21. จับจุดในพระพุทธศาสนาให้ได้

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

จงจับจุดให้ได้… จุดในพุทธศาสนานั้นคือ ตัวจิต… คิดดี คิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็จิตตัวนี้ ครั้นหากไม่คิด มันก็หมดเรื่อง…

๒๑. จับจุดในพระพุทธศาสนาให้ได้
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๘

ต่อไปนี้จงพากันตั้งใจฟังอุบาย การที่มาบวชร่วมในพุทธศาสนาด้วยกัน จงทําความสําเหนียกไว้ในใจ ด้วยประการอย่างนี้ คือว่า เราจะทําความรู้สึกในใจอยู่เสมอว่า พุทธศาสนาเป็นของที่เราจะต้องศึกษาอบรมให้เข้าใจ ศาสนาเป็นของกว้างขวาง ถ้าหากจับจุดไม่ได้ ก็จะเลอะเทอะเหลวไหลหมด เพราะศาสนามีหลายแง่หลายมุมที่จะต้องให้ถึงความเป็นจริง ถ้าหากว่าจับจุดได้แล้วนั้น ก็ไม่มีมากมายหลายอย่าง อย่างท่านสอนไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า:สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทาสจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํการชําระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วเท่านั้นก็เป็นพอแล้ว เป็นศาสนาแล้ว

ถ้าหากว่าจับจุดไม่ได้ ไปมัวแต่งมงายอยู่ จับโน่นหยิบนี่ เลยไม่ถูกจุดสักที ก็เลยเป็นของกว้างขวาง เหตุนั้น จงจับจุดให้ได้ จุดในพุทธศาสนานั้นไม่มีอะไรหรอก คือ ตัวจิต ท่านว่า:

เอตํ พุทฺธานสาสนํ จิตอันเดียวเท่านั้นแหละเป็นศาสนา จิตเศร้าหมองจิตผ่องใส ก็จิตนี้ จิตมัวหมองหรือกิเลสก็จิตอันนี้ จิตผ่องใสหรือกิเลสก็ตัวเดียวตัวนี้ ไม่ต้องมีหลายอย่างที่หลายอย่างหลายประการนั้น คือ ต้องการอยากจะให้เห็นหลายแง่หลายมุมของจิต พูดมากไปก็หลายอย่างหลายเรื่อง ความเป็นจริงนั้น หากว่าจับจุดอันหนึ่งได้แล้วนั้น ไม่มีมากมายอะไร จิตตัวเดียวเท่านั้นแหละ คิดดี คิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็จิตตัวนี้แหละ ครั้นหากไม่คิดมันก็หมดเรื่อง อันการที่จะไม่ให้คิดนั้น ก็จับจุดตรงนั้นน่ะ ที่จะไม่ให้คิดนั่นแหละมันจึงหมดเรื่อง ถ้าคิดมันก็หลายเรื่องหลายอย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติศาสนาของพวกเราทั้งหลาย อย่าไปค้นคว้ามากมายนัก ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ค้นไปเท่าไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด จับจุดไม่ถูกแล้ว ก็ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งนั้น อย่างพระพุทธเจ้าทรงสอนสาวกทั้งหลาย สอนมากมายก็จริง แต่ท่านก็ไม่ทรงทิ้ง หลัก คือ ตัวจิตตัวเดียว ตัวจิตนั้นน่ะของสําคัญ ถ้าจิตไม่คิดไม่นึกก็หมดเรื่อง จิตคิดนึกมากมายหลายอย่างนั่นเป็นอาการของจิต เมื่อจิตไม่คิดไม่นึก จิตอยู่แต่ที่เดียว เห็นตัวจิตของตนแล้ว ก็อยู่เท่านั้นที่คิดนึกอันนั้นเป็นอาการของจิตต่างหาก ท่านพูดถึงอาการของจิตไม่มีที่สิ้นสุด

พระพุทธเจ้าทรงเทศนามากมายหลายอย่างกว้างขวาง เพื่อให้มองเห็น ตัวจิต ตัวเดียวที่อธิบายมากมายถ้าหากผู้ไม่เข้าใจจับจิตไม่ถูก มันก็ไปมัวแต่หลงตามโวหารคําพูด ถ้าหากว่า จับจิต ตัวเดียวได้แล้ว ถูกธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า ถูกหมด ที่จิตมีหลายอย่างจิตเป็นหลายอย่างนั้นเป็นอาการของจิต ไม่ใช่ตัวใจ ตัวใจแท้นั้นอันเดียว ส่วนจิตนั้นมีหลายอย่าง อธิบายกว้างขวางสักเท่าไรไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นถ้าหากว่าท่านผู้ถึงที่สุดแล้วนั้นอธิบายถึงเรื่องจิตมากมาย ไล่ตามอาการของจิต แล้วรวมเข้ามาเป็นใจ เข้ามาถึงใจ อันเดียว ใจเป็นของมีอันเดียว จิตนั้นมีหลายอย่าง อาการต่างๆของใจ จึงเรียกว่าจิต

แต่ท่านก็พูดว่า จิต กับ ใจ ก็อันเดียวกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้น ครั้นถ้าหากจับจิตไม่ได้จับใจไม่ถูกแล้ว ก็หลงโลกอยู่นั่นแหละ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจับจิตได้แล้ว เห็นเลย โอ้!…อันนั้นมันอาการของจิต คิดนึกปรุงแต่งสารพัดทุกอย่าง ร้อยแปดพันประการที่อธิบายมากมายนั้น เป็นเรื่องอาการของจิตทั้งหมด ถ้าเข้าถึงใจแล้ว ไม่มีอะไร นิ่งเฉยเลย

