17. ให้พิจารณาเนืองๆ

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ควรตั้งอกตั้งใจกระทำข้อวัตรทำเพื่อบุญกุศล…มีบุญอะไรบ้างที่จะเฉลี่ยเจือจานให้เขา มีบุญอะไรบ้างที่จะเผื่อแผ่ให้เขา ไม่เพียงแต่ฉันอาหารของเขาเฉยๆ

๑๗. ให้พิจารณาเนืองๆ
วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗

วันนี้จะสอนให้พิจารณาเนืองๆ พิจารณาถึงความตายทุกวัน ชีวิตของเราเกิดมามีความตายเป็นที่สุด ท่านว่าให้พิจารณาอยู่ทุกวัน เดี๋ยวมันจะประมาท ต้องให้พิจารณาถึงความตาย ความเป็นอยู่เช่นนี้มันมีเรื่องหลายอย่างหลายประการ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดี ที่เป็นอยู่มาแล้วก็ดี ที่จะเป็นต่อไปก็ดี มันมีเครื่องประกอบหลายอย่าง เรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาทั้งนั้น ท่านไม่ให้อยู่เฉยๆ ให้เห็นคุณเห็นโทษประโยชน์ในสิ่งที่เราใช้สอยเราอยู่เรากิน

ในชีวิตของเราที่หมดไปวันหนึ่งๆ ต้องมีเครื่องประกอบหลายอย่าง เช่น การนุ่งการห่ม เรียกว่าใช้สอยผ้าครอง ถ้าหากว่าไม่มีเครื่องนุ่งห่มอาศัย ก็เปลือยกายอยู่ไม่ได้ ก็เป็นที่อับอาย ขายขี้หน้า ความเป็นอยู่ของมนุษย์ของเรามันต้องเป็นอย่างนั้น ท่านให้พิจารณาทุกวัน เรียกว่า อาศัยมันเท่านั้น อย่าอาศัยเปล่าๆ ให้คิดถึงคุณค่าของมัน ให้คิดถึงประโยชน์ของมัน

ในทางพุทธศาสนาท่านสอนให้คิดให้เห็นประโยชน์ว่าเพื่อปกปิดร่างกาย บรรเทาร่างกาย จากความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ท่านให้คิดเมื่อเรานุ่งเราห่ม ท่านให้พิจารณาตลอดเวลา พิจารณาเห็นว่าเรานุ่งห่มเราห่มไปหน่อย มันก็เป็นอสุภะปฏิกูลเปื่อยเน่าไปตามสภาพของมัน เราพิจารณาอย่างนี้ตลอดเวลา ประมาทไม่ได้นะ ครั้นเราประมาท เราก็เลยลืมเสีย เราไม่เห็นคุณค่าประโยชน์ของนั้น ก็ใช้ไปเรื่อยๆ อันนั้นผมก็เคยเทศน์แล้ว มันเป็นหนี้เป็นสินของเขา เป็นหนี้เพราะเหตุไม่ได้พิจารณา หากพิจารณาเห็นชัดในใจของตนแล้วเห็นประโยชน์ คือคุณค่าของมันชัดเจนด้วยตนเอง นั่นล่ะจึงจะเกิดสลดสังเวช คนเกิดขึ้นมาแล้วต้องอาศัยสิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ มันอยู่เฉยๆไม่ได้ สิ่งทั้งปวงนี้ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน มันมากมายหลายเรื่องยุ่งเหยิง

อีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะก็คือ อาหาร ที่รับประทานที่เราฉันลงไป สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายอยู่ด้วยอาหาร มนุษย์มีอาหารมากมายของหวานของคาว วัวควายก็อยู่ด้วยหญ้าเป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่มีอาหารก็อยู่ไม่ได้ แต่ว่าอาหารนั้นมันเป็นของเป็นโทษก็มี เป็นคุณก็มี การเป็นโทษของอาหารนั้น คือ ฉันแล้วมันอยากฉันอยู่ตลอดเวลา ได้ฉันของดิบของดีมันเกิดความอยาก เรียกว่า ตัณหา อันนั้นเรื่องความอยากอย่างเดียว ไม่คิดถึงคุณไม่คิดถึงโทษ ฉันด้วยความอยาก พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า ฉันพอเป็นยาปนมัต ปนมัต คือมันมัดไว้นั่นเอง ไม่ให้มันแตกสลาย ฉันเพื่อไปเยียวยารักษาร่างกายนี้ ที่ว่าฉันเพื่อเยียวยารักษามันนั้น จะเห็นได้ในเมื่อเราเจ็บไข้ไม่สบาย อาหารไม่ใช่ยาแต่จำเป็นต้องฉัน เพื่อรักษาสุขภาพไว้ อันนี้แหละฉันเพื่อสุขภาพจริงๆ ให้มันเป็นอย่างนั้นแหละ การที่เราฉันอาหารมัน จึงจะไม่มีโทษ พอเป็นยาปนมัตเท่านั้น

