33. ความสามัคคีแท้อยู่ที่จิต

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เอาธรรมวินัยเป็นเครื่องอ้าง อย่าไปเอาความคิดความเห็นของตนเป็นเครื่องอ้าง

๓๓. ความสามัคคีที่แท้อยู่ที่จิต
วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

วันพรุ่งนี้เข้าพรรษา การพรรษาอยู่จำพรรษา มันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของพระ เวลาฟ้าฝนตกมาต้องอยู่เป็นที่เป็นฐาน เราจะต้องศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ คือ เมื่ออยู่คงที่ อยู่กับที่แล้ว ต้องมีการศึกษาเล่าเรียน แล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติไปด้วย ที่เขาพูดว่าเรียนปริยัติไม่ต้องปฏิบัติ ไม่มีปริยัติต่างหากจึงค่อยปฏิบัติ อันนั้นไม่จริง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น ทรงสอนทั้งปริยัติด้วยทั้งปฏิบัติด้วย ศึกษาเล่าเรียน เรียก ปริยัติ เรียนไปด้วยปฎิบัติไปด้วย มันจึงค่อยถูกตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

พวกเราทำมาหลายฟ้าหลายปีแล้ว ทำแต่ไหนแต่ไรมา ก็ไม่เห็นขัดข้องอะไร ผู้ภาวนาก็ยังดีอยู่เหมือนเก่า ผู้จะทำดี ผู้ภาวนาดีก็ยังดีเหมือนเก่า อันการศึกษาเล่าเรียนก็ศึกษาเล่าเรียนไป ก็ยังดีกว่าพวกที่ตั้งใจปฏิบัติฝ่ายเดียวนั้นอีก มันเป็นความขี้เกียจขี้คร้านของเขาเองต่างหากหรอก ผู้อ้างนั้นน่ะ ว่าเรียนเสียก่อนเถิด ให้มันได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยไปปฏิบัติ เรียนไปก็เท่านั้นแหละไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ ปฏิบัติก็ไม่ได้ปฏิบัติ มันเป็นแต่ความอ้างเฉยๆนี่แหละ

การอยู่จำพรรษามันต้องปรองดองสามัคคี เรามาบวชเพราะความสามัคคีแท้ๆ ไม่ใช่บวชคนเดียว บวชตั้งแต่สงฆ์สี่ห้ารูปขึ้นไปปรองดองสามัคคีกัน ไม่เหมือนชาวบ้านเขาคลอดลูก มีแต่สองผัวเมียเขาก็คลอดได้ อันนี้คลอดพระออกมาเป็นพระเป็นสงฆ์ ต้องพร้อมด้วยสงฆ์ห้าองค์ขึ้นไป จึงค่อยบวชได้ อันนี้เรียกว่าบวชด้วยโอษฐ์ บวชด้วยปาก บวชด้วยญัตติจตุถกรรม บวชญัตติจตุถกรรมแล้วจึงค่อยเป็นพระ อันนี้ละเบื้องต้นที่จะเป็นพระขึ้นมา

คราวนี้เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไปด้วยกันอยู่ด้วยกันในที่ใดที่ใดก็ดี ก็ต้องพร้อมเพรียงสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความเมตตาปราณี สงสารเอ็นดูซึ่งกันและกัน ความคิดความอ่านให้ไปทำนองเดียวกันมันยากอยู่ ต่างคนต่างถิ่นต่างพ่อแม่มารวมกัน มันยากที่จะทำได้ แต่ถึงอย่างไร มันยากเท่าไร ก็อุตส่าห์ทำให้มันถึงกันได้ มันจึงได้ความสุข

ครั้นถ้าหากว่าทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกันไม่รู้แล้วรู้รอด มีความคิดเห็นแตกต่างไปกันคนละทาง อันการประพฤติปฏิบัติก็ไปคนละทาง มันเป็นทุกข์เดือดร้อนเพ่งโทษซึ่งกันและกัน อันนั้นแหละไม่เป็นความสามัคคี อันนั้นแหละไม่เป็นความสามัคคี ความสามัคคีแท้ต้องมุ่งปฏิบัติ ในทำนองเดียวกัน มีความคิดความเห็นอย่างเดียวกัน ไปในทำนองเดียวกัน ถึงจะผิดแปลกไปบ้าง แต่ว่ามุ่งประสงค์ธรรมวินัยอันเดียวกัน มันจึงค่อยเป็นสามัคคี

