14. พระวินัย

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระ คือ “พระวินัย” ถ้าขาดตกบกพร่องเรื่องพระวินัยแล้ว เรียกว่า “ไม่สมบูรณ์”

๑๔. พระวินัย
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

พูดถึงเรื่อง “พระวินัย” เสียก่อน เราบวชมาต้องถือพระวินัยเป็นใหญ่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระคือ พระวินัย ถ้าขาดตกพกพร่องเรื่องพระวินัยแล้วก็เรียกว่า ไม่สมบูรณ์

ในเรื่อง “พระวินัย” นั้นจำเป็นที่สุดจะต้องปฏิบัติเป็นเบื้องต้น ถึงหากว่าจิตยังไม่ทันเป็นพระวินัย ก็ต้องระมัดระวังต้องตั้งใจอบรมสั่งสอนตนถึงเรื่องเหล่านี้แหละ

แต่เมื่อก่อนท่านสำเร็จมรรคผลนิพพานแล้ว พระวินัยก็ไม่มากมาย แต่ข้าวเย็นก็ยังฉันกันอยู่ สมัยนั้นบิณฑบาตกลางคืนเสียอีก แต่เหตุที่ไม่เหมาะไม่ควรพระพุทธเจ้าจึงทรงห้ามปราม บางองค์ก็ยังเสียดายกินข้าวเย็น บอกว่าตอนเย็นนั้นอาหารอร่อย เขาชอบทำกันตอนเย็น อย่างนี้เป็นต้น แต่มาสมัยเดี๋ยวนี้พระวินัยมีมากขึ้น ด้วยเหตุพระประพฤติปฏิบัติเหลวไหล แล้วก็ไม่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานด้วย ของทั้งหลายเหล่านั้นพระองค์จึงค่อยทรงห้าม

พระวินัย นี้เป็นของเบื้องต้น ถ้าพระวินัยเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็นิยมนับถือ พุทธศาสนาก็จะได้ถาวรต่อไป อย่างเราก็ได้ยินกันอยู่ ใครก็พูดเป็นส่วนมาก พระไปเมืองนอกไปอเมริกาเหลวไหลหมด ใครไปก็เหลวไหลเกือบแทบทุกองค์ไปไม่ว่าธรรมยุต ไม่ว่ามหานิกาย ไปห่างเหินไกลครูบาอาจารย์ไกลผู้หลักผู้ใหญ่ทำตามอัตโนมัติของตน นั่นแสดงว่าเอาศาสนาไปหากิน นุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วก็เขาเข้าใจว่าเป็นพระ ก็ทำบุญทำทานเรื่อยไป จึงว่าเอาศาสนาไปหากิน ในประเทศไทยก็เหมือนกัน บางองค์บางคณะ ก็เอาศาสนาหากินเหมือนกัน ในผลที่สุดพระวินัยไม่มีเลย อย่างท่านเทศนาไว้ ท่านว่าศาสนาเสื่อมตั้งแต่ พระปรมัตถ์เสื่อมลงมาพระสูตร จนมาพระวินัย

พระปรมัตถ์ เสื่อมก็คือว่า มรรคผลนิพพานเสื่อมลงโดยลำดับ พระอรหันต์ อนาคามี สกิทาคามี เสื่อมมาถึงพระโสดาบัน ยังเหลือแต่ปุถุชน นั่นเรียกว่าศาสนาเสื่อม พระปรมัตถ์เสื่อม

พระสูตร ก็เสื่อมมาโดยลำดับ ที่พระสูตรเสื่อมนั้น เช่นจะได้เห็นถึงเรื่องพระเวสสันดรชาดก ต่างก็เอาไปแปรเป็นต่างๆกัน เทศน์แหล่ เทศน์ไหลไปต่างๆ ผิดแผกจากความเป็นจริง ผิดแผกจากธรรมวินัย อันเป็นเรื่องหากิน

พระวินัยเสื่อม นั้น ตั้งแต่ทุกกฎ ทุพภาสิต ปาจิตตีย์ นิสสัคคีย์ มาจนกระทั่งถึงสังฑาทิเสส ยังเหลือแต่ปาราชิก

