30. กรรม-เวร

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ถึงอย่างไร เราทำบุญนั่นเพื่อบำรุงจิตใจของเราให้ดีขึ้น อันนั้นแหละ มันจะพ้นจากกรรมได้ มันค่อยเบาบางลงไป

๓๐. กรรม – เวร
วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘

โดยมากเขาเข้าใจว่าเจ้ากรรมนายเวรเป็นของมีอยู่ เราจะได้ยินทั่วไปว่าทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร เพื่อให้อดโทษนั้นให้ ไม่ให้เป็นเวรเป็นกรรมกันต่อไป ความข้อนั้นไม่ทราบว่าเป็นจริงอย่างไร ผมเองก็สงสัยมานานแสนนาน ตั้งแต่บวชมาทีแรกโน่นล่ะ จนป่านนี้แหละ นานหรือไม่นานก็จนป่านนี้แหละ และไม่ทราบว่าจะแก้ไขเขาอย่างไร แก้ไขก็เป็นเรืองยืดยาว เขาคงไม่เชื่อ เพราะเขาถือมานมนานแล้ว ถ้าหากว่าพวกเราไม่แก้ไข เรื่องเหล่านี้ก็ยังจะนานไปอีกแสนนาน ที่เข้าใจว่าเจ้ากรรมนายเวรมี

คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” นั้น หมายถึงผู้ปกครองกรรมเวร ก็อย่างพวกข้าราชการ เจ้านายปกครองประชาชน เมื่อว่าเจ้ากรรมนายเวรบอกให้ทำอะไรก็ต้องทำ บอกให้เลิกละก็ต้องเลิกละ อย่างนี้จึงเรียกว่าเจ้ากรรมนายเวร

คราวนี้มาพิจารณาถึงเรื่องกรรมเวร กรรมมันเกิดจากอะไร? ให้คิดถึงตอนนี้อีก อย่างพระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนาว่า กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา ผู้ใดทำกรรมอันใดไว้ ย่อมได้รับกรรมอันนั้น มาพิจารณาตอนนี้แล้ว ไม่ทราบเจ้ากรรมนายเวรอยู่ตรงไหน เจ้ากรรมนายเวรก็คงอยู่ที่ตัวของเรานั่นเอง ที่ว่า เราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มิใช่ว่าตายไปแล้วจะให้เจ้ากรรมนายเวรนั้นบังคับ ตายไปก็คนเดียวเรานี่แหละ ไปเกิดที่ไหนก็คนเดียวนั่นแหละ เป็นกรรมเป็นเวร

เหตุนั้นคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” นี่ ในพุทธศาสนาไม่มี แต่ความนิยมนับถือของเขาว่าเป็นของมีอยู่ นี่แหละเข้าใจผิดตรงนี้แหละ และเมื่อเจ้ากรรมนายเวรมีอย่างนั้นแล้ว เขาทำบุญทำทานสิ่งเหล่านั้นไป ก็ให้ถึงเจ้ากรรมนายเวรให้รับ และให้เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้ คนทำกรรมทำเวรนั้นจิตมุ่งมาตรปรารถนาอาฆาตจองเวรจองกรรมซึ่งกันและกัน แล้วมันจะขาดไปได้อย่างไร

เวร อันหนึ่ง กรรม อีกอันหนึ่ง พูดไว้ ๒ อย่าง

เวร นั้นทำแล้วต้องผูกอาฆาตพยาบาท จองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน เราทำให้คนนี้แหละเช่นว่า นาย ก. ทำนาย ข. นาย ก. นั้นผูกพยาบาทอาฆาตไว้ว่า เจ็บใจแสนที่สุดให้นาย ข. จึงฆ่านาย ข. หรือตีนาย ข. หรือทำให้เจ็บช้ำน้ำใจด้วยประการต่างๆ สมปรารถนาของตน แม้จะฆ่าให้ตายแล้วยังอยากจะฆ่าอีกให้ตายไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที อันนั้นแหละเวร คราวนี้นาย ข. เป็นคนผูกอาฆาตอีกเหมือนกัน มึงทำกู กูก็จะต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน ครั้นถ้าหากว่าไปพบหน้าชาติหน้าหรืออะไรก็ตามเถอะ นาย ข. นี้ต้องผูกเวรนั้นอยู่ตลอดเวลา กลับมาทำให้นาย ก. เช่นเดียวกับที่นาย ก. ทำให้นาย ข. เมื่อนาย ข. ทำให้นาย ก. นาย ก.ก็จะต้องผูกเวรนาย ข. อีกต่อไป อย่างนี้ไม่รู้แล้วไม่รู้รอดกันสักที ดังเรื่องนางกุลธิดากับนางยักขิณีในกถาธรรมบท นั่นแหละเป็นเรื่องเวร

