15. ภิกษุใหม่

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เราเป็นพระเป็นสงฆ์ เราต้องเห็นตัวกิเลสของตน ละกิเลสของตนให้ได้ ถอนกิเลสของตนให้มันออกหมดจากร่างกายจากตัวของเรา จึงจะเป็นพระบริสุทธิ์ เป็นพระสมบูรณ์

๑๕. ภิกษุใหม่
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

ภิกษุบวชใหม่ ให้ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการปฏิบัติ กิจในพุทธศาสนานี้มี ๒ อย่าง คือ ศึกษาเล่าเรียนอันหนึ่ง แล้วก็ปฏิบัติอีกอันหนึ่ง แต่ท่านพูดไว้เป็น ๒ นัยแยกกันออก เรียกว่า ปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติ เราก็ค่อยปฏิบัติตาม ความเป็นจริงนั้นมันไกลกัน มันคนละอันกัน ภาคปริยัติการศึกษาเล่าเรียนจนจบแล้ว กว่าที่จะได้ปฏิบัติก็ลืมหมดแล้วทางปริยัติ เหตุนั้นปริยัติปฏิบัติต้องไปคู่กัน คือ มีการศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

คำว่า “ภิกษุใหม่” ในที่นี้นั้น ผู้บวชมาตั้ง ๙ พรรษา ๑๐ พรรษาก็ตาม ถ้าไม่มีปริยัติปฏิบัติแล้ว ก็ได้ชื่อว่ายังไม่รู้ การปฏิบัตินั้นมันต้องอาศัยปริยัติ คือสมมติบัญญัติจึงค่อยพูดถูก การปริยัติ ต้องกำไว้มือหนึ่ง การปฏิบัติต้องกำไว้อีกมือหนึ่ง กำทั้งสองทาง ถ้าหากว่าปฏิบัติไปขัดข้องอะไรแล้ว เทียบปริยัติ เอาปริยัติมาเทียบเคียงดู ถ้าหากว่าปริยัติการศึกษาไป ขัดข้องอะไรแล้ว เอาปฏิบัตินั้นมาเทียบเคียง ปริยัติปฏิบัติมันต้องตรงกัน จึงค่อยเป็นธรรมวินัย จึงค่อยถูกต้องตามพุทธศาสนา

เราศึกษาเล่าเรียนเพียง ๓ เดือน ไม่ทันเข้าใจอะไรหรอก ถ้าหากไม่ปฏิบัติอย่างนี้ เวลา ๓ เดือนน่ะน้อยเกินไป เราตั้งใจปฏิบัติ ปริยัติเราก็เรียนไปด้วยกัน ถ้าหากเราตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ จังๆ มันอาจจะเข้าใจในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่าว่าแต่ ๓ เดือนเลย ๓ ปีก็ตามถึง ๒๐ ปีก็เอาเถิด ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติมันไม่เป็นไปให้ มันก็ไม่ได้ความดีๆนั่นแหละ พุทธศาสนานี้มันสลับซับซ้อนมาก เราเรียนน่ะเรียนตามหลักฐานเบื้องต้นของพุทธศาสนา

ต้องรู้จักพุทธศาสนาสอนอะไร? คือสอนถึงเรื่องตัวของเรานั่นเอง สอนให้เข้าใจถึงเรื่องความเป็นอยู่ของเรา ความเป็นอยู่ของเราในวันหนึ่งๆ ให้รู้จักให้เข้าใจ เรียกว่าชีวิตประจำวันของเรานั้น ให้รู้จักว่าวันหนึ่งๆ มีอะไรบ้าง เราทำไปไม่รู้เรื่อง มันก็ไม่เกิดความปลื้มปิติ ไม่เกิดความอิ่มใจ ไม่มีความพอใจในการที่เราทำเหตุนั้น เรามาศึกษาให้มาปฏิบัติ ให้รู้เรื่องตัวของเราอย่างตื้นๆ เราเห็นกันง่ายๆ ตื่นขึ้นมาก็รู้จักว่าเราทำกิจ

