22. ปรารภตน
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
นักปฏิบัติต้องปรารภตนเป็นใหญ่ หากเราปรารภตนแล้ว จะเห็นสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่มันออกจากตน ทุกสิ่งทุกอย่างมันออกจากตนทั้งนั้น
๒๒. ปรารภตน
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
นักปฏิบัติต้องปรารภตนเป็นใหญ่ หากเราปรารภตนแล้ว จะเห็นสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่มันออกจากตน ทุกสิ่งทุกอย่างมันออกจากตนทั้งนั้น ทางกาย เรียกว่า ตน ทั้งภายนอกภายใน ท่านจึงให้พิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นอาทิ ปัญจกกัมมัฏฐานเป็นที่ตั้งของกัมมัฏฐานทั้งปวงหมด เป็นมูลกัมมัฏฐาน
แต่เบื้องต้นบวชมาก็เอา กัมมัฏฐานห้า นี่แหละเป็นต้นเหตุเสียก่อน ให้พิจารณาหมู่นี้แหละ ไม่ต้องเอาอื่นไกล พิจารณาในตัวเรา สิ่งแวดล้อมที่ออกจากตัวของเรา ถ้าหากเราปักหลักตั้งมั่นอยู่ในที่นี้แล้วเห็นชัดเลย อย่างเราพิจารณา ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก อย่างนี้ ครั้นเห็นกายของเราชัดเจนแจ่มแจ้งลงแล้ว กายของคนอื่นก็มีเช่นเดียวกัน เห็นด้วย อสุภะ ปฏิกูล ก็ดี เห็นด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ดี จะเห็นด้วยวิธีไหนๆ ก็เอาเถอะ เห็นตัวของเราแล้ว คนอื่นก็เห็นเหมือนกันหมด
เห็นในที่นี้ไม่ได้เห็นด้วยทัศนะ คือความเห็น เห็นด้วยใจจริงๆ ทัศนะคือความเห็นนั้นเห็นด้วยตา เห็นด้วยใจนั้นเห็นด้วยความรู้ความเข้าใจ เห็นด้วยญาณ เห็นภายนอกแล้วก็เห็นภายในใจจึงว่า ญาณทัศนะ ทั้งรู้ทั้งเห็น เห็นเช่นไร รู้ก็เป็นเช่นนั้น ความรู้เช่นนั้นเป็นจริงทุกอย่าง อย่างที่ท่านให้พิจารณา อสุภะ กายคตาสติ อย่างนี้ ก็อสุภะนั่นแหละไม่ใช่อื่นไกล อย่างเห็น ผม เห็นเป็นอสุภะปฏิกูลจริงๆจังๆ เกิดจากของโสโครก บุพโพ โลหิต เป็นที่ตั้งของเส้นผมเส้นขน ให้พิจารณาเห็นอสุภะของไม่งาม หรือพิจารณาหนังอย่างนี้เป็นต้น เป็นของปฏิกูลจริงๆจังๆ ประกอบด้วยความเปื่อยเน่า ไม่ใช่เห็นด้วยปฏิภาค
เห็นด้วย ปฏิภาค นั้นอีกอย่างหนึ่ง อย่างพิจารณากายเป็นของเปื่อยเน่า เกิดเห็นวูบวาบขึ้นมาเป็นของปฏิกูลโสโครกทั้งหมด นั้นเห็นเป็นชั่วครั้งชั่วคราว เห็นอสุภะอันนั้นเรียกว่าปฏิภาค เกิดเป็นครั้งคราว
ส่วนเห็นจริงๆจังๆ นั้นเห็นด้วยใจของตนจริงๆ เป็นของเปื่อยเน่าปฏิกูลโสโครกจริงๆ ต้องอาบน้ําชําระทุกวี่ทุกวัน เปื่อยเน่าปฏิกูลเห็นชัดด้วยตนเอง อย่างนี้เป็นต้น สิ่งอื่นทั้งปวงหมดก็เห็นเช่นเดียวกัน ตลอดถึง น้ําดี น้ําเสลด น้ําเลือด น้ําหนอง ไปอันเดียวกันหมด คนเราต้องการอยากจะเห็น แต่ให้มันเห็นเป็นอสุภะจึงจะชัดเจน เห็นเป็นอสุภะที่เป็นปฏิภาคนั้นมันเกินไป เพ่งให้เป็นอสุภะมันก็เป็นอสุภะน่ะสิ เพ่งให้เปื่อยเน่ามันก็เปื่อยเน่าน่ะสิ
