23. กายกับใจ

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เราเกิดมาเป็นคน ก็พิจารณาถึงเรื่องคน… “ธาตุรู้” มันอยู่ในตัวคนนั่นแหละ… ครั้นลงถึง “ธาตุรู้” แล้ว มีที่สุดเพียงแค่นั้น

๒๓. กายกับใจ
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

พุทธศาสนาคือ คําสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าว่าถึงเรื่องใกล้ๆ ก็เป็นของใกล้ ถ้าว่าถึงเรื่องไกลก็เป็นของไกล ว่าถึงเรื่องใกล้ๆ ก็คือของที่มีในตัว พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติลงในที่นี้ มีคนมีมนุษย์จึงค่อยทรงตั้งพุทธศาสนาลง พวกไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่จิต พระองค์ไม่ทรงตั้งศาสนา อย่างพวกเทพกายต่างๆ พวกอินทร์พวกพรหม ท่านก็ไม่ได้ทรงตั้งศาสนาลงไว้ หรือพวกอทิสมานกาย อย่างพวกเปรตพวกผี ท่านก็ไม่ได้ทรงตั้งศาสนาไว้ พระองค์ทรงตั้งศาสนาบัญญัติลงเฉพาะบุคคลแต่ละคนๆ นี้ เรียกว่าต้นตอของพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี้ทีเดียว ไม่ได้มีที่อื่น

ถ้าหากคนใดปฏิบัติศาสนาในที่นี้ ศาสนาก็เจริญขึ้นในตัวของตน ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็ไม่เจริญขึ้นในตัว พระพุทธเจ้าทรงเทศน์เฉพาะตัวของคน ไม่ได้เทศน์มาก ที่มากมายหลวงหลาย ทุกส่วนนั้นก็ล้วนแล้วแต่ปรุงแต่งไปจากนี้ทั้งนั้นแหละ มาปรุงแต่งกาย มาปรุงแต่งขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในตัวของเรานี้แหละ ให้กว้างขวางต่อไป ถ้ามีขันธ์ห้าแล้วมันก็ต้องกว้างขวางเป็นธรรมดา กว้างหรือไม่กว้างก็ครอบหมดทั้งโลกล่ะ ขันธ์ห้าไม่ใช่ของน้อยๆ ที่ท่านบัญญัติลงในขันธ์ห้านั้นก็กว้างไปอย่างนั้นแหละ ขันธ์ห้ากว้างไปทั้งโลกถ้าหากว่าโดยเฉพาะแล้ว เอาแต่ใจอันเดียวแล้ว ก็เลยไม่กว้าง

การพิจารณาถึงเรื่องขันธ์ห้า อย่าไปพิจารณามากมาย พิจารณาธรรมทั้งหลาย ก็อย่าไปพิจารณากว้างขวาง พิจารณาลงเฉพาะอันเดียวนี้แหละ มันหากกว้างขวางเองหรอก เราพิจารณา กาย เวทนา จิต ลงในที่นี้ พิจารณา จิต อย่างเดียว แล้วก็แคบเข้ามา พิจารณากาย ก็กว้างออกไป พิจารณาจิตนั่นแหละมันจะแคบลงมา คือ ละส่วนภายนอก ได้แก่ กายพิจารณาเฉพาะจิตเข้าไปภายใน อยู่ภายในแล้ว มันรวมลงมาภายใน เข้าถึงธรรมเลย พิจารณาจิตอันเดียว เข้าถึง ธรรม เลย

แต่ว่าเมื่อเข้าถึงธรรมแล้วนั้น เราจะเอาจิตมาพูดมันก็ยากอยู่ ยากที่คนจะเข้าใจ เหตุนั้นจึงต้องพิจารณาให้รู้ภายนอกภายใน เมื่อจะพูดให้คนฟัง เมื่อจะอธิบายให้คนเข้าใจ จึงต้องตั้งกายนี้ลง แล้วพิจารณา กาย กับ ใจ นี้ ให้ไปพร้อมๆ กัน คนฟังจึงเข้าใจง่าย ครั้นพิจารณาแต่ใจอย่างเดียว ลงถึงใจอันเดียวแล้ว เมื่อมันเกี่ยวข้องถึงของภายนอกเลยไม่รู้เรื่อง เหตุนั้นจึงว่าเราจะพิจารณาแต่ใจอันเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณากายกับใจให้ควบคู่กันไป เพราะเหตุที่ว่ากายกับใจมันอยู่ด้วยกัน คนพิจารณาถึงเรื่องใจ พูดถึงเรื่องใจแล้ว คนทั้งหลายที่ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้วไม่เข้าใจ

