19. ป่าของพระโยคาวจร

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

๑๙. ป่าของพระโยคาวจร
วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

ออกพรรษาแล้วใครก็อยากจะเที่ยว อยากไปพํานักในป่าหาวิเวกเพื่อทําความเพียรความสงบ ความเป็นจริงแล้วนั้น อยู่ที่ไหนก็เป็นป่าเหมือนกัน ถ้าหากรู้ไม่จักป่าก็เป็นบ้านหมด ในป่าก็เป็นบ้าน ครั้นอยู่ป่ายิ่งคิดฟุ้งซ่านใหญ่ มันแส่เข้าไปในบ้าน เห็นผู้เห็นคนสาราสิ่ง อันนั้นแหละเป็นบ้าน

ถ้าหากคิดเป็นป่า ก็ป่าทั้งนั้นในตัวของเรานี้ ผมก็เป็นป่า ขนก็เป็นป่า เล็บ ฟัน หนังก็เป็นป่า เป็นป่าของพระโยคาวจรท่านประกอบความเพียร ท่านประกอบในป่านี้อยู่ในป่านี้บําเพ็ญเพียรในป่านี้ ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เต็มไปหมดเป็นป่าทั้งนั้น เป็นที่ซุกซ่อนของสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่หลีกเร้นของสัตว์ทั้งหลาย อาการ ๓๒ มีอยู่ในตัวของเราอะไรมันจะหลีกเร้นอยู่ในนั้น? ของสวยของงาม ความสกปรก มันแอบแฝงอยู่ในนั้นเราไม่รู้เรื่อง เรื่องกิเลสทั้งปวงมันปลงอยู่ในที่นั้นหมด อันนั้นแหละสัตว์ร้าย เป็นของน่ากลัวมาก ควรที่จะน้อมเข้ามาหาตัวของเรานี้ มาพิจารณาตัวของเราอย่างที่ว่านี้ เห็นเป็นสัตว์ร้ายประจําตัว จะไปไหนมันก็ตามไป หลีกเลี่ยงไม่พ้นสู้อุตส่าห์พยายามต่อสู้ยังดีกว่า ถ้าไม่สู้ให้ชนะแล้วมันหลีกเร้นไปตลอดเวลา ไปหาความสุขความสบาย ไม่ดีหรอก ไปในป่าในรกได้ความสุขสบายยิ่งเพลินใหญ่ ต้องการวิเวกไปหาความสงบสงัด อันที่ปราศจากผู้คนมีแต่สัตว์ร้ายสัตว์ต่างๆ นั่นแหละไปวิเวก สัตว์ร้ายเป็นๆ อยู่ในตัวขอเรา ความชั่วทั้งหลายกิเลสทั้งหลายมีกามราคะเป็นต้น ติดสอยห้อยตามอยู่ตลอดเวลา เราเอาชนะมันตรงนี้แหละ ถ้าหากว่าเราเห็นแจ้งชัดในใจของตนแล้ว เห็นโทษเห็นคุณของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว สนุกใหญ่อยู่ที่ไหนก็เป็นป่า อยู่ที่ไหนก็วิเวกไม่เลือกที่ สถานที่ทั้งปวงหมด มันมีอยู่พร้อมในที่นี้ ถ้ำคูหาก็มีอยู่ในที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญฺเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา จิตเป็นของเที่ยวไปคนเดียว เที่ยวไปแล้วก็กลับมานอนในคูหาที่เก่า

จิตใจนั้นเที่ยวไกลไปคนเดียว แล้วกลับมานอนในคูหา คือตัวของเรา ท่านเปรียบไว้ชัดเจนเหลือเกิน อันนี้เป็นภัยอันตรายสําคัญที่สุด ถ้าหากว่าผู้ไม่เห็นโทษไม่มองเห็นภัย ก็จะมีแต่เพลินสนุกร่ําไป ครั้นมองเห็นโทษเห็นภัยแล้ว พิจารณาเห็นมันคุกคามอยู่ตลอดเวลาเช่นว่าเราไม่ทําความเพียร เราก็ไม่มีความเพียร อันนั้นแหละมันลึกลับ เราไม่ตั้งสติมั่นคงลงไป นั่นมันประมาทแล้ว เราเพลิดเพลินมัวเมาสนุกสนานไม่มีสติระมัดระวัง อันนั้นได้ชื่อว่ามันหลงตายแล้ว ภัยเหล่านี้มีอยู่ในโลกเป็นของๆโลก ภัยทั้งหมดเป็นของมีในตน ไปไหนมันก็ตามไปอยู่ตลอดเวลา เวรภัยอันตรายต่างๆตามอยู่ทุกเมื่อ ถ้าเราไม่มีสติควบคุมจิตให้มันอยู่ในอํานาจของเราเมื่อไร ได้ชื่อว่าภัยอันตรายล้อมอยู่เมื่อนั้น