ส่วนอันนี้ไม่ได้เพ่งให้เปื่อยเน่าอย่างนั้น ให้เห็นชัดตามเป็นจริง เมื่อเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว เห็นทุกวี่ทุกวัน เห็นทุกเมื่อทุกยาม เห็นคนอื่นก็เหมือนกับเห็นเรา ปฏิกูลโสโครกเช่นเดียวกับเรา ชัดเจนแจ่มแจ้ง จึงเป็นเหตุให้เบื่อหน่ายสลดสังเวชทุกวี่ทุกวัน เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นชัดตามเป็นจริง ไม่ใช่เห็นอสุภะอย่างที่เกิดปฏิภาคที่ว่านั้น
มันเข้ากับหลักที่ว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ มันเป็นจริงอย่างไร เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าเห็นตามเป็นจริง
พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนา ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ เห็นตามเป็นจริง จึงเรียกว่าเห็นแจ้งเห็นจริง เห็นปฏิภาคนั้น เห็นจริงหรอกเห็นแจ้งเห็นจริงๆ แต่มันเป็นเกินเลยไป มันเลยเถิดไป บางทีจนเป็นเหตุให้สลดสังเวชเบื่อหน่ายเกลียดชัง เกิดวิปริตเกิดวิปลาสไปก็ได้ อันเห็นอย่างที่ว่านี้ เห็นชัดตามเป็นจริงไม่เกิดเบื่อหน่ายจนเกินขอบเขต เพราะเหตุที่มันมีอยู่ในตัวของเรา จะไปไหนก็ไม่พ้น เราต้องชําระสะสางมันทุกวี่ทุกวัน อันนี้แหละ พิจารณาตัวของเราอย่างนี้แหละ ไม่มีที่สิ้นสุด พิจารณาอยู่ทุกเมื่อทุกยาม ยังมีชีวิตอยู่ตราบใด ก็ต้องพิจารณาอยู่ร่ําไป เบื่อหน่าย ก็เบื่อหน่าย สลดสังเวชก็สลดสังเวช แต่ไม่ทราบจะไปทิ้งให้ใคร เราพิจารณาอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นที่สุด ตลอดชีวิตก็ยังพิจารณาอยู่อย่างนั้นร่ําไป นี่พิจารณาถึงเรื่องกายของเราให้เห็นเป็นอย่างนี้แหละ
มาพิจารณาถึงเรื่องจิตคราวนี้ ก็พิจารณากายนี้แหละ จึงค่อยเห็นจิต เราเห็นเช่นนั้นแล้ว จิตเราเป็นอย่างไรคราวนี้ เราจะเกลียดไหม? เราเบื่อหน่ายไหม? เราพอใจยินดีหรือไม่พอใจยินดีกับมันไหม? เห็นจิตของตนชัดแล้วคราวนี้ ถ้าพิจารณากายแล้วเห็นจิตเลย คือ ผู้พิจารณากาย ก็จิตนั้นแหละเป็นผู้พิจารณาไม่ได้เอาอันอื่นมาพิจารณา จิตเรายินดีหรือยินร้าย เราชอบใจหรือไม่ชอบใจ เห็นด้วยจิตจริงๆ เห็นด้วยใจของตนจริงๆ ครั้นเห็นจิตแล้ว คราวนี้ยินดีก็ดี ยินร้ายก็ดี พอใจไม่พอใจก็ดี ของคนอื่นก็เช่นเดียวกันกับเรา พอเห็นของเราแล้ว เห็นคนอื่นชัดทีเดียวคราวนี้
ครั้นหากว่ายินดีพอใจแล้ว มันแสดงอาการแล้วคราวนี้ ยินดีก็พอใจ แล้วก็เพลิดเพลินพอใจเพลิดเพลินยินดี มันเกิดความยินดี ยินร้ายก็ไม่พอใจ อาการที่ยินดียินร้ายพอใจไม่พอใจนี่แหละ มันแสดงออกมาภายนก ส่อแสดงถึงกิเลสกองใหญ่ทีเดียวนั่น อย่างที่เราเห็นรูปอย่างนี้ ครั้นถ้าหากว่าจิตมัน เพ่งเห็นรูปมันชัด มันไม่เกิดอสุภะปฏิกูล มันพอใจละคราวนี้ อยากเห็น อยากดู อยากชม จิตพอใจแล้ว นั่นแหละมันจะแสดงอาการกิริยาต่างๆภายนอกให้เห็นชัดเลย คนอื่นเห็นชัดทีเดียว ตัวของเราไม่เห็นตัวของเราหรอก