เหตุนั้นวันนี้จะอธิบายถึงเรื่อง กาย กับ ใจ คือ เราพิจารณากายกับใจที่ตัวของเรานี่แหละพิจารณาให้เข้าไปถึงกายกับใจจริงๆ อย่าให้ออกมาภายนอก พิจารณาถึงเรื่อง เกสา โลมา นขาทันตา ตโจ อย่างนี้เป็นต้น เกสา คือ ผม เรารู้เฉพาะที่ใจของเรา พิจารณาผมจนเข้าใจเฉพาะในใจของเราจริงๆ โลมา คือ ขนก็พิจารณาให้เห็นเฉพาะในใจของตนจริงๆ เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น ก็พิจารณาเห็นเฉพาะที่ใจนั้นแห่งเดียว พิจารณาอย่างนี้ตลอดหมด พิจารณาอาการ๓๒ ก็ดี ให้เห็นเฉพาะในใจ หรือจะพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ ถ้าหากว่ามันชัดในใจของตนแล้ว ไม่ต้องพิจารณามาก พิจารณาอันเดียว ก็ลงได้เหมือนกัน

เมื่อพิจารณาอันเดียว เอาแต่ใจอันเดียวคราวนี้ลงถึงใจแล้วก็ทิ้งกายหมด พิจารณาเฉพาะใจอันเดียว เมื่อใจมันอยู่แล้ว คราวนี้เห็น ใจ กับ จิต มันคนละอันกัน อาการที่พิจารณานั้นเป็นเรื่องของจิต ครั้นลงถึงใจแล้วไม่มีอาการ ลงเป็นอันเดียวหมด คือ ความรู้ ความรู้หรือธาตุก็ว่าได้ ธาตุรู้นี้ กินความกว้างขวางถึงสิ่งทั้งปวงหมดในโลกอันนี้

ธาตุรู้ ตัวเดียวไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องภายนอก ธาตุรู้ตัวนั้นเป็น ผู้รู้ เท่านั้นล่ะพอ ถึงพระนิพพานนั้นก็เรียกว่าธาตุรู้ ถึงพระนิพพานก็เรียกนิพพานธาตุ มรรคผลนิพพานทั้งปวงหมดลงในธาตุรู้อันเดียว นั่นถึงว่าศาสนามีที่สุด พิจารณาไปเถิดพิจารณาไปเท่าไรก็เอาเถอะ ครั้นมันลงไป มันลงถึงธาตุรู้แล้ว มีที่สุดเพียงแค่นั้นแหละ จะปฏิบัติเพียงแค่ไหนก็ตามเถอะ

จะปฏิบัติอย่างไรก็เอา อย่างศีล สมาธิ ปัญญา หรือปฏิบัติอย่างไรก็ลงธาตุรู้อันเดียวสมาธิ ที่เรียกว่าสมาธิ คือจิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นหนึ่งไม่มีสอง นั่นแหละเข้าถึง ธาตุรู้ แล้วคราวนี้ หรือจะเรียกว่า เอกัคคตาจิต ก็เอา เรียก อัปปนาจิต ก็ตาม เรียกอย่างไรก็ได้ แต่ธาตุอันนั้นไม่ได้เรียกตาม เพียงแต่เราเรียกสมมติบัญญัติให้เข้าใจกัน ธาตุรู้นั้นเป็นอยู่อย่างนั้น ครั้นเข้าถึง ธาตุรู้ ก็เข้าถึงที่แล้วนั่น เข้าถึงที่สุดแล้ว พุทธศาสนานี้ลงที่สุดเพียงแค่นั้น ใครจะปฏิบัติอย่างใดก็ปฏิบัติเถอะ ที่สุดคือ ธาตุรู้ เท่านั้นแหละเป็นเพียงพอ

คราวนี้อันที่พูดออกไปมากมายหลวงหลาย ก็ขยายกว้างขวางออกไป จากธาตุรู้ทั้งนั้นเรียกว่า ขันธ์, อายตนะ, ธาตุ, อินทรีย์ ทั้งปวงหมด แยกออกไปจากธาตุรู้ทั้งนั้น ครั้นถึงธาตุรู้แล้วก็กลับเข้ามาของเก่า ธรรมทั้งหลายแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ พอถึงธาตุรู้ก็รวมเข้ามาเป็นอันหนึ่งเหมือนกัน