ถ้าหากเรามีสติควบคุมอยู่ระมัดระวังอยู่ จนถึงขนาดนั้นมันก็ยังตามมาคุกคามอยู่ แต่หากมีเวลาแก้ไขได้ ภัยอันตรายสําคัญที่สุดมันล้อมอยู่ เรื่องเหล่านี้จะไปหาที่ไหน? จะหลีกไปที่ไหน? มันตามไปอยู่ตลอดทุกเมื่อ อยู่วัดก็เหมือนกัน อยู่บ้านก็เหมือนกัน อยู่ป่าก็เหมือนกัน อยู่ที่ไหนๆ มันตามอยู่ตลอดเวลา ถ้าเห็นภัยตลอดเวลาเห็นทุกขณะแล้ว เราเป็นผู้มีสติระมัดระวังสังวรไม่ให้คิดชั่ว ไม่ให้คิดผิด ไม่ให้ส่งส่าย ตั้งใจระมัดระวังจิตใจของเราอยู่เป็นปรกติ อันนั้นจึงค่อยพ้นภัยอันตราย

เวรภัยเป็นของมีอยู่ในโลก ใครแก้ไม่ได้หรอก แก้ได้แต่การมีสติระมัดระวังเท่านั้น เกิดขึ้นมาในโลกนี้มาสร้างกรรมสร้างเวรด้วยกันทั้งนั้น คือ ตัวเรามีอยู่ทุกอย่าง กายกรรมวจีกรรม มโนกรรม มีหมด ทําอะไรทุกสิ่งทุกอย่างเป็นบุญและเป็นบาปเป็นกรรมเป็นเวรได้ทั้งนั้น มันเป็นของมีอยู่ในโลก ทําไม่หมดสักที ที่จะหมดได้ก็เพราะเราทําดิบทําดีแล้วมันจึงค่อยพ้นเสียจากกรรมอันนั้น พระพุทธเจ้าทรงเทศนา ให้ละบาปละบุญ แล้วจึงเข้าถึงพระนิพพาน เมื่อมันยังมีบาปมีบุญอยู่ ยังไม่ถึงพระนิพพาน จึงว่าเราเกิดขึ้นมาต้องทํากรรมทั้งชั่วและดี ทําดีเรียกว่า กรรมดี ทําชั่วเรียกว่า กรรมชั่ว กรรมดีนั้นเบาบางลงไปไม่หนักหนา กรรมชั่วนั้นเป็นอันหนักที่สุด เมื่อเรารู้จักกรรมดีและกรรมชั่วแล้ว เราละกรรมดีกรรมชั่ว แล้วหมดเรื่องกัน

ถ้าหากความทุกข์ไม่ถึงที่สุด คนเราไม่พิจารณาเรื่องของตัวเราหรอก เพราะมันเป็นทุกข์ในตัวของเรา มีอยู่ตลอดเวลา เห็นได้บ้างทีละเล็กละน้อย ครั้นทุกข์ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีที่พึ่งแล้วคราวนี้ สมมติว่าจวนจะตายเต็มทีแล้วจะพึ่งอะไร? พึ่งที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องพึ่งสติควบคุมจิตอันเดียว ที่เราเคยควบคุมมาแล้ว

ครั้นสติควบคุมจิตไว้ไม่ให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์ ไม่ให้หวั่นไหวไปตามทุกขเวทนาไม่ส่งส่ายไปตามอารมณ์ ไม่ส่งส่ายไปตามเวทนา มันก็หมดเรื่อง นั่นแหละถึงที่สุด ความตายเป็นเครื่องพิจารณาถึงที่สุดแล้ว ให้พิจารณาความตายจึงจะพ้นจากทุกข์ได้

เราเป็นผู้มีสติระมัดระวังสังวรไม่ให้คิดชั่ว ไม่ให้คิดผิด ไม่ให้ส่งส่าย ตั้งใจระมัดระวังจิตใจของเราอยู่เป็นปรกติ อันนั้นจึงค่อยพ้นภัยอันตราย

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 19. ป่าของพระโยคาวจร]