34. กรรม-เวร

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

การทำกรรม เวรนี้เฉพาะใครเฉพาะมัน ทุกคนเห็นในใจของตนเอง เมื่อทำลงไปแล้วรู้สึกด้วยตนเอง ใครก็ไม่รู้สึกด้วย เฉพาะตนเองแท้ๆ

๓๔. กรรม – เวร
วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

จะอธิบายถึงเรื่อง กรรม ให้ฟัง เพื่อจะจดจำเอาไปพูดให้หมู่ฟัง และให้ญาติโยมฟังกว้างขวางต่อไป คือเรื่อง กรรม นี้น่ะคนไม่ค่อยเข้าใจ คนยังเข้าใจผิดมากทีเดียวละ คือผมตั้งแต่บวชมาก็ได้ยินเรื่องกรรมนี้อยู่เสมอ เขาเรียกทีเดียวว่า “เจ้ากรรมนายเวร” แต่ก็ไม่กล้าที่จะเทศน์ให้คนฟัง เพราะเห็นว่าคนทั้งหลายถือเป็นอย่างนั้นเข้าใจกันเสียอย่างนั้นโดยมาก คือพูดไปแล้วก็คงจะไม่มีใครฟัง มาตอนนี้ผมอดไม่ได้แล้วจะต้องพูดแล้ว

กรรม คือเกิดจากการกระทำ ทุกคนต้องมีการกระทำ ไม่ว่าดีไม่ว่าชั่วทำกันทั้งนั้น พุทธศาสนาสอนความเป็นจริงตามเป็นจริง คนเราเกิดมาก็ต้องสอนเรื่องกรรมคนจะหนีกรรมไม่พ้น ใครๆทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วต้องอยู่ในกรรม กรรมดีเรียกว่า กุศลกรรม กรรมชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม กรรมดีและกรรมชั่วนี่แหละมันไม่ใช่ของเกิดเองเป็นเอง ที่คนเข้าใจว่ามันเกิดเองเป็นเอง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าจิตใจของเรานี่แหละ มันไปเกาะเกี่ยวเนื่องเอาเรื่องกรรมนั้นมาใส่ใจของตนเองจึงค่อยติดอยู่ในใจของตนเองค่อยเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในใจของตนเอง ทำอย่างไรก็แกะมันไม่พ้น ทำอย่างไรก็แกะไม่หลุด

กรรม คือ วิบากขันธ์ มีรูปกับนามนี่แหละเป็นพื้น เกิดขึ้นมาแล้วต้องมีรูปกับนาม ผู้ทำกรรมก็คือรูปกับนามนี่ล่ะ แต่ไม่ใช่ตัวกรรม รูปอันนี้ไม่ใช่ตัวกรรม นามเป็นตัวกรรมต่างหาก ตัวจิตนี่น่ะมันคอยคิดอยากจะทำร้าย คิดอยากจะเบียดเบียน คิดอยากจะริษยาพยาบาทคนอื่น มันปรุงแต่งขึ้นมา แต่แท้ที่จริงแล้วมันก็ไม่มีกรรมอะไรหรอกในที่นั้น มันปรุงมันแต่งขึ้น มันเกิดขึ้นในที่นั้น มันจึงค่อยเป็นเวรเป็นกรรมต่อไป แล้วก็คิดทำขึ้นมาที่นั่นมันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน คิดเฉยๆทำไม่ได้ มันต้องแสดงออกไปทาง กาย วาจา ทางใจ พร้อมกันทั้ง ๓ อย่างจึงคอยทำกรรมนั้นได้ กรรมดี กรรมชั่วเหมือนกัน แสดงออกทางอาการทั้ง ๓ อย่างนี้ทั้งนั้น

