28. การทำทานโดยลำดับ

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

นักปราชญ์ทั้งหลายท่านย่อมสรรเสริญถึงเรื่องทาน มีคนอันธพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญ ทั้งๆที่ตนเองก็รับทานอยู่ แต่ไม่รู้จักคุณค่าของการทำทาน

๒๘. การทำทานโดยลำดับ
วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

จะอธิบายธรรมะใกล้ๆ นี้ให้ฟัง ว่าถึงเรื่องทาน ถึงเรื่องศีล ถึงเรื่องสมาธินี่ละ ที่เราทุกคนพากันอาศัยอยู่ หากว่าไม่มีทานเสียแล้ว มนุษย์คนเรานั้นเกิดมาไม่ได้ เกิดมาทุกคนต้องมีทานต้องรับทานกันทุกคน ตั้งแต่เกิดมาเบื้องต้นจนกระทั่งวันตาย ต้องมีทาน ถ้าไม่มีทานอยู่ไม่ได้ นักปราชญ์ทั้งหลายท่านย่อมสรรเสริญถึงเรื่องทาน มีคนอันธพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญ ทั้งๆที่ตนเองก็รับทานอยู่ แต่ไม่รู้จักคุณค่าของการทำทาน

ทาน คือการให้ เกิดมาบิดามารดาให้อุปการะทุกประการ ให้ข้าวก้อนน้ำนมก็ได้ชื่อว่าทานมาแล้ว การให้นั้นเรียกว่าทานทั้งนั้น แม้ตั้งแต่ประเทศชาติเขาก็ยังให้ทานแต่เขาไม่เรียกว่าการให้ทาน เขาให้การสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน คือแจกเฉลี่ยความสุขให้กัน หรือเขาให้ความช่วยเหลือกัน เขาจะไม่เรียกว่าทาน บ้านใดเมืองใดเกิดอุปัทวเหตุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้อะไรต่างๆ เกิดอุทกภัยด้วยประการต่างๆ เขาก็ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน นับเป็นล้านๆบาท อันนั้นก็เรียกว่าทานเหมือนกัน

แต่ภิกษุของเราไม่มีอะไรจะให้ อันคนไม่มีการหาอยู่หากินอาศัยชาวบ้านเขา เขาเป็นผู้หาอยู่หากินให้ เขาทำทาน สิ่งทั้งหลายเขาให้มาหมดในตัวของเรา เป็นผ้าผ่อนเครื่องนุ่งของห่มอาหารการกิน ที่อยู่ที่นอนหยูกยาอะไรต่างๆนั้น เรียกว่าอาศัยชาวบ้านทั้งหมด ที่จะเป็นอยู่ได้ก็เพราะชาวบ้านนี่แหละ เขาให้ทานควรที่จะระลึกคิดถึงทานของเขา เราเป็นผู้รับ เป็นผู้รับถ่ายเดียว ก็ควรที่จะระลึกถึงอุปการะของเขา ถ้าหากเขาไม่ให้เราก็อยู่ไม่ได้ เราก็ปฏิบัติศาสนาไม่ได้ ทำ ความเพียรภาวนาได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้มรรคผล ได้ฌานสมาธิ ก็เพราะของเขาทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เราได้มานั้นมันเป็นประโยชน์แก่ตนยิ่ง

ครั้นถ้าหากเราระลึกคิดถึงบุญคุณของเขาด้วยประการอย่างนี้ เราแผ่เมตตาถึงเขา ให้เขาได้ความสุขความสบาย ให้เขาปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ คุณประโยชน์อันนั้นก็เกิดความปลื้มปิติของเขา ถึงหากเราไม่แสดงอาการภายนอกแต่ภายในมันรู้กันเอง ความเมตตาปรารถนาหวังดี อันนั้นแหละได้ชื่อว่าให้ทานโดยแท้ เขาทำทานเขาปรารถนาหวังดีแก่เรา เราแผ่เมตตาถึงเขา ก็เรียกว่าให้ทาน ได้ให้น้ำใจเป็นทาน ให้อภัยทาน นั้นเป็นเครื่องสนองตอบแทนซึ่งกันและกัน

