13. กิจวัตรของพระสงฆ์
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
“วัตร” ก็คือ การกระทำเป็นนิจ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า เราไม่รังเกียจ คิดว่าเราบูชาพระพุทธเจ้าแล้วสบาย เราบูชาพระพุทธเจ้าแล้วความสงบก็มี
๑๓. กิจวัตรของพระสงฆ์
วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗
กิจในศาสนา มันมีหลายอย่างไม่ใช่น้อยๆ ภิกษุบวชเข้ามาแล้ว คนโดยส่วนมากมีความเข้าใจผิด อย่างทางโลกเข้าประนามศาสนาว่าขี้เกียจ คนที่กินแล้วก็ไปนอนให้ไปบวชในศาสนาเสีย เขาว่าอย่างนั้น หมายความว่า เขาประณาม ผู้ไม่เห็นความจำเป็นของพระพุทธศาสนาบวชแล้วโดยส่วนมากเข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด เพียงแต่นั่งๆ นอนๆ แล้วก็อยู่เฉยๆ เท่านั้น กิจภาวนาก็ทำภาวนาอย่างเดียว กิจอื่นไม่ต้องเอา ครั้นหากกิจอื่นไม่เอา ก็ไม่เป็นไปในศาสนานี้ ก็เป็นมหายาน อย่างที่ประเทศนอกเข้าพูดกันมาก พวกฤาษี พวกลัทธิต่างๆ เขาไม่มีกิจอย่างในพุทธศาสนานี้
กิจในพระพุทธศาสนามันมีตั้งสิบสี่อย่าง จะเล่าให้ฟังโดยเฉพาะบางอย่าง
อาจริยวัตร วัตรคือการปฏิบัติในครูบาอาจารย์ โดยการตักน้ำใช้น้ำฉัน คือการที่รับภาระทุกอย่างของอาจารย์ให้สมกับคำว่า อฺชชตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร ว่าตั้งแต่นี้ไป ข้าพเจ้าขอรับภาระของท่าน ให้ท่านเป็นภาระสั่งสอนอบรมข้าพเจ้า ในเบื้องต้นเราบวชใหม่ เป็นอย่างนั้นพูดอย่างนั้น นั่น อาจริยวัตร
อุปัชฌายวัตร กับ อาจริยวัตร ก็คล้ายๆ กัน อาจารย์จะต้องปฏิบัติลูกศิษย์ลูกหาตอบแทน มีอุปการะ คือ แนะนำตักเตือน สั่งสอนเหมือนลูกของตนจริงๆ ด้วยความเอ็นดู เมตตา ปรารถนาหวังดี หมายความว่า อุปัชฌาย์กับลูกศิษย์นั้น หรืออาจารย์กับลูกศิษย์นั้นทำต่อกันเหมือนลูกปฏิบัติพ่อ พ่อปฏิบัติต่อลูกอย่างนั้นแหละ อันนี้อย่างหนึ่ง
อาวาสิกวัตร เมื่อแขกที่มา พระอาคันตุกะมาต้องต้นรับ รับรองไม่ใช่นิ่งเฉยว่า ไม่ใช่หน้าที่ของตน เราไม่ใช่สมภารเจ้าอาวาสวัด นิ่งเฉยเถอะ อะไรต่างๆ อันคำที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ ที่บวชเข้ามาแล้วนั้นท่านว่า โย ปน ภิกฺขุ ตั้งแต่ภิกษุทุกองค์ไป ไม่ใช่สามเณร ไม่ได้พูดถึงเรื่องสามเณร เป็นภิกษุแล้วก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น อาวาสิกวัตร ต้อนรับรับรองเมื่อใครมา เครื่องเสื่อสาดอาสนะ น้ำใช้น้ำฉันที่อยู่ที่อาศัย
