32. ที่สุดของ ศีล สมาธิ ปัญญา
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ประพฤติผิดมาก ศีล ก็มีมากเท่านี้แหละ
๓๒. ที่สุดของศีล สมาธิ ปัญญา
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
วันนี้จะอธิบายเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา นี้แหละ ไม่ต้องอธิบายอื่นไกลหรอก แต่ว่าจะอธิบายถึงที่สุดของศีล ของสมาธิ ของปัญญา เพราะศาสนานั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีที่สุดเป็น ถ้าไม่มีสิ้นสุดเป็นแล้ว จะไปจบตรงไหนศาสนาพระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนาว่า จบศาสนา มันจบตรงไหนกันก็ไม่ทราบ ไม่เห็นที่จบสักที ศีล ก็รักษากันมาแต่ไหนแต่ไร สองร้อยยี่สิบเจ็ดยิ่งมากเข้าไปกว่านั้นอีกเหลือหลาย ปกิณกะที่มานอกนั้นก็มากมาย สมาธิ ก็หลายเรื่องหลายอย่าง ยิ่งสมัยนี้ยิ่งแปรปรวนไป มีคนประดิษฐ์คิดต่างๆขึ้นมาหลายอย่างหลายเรื่อง เอาตามความคิดความเห็นชอบใจของตน ปัญญา ก็ยุ่งมากยิ่งกว่าอะไรอีก ไม่มีที่สิ้นสุด
ในทางพุทธศาสนาพระองค์ทรงสอนว่า มีที่สุดของศาสนา อยู่จบพรหมจรรย์ อยู่จบศาสนา ทรงว่าอย่างนั้น มันจบตรงไหนกัน? เราลองคิดดูซิ ศีลห้า ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดก็เอาเถอะมากมายหลวงหลาย ศีลน่ะไม่ใช่พระองค์ทรงเอามาด้วย และพระองค์ทรงดับขันธ์ไปแล้วก็ไม่ได้เอาไปด้วย ศีล หากเกิดจากความประพฤติของพระของเจ้า ประพฤติผิดมาก ศีลก็มีมากเท่านี้แหละ ถ้าพระองค์ทรงมีชีวิตอยู่จนป่านนี้ ไม่ทราบว่าจะมีศีลกี่หมื่นกี่แสน เมื่อประพฤติล่วงเกิน พระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติตามความผิดของพระนั่นแหละ
พระองค์ทรงสอนว่า ศีลมีข้อเดียว มันอันเดียว คือเจตนางดเว้น นั่นเป็นข้อสำคัญที่สุด
เราสมาทานศีลจะเป็นศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบอะไรก็ตามเถอะ ครั้นถ้าไม่มีเจตนาสักแต่ว่าพูดไปเฉยๆ ว่า สมาธิยามิ ไปทุกข้อ แต่เจตนาที่จะงดเว้นในข้อนั้นๆ ไม่มีมันก็สักแต่ว่าพูดไปเฉยๆ ไม่รู้จักศีล ว่าที่จบที่สุดอยู่ตรงไหนกัน ส่วนศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด ก็เหมือนกัน ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อๆนั้น ก็เพราะเหตุที่พระภิกษุองค์นั้นทำผิด เหตุนั้นจึงว่าตัว เจตนา นั้นเป็นข้อสำคัญ ถ้าหากว่าเรามีเจตนาแล้ว มันก็หยุดเพียงแค่นั้นไม่ต้องทำผิดต่อไปอีก องค์นั้นๆ ที่ทำผิดก็หมดเพียงแค่นั้น เจตนาตัวเดียว ข้องดเว้นมีเจตนาตัวเดียวเท่านั้น
อย่างพระคณาจารย์หรือนักเทศน์ทั้งหลายท่านสอน ศีล เป็นเครื่องระงับดับกิเลสเบื้องต้น คือ รักษากาย รักษาวาจา ระงับกิเลสบรรเทากิเลสเบื้องต้น มีแต่กาย วาจาไม่พูดถึงใจ มันก็ผิดน่ะสิ ผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าเจตนาเป็นตัวศีล ลองคิดดูว่า คนตายรักษาศีลได้ไหม? ครั้นไม่มีใจแล้วจะรักษาศีลได้ไหม? ถ้าไม่มีใจจะงดเว้นอะไร คนตายไม่เคยรักษาศีล ไม่เคยสมาทานศีล ถึงเมื่อพระให้ศีลในเวลาปลงศพปลงอะไรต่างๆ ไม่ใช่คนตายรักษาศีล คนเป็นต่างหาก คนเป็นอาราธนาศีล เป็นคนสมาทานศีล จึงค่อยเป็นศีล ถ้าหากไม่มีเจตนาแล้ว เป็นศีลไม่ได้