การแสดงให้คนอื่นเห็นชัด เป็นของน่าเกลียดทีเดียว แสดงความเพลิดเพลินยินดีพอใจมันให้มีอาการกิริยา ปฏิกิริยาเกิดขึ้นมาเลย เป็นเหตุให้คนอื่นเขาดูได้ชัดเจน เขามองเห็นเลยถ้าไม่พอใจ เบื่อหน่ายหรือเกลียดชังอันนั้นก็แสดงชัดขึ้นมาภายนอกอีกนั่นแหละ จึงว่าให้ระวังตอนนี้ให้มาก อย่าให้คนอื่นมองเห็นได้
อันที่จะรักษากิริยาอาการที่พอใจไม่พอใจ รักษาอาการอันนี้ให้อยู่สภาพคงที่นั้น ยากที่สุด ถ้ารักษาได้ตอนนี้ก็นับว่าวิเศษทีเดียวละ วิเศษของพระ วิเศษของคนทีเดียว รักษากิริยามารยาทให้มันสม่ําเสมอ เป็นของวิเศษมาก อย่างทางภาคอีสานท่านพูดว่า “เหมือนกับขวานถากไม้” ธรรมดาขวานถากไม้นั้น ถากไม้ให้เกลี้ยง ให้เรียบร้อยไปได้สม่ําเสมอดีงามมาก แต่ว่าขวานไม่ได้ถากตัวขวานเองหรอกนะ มันถากแต่คนอื่นหรอก “สับไม้เหลียวหลาก ขวานถาก บ่มีหอน” ถากแต่คนอื่น ตัวเองไม่ถาก นั่นแหละมันแสดงกิริยาอาการอย่างนั้น ก็จะเห็นมิใช่หรือ ขวานถากไม้ มันถากไม้ แต่ขวานไม่ถากตัวขวานเอง
เราแสดงอาการให้มันสม่ําเสมอ ดีมากตรงนี้ ถึงว่ามันมียินดียินร้ายพอใจไม่พอใจ ก็ช่างมันเสียก่อน มันยังไม่ทันหมดกิเลส ตรงนั้นเอาไว้เสียก่อน แต่ว่ารักษามารยาทอันนั้นให้มันสม่ําเสมอ ป้องกันไว้เสียก่อน อย่าให้มันแสดงออกมาภายนอก กิเลสนั้นดูไม่ยากหรอกดูได้ง่ายๆ ครั้นเราพิจารณากายของเรา ดูได้ง่ายเห็นตัวของเราทีเดียว ครั้นถ้าไม่พิจารณาเห็นตัวของเราแล้ว หลุดออกไปปรากฏให้คนอื่นเห็นได้ แต่ตัวของเราไม่เห็น โดยเฉพาะหมู่เพื่อนและคนใกล้ชิด อยู่กับพวกเป็นหมู่คณะกันอย่างนี้ แสดงกิริยาอาการอะไรเห็นกันโต้งๆเลย
แต่ว่าคนที่เห็นนั้นน่ะ ก็ให้ระวังอีกทีหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วก็ให้ระวังตัวของเรา อย่าได้แสดงอาการกิริยาให้ปรากฏขึ้นมา อันเรื่องของคนนั้นก็เป็นเรื่องของคนนั้น เรื่องของเราก็อีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ให้พิจารณาเรื่องของตนเอง
ผู้พิจารณาตนเองอยู่มัธยัสถ์อย่างนี้ สงบเรียบร้อยดีมาก อยู่กับหมู่เพื่อนก็สบาย หมู่เพื่อนอยู่ด้วยก็สบาย สบายทั้งตนเองและคนอื่น เราหาความสบายในธรรมวินัย ต้องพิจารณาตรงนี้จึงได้ความสบาย ครั้นพิจารณาตรงนี้ไม่เห็นแล้ว มันมีอยู่นั่นแหละ เรื่องเสี้ยนหนามมันปรากฏขึ้นมาในใจ ด้วยประการต่างๆ อย่างที่ว่ามานี้
อันที่จะรักษากิริยาอาการที่พอใจไม่พอใจ…ให้อยู่สภาพคงที่นั้น ยากที่สุด ถ้ารักษาได้ก็นับว่าวิเศษทีเดียว
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 22. ปรารภตน]