25. อะไรเป็นเครื่องอยู่ เครื่องยึด

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ธุดงควัตร ๑๓ เป็นเครื่องอยู่ เครื่องขัดเกลากิเลส ทําให้บาปธรรมน้อยลง หมดหรือเกือบจะหมดนั่นละ น้อยไปหมดไป อันนั้นละเป็นเครื่องอยู่

๒๕. อะไรเป็นเครื่องอยู่ เครื่องยึด
วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

เราปฏิบัติกัมมัฏฐานมีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน? มีอะไรเป็นเครื่องวัด? เรื่องกัมมัฏฐานของเราให้สังเกตดู ในข้อธุดงควัตร ๑๓ นั้น ควรเอาอะไรเป็นหลักยืน ตัวอย่างว่า ถือผ้า ๓ ผืนอย่างนี้ เราเวลานี้ก็ไม่มี ๓ ผืนเสียแล้ว มันมากกว่า ๓ ผืนเสียอีก การฉันหนเดียว นั้นก็พอยังมี ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ว่าถ้าถือเคร่งครัดจริงๆจังๆ ฉันหนเดียวจริงๆ ไม่ต้องฉันสิ่งอื่นต่อไปอีก เป็นข้าวต้มข้าวหนมหมากไม้ผลไม้อะไรต่างๆ ฉันหนเดียวจริงๆ จึงเรียกว่า ถือเคร่งครัด ฉันในบาตร ถ้าหากว่ามานอกบาตรแล้วไม่รับ เหล่านี้เป็นกิจวัตรสําหรับเป็นเครื่องวัดของกัมมัฏฐาน ลองสังเกตดูว่าธุดงควัตร ๑๓ นั้น มีอะไรบ้างอันที่เหลืออยู่ในตัวของเรา?

ถ้าหากพวกไม่ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน แต่ว่ากัมมัฏฐานก็มีอยู่ทั่วไปนั่นแหละ มีอยู่ในตัวของคนทุกๆคนนั้นล่ะ มีหมด เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อาการ ๓๒ มีครบบริบูรณ์ทุกประการ อันนั้นเป็นกัมมัฏฐานแล้วนั่น เว้นไว้แต่ตัวคนเราไม่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เมื่อปฏิบัติตามนั้น พิจารณาตามกัมมัฏฐานทั้ง ๓๒ นั้น ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติกัมมัฏฐาน

แต่เราเป็นพระนี่ละซี เราเป็นพระเป็นเณรนี่ เราปฏิบัติให้มีข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่ พวกเราอีกหน่อยก็จะไม่มีแล้วเรื่องข้อวัตร ธุดงควัตร ๑๓ หมดหายไปหมดเลย สักแต่ว่าชื่อกัมมัฏฐานเฉยๆ ตัวกัมมัฏฐานจริงๆ ไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด

พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นประโยชน์ ธุดงควัตร แปลว่าวัตรอันเป็นเหตุนําไปซึ่งความให้พ้นจากทุกข์ เพื่อขจัดกิเลสให้พ้นจากทุกข์ ครั้นเมื่อว่าไม่มีธุดงควัตรเสียแล้ว ตรงไหนมันจะเป็นเครื่องนําให้เป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์ สังเกตดูตัวของตนทุกคนจะเข้าใจได้ ธุดงควัตร ๑๓ นั้น ข้ออะไรก็เอาเถอะ สักอย่างหนึ่งก็แล้วกัน สังเกตถ้าหากไม่ปฏิบัติจริงๆจังๆสักแต่ว่าทําเฉยๆนั้น ก็ไม่ให้ประโยชน์คุ้มค่า

