04. ธรรมวินัย

ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

๔. ธรรมวินัย
วันที่ n/a พ.ศ. ๒๕๒๖

เราปฏิบัติธรรมะ ให้รู้จักธรรม ให้รู้จักวินัย ธรรมอันหนึ่ง วินัยอันหนึ่ง

วินัย คือ ข้อกฎ กติกา ข้อบังคับ ระเบียบธรรมเนียมอยู่หมู่มากด้วยกันมันต้องมีกฎกติกาข้อบังคับ อันนั้นเรียกว่าวินัย ธรรมะไม่มีขอบเขตจำกัด จะทำเอาก็ได้ไม่ทำก็ได้ ส่วนพระวินัยนั้นมีข้อบังคับจำกัด ถ้าไม่ทำตามก็ปรับอาบัติ แต่แท้ที่จริงนั้นพระธรรมเกิดก่อนพระวินัย จะเห็นได้เมื่อสมัยพุทธกาลไม่ได้บัญญัติสิกขาบทวินัย ท่านก็สำเร็จมรรคผลนิพพาน เมื่อพุทธศาสนาเจริญขึ้นมา มีภิกษุพุทธสาวกมากเข้า ก็มีผู้ปฏิบัติมีผู้มาบวชมากเข้า ต่างคนก็ต่างพ่อต่างแม่ต่างวงศ์ตระกูลมาบวชในแห่งเดียวกัน พวกเหล่านั้นก็ปฏิบัติตามนิสัยใจคอของตน ปฏิบัติผิดๆ พลาดๆ เหตุนั้นพระพุทธองค์จึงค่อยทรงบัญญัติสิกขาบท เบื้องต้นไม่มีสิกขาบทวินัย แต่ก็ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมาย

พระมหากัสสปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อศาสนาอุบัติขึ้นมาครั้งแรก พระบวชมาก็ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานมาก แต่เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทวินัยมากขึ้น ผู้ที่ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานน้อยไป นี่เป็นเพราะเหตุใด? พระพุทธองค์ตรัสเทศนาว่า “สัตถุ ศาสนา พาหิรศาสนา” คือแปลกปลอมกัน

สัตถุ ศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่จริง ที่เป็นหลักฐานอันนั้นเรียกว่า สัตถุ ศาสนา

พาหิรศานา คือ ศาสนาแปลกปลอม เมื่อพาหิรศาสนามากเข้า ผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานก็น้อยลง ในตอนท้ายท่านพูดว่า พระวินัยเป็นหลักฐานของพระพุทธศาสนา ถ้าหากพระวินัยไม่มีเสียแล้ว เสื่อมหมดศาสนานี้

ท่านยังกล่าวถึงเรื่องความเสื่อมของศาสนาไว้ว่า ศาสนาเสื่อมตั้งแต่เบื้องปลายมาคือ มรรคผลนิพพาน เสื่อมลงไปตลอดถึง อนาคามี สกิทาคามี พระโสดาบันเสื่อมไปมีกัลยาณชน และในที่สุดก็มีแต่ปุถุขน สิกขาบทวินัยต่างๆ เสื่อม เสขิยวัตรปฏิบัติไม่ได้ ตลอดถึงปาจิตตีย์ นิสสัคคีย์ เสื่อมมาโดยลำดับ ยังเหลือแต่ปาราชิกสี่ ต่อมาปาราชิกสี่ก็เสื่อมลงไปเสียหมด ยังเหลือแต่ผ้าน้อยๆ ผู้ข้อมือไว้เป็นเครื่องหมายว่าเป็นภิกษุ เหตุนั้นจึงว่าศาสนานี้มีพระวินัยเป็นหลัก ท่านพูดอย่างนั้น แต่ตอนต้นพูดแล้วว่า พระธรรมเกิดก่อน พระวินัยเกิดทีหลัง พระบัญญัติก็ทรงบัญญัติตามหลัง

พระธรรมคืออะไร? คือคำสอนถึงเรื่องกายและจิตใจเรียกว่ารูปธรรม นามธรรม คนผู้ใดมีหิริโอตตัปปะอยู่ในใจ ไม่สามารถที่จะทำความผิดได้ สิ่งใดผิดสิ่งใดถูกรู้ด้วยตนเอง นั้นเป็นพระวินัยโดยแท้ พระองค์จึงทรงเทศนาว่า พระวินัยนั้นอยู่ที่เจตนางดเว้นตัวเดียวนั่นแหละ ไม่ต้องมาก เจตนางดเว้นก็เป็นหมดเรื่องนี่แหละธรรม-วินัย สับสนกันอยู่อย่างนี้ คนไม่เข้าใจจึงไม่รู้เรื่องธรรม-วินัย ท่านพูดตอนปลายว่า พระวินัยเป็นหลักของพระพุทธศาสนา ถ้าขาดพระวินัยไม่มีพระวินัยแล้ว ก็หมดศาสนา ที่ท่านพูดตอนต้นนั่นว่าพระธรรมเกิดก่อน คือสอนธรรมเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว คนที่มี หิริโอตตัปปะ ไม่สามารถจะล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นได้ แล้วสอนย้ำเข้าไปอีกว่า พระวินัยเป็นความเจตนางดเว้น ข้อเดียวเท่านั้น เรื่องธรรมวินัยเป็นอย่างนี้ อันนี้พูดให้ฟังเฉยๆ เดี๋ยวจะเข้าใจสับสนกัน