อาคันตุกวัตร วัตรของผู้ไป คือผู้ไปหาวัด ไปอยู่วัดนั้นนั่นเอง เข้าไปสู่วัดนั้น อาวาสิกวัตร วัตรของเจ้าของวัดวัตรผู้เป็นเจ้าของ ต้อนรับรับรอง ดังว่ามาแล้ว
ภัตตัคควัตร วัตรในโรงฉัน คือว่าจะต้องปูเสื่อปูอาสนะสำหรับฉันหากเป็นหมู่เป็นคณะ ถ้าหากไม่ร่วมไม่พร้อมใจกันทำ จะเป็นอย่างไรกันคิดดูซิ ทำบางองค์ บางองค์ไม่ทำ เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราละ เราไม่ทำละ องค์นั้นก็เป็นอย่างนั้น องค์นี้ก็เป็นอย่างนี้ คิดไปแตกต่างกัน เลยไม่ทำเลย คือวัดไม่ใช่วัดของเรา ใครๆทุกคนก็ว่าไม่ใช่วัดของเรา มันจะเป็นอย่างไรกันล่ะ ถ้าเราทำอย่างนั้น ฉันแล้วก็ต่างคนต่างหนีไปเลย ไม่เก็บไม่รักษา กระโถน กาน้ำ อะไรต่างๆ ไม่ปัดไม่กวาด มันจะเป็นอย่างไรล่ะคราวนี้? เราอยู่ใหม่ อย่างเข้ามาบวชใหม่ๆ นี้ยังไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติอย่างนี้ เราปฏิบัติดีก็ได้ดี สะอาดเรียบร้อยน่าอยู่ คำว่า “น่าอยู่” นั้นเมื่อไม่ปฏิบัติจะน่าอยู่ได้อย่างไร? เราต้องปฏิบัติฝึกฝนไปสิ มันถึงค่อยสะอาด เมื่อคนมากทุกคนไม่ปฏิบัติมันจะได้หรือ? ทุกๆองค์นั่นแหละ ทุกๆองค์ต้องปฏิบัติกันทั้งนั้น โรงฉัน น้ำใช้ อันนี้มันดีนักหนาเมื่อปฏิบัติ ปฏิบัติเบื้องต้นเสียก่อน
วัดนี้ ที่ผมมาอยู่ทีแรกลงไปตักน้ำโขงโน่น ที่สะดวกสบายทุกสิ่งทุกอย่างก็เพราะมาทำทีหลังหรอก เลยใช้น้ำก๊อกน้ำฉันสบายที่สุด ผมมาทีแรกต้องลงไปตักน้ำโขงเอามาใช้ อุตส่าห์หามาให้เพื่อความสะดวกสบาย ทุกสิ่งทุกประการจนอิ่มตัวเลยลืมคิดถึงเรื่องเหล่านี้ ถ้ามีกิจวัตรมันต้องเป็นอย่างนั้น มันพร้อมเพรียงกันทำทุกสิ่งทุกอย่าง
ปิณฑปาติกวัตร บิณฑบาตก็เหมือนกัน ถ้าหากว่ากิจทั้งปวงหมดเหมือนบิณฑบาตแล้ว อาจจะพร้อมเพรียงกันคือว่า องค์ใดไม่ไปก็ไม่ได้ฉัน อาจจะดีเหมือนกันถ้าเป็นอย่างนั้น แต่กิจวัตรของเราทั้งหลายเหล่านั้นไม่เป็นอย่างนั้น เห็นองค์หนึ่งทำแล้วก็เลยปล่อยสบาย
ชันตาฑรวัตร วัตรในโรงไฟ อันนี้ก็อีกนั่นแหละ พระเณรทั้งหลายเห็นเขาเอาฟืนมาใส่ไว้ดีแล้ว จับยัดใส่ไฟสุมกันเลย ตัวเองไม่เคยหาฟืนเลยสักทีก็มี ลองคิดดูเถิด ถ้าเป็นอย่างเราคิดอย่างนี้ทุกคนแล้ว ใครจะหามาให้ใช้ล่ะคราวนี้ เราใช้ทุกคนก็ต้องหาด้วยกัน ไม่ใช่ก็ต้องหาด้วยกัน อันนี้เราไม่อยากหา มีแต่คนอื่นหามาให้ มันก็สบายที่สุดแล้วนั่น ปัดกวาด ทำความสะอาด หาฟืน หาอะไรมาใส่ให้เรียบร้อยอันนี้ ชันตฑรวัตร
