24. ธาตุรู้
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ที่ว่า “รู้ตาม” นั้น ไม่มีทางที่จะทันตัวมันหรอก พอ “รู้เท่า” เท่านั้น เลยทันตัว
๒๔. ธาตุรู้
วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
โวหารท่านอาจารย์ดูลย์ ท่านบอกว่า “จิตคือพุทธะ” ท่านพูดย่อๆ หมายความถึง “จิตคือพุทธะ” ไม่ใช่ “พุทธะคือสัมมาสัมพุทธะ”
“พุทธะ” ในที่นี้ หมายความถึง “จิตคือพุทธะ”
“พุทธะ” แปลว่า “ผู้รู้” แต่ไม่ใช่ “สัมมาสัมพุทธะ” ไม่ใช่สัพพัญญู
“พุทธะ” หมายความถึงจิต เมื่อจิตเป็นผู้คิดผู้นึก ผู้ปรุงผู้แต่งสารพัดทุกอย่างนั่นน่ะ อันนั้นน่ะมันจะรู้ขึ้นได้ เพราะความคิดความนึกความรู้สึกอะไรต่างๆสารพัดทุกอย่าง อันนั้นแหละ “จิตเป็นพุทธะ” ไม่ใช่สัมมาสัมพุทธะ สัมมาสัมพุทธะมีอีกอย่างหนึ่ง
ผมจึงตั้งสูตรใหม่ว่า “จิต” กับ “ใจ” มันคนละอย่างกัน ถ้าหากว่าเข้าถึงใจแล้ว ไม่มีความรู้สึกอื่น มีแต่ความเฉยอยู่ แต่ว่ารู้สึกว่าตัวเฉยอยู่ ไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง อันนั้นแหละพุทธะ พุทธะตัวนั้น คือ “ความรู้” นั่นเอง หรือเรียกว่าธาตุรู้ สิ่งที่รู้ความรู้ต่างๆ นั้นมันเป็นสมมติบัญญัติไป ถ้าหากธาตุรู้แล้วถึงที่สุด ไม่มีอะไรพูดต่อไปอีก ถึงเรียกว่า ธาตุรู้ แต่ว่าธาตุรู้มันก็ยังเรียกว่าสมมติอยู่นั่นเอง สมมติให้รู้เรื่องกัน พูดให้เข้าใจกัน สิ่งทั้งปวงหมดไม่มีอะไร มีแต่ธาตุรู้เท่านั้น ถึงพระพุทธเจ้าท่านเสด็จปรินิพพาน ก็เรียกว่า นิพพานธาตุ สภาวะมันหากเกิดอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น เรียกว่า สภาวะ เรียกว่า ธาตุรู้ พระนิพพานก็เรียกว่านิพพานธาตุ
ผมถึงเรียกสมมติอื่นว่า ธาตุรู้นั้นอันหนึ่ง และสิ่งที่ไปรู้นั้นอีกอันหนึ่ง ถ้าออกจากธาตุรู้นั้นแล้ว ไปรู้สิ่งอันอื่นนอกจากนั้นอีก เรียกว่า ปัญญา ปัญญานี้ เกิดจากความปรุงความแต่งความคิดความนึกสารพัดทุกอย่าง ปัญญา เกิดจากเอาธาตุรู้นั้นไปเกิดปัญญา ไปเป็นจิตแล้วไปเกิดเป็นปัญญา
ปัญญา นั้นมี ๒ อย่าง ปัญญาโลกิยะอย่างหนึ่ง ปัญญาโลกุตระอย่างหนึ่ง
ปัญญาโลกิยะนั้นคือ ความคิดความนึกปรุงแต่งสารพัด สัญญาอารมณ์ทั้งปวง รู้สิ่งต่างๆหมด แต่หาได้รู้ว่า ตัวพุทธะไปรู้ ไม่ ตามความคิดนึกปรุงแต่งไปไม่มีที่สิ้นที่สุดไม่หยุดไม่ยั้งสักที มนุษย์ชาวโลกจึงพากันปรุงแต่ง พากันคิดพากันนึกอยู่นี่ สารพัดทุกอย่างวุ่นวี่วุ่นวายร้อยแปดพันประการ อันนั้นเป็นโลกิยปัญญา
โลกุตรปัญญานั้น มีเฉพาะท่านผู้ฝึกหัดอบรมจิต ผู้รู้นั่นแหละ ผู้ไปรู้ไปคิดไปนึกนั่นแหละ เอาสติไปควบคุมจิตตรงนั้นแหละ ให้อยู่ในบังคับของสติรู้สิ่งทั้งปวงหมด ให้อยู่ในบังคับคือ บังคับให้รู้ก็ได้ บังคับไม่ให้รู้ก็ได้ ที่มันคิดมันนึกมันปรุงแต่งสารพัดทุกอย่างนั้นรู้เท่ารู้เรื่องของมัน ฝึกฝนอบรมให้มันอยู่ในขอบเขตในบังคับ การฝึกหัดปฏิบัติในธรรมวินัยนี้มีฝึกหัดจิตอันเดียวเท่านั้น อันอื่นนอกนี้ไม่มีอะไรทั้งหมด จะเป็นอย่างไร อบรมอย่างไร ก็ต้องอบรมจิต ครั้นปรารภจิตอบรมจิต จึงจะอบรมจิตให้อยู่ในสติได้ เมื่ออบรมไปโดยมีข้อบังคับจํากัดด้วย ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันรู้ว่าสิ่งต่างๆทั้งปวงมันมี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในตัว
ครั้นเมื่อมี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ไปไม่ถึงไหนต้องหมด ไม่ปรุงไม่แต่ง ลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตตาแล้ว ก็กลับเข้ามาหา “ใจ” คราวนี้ มันกลับเข้ามาเอง พิจารณาไปหมดเรื่องหมดราวแล้ว กลับมาเองหรอก เข้ามาหา “ใจ” มาหยุดนิ่ง