อาหาร ที่เราฉันนั้นไม่ใช่ของง่ายๆ ไม่เหมือนผ้าผ่อน ผ้าผ่อนเราทำครั้งเดียวแล้วก็เสร็จ อาหารนี่ฉันลงไปทุกวัน ใช้ทุกวันทำทุกวัน คนที่ทำอาหารถวายพระ งานการของเขามากมาย ตั้งแต่ซื้อมา ตั้งแต่จัดแจงทำปรุงแต่งประกอบต่างๆ มากมายหลายเรื่อง เราที่ฉันอยู่เฉยๆน่ะ ไม่รู้เรื่องหรอก คนทำครัวด้วยกันจึงจะรู้ ทำอาหารไม่ใช่ของง่าย ผมเคยทำแล้ว ทำตั้งแต่ยังเป็นเณรโน่น แท้จริงไม่ใช่ของเล่นๆ ต้องเอาใจใส่จริงๆจังๆ พระเณรมากๆอย่างนี้ยิ่งแล้วกันใหญ่ ต้องทำอาหารเสียจนเย็นจนมืด ตั้งสามทุ่มสี่ทุ่มจึงแล้วเสร็จ ตอนช้าก็ต้องตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตีสามตีสี่ทำจนสว่างไม่ใช่ว่างๆเลย วันแล้ววันเล่า พระฉัน เรารับประทานแล้ว ยังต้องไปชำระสะสางล้างดูกันจนทั่วอีก ล้างกว่าจะเสร็จบางทีจนต้องเที่ยงวัน จึงได้กลับบ้าน อาหาร มันยุ่งมากทีเดียวเป็นภาระใหญ่โต เมื่อเราคิดถึงคุณค่าของอันนี้แล้ว แหม! มันไม่น่าอยากจะฉันเลย เป็นภาระมากมายจริงๆ

เหตุนั้น เมื่อเราฉัน จงคิดถึงคุณค่าของอาหาร และคิดถึงโทษของมัน มันเป็นธาตุเพื่อยังชีวิตให้เป็นไป ชีวิตอันนี้เป็นของเลี้ยงยากจริงๆ ต้องอาศัยช่วยเหลือทุกด้านทุกทาง ต้องทะนุถนอม มันจึงค่อยเป็นไปได้ เมื่อทะนุถนอมให้เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นแต่วันนี้วันเดียว ตั้งหลายสิบปี ก็เป็นอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะตาย บางทีสี่-ห้าสิบปี, หกสิบปีเจ็ดสิบปี จึงค่อยตาย เมื่อคิดเห็นค่าเห็นคุณของอาหารเหล่านี้แล้ว ควรตั้งอกตั้งใจกระทำข้อวัตรทำเพื่อบุญกุศล บุญอะไรเกิดขึ้นจากเขา? บุญอะไรเกิดขึ้นจากเรา? ความมุ่งหมายกองบุญกองกุศลของเรา มีบุญอะไรบ้างที่จะเฉลี่ยเจือจานให้เขา มีบุญอะไรบ้างที่จะเผื่อแผ่ให้เขา ไม่เพียงแต่ฉันอาหารของเขาเฉยๆ คิดถึงแต่ของตนของตัวมันก็ใช้ไม่ได้ที่จะใช้ได้ก็ต้องพิจารณาเห็นคุณค่าของอาหารว่า ฉันเพื่อประโยชน์ของร่างกายยังสุขภาพให้เป็นไป ไม่ใช่เพื่อมึนเมา ไม่ฉันเพื่อหลงใหล ไม่ฉัน เพื่อประเทืองร่างกายให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ฉันพอจะยังให้ชีวิตเป็นไปเท่านั้น อาหารที่เราฉันลงไป นั้นไม่ใช่ของดิบของดี เป็นของปฏิกูลเปื่อยเน่า ปฏิกูลตั้งต้นตั้งแต่ที่ปากเคี้ยว แล้วก็กลืนลงไป เป็นอสุภะตั้งแต่นี้ลงไป ถ้าหากว่าไม่เชื่อคายออกมาดูซิ ว่าเป็นของสกปรกโสมมไหม แต่ก็จำเป็นต้องกล้ำกลืนให้ไปเลี้ยงร่างกาย

เมื่อถ่ายออกมานั้น ก็เห็นชัด เป็นมูตรเป็นคูถออกมา แต่ความจำเป็นต้องการอยากจะให้ชีวิตเป็นไป อยากจะได้ทะนุถนอม เพื่อจะได้ฝึกหัดปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เพื่อจะได้รักษา พุทธศาสนาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์เท่านั้นแหละ ไม่ใช่เพื่ออื่นไกลอะไรหรอก อันนี้แหละเรื่องประกอบกายของเรา มีหลายเรื่องหลายอย่าง อย่างนี้