ครั้งพุทธกาลไม่เคยสมาทานศีลก่อนจึงค่อยฟังเทศน์ พระองค์จะไม่ทรงเทศน์ถึงเรื่องศีล ทรงเทศน์ให้พระเจ้าพระสงฆ์ฟัง ไม่เทศน์ถึงเรื่องศีล ทรงเทศน์ถึงเรื่องสมาธิอันเดียว เมื่อจิตเข้าถึงที่แล้ว จิตบริสุทธิ์แล้ว ศีลเลยเกิดขึ้นมาเอง ศีลพร้อมขึ้นมาเอง ไม่ต้องสมาทานศีลไม่ต้องรักษาศีล อย่างพระองค์คุลีมาล พระองค์ทรงเทศน์ให้ละที่จิตอันเดียวเท่านั้นแหละ เลยสำเร็จมรรคผลนิพพาน อันพวกเรานี้มันงมงายแต่รักษาศีล มันงมงายแต่ศีลเบื้องต้น เบื้องปลายที่สุดอะไรต่างๆหลายเรื่องหลายอย่าง ก็เลยยุ่งไปกันใหญ่
ถ้าฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามุ่งหมายจะทำความบริสุทธ์อันเดียวแล้ว จิตที่บริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ไปในตัว ศีลจึงค่อยมีที่สุดคือ เจตนาเป็นที่สุดของศีล
ที่สุดของสมาธิ คือ ภวังค์ หรือ อัปปนาสมาธิ เรียกอัปนาฌานก็เรียก วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา หรือเอกัคตาอุเบกขา อุเบกขาแล้วก็หมดเรื่อง ถึงหากว่ารูปฌาน อรูปฌานต่อไป ก็ลงตัวจิต อัปปนา นั้นแหละ จิตที่เป็น อัปปนา นั้นน่ะถึงที่สุดของสมาธิ ฌานก็อันนั้นแหละ อัปปนาฌาน อัปปนาสมาธิ นั้นแหละ ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ ดับสัญญา เวทนา หมด ปัญญา ก็เลยไม่ใช้ ไม่ต้องใช้กันหรอกดับหมดเลย ก็เพียงแค่อันเดียวกันนั้น ตัวจิตอันเดียวนั้นแหละ ดับจิตตัวเดียวเท่านั้น เรียกว่าที่สุดของสมาธิ
ใครจะทำอะไรก็ทำไปเถิด ฝึกหัดอะไรก็ทำไปเถิด อย่างสมัยเดี๋ยวนี้แหละ มีคณาจารย์หลายท่านหลายองค์ อย่างเขาทำกันยุบหนอพองหนอก็ดี หรือสัมมาอะระหังก็ดี พุทโธก็ดี อานาปานสติก็ดี มรณัสสติก็ดี สารพัดทุกอย่างนั่นแหละ ทำเพื่อให้จิตถึงที่สุดถึงสมาธิ คือ อัปปนาอันเดียว อัปปนานี้ไม่ใช่เกิดอุบายปัญญาอะไรหรอก พักจิตเฉยๆ นี่แหละ วิธีหัดจิตอบรมจิตตั้งแต่เบื้องต้นไป อย่างที่เรียกว่าวิตก วิจารณ์ หมู่นี้เป็นเรื่องหัดจิตทั้งนั้น ภวังค์ หรือ สมาธิอะไรต่างๆ เป็นวิธีหัดทั้งนั้นแหละ ครั้นถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรหรอก ถึงที่สุดของสมาธิก็คืออัปปนา เมื่อถึงที่สุดแล้วมันหยุดแล้วคราวนี้ ไม่มีอะไรหมดทุกสิ่งทุกอย่าง หยุดเพียงแค่นั้น
ปัญญามันเกิดตรงไหน มันเกิดตรงมาจากอัปปนา แล้วมาถึงอุปจาระนั้นต่างหาก มันจึงค่อยเกิดขึ้น อุปจาระที่ออกมาจากอัปปนา มันไม่ใช่อุปจาระเข้า “อุปจาระเข้า” นี้มันต้องระงับดับส่วนเบื้องต้นความวุ่นวายต่างๆ มันเข้าไปถึงอุปจาระตอนนั้น มันส่งส่ายอยู่ภายใน แต่ว่ามันไม่ส่งส่ายภายนอก มันส่งส่ายภายใน ค้นคว้าอยู่ภายใน เรียกว่า อุปจาระเข้า
“อุปจาระออก” นั้นมันออกมาจากอัปปนาแล้ว มันแน่วแน่ในอารมณ์อันเดียว พิจารณาในอารมณ์อันเดียว พิจารณาอะไรก็พิจารณาแต่อันนั้น อันนั้นเรียกว่า อุปจาระออก อุปจาระออก จากอัปปนา ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน อุปจาระเข้าก็ได้ประโยชน์ อุปจาระออกก็ได้ประโยชน์ ก็แต่ว่าอุปจาระออกนั้น มันละเอียดกว่า คือ มันได้อัปปนาเบื้องต้น ได้อัปปนาเป็นพื้นฐาน แล้วจึงค่อยมาอยู่ในอุปจาระ ตัวนี้ต่างหากเกิดปัญญา
