10. การปวารณามีประโยชน์มาก

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ปวารณากันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันไว้ ด้วยความเมตตาปรารถนาหวังดีต่อกัน ถ้ามี โทสะ มานะ เกิดขึ้นแต่ในใจตนแล้ว การตักเตือนถึงแม้เป็นของดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ตน

๑๐. การปวารณามีประโยชน์มาก
วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

มันแปลกแต่ที่วันอุโบสถคือ วันปวารณา ปวารณาแทนวันอุโบสถ แท้ที่จริงวันปวารณามีประโยชน์มากกว่าวันอุโบสถ ท่านจึงบอกว่า ถ้าหากวันพระตกวัน ๑๔ ค่ำ วันปวารณาตกวัน ๑ ค่ำ ให้เอาวันปวารณาเป็นเกณฑ์ ท่านบอกว่าอย่างนั้นคือ หมายความว่ามีประโยชน์มากนั่นเอง

ปวารณา คือการปวารณาซึ่งตนอย่างที่ท่านกล่าวว่า “ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย” ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการรังเกียจก็ดี จะประการใดประการหนึ่ง ขอให้ตักเตือนด้วยความเอ็นดูเมตตาปรารถนาหวังดีต่อข้าพเจ้า

คำปวารณามีอย่างนี้ ปวารณาซึ่งกันและกันทุกคนไม่ว่าใครทั้งนั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย อายุพรรษามากน้อยเหมือนกัน ปวารณากันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันไว้ด้วยความเมตตาปรารถนาหัวงดีต่อกัน ถ้ามีโทสะมานะเกิดขึ้นแต่ในใจของตนแล้ว การตักเตือนถึงแม้เป็นของดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ตนอีก ถ้าหากคนฟัง คนที่ถูกตักเตือนยอมรับยอมปฏิบัติตาม จะเป็นประโยชน์ต่อคนนั้นต่อไป แต่ผู้ปฏิบัติจะพูดย้อนผู้สอนผู้ตักเตือนแล้ว ไม่มีประโยชน์ ขาดเมตตาเอ็นดูกรุณาซึ่งกันและกัน การปวารณานี้มีประโยชน์มากไม่เฉพาะแต่เวลานี้หรืออยู่แต่ในวัดนี้ ถ้าไปในที่อื่นเห็นหน้าเห็นตากันเมื่อไรว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกเมื่อ จึงว่ามีประโยชน์มาก เรามาอยู่จำพรรษาร่วมกัน ด้วยความเห็นด้วยทิฐิมานะอะไรต่างๆ ยอมสละทุกสิ่งทุกประการ อ่อนน้อมยอมเข้าหากัน ย่อมมีความสุขสบาย

วันนี้เป็นวันออกพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วต่างคนต่างมีกิจธุระการงานก็ต้องไปเลยคราวนี้ โดยที่ไม่ต้องการ สัตตาหะ คือ ๗ วันกลับคืนมา การอยู่จำพรรษาไม่ใช่การบังคับ ไม่ใช่การกดขี่ข่มเหง ไม่ใช่บังคับเหมือนกับอยู่เรือนจำ ถ้าเข้าพรรษาแล้วคอยแต่วันจะออกพรรษา วันไหนหนอจะออกพรรษา วันอะไรจะออกพรรษา ความคิดเป็นอย่างนั้นไม่ถูก เรียกว่า อยู่ในข้อบังคับจำกัด แท้จริงแล้วไม่ว่าจะอยู่ในพรรษาหรือออกพรรษา การประพฤติปฏิบัติมีได้ทุกเมื่อจะอยู่ในพรรษาก็ได้นอกพรรษาก็ได้ ไปที่ไหนๆ ก็ได้ แต่ว่าออกพรรษาแล้วไปไหนไม่ได้สัตตาหะภายใน ๗ วัน ให้กลับคืนมา ออกพรรษาแล้วนั้นไปในถิ่นใด สถานใดก็ดี ไปได้สบายใจ แต่ว่าการปฏิบัติถึงอยู่ในพรรษานอกพรรษาเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ใช่ออกพรรษาแล้วไม่ปฏิบัติ ออกพรรษาแล้วทิ้งหมด การปฏิบัติอย่างนั้นไม่ถูก