เพศเสื่อม คือปาราชิก ๔ ก็เสื่อมหมดแล้ว ในผลที่สุด ก็พระทำมาหากินด้วยตนเอง นั่นแสดงว่าญาติโยมเขาไม่นิยมนับถือ ไม่สงเคราะห์อาหารต่างๆ ทำมาหากินด้วยตนเอง ทำไร่ไถนากิน ปลูกมันกิน ในผลที่สุดไม่เหลือแล้ว คราวนี้เรียกว่า เพศเสื่อม ตอนต้นธรรมวินัยเสื่อม มาตอนหลังเรียกว่า เพศเสื่อม ปาราชิกสังฑาทิเสสเสื่อมหมด ผ้าผ่อนจีวรทั้งหลายเลยไม่ถือสา ยังเหลือแต่ผ้าผู้ข้อมือ ผ้าเหลืองผูกข้อมือใช้เป็นเครื่องหมายว่าเป็นพระ มันเสื่อมไปอย่างนี้ การเสื่อมเพราะไม่พากันรักษา

เหตุนั้น จึงต้องพากันรักษาเรื่องพระวินัย เราบวชเข้ามาแล้วได้ชื่อว่าสละทุกสิ่งทุกประการจึงค่อยมาบวช ตลอดถึงเงินทองก็ไม่ต้องจับไม่ต้องใช้ ถ้าใช้เราก็ใช้ไวยาวัจกรใช้แทน ต้องการของที่จำเป็นเครื่องปัจจัยชาติทั้ง ๔ จีวร บาตร เสนาสนะ คิลานเภสัช เราไม่ต้องการเงิน ตอนนี้พูดยากอยู่หน่อย คำว่า “ต้องการของ” ที่ต้องการของนั้น เขาว่าต้องการของก็ต้องการเงินน่ะซี เขาว่าอย่างนั้น เงินกับของนั้นต่างกัน ผู้ที่ปฏิบัติแล้วจึงค่อยรู้เรื่องเข้าใจดี เราไม่ต้องการเงิน ให้เงินนั้นเป็นของละอายน่ากลัว แต่เราต้องการของต่างหาก เวลาต้องการของกระทั่งเราไปซื้อเองก็ไม่ได้อีก ให้เขาซื้อ ต่อราคาก็ไม่ได้อีก แล้วแต่เขาจะให้ราคาเท่าไรก็เอาเถอะ

เราเป็นพระควรรักษาเรื่องของพระไว้ ไม่ควรยกโทษดูถูก อาหารการกินทุกอย่างที่เขาให้มาอย่างไร ก็ฉันอย่างนั้นไม่ต้องเลือก เลือกอาหารการกินอย่างไร? ก็เลือกอะไรที่ชอบ ที่ไม่ชอบใจไม่ถูกใจเลยไม่ฉันของเขาซ้ำ ผ้าผ่อนเข้าของที่เขาให้ไม่ดี เลยไปซื้อเองดีกว่า อะไรต่างๆ เรื่องเสนาสนะ เขาปลูกกุฏิขึ้นมาให้อยู่ ก็ไม่เอาไม่ชอบใจ ปลูกเองดีกว่า หยูกยาที่เขาให้ก็ไม่เอา ต้องหาซื้อด้วยตนเอง เป็นเหตุให้ฆราวาสเขาเห็นได้ง่าย เรื่องรังเกียจของเห็นได้ง่ายที่สุด ครั้นใจเรารังเกียจแล้ว ถึงไม่พูด เขาก็เห็นได้ง่าย เขาให้ไม่ฉัน หรือฉันก็ฉันน้อย อันนี้แสดงว่ารังเกียจแล้วนั่นน่ะ ภิกษุเราไม่ควรทำ ท่านปรับอาบัติทุกกฎ ทำไทยทานของเขาให้เสื่อม เว้นเสียแต่ว่า อาหารบางอย่างบางชนิด กินเข้าไปแล้วมันเป็นโทษเป็นอันตรายแก่สุขภาพของเรา อันนั้นจะงดเว้นก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ

เราบวชมาแล้ว ต้องยอมสละทุกอย่าง จึงจะเป็นพระสมบูรณ์บริบูรณ์ ยิ่งมาปฏิบัติด้วยแล้วเลือกที่รักมักที่ชัง รังเกียจที่ไม่ควรรังเกียจบางอย่างบางประการนั้นๆ อันนั้นเขายกโทษดูถูก มักง่ายนัก เขายกโทษดูถูกง่ายที่สุดนั่น พระปฏิบัติ ให้อาหารแล้วไม่ฉัน ให้ผ้าผ่อนไม่เอา ไม่ดีไม่ชอบใจ หาเลือกเอาอย่างนั้น กิเลสยังมีอยู่พระองค์นั้น มันไปอย่างนั้นละซี พอพูดถึง “กิเลส” มันน่าฟังเหมือนกัน มันมีกิเลสจริงๆ ถ้าเราเลือกเราคอยฉันแต่ของดีๆ คอยรับแต่ของดีๆทั้งนั้น มันเป็นกิเลสอยู่ดีๆ นั่นเอง ทีหลังเขาก็เลยหาว่าพระคณะนี้ไม่สมควรที่จะทำบุญทำทานด้วย พระคณะนี้เป็นพระรุ่มพระรวย ไม่ฉันอาหารของเขา ไม่รับทานผ้าผ่อนเครื่องนุ่งห่มของเขา

ความเป็นจริงนั้น เขาเลือกเฟ้นดีที่สุด ของที่เขาให้มานั้นไม่ใช่ของเลว ของดีของเขาแล้ว เขาจึงให้มา ถ้าของไม่ดีเขาก็ไม่ให้ การทำบุญทำทานนั้นเรียกว่าเขาเลือกของดีที่สุดเท่าที่เขาจะมี แต่ของเขานั้นมีเพียงแค่นั้น เขาหาได้เพียงแค่นั้น ควรที่จะสงเคราะห์เขา เพื่อให้เขาเกิดศรัทธาปสาทะเลื่อมใส เขาจะได้นิยมนับถือ พุทธศาสนานี้จึงเจริญรุ่งเรือง ครั้นเขายกโทษดูถูกแล้วศาสนาจะอับเฉาเศร้าหมองไปโดยลำดับ อย่างบิณฑบาตเหมือนกัน เมื่อเช้าดูๆ มันก็ไม่ค่อยเหมาะสมเหมือนกัน เขาอุตส่าห์ตั้งใจแล้ว มาแต่ไกล อุตส่าห์สละทุกสิ่งทุกประการ ของที่เขาหามานั้นน่ะ เขาอุตส่าห์หามาเพื่อต้องการจะใส่บาตร มีแค่ไหนจนแค่ไหนเขาหามาให้ มาทำบุญทำทาน เราบิณฑบาตควรที่จะสงเคราะห์สงหาเขา แต่แทนที่จะสงเคราะห์สงหาให้เขาใส่ เราเต็มแล้วเลยพอ มันไม่เหมาะตอนนี้ ไม่เหมาะถึงอย่างไรก็ต้องไปให้ตลอดรอดฝั่งจนหมดของนั้น

ผมอุตส่าห์พยายาม แต่มันเหลือวิสัยที่จะไปให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะสุขภาพมันไม่ให้ ทีหลังไม่ควรทำอย่างนั้น อย่าทำเลย ไม่เหมาะ มีงานการต้องเดินให้ตลอดรอดฝั่ง เราอยู่วัดนี้แหละ ไม่ใช่เดินไกลอะไร เดินเพียงแค่บิณฑบาตมาฉันเท่านั้นแหละ ไม่ยากเย็นอะไรหรอก เขานั้น โอ๊ย! สำบุกสำบันหาเงินหาทองมา ซื้อของมากว่าจะได้มาใส่บาตรนั้นยากแสนยาก ควรสงเคราะห์เขา มันเต็มบาตรเราก็บอกญาติโยม บอกได้ เขารู้จักว่าเต็มอยู่ แต่เขาอยากจะใส่ เขาอยากทำบุญกับเรา

เขาอยากทำบุญเขาจึงอุตส่าห์มา พอมาแล้วไม่ได้ใส่บาตร เขาวิตก มันเป็นเหตุให้ศรัทธาของเขาเสื่อมไป จึงว่าไม่ควรกระทำ

พระวินัย นี้เป็นของเบื้องต้น ถ้าพระวินัยเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็นิยมนับถือ พุทธศาสนาก็จะได้ถาวรต่อไป

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 14. พระวินัย]