วัตรสิบสี่ อธิบายไว้มากมายหลวงหลาย โดยเฉพาะภิกษุซึ่งนึกว่าตัวเก่ง ถ้าหากว่าเรามาคิดว่าเป็นการยุ่งยาก มาอยู่วัดนี้ลำบากที่สุด วัดอื่นสบายกว่าวัดนี้แล้ว เราก็ไปเที่ยวดูกันอย่าอยู่แต่วัดนี้ วัดอื่นเขาไม่ทำก็มี นั่นมันจะเห็นแตกต่างกันไป แต่เราจะไม่ได้ศึกษาละคราวนี้ ที่พาทำคือต้องการให้ทำตามหน้าที่ พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนาสอนไว้ นี้อธิบายน้อยๆ ยังกว้างขวางไปกว่านี้อีก ทำกิจวัตรทั้งหลายเหล่านี้
เสนาสนะวัตร ที่อยู่อาศัยทั้งล่างทั้งบน ปัดกวาดทำความสะอาด แต่ก่อนผมเคยเที่ยวดูตามกุฎีต่างๆ ไปเห็นกระโถนก็ไม่ล้าง ไม่เก็บ ไม่กวาด รกเหมือนรังหนู แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่ไปเที่ยว เที่ยวไม่ไหว ไม่เหมือนแต่ก่อน เห็นว่าได้อยู่สบายแล้วก็เลยไม่เก็บไม่รักษา สิ่งของรกสกปรกหมด ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสอนไว้แต่คราวโน้นไม่ผิดเลยจากอนามัยของโลก เขาก็ทำตามพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงรู้ชัดเจนจริงทางโลกก่อนแล้ว ท่านจึงทรงสอน
ในภาคอีสานทั้งหมดเอาแบบอย่างพระกัมมัฎฐาน ทั้งวัดบ้านและตลอดชาวบ้านแต่ไหนแต่ไรมา แต่ก่อนนั้นไม่ค่อยเป็นอย่างนี้หรอก เรื่องอย่างนี้พระกัมมัฏฐานทำก่อน ถ้าเป็นกัมมัฏฐานแล้วต้องเป็นอย่างนั้น ต้องปฏิบัติอย่างนั้นเราทำตามพระพุทธเจ้าทั้งหมด บวชในสำนักบวชอุทิศต่อพระพุทธเจ้า เราต้องทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าหากบวชในศาสนาอื่น ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ถ้าบวชในศาสนาพระพุทธเจ้า อุทิศต่อพระพุทธเจ้าแล้วต้องทำตามเหมือนกับพ่อแม่สอนลูก เกิดในตระกูลใดก็ต้องฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ จึงจะชื่อว่าเคารพพ่อแม่ นับถือพ่อแม่ และก็เป็นไปเพื่อความเรียบร้อย เมื่อไม่เคารพไม่นับถือ ต่างคนต่างทำอย่างว่าแล้วอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถึงแตกสามัคคีกันแน่นอน อย่างน้ำอย่างไฟ ทุกวันนี้ใช้สะดวกสบาย ไม่ใช่เราทำ แต่หากตั้งเวรไว้สองสามเวรให้เป็นผู้ทำ ผู้ทำงานเป็นแล้วค่อยตั้งไว้ เราไม่เคยทำก็เลยสบายเลย อย่าลืมบุญคุณของเขาที่เขาทำนั้น
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากเราทำแล้วมันมีประโยชน์สองอย่าง มีประโยชน์แก่ร่างกาย คือสุขภาพดี ไม่นั่งๆ นอนๆ เฉยๆ มีแต่นั่งนอนกินแล้วก็ไป มันจะถูกตำราโบราณเขาว่าขี้เกียจจะตายแล้วไปบวชในศาสนาเสีย ก็เพราะเห็นพระอย่างนั้นแหละ เขาจึงค่อยว่า ถ้าหากว่าเราปฏิบัติกิจวัตรทั้งหลายเหล่านั้นเป็นนิจมันจะเป็นเรื่องที่เปลี่ยนอิริยาบถ เวลานั้นทำอันนั้น เวลานี้ทำอันนี้ เปลี่ยนอิริยาบถรู้จักกาล