การนิ่งเฉยมันจะได้รู้อะไร? รู้หรือไม่รู้ก็เอาไว้เสียก่อน อันความที่มันนิ่งเฉยนั่นน่ะให้มันรู้ความนิ่งเฉยเสียก่อน อาการของจิตมันมากมายหลายเรื่องหลายอย่าง แต่อาการของใจ มีอันเดียว อาการของ จิต ถ้ารวมเข้ามาแล้ว เป็นอาการของ ใจ ดังที่ท่านพูดถึงเรื่องมัคคสมังคี ที่ผู้สําเร็จมรรคผลนิพพานแล้วรวมเป็นหนึ่งนั่นแหละเข้าถึง ใจ แล้วนั่น

ถ้าหากอยากรู้จักตัวใจมันเป็นอย่างไรกัน? ให้อนุมานเอาโดยพิจารณาอย่างนี้ก็แล้วกันเราอยู่เฉยๆ นี่แหละ ทดลองกําลังใจของเราลองดู กลั้นลมหายใจสักพักหนึ่ง เอาเดี๋ยวนี้ก็ได้ ไม่ต้องเอาไกลหรอก เอาเดี๋ยวนี้แหละ สักพักหนึ่งลองดู ชั่วขณะที่กลั้นลมหายใจนั้นมันมีอะไรอยู่ในที่นั้น บอกว่าไม่มีเลยแต่ว่า รู้ว่าไม่มี เพียงแต่รู้ไม่มีอะไรเฉยๆ นั่นแหละตัวใจ ตัวใจแท้ทีเดียวนั่นเห็นตัวเดิมตัวใจแท้เสียก่อน แล้วจึงค่อยไปพิจารณาถึงจิต ที่มันคิดกว้างขวางมากมาย ให้เข้าถึงใจอยู่เสมอๆ มันจึงมีที่สิ้นสุด พุทธศาสนาน่ะสอนมีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนวิชาในทางโลก ทางโลกเขาสอนไปเถิด สอนไปเท่าไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด

พุทธศาสนาสอนรวมลงมาถึงใจ มะโน ท่านเรียกว่าใจ จิตมันออกไปจากใจถ้าเป็นอาการเรียกว่าจิต ถ้าเข้ามาเป็นอาการหนึ่ง เรียกว่าใจ มันเทียบกันได้กับว่า เข้ามารวมเป็นสมังคี แต่ว่าตอนเป็นใจนั้นไม่ถึงสมังคีแท้ แต่อาการของ สมังคี มันต้องเข้ามาตรงนั้น เข้ามาถึงใจตรงนั้นแหละ ที่จะรู้จริงเห็นจริงทุกสิ่งทุกประการ มันก็รู้ไปจาก ใจอันนี้แหละ มันลบล้างเสียก่อนทุกสิ่งทุกประการนั้น คืออาการของจิตลบหมด แล้วเข้าถึง ใจจึงค่อยเห็นของจริง

เรื่องของโลกมันเป็นเรื่องของจิต ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เห็นใจสักที มันก็ปล่อยหลงระเริงไปทั่วทุกสิ่ง เพลิดเพลินไปทุกประการ เหตุนั้นมรรคก็ดี ผลก็ดี นิพพานก็ดี มันค่อยรวมลงมาเป็นหนึ่ง มัคคสมังคีคือ รวมมาเป็นหนึ่ง เอกายโน อยํ มคฺโค ท่านบอกว่า มรรคมีอันเดียว ไม่หลายอย่าง มันรวมเข้ามาเป็นอันเดียว ไม่คิดนึกส่งส่ายไปหาสิ่งภายนอก รวมลงเป็นอันเดียว จึงเรียกว่า มัคคสมังคี ที่จะสําเร็จมรรคผลนิพพาน ต้องลงถึง มัคคสมังคีมัคคสมังคี นี้แต่ละมรรคเป็นหนเดียวแล้วไม่ได้เป็นอีก นั่นแหละจึงถึงที่สุด

การเข้ามาปฏิบัติศาสนาให้เข้าถึงตรงนั้นแหละ ถ้าเข้าไม่ถึงก็อนุโลมเอาเสียก่อน ทําให้มันถึงใจ คือ ให้เห็นใจ อาการของจิตอย่าไปตามมัน ตามมันไปไม่มีประโยชน์อะไรหรอกอาการของจิตคิดนึกส่งส่ายสารพัดทุกอย่างทุกประการ เมื่อรู้ใจแล้วนั้น หากว่ามันคิดนึกส่งส่ายไป อาการของจิตมันก็ไปตามเรื่องของจิต แต่ใจนั้นอยู่คงที่ รวมจิตเข้ามาถึงใจได้ จึงมีที่สิ้นสุด

พุทธศาสนานั้นไม่เหมือนคําสอนของนักปราชญ์ทั้งหลาย พุทธศาสนาสอนถึงที่สุด คือเข้าถึงใจ ศาสนาอื่นก็ดี หรือวิชาอื่นก็ดี สอนไปไม่มีที่สิ้นสุด หาหลักฐานไม่ได้ เอาละเท่านี้ละ

รวมจิตเข้ามาถึงใจได้ จึงมีที่สิ้นสุด

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 21. จับจุดในพระพุทธศาสนาให้ได้]