ทาน นั้นมันมีหลายอย่าง เหลือที่จะคณานับ แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากมีเจตนาหวังดี ปรารถนาความสุขให้กับคนอื่น อันนั้นให้ชื่อว่าให้ ทาน โดยแท้ จะให้ของน้อยก็ดี จะให้ของมากก็ดี ให้ของหยาบของละเอียดไม่เป็นปัญหา ด้วยเจตนานั้นเป็นของใหญ่เป็นของมากเองทานจึงค่อยมีประโยชน์อย่างนี้ ทานนั้นเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจให้คนใกล้ชิดสนิท

ในพุทธศาสนาตนทำทานย่อมพอใจเลื่อมใสอย่างยิ่งในการทำทาน ทานที่ไหนนอกจากทานในพุทธศาสนาก็ไม่มี ใกล้ชิดสนิทเข้าเป็นเหตุให้คุ้นเคยกับพระเจ้าพระสงฆ์ สนิทสนมกับพระเจ้าพระสงฆ์ เราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เขาทำทานก็เป็นบุญเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เขาก็เข้าใกล้ชิดสนิทสนมศึกษาธรรมะธัมโม เราก็มีโอกาสที่จะแนะนำตักเตือน สั่งสอนเขา อันนี้มีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ แล้วค่อยก้าวถึง ศีล ละคราวนี้ ผู้ที่ทำทานอยู่เสมอๆ หัดนิสัยให้ใจของเราเยือกเย็น อบรมนิสัยจิตใจของเราให้ดีขึ้นโดยลำดับ ทานนั้นได้ชื่อว่าเป็นบารมีอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องข้ามพ้นโอฆะสงสาร

ไม่เหมือนทำความชั่ว ทำความชั่วนั้นไม่มีดีขึ้นเลย มีแต่จะเลวลงทั้งนั้น ทานการกุศลนั้นเรียกว่าบารมี พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมาแล้ว คนทุกวันนี้ก็บำเพ็ญเพื่อให้ถึงที่สุดเรียกว่าบารมี เมื่อทานหนักๆ เข้า ก็คิดถึงเรื่องการทำทานอยู่เสมอ ทำบุญทำทานตลอดเวลา นั้นแหละเป็นเหตุใกล้ชิดพุทธศาสนา

การรักษาศีล ละคราวนี้ งดเว้นจากบาปกรรมนั้นๆ โทษ๕ โทษ๘ ประการ ก็งดเว้นได้เราทำทานคือ การสละสิ่งของ เรารักษาศีล คนรักษาศีลก็สละโทษบาปกรรมต่างๆได้ อย่างเราฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดมิฉาจาร กล้าโกหกมุสาวาท ดื่มสุราเมรัย เมื่อทำทาน ละความชั่วได้ บำเพ็ญความดี เห็นแต่ความดี เห็นความดีตลอดเรื่อยไปในการละเว้นความชั่ว เช่น เห็นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ฯ เป็นของไม่ดี จิตใจก็ผ่องใสสะอาดละได้ง่าย ทำทานนำไปซึ่งการรักษาศีล