ตัวกรรมแท้ไม่ใช่ตัวนั้น เป็นตัวแสดงแท้ๆไม่ใช่ตัวกรรม แสดงออกมาให้ปรากฎเฉยๆทาง กาย วาจา ใจครั้นเมื่อแสดงออกมาด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้วก็ประกอบกรรม นั่นแหละจึงค่อยมีกรรมเกิดขึ้นมา ทีแรกไม่มีเป็นของว่างๆเฉยอยู่นี่แหละ แต่ประกอบขึ้นมาเลยก็มี เลยเกิดขึ้นมา มีในตัวของตนคราวนี้ เมื่อกรรมมันเกิดขึ้นมาอย่างนั้นแล้ว ในขณะที่จิตคิดประทุษร้าย ร้ายกาจ กรรมมันต้องประทุษร้าย ร้ายกาจ จิตใจมันต้องอำมหิต เหี้ยมโหดที่สุด มันจึงค่อยเป็นกรรม จึงค่อยเรียกว่า กรรมดี กรรมชั่ว

กรรม ในที่นี้คนทั้งหลายโดยมากเข้าใจว่ากรรมคือ ทำชั่วทั้งนั้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาสอนมี กรรมดี กรรมชั่ว กรรมชั่วนั้นมีทั้ง เวร ทั้ง กรรม กรรมดีนั้นไม่มีเวร ท่านเรียกว่า “บารมี” เสีย บารมีคือก่อสร้างคุณวามความดี ท่านเรียกว่าบารมี ไม่เรียกว่าเวรไม่เรียกว่ากรรม คือการบุญการกุศลนั่นก็เรียกว่ากรรม แต่ไม่มีเวร การทำกรรม เวรนี้เฉพาะใครเฉพาะมัน ทุกคนเห็นในใจของตนเอง เมื่อทำลงไปแล้วรู้สึกด้วยตนเอง ใครก็ไม่รู้สึกด้วย เฉพาะตนเองแท้ๆ

แล้วคำที่ว่า ทำบุญอุทิศให้ “เจ้ากรรมนายเวร” นั่นน่ะ ตรงนี้แหละผมสงสัยมาก เจ้ากรรมอยู่ไหน นายเวรอยู่ไหนก็ไม่ทราบ เจ้ากรรมนายเวรคือผู้รับกรรมนั้นไป เราทำแล้วผู้นั้นรับกรรมไป ให้เป็นเวรเป็นกรรมต่อกัน หรือให้ขาดเวรขาดกรรมต่อกัน อันนั้นเป็นผู้บัญชาการ เรียกว่านายเป็นผู้บัญชาการนั่น เขาคงหมายเอาตรงนั้นแหละ ตรงผู้บัญชาการนั่นแหละ แล้วคราวนี้ก็ทำบุญทำกุศลอุทิศไปให้เจ้ากรรมนายเวร ไม่ใช่ให้ตัวกรรมตัวเวรนั่นน่ะ ให้ตัวนายโน่นน่ะ นายตัวเจ้ากรรมนายเวรโน้นละ มันเป็นอีกต่อหนึ่ง เขาประสงค์อย่างนั้น คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ในที่นี้เขาประสงค์อย่างนั้น

แล้วผมได้ยินได้ฟังมาก็ดี ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก็ดี ในที่ใดๆแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยเห็นเลยเจ้ากรรมนายเวร หรือว่าดูไม่ทั่วถึงก็ไม่ทราบในธรรมะทั้งหลาย หรือฟังไม่ทั่วถึงก็ไม่ทราบ แต่เท่าที่ได้ฟังได้ยินได้ศึกษามาไม่มีหรอก เจ้ากรรมนายเวร พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า ผู้ใดทำกรรม ผู้นั้นย่อมได้รับผลของกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ท่านไม่ได้ตรัสถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ตรงนี้แหละผมสงสัยมาก จะไปให้อย่างไรให้เจ้ากรรมนายเวร เราก็ไม่ใช่ญาติพี่น้องกับเจ้ากรรมนายเวร เจ้ากรรมนายเวรก็ไม่ทราบอยู่ที่ไหน ตัวเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ชื่อเสียงก็ไม่รู้จักเจ้ากรรมนายเวรนั่นว่าไปเฉยๆ เรียกไปเฉยๆ อย่างนั้นแหละ ความเป็นจริงนั้นไม่มีตัวมีตน กรรมเวรก็ไม่มีตัวมีตนจะไปให้กันอย่างไร จะไปให้กันรักษาคุ้มครอง รักษาอย่างไร? ไม่มีตนไม่มีตัวทั้งสองอย่าง

