27. อิทธิบาท ๔

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

อิทธิบาท ๔ ใครๆก็ทราบ… จำได้ดีที่สุด แต่ยังไม่ทันสำเร็จอิทธิบาท ที่จริงได้แล้วก็ควรจะให้สำเร็จตามความเป็นจริง ต้องเป็นอย่างนั้น แต่นี้ยังไม่ทันสำเร็จ

๒๗. อิทธิบาท ๔
วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

อิทธิบาท ๔ ใครๆก็ทราบ เพราะอยากสำเร็จอิทธิบาท คือต้องการจะให้ได้สำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนาที่ท่านว่าไว้ ทุกคนพากันได้แล้วในอิทธิบาท มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา พากันได้คล่องแคล่วหมดทุกคน จำได้ดีที่สุด แต่ยังไม่ทันสำเร็จอิทธิบาท ที่จริงได้แล้วก็ควรจะให้สำเร็จตามความเป็นจริง ต้องเป็นอย่างนั้น แต่นี้ยังไม่ทันสำเร็จ

ท่านกล่าวไว้ว่าผู้มี ฉันทะ ความพอใจในสิ่งนั้นๆ ในกิจการนั้นๆ ในธุระนั้นๆ ในคำบริกรรม ในธรรมะนั้นๆ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นมา ความสำเร็จในที่นั้นเกิดขึ้นจากฉันทะนั่นเอง ที่นี้ฉันทะเป็นของมีอยู่ คนเอามาใช้ไม่ถึง ไม่ถึงฉันทะ เอามาใช้ไม่ถึงทั้งนั้น ถ้าถึงก็ต้องสำเร็จตามความปรารถนาของตน จะมากหรือน้อยก็ต้องเป็นผลทีเดียว

ฉันทะ เป็นของแน่นอนที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ ความเป็นจริงก็เป็นอย่างนั้น เราพยายามลองดู ความเชื่อมั่นในตัวของเรานั่นแหละ เรียกว่าฉันทะ มีในตัวของเรา เราทำสิ่งนี้แหละจะเป็นผลประโยชน์ ธรรมะอันนี้แหละจะให้ผลประโยชน์แก่เราอย่างเช่นเราเชื่อมั่นในสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเทศนาเป็นจริงทุกประการ ที่ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ก็ดี ถ้าหากพิจารณาแน่นอนจริงใจลงไปแล้ว เป็นทุกข์จริงๆ ไม่ผิดเพี้ยนไปไหน

ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ท่านบรรยายออกไปโดยเฉพาะ ปัญจุปาธานขันธ์ ขันธ์ ๕ เป็นของมีอยู่เกิดอยู่ ถ้าหากว่าเราไปถือ ถึงถือมันก็ไม่เป็นตัวของเรา ครั้นถ้าเราไม่ถือก็หมดเรื่อง สิ่งสภาพมันเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น นี้เรียกว่า เชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราพิจารณาเป็นจริงเห็นจริงอย่างที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ มันก็สำเร็จประโยชน์ทั่วถึงตามเป็นจริงเท่านั้นแหละ เห็นตามเป็นจริงนั้นเรียกว่าสำเร็จประโยชน์ เชื่อมั่นแล้วก็พิจารณาเห็นตามเป็นจริงนั้น เชื่อมั่นเท่านั้นแหละเห็นตามเป็นจริงทุกสิ่งทุกประการ เป็นจริงอย่างนั้นเลยทีเดียว ฉันทะมันเป็นอย่างนี้

วิริยะ ความพากเพียร ฉันทะมีแล้วความเพียรต้องมี ของมันกำกับกันมันเป็นคู่กันไป เราขยันหมั่นเพียร เราเชื่อมั่นในสิ่งใด ต้องทำในสิ่งนั้น ต้องทำให้ถึงที่สุด อันนั้นเรียกว่าความเพียร ความพอใจในสิ่งที่เราต้องการและปรารถนา ไม่คิดถึงความทุกข์ความลำบากตรากตรำ ไม่คิดถึงความยากเหน็ดเหนื่อย มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำให้ลุล่วง ทำให้สำเร็จตามมุ่งมาดปรารถนา วิริยะมันตามมา ฉันทะมีแล้วมีหมด วิริยะเลยเกิดขึ้นมาในที่นั่น

