31. ตั้งหลักแหล่งในการภาวนา
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หลักคือ ตัวกายกับใจ… สติควบคุมจิตผู้มันส่งสาย ให้มันวนเวียนอยู่ในนั้นแหละ ไม่ให้ไปไหน นั้นเรียกว่า แหล่ง
๓๑. ตั้งหลักแหล่งในการภาวนา
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๘
จงตั้งหลักให้ดี ตั้งหลักให้มั่น จับหลักมันให้ถูก การภาวนามันถึงจะเป็นไป ให้คิดดูสิ่งทั้งหลาย ที่เขาทำการวานกันอยู่ภายนอก ก็ต้องตั้งหลักตั้งแหล่งเสียก่อน การค้าขายก็ตั้งโรงงาน การทำราชการก็ต้องมีสำนักงานทุกสิ่งทุกอย่างทำอะไรต้องมีสำนักงานทั้งนั้น ต้องมีที่ตั้งมันจึงทำถูก คำโบราณท่านว่าหลัก ว่าแหล่ง หลักนั้นคือ ปักหลักไว้ แหล่งนั้นคือว่าเปรียบถึงเรื่องวัวเรื่องควายต้องมีหลักแหล่ง วัวควายมันต้องผูกเชือกใส่หลัก แล้วก็ต้องผูกเชือกใส่คอมัน จึงเรียกว่าแหล่ง ครั้นมีหลักมีแหล่งแล้วมันก็ไม่ไปไหนล่ะคราวนี้ อยู่คงที่แล้ว คำว่าหลักแหล่งมันจึงค่อยถูกความหมาย ทีนี้คำพูดว่าหลักว่าแหล่งนั้นว่าเฉยๆ แต่ไม่รู้เรื่องความหมาย
ในทางพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ตั้งหลักลงแล้วก็ตั้งแหล่งให้มันถูก หลักคือ ตัวกายกับใจ ไปเถอะใครจะปฏิบัติอะไรที่ไหนก็ทำเถอะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ร้อยแปดพันประการ ออกจาก กาย ออกจาก วาจา ออกจาก ใจ ทั้งนั้นกายกับใจนี้เป็นหลัก
แหล่ง นั้นคือ เอา สติ คุมไว้ไม่ให้มันหนีจากกาย สติควบคุมจิตผู้มันส่งสาย ให้มันวนเวียนอยู่ในนั้นแหละ ไม่ให้ไปไหน นั้นเรียกว่า แหล่ง ถ้าหากว่าไม่มีหลักไม่มีแหล่งทำไม่ถูกเลย ครั้นทำมันก็ทำไม่ได้ ขาดจากหลักจากแหล่งแล้วทำไม่ได้เด็ดขาด เราตั้งหลักลงแล้วก็เอาแหล่งควบคุมได้ ผูกไว้กับหลักนั่นแหละ
การพิจารณาก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาอื่นนอกจากนี้ไม่ได้ ต้องพิจารณากาย พิจารณาโดยเห็นอสุภะหรือเห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นสักแต่ว่า คือสิ่งหนึ่งซึ่งเรียกว่าธาตุ พิจารณาลองดูซิ นอกจากนั้นไม่มีหรอก พิจารณาหมดทั้งโลกก็ไม่หนีไปจาก ธาตุสี่ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม อันนี้ล่ะเป็นธรรม ไปนอกขอบฟ้าขอบจักรวาลที่ไหนก็ต้องอยู่ในขอบเขตนี้ทั้งนั้น ที่เป็นรูปธรรม มันต้องมี มี ดิน น้ำ ไฟ ลมผสมกันทั้งนั้น ไปภายนอกเลยเตลิดเปิดเปิง ไม่ใช่ ไม่ใช่นักปฏิบัติไม่ใช่ภาวนา