บางคนนั้นว่า นั่งหลับตาทำสมาธิมันจะได้อะไร? โอ๊ย…มันไม่เคย พวกไม่เคยได้ทั้งนั้นแหละ มันมีประโยชน์มาก นั่งหลับตาทำสมาธิได้ประโยชน์มากทีเดียวละ จนกระทั่งไม่รู้ตัวโน้นแหละ มีประโยชน์มากทีเดียว ใครทำได้นับว่าได้กำลังใจอย่างยิ่ง เรียกว่าพักจิตในขณะนั้น พักนานเท่าใดยิ่งมีกำลังมาก เวลาออกมาพิจารณาตอนออกจากอัปปนานั้น มีสติรอบคอบรอบรู้ รู้ทั้งนั้นอดีต อนาคต ปัจจุบัน พิจารณาชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าไม่มีสมาธิเป็นหลักฐาน จะพิจารณาอะไรก็พิจารณาไปเถิด หยุดยั้งไม่ได้ เตลิดเปิดเปิงจนกระทั่งไม่มีขอบเขต
ครั้นมีหลักฐาน มีอัปปนาเป็นพื้นฐานอยู่นั้น มีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่นั้น พิจารณาไปเถิดพิจารณาอะไรก็พิจารณาไปเถิด มันจะต้องหมด ลงสิ้นสุด ลงถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วกลับมาหาที่เก่าคือ สงบลงที่ใจ นิ่งแน่วอยู่เฉยๆ ให้พิจารณาก็ได้ ไม่พิจารณาก็ได้ อันนี้เรียกว่า จิตอยู่ในบังคับ คือ เนื่องจากมีสมาธิเป็นหลักฐาน ชำนิชำนาญเรื่องสมาธิ อันนี้เรียกสมาธิมีที่สุด คืออัปปนา สมาธิมีที่สุดตรงนั้นละ ทำไปเถอะใครจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ไม่นอกเหนือไปจากนั้นหรอก
คราวนี้ ปัญญา มีหลักฐานอย่างไร? มีที่สุดอย่างไร? ก็ด้วยอำนาจที่ฝึกหัดสมาธิมาแต่เบื้องต้น เรื่องศีล เรื่องสมาธิมาแต่เบื้องต้น พิจารณาทุกสิ่งทุกประการ มันจะต้องหมดที่สุดคือ ไตรลักษณ์ เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วมันจะไปที่ไหนละ ลงถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะไปที่ไหนกัน ไม่มีหรอก นอกจากนี้ ไม่มีหรอกในโลกอันนี้ มันลงอันนั้นแหละเข้ามารวมลงอันเดียวกันหมดลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็วาง ลงสภาวะ เป็นสภาวะ ลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วเป็นสภาวะ อันนั้นแหละที่สุดของ ปัญญา
ให้เข้าใจถึงที่สุดอย่างนี้ ธรรมมะทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีที่สุดไม่ใช่ธรรมะเป็นโลก พิจารณาเรื่องโลกเพลิดเพลินไม่อิ่มไม่พอสักที ถ้าเป็นธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ถูกตามคำสอนของพระองค์แล้ว มันต้องรวมลงมา พิจารณาออกไปแล้ว หมดเรื่องแล้วต้องรวมลงมาของเก่า มาหาใจ ที่พูดง่ายๆ เรียกว่าใจ มันไม่คิดไม่นึก ไม่ส่งส่ายอะไรทั้งหมด จะให้พิจารณาก็ได้ ไม่ให้พิจารณาก็ได้ ใช้มันได้เลย ใช้ใจได้ ใจอยู่ในบังคับของตน มันก็หมดเรื่องน่ะซี จะไปทำอย่างไรกันอีก จิตมันบังคับตน ให้ตนคิดค้นพิจารณาไปไม่มีขอบเขต ไม่รู้จักสิ้นสุด มันจะสิ้นสุดได้อย่างไรตรงนั้น จึงว่าศาสนามีที่สุดอย่างนี้ ทางโลกไม่มีที่สิ้นสุด เอาล่ะ
บางคนนั้นว่า นั่งหลับตาทำสมาธิมันจะได้อะไร? โอ๊ย…มันไม่เคย พวกไม่เคยได้ทั้งนั้นแหละ
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 32. ที่สุดของ ศีล สมาธิ ปัญญา]