16. วิธีชำระจิต
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ให้พยายามรักษาใจให้ได้เสียก่อน ตั้งมั่นอยู่ที่ใจเสียก่อน แล้วค่อยพยายามดูเรื่องของจิต ที่มันออกไปนิดๆ หน่อยๆ ไปสู่อารมณ์ต่างๆ เป็นเรื่องของจิต จิตกับใจเป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
๑๖. วิธีชำระจิต
วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗
พึงตั้งใจให้มั่น คำว่า “ตั้งใจมั่น” กับ “ตั้งจิตมั่น” มันต่างกัน จิตน่ะมันต้องหวั่นไหว เป็นธรรมดา ใจมันต้องมั่นคง จิตมันหวั่นไหวใจไม่หวั่นไหว ครั้นถ้าเข้าถึงใจไม่หวั่นไหว อารมณ์ทั้งปวงหมดมันกระทบเข้ามาทุกสิ่งทุกประการสิ่งแวดล้อมน่ะมันทำให้จิตหวั่นไหวอยู่ ตลอดเวลา มันจึงกระเทือนไม่เห็นตัวใจ
ให้พยายามรักษาใจให้ได้เสียก่อน ตั้งมั่นอยู่ที่ใจเสียก่อน แล้วค่อยพยายามดูเรื่องของจิต ที่มันออกไปนิดๆ หน่อยๆ ไปสู่อารมณ์ต่างๆ เป็นเรื่องของจิต จิตกับใจเป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เมื่อเราจะระงับอารมณ์อะไรก็ตาม อารมณ์มันเกิดขึ้นนั่น มันมาจากของภายนอก มันเกิดมาจากภายนอกแล้วมากระทบจิต ให้จิตนั้นหวั่นไหว ถ้าหากเรากำหนดถึงใจแล้ว ไม่มีอะไรหรอก รู้เท่า รู้เรื่อง มันก็สงบอยู่ ความสงบนั้นให้รักษาให้มาก เราพยายามที่สุด
ถ้าคนที่ภาวนาเมื่อตนสงบดีแล้ว บางคนจะอาจหาญกล้าหาญเด็ดเดี่ยวว่าถึงมรรคผล นิพพาน จิตเห็นสิ่งทั้งปวงหมดลงสภาพตามเป็นจริง ไม่หวั่นไหวแล้วเวลานี้ เห็นสิ่งทั้งปวง หมดเป็นสภาพอยู่อย่างนั้น คือใจมันตั้งมั่นอยู่ต่างหาก เลยเข้าใจว่าตนนั้นดีแล้ว พอแล้วไม่มี หวั่นไหวแล้ว ยังอยู่ก่อน ผู้ใดว่าตนไม่หวั่นไหวแล้ว ผู้นั้นละจะต้องหวั่นไหว ผู้ใดว่าใจตนดี แล้วนั้น ผู้นั้นจะต้องไม่ดี มันมีวันหนึ่งข้างหน้า อารมณ์มันไม่ได้บอกใคร มันมากระทบเข้า โดยที่ไม่รู้ตัว มันออกไปเป็นจิตแล้ว จึงค่อยรู้ตัว เมื่อเป็นจิตแล้ว คราวนี้หาที่ยึดไม่ได้ ไปเคว้งคว้างหมด ด้วยใจไม่ตั้งมั่น ใจตั้งมั่นแล้วมันไม่ไป สิ่งที่มันไปนั่นมันเป็นเรื่องของจิต ถ้าใจตั้งมั่นแล้วมันไม่กังวลเกี่ยวข้องทั้งหมด
เหตุนั้นจงรักษาใจให้มากๆ จะทำอะไรคิดนึกอะไรต่างๆ ทุกอย่างทุกประการ มันต้องจิต ให้รู้รอบรู้เรื่องของจิต บางทีเรารู้รอบรู้เรื่องแล้ว แต่เวลากระทบเข้ามามันไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้มัน ถึงค่อยไปตามวิสัยของจิต ถ้าหากรู้เรื่องรู้รอบหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ใจมันก็ตั้งมั่นอยู่คงที่ มันไม่หวั่นไหวไปตาม ฝึกหัดให้มันชำนิชำนาญ ไม่ต้องพิจารณาอะไรอื่นไกลนอกจากนี้แล้ว พิจารณาเรื่อง “จิต” กับ “ใจ” แล้ว ก็แล้วกัน
เรื่องต่างๆ ปลีกย่อย เล็กๆ น้อยๆ นั้นมันอีกอย่างหนึ่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก มันเกิดขึ้นมานั้นของเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ก็จะต้องพิจารณาอีก อันที่จะให้รู้เรื่องนั้นมันมีอีกอย่างหนึ่ง เช่น อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมา มันเกิดจากจิต มันเกิดที่จิต อารมณ์อะไรเกิด ก็เกิดที่จิต อารมณ์นั้นควร หรือไม่ควร ควรที่ชำระหรือควรปล่อยไว้ อันควรที่ชำระนั่นคือ กิเลส อันเป็นเหตุให้วุ่นวายเดือดร้อนมันถึงควรชำระ คือตั้งใจไว้ให้ตรงแล้วมันก็ชำระกิเลส จิตมันก็หายไป
