12. อย่าให้กิเลสอบรมเรา
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
พิจารณาแล้ว “บรรเทา” อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว “เว้น” อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว “อดกลั้น” อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว “เสพ” อย่างหนึ่ง
๑๒. อย่าให้กิเลสอบรมเรา
วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗
มาฝึกหัดอบรม อบรมในที่นี้ไม่กิเลสอบรมเรา เราต้องอบรมกิเลสสิ่งใดที่เป็นไปเพื่อกิเลส ใจตั้งใจฝ่าฝืนมันให้มันอยู่ในบังคับของเรา อย่าให้เราอยู่ในบังคับของมัน
สมมติว่าอาหารการกินนี่แหละ เรารู้จักว่าจำเป็นที่สุดที่จะต้องอาศัย ถ้าไม่มีอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ร่างกายก็เป็นไปไม่ได้ เราจะประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ในศาสนาก็ปฏิบัติไม่ได้ เรียกว่าบำบัดความทุกข์ความเสื่อม ความวุ่นวายกระสับกระส่ายด้วยอาหาร ชีวิตของเราเป็นไปกับด้วยอาหาร อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงถามสามเณรว่า เอกํ นาม กึ อะไรล่ะหนึ่งไม่มีสอง สามเณรทูลตอบว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร ถ้าอาหารไม่มีเสียแล้วอยู่ไม่ได้ คนเรานั้นเกิดขึ้นมาแล้วหาอาหารเป็นพื้น จะแสวงหาอะไรก็ตาม เพื่ออาหารทั้งนั้นแหละ การทำมาหากินทุกชิ้นทุกส่วน จะมากหรือน้อยก็เพื่อแสวงหาอาหารทั้งนั้น พูดง่ายๆ ก็ว่าเพื่อปากเพื่อท้อง สะสมมากมายสักเท่าไรก็เพื่อปากเพื่อท้อง
เหตุนั้น การบริโภคอาหารนั้นจึงต้องหัด ยากที่จะรู้ตัวเพราะมันติดมาพอแรงแล้ว ติดมาตั้งแต่เบื้องต้นแต่ไหนแต่ไรมา จึงว่าให้เข้าใจเรื่องทั้งหลายนี้ เช่นตัวอย่างอาหารนี้เป็นต้น เป็นของจำเป็นที่สุดที่จะต้องหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่ว่าจำเป็นที่สุดที่จะต้องรู้จัก คือ จำเป็นที่สุดที่จะต้องพิจารณาเป็นของจำเป็นมาก ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่รู้เรื่อง พิจารณาแล้วค่อยเห็นโทษเห็นคุณของมัน คุณ คือเป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย โทษ คือเป็นไปเพื่อกิเลส ฉันเป็นไปเพื่อกิเลส สะสมกิเลส คือไม่รู้เรื่องว่าเป็น “กิเลส” ถ้ารู้เรื่องก็เป็น “ธรรม” ฉะนั้น จึงกล่าวว่า พิจารณาแล้ว “บรรเทา”อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว “เว้น” อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว “อดกลั้น” อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว “เสพ” อย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้ว “เสพ” คือว่าการรับประทาน ถ้าไม่พิจารณามันก็ล่อหลอกลวงเรา เป็นเหตุให้ติด อย่างเช่นคนสูบบุหรี่นี่แหละ ถ้าเราไม่สูบ จึงพูดว่าไม่ติด ติดแล้วนั่นละมันจึงสูบ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเราเกิดมาไม่ได้สูบบุหรี่ แต่เบื้องต้นตั้งแต่เป็นเด็กไม่ได้สูบ เรามาหัดสูบบุหรี่ มันจึงค่อยติด พอติดแล้วครั้นไม่ได้สูบ เข้าใจว่ามันไม่ติด หากรู้สึกว่า “อด” เมื่อไรแล้ว นั่นละติด มันติดแล้วมันถึงค่อยชอบใจ ยินดีพอใจ นั่นเรียกว่าติด ติดบุหรี่มีโทษอะไรหรือ? มีโทษ ติดบุหรี่มันมีโทษนานัปการ โทษอันหนึ่งคือว่า ไม่ได้สูบมันก็คิดถึง กระวนกระวาย อย่างนี้เป็นต้น