รู้จักเวลา สุขภาพก็ดี มันเป็นการดีอย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งนั้น ถ้าเราทำด้วยความพอใจ ด้วยความเต็มใจ เราหวังบูชาคุณพระพุทธเจ้า สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติบูชา ก็คือเรื่องเหล่านี้แหละ บิณฑบาตมาฉันเองก็จริงหรอก ต่างองค์ต่างก็บิณฑบาต หากแต่เราถือว่าปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราบิณฑบาตตามโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบูชาพระองค์ กิจวัตรทั้งหลายนี้ ถ้าหากว่าเราทำทั้งหมดและทำโดยสม่ำเสมอ ทำโดยเป็นกิจวัตร เรียกว่า “วัตร” ก็คือการกระทำเป็นนิจ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า เราไม่รังเกียจ คิดว่าเราบูชาพระพุทธเจ้าแล้วสบาย เราบูชาพระพุทธเจ้าแล้วความสงบก็มี
ถ้าเห็นว่าเป็นทางบีบบังคับละก็หมดท่า บุญก็ไม่ได้ กิจวัตรก็ไม่มี มันเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามบุญคุณพระพุทธเจ้า ให้เข้าใจอย่างนี้ การบวชในพระพุทธศาสนา หมดทุกองค์อย่าไปเข้าใจว่าเป็นของอย่างนั้นอย่างนี้ อันให้เณรทำเด็กทำ นั้นไม่ถูกหรอก แต่ว่าบางกิจบางอย่างที่ เณรทำ หรือเด็กทำนั้น เช่น ดายหญ้าดายอะไรต่างๆ ปัดกวาดมันยากมันรก มันต้องให้เณรทำ ให้เข้าใจว่า การทำในกิจทุกอย่างนั้นต้องเป็นหน้าที่ของเราทุกคน จึงจะเป็นบุญเป็นกุศล บุญเหล่านี้แหละช่วยสนับสนุนอุดหนุนให้เราปฏิบัติเป็นไป เพื่อประโยชน์ ความสุขสบาย ถ้าหากไม่ทำอันนี้ละหมดเรื่อง เมื่อเอาภาวนาอย่างเดียว ไม่คิดถึงเรื่องกิจวัตร ภาวนาจะได้ถึงไหน? หมดจากภาวนาแล้วก็ไม่มีที่อยู่
ครั้นทำให้มีกิจวัตรเป็นประจำ ระยะเวลานั้นทำนั้นเวลานั้นทำนั้น ศึกษาข้อวัตร อย่าเห็นกิจวัตรว่าเป็นของเลว อันนี้เป็นของบุคคล ถ้าหากว่าในวัดนั้นไม่ทำเป็นอาบัติหมดเลย ครั้นถ้าหากว่าองค์ใดไม่กระทำ และไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้ ทำเป็นบางองค์ ก็เป็นอาบัติแก่องค์ที่ไม่ปฏิบัติ ถ้าหากว่าทำด้วยกันทั้งหมด ก็พ้นจากอาบัติด้วยกันทุกคน
กิจวัตร ต่างจาก ธุดงควัตร ธุดงควัตรสิบสามนั้นท่านไม่ปรับอาบัติ แต่คนชอบทำ คือว่า เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสของตน เพื่อให้เบาบางลงไป อันนั้นเป็น “ธุดงควัตร” แต่ “กิจวัตร” ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ทำไม่ได้ เป็นอาบัติด้วยกัน นี่ให้เข้าใจอย่างนี้
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 13. กิจวัตรของพระสงฆ์]