เหตุนั้นจึงว่าเจ้ากรรมนายเวรไม่มี ผมเข้าใจว่าไม่มี ตรงนี้แหละอยากจะสอนให้เข้าใจ ถึงเรื่องคนทั้งหลายทั่วไปหมด ที่ถือศาสนาพุทธแต่ไม่เข้าใจถึงเรื่องเหล่านี้ เมื่อกระทำด้วยใจประทุษร้ายเหี้ยมโหดจองกรรมจองเวร ครั้นเมื่อใจดีขึ้นมาแล้วก็เห็นโทษ อยากให้กรรมให้เวรนั้นหายไป ไม่อยากให้มันติดพันอีกต่อไป จึงทำบุญแล้วอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร เรื่องเจ้ากรรมนายเวรไม่มีหรอก ความเป็นจริงไม่มีอย่างที่อธิบายมานั่นแหละเหตุผลอย่างที่อธิบายมานี้

กรรมอย่างหนึ่ง เวรอีกอย่างหนึ่ง กรรมคือการกระทำทุกสิ่งทุกประการ ที่เป็นบุญเป็นบาปอะไรต่างๆ คราวนี้พูดถึงแต่เรื่องบาป ไม่ต้องพูดอธิบายถึงเรื่องบุญ บุญนั้นพิจารณาเอาตามอัตโนมัติของตน เข้าใจโดยตรงกันข้ามกับบาป บาปที่กระทำผิดเล็กๆน้อยๆ เจตนาก็ดีไม่เจตนาก็ดี ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติผิดอะไรต่างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงคนนั้นคนนี้ ทำมากมายหลวงหลายนั้นน่ะ อันนั้นเป็นกรรม

ส่วนเวรนั่น เฉพาะเจาะจงบุคคล เราทำเวรกับผู้ใด เราผูกพยาบาทอาฆาตกับผู้นั้นให้เป็นเวรต่อกันไป ถ้าหากผู้นั้นไม่ตอบแทน หรือผู้นั้นไม่เอาเรื่องเอาราว หรือเอาเรื่องเอาราวตอบแทนก็ดี มันเป็นเวรต่อกันและกัน อย่างเรื่องนางยักษิณี และนางกุลธิดา ในเรื่องธรรมบทนั่น เป็นเวรต่อกันไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที

เรื่องเดิมว่ามียายคนหนึ่ง มีลูกชายคนหนึ่งปฏิบัติแม่ดี๊ดี ครั้นต่อมาแม่คิดสงสารเอ็นดูอยากจะหาเมียให้มาปฏิบัติช่วยกัน ไปพูดกับลูกชาย ลูกชายพูดว่าอย่าเถอะทำคนเดียวได้ ครั้นมีเมียแล้วมันชอบใจ มันก็ปฏิบัติ ไม่ชอบใจมันก็ไม่ปฏิบัติ เป็นเรื่องยุ่งต่างหาก ไม่ต้องเอามาก็ได้หรอก แม่ก็เลิกแล้วกันไป นานหนักเข้าก็พูดอีก ในผลที่สุดก็เลยไปเอามาจนได้ เอามาครองไว้เป็นเมียแล้วคราวนี้หญิงคนนั้นก็ปฏิบัติดีหรอกทีแรกเบื้องต้น ต่อมาก็เลยขี้เกียจ อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไมทำ แต่เผอิญไม่มีลูก ยายแก่คนนั้นก็เลยไปหาผู้หญิงมาให้อีกคนหนึ่ง เอามาเป็นเมียลูกเพราะตระกูลไม่มีลูก นั่นเรียกว่าตระกูลฉิบหาย ไม่มีคนสืบพันธุ์