คราวนี้ เวรนี่จะหมดเวรด้วยประการใด? เวรย่อมไม่ระงับเพราะมีเวร เวรระงับเพราะไม่มีเวร ความข้อนั้น เวรระงับเพราะไม่มีเวร คือ หมายความว่า คนนี้ก็เลิกร้างกัน เห็นโทษของตนแล้วเลิกร้างไม่ทำเวรต่อไป คือนาย ก. ไม่ทำเวรกับนาย ข. ต่อไป แต่นาย ข. ล่ะคราวนี้ยังไม่เลิกร้าง มันก็ต้องจำเป็นต้องผูกเวรกับนาย ก. อีกต่อไป อันนั้นยังไม่ทันหมดเวร ยังไม่ได้ระงับเวรเพราะมีเวร หากว่าทั้ง ๒ เลิกร้างต่อกัน นาย ก. และนาย ข. ลบร้างกันแล้วก็หมดเวรหมดกรรม อันนั้น ระงับเพราะไม่มีเวร

แต่ว่าอันคนตายไปแล้ว มันจะพูดกันรู้เรื่องอย่างไรได้ ตายไปไม่ทราบว่าเกิดโลกไหน อย่างว่าเป็นสัตว์เป็นสาเป็นอะไรต่างๆ อย่างนี้ เป็นวัว เป็นควาย หรือเป็นเปรตอสุรกาย กับมนุษย์มันจะพูดรู้เรื่องกันหรือ หากว่าคนนี้ตายไปแล้วก็ มันก็พูดกันไม่รู้เรื่องอีกเหมือนกัน เราก็ไม่อยากทำเวรละ แต่เวรมันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะเหตุที่จิตอาฆาตพยาบาท มันยากอยู่ตรงนี้ ยากที่จะระงับเวรได้ เพราะตรงนี้

ที่ท่านว่า เวรย่อมระงับได้เพราะไม่มีเวร นั้นจริง แต่ว่ามันระงับไม่ได้เพราะเหตุที่ไม่รู้เรื่องของกันและกัน มีทางเดียวซึ่งอยู่ในชีวิตมนุษย์เป็นมนุษย์มีชีวิตอันนี้อยู่ ต่างคนต่างเห็นโทษของกันและกัน แล้วก็พูดกันต่อหน้าเสียบอกว่า ฉันทำผิดอย่างนั้น ทำผิดอย่างนี้ ถึงว่าทำผิดโดยเจตนาหรือไม่เจตนา แต่โดยเหตุที่อีกผู้หนึ่งเข้าใจผิด แล้วก็อาฆาตพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกันครั้นหากว่าต่างคนต่างเห็นโทษของเวรอย่างนั้นแล้ว เข้าไปหากันแล้ว ระงับเวรด้วยการขอขมาโทษกัน ให้อโหสิกรรมกัน นั้นเป็นหมดเรื่องในชาตินี้เท่านั้น ไม่ต้องไปนมนานถึงหลายภพหลายชาติต่อไป อันนี้ระงับได้เพราะไม่มีเวรอย่างนี้