ผู้จะสึกออกไปก็เหมือนกัน มาบวชอยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัยอยู่ในขนบธรรมเนียมระเบียบอันดีงาม นับว่าทำตนของตนให้ดีแล้ว เป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของเพื่อนพรหมจรรย์ และญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทั้งปวงหมด เพราะเรามีขอบเขตของธรรมวินัย เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสและบูชาของคนทั่วไป จึงเป็นของน่าเสียดาย ควรที่จะเสียดาย ที่ออกไปแล้วละทิ้งการปฏิบัติทั้งปวง โดยการจำเป็นมีกิจธุระภาระมาก จะรักษาขอบเขตอยู่ในขอบเขตธรรมวินัยไม่ได้ ก็ต้องละทิ้ง

แต่ถึงอย่างไรก็ดี บางสิ่งบางประการเราควรจะนำมาปฏิบัติ ให้สมกับว่าเราได้มาฝึกหัดปฏิบัติในพุทธศาสนาได้นิสัยติดไป คือมีนิสัยให้เราได้ปฏิบัติต่อไป เช่นว่า เรามี ศีลห้า ประจำ ไหว้พระสวดมนต์ประจำ หรือทำบุญประจำ ดีกว่าที่เราไม่ได้บวช อย่างนี้เป็นต้น ไหว้พระก็ไม่ได้ยากลำบากอะไรเลย ไม่ได้เรียกร้องใครทั้งนั้น ไม่ได้ชักชวนใครทั้งนั้น ไหว้พระสวดมนต์เป็นกิจวัตรประจำ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไหว้ได้ นั่นเรียกว่า “นิสัยพุทธศาสนาติด” การระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทุกค่ำเช้า หรือทุกวันคืน เรียกว่า “นิสัยติด” เรามี ศีลห้า ถ้าหากรักษาไม่ได้ทุกข้อ ได้เพียง ๓-๔ ข้อก็เอา ให้ได้ประจำเป็นนิจ อันนั้นเรียกว่านิสัยติดขึ้นมาบ้าง ค่อยกระเถิบขึ้นมาโดยลำดับ การทำบุญทำทานทำไม่ได้ทุกวัน ทำเป็นบางครั้งบางคราวก็นับว่าดีที่สุด ดีกว่าเราจะไม่ทำ อันนี้เรียกว่า เราหัดอบรมนิสัย

หัดสมาธิภาวนา ก็เหมือนกัน เรามาทำความเพียร เรามาทำสมาธิภาวนาอยู่ในวัดในวา ได้มาบวชนี่สามาเดือนก็รู้สึกว่าจิตใจสงบ บางครั้งบางคราวถ้ามันสงบลงไปได้ หรือบางครั้งบางคราวสงบมากๆ ก็มี อันนั้นเรียกว่า “นิสัยพุทธศาสนาติด” เพราะเห็นคุณค่าประโยชน์อยู่แล้ว ไฉนออกไปจึงไม่พากันกระทำ ควรที่จะทำละสิ มันเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้แหละ เมื่ออกไปแล้ว ฝึกหัดอบรมนิสัยของตนค่อยๆ ให้มันดีขึ้นโดยลำดับ ไม่ใช่ออกไปแล้วทิ้งปุบปับหมดเลย ไม่เอาอะไรทั้งหมดติดตามตัวไป นิดเดียวก็ไม่มี อันนั้นหมดเรื่อง อันนั้นละเหมือนกับนักโทษนักโทษที่เขามาควบคุมไว้ในเรือนจำ เขามีการสอนวิชาอาชีพต่างๆ ออกจากเรือนจำไปแล้ว อาชีพที่เขาสอนให้ก็ไม่เอา อะไรก็ทิ้งหมด ปล่อยตามเรื่องตามราว ไปตามเรื่องของตน อันนั้นก็หมดท่า ไม่มีดีเลย

การปฏิบัติ ถึงพระที่ยังอยู่ไม่ได้สึก ออกพรรษาแล้วไม่ได้อยู่ในขอบเขตจำกัดอย่างในพรรษาในวัด ไปที่อื่นที่ไกลที่ใดก็ตามเถอะ เราต้องปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ออกพรรษาแล้วจะทอดทิ้ง ไม่ใช่ออกพรรษาแล้วจะดีหรือวิเศษวิโส อยากจะออกถ่ายเดียว อยากจะไปถ่ายเดียว