พิจารณาในตัวของเรานี้ มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันเป็นก้อนแยกก้อนนี้ออกไปเป็นสัดเป็นส่วน ส่วนใดเป็นดิน ก็เอาจิตนั่นแหละควบคุมไว้ สตินั้นควบคุมจิต จิตผู้คิดว่าดิน สิ่งแข็งๆ เรียกว่าดิน เอาตั้งแต่ตัวของเรานี้ออกไป สิ่งภายนอกที่แวดล้อมตัวของเราอยู่ มีเครื่องนุ่ง เครื่องห่ม ผ้าผ่อน เสนาสนะ หยูกยาก็ล้วนแต่ดินทังนั้น ดินนั้นผสมกับดิน เพื่อมาบำรุงก้อนดินก้อนนี้ จิตนั้นเป็นผู้พิจารณา เอาสตินั้นเป็นแหล่งไว้ควบคุมไม่หนีจากนั้น นอกจากดินแล้วไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
ดินมันต้องมีน้ำ ถ้ามีแต่ดินล้วนๆนั้นไม่มี อย่างของภายนอกนี้เป็นต้น ที่เราเห็นนั้นไม่มีน้ำ ไม้ที่แข็งๆ แห้งๆ มันก็ต้องมีน้ำ ไม่มีน้ำลองดู มันอยู่ไม่ได้หรอก เอาไฟเผาก็ต้องเป็นน้ำฟูดออกมาทีเดียว อย่างกระดูกของเราอย่างนี้ เป็นของแข็งแห้งที่สุด ถ้าไม่มีน้ำในนั้นแล้วสลายหมด เป็นอากาศไปเลย อันนี้แต่มันมีดินแล้วมีน้ำอยู่ในนั้น มันค่อยทนทานอยู่ได้
ครั้นมีน้ำแล้วก็มีลมมีไฟอยู่ในนั้น ไม่ใช่ลมพัดวู่ๆ เหมือนของภายนอกนี้เรียกว่าอากาศธาตุมันมีอยู่ในนั้น เช่นธาตุลม อากาศธาตุอันหนึ่งซึ่งมันผสมอยู่ในของแข็งๆ อันนั้น เรียกว่าลม ไฟคือความอบอุ่นมีอยู่ในนั้น น้ำ ไฟ ลม มันต้องมาจากดิน ดินมันก็ต้องมีน้ำ ถ้ามีน้ำก็ต้องมีลมมีไฟอยู่ในนั้น
พิจารณาอะไรก็พิจารณาไปเถอะ ในกายของเรานี้พร้อมด้วยธาตุทั้งสี่นั่นแหละ พิจารณาไปของภายนอกออกไป ต้นไม้ ภูเขาเหล่ากา หรือผู้คนสัตว์สาลาสิ่งภายนอกทั้งหมด เหมือนกับตัวของเรานี้ทั้งนั้น ครั้นมีอยู่ในตัวของเราเท่าใด ของภายนอกก็มีอยู่เท่านั้น มีอยู่เหมือนกัน ของในโลกอันนี้มันก็ต้องมีเหมือนกัน
ถ้าไม่พิจารณาเอาแหล่งตรงนี้ คือว่า ไม่มีสติควบคุมจิต เรียกว่าไม่มีแหล่ง แหล่ง คือ สติผูกไว้ ไม่เห็นชัดหรอก พิจารณากรายๆ ไปไม่รู้เรื่องรู้ราว
คราวนี้ประมวลลงมาลองดูละคราวนี้ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สิ่งทั้งปวงหมดอยู่ในตัวของเรา ไม่มีจิตของหมู่นั้น รวมลงไปไม่มีจิตไม่มีใจเลย สักแต่ว่าธาตุ อย่างที่ว่า นิสตฺโต นิชฺชีโว สุญโญ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอะไร เป็นสักแต่ว่า ธาตุมตฺตโก เป็นสักแต่ว่าธาตุของอันนั้น มีของเป็นอันหนึ่งออกไปละคราวนี้ ไม่ใช่ใจของเราละคราวนี้