นอกจากนั้นอีกเรื่อง เสนาสนะ ค่อยยังชั่วหน่อย เสนาสนะ ก็ได้ทำทิ้งไว้ให้แล้ว เครื่องนุ่ง เครื่องห่ม เสนาสนะที่ต้องอาศัยมีพร้อมแล้ว เครื่องอาศัยเครื่องนุ่งห่มป้องกันอันตรายมีพร้อม ป้องกันแมลงสัตว์ต่างๆ อันนั้นก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ของดิบของดีหรอก เราเห็นว่าเป็นของดีก็เลยลืมเสีย สนุกสนานไม่คิดถึงเหตุถึงผล ความจริงมันพียงแต่ช่วยปกปิดร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดความละอาย ไม่ให้มีเลือดลิ้นเหลือบยุงมารบกวน เมื่อได้ความสุขสบายดีแล้ว ควรที่จะรีบเร่ง ทำความเพียรภาวนา ให้สมคุณค่าที่เขาทำให้เราแล้ว

หยูกยา ก็อีกนั่นแหละ ที่เรารับประทานเข้าไปทุกวันเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย เราจะต้องอาศัยยามาบำบัดรักษาโรคให้ค่อยส่างไปหายไป ถ้าหากไม่มียารักษาแล้ว เราจะต้านทาน อาพาธบำบัดร่างกายของตน ด้วยธรรมโอสถอย่างไรได้ เรายังอ่อนแอยังไม่สามารถที่จะผจญได้ เหตุนั้น ยาจึงเป็นเครื่องได้อาศัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะนำความสุขให้แก่ตน

ร่างกายของเรามี ๓-๔ อย่างนี่แหละ ที่ทะนุถนอมบำรุงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นตัวอยู่ได้วันหนึ่งๆ ให้คิดถึงความตายอยู่เสมอ เรารักษาความตายไม่ให้มันตายง่าย คนแก่คนเฒ่าก็ไม่ให้มันตายง่าย ทะนุถนอมบำรุงเอาไว้ด้วยประการทั้ง ๔ อย่างนี้ แต่ว่ายากที่สุด อันที่เรารักษามันให้อยู่กับเรา มันอยู่ได้ยากแสนยาก เราจึงค่อยทะนุถนอมเลี้ยงดูด้วยประการต่างๆ ธรรมชาติของมนุษย์เราเกิดขึ้นมามันเป็นอย่างนี้ ทุกข์อย่างนี้ มันเดือดร้อนอยู่อย่างนี้

แต่ละอย่างๆ สี่อย่างที่อธิบายมานั้น ให้พิจารณาเข้าถึงตัวเข้าถึงจิตใจมันก็รวมลงไปได้เหมือนกัน แต่ละอย่างถ้าเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว จิตรวมลงไปได้ นั่นแหละ พ้นจากหนี้ ถ้า รวมถึงจิตถึงใจได้พ้นจากเป็นหนี้เป็นสิน ถ้ารวมจิตรวมใจไม่ลงถึงที่นั้นยังไม่เข้าถึงที่นั้น ยังเป็นหนี้เป็นสินอยู่ ก็ต้องพยายามต่อไป

ถ้าหากว่าไม่พิจารณาถึงเรื่องเล่านี้ วันหนึ่งๆข้ามไปเปล่า เสียดาย นอกจากข้ามไปเปล่าๆ ยังเสียดายหมดอายุไปแล้วด้วย ยังเป็นเครื่องรำคาญอีก ไม่ทราบทำอะไรอยู่ วันหนึ่งๆ ตั้ง ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีอะไรเป็นเครื่องอยู่ วันเลยหมดไปๆ นานหนักเข้าก็รำคาญอยู่ยาก ไม่ทราบจะไปอยู่ไหน อยู่เป็นพระเป็นเจ้าก็รำคาญ เป็นฆราวาสก็รำคาญ ไปอยู่ไหนก็รำคาญ แต่ฆราวาสยังดีอยู่ เขามีเครื่องหวังมีความหวังคือหวังสิ่งที่เขาต้องการ นั่นก็ค่อยยังชั่วอยู่ ค่อยอยู่ได้ แต่เป็นพระของเรานี่หวังธรรมะธัมโมก็ไม่เห็นปรากฏขึ้น ไม่ปรากฏด้วยใจ ไม่ปรากฏด้วยตา ด้วยสายตาของตน

เหตุนั้น ผู้ที่อยู่ในพุทธศาสนาแล้วนั้น ต้องรีบเร่งประกอบความเพียร ให้มีหลักฐานประจำใจ ให้มันเห็น ที่ได้อยู่ตลอดเวลา ทำความเพียรภาวนาเมื่อใด ก็ให้มันเห็นที่เกิดที่ได้อยู่เสมอ นั่นแหละจึงจะอยู่ได้ตลอด ครั้นเห็นที่ได้ที่เกิดนี่แล้ว วันหนึ่งเดี๋ยวเดียวเท่านั้นหมดไป

ชีวิตของเราเกิดมา มีความตายเป็นที่สุด ท่านว่าให้พิจารณาอยู่ทุกวัน ประเดี๋ยวมันจะประมาท ต้องให้พิจารณาถึงความตาย

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 17. ให้พิจารณาเนืองๆ]