เหมือนกับบุคคลขุดบ่อน้ำ น้ำมันอยู่ใต้ดิน ธรรมดาบาดาลต้องอยู่ใต้ดิน ขุดลงไป ขุดลงไป เพราะเห็นชุ่มๆ พอดินชุ่มๆ ก็เชื่อมั่นในการขุด มันต้องมีน้ำ ขุดลงไปจนกระทั่งเห็นดินเหนียว ขุดลงไปจนกระทั่งถึงน้ำ คนที่ขุดไม่ถึงน้ำนั้นเพราะไม่เชื่อว่ามีน้ำ ขุดลงไปได้นิดๆ หน่อยๆ โอ๊ย! ไม่ไหวแล้วลำบากตรากตรำขุดลงไปก็ไม่มีน้ำหรอก ก็เลิกเสีย ไปขุดบ่อใหม่ ขุดลงไปถึงดินที่ชุ่ม ก็บอกว่าไม่ไหวหรอก น้ำมันไม่ลึกถึงขนาดนี้หรอก ก็เลยทิ้งเสีย เลยไม่เห็นน้ำ ไม่เห็นผล อย่างน้อยที่สุดขุดลงไปจนลึกที่สุด ไม่ถึงน้ำ ก็ได้ชื่อว่าเรากระทำอิทธิบาทแล้ว

ตอนนั้นอิทธิบาทของเราเต็มที่แล้ว ถึงไม่สำเร็จก็ได้ชื่อว่ามีอิทธิบาทเพียงพอแล้วตอนนั้น คนทั้งหลายจะยกยอสรรเสริญว่าโอ๊ย! คนนี้มันเพียรพยายามจริงๆจังๆ ขุดลึกถึงขนาดนั้นมันก็ยังขุดได้ ถึงไม่มีน้ำก็ยังอุตสาห์ขุดลึก ก็ยังพอจะได้ความชมเชยหน่อย อันนี้ลังเลสงสัยไม่แล้วสักที ขุดไปนิดๆหน่อยๆ ก็เลยปล่อยวาง ไม่เอาธุระภาระ ขาดวิริยะความเพียร ขาดความเพียรแล้วไม่สำเร็จประโยชน์สักอย่างเดียว พระพุทธเจจ้าตรัสไว้ว่าผู้มีความเพียรเลวทรามย่อมไม่สำเร็จประโยชน์

จิตตะ ละคราวนี้ เมื่อวิริยะมีแล้ว ต้องพิจารณาตรึกรองตาม อย่างขุดบ่อนี้แหละ ขุดลงไปต้องเชื่อว่ามีน้ำ ขุดลงไปมันก็ลึกลงไปตามลำดับ เห็นดินมันชุ่มเห็นดินเหนียว เห็นดินเหนียวก็ต้องมีน้ำชุ่มชื้นมากเข้าไปทุกที ความพินิจพิจารณา อ๋อ…ต้องมีน้ำแน่ จิตใจของเราแน่วแน่เต็มที่มันก็ไม่ท้อถอย จิตตะความตรึกตรองพิจารณาตามเหตุตามผลเรื่องราว น้ำต้องมีแน่เพราะมันชุ่ม ขุดลงไปเท่าใดยิ่งลึกลงไปยิ่งชุ่มมาก ยิ่งชุ่มมากยิ่งเห็นน้ำชัดเจนขึ้นมา

ความตรึกตรองพิจารณาอย่างนี้ทางธรรมก็เหมือนกัน เราพิจารณาธรรมอันใดลงไปเห็นชัดเจนขึ้นมาโดยลำดับ เราตั้งจิตอันเดียวแน่วแน่แล้ว ไม่ท้อถอยแล้วย่อมเห็นชัดขึ้นมา อารมณ์ทั้งหลายย่อมพ้นผ่านไป อารมณ์ทั้งหลายย่อมระงับดับสูญไป ย่อมมองเห็นชัดขึ้นมาในทางธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จิตตะความพิจารณาไตร่ตรองยิ่งแน่วแน่

จิตตะกับวิมังสา มันเทียบๆกันอยู่นั่นแหละ ครั้นคิดตรึกตรองพิจารณาแล้วก็เรียกว่าวิมังสา ตรึกๆตรองๆ พิจารณาถ่องแท้ เห็นแน่วชัดลงในใจ ก็ต้องปรากฏขึ้นมา