ความสามัคคีแท้อยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่กาย จิตคิดมุ่งมาดปรารถนาที่จะให้หมู่เพื่อนเป็นสุขสบาย ให้หมู่เพื่อนได้ความรู้ความเข้าใจเพื่อจะปรองดอง ทำความคิดความเห็นให้ลงรอยกัน

หากว่าเบื้องต้นมันยังไม่เห็นด้วยก็ช่างเถอะ เอาไว้นั้นเสียก่อน แต่ว่าความมุ่งมาดปรารถนา ที่จะให้ความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวลงรอยกันนั้น ลงรอยในธรรมวินัยอันเดียวกันนั้นน่ะ มันต้องคิดพยายาม ทั้งตัวของเราก็ดี ที่คิดว่าอันของเราถูกล่ะ แต่คนอื่นไม่เห็นว่าถูกด้วย คนอื่นก็เข้าใจว่าของเราถูกล่ะ แต่ว่าเราไม่เห็นด้วย มันก็จำเป็นละจะต้องไม่ปรองดองกันเป็นธรรมดา แต่ว่าความคิดความเห็นอันนั้นน่ะ อะไรมันถูกอะไรมันผิด อะไรมันเข้าถูกธรรมถูกวินัย ก็เอาธรรมวินัยเป็นเครื่องอ้าง อย่าไปเอาความคิดความเห็นของตนเป็นเครื่องอ้าง

แล้วการที่จะคิดให้มันถูกต้องทำนองคลองธรรม มันต้องจิตสงบเสียก่อน จิตให้มันสงบเยือกเย็นเสียก่อน จึงค่อยลงรอยกันได้ จึงค่อยเข้าหากันได้ ถ้าจิตไม่สงบ การลงรอยกันไม่มีวันละ ทำอย่างไรก็ไม่วันที่จะปรองดองกันได้ เหตุนั้นให้ระวังตรงนี้ ให้ระวังให้ดีที่สุด ทำจิตให้สม่ำเสมอ ให้เรียบร้อยเสียก่อน อย่าไปเพ่งโทษซึ่งกันและกัน แล้วจึงค่อยพยายาม ตั้งจิตเมตตาปรารถนาหวังดีต่อกันแล้วค่อยพูดกัน นั่นล่ะ ลงรอยกันแล้วคราวนี้

อันความคิดความเห็นต่างๆ นั้น ละทิ้งหมด ถึงความคิดความเห็นจะแตกต่างกันมากมายสักเท่าไรก็ดี ครั้นเมื่อตั้งจิตอย่างนั้นแล้ว มันอ่อนมาหากันเองหรอก อันนั้นลบล้างไปหมด ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่ลบล้างเลย ความเห็นก็ดิ่งอยู่ท่าเดียวนั่นล่ะ พูดอย่างไรก็ไม่ลง นี่ความที่จะเป็นมงคล ที่จะให้เกิดความสามัคคี เป็นมงคลได้ต้องทำอย่างนี้

อยู่น้อยองค์ก็ดี อยู่มากองค์ก็ดี ต้องเป็นอย่างนั้น อย่าเพ่งโทษซึ่งกันและกัน ไม่ดีหรอก เพ่งถึงธรรมเป็นประมาณ เราปฏิบัติธรรม เพ่งถึงธรรมเป็นของสำคัญที่สุด การปฏิบัติธรรมของเราเป็นอย่างไร? เราเอาบริกรรมพุทโธ หรือเอาสัมมาอะระหังฯ อะไรต่างๆ หรือว่าอานาปานสติ มรณัสสติ เอาอันนั้นเป็นหลักแน่วแน่ หรือพิจารณากายคตาสติ เอาอันนั้นเป็นหลักแน่วแน่ ให้พิจารณาถึงความเกิดความดับ ให้พิจารณาถึง อสุภะ ปฏิกูล อันนั้นเป็นสำคัญเป็นธรรมะแท้

อันสิ่งต่างๆนั้นของภายนอกนั้น ทิ้งเสียก่อน มาพิจารณาที่เป็นธรรมเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปพิจารณาภายนอก มันจึงลงไปได้ มันจึงค่อยลงกันได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ลงกันไม่ได้ เอาละ

อย่าเพ่งโทษซึ่งกันและกัน ไม่ดีหรอก เพ่งถึงธรรมเป็นประมาณ เราปฏิบัติธรรม เพ่งถึงธรรมเป็นของสำคัญที่สุด

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 33. ความสามัคคีแท้อยู่ที่จิต]