การรักษาศีล คือ เจตนางดเว้นจากความชั่ว อันเดียวเป็นพอ ไม่ต้องพูดมาก สิ่งใดชั่วร้ายแล้วละเสีย งดเว้นเสีย เรียกว่าการรักษาศีล ทั้งกายและวาจาหรือใจด้วย ท่านพูดถึงเรื่องกายและวาจาเป็นการรักษาศีล ผมก็ว่า ถ้าหากไม่มีใจก็รักษาไม่ได้ ท่านบอกว่า เจตนาเป็นของงดเว้นเป็นการรักษาศีลท่านว่าอย่างนั้น ท่านหมายถึงพูดถึงเรื่องของใจ พูดถึงเรื่องกายและวาจา ถ้าไม่มีใจให้งดเว้นจะรักษาศีลได้อย่างไร มันต้องมีใจด้วยสิ จึงจะรักษาศีลได้ อันนี้ละเว้นเข้ามาภายในส่วนการทำทานนั้นเป็นของภายนอก จิตใจจดจ่อต่อเฉพาะทำทานเรื่องสละอย่างเดียว เรื่องให้ทานอย่างเดียว แต่ศีลนี่เป็นของละภายใน เราไม่ต้องขวนขวายหาในที่อื่น อยู่ในที่เดียวทำทานได้ ไม่มีอะไรก็ทำทานได้ คือ เจตนาตัวเดียวเป็นของรักษาศีล

เจตนางดเว้นนั้นเป็นการสละการทำทาน การสละทำทานนี้แหละมันเข้ากับ สมาธิ เข้ากับภาวนา ภาวนาคือการงดเว้นจากสิ่งทั้งปวงหมด สละทุกสิ่งทุกประการไม่มีเหลือหลอ อารมณ์ทั้งปวงหมด จะเป็นอารมณ์มาทางอายตนะทั้งหกกระทบเรา เราก็ปล่อยไป ละไป ทิ้งไป ทานไป นิวรณ์ทั้งห้า เราก็สละไปทานไปเรื่องฌานสมาธิ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เราก็สละทิ้งไป ถอนไป อันนี้เป็นการทำทานเรื่องสมาธิ

ทานเบื้องต้น เรียกว่า ทานบารมี ให้อภัยทานคือการรักษาศีล เรียกว่า อุปบารมี ทานจำพวกการหัดภาวนา ทำสมาธิ เรียกว่า ปรมัตถบารมี เป็นบารมีอย่างยิ่ง ทำทานอย่างนี้เป็นของทำง่าย มันอยู่เฉพาะในตัวของเราทั้งนั้น เราเป็นพระภิกษุไม่มีการขวนขวาย แสวงหาวัตถุภายนอก เราทำทานด้วยการรักษาศีล คืออภัยทาน ด้วยการหัดทำสมาธิภาวนา ละความชั่วทั้งปวงหมดเป็นการทำทาน เป็นปรมัตถบารมีอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้ข้ามพ้นจากวัฎฏสงสาร

จาคะ กับ ทำทาน มันต่างกัน ทานนั้นทานทั่วไปหมดทุกสิ่งทุกประการอย่างที่อธิบายมาแล้ว จาคะ เป็นการสละภายใน เป็นทานอันพระอริยะเจ้าท่านทานไม่ใช่ปุถุชนคนหนาอย่างเราทาน เป็นทาน ปรมัตถบารมีอย่างยิ่ง อย่างท่านพูดว่า จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย เป็นคนสละไม่อาลัยเกี่ยวข้อง พ้นจากวัฎฏสงสารได้แท้จริง ทำไมถึงไม่ว่า ทานํ เทติ ทานํ ท่านไม่พูด ท่านว่า จาโคปฏินิสฺสคฺโค เลย เป็นผู้สละหมดทุกสิ่งทุกประการ ไม่เกี่ยวข้องพัวพัน ในสิ่งทั้งปวงหมด อันนั้นแหละท่านว่า ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย พ้นเสียจาก วัฎฏสงสาร

การทำทาน ที่ทานมาโดยลำดับด้วยประการอย่างนี้ พึงเข้าใจเถิดว่า จาคะ กับ ทำทาน มันต่างกัน เอาละ

ความเมตตาปรารถนาหวังดี อันนั้นได้ชื่อว่าให้ทานโดยแท้ เขาทำทาน ปรารถนาหวังดีแก่เรา เราแผ่เมตตาถึงเขา ก็เรียกว่าให้ทาน ได้ให้น้ำใจเป็นทาน ให้อภัยทาน นั้นเป็นเครื่องสนองตอบแทนซึ่งกันและกัน

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 28. การทำทานโดยลำดับ]