อย่างพวกเราฉันทุกวันนี้ พิจารณาปฏิกูลก็ดี พิจารณาอาหารปฏิกูลก็ดี พิจารณาธาตุกัมมัฏฐานก็ดี อย่างที่ว่า ธาตุมตฺตโก นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญ อันนั้นน่ะ เราพิจารณาให้เป็นธาตุ นี่พิจารณาสักแต่ว่าพิจารณา เห็นเขาพิจารณาก็พิจารณาตามเพื่อน อันความเห็นของเราไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร? ให้มันเห็นจริงๆสิ ให้มันเห็นเป็นธาตุจริงๆสิ ให้เห็นอสุภะจริงๆจังๆสิ ครั้นเห็นเป็น อสุภะ ก็กลัวจะฉันไม่ได้ ครั้นเห็นเป็นธาตุก็กลัวจะฉันไม่ลงกลัวก่อนเสียแล้ว อันนั้นเลยไม่เป็นกัมมัฏฐาน ของเหล่านี้ทั้งหมดพระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นผลประโยชน์ทั้งนั้น ท่านจึงทรงสอนให้พวกเราปฏิบัติ การเห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นอสุภะพิจารณาโดยอนุโลม หากว่าไม่เห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นอสุภะก็ดี แต่เห็นชัดในใจด้วยสัญญาก็ยังเป็นการดีอยู่ ถ้าเกิดปฏิภาค เห็นจริงๆจังๆ เกิดเห็นเป็นหนอนเป็นอะไรของเน่าเปื่อยขึ้นมาในอาหารนั้น ด้วยเห็นเป็นก้อนธาตุจริงๆจังๆ อันนั้นเป็นปฏิภาคเกิดขึ้นมา อันนั้นล่ะอย่างดีที่สุด แต่ว่าหากมันไม่เป็นอย่างนั้นก็ให้เห็นอนุโลม แต่ให้มันชัดแจ่มแจ้งแน่แน่วในใจ

การเห็นชัดแจ่มแจ้งแน่วแน่ในใจนั้นดีกว่ามาก ดีกว่าเห็นปฏิภาคอีก มันเห็นทุกเมื่อ ครั้นพิจารณาเห็นชัดแจ่มแจ้งนี้เห็นทุกเมื่อเลย พิจารณาเวลาใดก็เห็นทุกเมื่อ การเห็นปฏิภาคนั้นเห็นเป็นครั้งเป็นคราว เห็นไว้เพื่อมันเห็นชัดตาม ตรงนั้นแหละ คือเป็นเครื่องวัดความจริง ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ต้องแน่วแน่อย่างนั้น อาการเห็นปฏิภาค

ครั้นเห็นอนุโลมนั้น การเห็นชัดแจ่มแจ้งนั้น มันเห็นทั้งด้านเป็นจริงและไม่เป็นจริง คือเห็นด้านไม่เป็นจริงนั้น อสุภะ ปฏิภาค ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ แน่วแน่ แต่อีกนัยหนึ่งอาหารก็เป็นอาหาร ธาตุก็สักแต่ว่าธาตุ อสุภะก็เพียงอสุภะเท่านั้น สําหรับฉันก็เพียงแต่ว่าผู้ฉันมันสักแต่ว่าเฉยๆ ฉันมันก็ไม่เป็นอะไร ไม่ฉันก็ไม่เป็นอะไร มันเห็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นโทษ ท่านทรงสอนอย่างนี้ ให้เข้าใจอย่างนี้ เมื่อเห็นเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว เรียกว่าสมมติบัญญัติเกิดขึ้นมาอีก

สมมติบัญญัติ คือว่าสมมติบัญญัติตามเรื่อง สมมติอย่างใด เขาบัญญัติอย่างใด ก็ต้องบัญญัติตามเรื่อง สมมติตามเรื่อง ตัวของเราเหมือนกันนั่นน่ะ สังขารร่างกายนี้เกิดจากสมมติบัญญัติทั้งนั้น ถ้าไม่มีสมมติบัญญัติ ก็เรียกไม่ถูก ไม่ทราบว่าจะเรียกอะไรกัน เห็นสมมติบัญญัติสักแต่ว่าสมมติบัญญัติ แล้วเราก็อีกอย่างหนึ่ง ของเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง เรารู้เท่าเรื่องสมมติบัญญัติแล้ว เราไม่หลง เราไม่ยึดไม่ถือในสมมติบัญญัติอันนั้น ก็พ้นจากตัวเราไป นี่แหละเรื่องพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้เราเข้าใจอย่างนี้ล่ะ