ครั้นหามาคราวนี้มันเลยมีลูกมาคนหนึ่ง เมียหลวงก็เลยคิด เอ! คนเขามีลูกเขาก็เป็นใหญ่กว่าเราน่ะซี ทำอย่างไรล่ะ? คิดพยาบาทอาฆาตไว้ในใจ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยประการต่างๆ แต่เวลาผลที่สุดเอายาฆ่าลูกให้กิน ลูกก็เลยตกไป หนที่ ๒ ก็อีกนั่นแหละ หนที่ ๓ นี่ แม่ตายลงอีกด้วย คนที่เป็นเมียน้อยมันก็คิดว่า คงจะเป็นผู้หญิงคนนี้แน่ทีเดียวฆ่ากู ไม่ใช่คนอื่น มันก็ผูกอาฆาตพยาบาท เกิดชาติไหนก็ขอให้กูเป็นอย่างนี้เถอะ ขอให้กูได้ทำมึงอย่างนี้เถอะ มันก็เลยตายไป

เมียน้อยตายไปเกิดเป็นแมว เมียหลวงตายไปเกิดเป็นไก่ ไก่ออกไข่มาทีไร แมวก็เอาไปกินเสีย ๒ หน หนที่ ๓ นี้เอาแม่ไก่ไปกินซ้ำอีก มันก็เลยอาฆาตกันอีกแหละ เกิดชาติหน้าขอให้กูได้เป็นอย่างนี้เถอะ ทำมึงอย่างนี้เถอะ ไก่ตายไปเกิดเป็นเสือ แมวตายไปเกิดเป็นกวาง กวางออกลูกมา ๒ หน-๓ หน เสือก็เอาไปกินเสียทั้ง ๒ หน มาหนที่ ๓ นี่เลยเอาแม่ไปกินด้วยอีก คราวนี้กวางมันก็พยาบาทอาฆาตกันต่อไปอีก

ในผลที่สุด กวางตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี เสือตายไปแล้วเกิดเป็นนางกุลธิดา พอลูกเกิดมาที่ ๑ และที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นอีก นางยักษิณีทำตัวเหมือนเป็นสหายของผู้หญิงคนนั้นแหละ เขาก็รู้จักกันว่าเป็นสหายกันเพราะมันเหมือนกัน รูปร่างหน้าตาอะไรต่างๆพอมาถามหาเขาก็บอกว่าอยู่บ้านนั้นๆ มันก็ไปหา อุ้มลูกเขาจูบชมจนกระทั่งพอแก่ใจแล้ว ก็เคี้ยวกินเดียวนั้นเลย ทำถึง ๒ หน หนที่๓ นี้ไม่ได้เรื่องแล้ว ผู้หญิงคนนั้นคิด โอ๊ย! ไม่ไหวหรอกอยู่บ้านนี้ นางยักษิณีก็จะมาเอาลูกของเราไปกินอีกละเลยไปหาตระกูลผัว

พอเดินทางไปพอดีนางยักษิณีก็มีธุระมาไม่ทัน คนนั้นเดินไป ไปอาบน้ำตามทางอยู่ เวลานั้นมันร้อน ไปอาบน้ำกลางทาง ให้สามีอุ้มลูกไว้ให้ ตัวลงไปอาบน้ำ พอขึ้นมาก็อุ้มลูกให้ ให้สามีไปอาบน้ำ พอเห็นนางยักษิณีเท่านั้นแหละวิ่งเลย มาแล้วมาแล้ว นางยักษิณีวิ่งตามไป ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งใหญ่วิ่งน้อย จนกระทั่งเข้าไปในวัดเชตุพนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเทศนาอยู่ เมื่อเขาไปหา พระองค์ทรงเทศน์ให้ฟังตรัสถึงเรื่องกรรมเรื่องเวรที่พัวพันกัน ผูกกันไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที อันนี้บุญเหลือหลายมาพบตถาคต พระองค์เลยทรงเทศน์ให้พากันประนีประนอมอ่อนน้อม ยินยอมเป็นมิตรเป็นสหายกัน ตอนนั้นจึงได้ขาดกรรมขาดเวร