กิจเบื้องต้นคืออะไร? ล้างหน้าล้างตาทำความสะอาด แล้วก็ออกบิณฑบาต บิณฑบาตให้เสร็จแล้วก็ไปอยู่กันเฉยๆ เป็นอันว่าเสร็จ ไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องรู้จัก “บิณฑบาต” น่ะ ภาษาบ้านเมืองเขาเรียกว่า “โปรดสัตว์” เราต้อง “โปรด” ตัวเราก่อนถึงไป “โปรด” คนอื่น เราต้องสำรวมกิริยามารยาท รักษา วาจา ใจของตน พิจารณาอาหาเรปฏิกูล ไม่พูดไม่คุยกันอย่างพวกชาวหาปลา คือ ไปเอ็ดตะโร ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่สมณวิสัย เหตุนั้น เขาจึงว่าบิณฑบาตเพื่อ “โปรดสัตว์” คือ “โปรด” ตัวเราเองสงบเรียบร้อยสำรวมกาย วาจา ใจ พิจารณาอาหาเรปฏิกูลไปโดยลำดับ จนกระทั่งกลับคืนมาเช่นเดียวกัน นี่เป็นขั้นที่ ๑

กลับคืนมาก็ทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ พิจารณา ตังขณิกปัจจเวกขณะ ทำวัตร สวดมนต์นั้นก็คือ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงข้อทำวัตรปฏิบัติที่เราทำมาวันนั้น นี่ขึ้นที่ ๒

ต่อไปก็ฉันอาหาร ไปศาลาโรงฉันแล้วก็ฉันอาหาร รู้จักประมาณพอสมควร ไม่ใช่เห็นแก่ปากแก่ท้องแก่รสอาหาร เราฉันเพื่อยังชีวิตให้เป็นไป จะได้ปฏิบัติพุทธศาสนา นี่เป็นขั้นที่ ๓ แล้วก็ล้างบาตรเช็ดบาตรแล้ว เก็บบาตร เอาบาตรไปไว้ในกุฏิของตน ต่อนั้นไปก็เข้าอบรมศึกษาให้เข้าใจ ในพระวินัย พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่คือการศึกษาเล่าเรียน ขึ้นต่อไปก็มาทำความสงบในตัวของตน ท่องบ่นจดจำตำรับตำราศึกษาให้เข้าใจ อย่าไปส่งนอก ศึกษาให้ศึกษาภายใน

ตอนเย็นกิจวัตรของเราก็มีคือ ปัดกวาดทำความสะอาด แล้วก็ฉันน้ำร้อนน้ำชารักษากิจวัตร เราปฏิบัติอย่างไรก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น ให้ฉันรวมกันพร้อมกันสามัคคีกัน ให้เป็นที่น่าดูของคนอื่น ไม่ใช่ฉันปะรำปะระฉันทั่วไปหมด ใครอยู่ที่ไหนก็ฉันที่นั่น ไม่ได้ มันเป็นการแตกสามัคคี แสดงว่าพระในคณะวัดของเราไม่พร้อมเพรียงกัน ทำพร้อมเพรียงกันอย่างฉันจึงหันนั้นเป็นต้น

ต่อจากนั้นก็จะทำความเพียรภาวนาหรือ เดินจงกรมก็ได้ จะท่องบ่นสวดมนต์ก็ได้ จนกระทั่งจวนจะทำวัตรเย็น ทำวัตรแล้วระลึกถึงคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของเก่านั่นแหละ ต่อนั้นไปก็มีการนั่งสมาธิภาวนากัน เขาพากันทำทุกวัน เรื่องชีวิตประจำวันของเราให้รู้จักอย่างนี้ ชีวิตประจำวันของฆราวาสมีหลายอย่าง จะต้องรู้จักเรื่องของพระของฆราวาส เรื่องของฆราวาสไม่ใช่เรื่องของพระ เราไม่ต้องเกี่ยวข้องถึงเรื่องของฆราวาส อันนี้เป็นชีวิตประจำวัน คราวนี้เรื่องชีวิตประจำวันของเราอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นของลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก ในเมื่อเรามาอยู่ในคณะปฏิบัติเรามุ่งทางปฏิบัติมากกว่าปริยัติ ให้รู้จักการทำภาวนา