แต่ว่าเมื่อจะเห็นอย่างนั้น ต้องมีสมถะเป็นเครื่องอยู่เสียก่อน หัดสมถะเป็นเครื่องอยู่เบื้องต้นเสียก่อน ถ้าสมถะหนักหน่วงหนักแน่นแน่วแน่เต็มที่จึงจะเห็น สมถะไม่แน่วแน่เต็มที่ก็ไม่เห็นได้ เห็นแต่สักแต่ว่าสัญญา ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย การพิจารณาอะไรทั้งหมดนั้นน่ะ ถ้าไม่มีสมถะเป็นเครื่องอยู่แล้ว ย่อมเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่โต ไม่มีหลักแน่วแน่ไม่มีหลักมั่นคงถาวร เหตุนั้นพวกปฏิบัติทั้งหลายนั้นปฏิบัติเป็นไปแล้วว่าตนเก่งว่าตนวิเศษแล้ว นานหนักเข้าก็เลยเตลิดเปิดเปิงไป เลยเข้าหาหลักไม่ได้

ต้องปฏิบัติให้สมถะแน่วแน่เต็มที่เสียก่อน จึงค่อยออกมาพิจารณา มันพิจารณาเองหรอกครั้นสมถะเต็มที่แล้ว จะพิจารณาปัสสนาหรือพิจารณาปัญญาอะไรก็ตามเถอะ คนอยากได้แต่ปัญญาวิปัสสนา ว่าเป็นของวิเศษสูงสุดทําให้หลุดพ้นได้ ปัญญาวิปัสสนาไม่ใช่เป็นทุกเมื่อ ไม่ใช่เป็นตลอดเวลา ปัญญาวิปัสสนาจริงๆจังๆ ที่สําเร็จมรรคผลนิพพานจริงๆ มันเกิดขณะเดียวแล้วไม่เกิดอีกหรอก การพิจารณาอนุมานตามนั้นต่างหาก อย่างที่พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นชัดนั่น เห็นชัดตามอนุมานต่างหาก ความชัดเจนแจ่มแจ้งจริงๆจังๆ ไม่เป็นอีกหรอก ไม่เป็นพอสองสามหนหรอก อันนั้นจึงว่าเอาไว้ต่างหาก เอาไว้มันเป็นเอง มันต้องวางทอดธุระถอนหมด ไม่คิดนึกถึงเรื่องสิ่งต่างๆ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ทั้งปวงหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันจึงค่อยเกิดปัญญาขึ้นมาได้ มันค่อยเกิดปัญญาวิปัสสนาขึ้นมาได้ เกิดปัญญาวิปัสสนาก็โดยไม่ได้ตั้งใจซ้ำอีก มันหากเกิดเองเป็นเองของมัน

เหตุนั้นจึงว่า หัดสมถะนี้ละ เบื้องต้นนี้ ครั้นถ้าหากพูดถึงเรื่องปัญญาแล้ว หัดสมถะก็ต้องเกิดปัญญาเสียก่อนจึงค่อยเกิดสมถะ อย่างพิจารณาอสุภะ พิจารณาธาตุ พิจารณาขันธ์อายตนะต่างๆ เห็นเป็นของไม่เที่ยง เห็นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นละตัวปัญญา ปัญญาเกิดก่อนจึงค่อยมีสมถะ ครั้นเห็นชัดอย่างนั้นแล้วจิตก็รวมลงไปได้ ถ้าไม่เห็นชัดอย่างนั้นจิตไม่รวมอันเห็นชัดนั้นเรียกว่า ปัญญา อันนี้เรียกว่า ปัญญาเกิดก่อนสมถะ สมถะเต็มที่แล้วจึงค่อยเกิดปัญญาวิปัสสนา ปัญญาวิปัสสนาอันหนึ่งต่างหาก ปัญญาธรรมดาสามัญ นี้อีกอันหนึ่งต่างหาก