เวรนั้นไม่มีที่สิ้นสุด กรรมนั้นก็ไม่มีที่สิ้นที่สุด อย่างพระพุทธเจ้าเกิดมาก็ต้องหลายกัปป์หลายกัลป์ กับพระเทวทัตนั่นเป็นเวรต่อกันไม่รู้แล้วรู้รอดสักที พระองค์ก็พยายามทำดีทุกอย่าง แต่ว่าพระเทวทัตไม่ละไม่ถอน คอยที่จะทำเวรอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งมาเกิดที่ทศชาติ ก็ยังพยาบาททำกรรมทำเวรมาเกิดเป็นจันทกุมาร นี่แหละเรื่องกรรมเรื่องเวรมันเป็นอย่างนี้แหละ ยากที่สุดที่จะพ้นจากกรรมจากเวรได้น่ะ เราไม่พ้นจากกรรมจากเวร เราเกิดมาเพราะกรรม เพราะเวร จึงว่า

กมฺมโยนิ กรรมเป็นกำเนิดให้เกิดมา

กมฺมพนฺธุ มันติดพันเรามาตลอดเวลา

กมฺมปฏิสรณา เราอาศัยกรรมอยู่เดี๋ยวนี้

ทุกสิ่งทุกประการมันจะหมดสิ้นอย่างไรได้? มันจะหมดสิ้นก็ต่อเมื่อสิ้นสังขารร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ท่านบำเพ็ญเพียรถึงที่สุดแล้ว สังขารร่างกายนี้แตกดับ กรรมตามไม่ทันแล้วคราวนี้ กรรมอันนี้เรียกวิบากขันธ์ วิบากนี้ต้องตามทันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจิตนั้นตามไม่ทัน จิตใจของพระองค์หมดจดบริสุทธิ์ จิตใจของสาวกหมดจดบริสุทธิ์แล้ว คราวนี้แหละกรรมตามไม่ทัน กรรมที่ตามไม่ทันเพราะจิตใจหลุดพ้น เพราะจิตปราศจากความกังวลเกี่ยวข้อง จิตที่เป็นหนึ่ง

อย่างที่เคยพูดให้ฟังว่า จิตที่เป็นหนึ่ง ที่รู้เท่ารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นนิจ ไม่คิดถึงเรื่องอดีต อนาคต ไม่คิดถึงเรื่องวุ่นวายสิ่งทั้งปวงหมด บริสุทธิ์อยู่คนเดียว จิตอันอยู่คนเดียวนั้นไม่มีอะไรถูกต้อง อะไรถูกต้องก็รู้เท่ารู้เรื่อง อันนั้นแหละเรียกจิตบริสุทธิ์ อันนั้นแหละจึงจะหลุดพ้นจากกรรมจากเวรได้

ทุกๆคนพากันจำไว้ อธิบายอย่างนี้แหละให้เขาฟัง เพื่อประโยชน์แก่โลก เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แล้วก็เพื่อประโยชน์พระพุทธศาสนา ถ้าหากเขาเข้าใจก็เป็นประโยชน์แก่เขาด้วย แล้วก็ประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาด้วย อย่างที่อธิบายมานี่แหละ

จิตที่เป็นหนึ่ง ที่รู้เท่ารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นนิจ…อะไรถูกต้องก็รู้เท่ารู้เรื่อง อันนั้นแหละเรียกจิตบริสุทธิ์ อันนั้นแหละจึงจะหลุดพ้นจากกรรมจากเวรได้

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 34. กรรม-เวร]