อิทธิบาททั้ง ๔ มีอยู่แล้วในโลก พระพุทธเจ้าทรงชี้สอนแล้วว่าเครื่องมือทำให้เกิดความสำเร็จมี ๔ อย่างนี้เท่านั้น ถ้าหากว่าคนใดนำมาใช้ ความเป็นจริงแล้วไม่ต้องพูดถึงเรื่องอิทธิบาท ๔ ความเชื่อมั่นนั้นไม่ต้องพูดละ อันคนที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่เรียนอะไรเลย ครั้นเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะต้องเป็นผลประโยชน์ เลยทำสิ่งนั้นแน่วแน่เต็มที่ เลยเป็นฉันทะ วิริยะไปในตัว ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่ต้องพูด มันเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เรียนผู้ที่ศึกษากำเอาแต่อิทธิบาททั้ง ๔ ไว้ แล้วไม่นำมาใช้ ผู้ที่ปฏิบัติจริงๆจังๆ เอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ใช้หมดเต็มที่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องจิตตะ มีหรือไม่มีไม่ทราบ จะสมมติบัญญัติอะไรก็ตาม จะไม่สมมติบัญญัติก็ช่าง เห็นผลประโยชน์ชัดเจนขึ้นมาในใจ ย่อมสำเร็จประโยชน์ในสิ่งอันที่ปรารถนา

เหมือนกันกับคนที่เขามีอาวุธอยู่ในมือ บางคนนั่นเห็นว่ามีอาวุธสำหรับประหัตประหารสัตว์ร้ายอะไรต่างๆ มีปืนอยู่ในมือกำป้ออยู่ เสือมันเดินมาตรงนี้แหละจะฆ่ามัน จะฆ่ามันให้ได้ แล้วไปแอบลี้อยู่ในนั้นแหละ แอบลี้อยู่ข้างๆทางในเมื่อเสือมาจริงๆจังๆ บอกว่าจะยิงด้วยปืนนี่แหละ พอยิงโป้งมันต้องตายทีเดียว พอเสือมายิงโป้ง แต่โป้งแต่ปาก ปืนเลยไม่คิดกดไกขึ้นมามันจะสำเร็จประโยชน์อะไร อันได้แต่พูด ได้แต่คำพูด สิ่งที่มันเป็นคุณเป็นประโยชน์เพราะการทำต่างหาก เวลาเขาจะฆ่าเสือยิงเสือ เขาไม่ต้องทำเสียงปืนออกปากหรอก เสียงปืนมันโป้งไปเอง ถูกเสือต้องตาย

ฉันใด ผู้ปฏิบัติ ถ้าหากว่าเคร่งครัดในธรรมะทั้งสี่ประการนี้แน่วแน่อยู่ตลอดเวลา อิทธิบาททั้ง ๔ ก็มีอยู่ทุกเมื่อ พระองค์จะทรงสอนอะไร คือมันมีตามเป็นจริง มันมีอยู่แล้วพระองค์ค่อยทรงสอน มันมีลักษณะ ๔ อย่างนี้ อยู่ในตัวของคนทุกคน พระองค์ต้องทรงเทศน์ตามนั้น ไม่เหมือนกับผู้เรียน เรียนแล้วไปเรียนเอาคำพูดของผู้พูดเสียก่อน แต่ว่าตัวเองไม่ทำ มันไม่สำเร็จประโยชน์ การปฏิบัติหรือการเรียนการศึกษา มันผิดแปลกกันตรงนี้ ทำจริง กับ เรียนเฉยๆ มันผิดกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้นจึงว่า ธรรมะอะไรทั้งหมดทุกสิ่งทุกส่วน เป็นจริงทุกส่วน ครั้นถ้าหากทำจริงแล้ว อิทธิบาท ๔ มารวมกันหมดแห่งเดียว มีฉันทะตัวนั้นเป็นพอ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่ต้องพูด ฉันทะก็ไม่ต้องพูด อันความเป็นจริงแล้ว ความตั้งใจจริงๆจังๆ ย่อมสำเร็จประโยชน์ของตน ตามสมควรแก่ฐานะของตน เอาละ

ความตั้งใจจริงๆจังๆ เอากันจริงๆจังๆ ย่อมสำเร็จประโยชน์ของตน ตามสมควรแก่ฐานะของตน

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 27. อิทธิบาท ๔ ]