อย่าว่าตั้งแต่สมถะเลย ทาน ศีล ภาวนา เบื้องต้นแหละ ทานนี้ต้องมีปัญญาจึงสามารถทําทานได้ เห็นว่าทานเป็นของดีวิเศษ เป็นของช่วยมนุษย์คนทั้งปวงหมดให้อยู่ได้ด้วยการทําทาน เฉลี่ยความสุขให้คนอื่น เห็นประโยชน์ของการเฉลี่ยความสุขให้คนอื่น นั้นจึงค่อยทําทาน การเห็นประโยชน์อันนั้นน่ะ นั่นแหละเรียกว่า ปัญญา เห็นคุณค่าของการทําทานนั้นเรียกว่ามีปัญญาจึงค่อยทําทานได้ นั่นละเกิดปัญญาก่อน

รักษาศีลก็เหมือนกัน ศีลห้า ศีลแปด เห็นโทษของการทําชั่วบาปต่างๆ จริงจังด้วยใจจริงๆ ชัดเจนจริงๆ อันนั้นละเรียกว่าปัญญา จึงค่อยสามารถรักษาศีลให้มั่นคงถาวรต่อไปได้

ศีลมั่นคง ต่อไปแล้วมันจึงค่อยเป็นสมาธิ ศีลไม่มั่นคง อย่าไปหวังเลยสมาธิ ถึงเป็นสมาธิเดี๋ยวเดียวแล้วก็กลับไปอีก ไม่สามารถจะรักษาไว้ได้ ต้องอาศัยปัญญา คือรักษาศีลเสียก่อนให้บริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว คราวนี้เป็นสมาธิแน่วแน่ ไม่ถอนแล้ว สมาธิถึงจะเป็นสมาธิก็อย่างที่พูดมาแล้ว มันต้องมีปัญญา เห็นโทษภัยต่างๆ จึงค่อยละทิ้ง ถอน จึงค่อยเป็นสมาธิ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมด เกิดจากปัญญาทั้งนั้น ต่างแต่ว่าหยาบละเอียดต่างกัน

พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญชมเชยว่า ปัญญาเป็นของสูงสุดในมนุษย์ เราผู้ปฏิบัติอย่ามุ่งหวังแต่ปัญญาอันสูงสุดทีเดียว มีอะไรให้ปฏิบัติอันนั้นล่ะอยู่อย่างเราเป็นผู้ศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าเข้าใจว่าบวชมาไม่มีประโยชน์ บวชเป็นพระเป็นสงฆ์นั้นดีวิเศษกว่ามนุษย์ธรรมดาสามัญตั้งอักโข ศีลห้าเราก็มี ศีลแปดเราก็มี ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดก็มี เราจะเอาอย่างไรกันอีก? บวชมา ๒๐-๓๐ พรรษา สึกออกไปไม่เห็นมีศีลสักตัวเดียว สืมฮอดศีล ไม่คิดถึงศีลซ้ําอีก มันจะดีอะไรกันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนาว่า คนสึกออกไปคือคนตาย คือ ตายจากความดีนั่นเอง

มันต้องมีศีล เป็นพระเป็นสงฆ์ให้เชื่อมั่นในคุณงามความดีของตน มีศีลเป็นเครื่องอยู่สมาธิบ้างเล็กๆน้อยๆ มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ ถ้าหากว่าอยู่กับหมู่เพื่อน หรืออยู่คนเดียวก็ตามเถอะให้มีข้อวัตรกิจวัตร อย่างที่ว่าให้ฟังไว้นั้น ธุดงควัตร ๑๓ เป็นเครื่องอยู่ เครื่องขัดเกลากิเลส ทําให้บาปธรรมน้อยลง หมดหรือเกือบจะหมดนั่นละ น้อยไปหมดไป อันนั้นละเป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่มีเครื่องอยู่แล้วอยู่ไม่ได้ เป็นพระน่ะ คว้างเลย ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่เครื่องยึด ต้องมีเครื่องยึด อย่างน้อยที่สุด เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม แล้วปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขตของพระวินัย มีศีล ๒๒๗ นี้เป็นเครื่องอยู่

ต้องมีเครื่องยึด อย่างน้อยที่สุด เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม แล้วปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขตของพระวินัย มีศีล ๒๒๗ นี้เป็นเครื่องอยู่

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 25. อะไรเป็นเครื่องอยู่ เครื่องยึด]