ใจของเราไปอยู่ไหนล่ะ ใจของเราเป็นผู้รู้ ความรู้สึกเกิดขึ้นมาจากของเหล่านั้นล่ะ จากอายตนะ ผัสสะ มันเกิดจากธาตุทั้งนั้นแหละ ธาตุภายนอกธาตุภายใน ภายในคือตัวของเรา ธาตุภายนอกคือของภายนอก มากระทบธาตุภายในแล้วก็รู้สึก ผู้รู้ไม่มีตัวมีตน ครั้นพิจารณาเห็นเป็นธาตุแล้วหมดเรื่องไม่มีตัวละคราวนี้ อันผู้รู้นั้นมีต่างหากเข้าหาผู้รู้อีกทีหนึ่ง คือตัวใจกลาง อันนี้เรียกว่าพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุ เรียกว่าเห็นเป็นธรรม สิ่งทั้งปวงหมดครั้นพิจารณาอย่างนี้ ลงเป็นธรรมหมด มันจะไปที่ไหนล่ะคราวนี้มันก็อยู่น่ะซี
การเพลิดเพลินมัวเมาในสิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวงหมด มันออกไปจากนี้ทั้งนั้น ตัวธาตุสี่นั่นแหละ พิจารณาไปปรุงไปแต่ง มันไม่เป็นธาตุสี่ มันเลยเป็นตัวตนบุคคลเราเขาเป็นสมมติบัญญัติไปเสีย ครั้นลงเป็นธาตุแล้วไม่มีอะไรหรอก มนุษย์บุคคลสัตว์ทั้งหลายนั้น มีสักแต่ว่าธาตุ จิตมันรวมมันก็ลงเลย ครั้นมันปรุงแต่งไปมีสัญญาอารมณ์ปรุงแต่งไป ว่านั่นว่านี่ว่าบุคคลตัวตนเราเขาอะไรต่างๆ ว่าหญิงว่าชายว่าสัตว์สาลาสิ่ง มันก็เลยติดสมมติบัญญัติ เลยออกไปไกลนัก มันก็ไม่เป็นธรรม อันที่เป็นธรรมนั้นต้องเป็นธาตุ มันต้องรวมเข้ามา พิจารณาอย่างที่อธิบายมานี้มันจึงหมดเรื่อง
พุทธศาสนาสอนถึงที่สุด คือมันถึงที่สุดเท่านั้นแหละ ลงที่ธาตุแล้วก็หมดถึงที่สุด พิจารณาไปอะไรก็เอาเถอะ พิจารณาไปไหนๆ ก็ลงถึงธาตุ แล้วก็เลยเป็นธรรม ครั้นเห็นเป็นธาตุก็เลยเป็นธรรม จึงว่าท่านเทศนาว่า สัพเพธัมมา สิ่งทั้งปวงเลยเป็นธรรม ธรรมะทั้งนั้นแหละ กุสลาก็ธรรม อกุสลาก็ธรรม อัพยากตาก็ธรรม อะไรเป็นธรรมไปหมด ครั้นมันถึงตรงนั้นแล้วเป็นธรรมหมด ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา ครั้นไปสมมติบัญญัติ มันออกจากธรรมไปแล้วนั่น
อันนั้นเราจะเห็นว่าตัวของเราพิจารณามีธรรมะเป็นเครื่องอยู่หรือไม่ ตรงนั้นแหละ เห็นได้ชัดเลยทีเดียว ถ้าไม่มีการพิจารณาธรรมะเป็นเครื่องอยู่อย่างที่อธิบายมานี้ มันเป็นเรื่องโลก สมมติบัญญัติไปสารพัดต่างๆ หลายอย่างหลายเรื่องไม่มีที่จบสิ้น ถ้าพิจารณาเป็นธรรมแล้วลงถึงธาตุแล้ว ก็ลงถึงธรรม มันหมดเพียงแค่นั้น ไม่มีอะไรมากมาย ธรรมมะคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมลงเป็นธรรมหมดแล้วก็แล้วกัน
พิจารณาในตัวของเรานี้ มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันเป็นก้อน… จิตนั้นเป็นผู้พิจารณา เอาสตินั้นเป็นแหล่งไว้ควบคุมไม่หนีจากนั้น…
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 31. ตั้งหลักแหล่งในการภาวนา]