คราวนี้กรรม กรรมไม่ใช่อย่างนั้น คนที่ทำกรรมจะรู้จักหน้ารู้จักตา รู้จักชื่อเสียงวงศ์ตระกูลอะไรกันต่างๆก็ตามเถอะ หรือไม่รู้จักก็ช่าง อย่างว่าคนเราทำกรรมเช่น ไปฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์ โดยเหตุที่ไม่รู้จักหน้ารู้จักตา ไม่รู้จักวงศ์ตระกูลของกันและกัน อย่างสงครามโลกนี้เป็นต้นไม่รู้จักว่าคนชาติไหน ประเทศใด อยู่ต่างน้ำต่างแดนโน่นล่ะแล้ว ก็ยิงก็ฆ่ากันตายไป แล้วไม่รู้จักอาฆาตพยาบาทกัน มุ่งที่จะฆ่าทำลายกันและกัน ย่อมเป็นกรรมทั้ง ๒ ฝ่าย

ผลกรรมที่จะให้ละคราวนี้ ไม่ใช่คนที่เราทำนั้นมาให้ คนอื่นทำให้ก็ได้ หรือสิ่งอื่นทำให้ก็ได้เช่น เราตกน้ำตาย ฟ้าผ่าตาย รถคว่ำตาย เครื่องบินตกตาย น้ำท่วมพายุพัดตาย อย่างนี้เป็นต้นอันนั้นเรียกว่ากรรม กรรมที่เราทำไว้นั้นแหละย่อมสนองให้เราเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่คนที่เราทำให้นั้นมาทำให้เรา อันนั้นเรียกว่ากรรม

อัน “เจ้ากรรม-นายเวร” นั้นพูดทั้ง ๒ อย่าง เจ้ากรรมก็ดี นายเวรก็ดี ที่อย่างพูดมาเบื้องต้นว่า คนนั้นเป็นคนบังคับให้ทำ แต่แท้ที่จริงคนนั้นไม่ใช่คนบังคับ หากต่างคนต่างทำด้วยตนเองแล้ว กรรมนั้นบันดาลให้เกิดขึ้น อันคำที่ว่า นรกนายนิรยบาลหรือนายอะไรต่างๆที่บังคับให้ทำนั่น ผมเข้าใจว่ากรรมบันดาลต่างหาก ที่ให้เกิดคนนั้นคนนี้มาทำทัณฑกรรมอย่างนั้นอย่างนี้เพราะเหตุที่กรรมบันดาลให้ปรากฏเฉยๆ ไม่ใช่คนนั้นจะมาทำให้ตาย ครั้นถ้าอย่างนั้น คนนั้นก็ต้องทำกรรมต่อไปอีก นายนิรยบาลหรือนายอะไรนั่น มันต้องทำกรรมต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นที่สุด ผมจึงบอกว่าเข้าใจว่ากรรมอันนั้นบันดาลให้เกิด ดังที่ท่านพูดถึงเรื่องกรรมนิมิต คตินิมิต เป็นต้น

กรรมนิมิต นั้นเราทำกรรมอันใดไว้แล้ว ย่อมบันดาลให้เกิดนิมิตในเมื่อจะตายเช่นว่าเห็นนรก เห็นเปลวไฟนรก เห็นขุมนรก อะไรต่างๆอย่างนี้เป็นต้น มีคนนำไปควบคุมไป อันนั้นเป็นกรรมนิมิตในทางที่ชั่ว ในทางที่ดีก็มีคนพาไปให้ขึ้นสุคติสวรรค์ชั้นฟ้าอะไรต่างๆ วิมานเงินวิมานทอง อันนั้นเป็นกรรมนิมิตในทางที่ดี ผมเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น นายนิรยบาลที่ไหนจะมาอยู่นมนานนานแสนนานก็นายนิรยบาลคนเก่านั้น กี่ภพกี่ชาตินั้นก็นายนิรยบาลคนเก่านั่น ว่าทำงานมาเสวยอยู่อย่างนั้น นายนิรยบาลก็เลยไม่ได้เกิด กรรมที่ตนทำนั้นมันต้องได้รับด้วยตนเอง นายนิรยบาลก็ต้องได้รับกรรมน่ะซิ เพราะทรมานสัตว์นรก มันก็ต้องไปเสวยกรรมอีกเหมือนกันนายนิรยบาลก็ดี

