11. วินัยเป็นเครื่องคุ้มครอง
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
๑๑. วินัยเป็นเครื่องคุ้มครอง
วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
วันนี้จะกล่าวถึงเรื่อง วินัย วินัยเป็นเครื่องบังคับ ผู้ที่อยู่เป็นหมู่เป็นคณะที่อยู่ร่วมกัน พระก็ดี ฆราวาสก็ดี ถ้าไม่มีวินัยบังคับแล้ว หมู่นั้นคณะนั้นย่อมไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่เป็นสามัคคีกัน วินัยเป็นเครื่องบังคับให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันดีที่สุด ดูสิ ไม่ว่ามดว่าปลวกทั้งนั้น มันต้องเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีวินัย จึงค่อยอยู่ด้วยกันเรียบร้อย ไปมาที่ไหนก็ดีให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เราจะประพฤติปฏิบัติจะกระทำอะไรทั้งหมดจะต้องมีพระวินัยควบคุม วินัย เป็นของสำคัญที่สุด
วินัย ถ้าพูดถึงเรื่องกว้างๆ ทั่วไปแล้ว เป็นเครื่องควบคุมหมู่คณะทั่วไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ในขอบเขตของวินัยทั้งนั้น จะทำการงานอันใด ถ้ามีวินัยเป็นเครื่องบังคับแล้ว เรียบร้อยทั้งนั้น แต่คนไม่ชอบพระวินัย มันจึงเกะกะระรานไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยฝ่าฝืนพระวินัย พระวินัยตั้งกฎไว้สำหรับบังคับ ให้เป็นระเบียบดีงาม
ในทางปฏิบัติ วินัยเป็นเครื่องคุ้มครอง พูดถึงเรื่องปฏิบัติแล้ว “สติ” เป็นพระวินัย “สติ” นั้นควบคุมระวังรักษาตัวทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน อาการที่ยืนมีพระวินัยควบคุมอยู่ เดิน, นั่ง, นอน มีพระวินัยควบคุมอยู่ ควบคุมตนเอง ถ้าหากมีพระวินัยควบคุมแล้วมีมารยาทดีงาม ทำอะไรก็สุภาพเรียบร้อยไม่ต้องให้คนอื่นบังคับ เช่น ตอนดึกตื่นขึ้นมา ก็ต้องมีพระวินัยควบคุม เราจะตื่นตี ๓ ตี ๔ อย่างนี้ ก็ต้องมีพระวินัยควบคุม นอนก็เหมือนกัน เราจะต้องนอน ๖ ทุ่มอย่างนี้ ถึงเวลาแล้วมันหากจำเป็นต้องนอนเอง ถึงเวลาตื่นก็จำเป็นต้องตื่นเอง มันควบคุมในตัว เราประพฤติปฏิบัติอะไรทั้งปวง กิริยาทุกอย่าง การอยู่การฉัน ต้องจำกัดมีขอบเขต จะฉันน้อยฉันมาก จะฉันพอดีพองามขนาดใดก็นั่นละพระวินัย ควบคุมการจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะถึงเวล่ำเวลาแล้วต้องไป มันมีขอบเขตจำกัด พระวินัยจึงได้ชื่อว่าเป็นระเบียบอันหนึ่ง ตัว “สติ” เป็นพระวินัย
ศีลทั้งปวงหมดทุกข้อทุกสิกขาบทวินัย มีสติควบคุมดูแลรักษา เห็นอาการของจิตตนตลอดเวลา ไม่พลั้งไม่เผลอ “สติ” เป็นพระวินัย ถ้าพูดถึงเรื่องพระวินัยแล้วลึกซึ้ง ตลอดจนสติรู้ทุกเมื่อทุกขณะ ควบคุมจิตตนได้ นั่นถ้าว่า ทางปฏิบัติต้องควบคุมเฉพาะสติตนเอง ถ้าว่าถึงเรื่องกว้างๆ ต่อไปแล้ว เป็นการควบคุมหมู่เพื่อน ตัวสติเป็นเรื่องควบคุมหมู่เพื่อน ให้อยู่ในขอบเขตบังคับ คนเราฝ่าฝืนพระวินัยจึงค่อยไม่เรียบร้อย ต้องบังคับกันอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ควบคุมหมู่เพื่อนเรียกว่า “หัวหน้า” ต้องควบคุมหมู่ให้อยู่ในขอบเขตอยู่ในวินัย ถ้าผู้ใดเป็นผู้ใหญ่ผู้ใดเป็นหัวหน้าหมู่เพื่อนรักษาพระวินัยดี หมู่นั้นก็เรียบร้อย ถ้าหากหัวหน้าหมู่เพื่อนเลอะเทอะ ไม่เอาไหน ไม่เอาถ่านเรื่องทั้งปวงหมด หมู่เพื่อนก็เลอเทอะเหลวไหลไม่น่าดู ไม่น่าอยู่
จึงว่าพระวินัยเป็นของมีประโยชน์มาก ทำให้โลกอันนี้อยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นหมู่เป็นพวกเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความสามัคคีปรองดองกัน วินัยจึงเป็นของควรเอาใจใส่ วินัยจึงควรรักษาจนให้เป็นนิสัยรักษาตนเองได้ นั้นจึงได้ชื่อว่าอยู่ในขอบเขตของ “พระวินัย” นิสัยใจคอของคนเรานั้นมันชอบฝ่าฝืนจนดื้อด้าน ไม่มีพระวินัยคุ้มครอง เรื่องเหล่านั้นมันจึงค่อยเป็นเหตุให้เดือดร้อนวุ่นวาย
เฉพาะพระภิกษุ สามเณรของเรา เข้ามาบวชในศาสนาได้ชื่อว่าอยู่ในขอบเขตของพระวินัย เมื่อพระวินัยควบคุมไม่ทั่วถึงแล้ว ต้องตั้งกฎเข้าไปอีก บังคับเข้าไปอีกให้กระชั้นชิดเข้าไปให้รู้ตัว พระวินัยเป็นของหละหลวมไป กฎกติกาตั้งกระชับชิดเข้าไปอีกทีหนึ่ง ให้อยู่ในขอบเขตของกฎกติกา เมื่อมีกฎกติกาแล้ว มันจึงค่อยรู้ตัวตื่นตัวง่ายๆ ทำอะไรมันผิดกฎกติกา เรียกว่าผิดพระวินัยเหมือนกัน
เหตุนั้น จึงค่อยระมัดระวังตั้งใจรักษา เราผู้เป็นสมณะควรที่จะเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ค่อยเข้าไปอย่างนี้แหละ เข้าไปหาพระวินัย เข้าไปหากฎกติกา เข้าไปหาพระวินัยทางข้างในโน้นอีก คือตัว “สติ” ควบคุมดูแลตนอยู่เสมอกระชั้นชิดเข้าไปถึงจิตถึงใจ เป็นพระวินัยอยู่โดยเฉพาะ เอาละ
ผู้เป็นสมณะควรที่จะเข้าหา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าไปหาพระวินัย เข้าไปหากฎกติกา เข้าไปหาพระวินัยทางข้างในโน้นอีก คือ ตัว “สติ” ควบคุมดูแลตนอยู่เสมอ
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 11. วินัยเป็นเครื่องคุ้มครอง]