สำหรับอาหารก็ดี สิ่งทั้งปวงหมดตลอดถึงเครื่องนุ่งของห่มผ้าผ่อน เสนาสนะที่อยู่อาศัย หยูกยาต่างๆ ที่เราไม่ติดนั้นน่ะ เราจะรู้จักว่า เราฉันเพื่ออะไร? เห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของมันเราจึงค่อยฉัน ไม่ฉันเพื่อติด อย่างเราฉันยาควินินขมจัดที่สุด แต่ว่าเราฉันเพื่อแก้ไข้ ครั้นถ้าไม่ฉันไม่ได้ อันนั้นไม่ติดแท้ แต่ถึงขนาดนั้นก็ต้องเอาเครื่องล่อ เอาไปเคลือบน้ำตาล น้ำตาลเป็นของหวานใครก็ชอบทุกคน เราเคลือบเพื่อให้มันหายขม อันนั้นของติด
พระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารเพื่อเป็นยาปนมัต เป็นยาปนมัตจริงๆ ทรงฉันอย่างไม่ได้ติด ไม่ทรงเห่อเหิมมัวเมาพอประทังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ การทรงคิดถึงอาหารของพระองค์เป็นอย่างนี้ พระองค์ถึงค่อยทรงฉัน อันนั้นเรียกว่าทำอะไรไม่เป็นไปเพื่อกิเลส ถ้าทำอย่างนั้นได้เรียกว่าไม่อยู่ในบังคับของกิเลส ถ้าหากว่าเราพิจารณาแล้วจึงฉันอย่างอธิบายมานั้น รู้รอบรู้เรื่องแล้วจึงฉัน เรียกว่าบังคับกิเลสได้ ไม่ฉันก็ได้ ฉันก็ได้ ฉันก็เพื่อประโยชน์ ไม่ได้ฉันมัวเมาประมาท นี่เรื่องการตัดกิเลส
แล้วมาปฏิบัตินั้น ปฏิบัติเพื่อเอากิเลส หรือว่าเพื่อบังคับกิเลส เพื่อสะสมกิเลสหรือว่าเพื่อระงับกิเลส อะไรระงับได้บ้าง? เครื่องนุ่งของห่มอันหนึ่ง อาหารการกินอันหนึ่ง เสนาสนะที่อยู่ที่นอนอันหนึ่ง หยูกยาต่างๆ อันหนึ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดของกิเลสทั้งนั้นของพรรค์นี้ ท่านจึงให้พิจารณาอยู่เสมอๆ จะฉันก็ให้พิจารณา จะรับก็ให้พิจารณา เมื่อรับแล้วก็ให้พิจารณาอีก เมื่อจะฉันนั่นให้เห็นเป็นแต่สักว่าธาตุ เมื่อฉันอยู่ก็เห็นว่า เพื่อบำรุงชีวิตร่างกายให้เป็นไปเพื่อประโยชน์เท่านั้น คือมีประโยชน์แก่ตน มีประโยชน์แก่ร่างกาย ไม่ควรมัวเมา ท่านให้พิจารณาศึกษาซ้ำๆ ซากๆ อยู่ไม่แล้วสักที
ทำไมจึงพิจารณาซ้ำๆซากๆ? ก็เรามีชีวิตอยู่ก็ต้องพิจารณาน่ะซี ต้องใช้อยู่เสมอของหมู่นี้ มันอาจจะเผลอครั้งหนึ่งก็ได้ หรืออาจะเผลอตลอดไปด้วยซ้ำ ถ้าไม่เคยพิจารณาก็เห็นว่า มันเป็นของสนุกสนานเพลิดเพลินเลยเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ ท่านถึงสอนให้พิจารณา โดยเฉพาะก็คือว่า อย่าให้กิเลสมันบังคับเราได้ กิเลสมันบังคับเราจนชินชาเสียแล้ว แต่ไหนแต่ไรมา เมื่อเรารู้เดียงสาก็รู้จักสะสม สะสมอยู่ในตนเรื่อยมา ที่เราจะแก้ไขมันยาก ครั้นหากว่าแก้ไขไม่ได้ มันก็ฝังอยู่ในตัว ถ้าหากเราแก้ไขได้จะเห็นคุณ แล้วเราพิจารณาอยู่เสมอๆ ตลอดเวลา ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน เราไม่มัวเมาไม่ติด
ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน เรื่องอารมณ์ทั้งปวงหมดก็เหมือนกัน กิเลสชำนิชำนาญคล่องแคล่วในทางไหน มันก็ฝึกฝนให้เราไปทางนั้น คือกิเลสฝึกเราให้คิดเพลิดเพลินให้ลุ่มให้หลง ให้มัวเมาประมาทหลายอย่างหลายเรื่อง มันก็ไม่มีอะไรอื่นไกลหรอก นอกจาก อายตนะทั้งหก ที่เกิดติดตามมากับเรา เนื่องจากสาเหตุนี้แหละ
เช่น ตา เห็นรูป ก็เพลิดเพลินหลงมัวเมาในรูปนั้น สำคัญว่าเป็นหญิงเป็นชาย สำคัญว่าสวยสดงดงาม อิ่มใจพอใจยินดีกับการที่เห็นรูปที่สวยงามที่ไม่สวยก็ไม่อยากดู นั่นแหละกิเลสมันเกิดขึ้นมา ที่มันสวยสดงดงามก็อยากดู กิเลสก็เกิดขึ้นอีกนั่นแหละ ให้พิจารณาอย่าให้มันหลงอย่างนั้น พิจารณาให้เห็นเป็นธาตุ เห็นเป็นสภาวะอันหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับลง อย่าให้มันติดพันเข้ามามัวหมองในสิ่งนั้น ให้มองเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุ
เสียง ก็เหมือนกัน เป็นสักแต่ว่าธาตุ ธาตุอันหนึ่งมันเป็นของเลื่อนลอยไม่มีตนมีตัว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีมาแล้วก็สูญหาย ไม่มีของเที่ยงมั่นถาวรอะไร
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เช่นนั้นเหมือนกัน มันหากมีอยู่อย่างนั้นในตัวตนคนเรา มีอยู่แต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีการฝึกอบรม มันจึงนอนจมอยู่สันดานของเรา ไม่รู้แล้วรู้รอดไปสักที เราเพิ่งมาตื่นมารู้ตัว ตื่นขึ้นมาอบรมฝึกฝนมันจึงยากนักที่จะถอนจะละได้
จึงว่าให้เข้าใจ เวลานี้เรามาอบรมฝึกฝนให้มันค่อยเบาค่อยบาง ให้มีสติตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา มันจะค่อยหายไปหมดไป ไม่ใช่หมดประเดี๋ยวประด๋าว ต้องชำนิชำนาญคล่องแคล่วที่สุด มันจึงจะเป็นไปเพื่อทิ้งเพื่อถอน ครั้นถ้าหากว่าชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้ว มันสบายแล้วคราวนี้ เราข่มขี่มันได้ เราฝึกหัดได้ก็สบายสิ จะยืน เดิน นั่ง นอน ไปมาที่ไหนก็สบาย อยู่ที่ไหนก็สบาย ไม่เร่ร่อนไปโน่นไปนี่ไม่ต้อง ไปที่ไหนๆ ก็คนเดียวผู้เดียว ฝึกหัดแต่ผู้นี้ ฝึกหัดละ ฝึกหัดถอน อันนี้แหละ มันเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นที่นี่ ไม่ใช่เกิดขึ้นที่อื่น ที่ตัวของเรานี้เอง ตั้งไว้ที่ตาหู จมูก ลิ้น กายใจนี้แหละ สัมผัสทั้งหลายเกิดจากกายจากใจนี่ ทั้งนั้น
เที่ยวไปหาวิเวกในป่าในเถื่อน เข้าใจว่าจะหาย กลับคืนมามันก็เท่าเก่า คนเราไม่ละสักที ไม่วางไม่ปล่อย มันก็ยังหนาแน่นเท่าเดิม มันจะเป็นประโยชน์อะไร? เหตุนั้นจึงควรพิจารณา ควรให้มันชำนิชำนาญในการที่เราอยู่ ในการที่เราปฏิบัติในการฝึกหัด อย่าให้มันข่มขู่เราได้
เที่ยวไปหาวิเวกในป่าในเถื่อน เข้าใจว่าจะหาย กลับคืนมามันก็เท่าเก่า คนเราไม่ละสักที ไม่วางไม่ปล่อย มันก็ยังหนาแน่นเท่าเดิม มันจะเป็นประโยชน์อะไร?
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 12. อย่าให้กิเลสอบรมเรา]