ครั้นเมื่อชำระคราวนี้หายไปแล้ว อันนั้นยังไม่เพียงพอก่อน มันต้องไปชำระที่จิต เรื่องจิตมันคิดส่งส่ายในอารมณ์ต่างๆ เช่นว่าความโกรธเกิดขึ้น มานะทิฏฐิเกิดขึ้น มันเกิดที่จิตมันไม่ เกิดที่ใจ ใจมันไม่มีอะไรหรอก มันเฉย วางเฉยอยู่ปกติ มันเป็นใจ ทิฏฐินั้นเกิดขึ้นมาจากจิต นั่นมานะก็เกิดมาจากจิตนั่น ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เกิดขึ้นมาจากจิตนั่น ความน้อยอกน้อยใจ ดีอกดีใจก็เกิดขึ้นมาจากจิตนั่น นั่นละอันที่จะต้องรู้เรื่องรู้เท่า มันเกิดจากเหตุใด มันจึงค่อยเกิดความโทสะ ตามรู้เรื่องรู้เท่าของมัน พิจารณาให้มันรู้เท่ารู้เรื่อง จนกระทั่งมันหมดขอบเขตหมดเรื่องราวของมันแล้ว มันจะสงบลงไป แล้วเข้ามาที่ใจ อันนั้นพักหนึ่ง ให้มันอยู่ขั้นหนึ่งเสียก่อน
มานะ คือความกระด้างถือตัว ทิฏฐิ คือความเห็น มันเกิดขึ้นมานั่น มันมีอะไรอยู่ มานะทิฏฐิเข้าตัวแล้วไม่เห็นทั่วไป ถ้าเห็นเข้าตัวแล้วมันแข็ง ถ้าเห็นทั่วไปแล้วมันไม่แข็ง คือ เห็นสภาพของทุกคนว่า เป็นอยู่อย่างนั้นทั่วไปหมด เราเขาเหมือนกันทั้งนั้น การประพฤติปฏิบัติการเป็นอยู่ มันต้องเป็นไปด้วยกันทั้งหมด ทิฏฐิมานะ อันนั้นมีอยู่ทั่วไปหมด เพราะห้ามปรามไม่ได้ เราจะสงบจิต คือเข้าถึงใจ อันนั้นน่ะรู้เรื่อง รู้เรื่องคราวหนึ่งละ คราวหลังมันเกิดขึ้นมาอีกก็ของเก่านั่นละ มันต้องพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ มันไม่รู้แล้วรู้รอดไปสักที ท่านจึงว่า ภาวิโต พหุลีกโต ทำให้มาก เจริญให้ยิ่ง ซ้ำๆ ซากๆ อยู่ไม่แล้วสักที
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มรรคผล นิพพาน ถึงสูงสุดแล้วเรียกว่าพิจารณารอบคอบ รอบรู้หมดทุกอย่าง เวลาไปอยู่สงบมีนางราคา นางตัณหา นางอรดี เข้ามายั่วยวน ลองดูกิเลส ท่านทรงรู้แล้วทำไมถึงมายั่วยวนได้อีก ท่านทรงมีพระปัญญาฉลาดเฉียบแหลม ท่านจึงทรงพิจารณาชำระลงไปจน นางราคา นางตัณหา นางอรดี เฒ่าแก่ชราชำรุดทรุดโทรมหายไปเลย พวกเรายังไม่ทันพอ จึงว่าครั้นผู้ใดเข้าใจว่าตนพอแล้ว นั่นยังไม่พอ ผู้ใดเข้าใจว่าตนดีแล้ว นั่น ยังไม่ทันดี ถ้าหากเข้าใจว่าดีแล้ว คนนั้นเรียกว่ามานะเกิดขึ้นแล้ว อย่างพระสารีบุตรเทศน์ให้ พระโมคคัลลานะ ท่านบอกว่า ท่านถือว่าท่านมีฤทธิ์เดชมีปฏิหาริย์ อันนั้นเรียกว่า มานะ คือเกิดบรรลุวิเศษวิโส ครั้นท่านถือว่ารู้รอบหมดทุกสิ่งทุกอย่างอันนั้นคือ ทิฏฐิ ท่านจงละทิฏฐิ มานะนั้นเสีย แล้วจะอยู่เป็นสุข ลองดู
ท่านวิเศษวิโสถึงขนาดนั้น มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีอำนาจปาฏิหาริย์เหาะเหินเดินอากาศได้ ดำดินบินบนได้ ก็เป็นจริงอย่างนั้น ท่านเป็นจริงอย่างนั้นจริงๆ แต่หากว่าถืออันนั้นแล้ว มัน เป็น มานะ เป็น ทิฏฐิ ในตัว ละทิฏฐิมานะนั้นแล้วนั่นละจะอยู่เย็นเป็นสุข
การที่ละทิฏฐิมานะ ไม่มีอะไรต่างๆ ใจมันเฉยไม่มีอะไรนั่น ให้เข้าถึงสภาพอันเป็นจริง ของเฉย ความเฉยนั้นมันเฉยได้จริงอยู่นานไหม? ใจนั้นแต่มันยังไม่ทันรอบคอบรอบรู้ จึงต้อง พิจารณาชำระที่จิตนี่แหละ ให้มันเข้าถึงใจอยู่เสมอๆ ให้ชำนิชำนาญ มันจึงค่อยคล่องแคล่ว อันนั้นเป็นความสุขของเรา
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 16. วิธีชำระจิต]