ธาตุรู้ นี่แหละ ให้มันเข้าถึงธาตุรู้บ่อยๆ ให้มันถึงอยู่เสมอๆ ครั้นเมื่อเรามีชีวิตอยู่เราก็ต้องไปตามจิต คือ มันปรุงแต่ง ตามสังขารต่างๆ ตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันปรุงแต่งไปสารพัดทุกอย่าง ปรุงแต่งไปแล้ว คราวนี้มันรวมเข้ามาถึงธาตุรู้หยุดอยู่พักหนึ่งเสียก่อน ทํางานทําการต่างๆ ถ้าหากไม่มีพักผ่อน ก็ตายเท่านั้นคนเรา จิตใจก็เหมือนกันนั่นแหละ ถ้าไม่มี ธาตุรู้ ก็ไม่มีการพักผ่อน ไม่ถึง ธาตุรู้ ก็เป็นบ้าคนเรา

ต้องลงถึงธาตุรู้จึงจะถึงที่สุดของธรรมะ แต่ว่าอันที่ถึงที่สุดจริงๆ จังๆ มันหากมีความรู้ที่สุดของธรรมะจริงๆ จังๆ นั้น เป็นของใครของมันต่างหาก ใครจะมารู้มากรู้น้อยเท่าใด ก็เป็นของใครของมันเฉพาะตัว

พิจารณาอาการออกมาภายนอกกว้างๆ ออกไปก็พิจารณาถึงกาย เราเกิดมาเป็นคน ก็พิจารณาถึงเรื่องคน พิจารณาถึงเรื่องความเกิด พิจารณาเห็นคน ธาตุรู้ มันอยู่ในตัวของคนนั่นแหละ คนเรามันเกิดขึ้นมา มันเป็นตนเป็นตัว มันจําเป็นต้องพิจารณาตัว คือ คน ของเราคุณประโยชน์ของตัวของเรา ค้นคว้าพิจารณาให้เห็นคุณค่าประโยชน์อย่างยิ่ง มันก็เกิดจาก ธาตุรู้ รู้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ครั้นถ้าไม่พิจารณาให้ถึงธาตุรู้ มันก็ไม่เห็นตัวของคนว่ามีคุณประโยชน์คนเราเกิดขึ้นมานั้นมีคุณประโยชน์มากมาย อย่างเราจะได้บวชอันนี้ก็เพราะตัวคน คนเกิดขึ้นมาได้ชื่อว่าเป็นบุญเป็นคุณอย่างยิ่ง มาบวชในพุทธศาสนานี้ ก็เพราะมีคนมีตัวมีตนจึงค่อยได้มาบวช คุณค่ามหาศาลในตัวของเรา ทําอะไรได้หมดทุกสิ่งทุกอย่างจึงคิดถึงคุณของคนให้มันมากให้เห็นคุณค่าของคน

เราบวชในศาสนานี้ จะทรงไว้ซึ่งผ้าเหลืองก็เพราะมีตัวมีตน จะรักษาศีล สมาธิ ภาวนาได้ก็เพราะมีตัวมีตน จะถึงมรรคผลนิพพาน ก็เพราะเราพิจารณาถึงธาตุรู้ กับตัวของเรา จึงจะถึงมรรคผลนิพพานได้

เราพิจารณาถึงคุณค่าของคนอยู่เสมอๆ เป็นเครื่องอยู่ของธรรมะ เป็นเครื่องอยู่อันหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่พิจารณาอันนี้ก็ไม่มีเครื่องอยู่ คนเรามันก็เปล่าเสียจากประโยชน์ พิจารณาให้เป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ จึงจะอยู่เป็นสุข ถ้าหากว่าไม่พิจารณาถึงคุณค่าของคนแล้ว อยู่ไปอย่างไร? คนเราอยู่เฉยๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ก็เลยเกิดเบื่อหน่าย เป็นพระเป็นเจ้าก็เลยเบื่อหน่ายจากพระจากสงฆ์ ปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ ก็เลยลืมหมด เลอะเลือนลืมหมด อันเราที่ปฏิบัติอยู่นั้น ปฏิบัติอะไรก็ไม่ทราบ สักแต่ว่าปฏิบัติ

ครั้นหากคิดถึงคุณแล้ว ที่เราทําอันหนึ่งๆ สิ่งหนึ่งๆ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนให้ละเอียดให้เรียบร้อยลงไป ให้เห็นคุณเห็นค่าประโยชน์ของมัน มันจึงมีอุตสาหะวิริยะพากเพียรปฏิบัติได้อันนั้นเป็นเครื่องอยู่ ครั้นปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่อันนี้แล้วมันหากเข้าถึงใจแล้วคราวนี้ มันค่อยเห็นคุณค่าประโยชน์อันยิ่งใหญ่ภายในใจของเรา

จะถึงมรรคผลนิพพาน ก็เพราะเราพิจารณาถึงธาตุรู้ กับตัวของเรา จึงจะถึงมรรคผลนิพพานได้

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 23. กายกับใจ]