ทำภาวนาคืออย่างไร? เบื้องต้น คือทำความสงบอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ให้มันได้เสมอๆ ครั้นหากอบรมสมาธิไม่เป็น อบรมสมาธิไม่ได้ ถึงบวชพรรษามากเท่าไรก็ได้ชื่อว่าเป็น “พระใหม่” อยู่ ถ้าอบรมสมาธิได้แล้ว พรรษาหนึ่งก็ตาม เดือนหนึ่งก็ตามที่บวชเข้ามา ก็ได้ชื่อว่าเก่าพอสมควร

ทำสมาธิภาวนานั้น คือให้เห็นตัวตนเรา เห็นต้นตอของเราที่เกิดขึ้นมา กับกิเลสของเราที่เกิดขึ้นมา มันเกิดจากอะไร ต้นตอของเรานี้ เกิดขึ้นมาจากอะไรให้รู้จักตรงนี้แหละ ครั้นรู้จักกิเลสแล้วคราวนี้ เราละกิเลสเหล่านั้นแหละ เป็นสิ่งที่เราจะต้องละ การฝึกฝนอบรมมาทั้งหมด ตั้งแต่ศึกษาเล่าเรียนและฝึกหัดมา เพื่อให้เห็นตัวกิเลสเหล่านั้นแหละ เราหัดละ หัดถอน หัดทิ้ง อันนั้นเป็นขั้นที่ ๓ ของการทำภาวนา

สรุป

ขั้นที่ ๑ คือหัดให้เห็นต้นตอของความเกิดของร่างกายและกิเลส

ขั้นที่ ๒ เห็นตัวกิเลส ว่าอะไรเป็นตัวกิเลส มันอยู่ที่ไหนกัน

ขั้นที่ ๓ หัดชำระ ถอนได้

ให้รู้จักอย่างนี้ รู้จักกิเลส แต่ไม่รู้จักการละและการถอน รู้จักการละการถอนแต่ว่าถอนไม่ได้ มันก็ไม่เกิดปัญญาอุบายอะไร หัดทุกวัน ไม่ใช่หัดอื่นไกลหัดตรงนี้เอง บวชเข้ามาในพุทธศาสนา ศึกษาธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ศึกษาเพื่อให้เข้าใจอันนี้ หัดชำระหัดถอนอันนี้แหละ

เราเป็นพระเป็นสงฆ์ เราต้องเห็นตัวกิเลสของตน ละกิเลสของตนให้ได้ ถอนกิเลสของตนให้มันออกหมดจากร่างกายจากตัวของเรา จึงจะเป็นพระบริสุทธิ์ เป็นพระสมบูรณ์ ไม่ใช่พระแต่นุ่งเหลืองเฉยๆ พระสมบูรณ์ต้องถอนกิเลสของตนออกจากใจ อันนั้นจึงจะเรียกว่า พระสมบูรณ์

ทุกๆ คนปฏิบัติก็เพื่ออันเดียวกันนี้ บวชได้หลายปีก็ตาม บวชได้เดือนสองเดือนก็ตาม บวชวันหนึ่งก็ช่าง ต้องการอันนี้ ครั้นถ้าไม่เห็นกิเลส ไม่มีการละการถอน ไม่มีการทิ้ง ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร ให้รู้จักอย่างนี้ จึงจะอยู่ได้ด้วยความสงบเยือกเย็น อยู่ได้ด้วยความเป็นพระสมบูรณ์บริบูรณ์ บวชมาอยู่นานก็ได้อยู่หลายๆปีก็อยู่ได้ อยู่ได้นานเท่าไรก็อยู่ได้ ด้วยการชำระตนอย่างนั้นอยู่เสมอๆ

กิจของพระต้องมีการชำระตลอดเวลา อันนี้แหละ ถ้าจะอยู่ได้นานมันต้องอยู่ได้ด้วยอาการอันนี้ ครั้นถ้าไม่อย่างนั้นอึดอัดใจ ไม่เห็นกิเลสของตน วุ่นหมด ไม่ชำระกิเลสของตนก็เดือดร้อนวุ่นวาย อยู่อย่างอดทนอยู่ไปเฉยๆ ไม่มีความสุขสบาย บวชก็ไม่ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์สมบูรณ์

…พุทธศาสนาสอนอะไร? …กิจเบื้องต้นคืออะไร? …ทำภาวนาคืออย่างไร?

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 15. ภิกษุใหม่]