเราเกิดมาน่ะไม่ใช่อะไรทั้งหมด เกิดขึ้นมาเพียงแต่เสวยกรรมคือการกระทำเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ เรียกว่ากรรม คือจิต นั้นเองมาเกิดมาทำกรรมใช้ให้ทำนั่นทำนี่ ทำดีทำชั่ว ทำหยาบละเอียด อิริยาบถต่างๆนั้น เรียกว่า มาก่อกรรม ครั้นเมื่อมันเสื่อม มันตายไปสลายไป ตัวจิตนั้นใช้มันไม่ได้แล้ว คราวนี้ใช้กายจะไปใช้ที่ไหน มีแต่จิตอยู่อันเดียว ไม่มีอิริยาบถมันก็ใช้ไม่ได้ล่ะซี จิตตัวนั้นเป็นของสำคัญมาก ถ้าหากว่ายังมีอิริยาบถเคลื่อนไหวอยู่ตราบใดแล้ว คือร่างกายมีอยู่ตราบใดก็ต้องใช้ไปตราบนั้น ถ้าร่างกายดับไปหมดเสื่อมสูญสิ้นไป จิตมันก็ไม่ได้ใช้คราวนี้ใช้แต่ส่วนจิตตัวเดียวแล้ว คิดส่งส่ายปรุงแต่งสารพัดทุกอย่าง เป็นอาการของจิตอันเดียว ไม่ปรากฏร่างกาย จิตมันดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่มีขอบเขต

เหตุนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้สอนจิต อบรมจิต ไม่ได้อบรมที่อื่น อบรมที่จิตแห่งเดียวเท่านั้น ให้มันสงบ ให้มันอยู่นิ่ง ให้มันไม่ปรุงไม่แต่งไม่คิดไม่นึก เมื่อไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง มันก็หมดอาการของจิต มันนิ่งเฉยยังเหลือแต่ใจ จิตเลยเข้าไปเป็นใจนิ่งเฉย

มันจะมีอะไรล่ะคราวนี้? กิเลสก็ไม่มี เมื่อจิตมันเฉยแล้วก็ไม่มีกิเลส ไม่ปรุงไม่แต่งก็หมด การปรุงการแต่งนั่นน่ะเป็นกิเลส เป็นเหตุให้เศร้าให้หมองไม่ผ่องใส ก็จิตนั่นแหละ ครั้นหมดอาการแล้วมันก็ไม่มีอะไรหรอก ได้แค่นั้นก็เอาเสียก่อน ถึงว่าไม่ได้วิเศษวิโสก็เอา หยุดปรุงหยุดแต่งไม่คิดไม่นึกหมดแล้ว ก็เหลือแต่ใจนิ่งเฉยอยู่เท่านั้น ให้กิเลสหมดเท่านั้นเสียก่อน ไม่ต้องเอามากมายอะไรหรอก เอาละ

จิตมันดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่มีขอบเขต… ให้สอนจิต อบรมที่จิตแห่งเดียวเท่านั้น ให้มันสงบ ให้มันอยู่นิ่ง

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 36. พิจารณาความตาย]