คราวนี้กรรมนิมิต เขาบอกว่าแก้ได้ด้วยการทำบุญ จริง การทำบุญช่วย อย่างพระเทวหัตทำลายสงฆ์ตกอเวจี พระพุทธองค์ทรงเทศนาตกอเวจี แต่เมื่อว่าแผ่นดินสูบเอาถึงคอนั้น ก็ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า จึงไม่ตกถึงอเวจี เพียงแต่ลงมหาโรรุวนรก อเวจีนั้นมันไม่มีที่สิ้นสุด มหาโรรุวนรกนั้นมันค่อยอ่อนขึ้นมาหน่อยนั่นแหละ ทำบุญ แก้บาปทำบุญจริงๆ น่ะแก้บาป

พระเจ้าอชาตศัตรูก็เหมือนกัน เห็นโทษแล้วก็มาอุดหนุนพระพุทธศาสนา ทำสังคายนาแทนที่จะตกอเวจีเพียงแต่ตกที่มหาโรรุวนรก นี้เรียกว่า ทำบุญล้างบาป ไม่เป็นเวรคือว่าไม่สามารถที่ทำเวร มันเกินเวรไปเสียแล้วทั้ง ๒ คน นี่เป็นต้น อนันตริยกรรมทั้ง ๕ ทำไปโดยใครไม่มีเวรจองเวรซึ่งกันและกัน มันเหนือเวรไปเสียแล้ว อย่างทำกับพระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย หรือกับบิดามารดาซึ่งมีแต่ความเมตตาเอ็นดูสงสาร ไม่สามารถที่จะทำเวรกับผู้นั้นต่อไปได้

ที่นี้ล้างกรรมก็เหมือนกัน กรรมที่เราทำนั้นทำบุญล้างได้ ครั้นเจตนาจริงจังว่า เพื่อบุญกุศลอันนั้นจริงๆ จังๆ ไม่ใช่คนนั้นมารับแล้วเราจะหาย แต่บุญที่เราทำกุศลที่เราทำนั้น จิตค่อยดีขึ้น ค่อยพ้นจากนรก พ้นจากกรรม อันนี้เรียกว่า ทำบุญแก้กรรมเหตุนั้นเราทำบุญทุกสิ่งทุกประการ อุทิศไปให้คนนั้นคนนี้เขาจะได้รับหรือไม่ได้รับก็ช่างเถอะ เขาจะรับเรียกว่ามันไม่พยาบาทอาฆาตแล้ว เขาได้รับของเรา คนที่ตายไปนั้นน่ะไม่ใช่มันจะได้รับไปหมดทุกคน อันที่เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นอะไรต่างๆ เป็นเทวบุตรเทวดา ไม่สามารถยินดีรับบุญของเราได้ แม้แต่มาเป็นมนุษย์ด้วยกันแท้ๆ มันยังไม่เลื่อมใสศรัทธาด้วยกันขอให้อนุโมทนาบุญกับเรา มันก็ยังไม่ยอมรับ อย่าไปพูดถึงเรื่องสัตว์อันที่ตายไปอีกโลกหนึ่งเลย มันยากนักยากหนา

ถึงอย่างไร เราทำบุญนั่นเพื่อบำรุงจิตใจของเราให้ดีขึ้น อันนั้นแหละ มันจะพ้นจากกรรมได้ มันค่อยเบาบางลงไป

เรื่อง “นายกรรมนายเวร”นี่ ขอให้เข้าใจอย่างนี้ แล้วจะอธิบายให้ญาติโยมทั้งหลายฟังให้เข้าใจ เพื่อสงสารเอ็นดูเมตตาเขาหน่อย มันเหลือเกินที่มันฝังมานมนานแสนนานโดยไม่เข้าใจพุทธศาสนานี้มี เชื่อเรื่องกรรม เชื่อผลของกรรมเท่านั้น เป็นหลักฐาน

“เวรระงับด้วยการไม่มีเวร” เมื่อต่างคนต่างเห็นโทษของเวร แล้วขอขมาโทษกัน ให้อโหสิกรรมกัน เป็นหมดเรื่องในชาตินี้เท่านั้น

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 30. กรรม-เวร]