เวลามันจะออก มันออกไปตามอายตนะต่างๆ มันออกไปอยู่ในขอบเขตของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาไปมามันก็รวมลงไปอีก ของเก่า เข้ามาถึงจุดเดิมคือ ผู้รู้ หรือ ธาตุรู้ กลับไปกลับมาอย่างนี้บ่อยๆ จนกระทั่ง ชํานิชํานาญคล่องแคล่วในการที่พิจารณา คราวนี้ไม่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอนุมาน และไม่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยบังคับ หากเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอัตโนมัติ
ทีแรกพิจารณาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอนุมาน ทีหลังเมื่อพิจารณาชํานิชํานาญแล้ว มันเป็นอัตโนมัติในตัว จึงว่า ศาสนาพุทธถึงที่สุดของการคิดการนึกการปรุงการแต่งการรู้ต่างๆ สารพัดทุกอย่าง มันลงมาถึงของจริง มาถึงผู้รู้
หลวงปู่ดูลย์ท่านจึงบอกว่า จิต คือ ผู้รู้ ท่านพูดถึงเรื่องจิตอันเดียว แท้ที่จริงจิตกับใจก็อันเดียวกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้น ท่านก็พูดเหมือนกัน ครั้นเข้าถึงใจแล้ว ก็หมดเท่านั้นพุทธศาสนานี้ไม่มีอื่นไกล นอกจากจิตกับใจแล้ว ก็หมดเท่านั้น ผู้รู้ รู้แล้วเข้าถึงใจแล้วละก็หมดเรื่องเท่านั้น
ลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนดูว่า พุทธศาสนานั้นที่ได้หัดสมาธิ ก็เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง ฌาณก็เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง มัคคสมังคี คือ มรรคผลนิพพานก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน จิตเป็นเอกกัคคตารวมเป็นหนึ่งเหมือนกัน แต่สิ่งเหล่านี้มีผิดแปลกกันตอนที่ว่า มีปัญญามากมีปัญญาน้อย รอบรู้มากรอบรู้น้อย พระพุทธเจ้าของเราท่านทรงรอบรู้ทั่วหมดทุกสิ่งทุกประการ ทรงรู้สิ่งทั้งปวงหมด ทรงรู้เหตุรู้ผล รู้เรื่องราวต่างๆ รู้ความเกิด-ดับ ท่านจึงทรงอยู่เหนือความคิดความอ่าน อยู่เหนือความเป็นไปสารพัดทุกอย่าง จึงเรียกว่าเหนือโลก
อันเรื่องของโลกทั้งหลายนั้น มันอยู่ในจิตนี่แหละ คิดนึกปรุงแต่ง แต่งไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที พระพุทธเจ้าจึงทรงอยู่เหนือ คือ เหนือเรื่องเหล่านั้น คือ ทรงรู้เท่ารู้เรื่อง “รู้เท่า” นี้หมายความว่ารู้เท่ากับความคิดนั่นแหละ รู้เท่าความปรุงความแต่ง มันปรุงมันแต่งก็รู้ รู้พร้อมๆกันเลย ไม่เกิน ไม่ขาด ไม่เหลือ จึงเรียกว่า “รู้เท่า” ไม่ใช่รู้ตาม รู้ตามนั่นมันตามไป รู้แล้วค่อยตาม รู้แล้วค่อยเห็น รู้แล้วค่อยรู้ตัว อันนั้นมันตาม เหมือนตามรอยวัวรอยควาย อันนั้นไม่เห็นตัวมันหรอก ครั้น “รู้เท่า” นั้น รู้เท่าตัวมันเลย รู้ในทันท่วงทีมันเลย “รู้เท่า” มันเป็นอย่างนี้ มันต่างกับความรู้ตาม เหตุนั้น คําที่ว่า “รู้ตาม” นั้น ไม่มีทางที่จะทันตัวมันหรอก พอ “รู้เท่า” เท่านั้น เลยทันตัว
พระพุทธเจ้าท่านทรงรู้เท่าสิ่งสารพัดทั้งปวงหมด จึงเรียกว่าทรงรู้สภาวะความเป็นอยู่ของมันทุกสิ่งทุกประการ จึงหมดเรื่องหมดราว แต่พวกเราฝึกหัดปฏิบัติฝึกอบรมเดี๋ยวนี้ เรื่องตัวของเรานี้แหละ ยังไม่รู้เท่ารู้เรื่องมันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จึงต้องฝึกหัดอบรมกันต่อไปอีก
สมาธิ ก็เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง ฌาณก็เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง มัคคสมังคี คือ มรรคผลนิพพานก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน จิตเป็นเอกกัคคตารวมเป็นหนึ่งเหมือนกัน แต่สิ่งเหล่านี้มีผิดแปลกกันตอนที่ว่า มีปัญญามากมีปัญญาน้อย รอบรู้มากรอบรู้น้อย
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 24. ธาตุรู้]