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนานั้นแสดงถึงเรื่อง ธรรมะ คือของจริง ของทรงอยู่ทรงไว้ตามเดิม บาปและบุญ สิ่งที่ดีและชั่วทรงอยู่ตามเดิม ทรงตัวไว้ตามเดิม ทรงตัวของมันเอง ไม่ใช่พระไปทรงไว้ ไม่ใช่ใครไปทรง พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงไว้ ธรรมะจริงๆเป็นของทรงอยู่ตามเรื่องของมัน มันเป็นอยู่อย่างใดก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงมันได้ ธรรมะที่เป็นบุญเรียก กุศลธรรม ธรรมะที่เป็นบาปเรียก อกุศลธรรม ที่เป็นกลางๆ เรียก อัพยากฤตธรรม

ธรรมะที่เป็นกุศลนั้นจะต้องฝึกฝนอบรม คนเราเกิดขึ้นมาไม่มีใครอบรมฝึกฝนมาก่อน ธรรมะไม่เกิดไม่มีในตัวของตน มันต้องเป็นเป็นตามโลก มันเป็นอกุศล เสีย สิ่งที่เป็น อกุศล ไม่ต้องบังคับไม่ต้องจำกัด ไม่ต้องมีขอบเขต เป็นไปตามยถากรรม บาปกรรมต่างๆ คนทั้งหลายทำตามเรื่องของตน บาปมันเป็นอยู่ของมันอย่างนั้น คนไปทำเอา บุญที่เป็นบุญก็เป็นอยู่อย่างนั้น แต่คนไปทำ เมื่อไปทำขึ้น ก็เลยกลับเป็นบาปเป็นบุญของคนๆ นั้นขึ้นมา นั้นจึงเรียกว่า ธรรม เป็นของทรงอยู่ ทรงไว้ซึ่งสภาพของมันเอง

เรามาปฏิบัติธรรมะสะสมธรรมะ เรียกว่าเป็นการสะสมของดี ท่านเรียกว่าบำเพ็ญบารมี หรืออบรมนิสัยดีให้มันเจริญงอกงามขึ้นมา จึงจะเป็นคนดี ถ้าปล่อยตามเรื่อง มันก็ไปตามยถากรรมของมัน ก็ตกไปในที่ต่ำ อกุศลที่เป็นบาปกรรมมันเป็นอยู่แล้ว ในโลกนี้อันนี้ของเลวมีอยู่แล้ว คนไปปฏิบัติก็เลวลงไปอีกส่วน อัพยากฤต มันเป็นของกลางๆ ไม่ใช่บาปบุญคุณโทษประโยชน์อะไรต่างๆ ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ในเมื่อจิตเป็นกลางๆ ไม่คิดว่าบาปว่าบุญ ไม่คิดว่าดีว่าชั่วคิดแต่เป็นกลางๆ นั่นเป็น อัพยากฤต ธรรมะนั้นหลายอย่างหลายประการมีอยู่ในโลกคับโลกหมด

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ชักตัวอย่าง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมอันหนึ่ง เราไม่เกิดก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราเกิดมาก็เป็นอยู่อย่างนั้น เกิดก็เกิดอยู่อย่างนั้น แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ใครจะแก้ไขอย่างไรเท่าไรก็ไม่ได้ ที่สุดตั้งแต่หมอที่มาแก้ไขมัน หมอก็ต้องตายอยู่ดี อันนั้นเป็น ธรรม ธรรมนี้เป็นของเป็นอยู่สำหรับในรูป ผู้เห็นธรรมนั้น ชื่อว่าเห็นรูปตามความเป็นจริง คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรามาฝึกอบรม กาย วาจา ใจ ของตน ไม่ใช่ไปหัดความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เอาอันนั้นมาพิจารณา ให้เห็นโทษเห็นภัย แล้วตั้งต้นรักษาจิตใจของตนให้มาอยู่ในความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย

ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกับน้ำ ไหลเอื่อยอยู่อย่างนั้นร่ำไปตลอดเวลา คนผู้เกิดมาจะทำดิบทำดีก็ตามทำชั่วก็ตาม มันต้องไหลเอื่อยอยู่เรื่อยไปไม่มีไหลกลับคืนมาสักที อันที่มันไหลเอื่อยนั่น คือหมายความว่า ชีวิตร่างกายเป็นของดับสูญ หมดไปทุกวันทุกคืน อันนั้นล่ะมันไหลเอื่อยไปเหมือนกับน้ำ มันไหลแต่ข้างบนลงไปสู่ที่ต่ำ มันไม่กลับคืนมาสักที ธรรมะจึงเป็นของน่าพิจารณา ธรรมะจึงเป็นของน่าคิดค้น น่าตรวจ ธรรมะจึงเป็นของที่บุคคล จะพึงปฏิบัติให้มันถูกต้อง ครั้นเมื่อมันไหลเอื่อยอย่างนั้นแล้ว ให้เราเอาน้ำอันนั้นมาอุปมาเปรียบ ทีนี้เราไปมุ่งทำให้น้ำมันไหลกลับคืน คือ จิตใจของเรา เราต้านทานไม่ให้หลงใหลไปตามอารมณ์ ไม่ไปตามกระแสน้ำ ให้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะส่วนตัว อันนั้นแหละการปฏิบัติธรรม จึงว่าปฏิบัติธรรม ให้เข้าใจให้รู้เรื่องของธรรม ถ้าไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจแล้ว ปฏิบัติไปไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง งมๆ ซาวๆ ไม่เห็นทางก้าวหน้า

ที่ท่านปฏิบัติถูก ท่านจึงได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติของตน มันจึงจะได้ผล

ธรรมะ จึงเป็นของน่าพิจารณา ธรรมะ จึงเป็นของน่าคิดค้น น่าตรวจ ธรรมะ จึงเป็นของที่บุคคลจะพึงปฏิบัติให้ถูกต้อง

[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 04. ธรรมวินัย]