ที่ไปนั้นไปอะไร? มันได้ดิบได้ดีตรงไหน? ให้รู้เรื่องการไปนั้นเราบวชเพื่อปฏิบัติไม่ใช่หรือ? ปฏิบัติอันใดนิสัยมันติด มันไปในทางธรรมวินัย อันนั้นจึงเป็นการดี ถึงอยู่หรือไปก็เป็นการดี ไม่ใช่ออกพรรษาแล้วจะไปอีเหละเกะกะ ทุกสิ่งทุกอย่างทอดทิ้งไม่ทำ อย่างนั้นใช้ไม่ได้ พรรษานั้นเพียงแต่ว่าท่านกำหนดกาลเท่านั้นหรอก แท้ที่จริงแล้วไม่ได้จำกัดพรรษา ความดีไปไหนก็เหมือนกันหมด ผู้ที่ทำดิบทำดีทั้งปวงปฏิบัติในธรรมวินัย ไม่ได้นึกคิดว่าออกพรรษาหรือในพรรษา ก็ทำเรื่อยไปยิ่งออกพรรษายิ่งกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เพราะมีการทำภาวนาวิเวกสงบยิ่งกว่าที่อยู่ในพรรษา ในพรรษามันเป็นภาระธุระบางอย่างบางประการ ออกพรรษาแล้วไม่มีภาระที่ต้องทำ อย่างเรียนนักธรรมหรือสอนนักธรรมอย่างนี้เป็นต้น ออกพรรษาแล้วยิ่งปฏิบัติสนุกคราวนี้ ถึงว่าออกพรรษาแล้วไม่ใช่จะทอดทิ้งสิ่งทั้งหลายที่เรากระทำ ทำอยู่เสมอ จึงได้ชื่อว่า “ปฏิบัติศาสนา” เช่นนั้นได้ชื่อว่า “ปฏิบัติศาสนาแท้” ไม่คอยเข้าพรรษาแล้วจึงค่อยปฏิบัติ นี่แหละการออกพรรษาจะต้องมีประโยชน์มีคุณค่าอย่างนี้

ผู้สึกออกไปก็ดี ผู้ไม่สึกก็ดี ให้รู้จักประโยชน์ให้รู้จักคุณค่าอย่างนี้ เราก็อยู่สบาย อย่างฆราวาสเขาทำไม่เห็นเขากำหนดออกพรรษาในพรรษา เพราะว่าทำมาหากินอยู่เรื่อยไป พระของเราจะไปกำหนดอะไรแต่ในพรรษาค่อยทำ นอกพรรษาไม่ทำต้องทำเรื่อยไปล่ะสิ ผู้สึกหาลาเพศไปก็ดีให้มีธุระในพุทธศาสนาติดตามไปประจำตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นศิษย์ในพระพุทธศาสนา สมกับคำว่า “บัณฑิต” คือว่า “ทิด” สึกออกมาเป็นทิด “ทิด” นั้นคือมาจากบัณฑิตนั่นเอง “บัณฑิต” คือผู้เฉลียวฉลาด คล่องแคล่วในพระธรรมวินัย สมควรแก่เรา ที่อยู่สามเดือน ให้รู้จักเข้าใจในพระธรรมวินัยพอสมควร ถึงขนาดนั้นเขาจึงเรียกว่า “ทิด” บางคนพอสึกออกไปแล้วไหว้พระก็ไม่ได้ อาราธนาศีลก็ไม่ได้ อาราธนาเทศน์ก็ไม่ได้ อาราธนาพระปริตก็ไม่ได้ มันก็หมดท่าสิ ถ้าอย่างนั้น ทิ้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่คนบวชในศาสนธรรม

ศาสนานี้ไม่ใช่พระพุทธองค์ทรงเทศน์ให้แต่พระเท่านั้นทำ อุบาสกอุบาสิกาก็ทำได้เหมือนกัน เอาละ

แต่ว่าการปฏิบัติ ถึงอยู่ในพรรษานอกพรรษา เหมือนกันทั้งนั้น ไม่ใช่ออกพรรษาแล้วไม่ปฏิบัติ ออกพรรษาแล้วทิ้ง ปฏิบัติอย่างนั้นไม่ถูก ทำอยู่เสมอ ได้ชื่อว่า “ปฏิบัติศาสนาแท้”

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 10. การปวารณามีประโยชน์มาก]